บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามชุก..ตลาดร้อยปีที่ยังมีชีวิต



ข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดร้อยปีสามชุกบ่อยครั้งมาก แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยแม้เพียงครั้งเดียวเพราะทุกครั้งที่ได้ไปพบเห็นสภาพชุมชนและบรรยากาศของร้านค้าที่นั่นแล้ว  เสมือนเข้าไปเดินอยู่ในอดีตและทำให้นึกถึงวิถีชีวิตและวิถีการค้าของผู้คนไทยในกาลก่อน

ตลาดสามชุกเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในอดีตที่นี่เคยเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นจุดที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า และเป็นจุดพักเรือสินค้าที่จะขึ้นล่องสู่บางกอก  บริเวณท่าน้ำตลาดสามชุก จะหนาแน่นไปด้วยเรือเมล์  เรือขนส่งสินค้า เรือข้าว เรือถ่าน เรือผัก เรือผลไม้  และสินค้าอื่น นานาชนิด และด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนหลายเชื้อชาติที่ล่องเรือมาค้าขายคิดอยากจะตั้งรกรากทำมาหากินที่นี่  ทั้งกะเหรี่ยง  มอญ  ละว้าโดยเฉพาะคนจีน มีการก่อตั้งศาสนสถานขึ้นเช่น ศาลเจ้า  วัด  โรงมหรสพ  ร้านกาแฟ โรงแรม  ร้านค้าทองคำ ร้านถ่ายรูป ร้านขายยาโบราณ ร้านเสริมสวย ฯลฯ  ซึ่งล้วนเสริมสร้างให้สามชุก เป็นแหล่งค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

สภาพตลาดการค้าที่นี่ จะมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นอยู่เรียงกันไป มีถนนซอยกั้นกลางรวม 5 ซอยแต่ละซอยจะค้าขายสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  ของที่ระลึก ฯลฯ







เนื่องจากการนำสินค้ามาค้าขาย แต่ละวันจะมีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าจำนวนมาก บางครั้งต้องการค้างพักแรม จึงมีชาวจีนคิดดัดแปลงห้องแถวไม้เปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมขึ้นที่นี่ ชื่อโรงแรมอุดมโชค ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีผู้ใดมาพักแล้ว แต่เจ้าของยังรักษาสภาพเดิม ๆ ไว้ให้เราได้เห็น

 

















การค้าขายที่ตลาดสามชุก เริ่มเงียบเหงาซบเซา  หลังจากราชการตัดถนนผ่านชุมชนต่าง ๆ ทำให้การคมนาคมทางบกมีความสดวกสบายกว่าทางน้ำ  การซื้อขายทางเรือเช่นแต่ก่อนจึงเริ่มลดน้อยถอยลง และเปลี่ยนเป็นทางบกไปในที่สุด ตลาดสามชุกเริ่มมีสภาพร้างคนไปในช่วงเวลาหนึ่ง  จนกระทั่งคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าของตลาดแห่งนี้  รวมตัวกันพัฒนาเชิงอนุรักษ์ขึ้น เกิดเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกขึ้นมาช่วยกันฟื้นฟูรักษาศิลปะ วิถีชีวิต และ สถาปัตยกรรมเดิม ๆ ให้ยังคงอยู่ และใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีของสังคมในอดีต ตลาดสามชุกจึงหวนกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง



คนที่ไปเที่ยวตลาดสามชุก ไม่ควรพลาดชมสถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณตลาดนี้ นั่นคือ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์  ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่บอกเล่าความเป็นมาในอดีตให้เราได้ทราบ  ขุนจำนงจีนารักษ์ ท่านมีนามเดิมว่า นายหุย แซ่เฮงเป็นคนจีนที่เกิดในแผ่นดินไทย สมัยที่มีชีวิตอยู่ ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น กิจการค้าของท่านเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ตัวท่านเองเป็นคนมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำชุมชน  และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนจำนงจีนารักษ์  นายอากรสุรา  ต่อมาภายหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น  ท่านจึงหันไปทำสวนทำไร่  และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 83 ปี  บุตรหลานของท่านได้อนุญาติให้ใช้บ้านของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์และเก็บของใช้โบราณ สำหรับผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ จึงนับว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างมากต่อสังคม โดยเฉพาะบ้านของท่านซึ่งมีศิลปะลวดลายฉลุที่สวยงามบริเวณช่องลม หาดูได้ยากในปัจจุบัน


ที่บริเวณหน้าตลาดสามชุก จะมีตู้ไปรษณีย์โบราณตั้งอยู่ 1 ตู้  ตู้ไปรษณีย์โบราณนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2454  ทำขึ้นในประเทศอังกฤษ ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ยุคแรก ๆ ของไทย ที่หน้าตู้จะระบุเวลาไขวันละ 3 ช่วงเวลา แสดงเวลาลักษณะของฝรั่ง  นั่นคือ

                                        6  ก.ท.   คือ    6 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ   6 A.M.
                                       10 ก.ท.   คือ  10 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ 10 A.M.
                                        2  ล.ท.   คือ   2 โมง หลังเที่ยง  หรือ   2 P.M.  นั่นเอง

ปัจจุบัน ตลาดสามชุกได้กลับมาคึกคักเช่นเดิม แม้วันเวลาจะเปลี่ยนไปนับร้อยปี  เพราะชุมชนนี้เข้มแข็ง จึงสามารถอนุรักษ์ให้คงอยู่ได้  มีผู้คนไปเที่ยวชมทั้งวันธรรมดา และวันหยุดราชการ ตลาดนี้จึงเปิดขายตามปกติโดยไม่มีวันหยุด และจะไม่มีวันร้าง  มีข้าวของมากมาย ที่น่าสนใจซื้อหา







ไม่ว่าใครได้ไปเที่ยวชม ก็จะได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านทุกคน ตลาดสามชุกในวันนี้  จึงนับว่ายังมีลมหายใจ และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง   แม้ว่าแม่น้ำท่าจีนจะเงียบสงบ ไม่คึกคักพลุกพล่านเหมือนเช่นก่อนแล้ว แต่แม่น้ำสายนี้ ได้โอบล้อมสามชุกให้ร่มเย็น และหายใจต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืนอีกยาวนาน............



 วิถีชีวิตที่สงบและเรียบง่ายของคนในชุมชนนี้  จึงยังคงมีให้เห็นที่ตลาดสามชุก  จังหวัดสุพรรณบุรี.....


วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อารยะแห่งสุวรรณภูมิ



หากจะถามว่าคนไทยมาจากไหน คนที่จำความรู้ในระดับประถมได้ ก็จะบอกว่ามาจากเทือกเขาอัลไตประเทศจีน ถ้าถามว่าเมืองเก่าแก่ของไทยอยู่ที่ไหน  คนก็จะนึกถึงสุโขทัย ศรีสัชชนาลัย  เมืองสมัยพ่อขุนรามคำแหง

เรื่องนี้ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ไทย ได้เขียนบทความไว้หลายครั้ง  จึงทำให้ทราบว่า  สิ่งที่จำ ๆ กันมานั้นผิดพลาด คนไทยมิได้มาจากเทือกเขาอัลไต  และจะมาจากไหนก็ยากที่จะหยั่งรู้  แต่พบหลักฐานว่าบนผืนแผ่นดินไทยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่นานมาแล้ว  โดยเฉพาะเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี พบหลักฐานที่สำคัญหลายอย่าง ที่น่าเชื่อได้ว่า ที่เมืองนี้อาจเคยเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิ  เป็นดินแดนที่อยู่ในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ไทย ลาว พม่า เวียตนาม เขมร มลายู สิงคโปร์ ชวา บริเวณนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง  อุดมสมบูรณ์  ดินแดนแห่งนี้เป็นที่รู้จักของชาวอินเดียโบราณ โดยเฉพาะพวกพ่อค้าที่นิยมเดินเรือไปค้าขายทางทิศตะวันออก กล่าวกันว่า พ่อค้าที่ต้องการแสวงโชคและความมั่งคั่งร่ำรวย ให้เดินทางไปค้าขายยังดินแดนสุวรรณภูมิ

ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวชมเมืองอู่ทองเมื่อไม่นานมานี้  อู่ทองเป็นอำเภอเล็ก ๆ  ในจังหวัดสุพรรณบุรี หลักฐานที่บ่งชี้ว่า แผ่นดินตรงนี้เคยเป็นเมืองเก่าแก่ และอาจจะเป็นต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรม ก็เนื่องจากมีการค้นพบวัตถุโบราณหลายอย่าง เช่น เครื่องใช้ เครื่องประดับ รวมถึงรูปปั้นซึ่งเป็นตัวแทนสิ่งศักดิ์ที่คนสมัยโบราณเคารพบูชาบริเวณนี้  ถูกรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองอู่ทอง

การค้นพบสิ่งเหล่านี้  ในบริเวณนี้  ก็ต้องแปลว่าบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนมาก่อน และเอาสิ่งที่ค้นพบมาเทียบกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์  จึงพบว่า อายุของสิ่งของที่พบ  รวมถึงอายุของชุมชน คาดว่าไม่ต่ำกว่า  ๓,๕๐๐ ปีที่ล่วงมา  และการพบมากมายหลายจุด ก็ย่อมแสดงว่า บริเวณนี้ต้องเป็นชุมชนใหญ่ ฉะนั้น การเรียกขานว่า อาณาจักรสุวรรณภูมิ  จึงมีความสอดคล้องกันกับชื่อเมือง "อู่ทอง" คือแผ่นดินทอง

สิ่งที่พบเห็นในเมืองอู่ทอง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย  และพบเกือบทุกตำบลในอำเภออู่ทอง


เครื่องใช้โบราณ

แผ่นดินเผา

พระพุทธรูปโบราณ



พระพุทธรูปโบราณ


เครื่องประดับโบราณ


เครื่องประดับโบราณ

เครื่องประดับโบราณ

สิ่งที่เป็นความรู้ใหม่คือ บริเวณเมืองอู่ทองนี้  ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในอดีตเกินกว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา แนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยอยู่สูงกว่าปัจจุบันขึ้นไปทางเหนือประมาณ 140 กิโลเมตร เริ่มจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี  นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ผ่านนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา  และชลบุรี  ทำให้สภาพทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณอู่ทองในสมัยนั้น มีลักษณะเป็นเมืองท่าชายทะเล


แผนที่โลกสมัยเก่า

เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกและทางน้ำที่สำคัญทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา  มีลำน้ำจระเข้สามพัน เชื่อมกับลำน้ำต่าง ๆ  และด้วยเหตุที่เมืองโบราณอู่ทอง อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล จึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับนานาชาติ เช่นอินเดีย เปอร์เซีย โรมัน  โบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานยืนยัน ได้แก่ รูปปั้นพ่อค้าชาวเปอร์เชีย   รูปปั้นเรือสินค้า  เหรียญกษาปณ์โรมัน   เป็นต้น


ภาพชาวเปอร์เซีย

ภาพการค้าขายทางเรือในอดีต


ภาพการเผยแพร่ศาสนาพุทธจากอินเดีย


ภาพเรือเดินทะเล


เรือใบอาหรับ

ตราประทับทางการค้า

เหรียญโรมัน

ภาพจำลองการค้าสมัยโบราณ

ในเวลาต่อมา ชายฝั่งทะเลเริ่มถอยห่างออกไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำ เกิดการทับถมของตะกอนแม่น้ำ จนเกิดเป็นแนวชายฝั่งในปัจจุบัน ส่งผลให้เมืองโบราณอู่ทอง เริ่มหมดความสำคัญและร้างไปในที่สุด

ปัจจุบันเมืองโบราณอู่ทอง ได้รับการฟื้นฟูเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่รวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องราวของสุวรรณภูมิ  และหลักฐานโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ค้นพบบริเวณนี้ และบริเวณใกล้เคียง ที่คนไทยสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาประวัติความเป็นมาของบรรพชนได้เป็นอย่างดี สมควรที่คนไทยทุกคนควรหาโอกาสไปเยี่ยมชม


คูน้ำล้อมรอบเมืองโบราณอู่ทอง

ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง  ยังจำลองวิถีชีวิตของชนเผ่าลาวโซ่ง ที่มาอยู่ในแผ่นดินไทยให้ได้ชมด้วย  ลาวโซ่งพวกนี้มีถิ่นฐานเดิมมาจากเขตตอนเหนือของประเทศเวียตนาม เชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ คนเหล่านี้ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อไทยยกทัพไปตีนครเวียงจันทร์ และเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักร์ล้านช้าง และมีชัยชนะในสงคราม ได้กวาดต้อนกลุ่มชนเชื้อสายลาวต่าง ๆ  รวมทั้งลาวโซ่งเข้ามาในประเทศไทย ลาวโซ่งที่อพยพมาในสมัยนั้น ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี เช่นที่หมู่บ้านหนองปรง  และบ้านท่าแร้ง เขตอำเภอบ้านแหลมซึ่งเป็นบ้านเกิดข้าพเจ้า   ต่อมาพวกลาวโซ่งก็ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในจังหวัดอื่น ๆ เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  ลพบุรี  สระบุรี  เป็นต้น



เรือนลาวโซ่งจำลอง

เรือนลาวโซ่งจำลอง

จำลองวิถีชีวิตลาวโซ่ง

จำลองวิถีชีวิตลาวโซ่ง

จำลองวิถีชีวิตลาวโซ่ง

ประวัติศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิของเรา เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ  และที่เมืองโบราณอู่ทอง เป็นแหล่งที่เราสามารถเรียนรู้ถึงเรื่องราวของสุวรรณภูมิได้เป็นอย่างดี...........................

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อรุณประดิษฐ์ ...ในความทรงจำ





ข้าพเจ้ามีโอกาสได้นึกถึงโรงเรียนเก่าอีกครั้งก็ตอนที่นักเรียนรุ่นน้องคือ รุ่น 109     ได้จัดงานมุทิตาจิต  เชิญคุณครูเก่า ๆ หลายท่านมาร่วมงานย้อนรอยอดีตสมัยที่เป็นนักเรียนอรุณประดิษฐ์  และพอได้ทราบว่าการเตรียมงานของพวกเขามีความคืบหน้ามาก  สามารถติดตามเชิญครูเก่าๆ มาได้หลาย ๆ ท่าน  ก็พลอยดีอกดีใจไปกับเขาด้วย  คุณครูหลาย ๆ ท่านซึ่งขณะนี้ก็คงแก่ชรามากแล้ว เชื่อว่าท่านคงปลาบปลื้มเมื่อทราบว่าศิษย์ยังระลึกถึง



นี่คงจะเนื่องเพราะคำสั่งสอนของคุณครูเหล่านั้นนั่นเอง  ที่เพียรอบรมให้ลูกศิษย์เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม ...วันนี้จึงเกิดขึ้น  ข้าพเจ้าเชื่อว่าศิษย์ที่ระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเจริญรุ่งเรือง จึงแอบอวยพรเงียบ ๆ ในใจ  ให้พวกเขาเหล่านั้นประสพความสำเร็จกันโดยถ้วนทั่ว 


ข้าพเจ้าก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วของอรุณประดิษฐ์เมื่อตอนที่เรียนชั้นประถม 6  มีคุณครูประจำชั้นชื่อคุณครูทองเจือ เพียรสถาพร  ครูทองเจือยามนั้นยังเป็นสาววัยรุ่น ไว้ผมทรงบ๊อบ ยีผมจนหัวโต มีก้นหอยข้างแก้มเก๋ไก๋มาก และสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วย จึงเป็นเรื่องที่นักเรียนเช่นข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและภูมิใจว่าท่านเป็นครูที่จ๊าบและโก้หรููที่สุดในโรงเรียนเพราะอายุยังน้อยและเก่งมาก สอนอยู่ไม่กี่สัปดาห์โรงเรียนก็ส่งไปอบรมดูงานที่อิสราเอล  ยิ่งทำให้รู้สึกทึ่งมากขึ้นไปอีก คิดว่าครูประจำชั้นห้องเราต้องเป็นคนเก่งระดับแถวหน้าของโรงเรียนแน่  เวลาใครถามว่าอยู่ห้องใคร  ก็จะบอกด้วยความภาคภูมิใจว่าอยู่ห้องครูทองเจือ



ชั้นประถม 6  ขณะนั้น  มีนักเรียนน่าจะประมาณ  30  กว่าคนเห็นจะได้  หลายคนก็มากมายหลายนิสัย  และซุกซนกันไปตามประสาเด็ก  ข้าพเจ้าจะได้ยินครูทองเจือส่งเสียงดุนักเรียนทุกวัน  แต่ครูทองเจือเป็นคนเสียงนิ่ม  คำดุจึงไม่ค่อยขลัง  เวลาครูออกจากห้อง  นักเรียนก็จะไล่แกล้งกันจ้าละหวั่นทุกครั้งไป   มีเพื่อนอยู่ 3 คนที่ข้าพเจ้ากลัวเขามากหนักหนาในช่วงเวลานั้น   คนแรกชื่อศานิตย์  นามสกุลอะไรก็จำไม่ได้  เพื่อนคนนี้ชอบแกล้งคนอื่นทุกครั้งที่ทำเวรห้องตอนเลิกเรียน  โดยถือไม้กวาดไล่แหย่เพื่อน ๆ อยู่ตลอด ข้าพเจ้าเป็นเด็กตัวเล็ก  ทำได้อย่างเดียวคือต้องวิ่งหนีทุกครั้งไป   เพื่อนคนที่ 2  ชื่อไอ้หมึก  ข้าพเจ้าจำไม่ได้ทั้งชื่อจริงและนามสกุลจริง  แต่ไอ้หมึกนี่เป็นขาใหญ่ประจำห้อง  ชอบส่งเสียงดังและมีนิสัยนักเลง แต่ไอ้หมึกก็ไม่เคยทำร้ายเพื่อนในห้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว   ตรงกันข้าม การมีไอ้หมึกอยู่ห้องเรา  ทำให้เพื่อนห้องอื่น ๆ ดูจะเกรงขามห้องเราไปด้วย  ไอ้หมีกจึงเป็นคุณต่อเพื่อนไปโดยไม่รู้ตัว เพื่อนคนสุดท้ายที่ข้าพเจ้ากลัวเขาหนักหนา เขาชื่อดนัย  มีอิ่ม ความน่ากลัวของดนัยมิได้อยู่ที่การชอบแกล้งเพื่อนเช่นศานิตย์หรือเป็นขาใหญ่ประจำห้องเช่นไอ้หมึก แต่ความน่ากลัวของเขาก็คือความอ้วนของเขานี่แหละ  ดนัยเป็นคนที่อ้วนมาก ๆ จนน่ากลัว  เวลาเดินไปไหนก็ต้องใช้เนื้อที่เยอะมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าต้องหลบจนตัวลีบ เมื่อเขาเดินผ่าน เพราะเกรงว่าเขาจะล้มทับเอา



ชีวิตในอรุณประดิษฐ์ เป็นช่วงที่มีความสุขสนุกสนานเป็นที่สุด  โดยเฉพาะชั่วโมงพละศึกษา ที่มีคุณครูวนิดา ศรียาภัย เป็นผู้สอน เพราะครูวนิดาเป็นคนสนุก และเอาจริงเอาจังในการสอน เราจะทุ่มกันสุดตัวในชั่วโมงนี้เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันให้ได้ในวิชาแชร์บอล    อาจารย์บุคเคอร์ และ แหม่มลูอิส บุคเคอร์  เป็นอีก 2 ท่านที่ยังจำได้ว่าสอนภาษาอังกฤษในบางครั้ง นักเรียนจะชื่นชมในความน่ารักที่ท่านพยายามพูดภาษาไทย  และพยายามสอนให้พวกเราพูดภาษาอังกฤษกัน






จะมีก็เพียงชั่วโมงมารยาทของคุณครูเพ่ง มหานนท์  ทุกอย่างก็จะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ   ครูเพ่งจะพูดเสมอว่า "เป็นกุลสตรี ต้องเรียบร้อย จะเข้าหาผู้ใหญ่ต้องรู้จักนอบน้อม ต้องเดินด้วยเข่าเข้าไปหา  ต้องนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย  ต้องวางมือขวาทับมือซ้าย  ต้อง............ต้อง.... " ครูเพ่งเป็นคนที่พูดเสียงเข้ม  คำพูดมีน้ำหนัก  จึงทำให้ดูว่าเป็นคนดุ  ชั่วโมงมารยาทของครูเพ่งทุกคนก็จะสงบเสงี่ยมเจียมตัวไปโดยอัตโนมัติ   มารยาทขั้นพื้นฐานที่ครูเพ่งอบรมสั่งสอน  แม้ยามนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ  แต่เมื่อเติบใหญ่ มีหลายครั้งที่จำเป็นต้องรักษามารยาท  ก็จะนึกถึงครูเพ่งและรำลึกในพระคุณของท่านทุกครั้งไป


คุณครูเพ่ง มหานนท์


และมิใช่เพียงเฉพาะครูเพ่งเท่านั้น  ครูขวัญ  ครูชาญ  และคุณครูอื่นอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ได้อบรมสั่งสอนทั้งโดยหลักการ และเทศนาตามหลักธรรมในพระคัมภีร์  ซึ่งทุกคนจะได้รับการอบรมทุกสัปดาห์หลังจากที่ได้ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้ากันแล้ว ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงท่าทีของอาจารย์สมเพชร วิชัย ตอนท่านเล่นเปิยโน มือก็กดแป้น  ศรีษะก็พยักตามจังหวะ  สายตาก็จ้องมาที่เด็กนักเรียน ว่ามีใครไม่อ้าปากร้องบ้าง  คิดแล้วยังนึกขันตัวเองที่บางครั้งแกล้งอ้าปากตามครูโดยไม่มีเสียงออกจากลำคอ  บาปจริง ๆ





สิ่งหนึ่งที่คุณครูขวัญได้เทศนาในห้องประชุม ที่ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ .................

"จงรักเพื่อนบ้านของท่าน    เหมือนรักตัวท่านเอง"  ........
"จงเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ  เพราะการให้จะทำให้เรามีความสุข"................

สิ่งที่ครูขวัญเทศนาก็คือสัจจธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  ข้าพเจ้าเห็นว่า การปูพิ้นฐานจิตใจของเด็กนักเรียนในวิธีการที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ได้กระทำ  เป็นสิ่งที่ได้ผล เพราะเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น  ก็จะเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ  อย่างน้อยก็คนกลุ่มหนึ่งคือพวกนักเรียนเก่าอรุณประดิษฐ์ของเรานี่แหละ  ในชีวิตนี้ข้าพเจ้าจึงไม่อาจลืมคุณครูขวัญ  สัตย์สงวนได้



คุณครูขวัญ สัตย์สงวน
  
 
โรงเรียนอรุณประดิษฐ์เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่โดดเด่น มาตั้งแต่ปี 2404  จากการที่เริ่มมีคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา  ภรรยาของหมอแม็กฟาร์แลนด์ได้ชักชวนเด็กผู้หญิงในเมืองเพชรมาเรียนเย็บปักถักร้อย  โดยนำจักร์เย็บผ้ามาเป็นอุปกรณ์ในการสอน  และสร้างโรงเรียนหลังแรกเสร็จในปี พ.ศ. 2408 ใช้ชื่อว่า"โรงเรียนการช่างสตรี" เพราะสอนแต่วิชาการช่างและสอนเฉพาะเด็กหญิง  การสอนเย็บผ้าน่าจะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองเพชร จึงทำให้เมืองเพชรขณะนั้นได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งจักรเย็บผ้า"



          
                               

  

กิจการโรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ พร้อม ๆ กับความสำเร็จในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น "โรงเรียนอรุณสตรี" หลังจากนั้นก็มีการสร้างโรงเรียนชายอีกแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ชื่อ "โรงเรียนประดิษฐ์วิทยา" และมีการพัฒนารวมเป็นโรงเรียนสหศึกษาในเวลาต่อมา ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนอรุณประดิษฐ์" มาจนถึงปัจจุบัน  นั่นคือประวัติที่นักเรียนอรุณประดิษฐ์ทุกคนควรภาคภูมิใจ
   


      

ข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่อรุณประดิษฐ์ตั้งแต่ชั้นประถม 6  จนถึงมัธยม 3  ก็ออกมาเรียนต่อที่กรุงเทพ โดยตั้งความหวังว่า จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากันให้ได้  เมื่อคุณครูได้เห็นความตั้งใจของพวกเรา ก็ตั้งหน้าตั้งตาติวให้อย่างเข้มข้น  ครูที่ข้าพเจ้าไม่สามารถลืมได้ก็คือคุณครูพิเชษฐ์ ชิโนวรรณ  ที่ติวให้พวกเราจนค่ำมืดทุกวัน  และครั้นจะปล่อยให้นักเรียนกลับบ้านเอง ก็ห่วงนักเรียน  ครูพิเชษฐ์ต้องขี่จักรยานต์คุมพวกเรากลับบ้าน ส่งแต่ละคนจนถึงบ้าน  จนครบทุกคน  ครูพิเชษฐ์ถึงขี่จักรยานต์กลับบ้าน  บุญคุณของครูพิเชษฐ์  จึงยากนักที่จะลืมได้  แต่ในที่สุดข้าพเจ้าก็สอบเข้าเตรียมอุดมไม่ได้ และต้องไปเรียนที่โรงเรียนสมถวิลราชดำริ   คงสร้างความผิดหวังให้แก่ครูไม่น้อยทีเดียว 



ข้าพเจ้ามีญาติพี่น้องหลายคนที่เรียนอยู่อรุณประดิษฐ์  อาทิเช่น  สุนันท์ สรรพอุดม , ณรงค์ สรรพอุดม , สมยศ สรรพอุดม , จารุณี สรรพอุดม , ประพนธ์ สรรพอุดม ,  กาญจนา  วรศิริ , จารีต วรศิริ , ศิรี วรศิริ , พยัคฆ์ วรศิริ , อุไรวรรณ วรศิริ ,  สุริยัน วรศิริ   และหลายคนกลับมาเป็นครูสอนที่อรุณประดิษฐ์ 



ครูกาญจนา วรศิริ



ครูกาญจนา วรศิริ  พี่สาวคนหนึ่งของข้าพเจ้า เล่าให้ฟังว่า เข้ามาเรียนอรุณประมาณปี พ.ศ. 2489 ช่วงนั้นลำบากลำบนมาก   เพราะเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านสงครามโลกมา  บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยดีคนจนมีอยู่เยอะ  นักเรียนส่วนใหญ่ก็จนกัน  มาเรียนที่อรุณสตรี  ก็ไม่มีกระโปรงใส่  ต้องนุ่งผ้าถุงมา ช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ประชาชนไว้ทุกข์ให้ทั้งประเทศ บรรดา นักเรียนโรงเรียนอรุณ ต้องนุ่งผ้าถุงดำมาเรียน  และต้องใส่หมวกกะโร่อีกด้วย นึกภาพแล้วก็ดูน่าจะเก๋ไก๋ไม่น้อยทีเดียว สังคมไทยช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเริ่มรับเอาวัฒนธรรมของตะวันตกมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ 



ครูกาญจนาเป็นคนสวยและเรียนดี  อีกทั้งชอบช่วยเหลือในเรื่องกิจกรรมของโรงเรียน  ไม่ว่าคุณครูจะให้ทำอะไรก็ทำหมดทุกอย่าง  จนเปรียบเสมือนเป็น"ดาวอรุณ" ก็ไม่ปาน และที่สำคัญเป็นศิษย์รักมากๆของครูขวัญ  ในแต่ละวันครูขวัญก็จะให้ออกไปชักธงชาติบ้าง  และช่วยเหลืองานอื่นๆ บ้าง  วันอาทิตย์ก็ให้ไปจัดดอกไม้ที่โบสถ์ศรีพิมลธรรม   มีอยู่ช่วงหนึ่งป่วยหนัก เป็นไข้หวัด ความร้อนขึ้นสูงมาก  ครูขวัญให้ไปนอนข้าง ๆ ห้องพักของท่าน และคอยเช็ดตัว ดูแลอาการไข้ให้   พยาบาลเหมือนดั่งเป็นแม่คนหนึ่ง  ครูกาญจนาเล่าถึงคุณครูขวัญด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะความที่ครูขวัญรักครูกาญจนามาก   จึงได้ตั้งชื่อหลานสาวคนหนึ่งว่า "กาญจนา"  สัตย์สงวน



ถึงแม้ครูกาญจนา จะเป็นศิษย์รักของครูขวัญเพียงใด  แต่ถ้าทำผิดละก็หนักกว่าคนอื่นหลายเท่า มีอยู่ครั้งหนึ่งชวนเพื่อน ๆ แอบออกไปแอ๊กท่าถ่ายรูปกันที่ตลาดเมืองเพชร  ถูกครูขวัญทำโทษสั่งกักบริเวณเป็นเดือน เล่นเอาเข็ดเลย  ไม่กล้าทำอะไรโลดโผนอีก  คุณครูนิภา เป็นอีกท่านหนึ่งที่รักครูกาญจนามากและเมื่อคราที่จบจากอรุณประดิษฐ์ ต้องไปเรียนต่อที่อื่น ครูนิภา ท่านสนับสนุนให้เรียนครู  ขณะที่ครูอีกท่านหนึ่งสนับสนุนให้เรียนหมอที่ศิริราช  ด้วยความที่รักครูนิภามาก  จึงเชื่อคำแนะนำของครูนิภา ตัดสินใจเรียนครูอย่างแน่วแน่  คุณครูขวัญเห็นว่าเมื่อเจ้าตัวตัดสินใจเช่นนั้น ก็สนับสนุนให้เป็นนักเรียนทุนไปเลย จึงเป็นโชคดีที่ไม่ต้องรบกวนเงินทางบ้าน  เมื่อเรียนครูจบ  จึงมาเป็นครูที่อรุณประดิษฐ์



ครูสุนันท์ สรรพอุดม  , ครูจารีต  วรศิริ ,  ครูสิริ  วรศิริ  พี่สาวของข้าพเจ้าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนอรุณ และกลับมาเป็นครูที่อรุณ


ครูสุนันท์ สรรพอุดม กับลูกศิษย์

ครูจารีต วรศิริ กำลังสอน

อ.กาย,ครูสิริ,พี่ปิ๊ด,ครูสุนันท์,ครูสาคร,ครูวินัย วันงานโรงเรียน

ชีวิตในอรุณประดิษฐ์ ช่วงที่สนุกสนานเป็นที่สุด เห็นจะเป็นช่วงคริสต์มาส ที่ทุกคนกระตือรือร้นที่จะเสกสรรค์งานให้หวือหวา ตามความคิดของแต่ละห้องในช่วงนั้น  คุณครูก็ใจดีเปิดโอกาสให้เลิกเร็วเพื่อมาจัดเตรียมงาน  บางห้องก็จัดเป็นซุ้มแปลก ๆ บ้าง,บางห้องทำเสียโลดโผน เช่นห้อง ม.ศ.3 ก ที่ข้าพเจ้าอยู่เป็นปีสุดท้าย  จัดทำเป็นซุ่มคริสต์มาสที่เก๋ไก๋มากคือซานตาคอส โล้ชิงช้า โดดเด่นกว่าห้องใด ๆ วันนั้นสนุกสนานเป็นที่สุดแล้ว เพราะแต่ละคนคิดเหมือนกันว่า เป็นปีสุดท้ายที่จะอยู่ร่วมกันที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์แห่งนี้






เมื่อใกล้วันที่จะอำลากัน ความรู้สึกอาลัยที่แต่ละคนมีต่อกัน แสดงออกชัดเจนขึ้น พอๆ กับการที่ต้องคร่ำเคร่งในการดูหนังสือสอบไล่ ในทุก ๆวันจะต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเขียนคำอำลาอาลัยในสมุด Friendshipให้กันและกัน  ข้าพเจ้ายังเก็บสมุด Friendship  ไว้อยู่จนปัจจุบัน  พอมาอ่านครั้งใด ก็ให้มีความสุขทุกครั้งและไม่เพียงแต่เพื่อนเท่านั้นที่เขียน Friendship ให้กัน  แต่คุณครูหลายท่านก็ยังร่วมเขียนอวยพรและให้กำลังใจนักเรียนด้วย


Friendship ที่ครูวิภาวีเขียนให้ข้าพเจ้า



Friendship ที่ครูอารมณ์เขียนให้ข้าพเจ้า


เมื่อนึกถึงชีวิตในอดีตที่อรุณประดิษฐ์ครั้งใด ก็จะมีความสุขทุกครั้ง  ความทรงจำที่มีที่อรุณประดิษฐ์จึงไม่อาจลืมได้จริง ๆ ......