บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ท่านรองวิระ รมยะรูป..ดอกบัวที่ไม่มีวันโรย



หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิง ท่านรองวิระ รมยะรูป
 
เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2555 ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิง อดีตท่านกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ (ท่านวิระ รมยะรูป)  ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ ฯ ซึ่งมีพระคุณต่อข้าพเจ้าท่านหนึ่ง ที่ได้เคยอบรมปลูกฝังแนวคิด คุณธรรมในการปฏิบัติงานแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยของฝ่ายประนอมหนี้  ตลอดเวลาที่ทำงานจนกระทั่งเกษียณอายุจากธนาคาร ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลือนคำอบรมสั่งสอนของท่านเลยแม้แต่น้อย เพราะคุณธรรมที่ได้รับการปลูกฝังจากท่าน ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย  เมื่อข้าพเจ้าเกษียณอายุ จึงได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนแจกน้อง ๆ เป็นที่ระลึกตอนเกษียณ  ด้วยหวังว่าจะให้น้อง ๆ  รุ่นหลัง ๆ ได้สานต่อคุณธรรม  ในวันนี้ข้าพเจ้าพบบทความดังกล่าวในหนังสือที่แจกเป็นที่ระลึกต่อแขกเหรื่อที่มาในงานพระราชทานเพลิงท่าน  มิเพียงภูมิใจที่มีส่วนร่วมในหนังสือดังกล่าว  แต่ดีใจที่มีโอกาสได้บอกเล่าคุณธรรมของท่านในวงกว้าง จึงต้องขอขอบพระคุณท่านผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (คุณอภิชาติ รมยะรูป) และขอนำบทความดังกล่าวมาแสดงใน blog  นี้อีกครั้งหนึ่ง


วันที่ถูกปลูกฝังคุณธรรม :




บทความข้าพเจ้าเอง
       
                          สมัยอดีตที่พี่เพิ่งเข้ามาอยู่ที่ฝ่ายประนอมหนี้ไม่นานนัก  ขณะนั้นยังเป็นพนักงานชั้นผู้น้อย เคยถูกท่านกรรมการรองฯ (ท่านวิระ รมยะรูป) เชิญพบในวันหนึ่ง  สืบเนื่องจากงานเกี่ยวกับการรับประนอมหนี้ของลูกหนี้ ถูกเสนอไปตามลำดับสายงาน และไปถึงท่านเพื่อพิจารณาอนุมัติ  แนวทางที่ได้นำเสนอคงจะไม่สมเหตุสมผล  คงจะไร้คุณภาพอยู่มากทีเดียว ท่านจึงเรียกอบรม   เพื่อให้แง่คิดในการทำงาน
                  ท่านกล่าวกับพี่อย่างผู้ใหญ่ใจดี ……………
                 ต้นไม้ที่สูงใหญ่  นะหนู  ถ้าเราตัดจนเหลือแต่ตอ  นับวันจะมีแต่แห้งเหี่ยวตาย  หากเราเด็ดเพียงกิ่งก้าน ไม่ช้านานเขาก็จะผลิดอกออกผลให้เราเก็บกิน  ฉันใดก็ฉันนั้น  ลูกค้าของเราก็เช่นกัน..
                  พี่ตะลึง  เมื่อได้ยินเช่นนั้นและรู้สึกละอายใจต่อผลงานของตัวเองเป็นยิ่งนัก   รู้ได้โดยพลันว่าท่านกำลังสอนให้เรามีคุณธรรม  สอนให้เรารู้ว่า ลูกค้าคือต้นไม้ที่เราต้องคอยดูแล  คราใดที่ต้นไม้นี้มีปัญหาหากเราฟันทิ้งจนสิ้นซาก  ต้นไม้นั้นคงไม่พ้นต้องตายแน่ ๆ  แต่หากเราเพียงเด็ดกิ่งก้านที่มีปัญหา  ถนอมลำต้นไว้  ไม่ช้า...ต้นไม้นั้นก็จะเจริญเติบโต  สร้างผลกำไร ให้เราได้ต่อไปอีก 
                   ลูกค้าที่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ กำลังความ สามารถในการชำระหนี้ย่อมมีอยู่จำกัด  หากเจ้าหนี้มุ่งจะเรียกคืนทุกบาททุกสตางค์  ใช่ว่าลูกหนี้จะสามารถชำระได้   คนที่ตีบตันในหนทาง  เหมือนกับตายไปแล้วครึ่งตัว  หากผ่อนปรนกันบ้างตามสมควร ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ  เหลือทุนไว้ต่อชีวิตเพื่อมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ใหม่ ไม่ช้าไม่นาน  ลูกหนี้ก็จะกลับมาเป็นลูกค้าของเราใหม่ได้อีกครั้ง
                  พี่ภูมิใจในตัวท่านเป็นอย่างยิ่ง  มิน่าเล่าธนาคารของเราจึงเจริญเติบใหญ่ และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน  เพราะเรามีผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม พี่รู้สึกขอบคุณในใจและดีใจที่มีโอกาสได้รับการอบรมจากท่าน ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสเช่นนี้  
                  นับแต่นั้นมา  ก็ได้ยึดเอาสิ่งที่ได้รับการปลูกฝัง  มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน   การยึดมั่นในคุณธรรมทำให้เราทำงานด้วยความสุข   การเจรจาประนอมหนี้รายแล้วรายเล่าที่จบลง  อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล  และการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้  เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า   หากเจ้าหนี้มีคุณธรรม และลูกหนี้มีคุณธรรม  เราก็จะพากันเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง….
                  นี่เองกระมังที่มีคนพูดว่า ...คุณธรรม..ค้ำจุนโลก  พี่อาจจะไม่มีโอกาส ได้บอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้กับพวกเราฟังทุกคน  จึงขอถือโอกาสนี้  ฝากคำสอนของท่านรองวิระ  ไว้กับพวกเราด้วย และเชื่อว่าทุกคนสามารถยึดคำสอนของท่านเป็นแนวในการปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกับที่พี่ยึดถือ.....
                  ขอให้ทุกคนยึดมั่น ในหลักคุณธรรมในการทำงานด้วย..นะคะ


และนอกเหนือจากบทความข้างต้นแล้ว  ยังมีอีกบทความหนึ่งที่ข้าพเจ้าอ่านแล้วกินใจมากเหลือเกิน  น้องแพ้ท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม  หลานตาของท่านรองวิระ  เป็นผู้เขียนบทความนี้ไว้อย่างน่าประทับใจ  ข้าพเจ้าขออนุญาตินำบทความนั้น ลงใน blog  นี้เพื่อหวังว่าผู้ที่มิได้ไปร่วมงาน แต่เข้ามาอ่านใน blog นี้ จะได้รับประโยชน์จากบทความนี้แน่นอน



แด่คุณตาของผม "วิระ รมยะรูป"



บทความน้องแพ้ท

                เมื่อคืนวันที่ 1 มีนาคม 2555 คุณแม่โทรมาบอกว่า "แพ้ท !! คุณตาท่านเสียแล้ว"

                ผมก็รู้สึกใจหายอย่างมาก เพราะคุณตาเป็นเสมือนต้นแบบ ที่สอนให้ผมเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างทั้งในเรื่องของการงาน และมุมมองการใช้ชีวิต

                คุณตาผม (วิระ รมยะรูป) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการธนาคารของประเทศไทย ตั้งแต่ในสมัย คุณชิน โสภณพนิช...ท่านเป็นผู้จัดการสาขาแรกของธนาคารกรุงเทพ  แล้วร่วมบุกเบิกจนวันนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้กลายเป็นธนาคารที่ยิ่งใหญ่ ระดับโลก..."เรื่องราวการเดินทางของคุณตา มันได้จุดประกายให้ผมเห็นว่า...ความยิ่งใหญ่ของคน ๆ นึง มันสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ และยิ่งใหญ่เพียงใดก็ได้ ตราบเท่าที่เขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ" (ก่อนที่คุณตาผมจะป่วยเมื่ออายุ 90 กว่า ท่านทำงานจนถึงวันสุดท้าย...จุดนี้มันชี้ให้เห็นเลยว่า จะทำอะไรให้สำเร็จได้ เราต้องรักในสิ่งนั้น และนั่นแหละคือ ชีวิตทั้งหมดของเรา !!).... ถูกต้อง บทเรียนชีวิตของคุณตา สอนให้ผมรู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุด  ในชีวิตของลูกผู้ชายคนนึง  จะประสพความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับ " ความอดทน และความกล้าที่จะเดินตามฝันของตัวเอง"

                "ชีวิตคือความเสี่ยง แต่มันจะยิ่งเสี่ยง หากเราไม่กล้าที่จะเสี่ยง"   .....คุณตาผม ลาออกจากแบงค์ชาติในขณะที่ตัวเองเป็นดาวรุ่งในสมัยนั้น  แล้วมาร่วมบุกเบิกธนาคารเล็ก ๆ ในขณะนั้น ที่ชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพ....มันคงเป็นอะไรที่ตลกมาก หากคุณมีงานที่มั่นคงในองค์กรที่ใหญ่ระดับประเทศ แต่คุณเลือกมาทำงานกับองค์กรเล็ก ๆ  ที่ไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร ....."นั่นแหละ  ที่ผมมองว่าเป็นการเดินทางของผู้กล้า"

                ชีวิตคงเป็นอะไรที่ง่ายน่าดู  หากเราเลือกทางเดินที่มันแสนจะปลอดภัย และก็ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย เหมือนที่คนส่วนใหญ่ในโลกเขาคิดและทำตาม ๆ กัน...."ถูกต้อง!!  มันง่ายที่จะทำ  ทำตามคนอื่น และทำเหมือนคนอื่น...และผลลัพท์ก็คงเหมือนกับคนอื่นทั่ว ๆ ไป"

                สิ่งที่คุณตาสอนเสมอคือ "ให้".......องค์กรระดับสองหมื่นกว่าคน  ที่ใหญ่ระดับประเทศอย่างธนาคารกรุงเทพ คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างให้ประสพความสำเร็จหากคน ๆ นึงคิดจะ One Man Show มันคงเป็นจำอวดที่น่าสมเพช และเป็นกับดักของคนเก่งที่คิดจะเก่ง และทำทุกอย่างด้วยตนเอง....คุณตา สอนให้ผมรู้ว่า  การสร้างอะไรก็ตาม มันขึ้นอยู่ที่ "สร้างคน".....หัวหน้าจะโตได้ลูกน้องต้องเก่ง...และคนเก่งจะมาเป็นลูกน้องคุณได้ ไม่ใช่คุณต้องเก่งกว่า  แต่คุณต้องมี ในสิ่งที่เขาไม่มี  นั่นคือ "การให้  และ ความเมตตา"......เวทีในการแสดงโอกาสของชีวิตจริง  มันไม่ได้มีเพียงพอให้คนเก่งทุก ๆ คน ได้แสดงฝีมือหรอก  ดังนั้น "ผู้ให้" จึงเป็นศูนย์รวมแห่งโอกาสและคนเก่ง.....คุณตาผมมุ่งสร้างและให้โอกาสคน และนั่นก็คือ บารมีและอำนาจ  ที่คนเก่งเขาตอบกลับมา

                "รวงข้าว ยิ่งสุกและสมบูรณ์ มันจะยิ่งงองุ้มลงมา"    เปรียบเสมือนคนที่ยิ่งใหญ่ จะยิ่งอ่อนน้อม (ผิดกับคนที่ไม่มีอะไร  ก็จะกร่าง และพยายามเบ่งตัวเอง  เสมือนคางคก)...........นั้นก็เป็นสิ่งที่เตือนสติผมเสมอ  ในเส้นทางที่เดินว่า การที่คน ๆ นึง จะสำเร็จและยิ่งใหญ่ได้ " เราต้องสร้างคนที่รายล้อมเรา ให้สำเร็จและยิ่งใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน...นั่นถึงจะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนและยาวนาน"

                ตอนช่วงที่คุณตา  นอนอยู่โรงพยาบาล   ก็จะท่องกลอนสอนลูก ๆ หลาน ๆ ให้รู้จักประมาณตน ซึ่งผมท่องจนขึ้นใจ

                " อันที่จริง              เขาอยากให้เราดี
       แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกที           น่าหมั่นไส้
       จงทำดีอย่าทำเด่น          จะเป็นภัย
       ไม่มีใครเขาอยากเห็น     เราเด่นเกิน"

แด่  ผู้ยิ่งใหญ่ ตลอดกาล สำหรับผม....."คุณตา"


คงไม่ต้องมีบทสรุปสำหรับบทความนี้...ของน้องแพ้ท.. เพราะมันชัดเจนในทุกวลี  หากอ่านและคิดตามมันก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในองค์กร   โดยเฉพาะ...ธนาคารของเรา...........

ท่านรองวิระ รมยะรูป   ท่านคือปูชนียบุคคลแห่งอาณาจักร์บัวหลวงแห่งนี้...ดอกบัวดอกแรกที่ไม่มีวันโรย...ชั่วนิจนิรันดร์.......

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วัดไชยวัฒนาราม




ถ้าหากจะพูดถึงการเที่ยววัด จังหวัดแรกที่คนจะนึกถึงคงไม่พ้นจังหวัดอยุธยาแน่นอน เพราะอยุธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในอดีต จึงมีการสร้างวัดกันมาก จะสังเกตุเห็นว่า เกือบจะทุกหนแห่งของอยุธยา ยังมีซากกำแพงซากเจดีย์ปรากฏให้เห็นอยู่ ข้าพเจ้าเองไปอยุธยาบ่อยครั้งมาก แต่พอเที่ยวแล้วก็ลืม จึงมีความคิดว่าเราควรต้องบันทึกเอาไว้ มิใช่เพียงเพื่อจะให้จดจำได้เท่านั้น  แต่อยากให้ผู้คนที่ลืมไปแล้วเหมือนกันเช่นข้าพเจ้า หรือคนที่ยังไม่เคยได้ไป ได้มีข้อมูลไว้เป็นเบื้องต้น  เมื่อเดือน มิย. 55 ข้าพเจ้าไปวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอโยธยา นั่นคือวัดไชยวัฒนาราม





วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง อยู่นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ซึ่งเป็นปีแรกที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ วัดนี้อยู่ในที่อันเป็นนิวาสถานเดิมของพระองค์  โดยสร้างอุทิศถวายแด่องค์พระชนนีและเฉลิมพระเกียรติ์พระองค์เอง วัดนี้อาจจะใช้เวลาก่อสร้างต่อเนื่องมาถึง 20 ปี   เพราะข้อความในจารึกลานทองที่พบ ฝังอยู่ที่เบื้องหลังพระพุทธรูปทรงเครื่อง ในเมรุจารึกไว้ว่า "ศุภมัสดุพุทธศักราช 2192  มหาศักราช 572  วันพุธ เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ  (ปี) จอโทสก แรกสถาปนา"





เจดีย์ทรงปรางค์ขนาดใหญ่ เป็นประธานของวัด  ก่อบนฐานร่วมกับปรางค์บริวารขนาดย่อม  ก่อไว้ประจำ 4 มุม ระเบียงคดที่ล้อมรอบมี "เมรุ" คือทรงปราสาท 8 องค์ ตั้งเป็นจังหวะอยู่ตามทิศ  อุโบสถอยู่นอกระเบียงคดทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมออกมาถึง 3 ชั้น  แผนผังที่สมบูรณ์เกิดจากการวางตำแหน่งอาคารในจังหวะที่สมดุลย์  จึงได้จังหวะที่งดงามไม่ว่าจะมองในทางราบหรือทางตั้ง   พระมหากษัตริย์นับแต่ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา  เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล และใช้เป็นที่ทำการพระศพ พระราชวงศ์และขุนนางระดับสูงอยู่เสมอ  ก่อนเสียพระนครศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามคงเป็นที่ตั้งรับข้าศึก ดังปรากฏหลักฐานการก่อเสริมกำแพงวัดให้มั่นคง รวมทั้งพบชิ้นส่วนของกระบอกปืนและลูกกระสุนปืนใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง










และเมื่อเสียกรุงในปี พ.ศ.2310  วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง มีคนใจบาปเข้าไปลักลอบตัดเศียรพระไปหลายองค์ อิฐกำแพงวัดก็ถูกรื้อไปขาย จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เข้ามาปรับปรุง ขณะนี้พบพระที่มีเศียรอยู่เพียง 2 องค์











เมื่อเดือน ตุลาคม 2554 จังหวัดอยุธยาประสพปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก วัดไชยวัฒนาซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้เจดีย์บางองค์ชำรุดมากขึ้น กรมศิลปากรเตรียมเข้าปรับปรุงซ่อมแซม เจ้าหน้าที่จึงนำเชือกกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปชมภายในเหมือนเช่นแต่ก่อน  หากใครจะเข้าชมในตอนนี้ก็คงดูได้เพียงภายนอก



ความสวยงามของวัดไชยวัฒนาราม ทำให้สามารถมองเห็นความสวยงามทางจิตใจของคนอยุธยาและคนไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี  จิตใจที่มุ่งทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยามบ้านเมืองสงบศึก

และตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับวัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของพระตำหนักสิริยาลัย ของสมเด็จพระบรมราชินีนารถ





จึงกล่าวได้ว่า นักท่องเที่ยวทั้งหลาย หากพลาดชมวัดไชยวัฒนารามแห่งนี้......ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก.....

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไปชมวังพระนเรศกันเถอะ



วังจันทร์ในอดีต
เหตุจากการดูละครอิงประวัติศาสตร์  ทำให้ข้าพเจ้ามีความคิดอยากจะเข้าไปสัมผัสสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ จึงชวนสหายรักตะลุยอโยธยาซึ่งเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ในครั้งกระโน้น ชมพระราชวังที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  กษัตริย์ผู้กู้ชาติไทย
 




 
นี่คือวังจันทร์ หรือ พระราชวังจันทรเกษม ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี  2120  ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร พระราชโอรส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก เมื่อเสด็จมากรุงศรีอยุธยา  ตอนแรกสร้างนั้นประชาชนทั่วไปเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่าวังใหม่หรือวังหน้า ตามตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งอยู่หน้าพระราชวังหลวง ต่อมาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จลงมาพร้อมกับสมเด็จพระนเรศวร ได้เรียกชื่อพระราชวังแห่งนี้ว่า วังจันทร์ ตามชื่อวังจันทร์อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ที่เมืองพิษณุโลก
 
 

พระราชวังจันทรเกษม  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งในอดีตจะเรียกกันว่า "คูขื่อหน้า" โดยอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอ  ต.หัวรอ  อ.พระนครศรีอยุธยา  ที่แห่งนี้พระนเรศวร เคยใช้เป็นที่บัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ.2129 และเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระมหาอุปราชที่สำคัญของไทยถึง 8 พระองค์ด้วยกันคือ
  1. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  2. สมเด็จพระเอกาทศรถ
  3. เจ้าฟ้าสุทัศน์
  4. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  5. ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)
  6. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
  8. กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)



 
นั่นคือขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่วังนี้พระองค์เป็นมหาอุปราช ต่อเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์  ระหว่าง พ.ศ. 2133 - 2148 ได้สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) เป็นพระมหาอุปราช  ได้ให้ประทับที่วังจันทร์นี้ และเรียกว่า วังจันทร์บวร
 
 

ครั้นต่อมาสมเด็จพระเอกาทศรถ ขึ้นครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 2148 - 2153  ได้สถาปนาเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเกิดกับพระมเหสี  ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชแทน และประทับที่วังหน้าเช่นกัน  แต่เจ้าฟ้าสุทัศน์ ถูกข้อหาขบถต่อพระราชบิดา จึงเสวยยาพิษและสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน   เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์  ซึ่งเป็นโอรสองค์ถัดมา (โอรสที่เกิดกับพระมเหสี)ได้ขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองราชย์ได้เพียงไม่ถึงปี ก็ถูกราชประหาร
 
 

โดยในช่วงแผ่นดินของพระศรีเสาวภาคย์นี้  จหมื่นศรีสรรักษ์ ได้ซ่องสุมกำลังทหาร บุกเข้าวังหลวงนำพระศรีเสาวภาคย์มาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ และอัญเชิญพระอินทรราชา (พระราชโอรสของพระเอกาทศรถ ที่เกิดกับสนม)  ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างผนวช  ลาสิกขาบทมาครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าทรงธรรม  และตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นพระอุปราช  แต่ไม่ได้ประทับที่วังแห่งนี้  ทำให้วังนี้ว่างเว้นจากการเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช นานถึง 46 ปีด้วยกัน
 
 

พระเจ้าทรงธรรม ครองแผ่นดินระหว่างปี พ.ศ. 2154 - 2171  นานถึง 17 ปี  เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชบัลลังค์ระหว่างพระราชโอรสพี่น้อง ในที่สุดพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์โต ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยสำเร็จโทษพระอนุชาเสีย แต่ครองแผ่นดินได้เพียงปีเศษ ก็ถูกออกญาศรีวรวงศ์ (จหมื่นศรีสรรักษ์) สำเร็จโทษ และอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์  ซึ่งเป็น พระอนุชาองค์สุดท้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยวัยเพียง 9 ชันษา โดยมีพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์ ( คือออกญาศรีวรวงศ์หรือจหมื่นศรีสรรักษ์นั่นเอง) เป็นผู้สำเร็จราชการ
 
 
พระอาทิตยวงศ์ครองราชย์ได้เพียง 36 วัน เหล่าขุนนางเห็นว่าพระองค์เอาแต่เล่นซุกซนตามประสาเด็ก เกรงจะเสียหายต่อราชการ จึงอัญเชิญลงจากบัลลังค์ และพระยากลาโหม ก็ได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง และสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์ปราสาททอง  ครองราชย์ต่อมานานถึง 25 ปี ( ตั้งแต่ พ.ศ. 2173 - 2198 )  
 
 

หลังจากพระเจ้าปราสาททอง เสด็จสวรรคต เมื่อปี 2198  พระราชโอรสองค์โต ที่เกิดกับพระมเหสี คือสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ครองราชย์ได้เพียง 9 เดือน ก็ถูกพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระปิตุลา(ลุง) และ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระโอรสพระเจ้าปราสาททองที่เกิดกับราชเทวี) สำเร็จโทษและชิงราชสมบัติ 
 
 

พระศรีสุธรรมราชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยสถาปนา พระนารายณ์ เป็นพระมหาอุปราช และให้ประทับที่วังจันทร์ ขณะนั้นเรียกวังบวรสถานมงคล วังนี้จึงกลับมาเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชอีกครั้งหนึ่งนับแต่นั้น
 
 

แต่พระศรีสุธรรมราชา ครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษ ก็ถูกพระนารายณ์ชิงราชบัลลังค์  เมื่อ พ.ศ. 2199 สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นรองราชย์ต่อมานานถึง 32 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2199 - 2231)  ในระหว่างการครองแผ่นดินของพระองค์ ได้สร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2  และพระองค์ได้ไปสวรรคตที่นั่นเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ปราสาททอง
 
 

ในช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ ได้แต่งตั้งพระเพทราชา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะที่ประทับอยู่ลพบุรี ได้ทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปิย์ โอรสบุญธรรมของพระนารายณ์เสีย (พระนารายณ์ไม่มีโอรสกับพระมเหสี)  ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์ต่อไป
 
 

พระเพทราชา เป็นสามัญชนบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ที่เข้ารับราชการในวังจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย หลังจากขึ้นครองราชย์ ก็ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง และครองราชย์ต่อมาถึง 15 ปี (ระหว่างปี 2232 - 2246) เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2246  โดยขุนหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ โอรสบุญธรรม ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
 
 

พระเจ้าเสือ เป็นโอรสลับของพระนารายณ์ ที่เกิดกับนางสนม  ต่อมาพระนารายณ์ได้พระราชทานนางสนมนี้ให้กับพระเพทราชา พอโตขึ้นพระเจ้าเสือก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระนารายณ์จนเป็นที่โปรดปราณได้รับเลื่อนเป็นขุนหลวงสรศักดิ์  และในสมัยพระเพทราชา ขุนหลวงสรศักดิ์ได้รับสถาปนาให้เป็นมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ประทับที่วังจันทร์ หรือ วังบวรสถานมงคล จนกระทั่งขึ้นครองราชย์  โดยครองราชย์อยู่ 5 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2246 - 2251)
 
 

หลังจากพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคต พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระโอรสองค์โต (เจ้าฟ้าเพชร) ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา และสถาปนาพระอนุชา (เจ้าฟ้าพรหรือพระเจ้าบรมโกศ) เป็นอุปราช ซึ่งขณะนี้เรียกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับที่วังจันทร์ หรือวังบวรสถานมงคล  พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครองราชย์อยู่ 24 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2251 -  2275)  ก็เสด็จสวรรคตในปี 2275
 
 

ในท้ายของรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระ (เจ้าฟ้าพร) กับพระโอรสของพระเจ้าท้ายสระ 2 องค์  ภายหลังพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ประหารชีวิตโอรสทั้ง 2 พระองค์ และได้ขึ้นครองราชย์ต่อมานานถึง 26 ปี (ระหว่างปี  2275 -2301) 
 
 

ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ได้แต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบตร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระโอรส เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช)  ประทับที่วังจันทร์หรือวังบวรสถานมงคล  และเป็นองค์สุดท้ายที่ประทับที่วังจันทร์แห่งนี้  
 
 

ช่วงแผ่นดินของพระเจ้าบรมโกศบ้านเมืองเจริญมาก และมีขุนนางดีเกิดขึ้นหลายคน เช่น พระเจ้ากรุงธนบุรี , พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตลอดจนด้านกวีก็มี เจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์เอง ต่อมาเจ้าฟ้ากุ้งได้ลักลอบเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดา  จึงต้องพระอาญาให้เฆี่ยนตี จนสวรรคต นำพระศพไปฝังที่วัดไชยวัฒนาราม  พระราชวังจันทร์หรือวังบวรสถานมงคล ก็มิได้เป็นที่ประทับของอุปราชพระองค์ใดอีก  และพระเจ้าบรมโกศ ก็มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นมหาอุปราชอีกนานถึง 11 ปี จึงแต่งตั้งกรมขุนพรพินิต หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร พระโอรสอีกองค์หนึ่ง เป็นอุปราช และได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2301  ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร 
 
 

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครองราชย์ได้เพียง 1 เดือนเศษ ก็สละราชสมบัติให้กับพระเชษฐาร่วมพระมารดาคือเจ้าฟ้าเอกทัศน์  แล้วทรงออกผนวช ประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม  จึงเป็นที่มาของการขนานนามพระองค์ว่า ขุนหลวงหาวัด
 
 

ช่วงก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะแต่งตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชาของพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น  เจ้าฟ้าอุทุมพรได้ทรงขอต่อพระราชบิดาให้แต่งตั้งเจ้าฟ้าเอกทัศน์ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมมารดา แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงตรัสว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์นั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ หากจะให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย จึงสั่งให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวชเพื่อมิให้ขัดขวางเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นอุปราช  แต่หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับมาแสดงความประสงค์จะขึ้นครองราชย์  จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ยอมสละราชบัลลังค์ให้กับพระเชษฐา  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  ครองราชย์ได้ 9 ปี (ระหว่างปี 2301 - 2310)  ไทยก็เสียกรุงแก่พม่า  และเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวง






ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310  พระราชวังจันทร์ได้ถูกทิ้งร้าง จนเหลือแต่ซากปรักหักพังจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จึงได้มีการบูรณะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นที่ประทับและเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการขณะเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา


พลับพลาจตุรมุขปัจจุบัน

ภายในพระราชวังจันทรเกษม  จะมีอาคารเรียกว่าพลับพลาจตุรมุข  อยู่ติดกับกำแพงพระราชวัง ไม่พบหลักฐานว่าในอดีตช่วงนั้นใช้เพื่อการใด  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมที่เหลือเพียงซากอิฐถือปูนของฐานพลับพลา  ฉะนั้นภายในอาคารหลังนี้ จึงมีเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4  หลงเหลือให้เราได้มีโอกาสชมหลายอย่าง


ท้องพระโรงสำหรับว่าราชการ


พระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ 4


ของใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4

ของใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4


หม้อกรองน้ำ ของใช้ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 4

ถังอาบน้ำ ของใช้ส่วนพระองค์รัชกาลที่ 4


หลังจากนั้น  ก็มีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นระยะในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5  ,รัชกาลที่ 6 , รัชกาลที่ 7  ตลอดจนรัชกาลปัจจุบัน




ถัดจากพลับพลาจตุรมุข  จะเป็นพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 4




ด้านหน้าของอาคารจะมีรูปปั้นขนาดเล็กของพระนเรศวรขณะหลั่งน้ำสิโนทก เพื่อให้คนที่เข้าชมวังสักการะ ใกล้ ๆ รูปปั้นพระนเรศวรจะมีรูปปั้นไก่อยู่หลายตัวทีเดียว ตามประวัติบอกว่าท่านชื่นชอบการ ชนไก่เป็นชีวิตจิตใจ






ถัดไปจะเป็นอาคารมหาดไทย  เป็นอาคารชั้นเดียวซึ่งใช้เป็นที่ตั้งแสดง  พระพุทธรูปโบราณ  เครื่องใช้   โบราณ  และวัตถุโบราณต่าง ๆ  มากมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ



ปัจจุบันพระราชวังจันทรเกษมได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากกรมศิลปากร ใช้เป็นอยุธยาพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย 
 





ขอขอบคุณข้อมูลจากวังจันทรเกษม และ http://www.wikipedia.org/

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเศร้าที่ค่ายอุบล




ลงจากรถไฟก็ถ่ายรูปกันเลย
ข้าพเจ้าเกือบจะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในค่ายอาสาไปเสียแล้ว  หากไม่มี  e-mail  ฉบับหนึ่งที่เพื่อนร่วมรุ่น forward  มาให้  มันเป็นบทความสั้น ๆ  ที่เขียนเรื่องราวของค่าย จากความทรงจำของท่านผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า ระพี สาคริก  พลันความทรงจำเก่า ๆ ก็เริ่มผุดขึ้นมา



ข้าพเจ้าไปค่ายครั้งแรกที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อตอนมหาวิทยาลัยปิดเทอมปลายปีที่ 1   ในปีนั้นจำได้ว่านิสิตหญิงปี 1  ที่ไปค่ายอุดร  มีอยู่เพียง 4 คน คือตัวข้าพเจ้า , นวล (นวลวรรณ แสนวิเศษ) , เปี๊ยก (สุกัญญา วีระอมรกุล)  และอ๊อด (ดร.สิริลักษณ์ สิริสรรพ)  วัตถุประสงค์ของการไปค่าย  มิได้มีอย่างใดอื่น นอกเหนือจากต้องการใช้เวลาว่างที่มีในช่วงปิดเทอมไปทำประโยชน์ให้กับสังคม อุดมการณ์ที่เปี่ยมล้น จนไม่ได้นึกถึงความลำบากที่อยู่ข้างหน้า  แม้พี่สาวข้าพเจ้าจะทักท้วงห้ามปราม เพราะคงเคยรู้รสความลำบากมาก่อน   แต่ความตั้งใจที่แน่วแน่ แม้จะห้ามปรามสักเพียงใด ก็ทานไว้ไม่อยู่



เช้ามืดวันนั้น ข้าพเจ้าจึงออกจากบ้านอย่างเงียบ ๆ พร้อมกับกระเป๋าเดินทางเพียงใบเดียว ย่องออกจากบ้าน  ขึ้นรถเมล์หน้าปากซอยไปลงสถานีรถไฟหัวลำโพงตามที่รุ่นพี่นัดหมาย ชีวิตค่ายได้เริ่มที่จุดนั้น  



ค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปีนั้น   ไปหลายจังหวัดด้วยกัน  แต่ละจังหวัดก็จะมีรุ่นพี่ปี 3 เป็นผู้อำนวยการค่าย  คอยบริหารจัดการทุกเรื่องเพื่อให้งานราบรื่น เป้าหมายของค่ายเกษตรคือการไปสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ  จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนที่เป็นเพียงนิสิตนักศึกษาอย่างพวกเราเพราะแต่ละคนก็ยังไม่เคยมีประสพการณ์กันมาก่อน เพียงแต่ศึกษาเรียนรู้ก่อนที่จะออกปฏิบัติงานจริง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมิใช่น้อยเลยทีเดียว



อุปกรณ์การก่อสร้างแบบบ้าน ๆ กองอยู่เต็มชานชลา   อาทิเช่น บุ้งกี๋  จอบ เสียม เลื่อย  กบ  กระป๋องน้ำ  เรียกว่าจัดเต็มสำหรับการก่อสร้าง ทุกคนกุลีกุจอขนขึ้นรถไฟ ช่วยกันเต็มที่อย่างคึกคัก สนุกสนาน  ต้นทางอยู่หัวลำโพง  ปลายทางคือสถานีอุดร  พอไปถึงอุดร ก็มีรถจีเอ็มซีของทหารมารับไปส่งที่อำเภอนากลางซึ่งเป็นจุดที่ตั้งค่าย  จุดทดสอบแรกเห็นจะเป็นเรื่องการเดินทางนี่แหละ เพราะทุกคนต้องยืนไปบนกระบะหลังของรถทหารอย่างทุลักทุเล  แค่เดินทางก็เหนื่อยเสียแล้ว  กว่าจะถึงค่ายก็ใช้เวลานานโขอยู่   จุดที่ตั้งค่าย จะอยู่ท้ายหมู่บ้าน พอไปถึงก็พบว่ามีเต้นท์ที่พักกางอยู่แล้ว โดยหน่วยล่วงหน้ามาเป็นผู้ดำเนินการตระเตรียมให้



พี่อุดม ยอดขันธ์  รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการค่ายอุดร  เป็นผู้นำที่ดีคนหนึ่งในสายตาของข้าพเจ้า ที่สามารถบริหารค่ายได้อย่างราบรื่น  ในค่ายของเราเปรียบเสมือนบริษัท ที่มีงานหลายแผนกด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นแผนกโครงงาน  ,  ครัว ,  สวัสดิการ , สันทนาการ  และ อื่น ๆ  ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้งานค่ายคืบหน้าและสำเร็จทั้งสิ้น  ทุกคนมีหน้าที่อย่างไร  ก็ทำไปตามหน้าที่นั้นให้เต็มกำลัง  จนไม่ช้านาน ก็พอจะเห็นเค้าของความสำเร็จ เริ่มมองเห็นโครงอาคารเรียนชัดขึ้น


ขึ้นเสาโครงโรงเรียน
การไปค่ายมิใช่เรื่องสบาย ยิ่งเห็นทุกคนร่วมมือร่วมใจ ก็ยิ่งมีพลัง ทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้จะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขุดหลุม ขนหินดินทราย  ไสไม้  เสริฟน้ำ ทำครัว ฯลฯ


ช่วยกันขนหินเพื่อไปผสมปูนเทพื้น

ช่วยกันขนทราย


นวลวรรณ กำลังไสไม้ผนังห้องเรียน

การทำงานค่ายฝึกให้คนทำงานเป็นทีม  และทำให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสำเร็จได้เพียงลำพัง ต้องช่วยเหลือกันเท่านั้น และที่สำคัญ เรามีกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ จากบุคคลท่านหนึ่ง ที่ชาวค่ายอาสาทุกคนเรียกท่านว่า "คุณพ่อ"  ท่านคือ ศ.ระพี สาคริก บิดาของชาวค่าย ที่คอยให้กำลังใจแก่พวกเราเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในที่กันดารหรือลำบากสักเพียงใด ก็ยังดั้นด้นไป


คุณพ่อร่วมสัมมนาย่อยในค่าย

ในแต่ละวันหลังจากเสร็จงาน  อาบน้ำชำระร่างกายขจัดคราบเหงื่อแล้ว  ก็มาล้อมวงรับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่โรงครัวซึ่งเราสมมุติว่ามันคือภัตตาคาร  เพราะมักจะมีของแปลก ๆ ให้สมาชิกค่ายได้ลิ้มลองอยู่บ่อย ๆ  เช่น ถั่วเขียวต้มเกลือ เป็นต้น นัยว่าคนที่อยู่เวรครัวเห็นเกลือเป็นน้ำตาล



ร่วมวงทานอาหารเย็น

แต่งกายโก้หรูฉลอง dinner

ในที่สุดค่ายอุดร ก็สำเร็จตามเป้าประสงค์ ชาวบ้านอำเภอนากลางได้โรงเรียนใหม่ 1 หลัง เราตั้งชื่อว่า โรงเรียนเกษตรประชานาสมหวัง (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ให้เด็ก ๆ ได้ใช้เป็นที่เรียนหนังสือ บนความภาคภูมิของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคน


ค่ายอุดร

พลังแห่งความภาคภูมิใจในประโยชน์ที่ได้ทำต่อสังคม  ทำให้มีการออกค่ายกันอีกในปีต่อ ๆ ไป และในช่วงปิดเทอมปี 2  ข้าพเจ้ามีโอกาสไปค่ายอีกครั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี   การไปค่ายในครั้งที่ 2 นี้ไม่มีสิ่งใดบอกเหตุเลยว่า พวกเราจะพบกับความสูญเสียที่ไม่อาจลืมได้


ค่ายอุบล
การไปค่ายทุกครั้งก็จะมีนิสิตตั้งแต่ปี ที่ 1-3 คละกันไป และที่ค่ายอุบลในครั้งนี้มีน้องปี 1 ไปกันหลายคนด้วยกัน เท่าที่จำได้ก็มี แฟง (อภิรดี  เพชระบูรณิน) , หน่อย (ยงยุทธ ทวีสิทธิ์) ,  โชติ (วิโชติ วรรโณ) ,หน่อย (จินันท์) ,  แอ๊ด (มานิต)  , เปี๊ยก (สมพร ) , ติ๋ม , เข่ง  , ตู่ และ  ธรรมศักดิ์ อัศวเพียรชอบ ที่พวกเราเรียกชื่อเล่นกันว่าน้องตี๋  โดยมีพี่ประจิต อริยะกุลกาญจน์ เป็นผู้อำนวยการค่าย ตลอดเวลาของการทำงานค่าย  ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นปกติ  น้องตี๋เป็นเด็กน่ารัก มีอัธยาศัย ยิ้มแย้มอยู่เสมอ และช่วยเหลืองานทุกอย่างไม่เคยเกี่ยงงอน งานค่ายสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของน้องพี่เช่นนี้เสมอมา จนในที่สุดเราก็ได้โรงเรียนใหม่เพิ่มอีก 1 หลัง บนหยาดเหงื่อและความร่วมมือร่วมใจของชาวค่าย เราใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านนาสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ด้วยความภาคภูมิยินดีทั้งชาวค่ายเกษตรศาสตร์และชาวบ้าน ตลอดจนข้าราชการในท้องถิ่น



สมาชิกค่ายอุบล

จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายที่พวกเราเตรียมปิดค่าย และจะทำพิธีอำลากันในช่วงค่ำคืน ปรากฏว่าในช่วงบ่ายทุกคนก็ตื่นเต้นกันมากมาย  เมื่อทราบว่าคุณพ่อและคณะ มาเยี่ยม และจะร่วมพิธีกับพวกเรา ตลอดบ่ายวันนั้น จึงเป็นวันที่สนุกสนานและอบอุ่นเป็นที่สุด  ชาวบ้านเองก็ใจหายเมื่อรู้ว่าพวกเราจะกลับแล้ว เหล่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเกือบทั้งหมู่บ้านต่างก็มาอวยพร  ผูกข้อมือให้ศีลให้พรพวกเรา


ชาวบ้านผูกข้อมือ ให้ศืลให้พร

แต่เขาว่ากันว่าความสุขมักอยู่กับใครได้ไม่นาน  ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน เป็นความจริงเช่นนี้เสมอมา  มีความสุขที่มีกันถ้วนหน้าอยู่ช่วงบ่าย พลันในช่วงพลบค่ำของคืนสุดท้าย ได้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น มีพายุพัดแรงมากบริเวณนั้น และปรากฏสัตว์ชนิดหนึ่งมาพร้อมกับพายุ นั่นก็คือลิงลมเข้ามาอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในบริเวณค่าย  เมื่อพายุสงบท้องฟ้าก็เริ่มมีแสงสว่าง  ทำให้มองเห็นพระจันทร์เต็มดวง แต่จันทร์คืนนั้น มิได้เหลืองอร่ามเช่นที่เคยเห็น กลับเป็นสีแดงเหมือนดั่งสีเลือด  ชาวบ้านที่เฝ้าดูพวกเราได้กระซิบให้ฟังว่าเหมือนเป็นลางร้าย พวกเราเองก็ไม่ค่อยจะเชื่อนักแต่เมื่อจิ้งจกทัก ไม่ว่าใครก็ต้องกังวล ความสุขได้แปรเปลี่ยนเป็นความกลัวและกังวลไปในทันที  จนคุณพ่อต้องขอให้พวกเราเกาะกลุ่มรวมกันและสีไวโอลินให้ฟังเป็นการปลอบใจ



แค้มป์ไฟอำลา

แค้มป์ไฟในคืนสุดท้าย จึงเป็นความประทับใจที่แฝงความวังเวงอยู่ไม่น้อย  แต่อย่างไรก็ตามคืนนั้นทั้งคืนก็มิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้นจนถึงรุ่งสาง  พวกเราจึงหายใจได้สดวกขึ้นเพราะความโล่งใจ  ช่วงสายวันนั้นรถทหารก็มารับพวกเรากลับออกไปจากค่าย และมีเจ้าหน้าที่ รพช.ท่านหนึ่งชื่อ พี่วิชัย วิบูลย์กิจธนากร ซึ่งคอยช่วยเหลือพวกเราตลอดที่อยู่ค่าย  เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อย  จึงชักชวนให้พากันไปเล่นน้ำที่เกาะกลางแม่น้ำมูลหวังจะให้เกิดความสนุกไม่รู้ลืม  ก่อนจะอำลากัน

น้ำก็ตื้น ๆ  เล่นน้ำกันจนเหนื่อย เพราะต้องวิ่งในน้ำ  แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า ในบางช่วงมีหลุมลึกใต้น้ำ เพราะบริเวณนี้มีการขุดทรายกัน  ส่วนที่ถูกขุดเป็นหลุมลึกจึงก่อให้เกิดน้ำวนขึ้นบริเวณนั้น และคนที่โชคร้ายไปเล่นน้ำบริเวณนั้นก็คือ.......น้องตี๋..ธรรมศักดิ์ อัศวเพียรชอบ



เรามารู้ว่า น้องตี๋หายไปก็ตอนที่ขึ้นมารดน้ำคุณพ่อระพี สาคริก  เมื่อนับจำนวนคนแล้วจึงรู้ว่าหายไป 1 คน ไม่มีใครคิดว่าว่าน้องตี๋จะจมน้ำ คิดไปว่าคงไปเดินเที่ยวเล่นตามประสาเด็กหนุ่ม  จึงช่วยกันตะโกนจนดังก้องไปทั้งสองฝั่งน้ำ  เป็นเวลานานแสนนาน ก็ไม่มีวี่แวว   จนกระทั่งไปพบเสื้อผ้ากองอยู่ริมฝั่งจึงมั่นใจว่าคงอยู่ในน้ำแน่แล้ว พี่ ๆ เพื่อน ๆ ผู้ชายเริ่มพากันโดดน้ำลงไปงมหา รวมทั้งแป๋ว สมถวิล พาณิชยิ่ง ซึ่งเป็นนักว่ายน้ำก็ลงไปช่วยอีกแรงหนึ่ง  งมแล้วงมเล่า หลายต่อหลายครั้ง ก็ไม่พบสิ่งใด  ชาวบ้านที่มามุงดูเริ่มให้ความเห็นที่สร้างความกังวลไม่น้อยที่ว่า บริเวณนี้มีคนตายบ่อยเพราะน้ำวน !



ความเห็นของชาวบ้าน ทำให้ต้องแอบคิดว่า " หรือตี๋จะเป็นคนต่อไป"  และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อมีใครก็ไม่รู้ตะโกนขึ้นมาว่า "พบแล้ว".......พร้อมทั้งประคองร่างที่ซีดขาวไร้ความรู้สึกขึ้นมาบนฝั่ง



การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นไม่ได้ผล ในที่สุดก็ต้องนำส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์เพื่อหวังว่าจะสามารถช่วยชีวิตให้รอดได้



ตะวันลับฟ้าไปแล้ว  พระจันทร์ทอแสงสีเดียวกับเมื่อวันวาน พวกเรานั่งเกาะกลุ่มกันอยู่บนพิ้นถนนในโรงพยาบาลเพื่อรอฟังข่าวอย่างมีความหวัง  ใต้เงาแสงจันทร์สีเลือดนั้น ทุกคนเงียบกริบจนสามารถได้ยินแม้เพียงเสียงลมหายใจ....นานจนกระทั่งรุ่นพี่มาบอกว่า "ไม่รอดแล้ว" เท่านั้นแหละก็ร้องไห้กันระงม


อนิจจา  น้องตี๋.....เธอช่างโชคร้ายเหลือเกิน  !
เพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคน เสียใจที่ไม่อาจช่วยเหลือเธอได้   เสียใจที่ไม่อาจดึงชีวิตเธอกลับมาได้
ขอภาวนาให้เธอได้ไปอยู่ในที่ ๆ ดีงาม  เพราะสิ่งที่เธอได้ทำก่อนสิ้นลม ก็คือการสร้างคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคม........โรงเรียนบ้านนาสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ที่เธอได้มีส่วนร่วมสร้างไว้...



และที่สำคัญ...น้องตี๋ ..จะอยู่ในความทรงจำของพี่ ๆ ชาวค่ายทุกคน..ตลอดไป
แม้จะเป็นความทรงจำที่แสนเศร้า............ในการออกค่ายอาสาที่อุบลราชธานี..........
อาลัย..ธรรมศักดิ์  อัศวเพียรชอบ