บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เยือนถิ่นนาวี




เมื่อเดือน เมษายน 2555  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ไปพักผ่อนกับเพื่อน ๆ  ที่สัตหีบ ในกลุ่มที่ไปร่วมกันในครั้งนี้ มีอยู่ 2 คนที่มีความผูกพันกับทหารเรือ  คนแรกคือ เพื่อนเห็ด พลเรือตรี เบญจวรรณ สนธิสุข แห่งราชนาวีไทย  และคนที่สองคือเพื่อนม้า คุณทิพาพรรณ แตงน้อย ซึ่งเป็นบุตรีของ ท่านพลเรือเอก เทียม มกรานนท์ อดีตท่านผู้บัญชาการทหารเรือ และ อดีตท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนตัวข้าพเจ้า , คุณแวนด้า จงวัฒนา , คุณโสภิต เลิศชนะพรชัย , คุณจิตติมา ดุริยะประพันธ์ และ คุณเบญจมาศ โรจน์วนิช คือคณะผู้ติดตาม

การเดินทางครั้งนี้เราจึงโชคดีที่มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมหน่วยนาวิกโยธินที่สัตหีบ  โดยมีนายธงคนหนึ่งคอยให้การต้อนรับและพาคณะของพวกเราเข้าชมตามที่ต่าง ๆ  ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจของทหารเรือไทย รวมทั้งให้ความรู้แก่พวกเรา ตลอดจนพาไปย้อนอดีตแห่งประวัติศาสตร์ไทย 



เหตุการณ์ในอดีตเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  ปีกุน นพศก จุลศักราช  1129  ตรงกับวันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน 2310 ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำกำลังทหารเดินทางมาทางเรือ จากเมืองจันทบุรีเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระองค์นำทัพมาขึ้นบก และเข้าโจมตีฝ่ายพม่าที่ค่ายโพสามต้น ซึ่งเป็นค่ายบัญชาการรบของพม่า ทัพพม่าไม่สามารถต้านทานได้  จึงแตกพ่ายไปในที่สุด  สืบมาจากวีรกรรมที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพเรือไปโจมตีข้าศึกจากทางทะเลดังกล่าวถือเป็นการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งแรกของกองทัพเรือไทย กองทัพเรือจึงได้ถือเอา วันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน  ของทุกปี เป็นวันคล้าย วันสถาปนากองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ สืบมา


                                        


การยกพลขึ้นบกในปัจจุบันนั้น นายทหารเรือท่านหนึ่งเล่าว่า  เรือสะเทินน้ำ สะเทินบก จะถูกปล่อยจากท้ายเรือรบใหญ่ โดยในเรือสะเทินน้ำสะเทินบก แต่ละลำจะบรรทุกทหารพร้อมรบประมาณ 4-6 นาย นั่งเบียดเสียดสลับเป็นฟันปลาอัดแน่นอยู่ในนั้นเพื่อเตรียมขึ้นบก  ระหว่างปฏิบัติการจะมีเครื่องบิน บินเหนือน่านฟ้าบริเวณนั้นเพื่อคอยคุ้มกันให้




เรือปฏิบัติการขึ้นฝั่งชุดแรก จะเรียกว่าคลื่นลูกที่ 1 และชุดต่อ ๆ ไปจะเรียกว่าคลื่นลูกที่ 2 , 3 , 4  ตามลำดับ  คลื่นลูกที่ 1 จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีของข้าศึกสูงกว่าคลื่นลูกหลัง ๆ และมีโอกาสตายก่อนคนอื่น  แต่ทหารเรือทุกนายต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีใครมีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่คลื่นลูกไหน  หน้าที่ของคลื่นทุกลูกเหมือนกัน คือปกป้องพิทักษ์ชาติไทย  ข้าพเจ้าคิดว่า นี่เองกระมังที่อาจจะเป็นที่มาของเพลง ๆ หนึ่งที่ชื่อว่า "หน้าที่ทหารเรือ" ปลุกใจทหารเรือให้ไม่กลัวตาย  มีเนื้อเพลงดังนี้

                ทหารเรือเชื้อไทยใจองอาจ  ยอมพลีกายหมายมาดป้องชาติไทย
          ผยองเกียรติกล้าหาญการวินัย   มิยอมให้ใครบุกมาย่ำยี
          ทหารเรือเชื้อไทยใจแกล้วกล้า   เอานาวาเป็นบ้านต่อต้านไพรี
          จะขอเทิดธงไว้ใจภักดี   อุทิศชีพยอมพลีเพื่อชาติไทย

        
เราเกิดมาจะต้องไว้ลายชาติชายทุกคน   ยอมสละตนดังวีรชนเลื่องลือยิ่งใหญ่
          ไทยจะเป็นไทย   ศิวิลัยจงมาไวไวไวไวเร็วซิ   
          ทหารเรือทุกคนจงพร้อมใจ   นำเรือรบแล่นไปป้องปฐพี
          จะสมเกียรติทหารการนาวี   ถนอมชาติให้ดีมีสุขเอย


ด้วยความไม่กลัวตายของบรรดาทหารทั้งหลายนี้แหละ  ที่ทำให้ไทยยังคงเป็นไทยอยู่ทุกวันนี้  ธงชาติไทยจึงยังคงปลิวไสวอยู่บนยอดเสาได้   อนุสาวรีย์ของทหารผู้เสียสละตั้งเด่นเป็นสง่าให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง






ภายในอาคารนั้น นอกจากจะได้ชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับการปฏิบัติการของนาวิกโยธินแล้ว ยังได้เห็นวัตถุจำลองเกี่ยวกับการศึกสงครามไม่ว่าจะเป็นเรือจำลอง  อาวุธจำลอง และเครื่องแบบทหารในหน่วยต่าง ๆ











หุ่นจำลองที่เป็นจุดสนใจ นั่นก็คือหุ่นจำลองของท่านพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย



ชาวนาวีเรียกท่านว่า "เสด็จในกรม ฯ"  ชาวบ้านเรียกท่านว่า "เสด็จเตี่ย"  หรือ  "หมอพร"  เหตุที่มีการเรียกพระนามท่านหลายอย่าง ก็มีที่มาจากอดีตเมื่อครั้งที่ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือประเทศอังกฤษแล้วได้กลับมารับราชการทหารเรือไทย  ท่านได้บุกเบิก ริเริ่ม  ปรับปรุง และวางรากฐานแนวปฏิบัติมากมายหลาย ๆ อย่างให้กับราชนาวีไทย  เพื่อให้เหมือนกับชาติอารยะ ท่านได้ขอพระราชทานที่ดินสร้างโรงเรียนนายเรือ และได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5  ให้ใช้ที่ดินบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี  มาดัดแปลงเป็นโรงเรียนนายเรือเป็นครั้งแรก และยังได้วางหลักสูตรแก่โรงเรียนนายเรือมากมายหลายอย่างเพื่อให้ทหารเรือไทยมีความแกร่งกล้า และเดินเรือทะเลได้อย่างต่างประเทศ รวมทั้งซ้อมรบบนบกเพื่อให้มีความชำนาญในทางบกอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังได้ปฏิบัติภาระกิจอีกมากมายหลายอย่างที่เป็นคุณูปการแก่แผ่นดินไทย จึงได้รับการพระราชทาน พระอิสริยศักดิ์ เป็น "กรมหลวง" ชาวนาวีทั้งหลายมักจะขานนามท่านว่า "เสด็จในกรมฯ"   นอกจากทรงมีพระปรีชาสามารถด้านราชนาวีแล้ว ท่านทรงมีความสามารถในทางดนตรี โดยเฉพาะการแต่งเพลง ทรงนิพนธ์บทเพลงไว้หลายเพลง บทเพลงเหล่านั้น มีสาระสำคัญ ในการปลุกปลอบใจให้เข้มแข็งในยามทุกข์  ส่งเสริมกำลังใจให้รักชาติ รักเกียรติ รักวินัยในยามสงบ   และให้เกิดมุมานะกล้าตายไม่เสียดายชีวิตในยามศึกสงคราม

ส่วนพระนามที่เรียกว่า"หมอพร" ก็สืบเนื่องมาจากในช่วงหนึ่งของชีวิตราชการ  ท่านถูกปลดจากราชการ  สาเหตุก็เพราะว่ามีพวกทหารเรือไปเที่ยว พบกับทหารมหาดเล็ก เกิดเรื่องวิวาทกันขึ้น ความทราบไปถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เข้า ทรงไม่พอพระทัย รับสั่งให้ส่งทหารเรือที่วิวาทกับทหารมหาดเล็กไปให้ ท่านไม่ยอมส่งให้ ได้ให้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า เป็นเรื่องของคนวิวาทกัน  จะว่าข้างใดเป็นผู้ผิดก็ไม่ได้ และท่านก็รักทหารเรือของท่านเหมือนลูก ท่านไม่เคยส่งลูกไปให้ใครเขาเฆี่ยนตี ถ้าจะตีก็จะตีเสียเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วรับสั่งว่า ถ้าท่านไม่ส่งไปให้ก็ต้องให้ออก เพราะว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ เสด็จในกรมฯ จึงต้องออกจากราชการในคราวนั้น  สำหรับเสด็จในกรมฯ และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  เป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เหมือนกัน แต่ต่างมารดากัน  เมื่อทรงออกจากราชนาวีแล้ว อยู่ว่างๆ ทรงรำคาญพระทัย จึงลงมือศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรคให้ประชาชนพลเมืองทั่วไป โดยไม่คิดเงิน จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อผู้คนพากันรู้ว่า เจ้าพ่อรักษาโรคได้ฉมังนัก จึงร่ำลือ และแตกตื่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง ท่านไม่ทรงให้ใครเรียกว่าเสด็จในกรมฯ หรือยกย่องเป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร"  ส่วนชาวจีนที่รักใคร่เทิดทูนท่านจะเรียกขานพระนามท่านว่า "เสด็จเตี่ย"

แต่หลังจากนั้น ท่านก็ได้รับโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 6  ให้กลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้งหนึ่งในช่วงที่ไทยเข้าร่วมในสงครามโลก  และในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ  ได้เล็งเห็นว่าพื้นภูมิประเทศบริเวณสัตหีบ มีความเหมาะสม ทางด้านยุทธศาสตร์  สมควรใช้เป็นที่มั่นสำหรับกิจการทหารเรือ ทั้งด้านตั้งรับและป้องกัน  จึงได้มีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินสัตหีบ เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพเรือ   ฐานทัพเรือที่สัตหีบจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น




ในวันนั้นกว่าจะเยี่ยมชมเสร็จก็เย็นมากแล้ว  คณะเราจึงมีโอกาสเห็นบรรยากาศที่สวยงามมากๆ ในยามที่ตะวันตกดิน ที่ฐานทัพเรือแห่งนี้



















ตะวันยามที่จะลับขอบฟ้า ช่างสวยงามนัก มองแล้วให้ได้รำลึกถึงสัจจธรรมแห่งชีวิตที่มีขึ้น มีลง, มีสูงส่ง มีตกต่ำ, มีเกิด มีดับเวียนว่ายอยู่ในวงล้อแห่งกรรม  หากทุกลมหายใจเข้าออกของชีวิตที่ยังเหลืออยู่  กระทำแต่ความดี  มีคุณค่าต่อสังคม  เมื่อยามดับสูญ คงจะมีความสุขดุจการมองตะวันในยามนี้   เรายืนส่งตะวันกันจนลับขอบฟ้า  จากนั้นจึงพากันไปทานอาหารเพื่อยังชีพ ที่เรือนสักประดู่  ร้านอาหารในฐานทัพเรือ  ที่มีบรรยากาศ น่าประทับใจเช่นกัน



เราจบการเยือนถิ่นนาวี  ในวันรุ่งขึ้น ที่หาดทรายแก้ว  หาดที่สวยงามมาก ๆ แห่งหนึ่ง  ที่มีเม็ดทรายละเอียดและนุ่มดุจใยไหม อยู่ในเขตโรงเรียนชุมพลทหารเรือ 










พวกเราหวังว่า ในโอกาสหน้าจะมีโอกาสมาเยือนถิ่นนาวีแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง .............................

            



ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.facebook.com%20,%20www.navy.mi.th/

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดอยอ่างขาง..ในความทรงจำ


                                                           

ในความทรงจำข้าพเจ้า ดอยอ่างขางคือสถานีวิจัยที่อยู่ไกลมาก กันดารมาก และอันตรายมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าขึ้นไปอ่างขางครั้งแรกเมื่อปี 2519  สภาพพื้นที่ในขณะนั้นมีแต่แปลงไม้ผล  ซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่ก็มีความงามตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการปรุงแต่ง  ดอยอ่างขางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร สมัยนั้นการขึ้นลงลำบากมากสุด ๆ  เพราะยังไม่มีถนนหนทาง  การสัญจรใช้การเดินเท้าลัดเลาะตามไหล่เขาเพียงอย่างเดียว  เส้นทางการเดินป่าขณะนั้นมีอยู่ 2 เส้นทางด้วยกัน เส้นทางแรก จะเริ่มจากบ้านแม่เพอะ  ผ่านม่อนโจะโละ  ผ่านบ้านขอบด้ง   ผ่านกิ่วลม  และเข้าสู่สถานีอ่างขาง  ส่วนอีกเส้นหนึ่ง จะเริ่มจากบ้านม่วงชุม  ผ่านบ้านนอแล  ผ่านกิ่วลม  และเข้าสู่สถานีอ่างขาง   เส้นทางหลังนี้ดูจะเดินยากหน่อยเพราะสูงชันมาก  ชาวเขาเองก็ไม่ค่อยใช้กัน  แต่ไม่ว่าเส้นทางไหนก็สาหัสทั้งสิ้น   การขึ้นลงจึงไม่อาจทำได้ตามใจชอบ  เพราะขึ้นลงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นวัน ทั้งยังมีความเสี่ยงภัยระหว่างการเดินทาง  อาหารการกินจึงต้องอาศัยการส่งเสบียงทางอากาศ  ซึ่งจะมีเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนแวะมาส่งเสบียงให้เดือนละครั้ง




ในการเดินทางขึ้นดอยอ่างขางครั้งแรกของข้าพเจ้า นับว่าโชคดีมากเพราะตรงกับช่วงเวลาที่มีการส่งเสบียงขึ้นดอย จึงได้ขออาศัยนั่งเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนที่ขึ้นไปส่งเสบียง   ดู ดู เหมือนกับโก้ แต่เปล่าเลยขาลงไม่มีเฮลิคอปเตอร์ มาส่งเสบียงอีก  จึงต้องเดินลัดเลาะไหล่เขาลงมาเหมือนคนอื่น ๆ มันเป็นการเดินทางที่สาหัสที่สุดในชีวิต  แต่ก็ทำให้ได้เห็นถึงความลำบากของเจ้าหน้าที่  ที่ปฏิบัติงานบนดอย เพราะหากมีเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยฉุกเฉิน คงจะเป็นเรื่องที่ลำบากมากทีเดียว




สถานีแห่งนี้มีที่มาจากการที่ในหลวงและพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเสด็จผ่านดอยอ่างขางได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขาหัวโล้น ชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นกัน เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศ  จึงขอซื้อที่ดินจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500.-บาท  เพื่อใช้เป็นแหล่งวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ  เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา  ให้หันมาปลูกทดแทนฝิ่น และพระราชทานนามว่า"สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" สถานีแห่งนี้เป็นแห่งที่ 2 นับจากที่ได้โปรดเกล้าให้ตั้งโครงการหลวงขึ้นมาเมื่อปี 2512 โดยมีท่านหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานมูลนิธิโครงการหลวง ดูแลรับผิดชอบ และมีสถานีวิจัยแห่งแรกอยู่ที่ดอยปุย ซึ่งที่นั่นในหลวงได้ซื้อที่ดินจากชาวเขาด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เองเช่นกัน จำนวน 200,000.- บาท และพระราชทานนามว่า "สวนสองแสน"




พี่วินัย ปั่นศิริ รุ่นพี่เกษตรรุ่น 19  เป็นหัวหน้าสถานีคนแรกของอ่างขาง เมื่อปี 2513  อยากจะเรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกพลิกฟื้นแผ่นดิน  เพราะขณะนั้นสภาพโดยทั่วไปของอ่างขางยังเป็นสภาพที่ยังไม่ได้พัฒนาอะไรเลยมีแต่ป่าเขาลำเนาไพรและความเสี่ยงภัยมีอยู่รอบตัวทั้งจากชนกลุ่มน้อยชาวมูเซอร์ดำ , ชาวจีนฮ่อ และ ไทยใหญ่ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือกองคาราวานฝิ่น บุคคลที่ขึ้นไปทำงานบนดอย จึงต้องดำรงชีวิตอย่างระวังภัยอยู่ตลอด 24 ชม. ไม่ต่างกับทหารหรือตำรวจตระเวณชายแดน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพวกเขาต้องช่วยตัวเองเท่านั้น สิ่งเดียวที่เป็นพลังให้พวกเขาอยู่กันได้ ก็คือความศรัทธาและพระบารมีในหลวง ในอันที่จะทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  จึงเป็นเสมือนยันตร์กันภัยที่ทำให้พวกเขาแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้




วุฒิ มณีปุระ ได้เข้าไปร่วมงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระหว่างเรียนได้ไปฝึกงานอยู่ที่สถานีวิจัยดอยปุย  ทำให้อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา ,  ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี ได้มองเห็นแววมุ่งมั่นในการทำงาน  จึงส่งตัวขึ้นไปช่วยงานพี่วินัย ตั้งแต่ปี 2517  การเดินทางขึ้นดอยในครั้งนั้น อาศัยรถแลนด์โรเวอร์ของสถานีวิจัยดอยปุย ไปส่งจนถึงบ้านหัวนา ซึ่งอยู่เชิงดอยอ่างขางหลังจากนั้นก็มีเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนมารับขึ้นไปส่งบนดอยอีกทีหนึ่ง  ภูมิประเทศของดอยอ่างขางจะมีลักษณะเป็นรูปอ่าง  มีลานกว้างไว้สำหรับจอด ฮ. ในสถานี  รอบๆสถานีจะมีบ้านพักของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 11 หลังด้วยกัน มีโรงครัว 1 หลัง และสโมสรอีก 1 หลัง ลักษณะบ้านเป็นแบบ  A Frame  คือหลังคาชนกันเป็นรูปตัว A  มุงด้วยหญ้าคา ส่วนฝาบ้านใช้ไม่ไผ่ทุบเป็นซีกเล็ก ๆ มัดต่อเนื่องกัน  เจ้าหน้าที่อยู่กันคนละหลัง  เช้าก็ไปเข้าแปลงงาน  เย็นก็มาทานข้าวกันที่สโมสร ซึ่งมีถาวร บัวชุ่ม (วอน) เป็นพ่อครัวจัดเตรียมไว้ให้ ชีวิตมีอยู่แค่นั้นเพราะบนนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้  มืดลงก็เงียบสงัด แต่ละบ้านจึงต้องมีเทียนไว้จุดให้ความสว่าง  ส่วนน้ำใช้ต่อท่อจากลำธารต้นน้ำบนภูเขามาใช้  น้ำที่นั่นจึงเย็นจัดเหมือนกับน้ำในตู้เย็นเลยทีเดียว





ในช่วงปี 2517  รัฐบาลไต้หวันได้ให้งบประมาณแก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพื่อปลูกทดลองไม้ผลเมืองหนาว อันได้แก่ ท้อ , แอปเปิล , สาลี่  เป็นเบื้องต้น รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไต้หวันมาให้คำแนะนำด้วยอีกทางหนึ่ง  แปลงทดลองที่ปลูกไม้ผลเมืองหนาวด้วยงบประมาณของรัฐบาลไต้หวันนี้ จึงได้เรียกกันว่า "สวนไต้หวัน" เพื่อให้เกียรติ์แก่เจ้าของทุน






นอกเหนือจากการให้งบประมาณดังกล่าวข้างต้น  รัฐบาลไต้หวันยังให้ทุนเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานที่ฟูจูซานฟาร์ม 1 ปี ฟาร์มนี้อยู่บนดอยสูงของประเทศไต้หวัน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองไทจุงและฮวาเรียน  ซึ่งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศคล้ายคลึงกับอ่างขางมาก  ท่านศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี  ได้ส่งวุฒิ มณีปุระ และเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน  คือ ถาวรรัตน์ ยอดศรี (แขก) และ วรพงษ์  เครือเขื่อนเพชร (อ้วน) ไปพร้อมกัน




ในช่วงที่กำลังจะกลับเมืองไทย  พายุไต้ฝุ่นได้ถล่มเกาะไต้หวันอย่างหนักอยู่ 2 วันเต็ม ๆ  ทำให้ถนนหนทางขาดหลายแห่ง รวมทั้งที่ฟูจูซานฟาร์ม  หินภูเขาถล่มลงมาทำให้ถนนขาด  ไม่สามารถเดินทางลงมาได้  รอจนหลายวันกว่าจะซ่อมแซมทางเสร็จและเดินทางกลับเมืองไทย

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวันอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนกระทั่ง ปี 2518 ช่วงที่ท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นเป็นรัฐบาล ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีนแผ่นดินใหญ่  ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน เป็นผลให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไต้หวันต้องหยุดชะงักไปอย่างเป็นทางการ   แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อโครงการหลวง จึงมีการสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ อยู่บ้างในบางส่วน อย่างไรก็ตามงานทดลองที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ยังคงเดินหน้าต่อไปเพราะนอกเหนือจากไต้หวันแล้ว   ยังได้งบประมาณจากอีกหลายทางเช่น   USDA  ,  UN  เป็นต้น

การใช้ชีวิตบนดอยที่ห่างไกลความเจริญ เช่นที่อ่างขางในช่วงบุกเบิก  แม้จะมีความสุขสงบเป็นพื้นฐาน แต่ความกดดันจากภัยที่มองไม่เห็น  มีอยู่รอบด้าน และไม่อาจรู้ว่าจะมาถึงตัวเมื่อใด  มันสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกชีวิตในสถานี ซึ่งมองไปรอบด้าน แลเห็นแต่ขุนเขา  เมื่อยามฟ้าสางทุกคนก็จะหายใจกันได้สดวก  แต่มืดลงเมื่อใด ก็จะต้องเริ่มระแวดระวังภัยและต้องคอยติดตามหาข่าว เพื่อป้องกันตัวเองอยู่เสมอ  เพราะห่างไกลเกินกว่าที่กฎหมายจะเข้าไปดูแลใกล้ชิด  และเจ้าหน้าที่ก็มีกันอยู่เพียงไม่กี่คน  จึงมีความโดดเดี่ยวซึ่งยากที่ใครจะรับรู้ได้หากไม่เข้าไปสัมผัสจริง  เหตุนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่วินัย ปั่นศิริ  เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ และทำให้วุฒิ มณีปุระ เข้าไปรับช่วงต่อเป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 2 ของอ่างขาง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา

โดยปกติสถานีอ่างขาง จะรับคนงานไทยใหญ่จากพื้นที่ใกล้เคียง คือรัฐฉานประเทศพม่า เข้ามาปฏิบัติงานในสถานีตามแปลงทดลองต่าง ๆ  รวมแล้วเกือบ 200 คน คนงานรับเหมาถางป่า ปลูกต้นไม้ ก็จะเป็นมูเซอร์ดำที่อาศัยอยู่รอบ ๆ อ่างขาง คนงานที่มากมายจากหลายกลุ่มเหล่านี้ ย่อมแน่นอนที่จะมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป การควบคุมให้อยู่ในสายตา จึงค่อนข้างยาก และมักจะมีเหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ

ในครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่และคนงานในสถานีรวมประมาณ 7 คน เดินพลัดหลงเข้าไปในเขตตอนเหนือของบ้านนอแล ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยมูเซอร์แดง จึงถูกชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นระดมยิงตายไปรวม 3 คน ที่เหลือก็หนีกระเจิดกระเจิงกลับมาได้  จึงต้องขอความช่วยเหลือจาก ตชด. จนสามารถช่วยกันกู้ศพทั้ง 3 กลับมายังฝั่งไทยได้สำเร็จ สถานการณ์เช่นนั้นกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมากทีเดียว  แต่อย่างไรก็ตามงานทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อ

อีกครั้งหนึ่งที่ระทึกใจของชาวดอยอ่างขาง เห็นจะเป็นเรื่องการบุกปล้นสถานี จากข่าวคราวที่เจ้าหน้าที่ในสถานีบอกกันต่อ ๆ ทำให้ทุกคนต้องเพิ่มการระมัดระวังตัว  เพราะคนงานที่เป็นชนเผ่าเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่จะยากจน จึงมีการงัดแงะเอาข้าวของในสถานีออกไปโดยไม่สามารถจับมือใครดมได้บ่อยครั้ง  และหลังจากนั้นไม่นาน สุรจิตต์ มะลิแก้ว(จาย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ก็ทราบข่าวจากคนงานด้วยกันว่าจะมีการเข้าปล้นสถานีในช่วงกลางคืน  คืนนั้นทั้งคืนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นอันนอน เฝ้าระวังกันจนเกือบสองยามจึงได้ตัว ซึ่งก็เป็นคนงานในสถานีนั่นเอง เหตุการณ์นั้นทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเพิ่มการระวังตัวมากยิ่งขึ้น จนในครั้งหนึ่งซึ่งต้องเดินทางลงไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงเทพ สาขาท่าแพ หลายหมื่นเพื่อมาจ่ายเงินเดือนคนงาน และตามปกติเป็นที่รู้กันว่าจะใช้เส้นทางเดินขึ้นทางบ้านเพอะ ก็ต้องสับเปลี่ยนเส้นทางไปทางบ้านม่วงชุมแทน  เพื่อป้องกันถูกดักปล้นกลางทาง

เมื่อประมาณปี 2522 เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญที่ชาวดอยอ่างขางไม่อาจลืมได้  ก็คือตอนที่คณะกรรมการธิการเกษตร ได้ไปตรวจราชการชายแดน ด้วยเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ  ได้มาแวะเยี่ยมที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  ในช่วงที่เดินทางกลับ  หลังจาก ฮ. ลำแรกบินผ่านไปได้แล้ว เกิดสภาพอากาศแปรปรวนกระทันหันบริเวณกิ่วลมเหนือหน่วยป่าไม้มีฝนและเมฆปิดบังทัศนวิสัยเป็นผลให้ ฮ. ลำหลังไม่สามารถบินผ่านไปได้ และเกิดอุบัติเหตุตกลงไปอยู่ในหุบเหว นักบินและคณะผู้โดยสารใน ฮ. ลำหลัง ซึ่งมีท่าน พล.อ.อ บัญชา เมฆวิชัย , พลตำรวจเอกกฤษณ์  สังขะทรัพย์ และคุณคล้าย ณ.พัทลุง ผู้ว่าราชการจังหวัด เสียชีวิตทั้งหมด การกู้ศพขึ้นจากเหวเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีฝนตกอยู่ตลอด และในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่อ่างขางหลายคนได้ร่วมกันอำนวยความสดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวณชายแดน และอาสาสมัครจากอำเภอฝางนับร้อยคนซึ่งเดินปูพรมจากเชิงเขาด้านล่าง ไต่ขึ้นมาจนถึงสันดอย ใช้เวลานานเกือบ 3 วัน จึงสามารถนำศพขึ้นมาได้ และนำไปพิสูจน์เอกลักษณ์ที่บ้านคุ้ม ใกล้ ๆ สถานีอ่างขาง

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสถานีอ่างขาง  โดยในช่วงนั้นเริ่มมีถนนหนทางขึ้นดอย ทำให้สดวกสบายขึ้น  แต่เป็นเพียงถนนดินลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อเกือบตลอดทาง พอโดนฝนก็จะลื่นเละต้องใช้โซ่พันล้อทั้ง 4 ล้อกันการลื่นไหล  การนั่งรถจึงไม่ต่างจากขี่ม้า แต่ก็นับว่ายังดีกว่าการเดินเท้าเป็นไหน ๆ  การสร้างถนนขึ้นดอยนี้ก็มีประวัติน่าสนใจ เป็นความพยายามของกรมป่าไม้ที่จะทำถนนขึ้นดอยให้  แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด  จึงทำได้เพียงตามมีตามเกิด และต้องยกย่องนายผิน ซึ่งเป็นลูกจ้างกรมป่าไม้  ที่มีความอุตสาหะสูง  ขับรถตีนตะขาบตัดทางตั้งแต่ปางควายลัดเลาะไหล่เขา ลุยไปเรื่อยพร้อมกับลูกน้องเพียงคนเดียวที่เดินตามคอยช่วยเหลือกัน  ค่ำไหนก็กางเต้นท์นอนนั่น  ใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะตัดไปถึงอ่างขางได้  แต่ถนนของนายผิน บางช่วงก็ลาดชันและอันตรายเหลือเกิน  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งเป็นลูกน้องของพี่ฉัตรไชย รัตโนภาสซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาต้นน้ำบ้านหลวง  ขับรถเผลอลงเหวตายไป 3 คน  มาภายหลังกรมชลประทานมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบนดอย  จึงเริ่มมีการสร้างกันตามหลักวิชาการ เมื่อมีถนนหนทางสะดวกนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีงานทดลองก็สามารถขึ้นไปบนดอยได้บ่อยขึ้น  อาจารย์ปวิณ ปุณศรี เองท่านก็ขึ้นมาเกือบทุกเดือนเพื่อติดตามงานวิจัย




ในทุก ๆ ปี ในหลวงและพระราชินี จะทรงเสด็จไปเยี่ยมที่สถานีอ่างขางเพื่อติดตามโครงการตามพระราชดำริ การเสด็จมาของพระองค์เปรียบเสมือนความสว่างที่เกิดขึ้นในใจของทุกคน  ไม่เพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่ ๆ ปฏิบัติงานอยู่บนดอยเท่านั้น  แต่ชาวเขาทั้งหลายที่อาศัยอยู่รอบ ๆ อ่างขาง ก็มีความปลื้มปิติไม่ต่างกัน









"จะหลู" เป็นชาวเขาคนหนึ่งที่รักและเทิดทูนในหลวงอย่างมาก "จะหลู"เป็นผู้ใหญ่บ้านขอบด้ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆสถานีอ่างขาง  และที่หมู่บ้านขอบด้งนี้ โครงการหลวงได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น  "จะหลู" สามารถช่วยเหลือได้มากในการชักนำลูกบ้านให้เลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน "จะหลู" มีจิตใจผูกพันกับงานของโครงการหลวง  เมื่อครั้งที่โครงการหลวงจัดงานที่สวนอัมพร "จะหลู" ก็ได้รับเชิญให้มากรุงเทพด้วย น่าเสียดายที่ครั้งนั้นไม่มีใครนึกถึงเรื่องอาหารการกินของ"จะหลู"   จึงเกิดอาหารผิดสำแดง  พอกลับขึ้นดอย "จะหลู" ก็มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด  หลังจากนั้น "จะหมอ" ก็เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน"จะหลู" ต่อไป





สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีการพัฒนาคืบหน้าไปโดยลำดับอย่างต่อเนื่อง  ทั้งหัวหน้าสถานีและเจ้าหน้าที่ ๆ ปฏิบัติงานในสถานีก็มีการเปลี่ยนแปลงกันไปหลายชุด  ซึ่งทุกคนล้วนตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติงานสนองพระราชดำริและตอบแทนคุณแผ่นดินกันทั้งสิ้น  แม้จะยากลำบากสักเพียงใด  แต่คุ้มค่าแก่ชีวิตที่ได้เกิดมาชาติหนึ่ง  ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ.....

ชีวิตช่วงหนึ่งบนดอยอ่างขาง...........  จึงมีคุณค่าควรแก่การบันทึกไว้ในความทรงจำ....................

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตามรอยเสด็จ ทุ่งมะขามหย่อง





ภาพประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่งที่คนไทยจะต้องจารึก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  ได้เสด็จไปยังทุ่งมะขามหย่อง  จังหวัดอยุธยา เพื่อติดตามโครงการพระราชดำริ ทอดพระเนตร พื่นที่นี้ซึ่งเคยได้รับอุทกภัยอย่างหนักมาในอดีตเมื่อปี 2539 แต่สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี  บริเวณนี้เป็นโครงการส่วนพระองค์ที่จัดทำเป็นแก้มลิงไว้สำหรับเก็บกักน้ำให้เกษตรกรใช้ในการเกษตรยามแห้งแล้ง และเป็นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
 
 

วันนี้ข้าพเจ้าจึงขอตามรอยเสด็จของพระองค์ท่าน  ไปเที่ยวชมทุ่งมะขามหย่อง  ด้วยเส้นทางด่วนอุดรรัถยา ออกไปทางอำเภอบางปะหัน ด้วยเส้นทางหลวง 347  วิ่งไปจนถึงสี่แยกวรเชษฐ์ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  อยู่บนเส้นทางหลวง 347  เลยแยกวรเชษฐ์ไปเล็กน้อย
 
 
 
บริเวณแยกวรเชษฐ์นี้ในอดีตมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  สมัยแผ่นดินอยุธยา ช่วงที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน  พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดี ได้ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินของอยุธยาและคาดการณ์ว่าแผ่นดินอยุธยาคงระส่ำระสาย จึงยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี  ในครั้งนั้นทัพพม่าส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง  และอีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณทุ่งวรเชษฐ์แห่งนี้  การรบครั้งนั้น นำมาซึ่งการสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อัครมเหสีของพระองค์  แผ่นดินบริเวณนี้น่าจะเกลื่อนไปด้วยศพและเลือดของทหารกล้าทั้งของอยุธยาและหงสาวดีที่รบพุ่งกันอย่างเต็มกำลัง
 
 
 


พระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ถูกสร้างขึ้นที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง  บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 250 ไร่ พอเข้าประตูไป  ก็จะพบพระราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด ประทับนั่งบนหลังพระคชาธาร  พร้อมทหารกล้าทั้ง 4 ด้านที่เรียกกันว่าจาตุรงคบาทตั้งเด่นเป็นสง่า








ด้านซ้ายมือจะเป็นอ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ไพศาล ที่เรียกกันว่าแก้มลิงของชาวอยุธยา มีพลับพลาที่ประทับตั้งอยู่กลางน้ำทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ




ทุ่งมะขามหย่อง ตั้งอยู่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ในอดีตกาลเคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างไทยกับพม่ากันหลายครั้ง  แพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไป ตามความเข้มแข็งและอ่อนแอของกองทัพขณะนั้น  จนถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งพม่าเห็นว่าไทยกำลังอ่อนแอ สบโอกาสยกทัพผ่านด่านเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดินำกองทัพออกรับสู้ กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร แม่ทัพพม่า ในช่วงของการสู้รบที่พระมหาจักรพรรดิกำลังเพลี่ยงพล้ำ  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีที่ปลอมพระองค์ออกรบด้วย และได้ไสช้างเข้าขวาง  จนพระนางถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง   ในครั้งนั้น (พศ.2091) พม่าตีอยุธยาไม่สำเร็จและเมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ชื่อวัดสวนหลวงสบสวรรค์ 



เจดีย์ศรีสุริโยทัย

ปัจจุบันวัดสวนหลวงสบสวรรค์ มีสภาพเป็นวัดร้าง คงมีปรากฏเพียงเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งบรรจุอัฐิของพระองค์ท่าน และกรมศิลปากรได้ใช้พื้นที่บริเวณวัดสวนหลวงสบสวรรค์เป็นสำนักงานศิลปากรแทน


สำนักงานศิลปากร

เหตุการณ์ในครั้งนั้น  ทำให้เราซึ่งเป็นอนุชนรุ่นหลัง  ต้องหวนรำลึกถึงอดีต  โดยเฉพาะวีรสตรีไทยพระองค์นี้  ที่กล้าหาญดุจชายชาติทหารคนหนึ่ง  ปกป้องผืนแผ่นดินไทยทำให้ไทยเป็นไทยอยู่จนทุกวันนี้  ทุกตารางนิ้วบนผืนแผ่นดินไทยที่เราอยู่กินกันอย่างสุขสบาย  เป็นเพราะเรามีผู้กล้าสร้างแผ่นดินให้เราด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น  รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทย จึงได้ร่วมกันสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พศ. 2535 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม  2534 และสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน ไปประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเมื่อ 27 มิถุนายน 2538 




พสกนิกรชาวอยุธยาดีใจเหลือประมาณ ในการที่ทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ.ที่แห่งนี้  จึงพร้อมใจกันจัดการแสดงต่าง ๆ ให้ได้ทอดพระเนตรมากมายหลายอย่าง  หลังจากที่พระองค์ได้ถวายสักการะสมเด็จพระศรีสุริโยทัยแล้ว  จึงเสด็จมาประทับที่ศาลากลางน้ำเพื่อทอดพระเนตรการแสดงที่ประชาชนจัดถวาย



ขับเพลงเห่เรือ

เรือชาวบ้านเข้าร่วมแสดงเพลงเห่เรือ

เป่าขลุ่ยเพลงความฝันอันสูงสุด โดย อาจารย์ธนิส ศรีกลิ่นดี

แสดงยุทธหัตถี

บทประพันธ์จาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


บทประพันธ์จาก จีรนันท์ พิตรปรีชา



บทเพลงจาก แอ๊ด คาราบาว

ในบริเวณทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้  ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่  ใช้ทำเป็นแก้มลิงเสีย  180 ไร่  จุน้ำได้ถึง 2 ล้าน ลบ.เมตร จึงสามารถช่วยชลอน้ำที่จะไหลเข้ากรุงเทพมหานครได้มากทีเดียว   ปริมาณการรับน้ำในปี 2539 และ 2554  ได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำ
 
 




 
ที่ดินส่วนที่เหลือ จัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ข้าพเจ้าเห็นประชาชนมากมายเข้ามาใช้ประโยชน์ดังกล่าว  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณโดยแท้
 
 





 
 
ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์  และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพเพียงนิดเดียว ที่ทุก ๆ ท่าน ไม่ควรพลาดจริง ๆ  ..