บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

กฐิน KU 29







ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวสักนิด หากจะพูดถึงเรื่องการทอดกฐินของนิสิตเกษตรศาสตร์รุ่น 29 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องดี  และควรจดจำ จึงอยากจะบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ว่าในครั้งหนึ่งเพื่อนๆ ร่วมรุ่นมากมายเกินร้อยได้พร้อมใจกันมาพบปะกัน  และทำบุญกุศลร่วมกัน

เพราะการพบปะที่มีเพื่อนจำนวนมาก และมาจากทุกคณะ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายนัก  การสังสรรค์แต่ละครั้งที่ผู้แทนรุ่นใช้ความพยายามอย่างสูงในการชักจูงเพื่อน ๆ ให้มาพบปะสังสรรค์กันทุก ๆ เดือน ก็มิได้มีจำนวนมากมายสักเท่าใด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน   อันเกิดจากความชอบของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพื่อนบางคนชอบสนุก ก็จะมากันสม่ำเสมอ เพื่อนบางคนชอบสงบ ก็เพียงแต่จะคอยติดตามข่าวสารอยู่บ้านเงียบ ๆ  ตามใจปรารถนา

แต่เรื่องการทอดกฐิน เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญในรูปแบบอื่น ๆ  เหตุที่เรียกว่าเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ก็เพราะการทอดกฐิน มิใช่ว่าจะกระทำเมื่อใดก็ได้ตามใจอยาก แต่เป็นงานบุญที่ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดหลายอย่าง  ประกอบด้วย.-
  • ถูกจำกัดด้วยเวลา  การทอดกฐินจะต้องกระทำภายใน 1 เดือนนับแต่วันออกพรรษาเท่านั้น
  • ถูกจำกัดด้วยคุณสมบัติของพระสงฆ์ผู้รับผ้ากฐิน  จะต้องเป็นพระที่จำพรรษาที่วัดนั้นครบ 3 เดือน และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป  แต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น
  • ถูกจำกัดด้วยของที่จะถวาย  ไทยธรรมที่จะถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น  และต้องถวายเป็นสังฆทาน  เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งมิได้

ดังนั้นอานิสงค์ที่ได้จากกฐินทานนี้จึงมีมหาศาล สุขใจแก่ผู้กระทำ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าบรรดาเพื่อนร่วมรุ่น KU 29 ทั้งหลายผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยกว่า 60 ฤดู ตระหนักดีถึงบุญกุศลนี้   จึงทำให้เพื่อนนับร้อยมารวมตัวกันที่วัดพุตามั่น อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี  เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555  เพื่อทำบุญกุศลร่วมกัน




















เงินที่ได้จากการร่วมทำบุญในครั้งนี้ มีจำนวนสูงเกินกว่า 5 แสนบาท ถือว่าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับสถานะของวัดพุตามั่น ซึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ  ไกลชุมชน พอจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เจ้าอาวาส ผู้มีใจพัฒนาสามารถนำไปบูรณะซ่อมแซมวัดได้คล่องตัวขึ้น หลังจากที่จำกัดจำเขี่ยเงินที่ได้จากการเรี่ยไรบุญจากชาวท้องถิ่นเพียงไม่มากนัก และต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองมานาน


นอกเหนือจากการทอดกฐินที่วัดพุตามั่น  สมาชิกชาว KU 29  ยังประกอบกิจดี ด้วยการทอดผ้าป่าการศึกษาที่โรงเรียนบ้านกลอนโด  จ.กาญจนบุรี  ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ยังขาดอุปกรณ์การเรียนอยู่หลายอย่าง  รวมทั้งข้าวสารอาหารแห้ง ที่จะให้เด็กนักเรียนกินอยู่ตลอดปีการศึกษา การให้ในสิ่งที่ขาด  จึงเป็นความลงตัวระหว่างผู้ให้และผู้รับ  ความปลื้มปิติของผู้รับ  จึงเป็นความปลื้มปิติของผู้ให้  สิ่งตอบแทนจากเด็กๆนักเรียน ด้วยเสียงเพลงที่ร้องออกจากใจของพวกเขา ในเพลงของชาวเกษตร ที่พวกเขาพยายามฝึกฝนมานาน  นำมาร้องแทนคำขอบคุณ  ทำให้คณะ KU 29  หลายคนถึงกับน้ำตาซึม







ความดีเป็นมงคลต่อชีวิต  ความดีย่อมเกื้อหนุนคนที่กระทำความดี   ข้าพเจ้าหวังว่าความดีที่ชาว KU 29  ได้กระทำร่วมกันในครั้งนี้   จะส่งผลให้เพื่อน ๆ ชาว KU 29 ผู้กระทำความดีนี้ ได้พบพานแต่สิ่งดี ๆ  ไปจนชั่วชีวิต.....โดยเฉพาะ ดร.อังศุมาลย์  จันทราปัตย์ และ ดร.นพดล เวชยานนท์  ผู้เป็นหัวแรงใหญ่ซึ่งทุ่มเทและเสียสละเป็นอย่างมาก  ในการนำบุญมาสู่เพื่อน ๆ ในครั้งนี้................................




วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

กล้วยไม้งามที่บึงฉวาก





เมื่อถึงวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ใครๆ ก็อยากจะหาสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองกันทั้งสิ้น  ข้าพเจ้าก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะแสวงหาสิ่งดี ๆ ในวาระพิเศษเช่นกัน ในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มาจึงได้เสาะหาสถานที่ไปเที่ยวนั่นโน่นนี่ทุกปีไป  เพราะคิดว่านั่นคือการฉลองที่พิเศษ  ทุกคนก็คงจะคิดไม่ต่างกัน  จึงทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ  ล้วนแต่คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่เบียดเสียดกันแน่นจนแทบจะไม่มีที่หายใจ ไม่ว่าจะไปไหนก็ต้องแย่งชิงกัน  แย่งกันใช้ถนน  แย่งกันเที่ยว  แย่งกันกิน ปีสุดท้ายที่ข้าพเจ้าปฏิบัติเช่นนี้ก็คือใช้ความพยายามอย่างสูงในการขับรถไปแม่ฮ่องสอน ดินแดนแห่ง 2,000 กว่าโค้ง พอไปถึงก็หาที่กินไม่ได้ เพราะแต่ละแห่งจะต้องรอคิวกันหลายสิบ  กว่าจะถึงคิวเรา ก็หิวกันจนตาลายแล้ว และในที่สุดก็ต้องไปขอให้แม่ค้าข้างถนน เจียวไข่ให้กิน   นับแต่นั้นมา ก็เข็ดขยาดกับการท่องเที่ยวในวันหยุดยาว เนื่องจากเทศกาลต่าง ๆ   หาความสุขให้ตัวเองในอย่างอื่นดีกว่า


ในปีนี้เหลือบไปเห็นข้อมูลในหนังสือพิมพ์ว่า จังหวัดสุพรรณบุรี จะจัดงานกล้วยไม้ที่บึงฉวาก ชื่อว่างาน "มหกรรมกล้วยไม้ไทย ใต่ร่มพระบารมี"  เพียงได้ยินชื่องานก็ถูกใจแล้ว  และเมื่อไป ก็ไม่ผิดหวัง

ข้าพเจ้าขับรถไปกันเองเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2555  ก็เป็นช่วงวันหยุดยาวนั่นแหละ ผู้คนในกรุงเทพมหานคร พากันออกไปต่างจังหวัด เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมาหลายต่อหลายปี บนถนนจึงแน่นไปด้วยรถยนตร์ทะเบียน กทม. ป้ายขาวบ้าง แดงบ้าง ตามประสาของคนที่ร่ำรวยขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อรถมีมากกว่าถนน  รถก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากวิ่ง มาเป็นคลาน ในบางจุด ขยับไปทีละนิดเรื่อย ๆ แบ่ง ๆ กันไป  ข้าพเจ้าสามารถปรับตัวทำใจยอมรับกับสภาพเช่นนี้ได้แล้ว  โดยถือว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมทางที่อยู่ในสถานะเดียวกัน การเดินทางจึงรู้สึกชิว ๆ

ไปถึงบึงฉวาก ก็ใช้เวลาเกือบ 4  ชั่วโมง นี่รวมถึงการแวะทานอาหารที่ร้านกุ่ยหมง ที่บางปลาม้า ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ลือชื่อในเรื่องการทำแกงป่าปลากรายที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย เจ้าของร้านชอบคุยโอ้อวดว่าขาประจำของร้านก็คืออดีต พณ.ฯ ท่าน บรรหาร ศิลปอาชา ทีเดียวเชียว ฉะนั้นแทบจะไม่ต้องไปหาเชลล์ชวนชิม มาลิ้มลองกันอีกแล้ว การันตีได้

ไปถึงบึงฉวากก็  3 โมงกว่า ๆ  บึงฉวากนี่ก็เป็นผลงานของท่านบรรหาร ศิลปอาชาอีกนั่นแหละ ที่เนรมิตบึงน้ำธรรมชาติ  ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันลือชื่อ  ผลงานของท่านบรรหารที่ปรากฏต่อจังหวัดสุพรรณ เชื่อว่านับไปก็ไม่ครบถ้วน  มันมากมายจริง ๆ  สมกับเป็นผู้แทนราษฏรขาประจำของสุพรรณบุรี



บึงฉวากมีพื้นที่ ๆ กว้างใหญ่มากถึง 1,700  ไร่  เป็นแหล่งรวบรวมปลานานาพันธ์ และพืชพรรณไม้นานาชนิด มีอุทยานผักพื้นบ้าน และเขตสัตว์หวงห้าม ให้นักท่องเที่ยวได้ชม  นักท่องเที่ยวที่มีใจรักธรรมชาติที่นี่จะมีบ้านพักที่สร้างเรียงราย รอบ ๆ บึง ให้ได้พักผ่อนอยู่หลายหลัง  เรียกว่าเป็นรีสอร์ทธรรมชาติที่น่าสนใจแห่งหนึ่งทีเดียว เขตที่จัดงานมหกรรมกล้วยไม้ เป็นส่วนที่อยู่ด้านใน  ทำเป็นอุโมงค์ริมบึงฉวาก ยาวประมาณ 300 เมตร  นำกล้วยไม้มาตกแต่งในอุโมงค์  เนรมิตให้เป็นอุโมงค์กล้วยไม้ ที่สวยงามมาก ๆ  ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ไปถึงบ่ายคล้อยแล้ว ลมเย็น ๆ  จากบึงน้ำที่พัดผ่านมา ทำให้การเดินชมกล้วยไม้มีความเพลิดเพลินอย่างไม่รู้เบื่อ






















































ข้าพเจ้าเห็นคนที่มาเที่ยวชม มีหน้าตาอิ่มเอมไปด้วยความสุข ต่างก็พยายามถ่ายรูปกับกล้วยไม้ เป็นที่ระลึกกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  การได้เห็นผู้คนรอบข้าง ทำให้ข้าพเจ้าได้คิดว่า ความสุขของคนเรา มันไม่ได้อยู่ไกลตัวสักนิด ถ้าเรารู้จักสรรหา และรู้ความเพียงพอ   รอยยิ้มอย่างมีความสุขของมือกล้องที่มีราคาตัวละหลายแสนบาทที่บรรจงถ่ายแต่ละรูปด้วยด้วยความตั้งใจ  กับรอยยิ้มของคนเดินดินกินข้าวแกง ที่มีกล้องราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท และถ่ายอย่างไม่บรรจง  เพียงแต่กดแชะกดแชะ ก็ได้รูปแล้ว  รอยยิ้มของคนทั้งสอง แทบจะไม่ต่างกันเลยสักนิดเดียว เพราะความสุขที่พวกเขาได้รับ ก็คือความพอใจกับภาพถ่ายซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาได้ถ่ายด้วยความสุขจากมือของเขาเอง  ผลจากรูปภาพที่ออกมา แม้จะมีความต่างกันอันเนื่องจากคุณภาพของกล้อง  แต่มันก็เป็นรูปภาพที่พวกเขาอยากได้และพอใจกับภาพนั้น ๆ  เขาก็ยิ้มกันได้อย่างมีความสุขทุกคน

นี่เองคือ...ความพอเพียง ที่ในหลวงของเราได้ทรงกล่าวไว้......กล้วยไม้งามที่บึงฉวาก จึงให้ความสุขกับมนุษย์ปุถุชนได้ทุกชนชั้น.........