บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อาลัย พี่ชายที่แสนดี..ณรงค์ สรรพอุดม

 
 
 



เมื่อได้รู้ว่าพี่เบื้มเป็นมะเร็งที่ตับ  ใจอดไม่ได้ที่จะคิดถึงตุ๊กน้องชายคนเล็กที่เสียชีวิตเพราะปัญหาเรื่องตับในทันที  "หรือว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน" ?????? แม้จะอดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ในสิ่งที่จะตามมาในเวลาอันใกล้  แต่ประสพการณ์สอนให้มีสติ  และทำใจให้สงบนิ่ง  เพื่อเตรียมพร้อมและวางแผน



หมอให้ทำการเช็คสอบอีกหลายอย่าง  นอกเหนือจากการเจาะเลือดเพื่อดูผลในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอัลตราซาวน์  ทำซีทีสแกน  ส่องกล้อง  ยิ่งตรวจก็ยิ่งพบ และพบว่ามะเร็งลุกลามไปหลายแห่งแล้ว  โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณกระเพาะอาหาร   ลุกลามไปยังลำไส้  ตับ และต่อมน้ำเหลือง  เสมือนว่าจะยากต่อการเยียวยาแล้ว   เวลาแห่งชีวิตเหลืออีกเพียง ๒  เดือนเท่านั้น   ตามประกาศิตของแพทย์ผู้ที่จะทำการรักษา    ซึ่งแนะนำให้ตัดกระเพาะอาหารทิ้ง แล้วเชื่อมต่อลำไส้กับทางเดินอาหาร  โดยอาจจะเป็นผลให้ใช้ชีวิตลำบากไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น ก็ค่อยไปให้เคมีบำบัดที่ตับในภายหลัง 



ช่างเป็นคำแนะนำที่ง่ายต่อการเข้าใจ  แต่ยากต่อการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะกรณีที่จะต้องตัดสินใจภายใต้กรอบเวลาที่มีอยู่จำกัด เพราะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดต่อเนื่องยาวหลายวัน    แต่ในที่สุดทุกคนก็ยังไม่อาจตัดสินใจโดยปราศจากการไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนได้   เพราะสภาพภายนอกที่ปรากฏด้วยสายตานั้นยังมิได้เป็นที่น่ากังวลสักเท่าใด  ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า  แท้จริงแล้วเวลาที่เหลืออยู่....มันแสนสั้น 



อาการของพี่เบิ้มเพิ่งจะเริ่มแสดงให้เห็นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗  ที่ผ่านมา โดยมีอาการแน่นท้องและเรอมีกลิ่น และเพิ่งไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลยะลาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม  เมื่อคราวที่ไปเยี่ยมลูกน้องที่เป็นคนงานเหมือง ในครั้งนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ให้ยามาทานจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ วัน กลับมีอาการอ่อนเพลียอย่างกระทันหัน จนหลานมาเยี่ยมเยียนและพบเห็นอาการที่ไม่ปกติ จึงแนะนำให้เข้ามาตรวจเช็คที่กรุงเทพอย่างละเอียด  พี่เบิ้มเป็นคนที่ขี้เกรงใจทุกคนที่อยู่รอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่ลูกเมีย ญาติพี่น้อง แม้จะได้รับคำแนะนำเช่นนั้นก็ยังบ่ายเบี่ยงอิดเอื้อน  แต่ในที่สุดก็ทนคำอ้อนวอนของลูกสาวไม่ไหว  จึงยอมเดินทางจากยะลามา กทม.  โดยมิได้สังหรณ์ใจเลยว่า  นั่นคือการเดินทาง...ครั้งสุดท้ายในชีวิต !!!! 



ในวันสงกรานต์ที่ผู้คนกำลังสนุกสนาน  แต่พี่เบิ้มกลับมีอาการเหนื่อยเพลียอ่อนล้าจนเกือบทนไม่ไหว  ลูกๆต้องพาไปโรงพยาบาลในวันนั้น และนับตั้งแต่วันที่ ๑๓  เมษายน ๒๕๕๗  ถึงวันที่  ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗  เพียง ๑๕  วันเต็มที่เหมือนกับฝันร้าย อาการทางกายเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับ  ความเจ็บปวดทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ วัน   จนไม่สามารถระงับด้วยยามอร์ฟีน และการให้เคมีบำบัดก็ไม่อาจทำได้   เนื่องจากผลการตรวจชิ้นเนื้อพบว่าเป็นเนื้อร้ายชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อคีโม  การให้คีโมอาจส่งผลต่อชีวิตในทันที รวดเร็วยิ่งกว่าการประคองชีวิตและรักษาตามอาการเสียอีก แพทย์แนะนำให้เลือกประการหลังเพื่อให้มีโอกาสใช้ชีวิตครอบครัว พ่อ แม่ ลูก  ด้วยกันในเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิด 
 


พี่เบิ้มต่อสู้กับโรคร้ายด้วยความเข้มแข็ง  จนถึงช่วงเช้าของวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗   เวลาประมาณ ๘.๐๐ น    ก็เริ่มปรากฏเค้าลางแห่งการลาจาก  ความดันเริ่มแผ่วลง...แผ่วลง  วัดได้ ๙๐/๖๐   ๘๐/๕๐   ๗๐/๔๐  และลดน้อยลงตามลำดับ อ๊อกซิเจนในเลือดเริ่มมีปริมาณต่ำลง  ต่ำลง.... จนถึงเวลา  ๙.๑๕  น. โลกทั้งใบก็หยุดนิ่ง   พี่เบิ้มได้จากทุกคนไปอย่างสงบ.... ท่ามกลางความรัก...และอาลัยของครอบครัวที่ขณะนั้นอยู่กันพร้อมหน้า ........เป็นการลาจาก....ไปชั่วชีวิต  ......

 



นายณรงค์ สรรพอุดม  หรือพี่เบิ้มของน้อง ๆ เป็นคนเมืองเพชรโดยกำเนิด  เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๒  ที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี   ในวัยเด็กศึกษาเล่าเรียน  ที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์  เพชรบุรี ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาที่กรุงเทพ  ที่โรงเรียนศิริศาสตร์ แถวสี่พระยา  กทม  โดยอยู่ในความอุปการะของ " พี่ทิพย์  หรือ ทิพยา สุวรรณานนท์ " ญาติที่เคารพนับถือ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ขณะนั้น  และเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่คณะบัญชี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ตามลำดับ



ด้วยความที่มีพี่น้องหลายคน และทุกคนล้วนอยู่ในวัยเรียน  พี่เบิ้มรู้ว่าพ่อแม่หาเงินให้เรียนด้วยความยากลำบาก  จึงคิดช่วยเหลือโดยหางานทำไปพร้อมกันด้วยในระหว่างเรียน ยอมเหนื่อยเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่่ เข้าทำงานที่บริษัทภาพยนตร์โคลัมเบีย ที่โด่งดังมากในขณะนั้น  แต่ก็ได้เงินเพียงน้อยนิด  จึงหันไปทำงานที่กรมศุลกากร ที่พอจะทำให้สามารถใช้จ่ายได้คล่องตัวขึ้น  พี่เบิ้มเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวาง เป็นคนมีน้ำใจ  รักพวกพ้อง  จึงทำให้มีเพื่อนฝูงมากมาย   จนได้รับการชักชวนจากพี่กี๋  บัญชา  ตันติวิท  เพื่อนสนิทให้ไปดูแลงานเหมืองแร่ที่จังหวัดยะลา 



จังหวัดยะลาในสมัยนั้น มิได้น่ากลัวเหมือนปัจจุบัน  ยะลาเป็นเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด น่าอยู่ แต่ภัยร้ายก็มีอยู่เนืองๆ  ฮิตที่สุดในขณะนั้นคือการจับตัวไปเรียกค่าไถ่  คิดไม่ถึงเลยว่าพี่เบิ้มถูกโจรจับไปเรียกค่าไถ่  เพราะโจรสำคัญผิดคิดว่าเป็นเจ้าของเหมือง   จับเอาตัวเข้าป่า อยู่ก็ไม่เป็นที่  วันทั้งวันเอาแแต่พาเดินป่า แต่โจรก็มิได้ทำร้ายร่างกายแต่ประการใด คงหวังเพียงเงินค่าไถ่เท่านั้น   มิหนำซ้ำอยากกินอะไรก็ตามใจ ให้คนไปซื้อมาให้กินจนเป็นที่พอใจ  รอจนกระทั่งเจ้าของเหมืองตัวจริงนำเงินไปจ่ายเป็นค่าไถ่  จึงปล่อยตัวออกมา ทรัพย์สินที่ติดตัวนอกเหนือจากเงิน ก็ตามเอามาคืนให้จนครบ  ช่างเป็นโจรที่มีสัจจะเสียนี่กระไร



พี่เบิ้มดูแลเหมืองให้ครอบครัวตันติวิทที่จังหวัดยะลาเรื่อยมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต  เคยประสพอุบัติเหตุร้ายแรงอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อประมาณ ๓ ปีที่ผ่านมาขณะที่ขับรถกลับจากเหมืองที่บันนังสตาร์  เกิดหลับในด้วยความอ่อนเพลีย  ทำให้รถที่ขับมาด้วยความเร็วสูงพุ่งชนท้ายรถคันหน้าอย่างเต็มแรง เกิดการบาดเจ็บสาหัสทั้งสองฝ่าย  แต่พี่เบิ้มยังอุตส่าห์พาคู่กรณีไปโรงพยาบาล โดยไม่ได้สนใจอาการบาดเจ็บของตนเอง  มารู้ภายหลังว่าสะบ้าแตกละเอียดก็เมื่อปวดจนทนไม่ไหว จึงต้องเข้ามาผ่าตัดที่กรุงเทพ  จนอาการดีขึ้น 




พี่เบิ้มเป็นที่รักของญาติพี่น้องทุกคน  ไม่ว่าใครจะได้รับความเดือดร้อน ก็มักจะยื่นมือเข้าช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อคราวที่มีอายุครบ ๗๒  ปี  ญาติพี่น้องทุกคนจึงรวมตัวกันจัดงานแซยิดให้อย่างเต็มใจ  ในวันนั้นพี่เบิ้มได้ถ่ายทอดชีวิตในอดีตให้ลูกหลานฟังอย่างภาคภูมิ และทิ้งท้ายแง่คิดในการทำงานที่ให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ เชื่อว่าคำสอนของพี่เบิ้มจะยังคงอยู่ในใจของลูกหลานทุกคน  และภาพที่ประทับใจในคืนนั้นเชื่อว่าคงไม่มีใครลืม




















ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวใหญ่  บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วก็มีอยู่หลายรุ่น  พี่เบิ้มจะปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่ทุกคนในครอบครัว  ในเรื่องให้ความสำคัญกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ  ในทุกๆ ต้นเดือนมกราคมของทุกปี พี่น้องทุกคนจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษทั้งหลายเสมอมา  ไม่เคยขาด
 



ครอบครัวและญาติพี่น้องร่วมกันจัดงานศพให้พี่เบิ้มอย่างเรียบง่าย และยึดหลักความพอเพียงตามที่พี่เบิ้มได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาตลอด มีผู้คุ้นเคยจำนวนมาก  เสียเงินเดินทางมาจากจังหวัดไกล ๆ  เพื่อมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพี่เบิ้ม  นี่ย่อมเป็นสิ่งยืนยัน ในคุณงามความดีที่พี่เบิ้มได้กระทำไว้ ต่อพวกเขาเหล่านั้น






พวกเราได้นำเอาเถ้ากระดูกพี่เบิ้ม ลงเรือลอยล่องไปยังปากอ่าวบ้านแหลม   เพื่อฝากเถ้ากระดูกไว้ในอ้อมกอดของ มหานทีแห่งนี้   ซึ่งถือเป็นถิ่นกำเนิด ของบรรพบุรุษต้นตระกูลสรรพอุดม  จีนต้วย แซ่โง้วซึ่งอพยพมาไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ล่องสำเภาเข้ามาทางปากอ่าวบ้านแหลม  เพื่อตั้งรกรากทำมาหากินที่อำเภอบ้านแหลมด้วยความพากเพียรอุตสาหะ  สร้างครอบครัวกับอำแดงเจ่ม    และมีจีนจูเป็นทายาทสืบทอดวงษ์ตระกูล  จีนจูได้ทำคุณต่อแผ่นดินจนเป็นที่ประจักษ์ต่อคนบ้านแหลม  จนได้รับบรรดาศักดิ์แต่งตั้งให้เป็นขุนอุดมเดชภักดี (อุดม สรรพอุดม) ต้นตระกูลสรรพอุดม 
 





การจากไปของพี่เบิ้ม...สร้างความโศกเศร้าอาลัยต่อลูกเมียและญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง ขออธิษฐานจิตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในโลกนี้  โปรดนำพาดวงวิญญาณของพี่เบิ้มไปสู่สรวงสวรรค์   คุณงามความดีที่พี่เบิ้มได้กระทำมาตลอดชีวิต  จงส่งผลให้ดวงวิญญาณของพี่เบิ้มสงบสุข....  ชั่วนิจนิรันดร์  หากวัฏฏสงสารมีอยู่จริงก็ให้ได้เกิดเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตไปทุกชาติภพ  





 

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เขาคิชฌกูฏ ในคืนเดือนเพ็ญ





คืนนั้นเป็นคืนเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ตรงกับวันที่  ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุทธยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ขึ้นเขาไปสักการะรอยพระพุทธบาท  โดยแต่ละปีจะเปิดให้คนขึ้นเพียง  ๖๐ วันเท่านั้นและในปี ๒๕๕๗  กำหนดเปิดเขาระหว่าง ๓๐ มกราคม  - ๓๑ มีนาคม  ช่วงนั้นจึงมีผู้คนล้นหลาม รอขึ้นเขากันทั้งวันทั้งคืน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้นที่หวังจะได้ขึ้นไปสักครั้งหนึ่งในชีวิตและตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องไปในปีนี้ให้ได้ 

 




เราใช้บริการทัวร์ซึ่งจัดไปสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏโดยเฉพาะ  ออกเดินทางจากกรุงเทพในช่วงค่ำประมาณ  ๑๙.๐๐ น.  เข้าเขตจันทบุรีก็ประมาณเที่ยงคืน  ถึงวัดพลวงก่อนตีหนึ่ง  แม้จะเป็นยามดึก  แต่ที่วัดพลวงสว่างไสวเหมือนกับเป็นกลางวัน  ผู้คนกวักไกว่แน่นขนัดไปหมด  บริเวณนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นเขาคิชฌกูฏ  คนจากทั่วสารทิศที่มาเพื่อจะขึ้นเขา จะต้องนำรถยนตร์มาจอดไว้ที่วัดพลวงทั้งหมดและขึ้นเขาด้วยรถปิดอัฟเท่านั้น  ทางอุทยานไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นนอกจากที่ได้รับอนุญาติ  ก่อนขึ้นรถปิคอัพทุกคนต้องซื้อบัตรก่อนในราคาประมาณ ๕๐.- บาท/คน  ในบัตรนั้นจะมีเลขที่กำกับไว้  เพื่อให้แต่ละคนได้ขึ้นรถตามคิว  
 





ยอดเขาคิชฌกูฏอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ   ๑,๐๐๐  เมตร ระยะทางจากตีนเขาถึงยอดเขา ประมาณเกือบ ๑๐ กิโลเมตร  ทางขึ้นเป็นถนนดิน   สูงชัน  และคดเคี้ยว หักศอกตลอดทาง  ถ้าไม่มีความชำนาญคงไปเรื่องยากทีเดียวในการขับรถขึ้นเอง  นี่คงเป็นเหตุผลที่กรมอุทยานได้ห้ามไว้นั่นเอง  เพราะมิฉะนั้น คงมีเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุกันบ่อย  เพราะเหตุที่เส้นทางลำบากมากจริงๆ  แม้แต่รถปิ๊กอัพที่นำพวกเราขึ้นก็ยังต้องแบ่งการวิ่งออกเป็น ๒  ช่วง  ๆ ละ ๔ กิโลเมตร  รถจะรับผู้โดยสารจากเชิงเขาขึ้นไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ส่งผู้โดยสารครึ่งทาง เราต้องไปซื้อบัตรอีกครั้งเพื่อต่อรถขึ้นไปอีกครึ่งทางช่วงบน  วิ่งไปอีก  ๔ กิโลเมตร ก็จะส่งผู้โดยสาร เพื่อเดินต่อไปอีก ๑ กิโลเมตรเศษ  ทุกคนต้องเดิน ๆ ๆ  ยกเว้นคนที่ไม่ไหวจริง ๆ  ก็จะมีลูกหาบรับจ้างแบกขึ้น  ตลอดเส้นทางช่วงที่ต้องเดินจะมีพระพุทธรูปให้สักการะตลอดทาง  โดยจัดตั้งไว้เป็นระยะ ๆ  จนถึงจุดสูงสุดซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาท และหินลูกพระบาท ตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งเป็นไฮไลท์ของเขาคิชฌกูฏ

 




เรื่องตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎนี้  ข้าพเจ้าได้อ่านพบจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ของ จ.จันทบุรี ระบุว่าเจ้าอาวาสวัดกระทิง (พระครูธรรมสรคุณ) เป็นผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ   โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗  มีชาวบ้าน กลุ่มหนึ่งชื่อ นายติ่ง และพรรคพวก ได้พากันขึ้นเขาไปหาไม้กฤษณามาขาย ต้องพักอยู่บนเขาหลายวัน  และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่  เพื่อนของนายติ่ง ได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพัก  ก็พบแหวนวงใหญ่มาก ขนาดสวมใส่แม่เท้าได้  เป็นที่แปลกประหลาด จึงช่วยกันตรวจดูเพิ่ม  ก็พบหินแผ่นหนึ่งมีพื้นที่เป็นรูปรอยก้นหอย



หลังจากนายติ่งลงมาจากเขาก็มิได้บอกกล่าวเล่าความแก่ผู้ใด  จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อ.เมือง จ.จันทบุรี  ซึ่งตรงกับที่วัดมีงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง  นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น  และพูดเปรยว่า รอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน  มีพระรูปหนึ่งมาได้ยินเข้าและนำไปบอกเล่าต่อเจ้าวาส นายติ่งจึงถูกเจ้าอาวาสเรียกไปสอบถามและให้นำคณะขึ้นไปพิสูจน์  ก็พบว่าเป็นจริงตามคำบอกเล่าของนายติ่ง  และเมื่อตรวจดูตามบริเวณทั่ว ๆ ก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง
 


รอยพระพุทธบาทนั้น ท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่  บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคน ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาท มีหินกลมก้อนใหญ่มาก เรียกกันว่าหินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกและมหัศจรรย์เป็นอย่างมากที่ไม่น่าจะตั้งอยู่ได้  มองดูคล้าย ๆ ลอยอยู่เฉย ๆ มีคนเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้   และยังมีหินอีกลูกหนึ่งใหญ่มากเหมือนกัน  อยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้   จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้นห่างกันประมาณ ๕ เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินนั้น ตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ อันนี้เรียกรอยเท้าพญามาร  เพียงแหงนหน้าขึ้นไปมองจะเห็นได้ทันที  สูงประมาณ ๑๕ เมตร 




ความมหัศจรรย์นี้ถูกถ่ายทอดเป็นตำนานและเล่าขานสืบเนื่องกันมายาวนานจนปัจจุบัน และความมหัศจรรย์ในความคงอยู่ของก้อนหินยักษ์ที่เรียกว่าหินลูกพระบาท  ที่วางตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ยิ่งสร้างความศรัทธาให้กับพุทธศาสนิกชนที่รับรู้มากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ตลอดระยะทางที่เดินขึ้น  จึงมีผู้คนมากมายเรียกว่าเดินตามกันเป็นทิวแถวก็ว่าได้ กลางคืนจึงไม่ต่างจากกลางวัน ผู่คนเหล่านี้มาจากทั่วสารทิศของเมืองไทย





รอยพระบาทนี้ แต่เดิมเรียกขานกันว่าพระบาทพลวง เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพลวง ต.พลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี แต่เป็นความประสงค์ของพระครูธรรมสรคุณ  ที่อยากจะให้รำลึกถึงสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา ซึงเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในพุทธกาล คือยอดเขาคิชฌกุฏในประเทศอินเดีย  ด้วยว่าลักษณะและสภาพภูมิประเทศของเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรี คล้ายคลึงกับเขาคิชฌกูฏประเทศอินเดียมาก ทั้งแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อนและสิ่งมหัศจรรย์ที่ทรงคุณค่าทางศาสนาที่อยู่บนยอดเขาจึงตั้งชื่อว่าเขาคิชฌกูฏ





เขาคิชฌกูฏจึงเปรียบเสมือนเป็นแดนพุทธประวัติ ผู้ใดได้ขึ้นเขาคิชฌกูฏเพื่อไปสักการะรอยพระพุทธบาทจึงเสมือนหนึ่งกับการได้เดินทางไปยังดินแดนของพระพุทธเจ้า  แม้การเดินทางจะลำบาก และเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากว่าจะถึงแต่หากมีจิตใจมุ่งมั่น ใจก็จะอิ่มเอมไปด้วยบุญ  และหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อไปถึงบริเวณหินลูกพระบาท  จะพบผู้คนแน่นขนัดรอคิวสักการะรอยพระพุทธบาทอยู่ มีเจ้าหน้าที่คอยกำกับให้เป็นระเบียบและทำหน้าที่นำสวด พร้อมทั้งแนะนำพุทธศาสนิกชนให้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ๑ คำขอ



น่าเชื่อได้ว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับพรตามคำขอกับถ้วนหน้า  อย่างน้อยก็ได้พบกับความสุขที่เกิดขึ้นในใจของทุกคนที่มีความตั้งใจขึ้นมาสักการะ   คืนเพ็ญคืนนั้นจึงเป็นคืนอันศักดิ์สิทธิ์  แสงจันทร์ที่สาดส่องมาบนโลก  จึงเป็นดั่งแสงบุญที่อาบร่างนับร้อยนับพันนับหมื่นคนบนนั้นอย่างทั่วถึงได้  คณะของเราเดินทางลงจากเขาในช่วงหกโมงเช้าของวันใหม่ด้วยความอิ่มเอมในอาณิสงฆ์แห่งบุญที่สัมผัสได้กันทั่วหน้า  ความยากลำบากของการเดินทางในครั้งนี้ ย่อมสะท้อนถึงสัจจธรรมได้ชัดเจน  สิ่งดี ๆ ในชีวิต มิได้มาอย่างง่ายดาย  มันจะต้องผ่านความยากลำบากมาก่อนเสมอ หากคนเรามีความเพียร  ย่อมทำทุกสิ่งได้สำเร็จ  สัจจธรรมข้อนี้คงเป็นที่ประจักษ์ต่อพุทธศาสนิกชนที่ขึ้นมาบนเขาคิชฌกูชทุกคน








ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จ.จันทบุรี  และรูปภาพจาก google