บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เสน่ห์เมืองน่าน


เมืองน่านมองจากพระธาตุเขาน้อย


น่านเป็นเมืองในหุบเขา  เป็นดินแดนมหัศจรรย์ เสมือนเมืองลับแล   การเดินทางเข้าสู่เมืองน่าน  เป็นเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยวแต่หนาแน่นไปด้วยป่าไม้เขียวชอุ่มตลอดเส้นทาง หมดเส้นทางภูเขาก็จะพบชุมชนที่ดูสงบเรียบง่าย  ที่นั่นคือเมืองน่าน ที่เกือบทั้งเมือง  จะพบเห็นแต่วัด  และนั่นย่อมแสดงว่าผุู้คนต้องรักความสงบ ยึดมั่นในศาสนา และวัฒนธรรมอันดีงาม
 
 
 
น่านเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคพื้นลานนาไทยที่มีประวัติความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย  เป็นจังหวัดชายแดนที่มีเขตติดต่อกับลาว ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าไม้ในอดีตเคยเป็นดินแดนแห่งการต่อสู้  เต็มไปด้วยสถานการณ์ก่อการร้าย แต่ปัจจุบันมีแต่ภาวะสันติสุข
 
 
 
ในครั้งกาลโบราณ น่านเป็นเพียงอาณาจักรเล็ก ๆ  ส่วนหนึ่งของลานนาไทย ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นราชธานี  มีดินแดนติดพม่าทางด้านเหนือ  ,  ติดหลวงพระบางทางด้านตะวันออก , ติดอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาทางด้านใต้   สภาพของเมืองน่านจึงถูกลากไปลากมา  ขึ้นอยู่กับว่าอาณาจักรใดมีอำนาจ แคว้นน่านก็จะตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนั้น  โอกาสที่จะเป็นเอกราชโดยลำพังตนเองมีน้อยมาก  จนกระทั่งอาณาจักรสยามได้รวมอาณาจักรลานนาไทยทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน น่านก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ถ้าเมื่อใดต้องตกไปอยู่ในปกครองของพม่า  ก็จะเดือดร้อนระส่ำระสาย เพราะวิถีการปกครองของพม่าในช่วงนั้นมีแต่ทำลายและกอบโกยหาผลประโยชน์
 
 
 
ประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐  มีบุคคลสำคัญเกิดขึ้นในอาณาจักรลานนาไทย ๒ คน คือ พระยางำเมือง  เจ้าเมืองพะเยา   และ พระยาเม็งราย  เจ้าเมืองเชียงราย   ส่วนอาณาจักรสุโขทัย มีพระเจ้ารามคำแหงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เรืองพระเดชานุภาพ
 
 
 
เมืองน่านสมัยก่อนสุโขทัย  มีกำเนิดครั้งแรกที่เมืองวรนคร (เมืองปัว)  เป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของลานนาไทย   เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๒๕   คนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพระยาภูคา  ได้ครอบครองพื้นที่บริเวณน่าน และตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง  ต้องการขยายอาณาเขต จึงส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน คือ.-
  • ขุนนุ่น ผู้พี่ ให้ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง)
  • ขุนฟอง ผู้น้อง ให้ไปสร้างเมือง วรนคร  ต่อมาขุนฟองถึงแก่พิราลัย  เจ้าเก้าเถือนราชบุตร จึงครองเมืองวรนครต่อมา  เมืองน่าน (วรนคร)  และเมืองหลวงพระบาง  จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนดั่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน


ส่วนพระยาภูคาครองเมืองย่างมานาน  จึงเชิญเจ้าเก้าเถื่อนมาครองเมืองย่าง   ด้วยความเกรงใจปู่  เจ้าเก้าเถื่อนยอมมาครองเมืองย่าง  ทิ้งเมืองวรนคร ให้ชายาครองเมืองแทน
 


ในช่วงเวลาของการตั้งบ้านเมืองนั้น  ก็เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างบ้านเมืองบริเวณรอบ ๆ เช่นกัน อาทิเช่น.-
 
  • พระยาเม็งราย  เจ้าเมืองเชียงราย  สนใจดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง
  • พ่อขุนรามคำแหง  เจ้าเมืองสุโขทัย  สนใจดินแดนทางทิศใต้
  • พระยางำเมือง  เจ้าเมืองพะเยา  สนใจดินแดนในหุบเขาของเมืองน่าน  จึงขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำเมืองน่านทั้งหมดโดยยกทัพไปตีในขณะที่ชายาของเจ้าเก้าเถื่อน(นางพญาแม่ท้าวคำปิน) ครองเมืองอยู่  เมื่อเจ้าเก้าเถื่อนทราบความ  ก็มิได้คิดต่อสู้หรือหวังชิงเมืองคืน ต่อมาพระเจ้าเก้าเถือ่นถึงแก่พิราลัย เมืองย่างก็รวมเป็นเมืองเดียวกับวรนครนับแต่นั้น  ส่วนนางพญาแม่ท้าวคำปินผู้เป็นชายาเจ้าเก้าเถือ่น  ได้หลบหนีไปโดยที่ขณะนั้นตั้งครรภ์อยู่  ชาวบ้านได้ช่วยเหลือจนคลอดบุตร ชื่อว่า เจ้าขุนใส  เมื่อเติบใหญ่ ได้เข้าไปรับใช้พระยางำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน ได้รับการ สถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใส่ยศ และให้ไปครองเมืองปราด  ภายหลังเจ้าขุนใส่ยศ มีกำลังพลมากขึ้น จึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา  และได้สถาปนาตนเป็น พญาผานอง ครองเมืองปัว (วรนคร) ต่อมาอีก ๓๐ ปี จึงพิราลัย
 
 
ในสมัยของพญาการเมือง ผู้เป็นโอรสของพญาผานอง ครองเมืองน่าน (พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๐๑)  มีการสร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยจนได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัยให้ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย เมือตอนกลับ  เจ้าเมืองสุโขทัยได้พระราชทาน พระธาตุ ๗ องค์ ให้นำกลับไปบูชา   จึงเป็นเหตุให้คิดสร้างวัดพระธาตุแช่แห้งขึ้นบนภูเพียงแช่แห้ง  พร้อมทั้งอพยพผู้คนจากวรนครมาสร้างเมืองใหม่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง  เมืองภูเพียงแช่แห้ง  หรือภาษาลานนาเรียกว่า ปูเปียงแจ้แห้ง  หมายถึงภูเขาที่มีที่ราบพอสมควร เป็นชัยภูมิที่ดี


พญาการเมืองได้รับเอาพุทธศาสนาจากสุโขทัยมาสู่ดินแดนนี้   และสร้างวัดต่าง ๆ  โดยยึดเอาแบบอย่างจากสุโขทัย



วัดพระธาตุแช่แห้ง
 
วัดพระธาตุแช่แห้ง
 

วัดพระธาตุแช่แห้ง


วัดช้างค้ำ


 
 

วัดช้างค้ำ
 
วัดสวนตาล
วัดสวนตาล
 
 
วัดสวนตาล
 

 
การที่เมืองน่านเป็นพันธมิตรกับสุโขทัย  จึงเท่ากับเป็นปฏิปักษ์กับอยุธยา  ดังนั้นกรุงศรีอยุธยาจึงส่งขุนตาอินมาลอบปลงพระชนม์พญาการเมืองด้วยยาพิษใน พ.ศ. ๑๙๐๖ หลังจากครองเมืองแช่แห้งได้ ๔ ปี เป็นการริดรอนอำนาจของสุโขทัย  หลังจากนั้นเจ้าคำตัน โอรสขึ้นครองราชย์แทนต่อมาอีก ๑๑ ปี ก็ถูกลอบวางยาพิษในลักษณะเดียวกันอีก
 
 
  
เมืองน่านมีเจ้าครองนครถึง ๖๓ องค์ด้วยกัน  จนกระทั่งถึงพระองค์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นองค์ที่ ๖๒ ครองเมืองอยู่นานถึง ๒๕  ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๖๑)  ตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้สถาปนาเลื่อนยศเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐ์มหันต์ ชัยนันทบุรีมหาราช  วงศาธิบดี  (พระเจ้าน่าน)   เมื่อถึงแก่พิราลัย  เจ้ามหาพรหมสุรธาดา  อนุชาต่างมารดา ขึ้นครองเมืองน่านแทนต่อมาอีก  ๑๓   ปี พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๗๔   ก็มีการยุบเลิกเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นมา
 
 
 
 
 
หอคำซึ่งพระองค์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  ได้สร้างเป็นที่อยู่อาศัย  จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด  ต่อมามีการสร้างศาลากลางใหม่  จึงได้นำไปเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน จนปัจจุบัน
 
 
 
 
 
เมืองน่าน  มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ     ประวัติศาสตร์ของเมืองน่านได้ชี้ให้เห็นถึงการเป็นชุมชนที่รักความสงบ  ผู้คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม  จึงมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย   พม่า   ลาว  จีน ชาวเขา   คละเคล้ากันไป
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จุดเด่นของเมืองน่าน  คือวัดภูมินทร์  ที่มีรูปลักษณะสวยงาม  จนได้รับการนำภาพของวัด ไว้บนธนบัตรฉบับแรก ๆ  ของประเทศไทย
 
 
 
 
 
 
 
หากอยากจะเห็นว่าเมืองน่านเป็นอย่างไร ให้เดินทางไปที่วัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ เป็นจุุดชมวิว   ที่สามารถมองเห็นเมืองน่านได้ทั้งเมือง  จะเห็นสภาพของเมืองน่านที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาที่ทำให้เมืองน่านดูเหมือนจะโดดเดี่ยว  แต่แท้จริงแล้ว เป็นเมืองที่อบอุ่นไปด้วยมิตรไมตรี  อบอุ่นไปด้วยความสุข สงบ  ที่ทำให้ใครก็ตามที่มาเยือนเมืองน่าน   จะต้องหวนกลับไปอีกครั้งหนึ่งแน่นอน
 
 
  
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จ.น่าน