บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความรู้จากการชมพระเมรุมาศ




นับตั้งแต่วันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ณ.พระเมรุ ท้องสนามหลวงเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555  หลังจากนั้นกรมศิลปากรก็ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงดงามของสถาปัตยกรรม และพระประวัติของเจ้าฟ้าเพชรรัตน ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปชมความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมดังกล่าว  ทำให้ได้ความรู้จากการเข้าชมมากมาย


เจ้าฟ้าเพชรรัตน
พระราชประวัติของเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ  ท่านเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียว ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  กับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 ณ.พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนัก ณ.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งอยู่ติดกับพระที่นั่งเทพสถานพิลาส  หลังจากที่ท่านประสูติได้เพียงวันเดียว ก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตในวันรุ่งขึ้น


รัชกาลที่ 6 และพระนางเจ้าสุวัทนา

กว่า 100 ปีที่ล่วงมาแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  บ้านเมืองสยามในยุคนั้นกำลังเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ความสงบสุขมั่นคงภายในราชอาณาจักรจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในพระราชหฤทัยของพระประมุขอยู่ตลอดเวลา  ทรงอาศัยพระราชอ้จฉริยภาพหลายประการที่เป็นพระคุณสมบัติประจำพระองค์ในการดำเนินพระบรมราโชบาย  ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การทหาร ด้านอักษรศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม  นำพาสยามประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมชาติอารยะ  ทรงเป็นจอมปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ กระทั่งในกาลต่อมาทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า"  อย่างไรก็ตามจวบจนปลายรัชสมัย  ยังคงมีพระปริวิตกประการหนึ่งนั่นคือยังไม่มีพระราชโอรสเป็นพระรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ เพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ตราบจน พศ.2467 เจ้าจอมสุวัทนา (นามเดิมว่าเครือแก้ว อภัยวงศ์)  พระสนมเอกได้ตั้งครรภ์ และเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะมีพระประสูติกาล  จึงทรงสถาปนาเจ้าจอมขึ้นเป็น "พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี" เพื่อผดุงพระอิสริยยศพระราชกุมารที่จะประสูตินั้นให้ทรงเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า" นับแต่แรกประสูติ  เพราะหากพระชนนีเป็นเจ้าจอมสามัญชน พระราชกุมารที่ประสูตินั้น จะทรงเป็นเพียง "พระองค์เจ้า"

ในเดือน ตุลาคม 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี  มีพระครรภ์แก่ใกล้ประสูติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งทรงพระโสมนัส  และโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา เสด็จไปประทับ ณ. พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง  เพื่อ "สมเด็จเจ้าฟ้า"  พระองค์แรกจะได้ประสูติในพระมหามณเฑียร ตามโบราณราชประเพณีอีกทั้งพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งอยู่ติดกัน  เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติกาลอย่างจดจ่อ

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น  เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรหนักอย่างกระทันหัน ด้วยโรคพระอันตะ (ลำไส้) มีพระอาการรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน อันเป็นวันฉัตรมงคล ในรัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา

เวลา 12.55 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468  พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก็มีพระประสูติกาล "เจ้าฟ้าหญิง" เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกและพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 6  เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักมากแล้ว เมื่อทรงทราบพระประสูติกาลว่าเป็นเจ้าฟ้าหญิงมิใช่เจ้าฟ้าชายที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะให้เป็นพระรัชทายาทสืบสนองพระองค์  ก็มีพระราชกระแสเบา ๆ ว่า "ก็ดีเหมือนกัน"

วันรุ่งขึ้นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์น้อย ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 1 วัน มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถซึ่งทรงพระประชวรหนักบนพระแท่นไม่สามารถมีพระราชดำรัสใดๆได้เสียแล้ว คงได้แต่ทอดพระเนตรและสัมผัสพระราชธิดาเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ในคืนนั้นเองพระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อพ้นเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ได้ราว1ชั่วโมง




พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสนองพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7  เป็นผู้พระราชทานพระนามว่า " สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี" ซึ่งมีความหมายว่า"ลูกสาวของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นดั่งดวงแก้ว ถึงพร้อมด้วยพระกำเนิดเป็นศรีอันงามพร้อม" สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน ทรงพระเจริญขึ้นใต้พระบารมีในรัชกาลที่ 7 กับทั้งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยได้ทรงพระอักษร ณ.โรงเรียนราชินี  และทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ณ.พระตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา




เมื่อเดือน มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดีบดินทร   เสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกคำนำหน้าพระนามพระขนิษฐภคินี (ลูกผู้น้อง) ว่า " สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ"  ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  ผู้เป็นพระเชษฐภคินี (ลูกผู้พี่)  ไว้ดังเดิม เนื่องจากภคินี แปลความได้ว่าน้องหญิงหรือพี่หญิงดุจเดียวกัน

เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาและรักษาพระอนามัย ณ.ประเทศอังกฤษ ที่นั่นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอและพระชนนี ประทับ ณ.ตำหนักแฟร์ฮิลล์  เมืองแคมเบอร์เลย์  ทรงวางพระองค์อย่างประหยัดและเรียบง่าย จนกระทั่งต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทรงประสพกับความลำบากอย่างยิ่ง ต้องทรงรับปันส่วนอาหารเช่นพลเมืองอังกฤษทั่วไป ต้องทรงอพยพลี้ภัยไปประทับ ณ.แคว้นเวลล์  ต้องทรงทำงานบ้านเองอย่างสามัญชน  จนเมื่อสงครามยุติ ทรงย้ายไปประทับ ณ.ตำหนักในเมืองไบรตัน  จนกระทั่งพระอนามัยดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศไทยเป็นปกติ  กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว  จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อมพระชนนีเป็นการถาวรเมื่อ พศ.2502 ทรงซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 38  และโปรดให้สร้างวังเป็นที่ประทับแทนสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา ซึ่งทรงขายแก่รัฐบาลไปในช่วงภาวะสงคราม  พระราชทานนามวังแห่งใหม่นี้ว่า "วังรื่นฤดี" และเป็นจุดเริ่มต้นของการทรงงานเพื่อประชาชนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์






ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประชวรด้วยพระโรคหลอดเลือดในสมอง และทรงพระชรา  ครั้นวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2554 ได้เสด็จไปประทับรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับและสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น. ของวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554 รวมพระชนมายุ 85 พรรษา







พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชพระประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ.พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง  และให้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ.พระเมรุ ท้องสนามหลวง ในวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 อีกทั้งมีการจัดงานภาคประชาชน พิธีถวายดอกไม้จันทร์ตามซุ้มรอบมณฑลพระราชพิธี ตลอดจนตามเขต และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ถวายพระเกียรติยศเต็มที่ตามที่ทรงดำรงอยู่ทุกประการ


คนไทยมีคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เปรียบเสมือนสมมติเทพ  เมื่อเสด็จพระราชสมภพถือว่าเป็นเทพอวตาร เมื่อถึงวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ คือการเสด็จกลับสู่เทวพิภพ เรียกว่าสวรรคตคือกลับสู่สรวงสวรรค์ และตามโบราณราชประเพณีจะมีการจัดพระราชทานถวายพระเพลิงพระศพสืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนปัจจุบัน  ประชาชนทั่วประเทศจึงร่วมกันส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ....สู่สวรรคาลัย...........



+++ขอขอบคุณข้อมูลจากคณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ++++

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เว้...เมืองประวัติศาสตร์



พระราชวังเว้
เราเดินทางมาถึงเว้ก็ประมาณช่วงบ่าย..เว้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ สถาปัตยกรรมเมืองนี้ คล้าย ๆ กับจีนก็เป็นเพราะก่อนที่เวียตนามจะเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส  ได้เป็นเมืองขึ้นของจีนมาก่อนนับพันปี จึงได้รับอิทธิพลจากจีนมามาก เมืองนี้แต่เดิมเคยปกครองโดยขุนนางเหวียนฉวาง  ภายหลังเกิดกบฏขึ้น  เหวียนฉวาง หรือที่คนไทยรู้จักในนาม องค์เชียงสือ ได้ลี้ภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ 1 นานถึง 4 ปี จึงกลับไปปราบกบฏได้สำเร็จ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ยาลองขึ้นปกครองเมืองเว้  นับว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนผลัดกันขึ้นสู่บัลลังค์กันหลายยุค  จนกระทั่งถึงกษัตริย์เบ๋าได๋  ตรงกับช่วงโงดินห์เดียมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ บังคับให้สละพระราชบัลลังค์ จึงเป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์เหวียน และระบบกษัตริย์ในเวียตนามนับแต่นั้น



ที่พระราชวังเว้ จะมีคูน้ำล้อมรอบ สามารถมองเห็นผู้ที่จะเข้ามาได้ในระยะไกล หน้าพระราชวังจะมีป้ายประจำตำแหน่งของจอหงวน เวลาเข้าเฝ้าถวายรายงานราชการต่อกษัตริย์ 


ตำแหน่งที่ยืนของจอหงวน
ในพระราชวังจะมีจุดที่จะใช้สื่อสารในการป่าวร้องข่าวสารต่อประชาชน  โดยด้านขวามือจะมีกลองขนาดใหญ่ตั้งอยู่  เมื่อจะประกาศข่าวดีต่อประชาชน จะตีกลอง  สังเกตุว่าในอดีตที่ผ่านมา น่าจะมีเรื่องดีมากกว่าเรื่องร้าย เพราะกลองถูกตีจนผนังเปื่อย



ส่วนด้านซ้ายจะมีระฆังขนาดใหญ่แขวนอยู่  เวลาต้องการป่าวร้องข่าวร้ายต่อประชาชน  ก็จะใช้การตีระฆัง ก็จะเป็นที่รู้กัน




นอกจากนี้ภายในพระราชวัง ยังมีตำหนักพระสนม และตำหนักอื่น ๆ อีกมากมายจนไม่สามารถดูได้ทั่วถึง  คณะเราเข้าชมพระราชวังกันพอประมาณ เพราะมีรายการที่น่าสนใจอื่นรออยู่  นั่นคือการช๊อปปิ่งที่ตลาดดองบาตลาดที่คึกคักที่สุดในเมืองเว้

ตลาดดองบา อยูไม่ไกลจากพระราชวังนัก  ที่นี่เป็นตลาดค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเว้ สินค้าพื้นเมืองและอื่น ๆ ทุกชนิดมีขายที่นี่  คนไทยนิยมไปช๊อปปื้ง สภาพโดยรวมของตลาดดองบา ดูไปแล้วไม่ต่างจากสำเพ็งเลยแม้แต่น้อย  ที่สำเพ็งเขาจะขายเป็นโหล แต่ที่ดองบาขายทุกรูปแบบ แม่ค้าที่นี่จะเรียกคนไทยว่าแม่  พอเดินเข้าไปปั๊บ ก็ได้ยินเสียงแทบจะทุกร้านเหมือน ๆ กัน คือ " แม่..ของถูด ถูด" นั่นคือเสียงของบรรดาแม่ค้าทั้งหลายที่จะชักชวนให้เราซื้อของถูก ถูก นั่นเอง  แต่แม่เจ้าประคุณบอกผ่านเสียเหลือขนาด  ไกด์แนะนำให้เราต่อมาก ๆ ขนาด  50-70 % ทีเดียว และก็ได้ผลจริง ๆ  สินค้าส่วนใหญ่จะมาจากจีน  คุณภาพไม่ดีนัก  การซื้อสินค้าที่นี่ สามารถใช้เงินบาทไทยได้สบาย ๆ แม่ค้าจะชอบ เราซื้อได้แค่เข็มขัด  หมวก และกระเป๋า  นิดหน่อยเท่านั้น ก็ต้องรีบออกมา เพราะคนแน่นจนแทบจะไม่ที่เดิน

โปรแกรมสุดท้ายของทัวร์ครั้งนี้คือวัดเทียนมู่  วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเฮือง คนไทยมักจะเรียกว่าแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำหอม


เจดีย์ 8 เหลี่ยม 7 ชั้นวัดเทียนมู่

หน้าวัดเทียนมู่คือแม่น้ำเฮือง

วัดนี้เป็นศุนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายเซ็น เจดีย์ทรงเก๋ง 7 ชั้นสื่อถึงชาติภพต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า  วัดนี้มีประวัติศาสตร์ที่คนเวียตนามต้องจดจำ ก็คือช่วงที่โงดินห์เดียมปกครองเวียตนามใต้ จะบังคับให้ประชาชนนับถือศาสนาคริสต์เพื่อเอาใจอเมริกา  รวมถึงขัดขวางการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ  ทางศาสนาพุทธ เจ้าอาวาสวัดเทียนมู่ขณะนั้นคือ ทิกกวางดุค ได้ต่อต้านคัดค้านเท่าใดก็ไม่เป็นผล  จึงตัดสินใจประท้วงโดยเผาตัวเอง ท่านขับรถออสสินสีฟ้าไปที่กลางเมืองไซ่ง่อนพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์จำนวนมาก  และจุดไฟเผาตนเอง ในขณะที่พระสงฆ์เหล่านั้นนั่งทำสมาธิอย่างแน่วแน่  โดยไม่สนใจกับร่างที่กำลังถูกเผา   จนในที่สุดท่านเจ้าอาวาสก็เสียชีวิตที่ตรงนั้น


เผาตัวเองกลางเมืองไซ่ง่อน

เจ้าอาวาสทิกกวางหยุก

ข่าวการเผาตนเองของเจ้าอาวาส เพื่อประท้วงการขัดขวางการทำพิธีทางศาสนาพุทธ  และทำร้ายพุทธศาสนิกชนอย่างเหี้ยมโหด เป็นข่าวไปทั่วโลก จนรัฐบาลอเมริกันถูกชาวโลกประณาม  และในที่สุดนำมาสู่การลุกฮือของนายทหารระดับสูงของเวียตนามเองที่นับถือพุทธซึ่งทนไม่ไหวได้รวบรวมกำลังเพื่อขัดขวาง จนนำไปสู่การสังหารโงดินห์เดียมและครอบครัว


รถออสตินของท่านทิกกวางดุค

ปัจจุบันรถออสตินสีฟ้า ยังถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเทียนมู่   เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนเวียตนามได้รำลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละของท่าน ทิกกวางดุค ในการอุทิศตนเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้

ชีวิตคนเวียตนามเหมือนคนมีกรรม  เวียนว่ายอยู่ในกระแสแห่งสงครามที่มหาอำนาจเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์กันไม่สิ้นสุดจึงเป็นผู้ถูกกระทำในทุก ๆ ด้าน  ตลอดเวลาที่นั่งรถชมเมืองเวียตนาม จะพบว่ามีสุสานอยู่เกลื่อนไปหมด แต่ละแห่งจะทาสีกันฉูดฉาดเหมือนจะแข่งกัน  เพราะเหตุที่คนเวียตนามประสพแต่เคราะห์กรรม  จึงมีความเชื่อว่า"ชีวิตในปัจจุบันเป็นชีวิตชั่วคราว เมื่อตายไปแล้ว จะเป็นชีวิตนิรันดร์" แต่ละตระกูลจึงตกแต่งสุสานให้สวยงามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิตนิรันดร์นั้น

ฉันเคยมองคนเวียตนามว่าเป็นคนขี้โกง  น่ากลัว น่ารังเกียจ  แต่เมื่อได้มีเวลาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของเขาแล้ว กลับเห็นว่า ควรแก่การเห็นใจพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง หากเราประสพชะตากรรมเยี่ยงเขา  ก็คงไม่พ้นที่จะมีพฤติกรรมเช่นเขาเพราะความที่ต้องเอาตัวรอด เขาจึงเป็นเช่นนั้น  ฉันอำลาเวียตนามด้วยความเห็นใจเขาเป็นอย่างยิ่ง........

ซินจาว (สวัสดี) เวียตนาม........................ 

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดานัง..เมืองทะเลงาม



ชายหาดดานัง
เราออกจากฮอยอันแต่เช้ามาก  เพื่อขึ้นไปเที่ยวบานาฮิลล์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของเมืองดานัง  ที่ยอดเขาบานาฮิลล์แห่งนี้ เคยเป็นที่พักผ่อนของทหารฝรั่งเศสในอดีตช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดเวียตนาม ต่อมาถูกทหารเวียตมินต์ทำลายจนหมดสิ้น  จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ โดยจัดทำเป็นสวนสนุกเหมือนดรีมเวิลล์บ้านเรา มีบ้านพัก มีวัด และได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนยอดเขานี้ด้วย  การเดินทางขึ้นบานาฮิลล์  ต้องขึ้นด้วยกระเช้า ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ด้วยระยะทางประมาณ 5 กม. จากพื้นดิน


กระเช้าวิ่งผ่านภูเขาหลายลูก


พระพุทธรูปองค์ใหญ่เหนือบานาฮิลล์

ดานังห่างจากฮอยอัน ประมาณ 30 กม.เศษ  เส้นทางช่วงหนึ่งจะวิ่งผ่านถนนเลียบทะเล  ถนนเส้นนี้มี 6 เลนสร้างใหม่และใหญ่ที่สุดในดานัง ทะเลดานังสวยงามมากไม่แพ้ภูเก็ตบ้านเราเลยทีเดียว หาดทรายสะอาดและมีระเบียบมีชาวบ้านมาพักผ่อนริมชายหาดบ้าง เล่นน้ำทะเลบ้าง  จะมีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยอยู่ตลอดเป็นระยะๆ  ทะเลที่ดานังเป็นทะเลเปิด เวลามีพายุเข้า บริเวณนี้จะโดนเต็ม ๆ  เมื่อคราวที่เกิดพายุช้างสารขึ้นฝั่งที่ดานัง บ้านเรือนบริเวณนี้ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด  ถึงกับต้องสร้างกันใหม่  บ้านของชาวเวียตนามเกือบทุกหลังจึงมักจะใช้ซีเมนต์โบกหลังคาไว้เพื่อกันพายุพัดปลิว  แทนที่จะเป็นโครงไม้ หรือโครงเหล็กเหมือนบ้านเรา เพราะเวียตนามจะโดนพายุบ่อยมากทำให้คนเวียตนามต้องยึดความแข็งแรงไว้ก่อน ยอมทนร้อนเอา บางบ้านที่ฐานะไม่ดีก็จะใช้กระสอบทรายทับหลังคาไว้


คนมาสูดอากาศริมหาด
เมื่อรถวิ่งมาจนพ้นชายหาด ก็จะเป็นสพานที่ยาวมากถึง 18 กม. เป็นสพานที่ยาวที่สุดในเวียตนาม ขวามือจะเป็นทะเลจีนใต้ ซ้ายมือจะเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองดานัง เชิงสะพานด้านที่ติดกับทะเลจีนใต้ขณะนี้กำลังมีโครงการถมทะเลที่เกาหลีได้มาลงทุน  โดยได้สัมปทานจากเวียตนามหลายสิบปี  พอพ้นจากทะเลก็จะเริ่มเป็นเส้นทางภูเขาจนถึงบานาฮิลล์


โครงการถมทะเล
เมืองดานังเป็นเมืองเศรษฐกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม  ในเมืองนี้จะมีภูเขาหินอ่อนอยู่ 2 ลูก จึงมีอุตสาหกรรมแกะสลักหินอ่อนเป็นรูปต่าง ๆ อยู่หลายแห่ง นอกจากนี้ดานังยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเวียตนาม เราจะพบเห็นเรือประมงน้อยใหญ่จอดอยู่เรียงรายมากมาย แต่ที่สะดุดตาก็คือ "เรือกระด้ง" ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กของชาวบ้าน ที่ใช้หาปลาตามชายฝั่ง สภาพเป็นเหมือนกระด้งของไทยที่คนโบราณใช้ฝัดข้าว แต่ทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมโดยนำไม้มาสานจนแน่น แล้วใช้ชันยา เคลือบด้วยน้ำมันยางอีกชั้นหนึ่ง ก็สามารถลอยน้ำได้ เป็นภูมิปัญญาของคนเวียตนามที่น่าสรรเสริญจริงๆและทราบจากไกด์ว่า ในช่วงที่เมืองไทยประสพปัญหาน้ำท่วมประเทศ เวียตนามก็ได้บริจาคเรือกระด้งมาให้คนไทยใช้จำนวนหนึ่งเหมือนกัน


เรือกระด้ง อยู่บนหาด
ตลอดแนวถนนเลียบทะเลที่ดานัง เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก ๆ  ด้านขวามือเป็นทะเล  ด้านซ้ายมือเป็นบ้านเรือนประชาชน  เป็นความสุขของคนเวียตนามอย่างมากที่ได้มาทะเลดานัง  หากไม่มีสถานที่หนึ่งที่ตอกย้ำความเจ็บปวดของคนเวียตนาม  นั่นก็คือฐานทัพของอเมริกาที่มาตั้งอยู่ที่นี่ในช่วงสงครามเวียตนาม  นาวิกโยธินของอเมริกาชุดแรกได้ยกพลขึ้นบกที่ดานังแห่งนี้  ปัจจุบันยังมีซากเครื่องบินเก่า ๆ และอาคารที่เก็บวัตถุระเบิดให้คนเวียตนามเห็นเพื่อรำลึกอดีต

เรามาถึงบานาฮิลล์ ขณะที่ยังเช้าอยู่  จึงมีโอกาสได้สัมผัสอากาศที่สดชื่น หลังจากผ่านร้อนมา 2-3 วัน บนยอดบานาฮิลล์ จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศา กำลังเย็นสบาย ทำให้เดินได้เพลิดเพลิน ที่นี่จะมีสวนไฮเดรนเยียหลายจุด ดอกมีขนาดใหญ่พอๆ กับบนดอยอินทนนท์ทีเดียว บนยอดเขานี้หากไม่มีหมอกบัง  ก็สามารถเห็นทัศนียภาพของดานังได้อย่างขัดเจน
















บังเอิญวันที่เราขึ้นบานาฮิลล์ ตรงกับวันเสาว์ จึงมีคนเวียตนามพาลูกหลานขึ้นไปเที่ยวเล่นบนนั้นมากมาย  คาดว่าที่นี้จะเป็นสวนสนุกเพียงแห่งเดียว  เครื่องเล่นต่าง ๆ ไม่ค่อยจะมีว่าง แต่อย่างไรก็ตามคณะทัวร์ของเรา   เป็นวัยรุ่นเกิน 60 เกือบทั้งหมด จึงไม่สามารถเล่นได้เลย  เพียงแค่ดู ๆ เท่านั้น  ได้เวลาพอประมาณ  ก็เดินทางลง  เพื่อไปทานอาหารกลางวัน และ เข้าเมืองเว้ต่อไป....

น่าเสียดายที่เรามีเวลาน้อยมาก   เลยไม่มีโอกาสได้เที่ยวชมจุดอื่น ๆ อีกหลายแห่งของเมืองดานัง  โอกาสหน้าเราคงมีโอกาสได้มาเยือนอีกครั้ง ................... 

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เสน่ห์เมืองฮอยอัน



ฮอยอัน
หลังจากที่เราเดินทางออกจากอุโมงค์วินห์ม๊อคแล้ว ก็เดินทางเข้าเมืองเว้  ดานัง  และฮอยอันตามลำดับ เพื่อชมบรรยากาศเมืองฮอยอัน  เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบมาก อยู่ริมฝั่งทะเลจีนใต้ เสน่ห์ของเมืองนี้ คือการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่  ในอดีตราวศตวรรษที่ 17-19 ฮอยอันเป็นเมืองท่าที่สำคัญในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมืองนี้มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านชื่อแม่น้ำทูโบน เรือสินค้าของชาวจีน อินเดีย ดัช และญี่ปุ่น  จึงล่องเข้ามาค้าขายและแวะพักที่เมืองนี้ ทำให้เมืองนี้เป็นย่านชุมชนที่คึกคัก

แม่น้ำทูโบน

คำว่า "ฮอยอัน" ในภาษาเวียตนามแปลว่า "ที่พบปะ"  ชื่อเมืองนี้จึงอาจจะมีที่มาจากการที่เป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าต่าง ๆ  ที่เข้ามาค้าขายกันก็เป็นได้  พ่อค้าต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นจีนและญี่ปุ่น  ชุมชนของ 2 ประเทศนี้จึงค่อนข้างจะใหญ่กว่าชาติอื่น ๆ  ชาวญี่ปุ่นได้สร้างสะพานขึ้นมาแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นจุดแบ่งชุมชนฝั่งญี่ปุ่นออกจากฝั่งจีน ชาวบ้านเรียกกันว่าสะพานญี่ปุ่น

สะพานญี่ปุ่น
สภาพเมืองฮอยอันโดยทั่วไป จะเป็นลักษณะเมืองเก่า ที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรมหลายประเทศเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน บ้านเรือนส่วนมากจะมีลักษณะเป็นห้องแถวเหมือนชาวจีน  ทาสีบ้านด้วยสีเหลือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ได้มาจากฝรั่งเศส ที่ถือว่าสีเหลืองเป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง


บริเวณที่ไกด์พาเราเข้าชม จะเป็นย่านที่เป็นไฮไลท์ของเมือง เป็นถนนคนเดิน การสัญจรของผู้คน จะใช้จักรยานเป็นส่วนใหญ่ มีสินค้ามากมายขายอยู่ในร้านบ้าง ริมทางเดินบ้าง  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของพื้นเมืองเพื่อมุ่งขายให้แก่นักท่องเที่ยว สินค้าก็ราคาไม่แพง มีการบอกผ่านบ้างก็เพียงเล็กน้อย  ผู้คนอัธยาศัยดี  จึงทำให้เพิ่มเสน่ห์เมืองฮอยอันมากยิ่งขึ้นไปอีก











ที่เมืองฮอยอัน มีบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่โบราณมาก มีอายุเกิน 200 ปี  ใคร ๆ มาฮอยอัน ก็ต้องแวะเข้าชมบ้านหลังนี้  เจ้าของบ้านใจดีเหลือหลาย เปิดให้เข้าชมฟรี แถมแจกน้ำชาให้ดื่มอีกด้วย ในบ้านมีของเก่า ๆ ให้เราชมได้สบาย ๆ



บ้านไม้เก่า







คนฮอยอันนับถือทั้งศาสนาคริสถ์ และพุทธ  จึงมีทั้งโบสถ์และศาลเจ้าจีน ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เป็นที่เคารพนับถือของคนท้องถิ่น  และมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ  รวมถึงคนเวียตนามพื้นเมือง เข้าไปสักการะมากมาย









ในปีนี้ เป็นปีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี (พุทธชยันตี)  ที่ฮอยอันก็มีการจัดเฉลิมฉลอง  โดยทำเป็นโคมลอยดอกบัวประดับในลำน้ำทูโบนตลอดแนว  สวยงามมาก




ความกลมกลืนของวัฒนธรรมประเพณีและสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ที่ยังคงรักษาไว้ได้จนปัจจุบัน ทำให้เขตเมืองเก่าฮอยอันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2542 ปัจจุบันมีคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมมากมาย  การท่องเที่ยวฮอยอันของคณะเราเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน จนใกล้พลบค่ำ ได้ของติดไม้ติดมือกันมาทุกคน จนใกล้เวลาอาหารเย็นแล้ว ไกด์พาเราไปทานอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง  น่าจะเป็นอาหารชั้นดีของคนเวียตนามแต่สำหรับคนไทย  รสชาติจืดชืดมาก  ทุกมื้อในเวียตนามจะต้องมีผัดผัก , ต้มผัก , ผักลวก ปะปนอยู่กับอาหารอื่น ๆ  ของมัน ๆ มีน้อยมาก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมหญิงเวียตนามจึงหุ่นดีกันทุกคน  และสามารถใส่ชุดอ๋าวหญ่าย ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของเวียตนามได้อย่างสวยงาม



หลังจากทานอาหารแล้ว  เราก็เข้าเช็คอินที่โรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในย่านชุมชน  คืนนั้นเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง  โรงแรมที่เราพักอยู่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ชัดเจน จึงเป็นอีกมุมหนึ่งของฮอยอันที่มีความสวยงามเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก..