บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ท่องไปในอ่างทอง




อ่างทองเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่น่าสนใจ  แต่ในข้อเท็จจริง อ่างทองเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่เมืองหนึ่งที่น่าศึกษามากทีเดียว และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็สามารถเที่ยวชมแหล่งประวัติศาสตร์ได้หลายแห่ง  อ่างทองเป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่ติดกับจังหวัดอยุธยา ประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่องราวจึงมาอยู่ที่อ่างทอง  หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.อ่างทอง เขียนไว้ว่า ในครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช  พระองค์ได้เสด็จมาชุมนุมพลที่ป่าโมก  จ.อ่างทอง และถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมก  รวมทั้งทำพิธีตัดไม้ข่มนาม เอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกรบ ในครั้งนั้นประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขณะที่ประทับแรมที่นี่พระองค์ทรงสุบินนิมิตว่าได้ทรงต่อสู้กับจระเข้และทรงฆ่าจระเข้ตาย ครั้นเมื่อกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทรงมีชัยฆ่าพระมหาอุปราชาจนทิวงคต


วัดป่าโมก

วัดป่าโมกวรวิหารแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่ง  ที่มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท  22 เมตรเศษ  สันนิษฐานว่า สร้างมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยโดยเล่าขานกันว่า องค์พระได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด  ราษฎรจึงบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดเดิม  ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2269  น้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้กัดเซาะตลิ่งหน้าวัดป่าโมก เข้ามาจนใกล้พระวิหาร  เจ้าอธิการวัดจึงนำความเข้าหารือกับเจ้าพระยาราชสงคราม จนความทราบไปถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำแล้วนำมาประดิษฐาน ณ.วัดใต้ คือวัดป่าโมกปัจจุบัน ซึ่งห่างจากวัดเดิม 10 เส้น ในครั้งนั้นพระองค์เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังด้วยพระองค์เอง  ทั้งยังทรงโปรด ฯ  ให้สร้างวิหาร  การเปรียญ  โรงอุโบสถ  พระเจดีย์ กุฏิ ศาลา ฯลฯ   ใช้เวลาถึง 5 ปี จึงแล้วเสร็จแต่ยังมิทันได้ฉลอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เสด็จประชวร และสวรรคตไปเสียก่อน  ปัจจุบันวัดนี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนอยู่ในสภาพดี


พระนอนวัดป่าโมก

วิธีการชะลอลากพระ


ผู้ที่เป็นแม่กองงานในครั้งนั้นคือพระยาราชสงคราม ท่านมีนามเดิมว่า ปาน เป็นผู้ขันอาสาชะลอพระพุทธไสยาสน์มาสถิต ณ.วัดป่าโมกปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2270-2271 เพื่อให้พ้นจากอุทกอันตราย ใช้เวลาดำเนินการถึง 5 เดือนโดยตั้งมั่นว่าหากพระพุทธไสยาสน์เกิดความเสียหายจะยอมถวายชีวิตและท่านก็สามารถทำได้สำเร็จ วัดป่าโมกจึงสร้างรูปหล่อของท่าน และพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ไว้เป็นที่ระลึก ประดิษฐานอยู่ที่หน้าวิหารแห่งนี้


พระยาราชสงคราม

พระเจ้าท้ายสระ


เหนืออำเภอเมืองขึ้นไปจะเป็นอำเภอไชโยซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์อยู่ ชื่อของอำเภอไชโยนี้สันนิษฐานว่าอาจตั้งขึ้นในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้กรีฑาทัพ ณ.จุดนี้ขึ้นไปรบชนะทัพพระเจ้าเชียงใหม่ราวปี พ.ศ. 2128 จึงเรียกขานหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านไชโยเรื่อยมา  วัดสำคัญที่นี่คือ วัดไชโยวรวิหาร วัดนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่มาช้านาน ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาธวัดระฆังโฆษิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง  ใช้เวลาในการสร้างถึง 2 ครั้ง ๆ แรกสร้างเสร็จไม่นาน ก็หักพังทลายลงมา ครั้งที่ 2 จึงสร้างใหม่ให้ขนาดเล็กลงกว่าเดิม  รวมเวลาในการสร้างเกือบ 3 ปี จึงแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ถวายเป็นวัดหลวง รับพระราชทานนามว่า วัดเกษไชโย   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ใน พ.ศ. 2430  แรงสั่นสะเทือนในขณะบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำให้พระพุทธรูปพังทลายลงมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระขึ้นใหม่ ใช้เวลานานถึง 8 ปีจึงแล้วเสร็จ  และพระราชทานนามว่า พระมหาพุทธพิมพ์


พระมหาพุทธพิมพ์

พระมหาพุทธพิมพ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีขนาดสูงใหญ่สง่างามมาก  พระพักต์ของท่านสงบเยือกเย็น  ก่อให้เกิดความสงบในจิตใจของผู้ที่มีโอกาสเข้ามาเคารพสักการะ  ภายในวิหาร มีภาพถ่ายและรูปปั้นของหลวงปู่โต ประดิษฐานให้ประชาชนได้เคารพสักการะ










การที่หลวงปู่โตได้มาสร้างพระที่วัดไชโย บางตำราเล่าว่า  เพื่อเป็นที่ระลึกให้มารดาซึ่งเคยมาพำนักอยู่ถิ่นนี้ในอดีต  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านชีวประวัติของหลวงปู่โต จากหนังสือที่ได้รับแจกมา ในงานเผาศพ ของ ดร.มนตรี รัศมี  เพื่อนร่วมรุ่น ทราบว่าหลวงปู่โตท่านถือกำเนิดในรัชกาลของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 หลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี  ณ.บ้านไก่จัน ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331  เวลาใกล้รุ่งตอนพระออกบิณฑบาต  โยมมารดาของท่านชื่อนางงุด โยมตาชื่อนายผล โยมยายชื่อนางลา  ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏนาม ทราบแต่ว่าเป็นชาวเมืองอื่น  ชีวิตในเยาว์วัยของหลวงปู่โตนั้น  เมื่อโยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านของโยมยายที่อำเภอไชโย จ.อ่างทอง มาอยู่ที่ ต.บางขุนพรหม  ได้มอบท่านให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพ ฯ  เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัย  จนเมื่ออายุได้ 12 ปีบริบูรณ์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ.วัดอินทรวิหาร โดยพระบวรวิริยเถระ เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์  ครั้นอายุครบบวช 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2351  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดเกล้า ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ.พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  โดยมีสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) วัดมหาธาตุ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  ให้ฉายาว่า "พรหมรังสี"
 
 

ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูงที่สุดเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  ท่านมรณภาพ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5  เมื่อวันเสาว์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ 2415 เวลาประมาณ 24.00 น.เศษ บนศาลาใหญ่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม สิริมายุได้ 84 ปี พรรษาที่ 64 
 
 

อภินิหารของท่าน เป็นที่ปรากฏในหลาย ๆ เรื่อง และหลาย ๆ สถานที่  ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี  เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 4 ไปสร้างพระราชวังที่ประทับบนยอดเขามไหสวรรย์  หรือที่เรียกกันว่า พระนครคีรี ครั้งนั้นเมื่อสร้างเสร็จก็มีการฉลองติดต่อกันหลายวัน และได้อาราธนาหลวงปู่โตไปในงานพระราชพิธีทางศาสนาด้วย  หลวงปู่ท่านเดินทางโดยทางเรือ ไปออกทะเลเข้าสู่อ่าวบ้านแหลม มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี  ในขณะที่อยู่กลางทะเลนั้น บังเกิดพายุกระหน่ำหนัก  เพราะเป็นระยะหน้ามรสุม พายุโหมรุนแรงอย่างยิ่ง จนเรือโคลงเคลงจะล่มแหล่มิล่มแหล่  คนแจวเรือทั้ง 4 คน พยายามหันเรือสู้คลื่นลมที่พัดอู้ ๆ มามืดฟ้ามัวฝนอย่างหนัก  แต่ว่าไม่สามารถประคองเรือให้ตั้งตรงอยู่ได้ จนกระทั่งหมดปัญญาต้องนั่งลงจับเจ่ากอดเสาเรือไว้แน่น ปล่อยให้คลื่นลมพาเรือไปตามยถากรรม  หลวงปู่เห็นเช่นนั้น ท่านก็ออกมาที่หัวเรือ ยืนนิ่งบริกรรมคาถาอยู่พักหนึ่ง ทั้งๆที่พายุรุนแรงและเรือโคลงอย่างนั้นท่านก็ยืนได้อย่างแปลกประหลาด เมื่อบริกรรมคาถาเสร็จเพียงชั่วครู่เดียว พายุฝนที่คะนองหนักก็สงบนิ่งจนเป็นปกติ หลวงปู่โตจึงสามารถไปร่วมพิธีที่พระราชวังเมืองเพชรได้ตามหมายกำหนดการ
 


นั่นคือเรื่องราวส่วนหนึ่งของหลวงปู่โต ที่ทำให้มีผู้คนไปเคารพสักการะกันอย่างเนืองแน่นเสมอ ๆ ทั้งที่วัดระฆังโฆษิตาราม  วัดอินทรวิหาร  และวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง 
 
 

ติดกับอำเภอไชโย จะเป็นอำเภอโพธิ์ทอง  ซึ่งมีวัดที่น่าสนใจอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดขุนอินทประมูล  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวที่สุดและเก่าแก่มากองค์หนึ่ง ตามหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.อ่างทอง กล่าวว่า สมัยที่กรุงสุโขทัยยังไม่เสื่อมอำนาจ ในยุคพระยาเลอไท ซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้เป็นราชบิดา ครั้งนั้นพระยาเลอไท เสด็จพระราชดำเนินจาก กรุงสุโขทัยมานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ.เขาสมอคอนในเขตกรุงละโว้  การเสด็จครั้งนั้น มาทางลำน้ำยม เข้าสู่ลำน้ำปิง และ แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแยกเข้าแม่น้ำมหาสอน เข้ามาถึงเขาสมอคอน อันเป็นที่พำนักของพระฤาษีสุกกะทันตะ ผู้เป็นทั้งพระอาจารย์ของพระองค์เองกับพระอาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้เป็นราชบิดา เมื่อทรงนมัสการพระฤาษีแล้วก็ประทับแรม อยู่ ณ.เขาสมอคอน และโคกบ้านบางพลับ ขณะประทับแรม ณ.โคกบ้านบางพลับ เวลายามสามเกิดศุภนิมิตทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นมาเหนือยอดไม้แล้วหายไปในอากาศทางทิศตะวันออก พระองค์ทรงปิติโสมนัสและทรงพระราชดำริ สร้างพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 40 เมตร สูง 5 เมตรขึ้นเป็นพุทธบูชา ใช้เวลา 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ  เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงขนานนามว่า พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต และทรงมอบหมายให้นายบ้านเป็นผู้ดูแล  หลังจากนั้นปรากฏหลักฐานว่ามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ  ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีได้พบร่องรอยการขยายองค์พระให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและยาวถึง 50 เมตร


พระนอนอยู่ระหว่างการบูรณะ



พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จึงถือว่าเป็นองค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย  เดิมมีวิหารสร้างคลุมอยู่  แต่เกิดไฟไหม้เสียหาย แม้จะได้มีการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ก็ถูกไฟไหม้อีก  จนปัจจุบันมิได้มีการสร้างวิหารคลุมไว้แต่อย่างใด คงเหลือแต่คานกับเสาของวิหารเพียงบางส่วนเท่านั้น  และข้าง ๆ องค์พระนอน มีสถูปร้าง 1 องค์ อยู่ระหว่างการบูรณะเช่นกัน



สถานที่ประวัติศาสตร์ในเมืองอ่างทอง ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตไปด้วย   การเดินทางเพียงนิดเดียว ได้ทราบถึงอดีตมากมาย  นับว่าคุ้มค่าแก่การท่องเที่ยวจริง ๆ ...............

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชมทะเลหมอกที่พะเนินทุ่ง






ถ้าพูดถึงคำว่า "พะเนินทุ่ง" ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จัก  แต่คงจะต้องร้องอ๋อ หากรู้ว่าเขาพะเนินทุ่ง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ใกล้ ๆ กรุงเทพนี่เอง



เขาพะเนินทุ่ง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 50 เมตร  เป็นภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สูงมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ต้นไม้ขึ้นเขียวขจีไปทั่วหุบเขา  จึงเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ป่าน้อยใหญ่จำนวนมาก  คนที่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่นี่ ไม่มีใครที่จะไม่ชื่นชอบ ไกลไปจากนี้ไม่มากนักจะเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยและพม่า


ข้าพเจ้าและเพื่อน สว. มีโอกาสได้ไปเที่ยวพะเนินทุ่งเมื่อเดือน มกราคม 2556  ที่ผ่านมา ด้วยความเอื้อเฟื้อของคุณนายเบญจวรรณ สนธิสุข ที่ขอให้น้องทหารรับภาระจัดการในเรื่องการจองที่พัก และนำรถมารับพวกเราขึ้นเขา  เรามีโอกาสได้พักที่เพชรวารินทร์รีสอร์ท  รีสอร์ทธรรมชาติที่มีบ้านพักแบบทรงไทยทั้งหมด ที่ดูร่มรื่นสบายตา ดึงดูดใจผู้มาเยือนโดยเฉพาะเป็นที่ชื่นชอบของชาวช่างชาติ



ออกจากกรุงเทพ ก็แวะเวียนชิมอาหารมาตามรายทาง รวมทั้งแวะสูดอากาศบริสุทธิ์ที่บริเวณเหนือเขื่อนแก่งกระจานซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวดังของเมืองเพชรอีกแห่งหนึ่ง กว่าจะถึงรีสอร์ทก็บ่ายคล้อย







รีสอร์ทแนะนำให้พวกเรานั่งเรือยางล่องแม่น้ำเพชรชมธรรมชาติ   พวกเราไหนเลยที่จะปฏิเสธได้ โดยเฉพาะข้าพเจ้าซึ่งเกิดมาจนอายุปูนนี้ไม่เคยล่องแม่น้ำเพชรเลยแม้เพียงสักครั้ง  ทั้ง ๆ ที่ลำน้ำแห่งนี้เป็นลำน้ำประวัติศาสตร์ ที่คนเมืองเพชรทั้งหลายภาคภูมิใจว่า  พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 6  ชื่นชมว่า น้ำเพชรมีรสชาดดีกว่าลำน้ำอื่น ๆ  จนต้องมีการตักน้ำจากลำน้ำเพชรที่ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ นำส่งวังหลวงเป็นประจำทุกเดือน เนิ่นนานมาถึง 3 รัชกาล



รีสอร์ทเป็นผู้ติดต่อรถกะบะให้มารับคณะเรา ไปส่งที่ต้นแม่น้ำเพชร  นับเป็นการท่องเที่ยวที่สมบุกสมบันมากสำหรับเหล่าหญิงชราอายุเกิน 60  ที่ต้องกระโดดขึ้นไปนั่งกับพื้นรถกะบะด้านหลังเพื่อไปนั่งเรือยาง พวกเรานั่งเรือยางจากจุดนั้น  ล่องเรื่อยมาจนถึงท่าน้ำของรีสอร์ทเพชรวารินทร์ที่พัก  ตลอดสองฝั่งน้ำมีโอกาสพบเห็นต้นไม้ป่าหลากหลายชนิดที่ขึ้นปกคลุมป่าตลอดแนว  บางต้นสูงใหญ่น่าเกรงขาม บางต้นออกดอกสีชมพูสวยงาม   มีนกหลากหลายพันธ์ที่มีสีสรรค์งดงามมาเคล้าเคลีย  เพลิดเพลินเสมือนหนึ่งพายเรือล่องแดนสวรรค์  เป็นอีกรสชาดหนึ่งของการท่องเที่ยวในครั้งนี้  มิหนำซ้ำระหว่างล่องเรือ สว.ชุดนี้ยังช่วยพายเรือและมีอารมณ์เห่เรือกันอย่างสนุกสนาน







มาถึงรีสอร์ทก็เย็นพอดี  อาหารเย็นถูกจัดเตรียมรับเราที่เรือนทองหลาง เรือนไม้ทรงไทยให้บรรยากาศย้อนยุคสำหรับอาหารเย็นมื้อนั้นได้เป็นอย่างดี  กับอาหารพื้นบ้านแบบไทย ๆ  พวกเรารับประทานกันจนอิ่มหนำ จึงแยกย้ายกันพักผ่อนออมแรงไว้ขึ้นเขาพะเนินทุ่งวันรุ่งขึ้น  ซึ่งจะต้องออกเดินทางตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง นั่นหมายถึงพวกเราจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่งเป็นอย่างช้า


รถกะบะที่น้องทหารจัดเตรียมให้เรา  มารับตรงเวลา  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงจากที่พักจึงจะไปถึงพะเนินทุ่งเวลาประมาณ 7 โมงครึ่ง เพื่อให้ทันเห็นทะเลหมอก  ระหว่างออกเดินทางซึ่งยังมืดอยู่จึงค่อนข้างน่ากลัว  รถต้องวิ่งผ่านป่าเขาซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า  ได้แต่ภาวนาขออนุญาติจ้าวป่าจ้าวเขา เพื่อขอผ่านทางไปยังจุดหมาย และให้ปกป้องคุ้มครองพวกเราตลอดการเดินทางไปและกลับ  ในที่สุด พวกเราก็เดินทางมาถึงแค้มป์บ้านกร่าง ซึ่งอยู่ก่อนทางขึ้นเขาพะเนินทุ่ง





ไปถึงจุดนั้น ก็เริ่มมีแสงสว่างรำไรแล้ว คณะเราเป็น สว. เกิน 60  ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งหมด  เสียเฉพาะค่านำรถเข้าเพียง 30.-บาทเท่านั้น นี่ก็เป็นข้อดีอย่างยิ่งสำหรับพวกแก่แต่ชอบเที่ยวอย่างเรา  ได้รับการยกเว้นตลอด  จัดได้ว่าความแก่มิใช่มีแต่เรื่องแย่เสมอไป 

ออกจากแค้มป์บ้านกร่างก็เริ่มเป็นทางขึ้นเขา ซึ่งแคบและคดเคี้ยว รถวิ่งได้คันเดียว สวนกันไม่ได้ ฉะนั้นการขึ้นพะเนินทุ่งจึงมีเวลาขึ้น เวลาลง ที่ชัดเจน 





เส้นทางช่วงขึ้นเขา แม้จะแคบและคดเคี้ยว แต่ธรรมชาติ 2 ข้างทางที่เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้ป่าหลากหลายชนิด  และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหมอกทึบ  ทำให้ทุกคนเพลิดเพลินไปกับการเดินทางในครั้งนี้ อย่างมาก สามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ที่อยู่รอบ ๆ เข้าปอด โดยไม่มีมลพิษมาเป็นอุปสรรคและเย็นสบายไม่แพ้อากาศทางภาคเหนือ


ไปถึงพะเนินทุ่ง ซึ่งอยู่ กม.ที่ 30  ทันเวลาที่จะเห็นทะเลหมอก  แต่เจ้ากรรมอากาศวันนั้น มีลมพัดแรงมากอย่างกระทันหันลมพัดจนหมอกกระจายไปทั่ว มองไม่เห็นเป็นทะเลเช่นเวลาที่ลมสงบ  ลมที่พัดแรงนี่กระมัง ที่เป็นเหตุให้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ตกที่บริเวณใกล้ ๆ นี้ลำแล้วลำเล่าในช่วงที่ผ่านมาความแปรปรวนของธรรมชาติเป็นเรื่องที่มิอาจมีใครบังคับได้













รีสอร์ทจัดอาหารกล่องให้พวกเรา มาทานบนพะเนินทุ่ง  เมื่อไม่เห็นทะเลหมอกพวกเราจึงใช้เวลามารับประทานอาหารกันแทน  มื้อเช้าวันนั้นจึงแสนโรแมนติค เพราะได้ทานอาหารเช้าท่ามกลางสายหมอกและลมที่เย็นสบายเป็นที่สนุกสนานจนได้เวลาลงจากเขา ระหว่างการเดินทางลงนั้นเราโชคดีที่มีโอกาสพบชะนีป่า บริเวณแค้มป์บ้านกร่าง นั่งอยู่ใต้ต้นไม้เหมือนกับจะรอส่งแขกผู้มาเยือน










ก่อนเดินทางกลับ คณะเรามีโอกาสได้ไปแวะชมโครงการ "ชั่งหัวมัน" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านได้ไปขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านหลายคนรวม 250 ไร่เมื่อปลายปี 51 - 52  เพื่อมาทำเป็นโครงการทดลองปลูกพืชผสมผสาน เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านใช้เป็นแนวทางนำไปปฏิบัติ นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาเยี่ยมชม และเป็นโชคดีของชาวบ้านที่มีพระเจ้าอยู่หัวเป็นแบบอย่าง










ในโครงการนี้ปลูกพืช ผัก ผลไม้ หลากหลายชนิด นับตั้งแต่ มะนาว ชมพู่ มะยงชิด มันเทศ  มันฝรั่ง ยางพารา นาข้าว มะพร้าว สับปะรด แก้วมังกร เห็ดหลินจือ เห็ดภูฐาน และยางนา มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ  ร่วมมือกันพัฒนาตามแนวทางของพระองค์ท่าน   สมเด็จพระเทพ ฯ ก็ได้มาซื้อที่ดินที่อยู่ต่อเนื่องกันเพิ่มเติม  และทำโครงการในลักษณะเดียวกัน



เมื่อได้สอบถามถึงที่มาของชื่อโครงการนี้  เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า  วันหนึ่งมีผู้นำมันเทศไปถวายในหลวงที่วังไกลกังวล  ส่วนหนึ่งท่านให้นำไปปรุงทาน  อีกส่วนหนึ่งวางไว้ใกล้ตาชั่ง ต่อมาปรากฏว่าส่วนหลังนี้เจริญงอกงาม ออกราก ออกใบ  จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ให้พระองค์ท่านพระราชทานชื่อ "ชั่งหัวมัน" เป็นชื่อของโครงการนี้ พระองค์ท่านทรงปรารภว่า "มันอยู่ที่ไหน ก็งอกได้"  


คำปรารภของพระองค์ท่าน น่าจะมีนัยยะอื่นแฝงอีกหลายอย่าง  เมื่อมันอยู่ที่ไหนก็งอกได้  นั่นย่อมหมายถึง คนทำดีอยู่ที่ไหนก็ดีอยู่วันยังค่ำ  คนทำความดีอยู่ที่ไหน ความดีก็ย่อมส่องสว่างและเป็นเกราะคุ้มกันภัยได้........



ไม่มีใครที่จะโชคดีเท่ากับการเกิดมาเป็นคนไทย ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านอีกแล้ว  การเดินทางไปชมทะเลหมอกที่เขาพะเนินทุ่งในครั้งนี้  ได้รับสิ่งที่มีค่ามาเป็นรางวัล จึงนับว่าโชคดีเป็นยิ่งนัก... 

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รำลึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ สุโขทัย - ศรีสัชชนาลัย





สุโขทัย เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอายุเกินกว่า 700 ปี เคยเป็นราชธานีไทยในอดีต แต่ก่อนที่จะเป็นราชธานี เมืองนี้มีฐานะเป็นเพียงรัฐ ๆ หนึ่งที่มีชุมชนโบราณอาศัยอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์  เป็นจุดที่เสมือนเป็นศูนย์กลางทางการค้า เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งดี  อยู่ติดแม่น้ำยม และอีกด้านหนึ่งอยู่ติดเทือกเขาประทัก  จึงเป็นจุดกึ่งกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกทึ่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต จากการขุดค้นของนักโบราณคดี ณ.ระดับความลึก 9 เมตร   พบโครงกระดูกและเครื่องถ้วยชามของจีนมากมาย  จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนของการเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าได้เป็นอย่างดี


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้เมื่อเดือน มกราคม 2556  ที่ผ่านมา หลักฐานทางโบราณคดีที่ยังหลงเหลือให้เห็น คือวัดวาอารามต่าง ๆ  กำแพง  เจดีย์ ที่แม้จะเหลือเพียงซากเก่า ๆ  แต่ก็ยังสามารถสะท้อนให้เห็นได้ถึงความรุ่งเรืองในอดีตของชุมชนที่เติบโตคู่กันกับศิลปะวัฒนธรรมและความเชื่อ ความศรัทธาของคนในยุคนั้น



วัดช้างล้อมที่ศรีสัชชนาลัย

วัดช้างล้อมที่ศรีสัชชนาลัย

วัดเจดีย์เจ็ดแถวที่ศรีสัชชนาลัย

วัดนางพญา ที่ศรีสัชชนาลัย

วัดนางพญา ที่ศรีสัชชนาลัย

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชชนาลัย

ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ มิได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนเช่นยุคหลัง ๆ  เรื่องราวต่างๆ  จึงเป็นการตีความและวิเคราะห์ เอาจากหลักฐานที่พบเห็น เช่น ศิลาจารึกในบางหลัก ,  สิ่งที่พบจากหลุมขุดค้น และหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากอาณาจักรใกล้เคียง ที่เข้ามาทำการค้าด้วยในอดีต  ท่าน ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์  นักโบราณคดีได้ลำดับให้ฟังถึงประวัติบริเวณนี้ว่า  มีผู้คนอยู่อาศัยอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัยช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  มีความรุ่งเรืองสูงสุดช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20  และถูกทิ้งร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 


ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  เขมรได้แผ่ขยายอิทธิพลไปรอบด้าน จนถึงลำน้ำเจ้าพระยาโดยมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง  แผ่นดินสุโขทัยขณะนั้นก็ไม่อาจเลี่ยงพ้นจากอิทธิพลของขอมได้  จึงมีการสร้างปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงขึ้นตามแนวทัศนคติของชาวเขมรอย่างรีบเร่งหลายแห่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แผ่มาถึง  เมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยขณะนั้น  จึงมีฐานะเสมือนเมืองขึ้นของเขมร มีพ่อขุนศรีนาวนำถมปกครองเมือง


จวบจนช่วงปลายยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 18  ที่เขมรเริ่มเสื่อมอำนาจลง พ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ลง   ขอมสบาดโขลญลำพงจึงปกครองเมืองสุโขทัยต่อมา  พ่อขุนผาเมืองผู้เป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ซึ่งน่าจะเป็นพระญาติสนิท ได้ร่วมกันยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพง ได้เป็นผลสำเร็จ ขับไล่ขอมออกจากดินแดนแห่งนี้และสถาปนาสุโขทัยเป็นรัฐอิสสระ  มีพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และอภิเษกกับนางเสืองธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถม  เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง มีเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชชนาลัย ซึ่งอยู่ริมน้ำยม ใกล้ ๆ กันเป็นเมืองคู่แฝด  นับเป็นยุคเริ่มต้นของสุโขทัยเป็นต้นมา 


เมื่อบ้านเมืองสงบ  ก็เริ่มมีการก่อสร้างศาสนสถาน ตามความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อไว้สักการะบูชา   ศิลาจารึกหลักที่ 2  ซึ่งพบที่วัดศรีชุม ปรากฏข้อความตอนหนึ่งได้กล่าวถึง ........

"ขุนศรีนาวนำถุมเป็นขุนเป็นพ่อ เสวยราชย์ในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีเสชนาไล ......ประดิษฐานพระศรีมหาธาตุใกล้ฝั่งแม่น้ำ


วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง

พระพุทธรูปหน้าเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตืเชลียง


พระศรีมหาธาตุที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็คือ วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง ซึ่งอยู่ริมน้ำยมนั่นเอง  จึงเท่ากับวัดนี้มีความเก่าแก่ถึง 700  ปีเศษ เมื่อครั้งที่แผ่นดินสุโขทัย มีพ่อขุนศรีนาวนำถมครองเมือง  บริเวณนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าของศรีสัชชนาลัย ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่าวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง  รูปแบบของศิลปกรรมที่พบ ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากขอมก็คือปราสาทเฟื้องที่อยู่เหนือประตูทางเข้า มีรูปปั้นพระพักต์ที่สมมุติเป็นท้าวจตุโลกบาลอยู่ทั้ง 4 ด้าน ถือเสมือนเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของผู้คนทั้ง ๔ ทิศ ตามความเชื่อของขอม


ปราสาทเฟื้อง

ส่วนวัดพระศรีมหาธาตุสุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของสุโขทัย  อยู่กลางเมือง สันนิษฐานว่าเพิ่งสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง   ลักษณะเมืองมีกำแพงเมือง และ คูน้ำล้อมรอบเช่นเดียวกับเมืองศรีสัชชนาลัย   ผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมตามทัศนคติสมัยโบราณ  ท่าน ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ หนึ่งในผู้ซึ่งเคยเข้าไปขุดค้น ณ.บริเวณนี้พบว่า มีชุมชนของชาวเขมรอยู่ โดยเฉพาะหลุมขุดค้นที่เนินปราสาท ซึ่งอยู่ด้านหน้าของวัดมหาธาตุ ชั้นล่างสุดพบเครื่องถ้วยเขมรที่มีอายุราวศตวรรษที่ 17-18 ปรากฏอยู่



เนินปราสาท

ด้านหน้าวัดมหาธาตุ จะมีบริเวณหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นที่ดินที่ถูกถมจนสูงเป็นเนินและสูงกว่าบริเวณอื่นๆในแนวกำแพงเมืองสุโขทัย กว้างยาวด้านละ 200 เมตร  เรียกขานกันว่า "เนินปราสาท" บนเนินดินนี้พบฐานโบราณสถานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐ และมีร่องรอยการฉาบปูนไว้ พบพระแท่นมนังคศิลาบาตร และศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  เป็นหลักศิลาจารึกหลัก 1  ที่บันทึกว่า


"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อเสือง พี่กูชื่อบานเมือง  ตูพี่น้องท้องเดียวกัน 5 คน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตี้ยมแต่ยังเล็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาที่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญะญ่ายพ่ายจะแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู พระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน "



"เนินปราสาท" อยู่ท่ามกลางดงตาลจำนวนนับร้อยต้น จุดนี้มีความสำคัญมากทางประวัติศาสตร์ ที่มีการสันนิษฐานกันว่าบริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุจะเป็นพระราชวัง และเนินปราสาทจะเป็นท้องพระโรงในยุคสมัยสุโขทัย ที่กษัตริย์จะออกว่าราชการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน โดยมีกระดิ่งแขวนไว้ให้เคาะเพื่อร้องทุกข์  การปกครองแบบพ่อปกครองลูก  เริ่มขึ้นจริงจังสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย

ในเขตสุโขทัย จะพบศิลปกรรมที่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรอยู่หลายแห่ง เช่นที่วัดพระพายหลวง มีปราสาททรงเขมร ลักษณะเหมือนที่พบที่วัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี บ้านเกิดข้าพเจ้า และเหมือนกับพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี


วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวง

ในครั้งนี้คณะเราได้มีโอกาสไปชมศิลปกรรมที่วัดศรีชุม ซึ่งวัดนี้มีลักษณะรูปทรงแปลกกว่าที่อื่นๆ  ไม่มีลักษณะของวัฒนธรรมเขมร 


วัดศรีชุม

พระพุทธรูปในวิหาร


สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในช่วงพุทธศควรรษที่ 20 ซึ่งขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากลังกาและพุกาม ซึ่งนิยมสร้างมณฑป ,  วิหาร  แทนการสร้างปราสาทในลักษณะของเขมร 
ศิลปกรรมที่พบเห็นทั้งที่ศรีสัชชนาลัย และที่สุโขทัย บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในยุคนั้น ซึ่งคนในชุมชนได้รับอิทธิพล ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว  ประเทศชาติไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสุโขทัย  จึงเป็นเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ที่คนไทยสมควรภาคกูมิใจเป็นยิ่งนัก....





ขอขอบคุณข้อมูลที่ได้จากการเที่ยวชมร่วมกับ มติชนอคาเดมี........