บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา





วันเข้าพรรษา  เป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนา ปวารณาว่าจะพักอยู่ประจำ ณ.ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตลอดระยะเวลาฤดูฝนมีกำหนดเวลา ๓ เดือน เรียกกันว่า "จำพรรษา" เริ่มตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘  ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  พุทธศาสนิกชนเรียกช่วงเวลานี้ว่า "เทศกาลเข้าพรรษา"

เหตุผลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้พระจำพรรษา ก็เพื่อให้งดจาริกไปตามที่ต่าง ๆ  อันจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการเดินทางของพระสงฆ์ที่อาจไปเหยียบย่ำข้าวกล้าไร่นาของชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย จึงถือเอาโอกาสนี้ให้พระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมวินัย

ในแง่ของพุทธศาสนิกชน ก็นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ บำเพ็ญกุศล  ซึ่งมักจะถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้ตลอดช่วงจำพรรษา

การทำบุญถวายเทียนพรรษา  จึงเป็นเรื่องดีที่พุทธศาสนิกชนควรถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ  ตัวข้าพเจ้าเองได้ละเลยเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน  จวบจนเกษียณจากงานประจำ  จึงมีโอกาสที่จะปฏิบัติตามพุทธประเพณี  ในปีนี้  จึงได้ตระเตรียมข้าวของดังกล่าวไปถวายแด่พระสงฆ์รวม ๕  วัดที่จังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรี

วัดรางหมัน จ.นครปฐม

วัดไร่แตงทอง จ.นครปฐม
วัดหนองโรง จ.กาญจนบุรี


วัดถ้ำพุหว้า จ.กาญจนบุรี
พระพุทธรูปในวัดถ้ำพุหว้า
รูปเหมือนหลวงปู่โต ภายในวัดถ้ำพุหว้า


ภายในวัดถ้ำพุหว้า

ส่วนอีกวัดหนึ่งคือวัดถ้ำเขาปูนที่ด้านหลังวัดอยู่ติดแม่น้ำแคว คณะเราจึงเลือกที่จะสัญจรทางน้ำ  ด้วยการนั่งบนแพของครัวชุกโดนหลังจากที่รับประทานอาหารกลางวันที่นั่นเรียบร้อยแล้ว  การล่องแพทำให้เราได้มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของแม่น้ำ ๒ สีที่บริเวณนี้อันเกิดจากการบรรจบกันของแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่  ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง


การไปถวายสังฆทานหลาย ๆ วัดพร้อมกัน จึงเห็นวิธีปฏิบัติของพระสงฆ์ในการรับของที่พุทธศาสนิกชนนำไปถวายแตกต่างกันไป  บางวัดเพียงแค่กล่าวคำถวายของ แล้วก็รับศีลรับพร เป็นอันจบพิธี คนถวายก็อิ่มบุญแล้ว

แต่ที่วัดถ้ำเขาปูน พระท่านบอกให้เราจุดเทียนทุกเล่มที่นำไปก่อน เพื่อให้เกิดความสว่างไสว แล้วจึงค่อยทำพิธีถวายของอื่น ๆ  นัยยะแห่งการจุดเทียน ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความสุขทางใจ เกิดความเลื่อมใสในบุญที่กำลังกระทำ ว่ามีอานิสงฆ์ตกถึงตนในทันที  จิตใจสว่างไสวบังเกิดเป็นความสุขขึ้น

แต่เมื่อไปถึงวัดถ้ำพุหว้า ก็เป็นอีกแนวหนึ่งซึ่งมิได้เน้นว่าต้องจุดเทียนเพื่อให้เกิดความสว่างไสวดังเช่นแนวทางของวัดถ้ำเขาปูน  เพียงแต่เน้นว่า การทำบุญ ต้องมีความตั้งใจ และไปให้ถึงที่

อย่างไรก็ตาม   ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ว่าจะถือปฏิบัติอย่างไรก็บังเกิดความสุขใจได้ทั้งสิ้น  หากการทำบุญนั้นเกิดจากความตั้งใจจริง  ข้าพเจ้าขอกระจายบุญที่ได้รับมามากมาย ไปยังผู้อ่านโดยถ้วนหน้านะคะ.....

๑๕ ปีที่พระนเรศวรครองราชย์

ภาพวาดพระนเรศวรขณะประกาศอิสสระภาพ


ในช่วง ๑๕  ปี ที่พระนเรศวรครองแผ่นดิน เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น ๑๕  ปีที่พระองค์ทรงเหนื่อยยากตรากตรำกับการศึกมาเกือบโดยตลอด เพราะอาณาจักรของไทยแผ่ไปกว้างใหญ่ไพศาล ท่านไม่เคยแพ้ศึกสงคราม   ตำนานของพระนเรศวรจึงเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องจดจำ  เรื่องราวของพระองค์ถูกจารึกไว้ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์  สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถี
 
 



พระนเรศวร ประสูติเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘  ที่เมืองพิษณุโลก เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์  ซึ่งพระวิสุทธิกษัตริย์นี้เป็นบุตรี ของพระมหาจักรพรรดิ์ และ พระศรีสุริโยทัย  จึงนับเป็นสายเลือดของนักรบมาแต่กำเนิดทีเดียว ขณะที่ประสูติ พระมหาธรรมราชากำลังครองเมืองพิษณุโลก มีพระพี่นางทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี  พระอนุชาทรงพระนามว่าพระเอกาทศรถ
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖  เกิดสงครามช้างเผือกระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง  ฝ่ายพม่า  บุเรงนองมีชัยชนะ  พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกต้องยอมผูกไมตรี โดยมอบสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งขณะนั้นมีชันษา ๙ ปี ให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนำไปอยู่ด้วยที่กรุงหงสาวดี  และประทับอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๑๑๒  เป็นเวลา ๖  ปี  

 
ช่วงเวลาที่ประทับอยู่หงสาวดี  พระนเรศวร มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาพม่า มอญ และรับการฝึกฝนยุทธวิธีทางทหารอย่างเชี่ยวชาญ  ทรงเติบโตคู่กันกับพระมหาอุปราชา  พระนเรศวรทรงโปรดการเล่นชนไก่อย่างมาก   เคยเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา  และเป็นฝ่ายชนะ แต่กลับได้รับการกล่าวคำถากถางว่าทรงเป็นเชลย  จึงเป็นแรงดลใจให้ทรงคิดกอบกู้เอกราชอยู่ในส่วนลึกตลอดมา
 
 
 




เหตุการณ์จารึกไว้ว่า  พระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา มังสามเกียด ไก่พระมหาอุปราชาแพ้  พระมหาอุปราชาตรัสว่า " ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ"  สมเด็จพระนเรศวรตอบว่า "อย่าว่าแต่จะพนันเอาเดิมพันกันเลย  ถึงจะชนเอาบ้านเมืองกันก็ได้"
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒  พระมหินทราธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เกิดวิวาทกับ พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาช่วยพระมหาธรรมราชา  และปราบปรามกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ  พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาและขอพระสุพรรณกัลยาไปเป็นพระชายา  แล้วอนุญาติให้สมเด็จพระนเรศวรกลับมาช่วยราชการพระบิดาที่กรุงศรีอยุธยา
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๔  สมเด็จพระมหาธรรมราชา ให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อบัญชาการหัวเมืองเหนือทั้งปวง 





ในช่วงเวลานั้นพระนเรศวรทรงนำทัพพิษณุโลกเข้าร่วมรบในสงครามขยายอาณาเขตของหงสาวดีหลายครั้งในฐานะเมืองประเทศราชของหงสาวดี  ทรงแสดงการรบอย่างโดดเด่น  และคุ้นเคยกับเจ้าเมืองมอญ เจ้าฟ้าไทยใหญ่  และเจ้านายอื่นอีกหลายเมือง  จนเป็นที่หวาดระแวงว่าจะเป็นอันตรายต่อหงสาวดี ในช่วงนั้นพระเจ้าบุเรงนองทิวงคต  พระเจ้านันทบุเรงราชโอรสได้ครองเมืองแทนและเกิดวิวาทกับพระเจ้าอังวะ
 
 
 
พ.ศ. ๒๑๒๗ พระนเรศวร ยกทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงปราบเมืองอังวะ  เมื่อไปถึงเมืองแครงซึ่งเป็นถิ่นของชาวมอญ  ทรงทราบความลับจากชาวมอญว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงคิดวางแผนกำจัดพระองค์  จึงรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกอง นิมนต์พระสงฆ์มอญเป็นสักขีพยาน   ทรงเทน้ำจากน้ำเต้าทองคำ  และประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า................
 
 
 
"นับแต่นี้ไปกรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี" !   กรุงศรีอยุธยาจะมีอิสระภาพ  กรุงศรีอยุธยาจะไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป  หลังจากตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่านานถึง ๑๕ ปี  วันนั้นตรงกับวันพฤหัส  เดือน ๖  แรม ๒ ค่ำ ปีวอก  ตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๑๒๗
 




 
ลังจากประกาศอิสระภาพ ก็ได้ยกทัพเสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาเพื่อตระเตรียมบ้านเมืองสำหรับรับศึกพม่า  พระมหาอุปราชาได้ยกทัพไล่ติดตามมา ทันกันที่แม่น้ำสะโตง  หลังจากที่ทัพพระนเรศวรข้ามไปแล้ว  พระองค์ทรงยิงปืนนกสับ ข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุกรรมา นายทัพหน้าของพม่าตายอยู่บนคอช้าง พระแสงปืนดังกล่าวได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"





 
ต่อมา พ.ศ. ๒๑๓๓  พระมหาธรรมราชาประชวรและสวรรคต  สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๙  ขณะทรงพระชันษา ๓๕ ปี  โดยมีสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชา

 
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงทราบข่าวการสวรรคต เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ คาดเดาว่าพระนเรศวร และพระเอกาทศรถ อาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่  ใน พ.ศ. ๒๑๓๕   จึงให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่ห้าแสนพลมาโจมตี   ทัพจากหงสาวดี เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  อำเภอสังขละ  ผ่านตำบลไทรโยค  ผ่านตำบลตระพังตรุ และ ตำบลโคกเผาข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เริ่มปะทะกับทัพหน้าของไทย
 


สมเด็จพระนเรศวร สั่งการให้รี้พลไปขัดรับหน้าข้าศึกที่ตำบลหนองสาหร่าย และได้เคลื่อนทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา  ผ่านตำบลป่าโมก   บ้านสระแก้ว  ถึงตำบลหนองสาหร่ายก็หยุดกองทัพตั้งค่ายชัยภูมิรบตามพิธีพราหมณ์และไสยศาสตร์
 







 
ในที่สุดก็ปะทะกับข้าศึก  พอช้างของพระนเรศวร และ พระเอกาทศรถ ได้ยินเสียงปืนฆ้องกลอง ก็คึกคะนอง ถลันไปในหมู่ข้าศึก แม่ทัพนายกองตามเสด็จไม่ทัน  ผู้ที่เสด็จด้วยมีแต่ควาญช้าง  พี่น้องสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีกำลังมากมาย จึงไสช้างพระที่นั่งชนข้าศึกจนฝุ่นตลบอบอวล  เมื่อท้องฟ้าสว่าง ก็แลเห็นพระมหาอุปราชาอยู่เบื้องหน้า ใต้ร่มไม้  จึงทรงท้าให้กระทำยุทธหัตถึ เพื่อให้เป็นเกียรติปรากฏ
 
 





พระมหาอุปราชารับคำท้า ไสช้างเข้าต่อสู้ทันทีอย่างทรหด  ช้างของพระมหาอุปราชาชื่อพลายพัทธกอ ส่วนของพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยนุภาพ  การต่อสู้ช่วงหนึ่งพลาดพลั้ง พระมหาอุปราชาเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟัน โดนพระมาลาขาดไปเล็กน้อย ส่วนพระนเรศวรหลบได้ทัน  พระมาลาที่ขาดทรงพระนามต่อมาว่า "พระมาลาเบี่ยง"  หลังจากนั้นช้างพลายพัทธกอเสียทีพลาดท่า  พระองค์จึงเงื้อพระแสงของ้าวชื่อ"แสนพลพ่าย" ฟันลงไปถูกไหล่ขวาและพระอุระของพระมหาอุปราชาขาดเป็นรอยแยก สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง  วันนั้นเป็นวันจันทร์ เดือนยี่  แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง  ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕




สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบริเวณที่พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา  ณ.ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์  เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการสงครามป้องกันประเทศชาติครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และให้แจ้งข่าวการแพ้สงครามและการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา ต่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง แล้วยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
 
 



ตลอดเวลา ๑๕ ปีที่พระองค์ครองราชย์  ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองเขตแดนของไทยที่เคยเสียให้กับพม่าและกัมพูชา กลับมาเป็นของไทยได้ทั้งหมด  ทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว่้างขวาง
 

อาณาจักรไทยสมัยพระนเรศวร


สมเด็จพระนเรศวร เสด็จสวรรคต ณ.เมืองหาง  ขณะที่นำทัพไปตีเมืองอังวะ  เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง  ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๘  พระชันษา  ๕๐ ปี  โดยประชวรเป็นฝีระลอกที่พระพักตร์  หลังจากที่เสด็จสวรรคต   สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงสั่งให้เลิกทัพ และอัญเชิญพระบรมศพจากเมืองหาง กลับสู่กรุงศรีอยุธยา และถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่
 




ส่วนพระสถูปเจดีย์ที่ทรงสร้างไว้  เนื่องจากกาลเวลาล่วงเลยมานับร้อยปี  เจดีย์แห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมลง และถูกพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ขณะที่เหลือเพียงซากฐานสี่เหลี่ยม
 







พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖  เสด็จทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมโภช เมื่อ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖  และเริ่มดำเนินการบูรณะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕  เป็นต้นมา  และทางราชการได้ถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี  ซึ่งตรงกับวันที่กระทำยุทธหัตถี เป็นวันกองทัพไทยมาได้ระยะหนึ่ง  ต่อมานักประวัติศาสตร์ได้คำนวณใหม่พบว่า  วันที่กระทำยุทธหัตถึ น่าจะตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม  ไม่ใช่ ๒๕ มกราคม จึงได้เปลี่ยนเอาวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยแทน






สถานที่แห่งนี้ จึงสมควรที่ประชาชนชาวไทยทั้งหลายต้องไปสักการะ......สักครั้งหนึ่งในชีวิต





ขอขอบคุณข้อมูลจากอนุสรณ์สถานดอนเจดีย์..จ.สุพรรณบุรี

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บันทึกด้วยภาพ



กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งของพวกเรา ได้นัดพบกันอยู่เสมอในทุกเดือนที่ทุกคนว่างตรงกัน   มันเป็นเรื่องของการหาความสุขเพียงเล็กๆน้อยๆ ในวัยที่ทุกคนพ้นจากภาระการงานอันหนักหน่วง 


เดือนนี้มีสมาชิกเกิด 3คน ฉลองกันที่ Landmark สุขุมวิทย์ จ้า



คุณตุ้มพิมพ์ใจ นักร้อง KU Band  ไม่ทิ้งลาย ยังร้องเพราะเหมือนเดิม






ได้เพื่อนต่างรุ่น เป็นโต๊ะข้างเคียง

ทราบว่าหลาน ๆ เป็นศิษย์เก่าราชินี มากินเลี้ยงกันเหมือนกัน


มื้อส้มตำที่แสนอร่อยเมื่อได้แย่งกันกิน
บางทีก็เจอกัน sport club  สนามม้าอังรี ถิ่นประจำของแวนด้า

เมื่อคราวฉลองวันเกิดแวนด้าและเบญจมาศที่บางปะอิน

ที่ครัวลุงญา บางตะบูน ถิ่นนัดพบประจำ 

ไม่รู้จะไปไหน ก็ไปครัวลุงญา

บางครั้งก็ชวนกันเข้าวัด ไหว้พระ


บางครั้งก็ไปตระเวณหาของอร่อย ๆ กินที่ประเสริฐโภชนา


กินอยู่ง่าย ๆ กับของอร่อย ๆ ลอดช่องเพชรบุรี

บางทีก็ชวนกันไปชมวังบุเรงนอง

บางทีก็ชวนกันไปดูพระอาทิตย์ตกดิน รำลึกถึงสัจจธรรมชีวิต

ปล่อยชีวิตไปตามตะวัน


 นี้คือความสุขของคนสูงวัย  ที่เวลาแห่งชีวิตเหลืออีกไม่มากนัก..............................................






ตามหา..จีนจู


ทวดอุดม สรรพอุดม

เมื่อเดือนก่อน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนชาวเพชรบุรีท่านหนึ่ง ที่ชื่อคุณทวีโรจน์  กล่ำกล่อมจิตต์   เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองเพชร  การได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเกิดข้าพเจ้า กลับทำให้ข้าพเจ้าได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของบรรพบุรุษตนเองมากขึ้น ทวดของข้าพเจ้าซึ่งทราบเพียงว่าท่านชื่อ อุดม สรรพอุดม นั้น  เดิมท่านมีนามว่า จู  แซ่โง้ว ชาวบ้านเรียกท่านว่า จีนจู และจีนจูคนนี้แหละ  ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งให้กับชาวบ้านแหลม


ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นที่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้  ทำให้ต้องเริ่มติดตามหา "จีนจู" นับแต่วินาทีนั้น !


ข้าพเจ้าคิดว่า  หากท่านได้กระทำคุณงามความดีไว้กับสังคมในอดีต ก็สมควรที่ลูกหลานเหลนโหลน ของท่านควรต้องรับรู้   และช่วยกันสดุดีวีรกรรมของท่าน  ข้าพเจ้าเริ่มเช็คสอบข้อมูลจากหลาย ๆ ทาง แน่นอนที่สุด  ต้องเริ่มต้นจาก social network  และก็ทำให้พอทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่า ทวดอุดมมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดอุตมิงคาวาส  จึงไม่รอช้าที่จะบึ่งไปยังวัดอุตมิงคาวาสในทันที  ในวันนั้นโชคดีมากที่ได้มีโอกาสพบท่านเจ้าอาวาสสมพงษ์  จึงได้ทราบข้อมูลจากท่านมากมาย  และจากการพูดคุยกับญาติพี่น้องรุ่นเก่า ๆ อีกหลาย ๆ คน ในที่สุดก็สามารถต่อจิ๊กซอได้สำเร็จ 


เมืองเพชรในอดีตครั้งกระโน้น  สันนิษฐานว่าเป็นชุนชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ  ที่เราเรียกกันว่ายุคทวาราวดี  เมืองนี้มีชื่อเรียกขานกันว่า "ศรีชัยวัชรปุระ"  จวบจนสิ้นยุคขอม  และเข้าสู่ยุคของอาณาจักรสุโขทัย  ปรากฏหลักฐานจากหนังสือหลายฉบับว่า มีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองจีน  จดหมายเหตุ บางฉบับเขียนชื่อเมืองเพชรบุรีว่า "ปิกชิกปูลี"  หรือ "ปิชะบูลี"  หรือ "ปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ"  ว่าส่งฑูตมาถวายเครื่องบรรณาการยังเมืองจีน


คนจีนแผ่นดินไกลโพ้นทะเล น่าจะมีความสัมพันธ์กับเมืองเพชรมาตั้งแต่ช่วงนั้น โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านแหลมซึ่งเป็นเขตที่อยู่ติดทะเล  มักปรากฏว่าบริเวณปากอ่าวบ้านแหลม  มีเรือสำเภาจีนล่องมาค้าขายกับคนบ้านแหลมอยู่เสมอ ๆ  บ้านคนเก่าแก่ของชาวบ้านแหลมจึงมักจะมีเครื่องถ้วยชามจีนสวย ๆ เป็นมรดกล้ำค่าของบ้านอยู่หลาย ๆ  บ้าน 


ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามีความก้าวหน้าต่อเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์  ชื่อเสียงแห่งความสำเร็จในการล่องเรือสำเภาจีนมาค้าขายที่เมืองเพชรบุรี  น่าจะเป็นที่เลื่องลือเป็นวงกว้างในหมู่คนจีน  จึงพบว่ามีชาวจีนหลายคน  นอกจากจะล่องเรือสำเภามาค้าขายแล้ว  บางส่วนคิดตั้งรกรากที่เมืองเพชร  และหนึ่งในนั้นก็คือ "จีนต้วย"  ผู้มีความวิริยะอุตสาหะ


จีนต้วย  แซ่โง้ว เป็นคนหนึ่งที่น่าจะมากับเรือสำเภาจีนที่บรรทุกสินค้ามาขายที่เมืองเพชร  มีสายตากว้างไกล  แลเห็นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านแหลม  จึงเริ่มมาตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณปากอ่าวบ้านแหลม  ความขยันขันแข็งของจีนต้วย  คงปรากฏชัดในสายตาของอำแดงแจ่ม  สาวชาวบ้านแหลมคนหนึ่ง  ทั้งคู่จึงผูกสมัครรักใคร่ สร้างครอบครัวด้วยกัน  และกำเนิดบุตรชาย ๑ คน ที่ชื่อ"จู  แซ่โง้ว"




อาจู แซ่โง้ว จึงเป็นคนที่มีสัญชาติไทย  เพราะเกิดที่บ้านแหลมนี้เอง  ในวัยเด็ก อาจูน่าจะได้รับการอบรมปลูกฝังที่ดี จากจีนต้วยและอำแดงแจ่ม ผู้เป็นบิดาและมารดา  จวบจนเติบใหญ่ จึงคิดสร้างประโยชน์ช่วยเหลือสังคม  อันเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด




จีนต้วย และ อำแดงแจ่ม สิ้นอายุขัยไปเมื่อใดก็ไม่ปรากฏ  แต่เมื่ออาจูเติบใหญ่ขึ้นมา  ก็ได้อำแดงอึ่งมาเป็นภรรยา ร่วมทุกข์ร่วมสุข  อาจูเป็นชายกำยำ  หน้าตาหล่อเหลา เป็นจีนที่แต่งกายแล้วดูงามมีสง่าราศี  ชาวบ้านแหลมรู้จักท่านในนาม "จีนจู"   จีนจูและอำแดงอึ่ง ก็คือทวดทั้งสองของข้าพเจ้า  ซึ่งตำนานชีวิตของท่านทั้งสอง  ยากนักที่ลูกหลานเหลนโหลนจะล่วงรู้ได้  เพราะกาลเวลาผ่านมาเกือบ ๒๐๐  ปี  ยังพอมีญาติพี่น้องที่เหลือพอจำความได้ก็น้อยเต็มทน  แต่ก็พอจะไล่เรียงได้ว่า  ท่านมีบุตรสืบสกุล ๔ คนด้วยกัน คือ
                     ๑.  ปู่โต
                     ๒.  ปู่อี้
                     ๓.  ปู่แพะ
                     ๔.  ย่าแตงไทย


คุณทวีโรจน์  กล่ำกล่อมจิตต์  ได้เขียนประวัติทวดอุดม  โดยอ้างอิงหลักฐานเอกสารเรื่องราวรับโฉนดที่ดินซึ่งระบุว่า  เมื่อวันที่ ๑  ปีระกา  พ.ศ. ๒๔๕๖  มีอายุ ๘๗  ปี  ฉะนั้น ย่อมแสดงว่า  ทวดอุดม จะต้องเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๖๙  อันตรงกับแผ่นดินของรัชกาลที่ ๓


พี่เล็ก (กฤษชัย  สรรพอุดม)  พี่ชายของข้าพเจ้า  ซึ่งเป็นเหลนคนหนึ่งของทวดอุดม  เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่บวชเรียนอยู่ที่วัดในกลาง เมื่อประมาณเกือบ ๔๐  ปีที่ผ่านมา  ได้มีโอกาสรู้จักกับพระอาวุโสรูปหนึ่ง  ท่านชื่อ "คุณตาหลัว"   คุณตาหลัวเคยออกเรือกับปู่โต  สมัยที่คุณตาหลัวยังไม่ได้บวช  การรอนแรมอยู่ด้วยกันกลางทะเลเป็นเวลานาน  ทำให้คุณตาหลัวมีโอกาสฟังปู่โตเล่าเรื่องราวของชีวิตตนและญาติพี่น้องให้ฟัง


ปู่โต เป็นลูกชายคนโตของทวดอุดม  แต่งงานกับย่าม่วย  มีบุตรสืบสกุล ๕ คน คือ
          ๑.  ป้าทองห่อ
          ๒.  ลุงฮก
          ๓.  ลุงไฮ้
          ๔.  เตี่ยกิ่ม
          ๕.  อาง้วน 


ปู่อี้  น้องชาย แต่งงานกับ ย่าเก็บ  ไม่พบว่ามีบุตรสืบสกุล


ปู่แพะ  น้องชาย แต่งงานกับ ย่าแหว มีบุตรสืบสกุล ๓ คนคือ
            ๑.  อาจุ่น ต่อมาแต่งงานกับอาเล็ก และไปใช้นามสกุลของสามี
            ๒.  อาหนูใหญ่  สรรพอุดม
            ๓.  อาหนูเล็ก  สรรพอุดม


ส่วนย่าแตงไทย ซึ่งเป็นน้องสาวและเป็นลูกสาวคนเดียวของทวดอุดม เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดจากทวดอุดม  ได้แต่งงานกับปู่เชย  วิชัยวัฒนะ  และมีบุตรสืบสกุล ๖ คนด้วยกันคือ

          ๑.  อาเจียน  วิชัยวัฒนะ
          ๒.  อาเจือน  วิชัยวัฒนะ
          ๓.  อาล่งใช้  วิชัยวัฒนะ
          ๔.  อาบุญช่วย  วิชัยวัฒนะ
          ๕.  อากิมเฉี่ยง  วิชัยวัฒนะ
          ๖.  อาจรูญ (หนูเล็ก)  วิชัยวัฒนะ


พี่นิด  เชี่ยวสมุทร  เหลนคนหนึ่งของทวดอุดม ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบเมื่อวันที่ไปวัดอุตมิงคาวาสเล่าให้ฟังว่า  ในอดีตเมื่อครั้งที่ทวดอุดมยังมีชีวิตอยู่  มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่บ้านแหลม นั่นคือมีเรือของราชการซึ่งสมัยนั้นมีลักษณะเป็นเรือกลไฟ  ล่องมาตามลำน้ำเพชรบุรี ขณะที่แล่นผ่านถึงบริเวณหน้าวัดต้นสน  เครื่องเรือเกิดระเบิดขึ้นอย่างแรง  เสียงดังสนั่นหวั่นไหว  เป็นผลให้ลูกเรือหลายคนบาดเจ็บ และบางส่วนล้มตาย  ทวดอุดมได้เกณฑ์สมัครพรรคพวก เพื่อนฝูงและชาวบ้านแหลมจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือ ทั้งคนที่บาดเจ็บ และจัดการศพกับคนที่ล้มตาย  รวมทั้งช่วยกู้เรือที่ได้รับความเสียหาย  จนเหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงด้วยดี  ความเป็นผู้นำและความดีที่ทวดอุดมได้กระทำในครั้งนั้น จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง กันในวงกว้างของชาวบ้านแหลม


ตรงกับข้อมูลของคุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ที่เขียนว่า  กาลในครั้งนั้นมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ดุจเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่แห่งท้องคุ้งอ่าวบ้านแหลม  มีชาวบ้านแหลมนามว่า "จีนจู" ได้เข้าช่วยเหลือคนบาดเจ็บ  เก็บศพจากเหตุเรือกลไฟระเบิดด้วยมนุษยธรรม  ต่อมา "จีนจู" ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็น "ขุนอุดมเดชภักดี"  เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจริง และ "จีนจู" ก็มีตัวตนจริง  โดยคุณทวีโรจน์  พบหลักฐานเอกสารโบราณที่เรียกว่า "สารตรา"  คือหลักฐานยืนยันเรื่องราวในอดีต ซึ่งเป็นเอกสารราชการออกจากศาลาลูกขุนฝ่ายขวา ที่ว่าการกรมพระกลาโหม ให้"จีนจู" มีบรรดาศักดิ์เป็น"ขุนอุดมเดชภักดี"   เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๙  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช พ.ศ. ๒๔๓๐ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสารตรานี้ถูกเก็บงำไว้ที่บ้านเดิมของทวดอุดม  และพี่น้อย  เชี่ยวสมุทร  เหลนคนหนึ่งของทวดอุดมได้รับมรดกตกทอดรับบ้านหลังนี้มา  พบเข้าโดยบังเอิญขณะที่ทำความสอาดบ้านช่วงตรุษจีนปี ๒๕๕๐ และกำลังจะนำไปเผาไฟรวมกับเศษขยะอื่น ๆ 


คุณทวีโรจน์  ได้ตรวจดูเอกสารโบราณที่เรียกว่า "สารตรา"  ต้นฉบับจริงเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ มีจำนวน ๒ แผ่น ลักษณะของกระดาษแห้งกรอบหลุดลุ่ย  ต้องนำไปแช่เย็นให้พอชื้น ๆ แล้วนำมาประติดประต่อประกอบเป็นแผ่น สามารถอ่านข้อความได้ราว ๗๐ - ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หัวกระดาษมีตราสัญญลักษณ์กรมพระกลาโหม  มีรูปช้าง  ใต้รูปช้างมีอักษรตัว   R   C    S   ไขว้กันอยู่  สันนิษฐานว่าเป็นสัญญลักษณ์กรมพระกลาโหม



ความในท้องตราตั้งฉบับนี้ พอสรุปเนื้อความได้  ดังนี้.-

พระยาสุรินฤาไชย  ราชทินนามเจ้าเมืองเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐  ตามสารตราฉบับนี้ คำนวณ พ.ศ. การดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ (จุลศักราช ๑๒๔๙)  พระยาสุรินฤาไชยท่านนี้คือ นายเทศ บุนนาค โดยนายเทศ บุนนาค ได้มีหนังสือเข้าไปยังศาลาลูกขุนในฝ่ายขวาที่ว่าการกรมพระกลาโหม ว่าที่เมืองเพชรบุรีมีโจรสลัดออกปล้นราษฎรในแถบอำเภอบ้านแหลม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ทรงทราบเรื่อง จึงได้โปรดพระราชทานเรือชื่อว่าเรือต่อสู้ไพริน พร้อมกัปตัน ต้นหน คนงาน ทหารปืนใหญ่เล็กพร้อมสรรพ  เพื่อลาดตระเวณจับโจรสลัด  ครั้นพอถึงวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีจอ อัฐศก ๑๙  คำนวณย้อนกลับ ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๙  เรือต่อสู้ไพรินซึ่งเป็นเรือขับเคลื่อนด้วยระบบแรงดันไอน้ำ อันเป็นเรือพระราชทานมาลาดตระเวณจับโจรสลัดและผู้ร้ายปล้นสะดม ได้เกิดอุบัติเหตุ หม้อไอน้ำสตรีมบนเรือได้เกิดระเบิดขึ้น  เป็นผลให้กัปตัน ช่างเครื่อง คนงาน กะลาสีได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก



เหตุเพราะท่อน้ำเรือระเบิด มีคนเจ็บ คนตายในครั้งนั้น ได้มีข้าราชการ อาทิ ขุนศรีวิเศษ  ขุนละคร  ขุนรองจ่าเมือง  และมีราษฎรชาวบ้านแหลมชื่อว่า "จีนจู"  ได้ช่วยกันกู้เรือต่อสู้ไพริน พร้อมทั้งลำเลียงคนบาดเจ็บ  เก็บศพคนตายด้วยความเข้มแข็ง 



ความดีความชอบในการกอบกู้เรือ ช่วยเหลือคนบาดเจ็บล้มตายของจีนจู  ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  พระองค์มีเมตตาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งจีนจูเป็นขุนอุดมเดชภักดี  เป็นนายอำเภอจีนแห่งบ้านแหลม โดยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระยาสุรินทรฤาไชย (เทศ บุนนาค)  เจ้าเมืองเพชรบุรี



ทั้งนี้ยังโปรดเกล้า ฯ  ให้ขุนอุดมเดชภักดี มีอำนาจหน้าที่ระงับ ว่ากล่าวราษฎรไทยจีน มิให้ทะเลาะวิวาท  คอยดูแลมิให้ราษฎรไทยจีนไปเป็นโจรผู้ร้าย ปล้นสะดม ลักขโมย หรือทำลายพระพุทธรูปสถูปเจดีย์โดยสรุปมิให้มีการกระทำผิดด้วยพระราชกำหนดกฏหมายทั้งมวลด้วยประการทั้งปวง 



ความข้างต้นคือข้อมูลที่คุณทวีโรจน์  ได้พบในสารตรา ในบ้านของทวดอุดม ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ ครอบครัวของพี่น้อย เชี่ยวสมุทร อาศัยอยู่  และประวัติของทวดอุดมดังกล่าวข้างต้นถูกบันทึกไว้ที่วัดอุตมิงคาวาส โดยท่านเจ้าอาวาสสมพงษ์ เป็นผู้รวบรวม และคุณทวีโรจน์ เป็นผู้เขียนไว้



ทวดอุดม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีโอกาสจับจองที่ดินไว้ทำกินมากมายหลายแปลง จึงนับเป็นโชคดีของลูกหลานที่ได้รับมรดกตกทอดที่ดินเหล่านั้นไว้ทำกินในปัจจุบัน และทวดอุดมก็ยังได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งของท่านเพื่อสร้างวัดอุตมิงคาวาส 




ท่านเจ้าอาวาสวัดอุตมิงคาวาส ได้บันทึกประวัติของวัดไว้ว่า  วัดนี้สร้างด้วยทุนทรัพย์เพียง ๑๕ ชั่ง ๘ ตำลึง  โดยจีนโป๊และแม่เงิน จำนวน ๑๐ ชั่ง ,  พ่อเขียวแม่เหม จำนวน ๒ ชั่ง , แม่แก้ว จำนวน ๔ ชั่ง , จีนตังแชและแม่แดง จำนวน ๔ ตำลึง  ร่วมด้วยชาวบ้านที่ช่วยกันออกสิ่งของต่าง ๆ คิดเป็นเงิน ๓ ชั่ง การก่อสร้างเริ่มด้วย ขุนอุดมเดชภักดี และ แม่อึ่ง ภรรยา ถวายที่ดินสร้างวัดจำนวน ๒๒ ไร่ ๙๔ ตารางวา เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๓๔   ได้ลงมือสร้างอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ปีมะเส็ง ร.ศ. ๑๑๐)  ด้วยไม้ทั้งหลัง  หลังคามุงด้วยกระเบื้องแผ่นเล็ก ชาวบ้านจะเรียกว่า "วัดปากอ่าว"  เพราะอยูใกล้ปากทะเล




ต่อมาสภาพทรุดโทรม จึงมีการบูรณะใหม่  แต่การสัญจรเข้าวัดค่อนข้างลำบาก เพราะต้องสัญจรทางเรือ  ย่าแตงไทยและอากิมเฉี่ยง จึงได้บริจาคที่ดินให้สร้างถนนเข้าวัด  การสัญจรจึงสดวกสบายขึ้น ชาวบ้านเรียกชื่อถนนนี้ว่า "ถนนแม่แตงไทยอุทิศ"




วัดนี้มีพระอธิการหวัง เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๔๕  เรื่องนี้พี่นิด เชี่ยวสมุทร  เหลนของทวดอุดมเล่าว่า พระอาจารย์หวังเป็นพระจากถิ่นอื่น มาจำวัดที่เพชรบุรีนานมากจนคุ้นเคยชอบพอกับทวดอุดม  เมื่อครั้นท่านจะอำลาไป ทวดอุดมก็เสียดายไม่อยากให้ไป  อยากให้อยู่เป็นศูนย์พุทธของชาวบ้านแหลม นี่เองจึงเป็นที่มาของการถวายที่ดินสร้างวัดอุตมิงคาวาสและพระอาจารย์หวังเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  หลังจากที่พระอาจารย์หวัง มรณภาพ พระอาจารย์เปลี่ยนก็เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา  หลังจากนั้นก็เป็นหลวงพ่อเห่ง (พระครูวชิรกิจโสภณ) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ พระครูโสภิตวัชราทร เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔  และองค์ปัจจุบันคือหลวงพ่อสมพงษ์ ธนวโส เป็นองค์ที่ ๕ และสภาพวัดในปัจจุบันได้รับการบูรณะต่อเนื่องมาอย่างดี  




ส่วนในเรื่องการปกครองคนชาวบ้านแหลมในอดีตครั้งกระโน้น เจ้หวิง สรรพอุดม อายุ ๘๐ ปี พี่สาวต่างมารดาของข้าพเจ้า ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า  ทวดอุดมเป็นผู้ปกครองชาวบ้านแหลม ที่สามารถเอาคนที่กระทำความผิด ขังไว้ที่ใต้ถุนคุก


เมื่อเอ่ยถึงคำว่า"ใต้ถุนคุก"  ข้าพเจ้าก็พอจะจำความได้ว่า บ้านที่ตลาดบ้านแหลม แต่เดิมเป็นบ้านไม้ทรงไทยที่จะใช้อยู่อาศัยเพียงชั้นบน  มีบันไดขึ้นที่หน้าบ้าน และมีกระถางสี่เหลี่ยมอยู่ด้านขวามือของบันได เพื่อใช้สำหรับล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน  ส่วนชั้นล่าง จะมีฝากั้นที่ทำจากไม้ไผ่ซีก ๆ ขัดแตะล้อมไว้โดยรอบ ทำให้ดูทึม ๆ น่ากลัว  ข้าพเจ้าได้ยินแม่เรียกว่า "ใต้ถุนคุก"  ใต้ถุนคุกบ้านโบราณของคนธรรมดา จึงมักใช้เป็นที่เก็บข้าวของ  แต่สำหรับผู้ปกครอง ใต้ถุนคุก น่าจะใช้เป็นที่คุมขังคนผิด 



และเรื่องใต้ถุนคุก  ยังมีเรื่องเล่าจากพี่นิด  เชี่ยวสมุทร เหลนทวดอุดมว่า  ในครั้งหนึ่งปู่แพะ ไปมีเรื่องกับพ่อหมอเสี่ยน   อีตาหมอเสี่ยนนี่เป็นหมอประจำบ้านซึ่งชาวบ้านแหลมนิยมใช้บริการ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็แค่วิ่งไปตาม หมอเสี่ยนก็จะมาทันทีพร้อมกับร่วมยาที่รักษาได้สารพัดโรค  ในครั้งนั้นพ่อหมอเสี่ยนเป็นฝ่ายถูก  ปู่แพะเป็นฝ่ายผิด  แต่ความที่ปู่แพะเป็นลูก ทวดก็สงสาร แต่หากจะไม่เอาผิดก็ไม่ได้เพราะตนเป็นผู้ปกครอง  มีคนแนะนำว่า ให้ผลักปู่แพะเข้าใต้ถุนคุก แล้วก็เปิดประตูให้ออกทันที ก็ได้ชื่อว่าถูกขังแล้ว  แต่ทวดอุดมไม่ยอมเพราะเสียศักดิ์ศรี จึงจับปู่แพะเข้าใต้ถุนคุก และวิ่งเต้นขออภัยโทษในเวลาต่อมา



ชื่อ และ นามสกุล ของทวดอุดมและครอบครัว  น่าจะมีการขออนุญาติใช้ในสมัยของรัชกาลที่ ๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่รัชกาลที่ ๖ ได้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อ  ๒๒  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕  และมีผลบังคับ ให้ใช้ตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  มาได้ระยะหนึ่ง  ที่คาดเดาเช่นนี้เกิดจากการตรวจสอบแล้วว่า การพระราชทานนามสกุลครั้งแรกจำนวน ๖,๔๓๒  นามสกุลในรัชกาลที่ ๖  ไม่พบว่ามีนามสกุลนี้แต่อย่างใด


ลูกหลานของทวดอุดม ได้แตกสาขากันมาหลายรุ่น  แต่ที่เป็นสายใหญ่ ๆ เห็นจะมีเพียง ๒ สายคือ


สายแรกเป็นสายของปู่โต และย่าม่วย ซึ่งมีบุตรสืบสกุล ๕ คน คือ 

    ๑. ป้าทองห่อ สรรพอุดม ซึ่งต่อมาป้าทองห่อได้แต่งงานกับลุงเกา ซื่อเสียง มีบุตร ๓ คน คือ เจ้ส้มเกี่ยง ซื่อเสียง ,  เจ้หนูเก็บ ซื่อเสียง , เฮียมัก  ซื่อเสียง 

    ๒. ลุงฮก สรรพอุดม พบว่า ได้แต่งงานครั้งแรกกับป้าพุ้ย คนบ้านใน มีลูก ๑ คนชื่อประไพ สรรพอุดม และแต่งงานครั้งที่ ๒  กับป้าฮ่งล้วน มีลูก ๒ คนคือ เจ้กิมเลี้ยง สรรพอุดม และ พี่บุญเหลือ สรรพอุดม 

    ๓. ลุงไฮ้  สรรพอุดม   มีครอบครัวและมีบุตรเท่าที่พอทราบก็คือ เจ้เสี่ยน ,  เจ้เหงี่ยม ,   เจ้หงวน และ  ครูสมใจ สรรพอุดม

   ๔. เตี่ยกิ่ม สรรพอุดม ได้แต่งงานครั้งแรก มีบุตร ๕ คน ชื่อ อู้ด ,  เล็ก  ,  เยื้อน ,  หวิง  ,  ชั้น  ต่อมาเมียคนแรก  และบุตร ๓ คนแรกได้ถึงแก่กรรม เหลือเจ้หวิงเล่าว่า  เตี่ยได้นำไปเลี้ยงที่ตลาด โดยจ้างยายน้อยให้เลี้ยงดู  ส่วนเจ้ชั้นนั้น ป้าใหม่ ซึ่งเป็นพี่สาวแม่เจ้หวิง ได้นำเจ้ชั้นไปช่วยเลี้ยงดู  ภายหลังป้าห่อสงสารเจ้หวิง ก็เลยเอามาเลี้ยงดูอย่างถาวร  หลังจากเมียคนแรกถึงแก่กรรม ก็ได้มาแต่งงานกับแม่หวย แหลมสุข และมีบุตร ๗ คนด้วยกัน คือ  สุนันท์  สรรพอุดม (อดุลยชาติ) , ณรงค์ สรรพอุดม , น้อย สรรพอุดม, กฤษชัย สรรพอุดม ,สมยศ สรรพอุดม , จารุณี สรรพอุดม (มณีปุระ) และประพนธ์ สรรพอุดม


   ๕. อาง้วน สรรพอุดม  ได้แต่งงานกับอาเบี่ยง มีบุตร ๗ คนด้วยกันคือ เจ้เหมา สรรพอุดม ,พี่ชุม สรรพอุดม ,  พี่อ้วน สรรพอุดม , พี่อี๊ด สรรพอุดม , พี่ระเบียบ สรรพอุดม , พี่สมบัติ สรรพอุดม , พี่สมบูรณ์ สรรพอุดม


อีกสายหนึ่งเป็นสายของย่าแตงไทย กับปู่เชย วิชัยวัฒนะ ซึ่งมีบุตร ๖ คน คือ

   ๑. อาเจียน วิชัยวัฒนะ ซึ่งสมรสกับคนในตระกูลศุทธยาลัย มีบุตร ๔ คนคือ พี่จรุง ศุทธยาลัย , พี่จรี ศุทธยาลัย , พี่จรินทร์  ศุทธยาลัย , พี่เป้า ศุทธยาลัย

   ๒. อาเจือน วิชัยวัฒนะ สมรสกับอาเส็ง เชี่ยวสมุทร มีบุตร ๑๐ คน คือพี่เซี้ยง เชี่ยวสมุทร , พี่ศักดิ์ เชี่ยวสมุทร ,  พี่ยศ  เชี่ยวสมุทร , พี่น้อย เชี่ยวสมุทร , พี่นิด เชี่ยวสมุทร , พี่จิ้มลิ้ม เชี่ยวสมุทร , พี่อ้วน เชี่ยวสมุทร , พี่เรียม เชี่ยวสมุทร , พี่จรวย เชี่ยวสมุทร ,  พี่แดง  เชี่ยวสมุทร 

   ๓. อาล่งใช้  วิชัยวัฒนะ ถึงแก่กรรม

   ๔. อาบุญช่วย วิชัยวัฒนะ สมรสกับคนในตระกูลประเสริฐพันธ์ มีบุตร ๕ คน คือ  พี่ชุลี ,พี่อ๊อด , พี่อี๊ด , พี่แอ้ด , พี่ฑูรย์

   ๕. อากิมเฉี่ยง วิชัยวัฒนะ โสด

   ๖. อาจรูญ วิชัยวัฒนะ ซึ่งส่วนใหญ่คนบ้านแหลมจะเรียกอาหนูเล็ก เพราะเป็นลูกคนเล็กของย่าแตงไทย  อาหนูเล็กเป็นโสด แต่ก็ได้รับอุปการะเด็กหญิง ๑ คนไว้เป็นบุตรบุญธรรม ชื่อเด็กหญิงปัทมา วิชัยวัฒนะ 


ลูกหลานเหลนโหลนแห่งตระกูลสรรพอุดมทั้งหลาย นี่คือตำนานแห่งตระกูล ซึ่งเรามีบรรพบุรุษที่กระทำคุณงามความดีต่อประเทศชาติ  จึงเป็นสิ่งที่คนในตระกูล "สรรพอุดม" ทั้งหลายควรภาคภูมิใจ และแซ่ซ้องคุณงามความดีของบรรพบุรุษเรา  "ทวดอุดม สรรพอุดม" ซึ่งปัจจุบันอัฐิของท่านเก็บไว้ที่เจดีย์ขาว ณ.วัดอุตมิงคาวาส 



ข้อมูลของตระกูลที่รวบรวมไว้นี้ เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการบอกเล่าของญาติพี่น้องรุ่นเก่า ๆ หลาย ๆ  คน ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง  หากมีญาติพี่น้องคนใดมีข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะทำให้ประวัติเกิดความสมบูรณ์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง จึงขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ.โอกาสนี้


ขอขอบคุณท่านเจ้าอาวาสวัดอุตมิงคาวาส และคุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ที่อนุเคราะห์ให้ข้อมูลมากมาย ไว้ ณ.โอกาสนี้