บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สังขละบุรี...ดินแดนแห่งวัฒนธรรม ๒ แผ่นดิน



บริเวณที่แม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกันเรียกว่า สามประสบ


เคยได้ยินชีวประวัติและคุณความดีของท่านหลวงพ่ออุตตมะมานานมากแล้วและเคยตั้งใจว่าจะต้องไปกราบสักการะท่านสักครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสสักทีจนกระทั่งเกษียณจากงานประจำ ในครั้งนี้จึงมีความตั้งใจจริงจัง และได้เดินทางไปสังขละบุรีแล้วเมื่อช่วงที่ผ่านมา

 
ระยะทางจากกรุงเทพถึงสังขละบุรี ว่าไปแล้วก็มิได้ไกลหนักหนา เพียงแค่ ๓๕๐ กม.เศษเท่านั้น ถนนหนทางก็สดวกสบาย จะหนักหนาอยู่เพียงช่วงเดียว ระหว่างอำเภอทองผาภูมิไปอำเภอสังขละบุรี ที่เป็นเส้นทางภูเขา แต่ก็มีทัศนียภาพให้ได้ชมเป็นระยะเนื่องจากถนนบางช่วงตัดเลียบเขื่อนเขาแหลม

เราออกเดินทางแต่เช้า ไปถึงสังขละบุรีประมาณบ่าย ๒ โมง สังขละบุรีเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนพม่าจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีชนหลายเผ่าอาศัยอยู่ ที่เห็นอยู่เป็นกลุ่มก้อนก็มีกลุ่มชนกะเหรี่ยง และกลุ่มชนชาวมอญ บุคคลเหล่านี้หนีภัยจากแผ่นดินพม่ามาพึ่งพระบรมโภธิสมภารในแผ่นดินไทย

ภาพวาดหลวงพ่ออุตตมะ

ท่านหลวงพ่ออุตตมะน่าจะถือได้ว่าท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชนชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงบนผืนแผ่นดินไทย ชาวมอญนับถือท่านเป็นเทพเจ้าของชาวมอญ  ประวัติของท่านน่าสนใจยิ่งนัก ท่านเกิดที่จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า บิดามารดามีอาชีพทำนา ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๒ คน  น้องๆหลายคนของท่านเสียชีวิตไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ยกเว้นตัวท่านที่รอดมาจนกระทั่งอายุ ๙ ขวบ บิดามารดาจึงให้ไปอยู่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียนอันเป็นวิถีประเพณีเช่นเดียวกับคนไทยในอดีตที่มักจะส่งลูกชายไปอยู่วัด เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้ประสาทวิชา  ท่านอยู่วัดจนถึงอายุ ๑๒ ปีบิดามารดาจึงไปรับมาเล่าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐบาลอีก ๕ ปี จนจบการศึกษาในระดับประถมและออกมาช่วยบิดามารดาทำนาอีก ๒ ปี  ขณะนั้นนายเอหม่อง ซึ่งเป็นชื่อของท่าน มีอายุได้ ๑๙ ปี บิดามารดาจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวรามัญที่ปฏิบัติสืบกันมา  ระหว่างที่เป็นสามเณรท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความอุตสาหะ  จนกระทั่งเมื่อท่านอุปสมบทในช่วงต่อมา ได้รับฉายาว่า"อุตตมะรัมโภ" ซึ่งแปลว่าผู้ที่มีความพากเพียรสูงสุด  ท่านสอบได้เปรียญธรรมสูงสุดของพม่าในปี  ๒๔๗๕

ท่านได้ธุดงค์ไปตามที่ต่างๆทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทย เข้าเมืองไทยครั้งแรกที่เชียงใหม่ เมื่อปี ๒๔๘๖ และธุดงค์ไปเรื่อยๆทั้ง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน  น่าน  ตาก  และกาญจนบุรีก่อนกลับพม่า และเข้ามาอีกครั้งทางสังขละบุรี ในปี ๒๔๙๒ ท่านเคยจำพรรษาที่วัดท่าขนุน ทองผาภูมิ, วัดเกาะ โพธาราม  ราชบุรี  ซึ่งมีชาวมอญอาศัยอยู่ ในระหว่างการจำพรรษาที่วัดเกาะ โพธาราม ท่านได้รับข้อมูลจากชาวมอญว่า มีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่านจำนวนมากหนีภัยจากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ที่สังขละบุรี ท่านจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียนชาวมอญเหล่านั้น 
 

นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของชุมชนมอญที่สังขละบุรี  หลังจากที่ท่านไปเยี่ยมชาวมอญซึ่งอพยพหนีภัยมาดังกล่าว  ท่านได้พาชาวมอญไปอาศัยอยู่ที่ตำบลวังกะล่าง และจัดระเบียบชาวมอญเพื่อมิให้เป็นปัญหาต่อแผ่นดินไทย ในจำนวนนี้มีชาวกะเหรี่ยงรวมอยู่ด้วย  แต่ท่านก็ควบคุมให้ทั้งกะเหรี่ยงและมอญอยู่กันด้วยความสงบสันติ
 
 
ในปี ๒๔๙๙ ชาวบ้านเหล่านี้ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" คือจุดที่แม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน แม่น้ำ ๓ สายนั้นคือแม่น้ำซองกาเรีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี  ชาวบ้านเรียกสำนักสงฆ์นี้ว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" หลังจากนั้นก็ได้สร้างอุโบสถ เจดีย์ เพิ่มขึ้นมา และได้รับอนุญาติจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อวัดว่า "วัดวังก์วิเวการาม" โดยมีชุมชนมอญอาศัยอยู่บริเวณรอบๆ วัด 




อุโบสถวัดวังก์วิเวการามเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ


 

หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมเสร็จในปี ๒๕๒๗ ทำให้น้ำท่วมบริเวณที่ชุมชนมอญอาศัยอยู่ รวมถึงวัดวังก์วิเวการาม ท่านหลวงพ่ออุตตมะจึงให้ย้ายวัดขึ้นมาอยู่บนเนินเขาตรงที่อยู่ปัจจุบันและเริ่มพัฒนาวัดเรื่อยมา  ส่วนวัดเก่าซึ่งอยู่ใต้น้ำ จึงเป็นวัดร้างและเห็นได้เฉพาะช่วงที่น้ำลดเท่านั้น  จุดนี้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย และเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในใจของชาวมอญทุกคน



อุโบสถหลังใหม่


 
 
 
เจดีย์พุทธคยาจำลอง


หลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างเจดีย์พุทธคยาจำลองตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ โดยจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ใช้แรงงานฝีมือที่เป็นชาวมอญ หญิง-ชาย ประมาณ ๔๐๐ คน ร่วมมือกัน
 



ปัจจุบันแม้ท่านจะได้มรณะภาพไปแล้วตั้งแต่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙  ด้วยอายุ ๙๗ ปีแต่คุณความดีของท่านยังคงอยู่ในใจของชนชาวมอญทุกคน  ข้าพเจ้าได้คุยกับชาวมอญคนหนึ่งซึ่งค้าขายอยู่บริเวณสะพานไม้เก่า ๆ  ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่าสะพานมอญ เพราะสะพานนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชนชาวมอญที่ร่วมกันสร้างเพื่อให้สดวกต่อการสัญจร ชาวมอญคนนี้บอกว่า ท่านคือองค์เทพเจ้าจริงๆ หากไม่มีท่านก็ไม่มีวันนี้ของชาวมอญที่ได้อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบายบนแผ่นดินไทย และมีโอกาสได้รับสัญชาติไทยทั้งหมดรวมประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าครัวเรือน  เป็นจำนวนประชากรเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน


เมื่อคนมอญอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก จึงมีการนำเอาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติกัน ประเพณีของชาวมอญนั้น โดยทั่วไปจะจัดตามจันทรคติคือนับวัน เดือน ปี ของการโคจรของดวงจันทร์ ข้างขึ้น ข้างแรม
 


ประเพณีตำข้าวเม่าในเดือนอ้าย เมื่อข้าวออกรวง เพื่อนำไปถวายพระ
 

ประเพณีออกพรรษา

 
ประเพณีทอดกฐิน

ส่วนชุมุชนชาวกะเหรี่ยง ก็แยกมารวมกลุ่มชนในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโดยอาศัยอยู่รอบๆ"วัดศรีสุวรรณ" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัดของชาวกะเหรี่ยงวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงก็ไม่แตกต่างกันนักในวันที่ข้าพเจ้าไปเที่ยวมีโอกาสได้ชมขบวนแห่นาคของชาวกะเหรี่ยงที่วัดศรีสุวรรณ ที่จัดให้มีอุปสมบทหมู่  มีขบวนนาคน่าจะเป็น ๑๐๐ คนเห็นจะได้
 


อุปสมบทหมู่วัดศรีสุวรรณ


ชาวกะเหรี่ยงร่วมเฉลิมฉลองงานบวช


วัฒนธรรมเหล่านี้ ก็คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  วัฒนธรรมของชนชาวไทยและชนชาวมอญ  จึงเป็นดั่งบ้านพี่เมืองน้องบน ๒ แผ่นดินเดียวกัน ภายใต้ร่มเงาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
 



สะพานเดิมด้านขวา ได้ขาดกลางด้วยกระแสน้ำเชี่ยว ด้านซ้ายคือสะพานลูกบวบ


สะพานมอญที่เป็นสัญญลักษณ์หนึ่งของชุมชนนี้ ได้สร้างขึ้นนานแล้วจากความร่วมมือร่วมใจของชนชาวมอญ บัดนี้ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จนเมื่อวันหนึ่งที่น้ำไหลเชี่ยวกราก  สะพานไม้นี้ไม่สามารถต้านแรงเชี่ยวของน้ำได้  จึงพังลงเป็นดังที่เห็น  แต่ชาวมอญ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะมุมานะสูงมาก  ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้งหนึ่ง  สร้างสะพานลูกบวบ ที่เป็นคล้ายแพขึ้นมาใช้สัญจรแทนสะพานที่พังลง





ในทุก ๆ เช้าจะมีพระสงฆ์ทั้งจากวัดมอญคือวัดวังก์วิเวการาม และวัดกะเหรี่ยงคือวัดศรีสุวรรณ  ออกบิณฑบาตรมาจนถึงบริเวณสะพานมอญนี้ นักท่องเที่ยวสามารถใส่บาตรได้  มีชาวบ้านทำอาหารมาจำหน่ายบริเวณสะพาน
 
 
 
 


การเข้ามาอาศัยที่สังขละบุรีของคนมอญพลัดถิ่น ทำให้สังขละบุรีเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว  ทั้งด้านวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์  ตลอดจนธรรมชาติที่สวยงาม  มีเรื่องที่น่าค้นหาอีกมากมายที่สังขละบุรีแห่งนี้  ที่รอคอยท่านอยู่
 
 


สะพานมอญ  สะพานประวัติศาสตร์ของชาวมอญ
วิถีชีวิต ของคนท้องถิ่น
ด่านเจดีย์สามองค์  สุดเขตแดนไทย

ยามเช้าที่บริเวณสามประสบ สวยงามมาก

 
ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ไปพม่าผ่านด่านเจดีย์สามองค์






ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดวังก์วิเวการาม


 
 

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สัมผัสหนาวที่พะเยา สัมผัสดาวที่เชียงของ

 
 



ปีนี้ลมหนาวมาแรงและนานกว่าปกติ จนทุกคนสามารถสัมผัสความหนาวเย็นได้อย่างทั่วถึง  อากาศเย็น ๆ เช่นนี้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบรรยากาศของภาคเหนือซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดอกไม้จะบานสะพรั่งท่ามกลางลมหนาว เป็นความสุขบนความสวยงามของธรรมชาติที่หาได้ไม่บ่อยนัก   ข้าพเจ้าเตรียมวางแผนเดินทางในทันที  ตั้งใจจะแวะไปเรื่อยๆ คาดว่าจะใช้เวลาสัก ๕ วัน ก็คงจะเที่ยวให้สมใจอยากได้    จุดหมายปลายทางคือ จ.เชียงราย สูงสุดแดนสยาม
 


เราออกเดินทางกันแต่เช้ามืด จุดหมายแรก คือ จ.พะเยา เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าสงบมากเมืองหนึ่งของภาคเหนือและยังมีวัฒนธรรมการตักบาตรข้าวเหนียวแบบหลวงพระบางหลงเหลืออยู่  เราขับรถไปเรื่อยๆ บนเส้นทางที่ปลอดโปร่งรถรามีน้อย วิ่งได้สบาย ๆ เพราะเป็นวันธรรมดา การจราจรไม่ติดขัด จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปกติเล็กน้อยก็แถวบริเวณ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีทัศนวิสัยไม่ค่อยดีนัก  มีหมอกหนาเป็นบริเวณกว้าง แต่เมื่อพ้นไปแล้วก็ขับสบาย ๆ ไปถึงพะเยาประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ ๆ




เมืองพะเยาเงียบสงบสมคำล่ำลือ ถนนหนทางมีอยู่ไม่กี่สาย ลักษณะผู้คนก็ไม่รีบร้อนพลุกพล่านเหมือนกรุงเทพ  ดูทุกอย่างเรียบง่ายไปหมด  ขับรถผ่านตัวเมืองตรงมาเรื่อยๆ ก็จะถึงกว๊านพะเยา  วิ่งบนถนนเลียบริมกว๊านมาจนถึงกว๊านพะเยาวิลล่า ทำการเช็คอินให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกสำรวจเมือง




วัดติโลกอาราม เป็นจุดแรกที่เราต้องรีบไปเพราะตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ กลางกว๊านพะเยา การไปที่วัดนี้  ต้องนั่งเรือไปเท่านั้น






เรือจะมีบริการทุกวันตั้งแต่เช้าถึง ๕ โมงเย็น  ลักษณะเรือที่นั่งเป็นเรือแจวแบบโบราณ  ที่นี่เขาไม่ใช้เครื่องยนต์กัน เพราะน้ำในกว๊านพะเยาใช้เป็นน้ำกินน้ำใช้สำหรับประชาชนในจังหวัด  นับว่าเป็นการรักษาธรรมชาติได้ดีมากทีเดียว เรือแจวประมาณ ๑๐ นาทีก็ถึงวัด ที่วัดนี้ไม่มีพระจำพรรษา มีเพียงพระประธานประดิษฐานอยู่




ตามประวัติวัดติโลกอาราม  เป็นโบราณสถานที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา จากหลักฐานศิลาจารึกที่ขุดพบบริเวณวัด ทำให้ทราบว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญเป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา นครเชียงใหม่ โปรดให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาดำเนินการก่อสร้าง ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๙ และประทานเงินก่อสร้างจำนวน ๑๐ แสนเบี้ย  ความเก่าแก่ของวัดนี้ หากนับเวลามาจนปัจจุบันก็มีอายุเกินกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว แต่เดิมบริเวณนี้เป็นชุมชนโบราณ ที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ล้อมรอบด้วยขุนเขา เมื่อทางราชการสร้างประตูกั้นน้ำขึ้นมา  ทำให้น้ำที่ไหลจากขุนเขา เข้าท่วมชุมชนจนเอ่อท้น บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่รับน้ำและกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ในที่สุด ชุมชนและวัดจมอยู่ใต้น้ำ  ต่อมาบรรดาคณะสงฆ์,ข้าราชการ,พ่อค้า,ประชาชน ของจังหวัดพะเยาได้รวมพลังกันดำเนินการกู้วัดขึ้นมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ์ให้แก่ในหลวงของเราเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม  ๘๐ พรรษาเมื่อวันที่  ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐  และอัญเชิญพระพุทธรูปที่จมอยู่ใต้น้ำขึ้นมาประดิษฐานเพื่อให้ผู้คนสักการะ 




เนื่องจากที่ตั้งวัดเป็นเกาะเล็กๆ  หลังจากสักการะพระพุทธรูปบนเกาะ เราใช้เวลาชมบริเวณรอบ ๆ  ประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จและเดินทางกลับ ทันได้เห็นพระอาทิตย์ตกลับขุนเขาเหนือกว๊านพะเยา  สวยงามเป็นอย่างยิ่ง






ในช่วงเวลาเย็น ๆ  ชาวบ้านนิยมมาเดินออกกำลังกายบริเวณริมกว๊านกันจำนวนมาก  ตลอดแนวถนนริมกว๊าน มีร้านอาหารหลากหลายสลับกับที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณนี้จึงคึกคักในยามเย็นโดยเฉพาะช่วงวันหยุด และยังเป็นที่ตั้งของ อนุสาวรีย์ พ่อขุนงำเมือง ซึ่งเป็นพ่อเมืองแห่งแคว้นพะเยาในอดีตบริเวณหน้ากว๊านพะเยา





เช้าวันใหม่ที่จังหวัดพะเยา ไม่หนาวมากนัก  อากาศสดชื่นเย็นสบายบริเวณใกล้ๆที่พัก ซึ่งเป็นท่าเรือไปวัดติโลกอาราม จะมีการตักบาตรข้าวเหนียวทุกเช้า  เจ้าหน้าที่จะปูเสื่อให้ประชาชนนั่งตักบาตร  มีชาวบ้านทำอาหารสำเร็จรูปสำหรับถวายพระมาจำหน่าย อาหารส่วนใหญ่จะห่อด้วยใบตอง เราซื้อแล้วก็นำไปถวายยังที่ซึ่งเขาจัดไว้ให้  ส่วนกระติ๊บข้าวเหนียวรอใส่บาตรพระ เรานั่งรอบนเสื่อที่เขาปูไว้  สักครู่พระก็เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตร ชาวบ้านที่รอใส่บาตร ต่างก็หยิบข้าวเหนียวจากกระติ๊บคนละกำมือใส่ของลงในบาตรเรียงไปทีละองค์จนครบ  การตักบาตรข้าวเหนียวนี้เป็นประเพณีของชาวลาวซึ่งจะพบเห็นส่วนใหญ่ที่หลวงพระบาง นั่นแสดงว่าคนพะเยาส่วนหนึ่งเป็นพวกลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐาน หรือชุมชนที่จมอยู่ใต้น้ำก้นกว๊านพะเยาอาจจะเป็นลาวอพยพก็อาจเป็นได้ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าการตักบาตรข้าวเหนียวที่พะเยาจะมีเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น และในทุกๆวันพุธ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาร่วมด้วย ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม







ที่จังหวัดพะเยามีวัดที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง การไปเที่ยวครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ไหว้พระไปด้วยตลอดทาง


วัดศรีโคมคำ  เป็นพระอารามหลวงอยู่ในอำเภอเมือง จ.พะเยา เดิมชาวบ้านเรียกขานกันว่า "วัดพระเจ้าตนหลวง" ตามชื่อของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดของล้านนา สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔  เมตร สูง ๑๗ เมตร ใช้เวลาสร้างนานถึง ๓๓ ปี วัดนี้เป็นศูนย์รวมใจของชาวพะเยา ในทุกวันจึงมีผู้มาสักการะไม่ขาดสาย






วัดอนาลโยทิพยาราม อยู่ในเขตอำเภอเมือง จ.พะเยา เช่นกัน บนเส้นทางพะเยา-เชียงราย ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๒๐ กม. วัดนี้ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ของตำบลสันป่าม่วง  สร้างโดยพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล





วัดอนาลโยมีประวัติที่น่าพิศวงคือก่อนสร้าง ท่านนิมิตเห็นทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสายรังสี  แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัดจนแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ เมื่อท่านมองทวนลำแสงสีทองไปก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยา  หลังจากนั้นมีญาติโยมมาอาราธนาให้ไปดูสถานที่สำคัญและแปลกประหลาดเพื่อจะสร้างสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญบุญกุศลของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านมักจะเห็นเหมือนกันคือมีแสงสว่างเป็นดวงกลมล่องลอยไปมาอยู่บนดอยสูง แสงนั้นดูสว่างเรืองรองบางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองสดอาบทั้งดอยราวกับเป็นดอยทองคำ เหตุการณ์เหล่านี้มักปรากฏในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเสมอๆ หลังจากท่านพิจารณาดูสถานที่แล้วเห็นว่าเป็นที่สงบเหมาะสมกับการเจริญภาวนา จึงตัดสินใจสร้างเป็นที่พักปฏิบัติธรรม 








สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศน์ เสด็จมาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๕ และมีการก่อสร้างเรื่อยมา แต่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ จนวันหนึ่งท่านได้รับอาราธนาไปสวดเจริญพระพุทธมนต์ ในพระบรมมหาราชวัง  ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมมาถึงท่าน  ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า "ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้สร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูง คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไรจะปรึกษากรมชลประทานให้" หลังจากนั้นกรมชลประทานก็ได้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่งที่เพื่อผันน้ำมาใช้บนสำนักสงฆ์และจ่ายไปยังไร่นาของประชาชน 

 


สิ่งที่สัมผัสได้เมื่อมาถึงวัดนี้คือความเงียบสงบ พุทธวจนะที่สอนให้มนุษย์รู้จักทำจิตใจให้สงบนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าจะเป็นช่วงชีวิตของการทำงาน หรือช่วงชีวิตหลังเกษียณ ความสงบจะทำให้เกิดสติ รู้คิด รู้เหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในการดำรงชีวิต หากใครสามารถทำใจให้สงบได้ก็จะพบกับความสุขได้ไม่ยากนัก  ใครมาเที่ยวพะเยาไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวชมวัดนี้ให้ได้ เพื่อสักการะหลวงปู่ขาว อนาลโย และกราบสักการะพระพุทธรูปทองคำ ที่สวยงามมากองค์หนึ่ง ภายในวัดนี้ด้วย




ออกจากวัดอนาลโย  เราออกเดินทางต่อ  โดยมีเป้าหมายต่อไปที่อำเภอเชียงของ  จ.เชียงราย  เราตั้งใจที่จะสัมผัสธรรมชาติอย่างเต็มที่ จึงเลือกใช้เส้นทางที่ผ่านภูชี้ฟ้า ขับรถผ่านเขาเป็นลูกๆ  ผ่านน้ำตกภูซาง  ภูชี้ฟ้า  ดอยผาตั้ง ตลอดทางเป็นภูเขาสลับซับซ้อนสวยงามมากๆ  เส้นทางนี้เหมาะสำหรับคนที่มีใจรักธรรมชาติจริง ๆ เท่านั้นเพราะเส้นทางคดเคี้ยวมาก






ขับเรื่อยมาจนถึง อ.เวียงแก่น  และใช้เส้นทาง เวียงแก่น-เชียงของ  คราวนี้ได้สัมผัสธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง มิใช่ผ่านเข้าไปในขุนเขาอย่างเช่นที่ผ่านมาแต่มีลำน้ำเพิ่มเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศที่สวยงามมากขึ้น   บริเวณนี้ เป็นเส้นทางเลียบเขตแดนไทยลาว ขุนเขาของทั้งฝั่งไทยและลาว ถูกคั่นกลางด้วยลำน้ำโขง  ซึ่งถือเป็นจุดแบ่งเขตแดนไทย-ลาว
 
 
 
 





ถึง อ.เชียงของเกือบ ๕ โมงเย็น  บริเวณใจกลางอำเภอเชียงของจะมีลักษณะเป็นเมืองเก่า ถนนเล็กและแคบ  แต่คึกคักมากในช่วงเย็น ๆ เหมือนถนนคนเดิน  ต่างชาติมาเที่ยวกันเยอะทั้งฝรั่ง  จีน  ลาว  เราเลือกพักที่ รร.น้ำโขงริเวอร์ไซด์ ซึ่งอยู่ติดลำน้ำโขง   บรรยากาศดีมาก  ตรงข้ามเชียงของคือบ้านห้วยทราย ของประเทศลาว  ดูจากแสงไฟในยามค่ำคืนเห็นว่าน่าจะมีความคึกคักไม่น้อยกว่าฝั่งไทย 








เหตุที่ทำให้เชียงของคึกคัก เพราะมีจุดข้ามแดนไทย-ลาว สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ ๔  ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ สะพานนี้เกิดจากความร่วมมือด้านเงินทุน ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน เพื่อเพิ่มช่องทางการคมนาคมและขยายเขตเศรษฐกิจ สินค้าจากจีนสามารถขนส่งทางรถยนตร์ผ่านลาวที่บ้านห้วยทราย เข้าไทยที่เชียงของ  ประเทศลาวได้รับประโยชน์เต็มๆจากโครงการนี้   เสียเพียงแค่เงินชดเชยค่าที่ดินแก่ชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเท่านั้น  


 




ยามค่ำคืนที่เชียงของหนาวเย็นสมใจอยาก  เพียงแค่ ๒ ทุ่ม  ถนนคนเดินที่คึกคักก็เงียบสนิท  มีเพียงลมพัดแรงจากลำน้ำโขงที่ช่วยเพิ่มความหนาวเย็นจากขุนเขาให้มากยิ่งขึ้น  กับดวงจันทร์ที่เปล่งแสงสว่างในคืนเดือนมืด และดาวเพียงดวงเดียวที่เห็นได้ด้วยสายตา  เป็นความสุขในความเย็นยะเยียบที่น่าจดจำ






เช้าวันใหม่ที่ริมฝั่งโขง  สุขสดชื่นจริงๆ พระอาทิตย์โผล่ขึ้นจากขุนเขาฝั่งลาว มองเห็นได้จากระเบียงห้องพัก  สวยงามยิ่งนัก








หลังเสร็จสิ้นจากทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารซึ่งเป็นเทอเรสยื่นออกไปริมโขงเราออกเดินทางต่อ โดยใช้เส้นทางจากเชียงของ- เชียงแสน ซึ่งเป็นเส้นทางที่เลียบตะเข็บแนวชายแดนอีกเช่นกัน และเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สวยงามมากๆ  ที่สามารถเห็นทั้งวิวภูเขา และ แม่น้ำ เกือบตลอดเส้นทาง  เราใช้เลือกใช้เส้นทางนี้เพื่อเดินทางเข้าสู่เชียงแสนและเชียงราย โดยมีเป้าหมายพักค้างที่เชียงรายในคืนนี้  เส้นทางนี้บางช่วงอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงถนน จึงไม่สามารถทำเวลาได้  ไปถึงเชียงรายก็เกือบเที่ยง 
 









ที่เชียงราย เรามีโอกาสได้ไปชมผลงานศิลปะที่สวยงามแปลกตาของอาจารย์ถวัลย์  ดัชนี  ศิลปินแห่งชาติ  ที่บ้านของท่านซึ่งจัดไว้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม  สไตล์ศิลปะของท่านจะออกแนวสีดำ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า"บ้านดำ"  คนต่างชาติชื่นชอบมาก









ออกจากบ้านดำ เราแวะไปชมความงดงามของวัดร่องขุ่น  ฝีมือศิลปะสีขาวที่สวยงามของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งที่ตั้งใจออกแบบและก่อสร้างเพื่อตั้งใจจะให้เป็นมรดกทางศิลปะในรัชกาลที่ ๙  ช่วงเวลาที่ไปถึง พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว  แสงสีชมพูอมส้มที่ปลายฟ้า ช่วยทำให้วัดร่องขุ่นมีความสวยงามโดดเด่นมากขึ้น


 

ที่จังหวัดเชียงรายช่วงนั้น อากาศหนาวเย็น  จังหวัดได้จัดงานดอกไม้งามขึ้นที่สวนสาธารณะกลางเมือง เรามีโอกาสได้เข้าไปชมในยามค่ำคืน เพลิดเพลินกับความงามของดอกไม้เมืองหนาวหลายชนิด ซึ่งส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณงาน 
 
 
 
 
 
 
 
 

 
 
 
จังหวัดเชียงราย  เป็นเมืองหน้าด้านของล้านนาที่มิใช่เพียงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีความสวยงามของธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง  การไปสัมผัสเหนือในครั้งนี้ จึงคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เราออกจากรีสอร์ทที่พักในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ โดยระหว่างทาง ได้แวะค้างเขาค้อเพื่อชมธรรมชาติที่งดงามของเขาค้ออีก ๑ คืนก่อนกลับบ้านด้วยความอิ่มเอิบใจ.........