บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรื่องดี ๆ จาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์





ฟาร์ม จิม ทอมป์สัน อยู่ในเขต อ.ปักธงชัย  จ.นครราชสีมา ก่อตั้งโดยนายจิม ทอมป์สัน  ชาวอเมริกันที่เข้ามาประเทศไทยเมื่อ ปี ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) เพื่อปฏิบัติภาระกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกสงบลง  เขาเลือกไม่กลับประเทศ และใช้ชีวิตในเมืองไทยต่อไป


จิม ให้ความสนใจและหลงไหลกับผ้าไหมทอมือของไทย เห็นว่ามีความสวยงามกว่าการผลิตจากเครื่องจักร  จึงสืบเสาะค้นหาถึงขั้นตอนการผลิตและแหล่งผลิต  เขาเดินทางไปหลายที่ในภาคอิสาน พบเห็นและสนใจการเลี้ยงไหมในครัวเรือนของคนท้องถิ่น จึงตัดสินใจที่จะฟื้นฟูกิจการผ้าไหมไทยซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงซบเซา 
 
 
เขาตั้งบริษัทขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ.๒๔๙๑)  เพื่อรับซื้อผ้าไหมจากคนท้องถิ่น พร้อม ๆ กับส่งเสริมชาวบ้านให้ทอผ้าไหม  โดยเริ่มต้นจากชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ จนกิจการผ้าไหมกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง  และเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ. ๒๕๑๐)  ระหว่างที่เขาไปพักผ่อนที่ประเทศมาเลเซีย  เขาได้หายตัวไปอย่างลึกลับ  โดยไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรม  ทรัพย์สินของเขาบางส่วนถูกจัดตั้งเป็นมูลนิธิ  ส่วนธุรกิจผ้าไหม  ดำเนินการต่อโดยทายาท และคณะผู้ถือหุ้นต่อ ๆ มา

 
โรงงานทอผ้าไหมที่ อ.ปักธงชัย เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑  และได้มีการพัฒนาเรื่อยมา ทั้งด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  กิจการสาวเส้นไหม  ทอผ้าไหม  และผลผลิตจากผ้าไหมอีกหลาย ๆ ชนิด จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔  ได้เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าชม  โดยจะเปิดเพียงปีละครั้ง  ข้าพเจ้าเพิ่งมีโอกาสได้เข้าชมในปีนี้  นอกจากประทับใจในกิจการของ จิม ทอมป์สันแล้ว  ยังเห็นคุณประโยชน์หลายประการที่เกษตรกรไทยได้รับจากบุคคลท่านนี้










 
 







บริเวณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม  ตกแต่งพื้นที่ไว้อย่างสวยงาม ด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ชนิดต่าง ๆ



















นอกเหนือจากนี้ยังได้ช่วยอนุรักษ์มรดกไทย  โดยจำลองหมู่บ้านอิสาน ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เข้าชมและศึกษา  และบริเวณนี้เคยใช้เป็นที่ถ่ายทำละครดังเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ




























ผลผลิตจากฟาร์มมีหลากหลายชนิด    ได้จัดวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวที่เข้าชมฟาร์มที่ตลาดจิม



 

ฟาร์มจิม ทอมป์สัน ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของภาคอิสานที่ไม่ควรพลาดชมเป็นอย่างยิ่ง..




ขอขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก เครือจิม ทอมป์สัน...

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

งานกฐินเคยู 29







ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่คณะศิษย์เก่ารุ่น  29  ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ร่วมกันจัดงานบุญ  ทอดกฐินสามัคคี  โดยคุณเฉลิมเกียรติ   แสนวิเศษ ประธานรุ่นของเรา  ได้ตัดสินเลือกวัดศรีสุมังค์วนาราม  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร  เป็นวัดที่จะพาคณะเพื่อนร่วมรุ่นไปทอดกฐิน


วัดศรีสุมังค์วนารามนี้  เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  อ.เมือง จ.มุกดาหาร   ประวัติความเป็นมาของวัดนี้   ตามที่ปรากฏในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.มุกดาหาร ระบุว่าเป็นวัดใหม่  แต่เดิมเรียกว่าวัดศรีบุญเรือง สร้างขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๔๑  ส่วนวัดศรีบุญเรืองเดิมเป็นวัดนอกเมือง  หวังจากที่ผู้คนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้มุกดาหารมากขึ้น จึงได้มีการสร้างวัดใหม่เรียกว่าวัดศรีสุมังค์  ประวัติความเป็นมาจึงมีไม่มากนัก
 
 
 
การย้ายถิ่นที่อยู่ของชาวเมืองมุกดาหาร  ก็มีประวัติที่น่าสนใจ เมืองมุกดาหารเป็นเมืองชายแดนที่ติดต่อกับลาว มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรหมแดน ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง  มีอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง และ อาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทร์ เป็นประเทศเอกราชที่ใหญ่ทั้ง ๒ อาณาจักร  ต่อมาราชวงศ์เวียงจันทร์ ได้แยกตัวออกมาตั้งอาณาจักรจำปาสักขึ้นอีก ผู้คนจากเวียงจันทร์จึงเริ่มอพยพลงมาตามลำน้ำโขง  ตั้งเมืองที่  อุบล  ยโสธร  มุกดาหาร   ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี  พระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราช  แผ่แสนยานุภาพไปถึงลุ่มแม่น้ำโขง  รวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยสองฝั่งแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน  ให้อยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี  มุกดาหารจึงถูกรวมเข้าด้วย



มุกดาหารตั้งขึ้นเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓  สมัยกรุงธนบุรี  ขณะนั้นอาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมไปถึงสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดดินแดนญวน (เวียตนาม)  มีกลุ่มชนอยู่หลายเผ่าพันธอาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น ผู้ไทย  ข่า กระโซ่  กระเลิง  แสก  ย้อ  กุลา  และไทยอิสาน   เมืองมุกดาหารแต่เดิมปกครองตามธรรมเนียมการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง  มีเจ้าปกครองนครถึง ๗ คนด้วยกัน และต้องส่งส่วยต่อกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔  จึงยกเลิกประเพณีและยกเลิกการปกครองแบบเดิม  เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมือง  จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๙  จึงถูกยุบลงเป็นอำเภอมุกดาหาร  ขึ้นกับจังหวัดนครพนม  ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕


การที่คณะศิษย์เก่า KU ๒๙  มีโอกาสไปทอดกฐินที่เมืองมุกดาหารซึ่งอยู่ไกลจากกรุงเทพมากถึง   600  กม.เศษ  จึงนับว่าได้อานิสงฆ์แห่งบุญที่สูงยิ่ง   การเดินทางไปครั้งนี้  มีเฉพาะบุคคลที่ตั้งใจจริงเท่านั้น  รวมได้ประมาณ  50  คน   








                       









 
 
 









 
 
ผลแห่งความร่วมมือร่วมใจของเพื่อนร่วมรุ่น  ทำให้ได้ยอดเงินกฐินสูงถึง  1,102,929.- บาท มอบแด่วัดเพื่อนำไปปรับปรุงศาลาการเปรียญซึ่งยังทรุดโทรมอยู่  อิ่มใจกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะประธานเฉลิมเกียรติ  แสนวิเศษ ซึ่งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเต็มที่  นับเป็นกิจกรรมที่ดีมากของรุ่น 29 ที่ได้กระทำร่วมกันในครั้งนี้



เมื่อทอดกฐินเสร็จ  กลุ่มเล็ก ๆ  ของเราได้มีโอกาสข้ามไปยังแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว  มีจุดมุ่งหมายเพื่อไปสักการะพระธาตุอิงฮัง  ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของความเก่าแก่คราวเดียวกับพระธาตุพนมและถือเป็นพระธาตุพี่น้องกับพระธาตุพนม   พวกเราได้รับความอนุเคราะห์จากอู้ด ศรีวัฒนา  หนุนภักดี  เพื่อนร่วมคณะ  ที่รับเป็นธุระในการจัดการหารถยนตร์จากฝั่งลาวมาอำนวยความสดวก นับเป็นความโชคดีของพวกเรามาก ๆ








อากาศเมืองลาวร้อนอบอ้าวไม่แพ้ไทย   หลังจากสักการะพระธาตุอิงฮังเสร็จ  คณะของเราเริ่มออกอาการเหน็ดเหนื่อยร้องหากาแฟดื่ม  เพื่อนอู้ดของเราก็น้ำใจดีเหลือหลาย  ให้รถขับตะเวณไปร้านกาแฟที่ดีที่สุดของเมืองสะหวันนะเขตเอาใจเพื่อน   นอกจากกาแฟจะอร่อยแล้ว  พวกเรายังได้พบกับพระเอกหนังไทย  เล็ก ไอสูรณ์ นั่งทานอาหารอยู่ที่นั่นด้วย   พวกเขาไปทำธุรกิจกันที่สะหวันเขต 






เราออกจากฝั่งลาวก่อน ๔ โมงเย็น เพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม  เมื่อข้ามมาถึงฝั่งไทย รถตู้รออยู่แล้ว  พาเราบึ่งไปยังจังหวัดนครพนมทันที  เพื่อสักการะพระธาตุพนม ให้ทันก่อนพลบค่ำ  ไปถึงพระธาตุพนมก็  ๕ โมงเย็นกว่า ๆ  ทุกคนก็ไม่ยอมเสียโอกาสที่นาน ๆ ทีจะได้มาทัวร์บุญเช่นนี้สักครั้ง รีบสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพร้อมใจกันเดินเวียนรอบองค์พระธาตุกันทุกคน โดยมิได้มีการนัดหมายเป็นเรื่องที่แปลกทีเดียว






ทัวร์บุญครั้งนี้ นับว่าต้องทรหดกันมาก เพราะเป็นการเดินทางไปหลายจังหวัด  เรามีโปรแกรมพักค้างที่อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก   จังหวัดสกลนคร   ซึ่งอยู่ใกล้พระตำหนักภูพาน  วิ่งหากันอยู่นานกว่าจะพบก็เวลาประมาณ  ๓ ทุ่มแล้ว   พอไปถึงก็รีบทานอาหารกันด้วยความหิว และปลีกตัวเข้านอนโดย ไม่ได้สนุกกับเพื่อน ๆ  สลบหลับไหลกันรวดเดียวถึงเช้า  ตืนขึ้นมารับอากาศสดชื่น และบรรยากาศที่สวยงาม พบเพื่อนบางคนตื่นกันแต่เช้า  ลุกขึ้นมาออกกำลังกายก็มี




















หลังจากเสร็จสิ้นเรื่องอาหารเช้า  คณะเราก็ปลีกตัวเดินทางกลับกรุงเทพทันที  โดยตลอดทัวร์บุญครั้งนี้เรามีโอกาสสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายวัดด้วยกัน




มหาเจดีย์ชัยมงคล จ.ร้อยเอ็ด


พระธาตุพนม จ.นครพนม

วัดป่าสุทธาวาส  จ.สกลนคร


วัดพระธาตุเชิงชุม  จ.สกลนคร


วัดพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขต  ลาว



แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางสักเพียงใด   แต่ความอิ่มเอิบใจที่ได้รับจากการทัวร์บุญครั้งนี้  ยากที่จะลืมเลือนได้จริง  ๆ      

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เสน่ห์เมืองน่าน


เมืองน่านมองจากพระธาตุเขาน้อย


น่านเป็นเมืองในหุบเขา  เป็นดินแดนมหัศจรรย์ เสมือนเมืองลับแล   การเดินทางเข้าสู่เมืองน่าน  เป็นเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยวแต่หนาแน่นไปด้วยป่าไม้เขียวชอุ่มตลอดเส้นทาง หมดเส้นทางภูเขาก็จะพบชุมชนที่ดูสงบเรียบง่าย  ที่นั่นคือเมืองน่าน ที่เกือบทั้งเมือง  จะพบเห็นแต่วัด  และนั่นย่อมแสดงว่าผุู้คนต้องรักความสงบ ยึดมั่นในศาสนา และวัฒนธรรมอันดีงาม
 
 
 
น่านเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคพื้นลานนาไทยที่มีประวัติความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย  เป็นจังหวัดชายแดนที่มีเขตติดต่อกับลาว ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าไม้ในอดีตเคยเป็นดินแดนแห่งการต่อสู้  เต็มไปด้วยสถานการณ์ก่อการร้าย แต่ปัจจุบันมีแต่ภาวะสันติสุข
 
 
 
ในครั้งกาลโบราณ น่านเป็นเพียงอาณาจักรเล็ก ๆ  ส่วนหนึ่งของลานนาไทย ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นราชธานี  มีดินแดนติดพม่าทางด้านเหนือ  ,  ติดหลวงพระบางทางด้านตะวันออก , ติดอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาทางด้านใต้   สภาพของเมืองน่านจึงถูกลากไปลากมา  ขึ้นอยู่กับว่าอาณาจักรใดมีอำนาจ แคว้นน่านก็จะตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนั้น  โอกาสที่จะเป็นเอกราชโดยลำพังตนเองมีน้อยมาก  จนกระทั่งอาณาจักรสยามได้รวมอาณาจักรลานนาไทยทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน น่านก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ถ้าเมื่อใดต้องตกไปอยู่ในปกครองของพม่า  ก็จะเดือดร้อนระส่ำระสาย เพราะวิถีการปกครองของพม่าในช่วงนั้นมีแต่ทำลายและกอบโกยหาผลประโยชน์
 
 
 
ประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐  มีบุคคลสำคัญเกิดขึ้นในอาณาจักรลานนาไทย ๒ คน คือ พระยางำเมือง  เจ้าเมืองพะเยา   และ พระยาเม็งราย  เจ้าเมืองเชียงราย   ส่วนอาณาจักรสุโขทัย มีพระเจ้ารามคำแหงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เรืองพระเดชานุภาพ
 
 
 
เมืองน่านสมัยก่อนสุโขทัย  มีกำเนิดครั้งแรกที่เมืองวรนคร (เมืองปัว)  เป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของลานนาไทย   เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๒๕   คนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพระยาภูคา  ได้ครอบครองพื้นที่บริเวณน่าน และตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง  ต้องการขยายอาณาเขต จึงส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน คือ.-
  • ขุนนุ่น ผู้พี่ ให้ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง)
  • ขุนฟอง ผู้น้อง ให้ไปสร้างเมือง วรนคร  ต่อมาขุนฟองถึงแก่พิราลัย  เจ้าเก้าเถือนราชบุตร จึงครองเมืองวรนครต่อมา  เมืองน่าน (วรนคร)  และเมืองหลวงพระบาง  จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนดั่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน


ส่วนพระยาภูคาครองเมืองย่างมานาน  จึงเชิญเจ้าเก้าเถื่อนมาครองเมืองย่าง   ด้วยความเกรงใจปู่  เจ้าเก้าเถื่อนยอมมาครองเมืองย่าง  ทิ้งเมืองวรนคร ให้ชายาครองเมืองแทน
 


ในช่วงเวลาของการตั้งบ้านเมืองนั้น  ก็เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างบ้านเมืองบริเวณรอบ ๆ เช่นกัน อาทิเช่น.-
 
  • พระยาเม็งราย  เจ้าเมืองเชียงราย  สนใจดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง
  • พ่อขุนรามคำแหง  เจ้าเมืองสุโขทัย  สนใจดินแดนทางทิศใต้
  • พระยางำเมือง  เจ้าเมืองพะเยา  สนใจดินแดนในหุบเขาของเมืองน่าน  จึงขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำเมืองน่านทั้งหมดโดยยกทัพไปตีในขณะที่ชายาของเจ้าเก้าเถื่อน(นางพญาแม่ท้าวคำปิน) ครองเมืองอยู่  เมื่อเจ้าเก้าเถื่อนทราบความ  ก็มิได้คิดต่อสู้หรือหวังชิงเมืองคืน ต่อมาพระเจ้าเก้าเถือ่นถึงแก่พิราลัย เมืองย่างก็รวมเป็นเมืองเดียวกับวรนครนับแต่นั้น  ส่วนนางพญาแม่ท้าวคำปินผู้เป็นชายาเจ้าเก้าเถือ่น  ได้หลบหนีไปโดยที่ขณะนั้นตั้งครรภ์อยู่  ชาวบ้านได้ช่วยเหลือจนคลอดบุตร ชื่อว่า เจ้าขุนใส  เมื่อเติบใหญ่ ได้เข้าไปรับใช้พระยางำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน ได้รับการ สถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใส่ยศ และให้ไปครองเมืองปราด  ภายหลังเจ้าขุนใส่ยศ มีกำลังพลมากขึ้น จึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา  และได้สถาปนาตนเป็น พญาผานอง ครองเมืองปัว (วรนคร) ต่อมาอีก ๓๐ ปี จึงพิราลัย
 
 
ในสมัยของพญาการเมือง ผู้เป็นโอรสของพญาผานอง ครองเมืองน่าน (พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๐๑)  มีการสร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยจนได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัยให้ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย เมือตอนกลับ  เจ้าเมืองสุโขทัยได้พระราชทาน พระธาตุ ๗ องค์ ให้นำกลับไปบูชา   จึงเป็นเหตุให้คิดสร้างวัดพระธาตุแช่แห้งขึ้นบนภูเพียงแช่แห้ง  พร้อมทั้งอพยพผู้คนจากวรนครมาสร้างเมืองใหม่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง  เมืองภูเพียงแช่แห้ง  หรือภาษาลานนาเรียกว่า ปูเปียงแจ้แห้ง  หมายถึงภูเขาที่มีที่ราบพอสมควร เป็นชัยภูมิที่ดี


พญาการเมืองได้รับเอาพุทธศาสนาจากสุโขทัยมาสู่ดินแดนนี้   และสร้างวัดต่าง ๆ  โดยยึดเอาแบบอย่างจากสุโขทัย



วัดพระธาตุแช่แห้ง
 
วัดพระธาตุแช่แห้ง
 

วัดพระธาตุแช่แห้ง


วัดช้างค้ำ


 
 

วัดช้างค้ำ
 
วัดสวนตาล
วัดสวนตาล
 
 
วัดสวนตาล
 

 
การที่เมืองน่านเป็นพันธมิตรกับสุโขทัย  จึงเท่ากับเป็นปฏิปักษ์กับอยุธยา  ดังนั้นกรุงศรีอยุธยาจึงส่งขุนตาอินมาลอบปลงพระชนม์พญาการเมืองด้วยยาพิษใน พ.ศ. ๑๙๐๖ หลังจากครองเมืองแช่แห้งได้ ๔ ปี เป็นการริดรอนอำนาจของสุโขทัย  หลังจากนั้นเจ้าคำตัน โอรสขึ้นครองราชย์แทนต่อมาอีก ๑๑ ปี ก็ถูกลอบวางยาพิษในลักษณะเดียวกันอีก
 
 
  
เมืองน่านมีเจ้าครองนครถึง ๖๓ องค์ด้วยกัน  จนกระทั่งถึงพระองค์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นองค์ที่ ๖๒ ครองเมืองอยู่นานถึง ๒๕  ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๖๑)  ตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้สถาปนาเลื่อนยศเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐ์มหันต์ ชัยนันทบุรีมหาราช  วงศาธิบดี  (พระเจ้าน่าน)   เมื่อถึงแก่พิราลัย  เจ้ามหาพรหมสุรธาดา  อนุชาต่างมารดา ขึ้นครองเมืองน่านแทนต่อมาอีก  ๑๓   ปี พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๗๔   ก็มีการยุบเลิกเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นมา
 
 
 
 
 
หอคำซึ่งพระองค์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  ได้สร้างเป็นที่อยู่อาศัย  จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด  ต่อมามีการสร้างศาลากลางใหม่  จึงได้นำไปเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน จนปัจจุบัน
 
 
 
 
 
เมืองน่าน  มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ     ประวัติศาสตร์ของเมืองน่านได้ชี้ให้เห็นถึงการเป็นชุมชนที่รักความสงบ  ผู้คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม  จึงมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย   พม่า   ลาว  จีน ชาวเขา   คละเคล้ากันไป
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จุดเด่นของเมืองน่าน  คือวัดภูมินทร์  ที่มีรูปลักษณะสวยงาม  จนได้รับการนำภาพของวัด ไว้บนธนบัตรฉบับแรก ๆ  ของประเทศไทย
 
 
 
 
 
 
 
หากอยากจะเห็นว่าเมืองน่านเป็นอย่างไร ให้เดินทางไปที่วัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ เป็นจุุดชมวิว   ที่สามารถมองเห็นเมืองน่านได้ทั้งเมือง  จะเห็นสภาพของเมืองน่านที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาที่ทำให้เมืองน่านดูเหมือนจะโดดเดี่ยว  แต่แท้จริงแล้ว เป็นเมืองที่อบอุ่นไปด้วยมิตรไมตรี  อบอุ่นไปด้วยความสุข สงบ  ที่ทำให้ใครก็ตามที่มาเยือนเมืองน่าน   จะต้องหวนกลับไปอีกครั้งหนึ่งแน่นอน
 
 
  
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จ.น่าน