บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

นั่งรถเมล์ไปมาเก๊า


ข้าพเจ้าไปมาเก๊าโดยเริ่มจากการนั่งรถเมล์จริง ๆ  ออกจากบ้านก็เดินไปหน้าตลาดกรุงธน ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศจากหน้าตลาดกรุงธนไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  จับรถไฟฟ้าจากสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปลงสถานีพญาไท เปลี่ยนขบวนไปขึ้น airport express  ไปลงสถานีสุวรรณภูมิ  ต่อเครื่องบิน airasia  ไปลงสนามบิน Chek lap kok ของ Hongkong  ต่อรถไฟฟ้า airport express  ไปลงสถานี kowloon จากนั้นขี้นรถ Shuttle bus  K4 ไปลงย่านจิมซาจุ่ย  พักค้าง 1  คืนที่โรงแรม BP  ใกล้ถนน Nathan  ออกจากโรงแรมแต่เช้าเดินไปขึ้นเรือ  ferry  ที่ท่าเรือ HK China Ferry Terminal  เลือกซื้อตั๋วของ Turbo jet  นั่งไป 1 ชม.ก็ถึงเกาะมาเก๊า ........เฮ้อ....นับว่าเป็นการเดินทางไกลที่แสนสาหัสมากทีเดียว.


เกาะมาเก๊า มองจากบนเรือ
มาเก๊าเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่นอกจากจะเป็นที่หลงไหลของนักการพนันแล้ว  ยังมีเสน่ห์ในเรื่องสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างจีนยุโรปที่งดงาม จากการที่มาเก๊าเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสมาก่อน  การเข้ามาทำการค้าของชาวโปรตุเกส ทำให้มาเก๊ากลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในย่านนี้ และโปรตุเกสยังนำความเจริญหลาย ๆ ด้านมาสู่เมืองบนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้  ปัจจุบันมาเก๊าจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำเงินมหาศาลให้กับจีน 




ย่าน senado square ที่มีผู้คนคึกคักมาก
ย่านดังของมาเก๊าคือย่าน Senado square  ก็คงจะคล้าย ๆ กับ Siam square  ของบ้านเรา แต่ที่นี่มีอาคารทรงยุโรปหลายจุด จึงมีนักท่องเที่ยวมากมาย ตั้งแต่เช้าจรดมืด การค้าขายบริเวณนี้จึงคึกคักมาก  ร้านค้าทุกร้านจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร  สถาปัตยกรรมที่น่าชมบริเวณนี้ แม้จะมีไม่กี่แห่ง แต่มาเก๊าก็พยายามสร้างจุดเล็กจุดน้อย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว


โบสถ์เซ็นต์โดมินิค

ซากประตูโบสถ์เซ็นต์ปอล

รูปปั้นย่าน senado square


หน้า senado square

  หน้า senado square

บริเวณ senado square

อีกจุดหนึ่งของเกาะมาเก๊าที่คนไปมักจะไม่พลาดชม นั่นก็คือวัดอาม่า  ที่วัดนี้ก็มิได้ใหญ่โตสักเท่าใด แต่มีประวัติที่น่าสนใจ ...........




วัดอาม่า
วัดอาม่าถือเป็นตัวแทนของเทพธิดาแห่งท้องทะเลผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตำนานเล่าว่า "อาม่า" ก็คือ "หลิงม่า" หญิงสาวชาวฟูเจี้ยน ที่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ให้เป็นที่ปรากฎ โดยขอโดยสารมากับเรือเพื่อข้ามฝั่งมาขึ้นยังแผ่นดิน ไม่มีเรือลำใดรับเธอเลยนอกจากเรือประมงลำเล็ก ๆ  ของชาวประมงชราคนหนึ่ง ระหว่างที่เรือล่องอยู่กลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ พลันเกิดมีพายุขึ้นอย่างรุนแรง เป็นผลให้เรือหลายลำต้องอับปางลงกลางทะเล แต่เกิดปาฏิหารย์ขึ้นที่เรือประมงลำเล็ก ๆ กลับรอดปลอดภัยจนถึงฝั่ง เมื่อ"หลิงม่า" ก้าวขึ้นสู่ฝั่ง เธอก็ลอยขึ้นฟ้าและหายลับไปกับตาของชาวประมงชราผู้นั้น   ชาวประมงทั้งหลายจึงเชื่อกันว่าเธอคือองค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล  พากันเคารพกราบไหว้ในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจนปัจจุบัน เราเองก็ได้ไปเคารพสักการะและขอพรจากท่านเช่นกัน




ด้านหน้าวัด จะมีก้อนหินใหญ่ เขียนจารึกด้วยภาษาจีนก้อนหนึ่ง อีกก้อนหนึ่งเป็นรูปเรือสำเภา จึงคาดเดาว่า น่าจะเป็นประวัติของวัดอันมีที่มาจากเรื่องปาฏิหารย์ของ "หลิงม่า" เทพธิดาแห่งท้องทะเล นอกเหนือจากวัดอาม่า ยังมีอีกวัดหนึ่งที่คนจีนและนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่ไปมาเก๊าต้องแวะสักการะก็คือวัดเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า   วัดนี้สะอาดสอ้านและเงียบสงบ


วัดเจ้าแม่กวนอิม
คณะของเราได้มีโอกาสไปสักการะเป็นกลุ่มแรก ๆ  ที่คนยังน้อยอยู่ เจ้าหน้าที่ของวัดจึงมีเวลาให้คำแนะนำ และพาไปสักการะและขอพรเจ้าแม่กวนอิม  ที่หน้าวัดจะมีป้ายบอกประวัติความเป็นมาและมีสิงห์โตคาบลูกแก้วหิน   ที่นักท่องเที่ยวมักมาหมุนขอพร


บริเวณหน้าวัดเจ้าแม่กวนอิม




หลังจากการสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว เราก็อำลาเกาะมาเก๊า ข้ามไปเกาะไทปา ซึ่งอยู่ติดกันและมีสะพานเชื่อมถึง  จึงสามารถเดินทางโดยรถยนตร์ได้สดวก  เราเลือกเดินทางด้วยแท๊กซี่ เสียค่าโดยสารเพียง 45  HKD  คำนวณเป็นเงินบาทก็เพียง 180.- เท่านั้น


สะพานข้ามระหว่างเกาะมาเก๊าและเกาะไทปา
ไทปาไม่มีแหล่งท่องเที่ยวใดที่น่าสนใจเลย นอกเหนือจากแหล่งคาสิโน เราจึงไปเที่ยวชมที่ Venetian  โรงแรมดังที่เป็นแหล่งคาสิโนใหญ่ดึงดูดเงินนักท่องเที่ยวในแต่ละวันได้อย่างมากมายมหาศาล  






จุดเด่นของโรงแรมนี้นอกจากจะเป็นแหล่งคาสิโนขนาดใหญ่แล้ว  โรงแรมนี้ยังมีการ design location ให้เป็นเหมือนธรรมชาติโดยทำเพดานให้เป็นสีท้องฟ้า บางจุดมีเมฆหมอก และนกบิน  เวลาเดินในอาคารจึงรู้สึกสบาย ๆ  เข้าใจว่าน่าจะเป็นการเอาใจนักการพนัน ถ้าใครเล่นได้ ก็ให้เอาเงินมา shopping  ตามร้านค้าต่าง ๆ  ซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงทั้งสิ้น แต่ถ้าใครเสีย ก็ให้ window shopping เอาแบบสบาย ๆ ด้วยแอร์เย็นฉ่ำ  เราพบคนไทยมากมายที่นี่ คงจะทั้งมาเที่ยวชมและเล่นการพนัน



การเข้าออกระหว่างฮ่องกง-มาเก๊า จะต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง ทั้งขาเข้าและขาออก เราเสียเวลากับการรอผ่านจุดตรวจค่อนข้างนาน เพราะคนเข้า-ออกเยอะมากตลอดทั้งวัน  จึงรีบออกจากมาเก๊ากลับมาเกาะฮ่องกงด้วยเรือ Ferry   ของ  Turbo jet  เช่นเดิมในช่วงบ่าย ซึ่งคนยังไม่มากนัก  ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงก็ถึงฮ่องกง  มีเวลา shopping  และนั่ง Bus ชมเมืองในยามค่ำคืน และปิดท้ายด้วยการชม Symphony of  light ซึ่งเป็นการแสดงแสงเสียงที่ฮ่องกงจัดขึ้นทุก ๆ วัน บนลานเมืองริมฝั่งน้ำแห่งหนึ่งย่านจิมซาจุ่ย 



เราใช้เวลาเกือบ 2 วันก็สามารถท่องเที่ยวฮ่องกงได้เกือบครบทุกรสชาติ  หลังจากชม Symphony of  light  เสร็จแล้วก็เดิน .. เดิน .. เดิน .. กลับโรงแรม B P   ผ่าน  Park lane  แหล่ง shopping  สินค้าหลากหลายชนิด  แต่ทุกอย่างที่สนใจล้วนมีราคาแพงเกินกว่าจะตัดใจซื้อได้   เดินเรื่อยมาจนถึงถนน Austin ใกล้โรงแรม  จึงแวะหาของอร่อย ๆ กิน พบร้านโจ๊กเป๋าฮื้อร้านหนึ่งอยู่ในซอยตรงข้ามกับโรงแรม ดูน่ากิน  จึงสั่งกินคนละชาม คนขายยกมาเสริฟในขณะที่ยังเดือดปุด ๆ  ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนใจ  กินพร้อมกับปาท่องโก๋ที่ยาวเป็นฟุต  รสชาติอร่อยสมกับที่อุตส่าห์เดินมาไกล  ที่เห็นจะเป็นไปตามคำล่ำลือก็คงมีเรื่องอาหารการกินนี่แหละ กินกันจนพุงกาง จึงโขยกเขยกกลับโรงแรม แพ็คกระเป๋าเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ

ฮ่องกงเป็นดินแดนที่หลายคนพูดว่าของถูก  คนไทยชอบไป shopping  ที่ฮ่องกง แต่ในข้อเท็จจริงมันไม่ได้ถูกอย่างคำล่ำลือเลยสักนิด  ซื้อสินค้าไทยดีกว่าเป็นไหน ๆ  เงินทองไม่รั่วไหลด้วย  ข้าพเจ้าดีใจที่ไม่ได้เอาเงินทองไปทิ้งที่ฮ่องกงเกินความจำเป็น จึงเรียกว่าสนุกเกินราคา  นับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่าจริง ๆ

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำทรงเสวย..ลำน้ำเพชร



ลำน้ำเพชร บริเวณหน้าวัดท่าไชยศิริ

เมื่อได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเสวยน้ำจากเพชรบุรี  ซึ่งเรียกว่า "น้ำเพชร" และน้ำนั้นตักจากท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ข้าพเจ้าก็ใคร่จะเห็นว่าปัจจุบันสภาพของท่าน้ำนั้นเป็นอย่างไร  จึงชักชวนกันไปเที่ยวชม วัดท่าไชยศิริ และ ท่าน้ำประวัติศาสตร์แห่งนั้น เมื่อไม่นานมานี้.......

วัดนี้ ตั้งอยู่ที่ ต.สมอพรือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี  ติดกับถนนเพชรเกษม  สร้างมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๙๑๐  เป็นวัดที่กว้างขวางเพราะมีเนื้อที่ถึง ๒๑ ไร่เศษ ตามประวัติที่ปรากฏกล่าวว่าแต่เดิมวัดนี้เรียกว่า "วัดใต้"  เพราะอยู่ทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำเพชร เหนือน้ำขึ้นไปจะเป็นวัดกลางและวัดเหนือ  ทั้ง ๓ วัดมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ปัจจุบันวัดเหนือและวัดกลางเป็นวัดร้างไปนานแล้ว  คงเหลือเพียงวัดใต้แห่งนี้เพียงวัดเดียว

ส่วนที่เป็นท่าน้ำของวัด ดูจะไม่โดดเด่น เพราะแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนผู้คนที่ปลูกอาศัยอยู่ติด ๆ ทำให้บดบังทัศนียภาพไปมากทีเดียว แต่ก็มีศาลาไม้สักทั้งหลังพอให้เห็นเป็นที่สะดุดตา และประวัติของสถานที่ซึ่งวัดพยายามทำให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้พบเห็น



ศาลาท่าน้ำ


ป้ายประวัติติดไว้บริเวณท่าน้ำ


ท่าน้ำวัดท่าไชย


ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็คือ..ที่ท่าน้ำนี้แหละที่เป็นที่ตักน้ำเพื่อนำไปสรง  เสวยและ ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตลอดจนพระราชพิธีอื่น ๆ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนาเสมอๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ อันเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา  การใช้น้ำที่ลำน้ำเพชรแห่งนี้เป็นน้ำสรงและทรงเสวย มิใช่เพียงแค่รัชกาลที่ ๕  เท่านั้น แต่มีถึง ๓ รัชกาลด้วยกัน คือตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ,  ๕  และ  ๖ 

โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  นอกจากจะทรงโปรดน้ำเพชรแล้ว ยังทรงโปรดเมืองเพชรมาก เสด็จมาเมืองเพชรหลายครั้งระหว่างผนวช โดยทรงมาบำเพ็ญสมณธรรม ณ.ถ้ำเขาย้อย  บางครั้งมาประทับแรม ณ.วัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี   และเสด็จมาทอดพระเนตรการสร้างพระนครคีรีหลายครั้ง

พระนครคีรี


ในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีหลักฐานปรากฏจากพระราชหัตเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีในปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๕  ได้ทรงเล่าว่า "  เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน   เวลาสายแล้ว  ได้ลงเรือยนต์เล็ก ๒ ลำ  มีของแห้งไป ขึ้นเที่ยวเหนือน้ำ แวะที่ท่าเสน....และแล่นต่อไป จนถึงศาลา....แต่ขาล่องเร็วเหลือเกิน....ทางที่ขึ้นไปนี้เกินท่าไชยซึ่งเป็นที่ตักน้ำเสวยเป็นอันมาก  มีข้อหนึ่งที่ลี้ลับอยู่ คือน้ำมุรธาราชาภิเษกนั้น  ไม่ใช่ใช้แต่น้ำ ๔ สระ ใช้แม่น้ำทั้ง ๕  แห่งกรุงสยาม   คือแม่น้ำบางปะกง , แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (ป่าสัก)  , แม่น้ำท่าจีน ,  แม่น้ำแม่กลอง และ แม่น้ำเพชรบุรี มีชื่อที่ตักทุกเมือง  แต่ที่ีเพชรบุรีนี้  ที่วัดท่าไชย เป็นที่ตักน้ำเสวย"


เรื่องที่รัชกาลที่ ๕  โปรดเสวยน้ำเพชรนี้  ปรากฏหลักฐานว่าได้ส่งน้ำที่ตักจากท่าน้ำวัดท่าไชยศิริเพื่อเป็นน้ำสรงและน้ำเสวย ถึงเดือนละ ๒ ครั้ง ๆ ละ ๒๐ ตุ่ม

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวไว้ในพระราชหัตเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕  ความตอนหนึ่งว่า "....เรื่องน้ำเพชรบุรีนี้เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕  รับคำสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เคยเสวยน้ำเพชรเสียจนเคยชินแล้ว  เสวยน้ำอื่น ๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเมืองเพชรบุรี  .......

แม่น้ำเพชรบุรีแห่งนี้ มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี  ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับชายแดนพม่า ไหลผ่านแก่งกระจาน ผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด  อำเภอเมือง  และไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอบ้านแหลม ในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นน้ำที่มีคุณภาพ  ใสสะอาด  รสชาติดี  แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา  บ้านเรือนผู้คนเพิ่มหนาแน่นขึ้น โดยที่การควบคุมยังไม่เป็นระเบียบ  ทำให้ลำน้ำนี้มากไปด้วยสิ่งปฏิกูล  จึงมีการงดใช้น้ำที่ลำน้ำนี้ในช่วงปลายของรัชกาลที่ ๖  เป็นต้นมา ความสำคัญของลำน้ำเพชรจึงสิ้นสุดลง






ที่วัดนี้ในประวัติเล่ากันว่า  ในยุคกรุงศรีอยุธยาที่ไทย-พม่ายังรบพุ่งกัน  มีการปะทะกันบริเวณด่านสิงขร  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ครั้งนั้นทหารไทยเสียเปรียบ  จึงแตกทัพถอยร่นลงมาจนถึงบริเวณวัดนี้  พบว่ามีแม่น้ำไหลผ่าน  พากันหยุดพักแวะลงอาบน้ำ  พอขึ้นจากน้ำ ก็พบกับทหารฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมา  เกิดการต่อสู่้ ตะลุมบอนกันในบริเวณวัดนี้  รวมถึงภายในอุโบสถ  จึงมีร่องรอยคราบเลือดติดอยู่ที่ผนังและเพดานอุโบสถ  การต่อสู้ในบริเวณวัดนี้ทหารไทยได้ชัยชนะ  ตีพม่าจนแตกพ่ายไป  จึงเปลี่ยนชื่อวัดใต้เป็นวัดท่าไชย  และต่อมาก็เติม "ศิริ" เข้าไปเพื่อความเป็นมงคล  และใช้เรียกขานมาจนปัจจุบัน   ส่วนทหารไทยเหล่านั้นก็ถือโอกาสลงหลักปักฐานอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดจนปัจุบันกลายเป็นชุมชนใหญ่  เรียกกันว่า "หมู่บ้านสิงขร"  เพื่อสื่อให้เห็นว่า คนเหล่านี้มาจากสิงขรนั่นเอง



เรื่องของเมืองเพชร และลำน้ำเพชร  ถือเป็นเกียรติประวัติของคนเมืองเพชรเป็นอย่างมาก  ที่ครั้งหนึ่งในอดีต มีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ รัชกาลด้วยกัน   และที่วัดท่าไชยศิริแห่งนี้ก็ยังมีเรื่องแปลกที่มีพระประธานไม่เหมือนวัดอื่นโดยทั่วไป  นั่นก็คือเป็นพระพุทธรูปยืน  แต่ที่วัดอื่น ๆ จะพบเห็นเป็นพระพุทธรูปนั่ง ท่านเจ้าอาวาสแจ้งว่าในประเทศไทยมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนเพียง ๓ วัดเท่านั้น คือที่วัดท่าไชยศิริแห่งนี้  และที่วัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี , วัดเครือวัลย์ ถนนอรุณอัมรินทร์ กทม. สถานที่แห่งนี้จึงเป็นแห่งหนึ่งในเพชรบุรีที่ควรมาเยี่ยมชมนะคะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดท่าไชยศิริ ต.สมอพรือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จ.เพชรบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

The old town of phuket



มิใช่เป็นเพียงเมืองทะเลที่มีหาดทรายงดงาม ที่ทำให้ภูเก็ตได้ชื่อว่า "ไข่มุกแห่งอันดามัน" สร้างจุดขายให้กับเมืองภูเก็ต จนมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากมาย  หาดบางแห่งเช่นป่าตอง กลายสภาพเป็นเมืองของคนต่างชาติที่ชุลมุนวุ่นวายกันทั้งกลางวันและกลางคืน  แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงด้านหนึ่งของภูเก็ตเท่านั้น ที่สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

แต่อีกด้านหนึ่งของภูเก็ต  ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเสน่ห์ คือความเก่าแก่แห่งย่านเมืองเก่าของภูเก็ตซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เป็นตึกรามบ้านช่อง ที่มีแบบของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและยุโรปที่สวยงามและหาได้ยากยิ่ง ไม่พบว่ามีที่ใดนอกจากภูเก็ต และชาวภูเก็ตก็ร่วมมือร่วมใจกันรักษาความเก่าแก่นี้ให้คงอยู่ได้จนปัจจุบัน

การเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในระยะหลัง ข้าพเจ้าจึงเน้นที่จะไปชมความงดงามของตึกเก่า ๆ เหล่านี้มากกว่าสิ่งอื่น  เพราะดูกี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ  ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

ไปเที่ยวครั้งนี้ จึงเลือกพักที่โรงแรม sino house  โรงแรมสไตล์ชิโน บนถนนมนตรีย่านใจกลางเมือง ตามคำแนะนำของเพื่อนข้าพเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร"ระย้า" ร้านอาหารดังของภูเก็ตที่อยู่ใกล้ ๆ โรงแรม

เสาหน้าโรงแรมมีลายสลักสวยงามสไตล์ยุโรป

ทางเข้าโรงแรมออกสไตล์จีน

เครืื่องประดับลวดลายจีน

ภายในโรงแรมสไตล์จีน

ตู้โชว์จีน

สภาพในห้องนอน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต อยู่ห่างจากโรงแรมนี้เพียงนิดเดียว  เพียงเดินออกจากโรงแรมไปทางซ้ายมือจะพบสี่แยกไฟแดง ข้ามถนนไปเลี้ยวขวาก็จะเป็นถิ่นเมืองเก่าแล้ว   มีตึกทรงเก่าให้เห็นตลอดแนวของถนนดีบุกและถนนถลาง ที่สวยงามมาก ๆ


















ร้านอาหารระย้าของเพื่อนข้าพเจ้า

สภาพภายในร้านระย้าออกแนวเก่า ๆ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกิส เกิดขึ้นในอดีตช่วงที่เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองจากการค้าขายดีบุก  ภูเก็ตเป็นเมืองเกาะ การติดต่อกับต่างชาติโดยทางเรือจึงมีความสดวกมาช้านาน  ชนชาติอินเดีย จะเป็นพวกแรก ๆ ที่เข้ามาค้าขายและหาดีบุกบริเวณตะกั่วป่า และรู้จักภูเก็ต ในชื่อเมืองถลาง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตะกั่วป่า หลังจากนั้นก็มีพวกจีนและฝรั่งชาติต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ภูเก็ต  ชาติแรกที่เข้ามาคือโปรตุเกส  ต่อมาเป็นชาวฮอลันดา  ฝรั่งเศส เข้ามาในช่วงแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยา และอังกฤษ เข้ามาในช่วงกรุงธนบุรี  ด้วยเหตุผลที่เกาะถลางอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือจากอินเดียมายังคาบสมุทรมลายู เกาะถลางจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือยุคต้น ๆ  ซึ่งบางครั้งเรียกเมืองนี้ว่า "จังซีลอน"
การที่ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ย่อมต้องนำเอาวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วยแน่นอนสถาปัตยกรรมที่พบเห็นหลงเหลืออยู่ในขณะนี้จึงมีผลมาจากครั้งอดีตนั้น  คนที่มีฐานะร่ำรวยจากการค้า ก็จะก่อสร้างบ้านเรือนโดยใช้ช่างฝีมือจากเมืองปีนัง  เพราะขณะนั้นการติดต่อระหว่างภูเก็ต กับ กรุงเทพซึ่งเป็นเมืองหลวงเป็นไปอย่างไม่สดวก จะต้องขี่ช้างหรือนั่งเรือจากภูเก็ตไปตะกั่วป่าแล้วเลยไปยังเขาพนมคีรีรัฐ  ล่องไปตามลำน้ำพนมคีรีออกสู่พุนพิน บ้านดอน สุราษฎร์  ผ่านชุมพร ประจวบ หัวหิน ชะอำ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และปากน้ำเจ้าพระยาแล้วจึงเข้ากรุงเทพมหานคร  เดินทางครั้งหนึ่งต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์   แตกต่างกับการเดินทางระหว่างภเก็ต - ปีนัง โดยนั่งเรือกลไฟออกจากภูเก็ตเลียบฝั่งทะเลตะวันตกไปถึงเกาะปีนัง ใช้เวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น   บรรดานักธุรกิจ  นายเหมือง และนักท่องเที่ยวชาวภูเก็ต จึงสมัครใจเดินทางไปปีนังมากกว่ากรุงเทพ  และคนมีฐานะก็มักจะส่งลูกไปเรียนที่ปีนัง
ปีนังในยุคนั้น มีความเจริญหลายอย่างเทียบเท่ากรุงเทพ และยังเหนือกว่าตรงที่ปีนังได้รับการพัฒนาแผนจากอังกฤษ มีเรือกลไฟทั้งใหญ่น้อยเข้ามาจอดค้าขายได้โดยปลอดภาษี สถาปัตยกรรมของเมืองปีนัง มีรูปแบบผสมผสานของยุโรปผสมจีน  ซึ่งใหม่แปลกตา เป็นที่สนใจของชาวภูเก็ตที่ได้ไปพบเห็นฉะนั้นการถ่ายทอดแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากการนำแบบแปลนก่อสร้างและช่างผู้ทำการก่อสร้างมาจากปีนังกันจำนวนมาก บรรดาสถาปนิกเหล่านี้ให้ชื่อรูปแบบนี้ว่า "ชิโน-โปรตุกิสสไตล์"  
ตึกที่เห็นเหล่านี้  เมื่อเทียบอายุจากช่วงเวลานั้น  ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า  ๒๐๐ - ๓๐๐  ปี  จึงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูเก็ตที่ยังรักษาไว้ได้อยู่จนปัจจุบันนี้

The old town of  phuket  จึงเป็นจุดที่ไม่ควรพลาด เมื่อท่านไปเยือนภูเก็ต  นอกเหนือจากการไปชมความงามของธรรมชาติ  ตามหาดทรายต่าง ๆ  ที่ใคร ๆ ก็หลงไหล











และก็ไหน ๆ ก็ไปแล้ว  ไม่ควรพลาดไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองภูเก็ตด้วยอย่างน้อยก็ ๓ แห่ง


หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองภูเก็ต


โบสถ์วัดฉลอง
Big buddha วัดนาคเกิด

พระผุดที่วัดพระทอง

เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าสำหรับการเดินทางแล้ว.............สวัสดีภูเก็ต...........