บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

บันทึกการเดินทางสู่...ไจก์ทิโย



ไจก์ทิโย

จะเป็นด้วยบุญวาสนาหรือฟ้าลิขิต ก็ไม่อาจรู้ได้ ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสักการะพระธาตุไจก์ทิโย หรือพระธาตุอินทร์แขวนอีกครั้งหนึ่ง ตามการชักชวนของเพื่อน ๆ  ซึ่งชวนไปทำบุญในช่วงวันอาสาฬหบูชา -เข้าพรรษา เมื่อ 14-17 กค.54  ที่ผ่านมา  ข้าพเจ้ารีบรับคำโดยพลัน  แม้ว่าโปรแกรมทั้งหมดจะเคยไปมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน


เราออกเดินทางกันในเช้าวันที่ 14 กค.54 ด้วยสายการบิน  Air asia  เครื่องบินออกเวลา 7.20 น.    หัวหน้าทีมของเรานัดพร้อมตั้งแต่  05.00 น. ด้วยเกรงว่าสมาชิกแก่ ๆ เช่นพวกเราจะงกเงิ่นชักช้า แต่ปรากฏว่าทุกคนไปถึงตามเวลานัดหมาย สนามบินสุวรรณภูมิเช้าวันนั้น  คลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งออกนอกประเทศ และเข้าประเทศ  ไม่น่าสงสัยเลยว่า ธุรกิจท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศเพียงใด มิใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงทุกประเทศที่มีความพร้อมให้นักท่องเที่ยวมาเยือน


เครื่องบินออกตรงเวลาเป๊ะ ไม่มีเหตุผิดพลาดระหว่างการบิน   ถึงสนามบินเม็งกะลาดง เมืองย่างกุ้งประเทศพม่า ประมาณ 8.00 น. เวลาของพม่าช้ากว่าไทย 30 นาที รอยื่นเอกสารผ่านพิธีการทางศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองไม่นานก็เรียบร้อยแล้ว สนามบินเม็งกะลาดงปรับปรุงดีขึ้นกว่าครั้งก่อนที่ข้าพเจ้าเคยไป ดูเรียบร้อยและทันสมัยขึ้น  แต่ยังคงค่อนข้างเงียบเหงาไม่ต่างจากเดิม  มีผู้โดยสารบ้างแต่ไม่มากเท่าสนามบินสุวรรณภูมิ   อาจจะเป็นเพราะขณะนั้น พม่ายังปิดประเทศอยู่  นักท่องเที่ยวจึงมีเพียงคนเอเชียเป็นส่วนใหญ่  คนอเมริกันหรือทางยุโรป มีบ้างก็แทบจะนับคนได้


สนามบินเม็งกะลาดง

ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็ได้พบกับ มาวินและ น้องแอน มารอรับคณะของพวกเราอยู่และจะคอยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเราตลอดการเดินทาง  มาวินเป็นไกด์สาวชาวพม่า ส่วนน้องแอนเป็นสาวไทยใหญ่  เป็นผู้ช่วยของมาวิน ทั้ง 2 คนนี้ช่วยเราได้มากทีเดียวในเวลาต่อมา 


าวินพาเราไปทานอาหารเช้า ที่ food center ตรงข้ามสนามบิน เป็นซาลาเปาพม่า ทานคู่กับชา หรือ กาแฟ  ข้าพเจ้าเป็นคอกาแฟคนหนึ่ง แน่นอนที่สุด ย่อมจะต้องเรียกหากาแฟในทันที  แต่พอได้ปั๊บ ก็ต้องชะงัก กาแฟอะไรทำไมถึงมีสีเหมือนน้ำดินโคลนแต่ ช่างมันเถอะ  ในใจคิดอย่างนั้น   เอาเพียงแค่ให้มีรสของกาแฟบ้างก็ใช้ได้แล้ว  แต่เปล่าเลย พอจิบเข้าไปต้องรีบวางทันที   มันช่างจืดชืดไร้รสชาติเสียนี่กระไร  และไม่มีรสของกาแฟแม้แต่น้อย   จนต้องขอเปลี่ยนเป็นชา  โอ้...คราวนี้..ดีขึ้นมากเลย  อย่างน้อยก็พอจะมีความอร่อยอยู่บ้าง food center แห่งนี้ค่อนข้างอับทึบ คนละสภาพกับ food center ที่บ้านเรา พวกเรานั่งเพียงเดี๋ยวเดียวก็ต้องรีบออกเดินทาง


ตาโป้ง หัวหน้าทัวร์ เป็นน้องเกษตรรุ่น 49  ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม  โดยมุ่งเน้นที่จะให้คณะทัวร์ ได้รับทั้งความสนุกและความรู้ไปด้วย  จึงบรรยายประวัติศาสตร์พม่าให้พวกเราฟัง จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง แต่ก็นับว่าเราได้อะไรพอควรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า  พอจะรื้อฟื้นความทรงจำที่ร่ำเรียนมาในอดีตได้หลายช่วงตอน   

เจดีย์เยเลพญา

เป้าหมายแรกของเรา  คือเมืองสิเรียม เพื่อชมเจดีย์เยเลพญา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำ  เมืองสิเรียมอยู่ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 45 กม.  รสบัสที่มาอำนวยความสะดวกเป็นรถขนาดกะทัดรัด นั่งได้ไม่เกิน 20 คน สะดวกสบายสำหรับคณะของเราเป็นอย่างมาก  รถที่พม่าพวงมาลัยอยู่ด้านขวาเหมือนกับรถยนต์ในบ้านเรา  แต่เวลาขับกลับชิดขวา  แทนที่จะชิดซ้าย  เวลาจะแซงก็แซงด้านซ้ายแทนที่จะแซงขวา สลับกับบ้านเราไปหมด ข้าพเจ้าก็ยังนึกไม่ออกว่า เวลาผู้โดยสารจะลง เขาจะให้ลงกันอย่างไร หากด้านซ้ายมีรถวิ่งมา  ในเมื่อประตูทางลงอยู่ด้านซ้าย บังเอิญไม่มีโอกาสได้เห็นตอนผู้โดยสารลงเสียด้วย 


ประมาณ 1 ชม. ก็มาถึงเมืองสิเรียม   เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ตรงรอยต่อของแม่น้ำอิระวดีและแม่น้ำย่างกุ้ง เคยเป็นเมืองท่าของโปรตุเกสในสมัยโบราณ  เจดีย์ที่เราจะไปอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำ  เราต้องนั่งเรือข้ามฟากไป  เหมือนเราข้ามไปเที่ยวเกาะเกร็ด ยังไงยังงั้น จะแตกต่างกันตรงที่ เกาะเกร็ดบ้านเรา มีทั้งวัดและชุมชนมอญสลับกันไป แต่บนเกาะนี้มีเพียงเจดีย์กลางน้ำที่ชื่อเจดีย์เยเลพญาตั้งอยู่เพียงเท่านั้น  เนื้อที่เกาะเล็กกว่า  แต่มีความสวยงามมาก  เจดีย์แห่งนี้มีตำนานว่าสร้างขึ้นในสมัยมอญเรืองอำนาจ เมื่อราวพันกว่าปีก่อน โดยมีคหบดีชาวมอญเป็นผู้สร้าง  ขึ้นชื่อมากในเรื่องให้พรในการทำธุรกิจการค้า  จึงมีทั้งนักท่องเที่ยว และคนพื้นเมืองมากราบไหว้สักการะ กันอย่างต่อเนื่อง  เมื่อไปถึง พวกเราก็แยกย้ายกันสักการะ และขอพรตามระเบียบ  รวมทั้งทำบุญโดยเอาเงินใส่ตู้รับบริจาคที่มีอยู่หลายตู้เหมือน ๆ กับบ้านเรา  ก่อนเดินทางไปข้าพเจ้าเตรียมแบงค์ใหม่ใบละ  20 บาทไปจำนวนมาก  กะเอาไว้ทำบุญโดยเฉพาะ  ในตู้รับบริจาคจึงเห็นทั้งเงินจ๊าด และเงินบาทปะปนกัน   ทุกคนสามารถทำบุญได้โดยไม่จำกัดสกุลเงิน

ประมาณสัก 1 ชม.เรือลำเดิมก็มารับพวกเราข้ามกลับเข้าฝั่ง การเดินทางครั้งนี้  ต้องเดินเท้าเปล่าทุกครั้งที่เข้าวัด  รองเท้าฟองน้ำที่แวนด้าเพื่อนร่วมเดินทางในครั้งนี้เตรียมไว้ให้  จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก  ไม่ต้องกลัวหายด้วย  เพราะทุกคู่เป็นสีแฟชั่นบาดตาไม่เป็นที่นิยมของคนพม่าที่มีแต่ความสงบและเรียบง่าย  จากนั้นตาโป้ง พาเราไปสักการะเจดีย์กาบาเอย์  ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง  เจดีย์กาบาเอย์นี้ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม ซึ่งมีทางเข้าทั้งหมด 5 ด้าน  ภายในองค์พระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุพระอรหันต์สาวกองค์สำคัญของพระพุทธเจ้า   ส่วนพระประธานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์หนักกว่า 500 กก.สวยงามมาก   คำว่ากาบาเอย์ ในภาษาพม่า หมายถึงโลกแห่งสันติสุข นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ได้สร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก ที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ซึ่งมีความหมายต่อพุทธศาสนิกชนอย่างมาก แห่งหนึ่งทีเดียว 

ภายในเจดีย์กาบาเอย์

รถบัสพาเราวกวนไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้พวกเราได้สัมผัสกับเมืองย่างกุ้ง  ความเจริญในย่างกุ้ง  หากจะเปรียบเทียบ กับกรุงเทพของเราก็คงเทียบไม่ได้  แม้จะเทียบกับเชียงใหม่ก็ยังห่างจากเชียงใหม่เยอะมาก  การแต่งกายของผู้คนที่นี่ยังคงรักษาวัฒนธรรมเดิมได้อย่างเหนียวแน่น   ผู้ชายจะนุ่งโสร่ง   ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นและทาหน้าด้วยทานาคาทุกคน  แทบจะไม่พบเห็นคนนุ่งกางเกงหรือกระโปรงเลย  ตึกรามบ้านช่อง แม้จะมีตึกสูงบ้างก็ไม่มากนัก  มีห้างสรรพสินค้าเพียงไม่กี่แห่ง และผู้คนไม่หนาแน่นเหมือนบ้านเรา    คนส่วนใหญ่จะไปแออัดกันตามตลาดสด  หรือแหล่งค้าขายของตามชุมชนกันเสียมากกว่า สภาพความเป็นอยู่ของคนพม่า  ดูด้วยสายตาเห็นว่าคนยากจนยังมีอยู่มากทีเดียว ทั้งที่ประเทศพม่ามีทรัพยากรไม่แตกต่างจากบ้านเรา การค้าขายก็ยังเป็นแบบพื้นบ้าน อาจจะเป็นเพราะ พม่าบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหารก็เป็นได้   การแข่งขันจึงมีน้อย  นักธุรกิจที่กล้าลงทุน  ต้องสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงฐานอำนาจทหารได้  มิฉะนั้นก็คงทำธุรกิจลำบาก นี่เองกระมังที่เป็นความแตกต่างกับประเทศประชาธิปไตย  ไกด์เล่าให้เราฟังว่าตำรวจพม่ามีอยู่เกลื่อนเมืองโดยที่เราไม่รู้  เพราะอยู่นอกเครื่องแบบ   ข้าพเจ้าเห็นใจคนพม่าจริง ๆ   คงจะดำเนินชีวิตบนความกลัวและหวาดระแวง   เพราะไม่รู้ว่าจะโดนซิวเมื่อใด  แต่ถ้ามองในด้านดีก็เห็นว่า วิธีการนี้สามารถทำให้บ้านเมืองสงบได้อยู่   ไม่มีเด็กแว้น รถซิ่ง เหมือนบ้านเรา ที่คอยแต่จะสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้ชาวบ้าน  นี่แหละถึงว่ากระจกมีหกด้าน  ทุกอย่างมีทั้งดีและเสีย  อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอย่างไร 


ระหว่างนี้พวกเราชักเริ่มหิวแล้ว  ด้วยว่าออกเดินทางแต่เช้า และอาหารมื้อแรกของเรา เป็นซาลาเปาและกาแฟ  ไม่อยู่ท้องเลย สำหรับคนสูงวัยทั้งหมดในคณะนี้   มาวินไกด์พม่าพาเราไปทานอาหารกลางวันที่  westhern park  royal  ซึ่งเป็นภัตตาคารมีชื่อแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง  มื้อนี้มีอาหารพิเศษคือเป็ดปักกิ่ง  อร่อยหน่อย เป็นที่พอใจของสมาชิกหลายคน  มีอาหารอื่นอีกหลายอย่างจนจำไม่ได้ กินกันอิ่มแปล้ จนอยากจะนอนหลับสักงีบแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีกำหนดการจะต้องไปหลายแห่ง


อาหารมื้อที่อร่อยที่สุด

ตาโป้งหัวหน้าทัวร์ คงรู้พฤติกรรมของคนสูงวัยเช่นพวกเราที่กินอิ่มแล้วมักจะง่วงนอน จึงแก้สถานการณ์ โดยพาพวกเราไปเดินตลาด ที่สก๊อตมาร์เกต  ตลาดแห่งนี้สร้างโดยชาวสก๊อตสมัยที่พม่ายังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  ใช้เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าพื้นเมืองเช่น อัญมณี ,  ผ้าทอ , งานไม้แกะสลักและ อื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  เกือบทุกทัวร์ จะต้องมาแวะที่นี่ ในแต่ละเดือนเศรษฐกิจที่นี่จึงคึกคักมาก  มีร้านค้าเรียงรายมากมาย  แต่เขาจัดระเบียบได้ดี  คนขายไม่มาชุลมุนล้อมหน้าล้อมหลังให้เรารำคาญใจ  ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบสินค้าพื้นเมือง  จึงเดินได้โดยไม่เบื่อ  เกือบทุกร้านบอกราคาเป็นเงินบาท  มีอยู่ร้านหนึ่งตั้งชื่อร้านเป็นภาษาไทยว่า พุทธรักษา  คนขายพูดไทยได้ ของก็ไม่บอกผ่าน  ถูกใจพวกเรามากทีเดียว


สก๊อตมาร์เกต

มีหยกพม่าสวย ๆ  มากมายทั้งสร้อยคอและสร้อยข้อมือ ราคาก็ไม่แพงนัก  จึงซื้อได้มาหลายเส้นทีเดียว  ไม้แกะสลักของพม่า ก็เป็นที่ต้องตาข้าพเจ้าตั้งแต่การเดินทางมาในครั้งก่อน  มาคราวนั้นแอบถูกใจพระไม้แกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปรางค์ต่าง ๆ  แต่ต่อราคาไม่เป็นที่ตกลงกัน จึงชวดไป  คราวนี้หมายมั่นปั้นมือว่าแม้ต่อราคาไม่ได้ก็จะซื้อ   ยังไงก็ต้องซื้อติดมือไปให้ได้แน่นอน  ข้าพเจ้าเดินดูพระไม้แกะสลักหลายร้านในตลาดสก๊อตแห่งนี้  ก็ยังไม่ถูกใจ  แต่ใจเย็นไว้ก่อน ยังมีอีกหลายแห่งที่จะไป  


ฝนตั้งเค้ามาแล้ว ได้เวลานัดหมายที่จะต้องเดินทางต่อพวกเราจึงไปตามจุดนัดหมาย ที่หน้าโบสถ์คริสต์ ใกล้ ๆ กับตลาดสก๊อต  ทุกคนมากันตรงเวลาจริง ๆ พอขึ้นรถครบทุกคน ฝนก็ตกมาห่าใหญ่   นับว่ามหัศจรรย์อย่างมาก



โบสถ์คริสต์ใกล้ตลาดสก๊อต

พวกเรายังมีเวลาอีกเล็กน้อย ก่อนตะวันตกดิน ตาโป้งจึงพาพวกเราไปสักการะเจดีย์โปตาทาวน์  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดสก๊อตนัก พอไปถึงเจดีย์โปตาทาวน์ ฝนหยุดตก สร้างความมหัศจรรย์แก่พวกเราอีกครั้งหนึ่ง  
 
เจดีย์โปตาทาวน์

เจดีย์แห่งนี้มีประวัติเล่าขานกันว่า  สร้างโดยทหาร 1,000 นายเพื่อบรรจุพระบรมธาตุที่พระสงฆ์อินเดีย 8 รูป ได้นำมาเมื่อ 2,000 ปีก่อน โดยกษัตริย์มอญชื่อพระเจ้าโอกะลาปะ ทรงบัญชาให้นายทหารระดับแม่ทัพ ตั้งแถวถวายสักการะแด่พระเกศาธาตุ ที่มีพ่อค้าอัญเชิญมาทางเรือและมาขึ้นฝั่ง ณ บริเวณนี้ จึงสร้างเจดีย์โบตาทาวน์ไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระพุทธเกศา 1  เส้น มาบรรจุไว้ ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปบรรจุในมหาเจดีย์ชเวดากอง และเจดีย์สำคัญอื่นๆ  เจดีย์โปตาทาวน์  จึงเป็นหนึ่งในมหาบูชาสถานของชาวมอญและพม่าเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2  เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถล่มย่างกุ้ง ทำให้เจดีย์โปตาทาวน์องค์เดิมถูกทำลายพินาศ แต่ในระหว่างการบูรณะได้ค้นพบผอบทรงสถูป บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ  ครั้นเมื่อเจดีย์โปตาทาวน์องค์ใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2496  จึงนำพระเกศาธาตุมาบรรจุในมณฑปครอบแก้วใส  และประดิษฐาน ณ ใจกลางเจดีย์  แล้วทำช่องทางให้พุทธศาสนิกชนเดินเข้าไปสักการบูชาได้อย่างใกล้ชิด



พระเกศาธาตุในครอบแก้ว

เมื่อเราเข้าไปในพระเจดีย์แห่งนี้  ได้เห็นความงดงามตระการตายิ่งนัก  ผนังเจดีย์ภายในโดยรอบทุกด้านเป็นสีเหลืองทองอร่าม  และมีกระจกแก้วใสปิดไว้เพื่อไม่ให้ถูกแตะต้อง อันอาจจะทำให้เกิดการชำรุดเสียหาย   ข้าพเจ้าพยายามเพ่งมองบริเวณที่สถิตย์พระเกศาธาตุซึ่งอยู่ในมณฑปครอบแก้ว  แต่เพ่งเท่าใด  ก็มองไม่เห็น หรือจะเป็นเพราะบุญไม่ถึงก็ไม่อาจรู้ได้   แต่ถึงอย่างไร ยังนับว่าเป็นโชคดีของพวกเรา ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มาน้อมสักการะ สถานที่สำคัญแห่งนี้  พวกเราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันพอประมาณ  ก็ออกจากเจดีย์แห่งนี้เพื่อไปสักการะพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารที่อยู่ถัดไป เนื่องด้วยวันนั้นเป็นวันอาสาฬหบูชา  มีความสำคัญทางพุทธศาสนา เราได้เห็นชาวบ้านพม่า มารวมตัวกันสวดมนต์ดังสนั่น  เหมือนกับวัดในบ้านเรา  คนพม่ามีความผูกพันกับวัดมาก  คงไม่แตกต่างกว่าคนบ้านเราในบางแห่ง   ตามวัดหรือเจดีย์ต่าง ๆ  จึงเห็นผู้คนมากมายมาสักการะ


เจดีย์โปตาทาวน์ยามอัสดง


บริเวณนี้มีสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่จะข้ามไปเสียมิได้ของทุกกลุ่มทัวร์ นั่นคือศาลาที่เป็นที่ประดิษฐาน ของท่านนัตโบยี หรือที่พวกสมาชิกทัวร์เรียกว่า เทพทันใจ ท่านนัตโบยี เป็นเทพผู้ปกปักรักษาและบันดาลโชคลาภ  ในแต่ละวันจึงมีผู้มาขอพรมากมาย   ไกด์ทัวร์แนะนำว่า  การสักการะเทพทันใจ เพื่อขอสิ่งใด แล้วให้สมตามความปรารถนา ให้นำดอกไม้ ผลไม้ โดยเฉพาะ มะพร้าวอ่อน กล้วย หรือผลไม้อื่นๆ  มาสักการะ เทพทันใจจะชอบ  จากนั้นก็ให้เอาเงินใส่ไปในมือของเทพทันใจ 2 ใบ แล้วไหว้ขอพร  แล้วให้ดึงกลับมา 1 ใบเพื่อเก็บไว้เป็นศิริมงคล  การขอพรให้เอาหน้าผากไปแตะกับนิ้วชี้ของเทพทันใจ แค่นี้ก็จะได้สมตามความปรารถนาที่ขอไว้   ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ  ไม่รั้งรอที่จะทำตามคำแนะนำของไกด์มาวิน  และเจ้าหน้าที่ชาวพม่าประจำสถานที่ ซึ่งแนะนำพวกเราด้วยสัญญานมือเพราะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง  เนื่องจากใช้คนละภาษากัน  แต่ก็พอจะเดากันออก เพราะทุกคนก็ทำตามคำแนะนำได้ถูกต้องทั้งหมด 


ขอพรท่านเทพทันใจ
เราต่างก็ขอพรกันเรียบร้อย ก็ทยอยออกมา  ช่วงนั้นพลบค่ำแล้ว เจดีย์โปตาทาวน์สีเหลืองทองงามอร่ามต้องรับกับแสงไฟที่สาดฉายไปยังองค์เจดีย์    โดยมีสีฟ้าเข้ม ปนสลัวของท้องฟ้ายามอาทิตย์อัสดงเป็น background รองรับ   ช่างงดงามตระการตาเป็นยิ่งนัก


พอออกมาพ้นบริเวณเจดีย์   ก็พบตลาดนัดเหมือนบ้านเรา มีผู้คนมากมาย  ตะโกนโหวกเหวก ขายของกัน  ส่วนใหญ่จะเป็นของกิน  วิถีชีวิตคงเหมือนกับคนบ้านเราตามชุมชนรอบนอก  พวกเรารีบเดินออกมา ด้วยว่าถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว  หลายคนเริ่มออกอาการหิว  วันนี้มีโปรแกรมทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารเรือการเวก   ซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นชื่อของพม่า  คล้าย ๆ  กับศูนย์วัฒนธรรมที่เชียงใหม่ซึ่งมีขันโตกดินเน่อร์  แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมือง   ภัตตาคารนี้เป็นภัตตาคารที่จำลองแบบมาจากเรือพระที่นั่ง ในการพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคของกษัตริย์พม่าในอดีต ตั้งอยู่ที่ทะเลสาบ กันดวอจีซึ่งหมายถึงทะเลสาบอันยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเจดีย์ชเวดากอง เรายืนอยู่ที่ภัตตาคาร  จะมองเห็นเจดีย์ชเวดากองอยู่ไม่ไกลนัก  ระหว่างรับประทานอาหาร ก็จะมีการแสดงนาฏศิลป์ของพม่าให้ชมด้วย  ซึ่งถือเป็นจุดขายของที่นี่  แม้ว่าอาหารจะไม่ถูกปากนัก  ก็ให้ดูนาฏศิลป์แทนไป  


ภัตตาคารเรือการเวก

นาฏศิลป์พม่า

เพราะความที่ รสชาติอาหารไม่ถูกปาก  พลอยทำให้ไม่สบอารมณ์กับการชมนาฏศิลป์ไปด้วยบริเวณ ภายในก็ค่อนข้างเก่าอับ  พวกเราบางคนเสนอความเห็นว่าควรกลับไปนอนเอาแรงดีกว่า  เมื่อสมาชิกว่ายังไงก็ว่าตามกัน พวกเราทุกคนจึงออกมาจากที่นั่นและตรงไปเช็คอินที่ โรงแรม Sedona ทันที  โรงแรมนี้ระดับห้าดาวทีเดียว สะอาดสะอ้าน  โอ่โถง  ห้องพักก็เหมือน ๆ กับโรงแรมระดับห้าดาวของบ้านเรา แต่ละคนแยกย้ายกันเข้าห้องพัก  ทุกคนหลับสนิทเพราะความเมื่อยล้า


ในโรงแรม sedona
ตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ด้วยเสียงโทรศัพท์ morning call จากโรงแรม   ในวันนี้ทุกคนต้องเช็คเอ้าท์จากโรงแรม Sedona แต่ให้ฝากกระเป๋าไว้กับโรงแรม  และให้แบ่งเอาเสื้อผ้าและของใช้เพียงเท่าที่จำเป็นใส่กระเป๋าเล็กเพื่อเดินทางไปค้าง 1 คืนที่โรงแรมไจก์โถ่ใกล้พระเจดีย์ไจก์ทิโย หรือพระธาตุอินทร์แขวน  โปรแกรมในวันนี้ เราจะไปหงสาวดีและขึ้นไปสักการะพระธาตุที่เจดีย์ไจก์ทิโย  อันเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางครั้งนี้


หลังจากจัดกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว  มีเวลาเหลือเล็กน้อย  ข้าพเจ้าไม่ลืมที่จะทำกิจวัตรหลัก  นั่นคือถ่ายรูปทิวทัศน์โดยรอบเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก  ห้องพักของข้าพเจ้าอยู่ชั้น 4  ของโรงแรม  เมื่อมองออกไปจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยมาก  เห็นทะเลสาบเล็ก ๆ  อยู่เบื้องหน้า และมีบ้านพักอาศัยอยู่ประปราย  หนึ่งในบริเวณนั้นคือบ้านพักของนางอองซาน ซูจี  ที่ไกด์ได้บรรยายให้ฟังเมื่อวันแรกที่รถบัสของเราวิ่งผ่าน เป็นบ้านสีขาวหลังคาสีอิฐขนาดไม่ใหญ่นักอยู่ติดทะเลสาบดูสงบทีเดียว  



บ้านนางอองซาน
เมื่อเห็นบ้านของนางอองซานซูจี  ทำให้นึกถึงฝรั่งตาน้ำข้าวที่ชื่อ นาย จอห์น ยัตทอว์  ชาวอเมริกัน ที่ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักนางอองซานซูจี   ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานี้ อันเป็นเหตุให้นางอองซานซูจี ต้องถูกกักบริเวณนานออกไปอีกตามคำสั่งของรัฐบาลพม่า ฐานละเมิดคำสั่งกักบริเวณของรัฐบาล  อิสระภาพของนางอองซานซูจี  ช่างมีอยู่จำกัดจริง ๆ


ก่อนการเดินทางในครั้งนี้   พวกเราได้มีโอกาสพบกันเพื่อตระเตรียมความพร้อม    ข้าพเจ้าได้นำรูปภาพที่ถ่ายไว้  จากที่ไปในครั้งก่อนให้เพื่อนสมาชิกดู  ทุกคนดูแล้วแทบจะถอดใจเมื่อเห็นภาพและรู้ว่าการเดินทางในช่วงหนึ่งจะต้องเดินทางด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ ซึ่งคล้าย ๆ กับรถขนหมู   ที่ทุกคนต้องขึ้นไปนั่งแออัดบนรถบรรทุกที่มีกระดานแผ่นเดียวเป็นม้านั่ง   ใส่หมวก คลุมหน้าจนมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นและลม   พวกเพื่อน ๆ  กล่าวโทษข้าพเจ้าอย่างรุนแรงที่ไม่บอกให้รู้เสียตั้งแต่แรก  ถ้ารู้ก็คงไม่ไป  ข้าพเจ้าได้แต่ปลอบใจเพื่อน ๆ  เอาน่ะไม่ลำบากจนเกินไปหรอก  ถึงอย่างไรก็ต้องลุย  ใจสู้ชู 2 นิ้ว เพราะจ่าย เงินไปแล้วนี่


เช้าวันนั้น เราทานอาหารเช้าที่โรงแรม  เสร็จแล้วขึ้นรถบัสทันที  น่าแปลกมากที่คณะทัวร์กลุ่มนี้  แม้จะเป็นผู้สูงอายุทั้งหมดแต่ทุกคนคล่องแคล่ว  กระฉับ กระเฉงมาก  ตรงเวลาเป๊ะทุกครั้ง  พอขึ้นรถปั๊บ ตาโป้งก็จะเริ่มบรรยายประวัติศาสตร์ ของจุดหมายที่เรากำลังจะไป จุดหมายแรกในวันนี้คือ เจดีย์ไจ้ปุ่น   ชื่อฟังดูแปลกทีเดียว  ข้าพเจ้าไม่เคยไปมาก่อน


เจดีย์ไจ้ปุ่น
เจดีย์ไจ้ปุ่น  หรือเจดีย์พระสี่ทิศ  เจดีย์แห่งนี้มีอายุเกินกว่า 500  ปี  ไม่มีลักษณะเป็นรูปเจดีย์ตามที่เราเห็นโดยทั่วไป  แต่เขาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่  4 องค์นั่งหันหน้าไปยัง 4 ทิศ แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ อันได้แก่
·        สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางทิศเหนือ
·        พระ พุทธเจ้าโกนาคมโน ทางทิศใต้
·        พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ทางทิศตะวันออก
·        พระ พุทธเจ้ามหากัสสปะ ในทิศตะวันตก
คำว่าไจ๊ปุ่น เป็นภาษามอญ  ไจ๊ แปลว่า พระ หรือ เจดีย์  ส่วน ปุ่น คือ 4 ตำนานเล่าขานกันว่าสร้างขึ้นโดยพี่น้อง 4 คนที่เป็นสาวโสดทั้งหมด ที่อุทิศตนแด่พุทธศาสนา จึงสร้างพระพุทธรูปแทนตนเอง และได้สาบานร่วมกันว่าจะไม่แต่งงาน  แต่แล้วภายหลังปรากฏว่าน้องสาวคนสุดท้องกลับพบรักกับชายหนุ่มและแต่งงานกัน จึงเกิดอาเพศ ฟ้าผ่าพระพุทธรูปที่แทนตัวของน้องสาวคนสุดท้องทำให้มีรอยร้าวและพังทลายต่อมา จนต้องมีการบูรณะกันใหม่ หลังการบูรณะพบว่ารูปพระพักตร์ของพระองค์นี้แตกต่างจากองค์อื่น คือ พระพักตร์จะเศร้าหมอง


พระพักตร์เศร้า


ข้าพเจ้าดูแล้วก็เห็นจริงตามนั้น พระพุทธรูปด้านหนึ่งยังมีร่องรอยของการบูรณะให้เห็น ใบหน้าและแววตาเรียบเฉย  ข้าพเจ้าคิดว่า รูปพระพักตร์ขององค์พระ จะเป็นอย่างไรคงขึ้นกับผู้สร้าง  จึงน่าจะเป็นเจตนาของผู้บูรณะขณะนั้น ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงการผิดสัจจะเป็นการผิดจารีตประเพณี   ซึ่งน่าจะเป็นอิทธิพลที่เกิดจากความเชื่อของคนมอญสมัยนั้น ที่ค่อนข้างจะอยู่ในจารีตประเพณีและอยู่ในกรอบวัฒนธรรม จะเห็นได้จากชาวมอญ มักจะเคร่งครัดในศาสนา  มีการทำบุญด้วยการสร้างวัด  สร้างเจดีย์กันมาก  อารยะธรรมของชาวมอญ มักมีปรากฏให้เห็นหลายแห่งในประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นมอญพระประแดง  มอญปากเกร็ด  มอญปากน้ำโพ นครสวรรค์   หรือมอญโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า มอญเป็นชนชาติที่มีอารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่มาก  และมีคุณต่อคนไทยที่เป็นแนวหน้าในการรบทัพจับศึกกับพม่า จึงได้รับการต้อนรับจากคนไทย  และพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตได้พระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัยและทำมาหากิน จนคนมอญสามารถตั้งถิ่นฐานได้หลายแห่งในผืนแผ่นดินไทย  วิถีชีวิตของคนมอญมักจะรักสงบและเรียบง่าย   จึงมักไม่ค่อยได้ยินว่ามีชุมชนมอญแห่งไหนที่มีปัญหา 


ขณะที่พวกเราเดินชมรอบ ๆ เจดีย์  ท้องฟ้ามืดครึ้มด้วยเมฆฝน  แต่ฝนกลับไม่ตก  จนกระทั่งคณะของเรากลับมาขึ้นรถบัสจนครบ ฝนก็เริ่มตกซู่ลงมา เป็นเรื่องที่พวกเราคิดตรงกันว่ามันมหัศจรรย์มากอีกครั้งหนึ่ง 


ออกจากไจ้ปุ่น  ตาโป้งพาเราเข้าเมืองหงสาวดี พอพูดถึงเมืองหงสาวดี  ทุกคนคงจะนึกถึงบุเรงนอง  และคงจำได้ว่าเมืองหงสาวดีเป็นเมืองหลวงของพม่าในอดีต  เราเรียนประวัติศาสตร์กันมาอย่างนั้น  ประวัติศาสตร์ที่ลึกลงไปอีกคือหงสาวดี เป็นเมืองหลวงของชาวมอญมาก่อน เดิมทีหงสาวดี เป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆที่สำคัญของชาวมอญ ต่อมาชาวพม่าได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือเมืองหงสาวดี โดยการยึดครองของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้  หงสาวดีจึงเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าของราชวงศ์ตองอู  จนกระทั่งมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่อังวะ เมืองหงสาวดีจึงหมดความสำคัญลง  แต่อย่างไรก็ตาม เมืองหงสาวดี มีประวัติศาสตร์ที่จะต้องระลึกถึงหลายช่วงตอนโดย เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พระเจ้าบุเรงนองเรืองอำนาจ  ได้สร้างพระราชวังที่ใหญ่โตมากในเมืองนี้  ซึ่งไกด์ทัวร์จะพาเราไปชมต่อไป


เมืองหงสาวดีนี้ แต่เดิมเรียกว่าเมืองพะโค สัญลักษณ์ของเมืองนี้  คือหงส์ 2 ตัวยืนคู่กัน  มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นของคู่บ้านคู่เมือง คือ พระธาตุชเวมอดอร์  หรือที่คนไทยมักจะรู้จักในนามของพระธาตุมุเตา เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์โบราณที่สร้างโดยชาวมอญ ตั้งแต่สมัยที่มอญเรืองอำนาจ คำว่า มุเตา แปลว่า จมูกร้อน กล่าวกันว่าเจดีย์องค์นี้สูงมากถึง 114 เมตร  เวลาดูต้องแหงนหน้ามองจนคอตั้งบ่าถึงจะมองเห็นยอดเจดีย์  ทำให้แสงแดดที่แรงกล้าแผดเผาจนจมูกร้อน เจดีย์ชเวมอดอร์นี้  เป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในพม่า ภายในเจดีย์แห่งนี้ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้  เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก  ไกด์เล่าให้ฟังว่าในอดีตเมื่อพระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึก จะทรงสักการะขอพรจากพระธาตุแห่งนี้ทุกครั้ง และเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จมายังหงสาวดีนี้  ก็ได้มาสักการะพระธาตุนี้ทุกครั้งด้วยเช่นกัน

พระธาตุชเวมอดอร์
พวกเราได้เข้าไปสักการะพระธาตุชเวมอดอร์ ก็เกือบเที่ยงแล้ว เมื่อขึ้นไปบนเจดีย์ชเวมอดอร์  จะพบว่าด้านหนึ่งของเจดีย์  มีสภาพของซากเจดีย์หักให้เห็น  ไกด์ได้บรรยายให้เราฟังว่า ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ยอดพระธาตุหักพังทลายลงมาเหลือแต่ฐาน จึงมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ และนำยอดพระธาตุที่พังลง มาประดิษฐานไว้ข้างองค์พระเจดีย์ให้ประชาชนกราบไหว้


การสร้างเจดีย์ของชาวมอญในอดีตจะสร้างเจดีย์บนที่สูง โดยมีฐานกว้างมากหลายชั้นมารองรับเจดีย์เช่นที่เจดีย์ชเวมอดอร์นี้  ต้องเดินขึ้นบันไดไปหลายขั้น จึงจะถึงฐานเจดีย์ ฉะนั้นเมื่อยอดเจดีย์หักลงมา  ก็จะตกลงมาอยู่ที่ฐานเจดีย์นั่นแหละ  ไม่ร่วงถึงดิน  จนมีหลายคนที่ได้อธิษฐานขอพร โดยเปรียบเปรยว่า เมื่อยามที่ชีวิตรุ่งเรืองขอให้สูงส่งดุจเจดีย์นี้  และเมื่อยามที่ชีวิตตกต่ำ ก็อย่าให้ตกต่ำถึงดินเช่นกัน จุดนี้จึงกลายเป็นจุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่า หากใครมากราบไหว้ที่บริเวณนี้  จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขสมหวังมั่นคงถาวร  วิธีการอธิษฐาน  ไกด์แนะนำเราว่า ให้เอาหน้าผากเราแตะที่ฐานเจดีย์หักแห่งนี้ และขอพรที่เราอยากได้  เราจะสมหวัง  คณะทัวร์ของเรามีหลายคนที่เป็นย่ายาย  ต่างก็ขอพรให้ลูกหลานตนเอง คุณยายเต่า และคุณยายม้าเพื่อนร่วมคณะเดินทางของเรา งัดเอารูปเด็กชายตะวันหลานชายสุดรัก และเด็กหญิงฟ้าใสหลานสาวสุดรัก มาแตะที่ฐานเจดีย์กันและขอพร   ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนต้องสมหวังแน่นอน  เพราะได้ทั้งพลังใจของตนและพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ของพระธาตุแห่งนี้


คุณยายเต่าขอพรให้หลานตะวัน
วันนี้ตรงกับวันพระ   ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8  ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา จึงพบผู้คนมาสักการะกราบไหว้ และฟังธรรมกันอย่างเนืองแน่น ทั้งคนมอญ  คนพม่า  รวมถึงคนไทยมากมาย  ที่ไปพบปะกันที่พระธาตุชเวมอดอร์  และพระธาตุแห่งนี้เป็น 1 ใน 5 ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนพม่าถือว่า  ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาสักการะ
   
พวกเราอำลาจากสถานที่แห่งนี้ โดยหวังอย่างเปี่ยมล้นว่า พลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จะปกป้องคุ้มครองพวกเราทุกคนให้มีชีวิตที่สุขสมหวังตลอดไป


เรารีบออกเดินทาง เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันเพื่อรีบขึ้นเจดีย์ไจก์ทิโย  อากาศแปรปรวนอย่างนี้  ไกด์เกรงว่าพวกเราอาจจะโดนฝนระหว่างทาง และหากมืดไปจะลำบากทีเดียว ไปถึงภัตตาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งสภาพไม่น่าเป็นภัตตาคาร   เพราะเล็กกว่าร้านอาหารธรรมดาของบ้านเราหลายเท่า   มื้อนี้เป็นอาหารกลางวันแบบง่ายๆ แค่กุ้งแม่น้ำคนละ 1 ตัว ไม่ต้องให้คนแก่แย่งกัน  นอกเหนือจากนี้เท่าที่จำได้ ก็มีน้ำพริกปลาแห้งกับไข่เจียวที่อร่อยมาก  ถึงขนาดต้องสั่งเพิ่มกันถึง 2-3 จานทีเดียว


การเดินทางจากเมืองหงสาวดีไปเจดีย์ไจก์ทิโย ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 2  ชั่วโมง ในขณะที่ระยะทางห่างออกไปเพียงประมาณ 70 กม. รถยนต์ที่นี่วิ่งช้ามาก  แม้ถนนหนทางจะค่อนข้างดี  เจดีย์ไจก์ทิโย อยู่ในเขตรัฐมอญ  ระหว่างทางจะผ่านแม่น้ำสะโตง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นเขตแดนระหว่าง หงสาวดีกับรัฐมอญ แม่น้ำนี้ในช่วงที่น้ำหลากจะกว้างมากกว่า 600 เมตร ไกด์บอกว่าพอถึงสะพานข้ามแม่น้ำ  จะมีทหารเฝ้าอยู่  ห้ามพวกเราถ่ายรูป ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่า มันจะเกิดผลกระทบอันใดกับการถ่ายรูปแม่น้ำแห่งนี้ แต่ช่างเถอะ อาจจะเป็นความลับทางการทหารพม่าก็ได้  ยากที่จะหยั่งถึง  แต่พอรถวิ่งพ้นทหาร พวกเราก็ถ่ายรูปกันอุตลุด


กำลังข้ามแม่น้ำสะโตง

ถึงแม่น้ำสะโตง ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ในอดีตเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ที่เราเรียนสมัยเด็ก ๆ ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์เมื่อเดือน 6  พุทธศักราช  2127  พระนเรศวรได้ยกทัพไปหงสาวดีเพื่อช่วยพระเจ้าหงสาวดี ตีเมืองอังวะ  ได้มาแวะพัก  ที่เมืองแครง เขตรัฐมอญ ซึ่งพระองค์ทรงรักใคร่และคุ้นเคยกับชาวมอญมาก ทำให้ทราบข่าวว่าจากวงในว่าพระองค์กำลังจะถูกปองร้าย จึงคิดตัดความสัมพันธ์กับพม่า และรวบรวมคนไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปในครั้งก่อนกลับบ้านกลับเมือง  เมื่อพม่าทราบเข้า จึงให้สุกรรมา เป็นกองหน้า ยกทัพไล่ตาม และมาทันกันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง  ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว จึงมีการปะทะกันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง  สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนคาบศิลา ยาว 9 คืบ ยิงข้ามลำน้ำสะโตงไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ถูกสุกรรมา แม่ทัพพม่าเสียชีวิตคาคอช้าง ส่งผลให้ทัพพม่าครั่นคร้ามเสียขวัญ  จึงถอยทัพกลับกรุงหงสาวดี    พระแสงปืนกระบอกนี้  พระนเรศวรทรงขนานนามต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"  พอข้ามแม่น้ำสะโตงมา ก็จะเป็นชุมชน สลับกับ สวนยาง และสวนผลไม้บ้าง  จนมาถึงเขตรัฐมอญ 


รัฐมอญ เป็นรัฐหนึ่งของพม่า ที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า  ด้านตะวันออกของรัฐมอญ  จะอยู่ติดกับจังหวัดกาญจนบุรีของไทยเรา  ทำให้พอจะนึกภาพออกถึงเส้นทางสงครามระหว่างไทย-พม่าในอดีต คือจังหวัดกาญจนบุรีของไทยเรานี่จะอื้ออึงขนาดไหน เมื่อมีสงครามเกิดขึ้น  และเกิดขึ้นบ่อยครั้งเสียด้วย


สภาพทั่วๆไป ของรัฐมอญช่วงที่เราผ่านเป็นเหมือนที่เกษตรกรรมทั่วๆไป ไม่พบเห็นความเจริญที่โดดเด่นเลยแม้แต่น้อย  มีเพียงรีสอร์ทแห่งหนึ่ง และสวนสัตว์ ที่อยู่บนเส้นทางที่เราผ่านไป ทั้งๆที่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางขึ้นพระธาตุไจก์ทิโย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากมายในแต่ละวัน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า  ชนชาติมอญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต  มีอารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่ เหตุใดถึงมีแต่ความเงียบเหงาได้ถึงเพียงนี้  มีปัจจัยใดหรือ ที่ทำให้มอญสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินแปรสภาพจากความยิ่งใหญ่ในอดีต กลับกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องอิสรภาพจากพม่าอยู่ในปัจจุบัน ข้าพเจ้าแอบสะท้อนคิดถึงตนเองและคนไทยทั้งหลาย พวกเราควรต้องรำลึกถึงบุญคุณ ของบรรพบุรุษไทยและมหากษัตริย์ไทยให้จงหนักที่เสียสละ หลั่งเลือดรักษาแผ่นดินให้พวกเราได้อยู่กินกันอย่างสุขสบาย จนถึงปัจจุบัน


เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัดคงคาราม  ต.คลองตาคต อ.โพธาราม ราชบุรี  และมีโอกาสได้ชมศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้ภายในวัดนี้ ดีใจที่มีโอกาสได้เห็น  วัดนี้สร้างมาไม่น้อยกว่า 230 ปี  ตามประวัติดูเหมือนว่าจะสร้างขึ้นโดยชาวมอญ ที่อพยพหนีพม่า มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพญามอญ 7 คน พาชาวมอญล่องน้ำแม่กลองมาที่อำเภอโพธาราม และเห็นว่าบริเวณนี้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำ อยู่รวมกันเป็นชุมชนมอญ และสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง รวมทั้งได้สร้างเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ไว้รอบอุโบสถด้วย เสมือนว่าเป็นตัวแทนของพญามอญทั้ง 7  ภายในอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนัง ที่ช่างฝีมือสมัยรัตนโกสินทร์ เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติและพุทธชาดชาดก ที่บริเวณรอบ ๆ ของผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน  ประตูอุโบสถเป็นไม้สักที่หนามากแกะสลักเป็นลายดอกพุดตาน สวยงามยิ่งนัก  เป็นศิลปะที่หาดูได้ยาก    ติดกับอุโบสถ  เป็นเรือนไม้สักทรงไทยขนาดใหญ่  ชั้นล่างโปร่งโล่ง  มีวัตถุโบราณ ประเภทของใช้  เช่นหินโม่แป้ง ,  เครื่องสีข้าว  ,  เกวียนไถนา , เรือยาว  วางให้ผู้มาเยือนได้ชม  ส่วนชั้นบนแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ  รวม 9 ห้อง  เป็นที่เก็บวัตถุโบราณมากมายที่ชาวบ้านในอดีต นำมาถวายวัดเพื่อให้เก็บรักษา เจ้าอาวาสท่านจึงรวบรวมไว้เป็นพิพิธพันธ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


กษัตรย์มอญในอดีต

ข้าพเจ้าเข้าไปชมด้านในของห้องต่าง ๆ  ด้วยความกลัวนิด ๆ เพราะสภาพเป็นทรงไทยเก่าที่ค่อนข้างจะลึกลับและไม่ได้เปิดไฟ ห้องแรกที่เข้าไป จะมีรูปของกษัตริย์มอญขนาดใหญ่ตั้งอยู่  และมีโกศ 2 ใบตั้งไว้หน้ารูป  ถัดไปเป็นโลงศพของคนมอญ เป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดอกไม้อย่างสวยงาม 


โลงศพมอญ

ข้างๆมีคัมภีร์ภาษามอญมากมายรวมทั้งถ้วย ชาม เครื่องใช้ต่างๆ  ที่เป็นของเก่าแก่เก็บรักษาไว้  ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง  และน่าจะมีการดูแลรักษาความสะอาดให้ดีกว่านี้อีกนิด  หากท่านผู้อ่านมีโอกาสผ่านไป  ก็น่าจะลองแวะชมดู  ทางไปก็ไม่ยาก เดินทางจากกรุงเทพจะถึงอำเภอโพธารามก่อนถึงอำเภอเมืองราชบุรี โดยจะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปโพธาราม ขับรถไปเรื่อยๆ  จนถึงสถานีรถไฟโพธาราม  ข้ามทางรถไฟไปก็ให้เลี้ยวขวา และตรงไปเรื่อย ๆ  วัดคงคารามจะอยู่ทางซ้ายมือ   


เอาละ เราเดินทางต่อกันดีกว่า รถบัสวิ่งมาพระธาตุ ไจก์ทิโยประมาณสักบ่าย 3 โมงกว่า ๆ เห็นจะได้ ส่งพวกเราได้แค่ใกล้เชิงเขาเท่านั้น ไม่สามารถขึ้นเขาได้  ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุกแทน  นี่แหละเริ่มจะถึงวิกฤติการเดินทางแล้ว เพราะพวกเราต้องนั่งบนรถขนหมูที่เพื่อนๆ ของข้าพเจ้ากลัวนักกลัวหนา คราวนี้คงได้พิสูจน์กันแล้วว่าแต่ละคนจะเป็นเฒ่าทรงพลัง หรือไร้กำลังกันแน่ ข้าพเจ้าแอบมองพวกเขาอย่างเงียบ ๆ และเหนือความคาดหมายจริง ๆ  ทุกคนกลับคึกคัก สนุกสนานกับการนั่งบนกระดานแผ่นเดียวบนรถขนหมู กระดี้กระด๊าวื๊ดว๊ายเป็นวัยรุ่นกันทีเดียว  เมื่อรถโยกซ้ายโยกขวาหงายหน้าหงายหลังไปมาบนทางวิบาก ในการวิ่งตามไหล่เขาที่คดเคี้ยวและสูงชัน 


ลงจากรถขนหมู
รถวิ่งมาถึงครึ่งทางก็ไม่สามารถขึ้นต่อได้ ทั้งที่มีทางให้รถขึ้น เหตุเนื่องจากแต่เดิมสมัยที่หนทางยังไม่สะดวก ชนเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จะรับจ้างแบกเสลี่ยงให้นักท่องเที่ยวขึ้นพระธาตุ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางให้รถวิ่งขึ้นได้สะดวก ก็ไม่มีใครขึ้นเสลี่ยง ทำให้พวกเขาขาดรายได้ จึงรวมหัวประท้วงกันไม่ให้รถวิ่งขึ้น เพื่อพวกเขาจะได้มีรายได้ จากการแบกหามพวกนักท่องเที่ยวทั้งหลายต่อไป  แต่เมื่อพวกเขาประท้วง พวกเขาก็จัดระบบ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย และความมั่นใจในความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยจัดเป็นเลขทะเบียนกำกับแต่ละเสลี่ยง  ให้ผู้แบกถือไว้ 1 ใบ และผู้นั่งถือไว้ 1 ใบ เมื่อจะขึ้น ก็ให้ตะโกนหาคู่ของตนเอง  ข้าพเจ้าได้เสลี่ยงหมายเลข 3 เมื่อยกหมายเลขขึ้น ยังไม่ทันจะตะโกนหาคู่  ก็มีชาวกะเหรี่ยงถือบัตรหมายเลข 3 มาแสดงตัว  ก็นับว่าสะดวกดี  สนนราคาการนั่งเสลี่ยงทั้งขาขึ้น-ขาลง คิดเป็นเงินไทยก็จำนวน 700 บาท



นวลนางบนเสลี่ยง
ทุกคนเพลิดเพลิน กับการเอนนอนบนเสลี่ยง บางคนหลับไปก็มี  บนเส้นทางที่สูงชัน  การแบกหามคนที่น้ำหนัก 60 กิโลกรัม คงไม่ใช่เรื่องสนุก หากเฉลี่ยน้ำหนักกับกำลังหาม 4 คนก็จะเท่ากับ 15 กก.ต่อ 1 กำลังหาม เหมือนเราแบกกระเป๋าหนัก 15 กก. ขึ้นภูเขาที่สูงชัน คงจะไปได้ไม่ไกล  แม้คนเหล่านี้จะเคยชินต่อการแบกหาม แต่ข้าพเจ้าก็เห็นพวกเขาเหงื่อตก เหนื่อยแฮก ๆ และต้องขอหยุดพักระหว่างทาง เป็นที่น่าเห็นใจไม่น้อยจนอดไม่ได้ที่จะต้องทิปให้เพิ่มอีกจนมากกว่าค่าจ้าง


ะหว่างขึ้นเขา ก็พบกลุ่มเมฆฝนตั้งเค้ามาใกล้ ๆ  พวกพวกเราคงโดนฝนกันแน่ ๆ  ตาโป้งหัวหน้าทัวร์ช่างรอบคอบจริง ๆ แจกเสื้อฝนให้แก่สมาชิกคนละตัวตอนเริ่มออกเดินทาง  และก็ได้ใช้จริงๆ ละอองฝนโปรยปรายมาเล็กน้อยพอให้ได้สูดไอเย็น ท่ามกลางกลุ่มหมอกที่ปกคลุมบรรยากาศเป็นช่วง ๆ  ระหว่างเส้นทางขึ้นเขา  นั่งบนเสลี่ยงประมาณ ครึ่งชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายคือโรงโรมไจ้ก์โถ่ที่ตั้งอยู่เชิงพระธาตุ  และเป็นโรงแรมเดียวที่อยู่ใกล้กับพระธาตุมากที่สุด มองจากโรงแรมจะเห็นพระธาตุไจก์ทิโยได้ชัดเจน 


ระเบียงหลังโรงแรมไจ้ก์โถ่

คำว่า ไจท์ทิโย เป็นภาษามอญแปลว่าหินรูปหัวฤๅษี  พระธาตุไจก์ทิโยตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่  อ.สะเทิม เขตรัฐมอญ อยู่บนยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,615 ฟุต พระธาตุแห่งนี้สอบถามจากหลายแห่ง ก็ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด พบข้อมูลเพียง ความเชื่อว่าพระอินทร์ประทานให้ ลักษณะเด่นคือก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร  ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ ดูเหมือนน่าจะหล่น แต่ก็ไม่เคยหล่น เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้มานานนับร้อยปี ข้าพเจ้าคาดเดาว่าบริเวณใต้หินก้อนบน น่าจะมีหมุดข้างใต้ที่ยึดก้อนหินติดกับหน้าผา จึงทำให้ไม่ร่วงหล่น แต่อาจารย์ ดร.สมพงษ์ ธงไชย  สมาชิกร่วมคณะเดินทางโต้แย้งว่าไม่ใช่  และอธิบายว่า มันไม่มีทางที่จะหล่นได้หรอกเพราะเส้นผ่าศูนย์กลางของหินก้อนบนมันดิ่งมาอยู่ในบริเวณหินก้อนล่างที่รองรับไว้ มันเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถรองรับน้ำหนักได้โดยไม่สั่นคลอน อาจารย์ ดร.สมพงษ์ ท่านเป็นนักวิชาการ สอนอยู่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์  ยังไงก็ต้องเชื่อท่านมากกว่าการบอกเล่าซึ่งหาที่อ้างอิงไม่ได้  ซึ่งหากเป็นไปตามเหตุผลที่อาจารย์บอก ก็เท่ากับพระธาตุแห่งนี้มิได้มีความมหัศจรรย์โดยธรรมชาติ แต่เป็นความมหัศจรรย์ในความคิด และความชาญฉลาดของชาวมอญสมัยก่อนที่เป็นผู้สร้างขึ้นต่างหาก


ตาโป้ง และ ดร.สมพงษ์ ธงไชย
ระธาตุแห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนพม่ามอญ ถือว่าต้องไปสักการะให้ได้ในครั้งหนึ่งของชีวิต  และยังเป็นพระธาตุประจำปีจอ(สุนัข) ที่คนเกิดปีนี้ต้องไปนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิตเช่นกัน


เราไปถึงพระธาตุไจก์ทิโย ในช่วงเย็นของวันที่ 15 กค.54 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8  อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชา  คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวงเพราะเป็นคืนเพ็ญ  แต่ถูกบดบังด้วยสายหมอกและสายฝน  ทำให้มองเห็นจันทร์ได้เพียงเลือนราง  อากาศเย็นสบายมาก ๆ  เราต้องถอดรองเท้าไว้ที่เชิงบันไดและเดินขึ้นไปด้วยเท้าเปล่า ย่ำไปตามบันไดที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน  แม้จะทุลักทุเลบ้าง แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความสุขใจที่ในวันสำคัญทางศาสนาเช่นนี้ พวกเราได้มีโอกาสเหมือนได้มาร่วมทำบุญบนสรวงสวรรค์


คืนเพ็ญ..บนพระธาตุ

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช    การแสดงธรรมครั้งนั้น ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน จึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรมจักร" หมายความว่าวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก     การได้มีโอกาสมา บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ของพวกเราทั้งหลายในครั้งนี้  จึงไม่ต่างกับการได้มีส่วนช่วยบำรุงธรรม สานต่อวงล้อธรรมแห่งพระพุทธศาสนา  เป็นกุศลแก่ทุกชีวิต


บริเวณที่ประดิษฐานพระธาตุ จะอยู่ในเจดีย์เหนือก้อนหิน  บริเวณนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่กันไม่ให้ผู้หญิงเข้า พวกเราได้เพียงแค่จุดธูปเทียน ถวายดอกไม้และปัจจัย ส่วนแผ่นทองได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ช่วยเดินไปปิดให้แทน  เพียงแค่นี้ก็เป็นบุญแล้ว ข้าพเจ้าเห็นเพื่อน ๆ อยู่ในอาการสำรวมด้วยสมาธิที่แน่วแน่ ดั่งอยู่หน้าเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า


อากาศไม่เอื้ออำนวย ที่จะให้พวกเราเดินชมรอบ ๆ สถานที่ เพราะฝนตกอยู่ต่อเนื่อง และหมอกปกคลุมไปทั่ว ช่วงที่พวกเราขึ้นไปสักการะ ผู้คนยังมีไม่มากนัก  แต่ทราบภายหลังว่ามีคนอีกนับร้อยที่ขึ้นมาในช่วงมืด และขึ้นไปสวดมนต์ที่บริเวณลานหน้าเจดีย์กัน  มีบางกลุ่มไม่มีที่พัก  ก็เลยอาศัยนอนกันที่ลานหน้าเจดีย์นั่นเอง  พวกเรากลับขึ้นไปสักการะพระธาตุกันอีกครั้งในช่วงเช้ามืดของวันถัดไปซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา และได้ถวายภัตตาหาร  ที่หน้าพระธาตุ กันตั้งแต่ย่ำรุ่ง  เพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต

เช้าวันใหม่บนไจก์ทิโย
อาหารเย็นวันที่ 15 กค.54 ณ.โรงแรมไจก์โถ่ เป็นแบบเรียบง่าย  เนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง และไกลแหล่งชุมชน  จึงลำบากทั้งการซื้อหาและการขนส่ง ห้องพักที่โรงแรมนี้ก็เรียบง่ายดุจกัน ไม่มีแอร์  เพราะอากาศเย็นจนโรงแรมต้องนำพลาสติกใสมาขึงไว้รอบห้อง เพื่อป้องกันลม ในห้องนอนมีเตียงนอน 2 เตียง และน้ำ 2 ขวด แต่มีน้ำอุ่นให้อาบ  เครื่องอำนวยความสะดวกอย่างอื่นไม่มีเลย ยึดนโยบายพอเพียง
เราออกจากโรงแรมไจก์โถ่ หลังจากรับประทานอาหารเช้ากันเรียบร้อยแล้ว  เช้าวันนี้อากาศแจ่มใส เดินออกมาหน้าโรงแรมก็จะเห็นอีกภาพหนึ่งของชนบทที่ผู้คนมากมาย บ้างก็ไปทำบุญ  บ้างก็ค้าขาย  พระสงฆ์เดินรับบิณฑบาต  ปะปนกับชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงที่มารอหามพวกเราลงจากเขา  แน่นไปหมด  ข้าพเจ้าเดินเก้กัง เพราะความสับสนในผู้คน  พลันเจ้ากระเหรี่ยงหมายเลข 3 ก็มาแสดงตัว พาข้าพเจ้าไปนั่งเสลี่ยง  เป็นอันว่าไม่ต้องเดินชมธรรมชาติกันแล้ว  ถ้าเราชักช้าเดื๋ยวจะถูกกะเหรี่ยงตำหนิ  เวลาของพวกเขาเป็นเงินเป็นทองเหลือเกิน  วัน ๆ พวกเขาแบกขึ้นแบกลงหลายครั้ง  รายได้น่าจะมากกว่าวันละ 300.- ตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลไทยเสียอีก
การเดินทางขาลงรวดเร็วกว่าขาขึ้น ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงเชิงดอย  มานั่งพักรอสมาชิกเพื่อรวมตัวกันขึ้นรถขนหมูกันอีกครั้ง  บริเวณนั้นมีห้องน้ำให้เข้า  คนละ  500 จ๊าด  ( 25 บาท ) ทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นรถขนหมูกลับ จนถึงสถานีรถบรรทุก ก็เปลี่ยนเป็นรถบัสคันเดิมซึ่งมารอรับพวกเราอยู่ และพาเราไปทานอาหารกลางวันที่  resort แห่งเดียวที่ผ่านมาชื่ออะไรข้าพเจ้าก็จำไม่ได้  แต่อาหารนับว่าใช้ได้ทีเดียว  สถานที่ก็โอ่งโถงกว้างขวาง




ออกจาก resort  แห่งนั้นก็น่าจะประมาณเกือบบ่ายโมง  ขึ้นรถบัสเพื่อกลับหงสาวดี  ตาโป้งอธิบายอะไรก็ยากจะนึกออก  เพราะทุกคนหลับใหลกันสนิทด้วยความอิ่ม  จนกระทั่งมาถึงพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนอง
วังบุเรงนอง

พระราชวังพระเจ้าบุเรงนองที่เราเห็นนี้ มิใช่วังดั้งเดิมแต่เป็นปราสาทที่สร้างจำลอง ทดแทนวังเดิมที่ชื่อ กัมโพชธานีซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2109 สมัยที่บุเรงนอง เรืองอำนาจ และถูกเผาทำลายในเวลาต่อมาจนเหลือแต่ซาก ด้านขวาของปราสาทจำลอง มีโรงเรือนที่เก็บไม่สักนับร้อยท่อน ที่หลงเหลือจากการถูกเผาทำลาย ที่ขุดได้จากบริเวณฐานปราสาทนี้  ทางการจึงเก็บไว้เป็นพิพิธพัณฑ์  ส่วนภายในปราสาท  จะมีสภาพเป็นห้องโถงโล่งกว้าง และมีบรรดาของใช้ต่างๆที่พระเจ้าบุเรงนองเคยใช้  อาทิเช่น  รองเท้า  โตก  พาน   ฯลฯ  ทุกอย่างล้วนเป็นทองทั้งสิ้น  


เสาไม้ที่หลงเหลือจากถูกเผา

วันนี้ตาโป้งหัวหน้าทัวร์บอกว่า เราต้องเก็บรายการเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากวันรุ่งขึ้น เราต้องเดินทางกลับแต่เช้าฉะนั้นการชมแต่ละแห่งจึงค่อนข้างทำเวลาพวกเราทุกคนจึงยืดอกกระฉับ กระเฉงพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่ง


ออกจากวังพระเจ้าบุเรงนอง เราเดินทางวัดไจ๋ป๋อ  หรือ พระไฝเลื่อน วัดนี้จัดว่าเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่ง มีอายุมานับพันปี นักท่องเที่ยวเกือบทุกกลุ่มจะต้องมาสักการะที่นี่ ก็เนื่องจากความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ทุกกลุ่มทัวร์ที่มา และถ่ายรูปพระองค์นี้ ปรากฏว่าไฝที่หน้าผากขององค์พระ ไม่เคยอยู่จุดเดียวกันวัดเสมือนว่าเลื่อนได้  นี่เองคงเป็นที่มาที่เรียกกันต่อมาว่าพระไฝเลื่อน


พระไฝเลื่อน
จากนั้นไปวัดพระหินอ่อน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก วัดในพม่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กันคือจะสร้างบนที่สูง ฉะนั้นเกือบทุกแห่งที่ไปต้องขึ้นบันไดขึ้นไปหลายขั้น จึงจะถึงลานกว้างก่อนที่จะถึงอุโบสถ พระพุทธรูปที่เราเห็นเป็นพระพุทธรูปหยกสีขาวขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ในห้องกระจก แกะสลักจากหินอ่อนก้อนเดียวสวยงามมาก เป็นพระที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในพม่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระหยกที่มีขนาดใหญ่มากเช่นนี้มาก่อนเลย  บริเวณลานวัดมีพระพุทธบาทจำลองให้ประชาชนสักการะ มีชาวพม่าจำนวนมากมาสักการะกันอย่างต่อเนื่อง   


พระหินอ่อน
เราต้องทำเวลากันมาก ออกจากวัดพระหินอ่อน เราก็ตรงไปวัดพระนอนนอนชเวตาเลียง วัดนี้เราพบพระนอนที่องค์ใหญ่มาก มีความยาวมาก ประมาณด้วยสายตาน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 ฟุต มาวินเล่าให้ฟังว่าพระองค์นี้เป็นพระเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยมอญเรืองอำนาจเช่นกันเป็นพระนอนที่สวยงามมากองค์หนึ่ง และเป็นที่เคารพสักการะของชาวพม่าไม่แพ้พระธาตุมุเตา 


พระนอน
ณ.ที่วัดแห่งนี้ เป็นที่ถูกใจของข้าพเจ้าอย่างมาก  ด้วยเป็นแหล่งที่ซื้อขายสินค้าพื้นเมืองเกือบทุกชนิด นับตั้งแต่ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือและสินค้าที่ทำจากไม้สัก  หลังจากสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วข้าพเจ้าตรงดิ่งไปร้านแรกตรงเชิงบันไดด้านขวามือ ซึ่งจำได้ว่าครั้งก่อนเคยมาต่อราคาไว้แล้วไม่ตกลงกัน ปรากฏว่าร้านนี้มาวินเอ่ยปากรับรองว่าของแท้แน่นอน และราคาไม่แพง ข้าพเจ้าเห็นพระไม้กฤษณาหอมมากแกะสลักเป็นพระพุทธรูปประจำวันครบทุกวันในรูปปรางค์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ  คนขายบอกราคาเป็นเงินไทย 3,000.-บาท เอาแล้วซีบอกเท่ากับครั้งที่แล้วเลย ข้าพเจ้ากัดฟันต่อทันทีที่ 1,500.- บาท คนขายไม่ยอม มาวินมาช่วยต่อราคาให้อีกแรงหนึ่งได้ 2,500.- บอกเราว่าถูกมากแล้ว ใจคิดจะเอาอยู่แล้วเชียว แต่ก็พยายามรักษามาด  ทำเป็นว่า ไม่ได้สนใจสักเท่าไรหรอก ต่อไปอย่างนั้นหละ เจ้าของร้าน เห็นกิริยาของข้าพเจ้าเช่นนั้นก็นึกว่าคงไม่เอาจริง เลยลดราคาลงมาเรื่อย ๆ 2,400.- ...2,200.-  2,000.- บาท เข้าทางเรา  ในที่สุดเอาทันที  ดีใจมากที่สุดที่ได้ของที่ระลึกชิ้นนี้ในการเดินทางมาพม่าครั้งนี้ ข้าพเจ้าประคองติดตัวอย่างบรรจง นำไปตั้งไว้บนหิ้งไม้สักที่วางแต่ของที่เป็นสิริมงคลในบ้าน  ที่วัดนี้ พวกเราทุกคนได้ของที่ระลึกติดมือกลับบ้านกันถ้วนทั่ว ก่อนจะพาเราไปแวะชมพระตาหวาน ซึ่งเป็นพระนอนอีกองค์หนึ่งเหมือนกัน และคล้าย ๆ กับพระนอนชเวตาเลียง


มหาเจดีย์ชเวดากอง
สุดท้ายของการทัวร์พม่าในครั้งนี้ ตาโป้งพาเราไปสักการะมหาเจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ซึ่งเป็นสุดยอดของชาวพม่าแท้ๆ และเป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่  รถบัสพาเราไปถึงชเวดากองประมาณ 5 โมงเศษ พวกเราทุกคนเดินลงไปอย่างสะโหลสะเหล  เพราะเหนื่อยล้ากับการขึ้น ๆ ลงๆ รถบัสกับเจดีย์ต่าง ๆ  ทั้งวัน  แถมต้องถอดรองเท้าเดินอีกน่ะซีเป็นเรื่องใหญ่   เดินไป เดินไป เกือบจะถึงทางขึ้นเจดีย์ ก็ได้ยินเสียงทุ้ม ๆ เรียก  แมว  พลันยายแมว หรือที่พวกเราเรียกว่ายายม้า ก็โผเข้าหาเสียงเรียกนั้น สวมกอดกันสุดสวีทปานจากกันมาแรมปี  เจ้าของเสียงแท้จริงมิใช่ใครที่ไหน แต่เป็นท่านรอง ผอ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  คุณวินิจ  แตงน้อย สามีสุดรักของยายแมวเธอนั่นเอง  ที่มาตีกอล์ฟกับคณะของบริษัทซีพี และแอบมาหาหวานใจ  เกือบจะเป็นโชคดีของพวกเรา ที่คณะของท่านเอ่ยปากว่าเลี้ยงซีฟู้ดมื้อเย็น โดยจะจัดเต็มให้พวกเรา นัดหมายว่าออกจากเจดีย์ชเวดากองแล้ว ให้ไปเจอกันที่ร้านอาหาร แต่คงเป็นโชคร้ายของพวกเรานั่นแหละ ที่ไกด์ไม่รู้จักร้านอาหารดังกล่าว จึงต้องไปทานอาหารตามโปรแกรมที่ตาโป้งวางไว้  ซึ่งอาจจะอร่อยไม่น้อยกว่า  เพราะเป็นภัตตาคารดัง คนแน่นทีเดียว  ทุกคนคิดในใจว่า ขอติดไว้ก่อนก็แล้วกัน  ต้องทวงคืนภายหน้าแน่นอน
ที่มหาเจดีย์ชเวดากองนี้ พวกเราขึ้นลิฟต์ไปชั้นบน  เมื่อไปถึงก็จะพบบริเวณลานเจดีย์ที่กว้างขวางมาก  ขวักไขว่ไปด้วยนักท่องเที่ยวและคนพื้นเมืองที่มาสักการะด้วยความศรัทธาเลื่อมใส    เจดีย์แห่งนี้  สร้างมานานกว่า 2,000 ปี  เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ที่พ่อค้าชาวมอญอัญเชิญมา  องค์เจดีย์สูงถึง 326 ฟุต รอบเจดีย์โอบหุ้มด้วยทองคำงามอร่าม บนยอดเจดีย์มีเพชรอยู่ถึง 5,400 กว่าเม็ด  และมีเพชรเม็ดใหญ่มาก ถึง 76 กะรัตประดับอยู่   เมื่อเราเดินไปรอบ ๆ จะพบว่ามีอยู่บางตำแหน่งที่สามารถมองขึ้นไปบนยอดเจดีย์แล้วจะเห็นเพชรประกายแสงเป็น 7 สี  น่ามหัศจรรย์นัก    พวกเราเดินวนขวาสวดมนต์ไปรอบๆ เจดีย์ และสรงน้ำที่พระประจำวันเกิดที่ตั้งอยู่รายรอบเจดีย์ ตามคำแนะนำของไกด์  ในการสรงน้ำนี้ได้รับคำแนะนำให้สรงเท่าจำนวนอายุ  พวกเราแต่ละคนสรงน้ำกันอยู่นานทีเดียว  เพราะสรงให้ทั้งตนเอง สามี และลูก   รวมแล้วเกิน 100 จอก   เรียกว่าเอาบุญไปฝากโดยถ้วนทั่ว

หลังอาหารมื้อเย็นคืนนั้น พวกเรากลับมาพักที่โรงแรม
Sedona อีก 1 คืน เก็บข้าวของ สรรพสมบัติที่ซื้อมาจากที่ต่าง ๆ และอำลาพม่าในเช้าวันที่ 17 กค.54  โดยอิ่มบุญกันถ้วนหน้า และคาดหวังว่าพวกเราจะมีโอกาสกลับมาเยือนพม่าเพื่อทำบุญร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง..........