บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รำลึกถึงน้องตี๋..ธรรมศักดิ์ อัศวเพียรชอบ






๔๔ ปีเศษมาแล้วที่เหตุการณ์นี้ไม่เคยลืมไปจากความทรงจำ  เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ริมหาดด้านหนึ่งของแม่น้ำมูลที่ชาวบ้านเรียกว่า"หาดวัดใต้"  ......................


ในวันนั้นชาวค่ายอาสาสมัครของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลุ่มหนึ่งเดินทางออกจากอำเภอน้ำยืน หลังจากได้ปฏิบัติภาระกิจที่โรงเรียนบ้านนาสามัคคีเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร  ได้แวะเล่นน้ำกันที่หาดแห่งนี้ เพื่อหวังชำระคราบไคลและฉลองความสำเร็จในงานค่าย....



แม่น้ำมูลในวันนั้น  ไหลเอื่อย ๆ  เงียบ สงบ  น่าสัมผัส  ชาวค่ายหลายสิบชีวิตพากันลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน  โดยไม่มีใครล่วงรู้มาก่อนเลยว่า ภายใต้ผิวน้ำที่เงียบสงบ  มีหลุมลึกอยู่ที่ก้นแม่น้ำนั้นอันเกิดจากการดูดทรายของชาวบ้าน  เมื่อน้ำเกิดแรงกระเพื่อมจึงก่อให้เกิดน้ำวนและดูดทุกสิ่งที่อยู่รอบข้าง......มัจจุราชรออยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว  และไม่มีลางสังหรณ์ใดที่จะเตือนเราว่า..ความสูญเสียกำลังจะเกิดขึ้น ...การก้าวลงน้ำของน้องตี๋ในวันนั้น...จึงเป็นการ...ก้าวจาก..พวกเราไป....ชั่วชีวิต....



ช่วงนั้นเป็นช่วงสงกรานต์พอดี และคุณพ่อระพี  สาคริก บิดาของชาวค่าย ได้เดินทางมาร่วมปิดค่ายกับพวกเราที่น้ำยืน  พี่ประจิต อริยกุลกาญจน์  ซึ่งเป็นผู้อำนวยการค่าย จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงมุทิตาจิตรดน้ำดำหัวขอพรจากคุณพ่อ  



เมื่อปล่อยให้พวกเราเล่นน้ำจนได้เวลาพอสมควรก็เรียกให้ขึ้นจากน้ำเพื่อทำพิธีรดน้ำดำหัว  พวกเราทะยอยกันขึ้นมาเรื่อย ๆ จนคิดว่าน่าจะหมดแล้ว จึงเริ่มมีการนับจำนวนคน.....................



นับครั้งแรกขาดไป  ๑    นับอีกครั้ง..ขาดไป ๑   นับอีกครั้งหนึ่ง..ขาดไป ๑   แต่ละรุ่นจึงเริ่มตรวจสอบสมาชิกในรุ่นของตนเอง  และพบว่ารุ่น ๓๐  ขาดไป ๑  คน และคนนั้นคือ น้องตี๋ ธรรมศักดิ์  อัศวเพียรชอบ  ........................



ตี๋เป็นคนเงียบและเรียบร้อย  จึงมีการคาดเดากันว่า  คงไปนั่งหลับอยู่ที่ใต้ต้นไม้ที่ไหนสักแห่ง  ทันทีๆคาดเดาเช่นนั้น  ทุกคนก็แยกย้ายกันไปตะโกนเรียกชื่อตี๋ จนดังไปทั่วคุ้งน้ำ....ไอ้ตี๋...น้องตี๋...ตี๋....แต่ทุกอย่างก็เงียบงัน..ไม่มีแม้เสียงกระซิบจากมัจจุราชว่า...ได้พรากชีวิตเขาไปแล้ว.......



เมื่อบนฝั่งไม่มี ..ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ตี๋คงต้องจมน้ำแน่ๆ ..............พลันที่มีการคาดเดาเช่นนั้น  แป๋ว..สมถวิล พาณิชยิ่ง  ก็กระโจนลงน้ำเป็นคนแรก...และเพื่อน ๆ  อีกหลายคนก็ทะยอยโดดตามลงไป ...สลับกันขึ้นมาหายใจและกลับลงไปงมหาอีก...ครั้งแล้วครั้งเล่า..แต่ก็ไม่มีวี่แววใด ๆ 



ตะวันจวนเจียนจะลับขอบฟ้าแล้ว...ความมืดเริ่มคลืบคลานเข้ามาแทนที่...เหมือนกับความกังวลใจที่คลืบคลานเข้ามาเกาะกินใจพวกเราทุกคน...ตี๋หายไปไหนกันแน่......ตี๋..เธออยู่ไหน..???????????



แล้วก็มีเสียงของพี่ยักษ์ สิทธิชัย ตะโดนฝ่าความเงียบขึ้นมาว่า ......เจอแล้ว  เจอแล้ว  !!!!!!!!!!!!!!!




พี่ยักษ์ สิทธิชัย เป็นคนนำร่างน้องตี๋ขึ้นจากน้ำ  มาวางลงที่ริมฝั่ง และรีบผายปอดให้ทันที ...แต่ก็ไม่เป็นผล..จึงได้นำน้องตี๋ส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์เพื่อให้หมอช่วยชีวิต.....



จำได้ว่าคุณพ่อระพี สาคริก ได้เข้าไปอ้อนวอนหมอเพื่อขอให้ช่วยชีวิตน้องตี๋อย่างสุดความสามารถ  พวกเราชาวค่ายที่เหลือก็ได้ตามไปติด ๆ และพากันนั่งรอฟังข่าวอยู่บนพื้นถนนของโรงพยาบาลอย่างคนห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง...............




ความมืดปกคลุมไปโดยทั่ว แต่ก็ยังพอมีแสงจันทร์ที่ให้ความสว่างได้บ้างเพียงสลัว ๆ  แต่ดวงจันทร์ที่เคยเหลืองอร่ามในคืนนั้นกลับมีสีแดงดุจสีเลือด......สาดแสงสีแดงอาบร่างพวกเราทุกคน....เหมือนดั่งจะส่งสัญญาณว่าต้องการชีวิตใครสักคน



การรอคอยในช่วงโพล้เพล้ของวันนั้น  ช่างเป็นการรอคอยที่นานแสนนาน  เหมือนดั่งจะมีความหวัง  แต่ก็สิ้นหวังเมื่อพี่ประจิต ออกมาส่งข่าวว่า..ตี๋จากพวกเราไปแล้ว !  จากไปแล้ว..ชั่วชีวิต !!!



ความเงียบเข้ามาครอบคลุมในหัวใจของทุกคนที่รอคอยด้วยความหวัง เสียงสะอื้นดังอย่างแผ่วเบา..แต่กรีดลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ..เมื่อรับรู้ความจริงว่าต้องสูญเสียน้องรักของเราคนหนึ่งไปอย่างแน่นอน




                   จากกันไปแล้วเรา... ถึงคราวซึ่งเราต้องพราก..... จากกันไปหลายแหล่งแห่งหน
                   อกเจียนพังมลาย...เคราะห์กรรมใดมาดล...แสนเศร้ากมลต้องพรากจากกัน.......
                   ..................................................................................................................
                   โอ้ครานี้เอย..ใครเลยหรือจะไม่เศร้า..น้ำตาเราแทบหลั่งรินไหล
                   จากกันไปแล้วเอย..โธ่เอยจากกันไกล..แสนเศร้าอาลัยต้องพรากจากกัน..........






คิดไม่ถึงว่า..เพลงที่ทุกคนร้องร่วมกันในวันอำลา...หน้ากองไฟก่อนปิดค่าย  จะเป็นการลาจากกันจริงๆ...




ตี๋น้องรัก ..ไม่ว่าวิญญาณของเธอจะอยู่แห่งหนตำบลใด  ขอได้โปรดรับรู้ว่า  พวกเราชาวค่ายเกษตร ยังรำลึกถึงเธออยู่เสมอ..ไม่เคยลืม จึงได้มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงเธอเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ.ริมแม่น้ำมูลแห่งนั้น..........



ขอบุญกุศลที่พวกเราได้กระทำมาทั้งหมด...จงส่งผลให้เธอพบแต่ความสุขสงบในสัมปรายภพ..ตลอดไป



วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วัดเจ็ดยอด สัตตมหาสถานของเชียงใหม่




ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปที่วัดนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่ชานเมืองเชียงใหม่  มีประวัติที่น่าสนใจหลายอย่าง  สิ่งแรกที่พบเห็นคือรูปทรงของเจดีย์ที่ดูแปลกตา มิได้มีลักษณะเหมือนวัดทั่วไป แต่มีลักษณะแปลกตาเด่นกว่าที่อื่นๆตรงที่มีลักษณะเป็นยอดแหลมจำนวนเจ็ดยอด รูปทรงคล้ายเจดีย์พุทธยา ประเทศอินเดีย จึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ที่ชาวบ้านใช้เรียกขานกัน



 



พระเจดีย์แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๙๘  โดยพระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา  โดยจำลองรูปแบบเจดีย์ให้คล้ายกับเจดีย์พุทธคยา และจำลองสัตตมหาสถานในพุทธภูมิไว้ เป็นแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการจำลองพุทธภูมิ   และในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี้ ได้ใช้วัดนี้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘  เมื่อ พ.ศ.๒๐๒๐  หลังจากที่มีการสังคายนามาแล้ว ๗ ครั้งที่ประเทศอินเดียและศรีลังกา
 
 
 
ความแปลกตาและโดดเด่นของเจดีย์วัดเจ็ดยอด สะท้อนให้เห็นได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่ในอดีตที่ผ่านมา  เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร์ล้านนา เป็นอิสระในสมัยที่ราชวงศ์มังรายปกครอง และตกเป็นของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองเมื่อปี พศ.๒๑๐๑ เป็นระยะเวลาถึง ๒๐๐ กว่าปี จนกระทั่ง พศ.๒๓๑๗ พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วร่วมกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไป  นับตั้งแต่นั้นมา เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย  ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่จึงมีการแบ่งไว้เป็น ๓ ระยะ
 
 
  • ระยะแรกช่วงสมัยราชวงศ์มังรายปกครองแผ่นดิน นับตั้งแต่พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ก่อนปี พศ.๑๘๐๑ และประทับอยู่ที่เมืองนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์  สิ้นสมัยของพญามังรายราว พศ.๑๘๕๔ หลังจากนั้นมีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาอีก ๑๗ พระองค์จนถึงราว พศ.๒๑๐๐ โดยพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ช่วงนี้พุทธศาสนาจึงมีความเจริญสูงสุด  แต่ในช่วงปลายของราชวงศ์มังราย พระเจ้าเมกุฏิปกครองเชียงใหม่ บ้านเมืองระส่ำระสายเพราะขุนนางแก่งแย่งอำนาจกัน ประชาชนเดือดร้อนโดยกษัตริย์ไม่สามารถปกครองขุนนางได้  เมืองเชียงใหม่จึงเข้าสู่ยุคแห่งความอ่อนแอ จนในที่สุดพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าก็กรีฑาทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดาย นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์มังรายแต่นั้นมา
 
 
  • ระยะที่สองเป็นช่วงสมัยที่พม่าปกครอง ราว พศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๖  โดยผู้ครองนครเชียงใหม่ จะต้องเดินทางไปแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์พม่าทุกปี 
 
 
  • ระยะที่สามเป็นช่วงที่เป็นประเทศราช ราว พศ.๒๓๑๔  ที่พระยาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชเพิ่งกู้ชาติ ได้นำกองทัพขึ้นมาช่วยเหลือสมทบกับเจ้าพระยากาวิละ เข้าตีเมืองเชียงใหม่ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จเมื่อ พศ.๒๓๑๗ เมืองเชียงใหม่จึงพ้นจากอำนาจของพม่าโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้นมา
 
 
 
นอกเหนือจากเจดีย์วัดเจ็ดยอด  การมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมจึงเสมือนดั่งการเดินทางย้อนอดีตเข้าไปยังพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  เพราะมีการจำลองสัตตมหาสถานไว้  คำว่า สัตตมหาสถาน ก็คือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ๗ แห่ง เมื่อครั้งตรัสรู้  มีดังนี้.- 
 
  1. โพธิบัลบังค์ -  สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ และทรงตั้งวิริยาธิษฐานปฏิภาณพระองค์ว่า  "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ จะไม่ยอมลุกจากที่ประทับนั้น แม้มังสะและโลหิตจะเหือดแห้งสูญสิ้นไป เหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที" เมื่อพระองค์ตรัสรู้ได้ ๗ วันจึงเสด็จจากวัชรอาสน์
  2. อนิมิสเจดีย์ - สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วทอดพระเนตรโพธิบัลลังค์ ๗ วันโดยไม่กระพริบพระเนตร
  3. รัตนจงกลมเจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเดินจงกลมพิจารณาหมู่สัตว์โลกอยู่ ๗ วัน
  4. รัตนฆรเจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาธรรมต่างๆ อยู่ ๗ วัน
  5. อชปาลนิโครธเจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรม และทรงมีพุทธฏีกาต่อนางมารว่า พระองค์ทรงละกิเลสหมดสิ้นแล้ว
  6. มุจลินทร์เจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรม อยู่ใกล้สระน้ำ มีพญานาค ๙ เศียรแผ่พังพานคอยป้องฝนให้
  7. ราชายตนะเจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรมอยู่ใต้ต้นเกด มีพระอินทร์มาถวายผลสมอทิพย์และมีพ่อค้า ๒ คนมาเห็นแล้วเลื่อมใสจึงถวายข้าวสะตู และพระองค์รับเป็นอุบาสกคู่แรก พระพุทธเจ้าทรงแบพระหัตถ์รับและตัดสินพระทัยใต้ต้นเกดที่จะโปรดเวไนยสัตว์ หลังจากพระองค์ทรงพิจารณาธรรมแล้วจึงทรงแสดงธรรมต่อท้าวมหาพรหม และทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรในวันอาสาฬหปรุณ วันเพ็ญเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบสามองค์









สัตตมหาสถานในพระพุทธศาสนานอกจากจะมีต้นแบบที่พุทธคยา อินเดียแล้ว ในโลกนี้มีสัตตมหาสถานที่สร้างขึ้นหลังพระพุทธกาลเพียง ๓ แห่งคือ  ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า , ที่วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่แห่งนี้    และที่พระธาตุบังพวน  จ.หนองคาย   จึงนับเป็นโชคดีของชาวเชียงใหม่ที่มีสถานที่สำคัญไว้เพื่อรำลึกถึงพุทธประวัติ.......






ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ และ หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ 
 
 
 
 
 
 
 

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

อาสาฬหบูชาที่วัดสามจีน






วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สำคัญมากที่สุดในพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นครั้งแรก ให้แก่ปัญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ธรรมนั้นคือธัมมจักกัปวัตนสูตรที่กล่าวถึงเรื่องการเดินสายกลาง  ทำให้ท่านโกญทัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทราบซึ้งในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา  วันนี้จึงเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ ทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ 

การได้รำลึกถึงพระพุทธคุณในวาระที่สำคัญเช่นนี้ จึงถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ชาวพุทธทั้งหลาย  ในวันสำคัญนี้จึงเห็นเหล่าพุทธศาสนิกชนพากันทำบุญตักบาตร เข้าวัดเพื่อปฏิบัติบูชา  ในปีนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปปฏิบัติบูชาที่วัดสามจีน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แถวย่านเยาวราช 

 

 
วัดสามจีนเป็นวัดเก่าแก่ เหตุที่ชื่อวัดสามจีนเพราะวัดนี้สร้างโดยชาวจีน ๓ คน ตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๓๗๔  ในช่วงนั้นคนจีนจากโพ้นทะเลหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินในกรุงสยามกันมากและจะอยู่รวมกันเป็นกระจุกบริเวณย่านเยาวราช สำเพ็ง  ทรงวาด  ราชวงศ์ ทำธุรกิจกันหลากหลาย ประสพความสำเร็จกันมาก จึงมีการสร้างวัดนี้เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ    ภายหลังวัดนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  จึงมีการบูรณะปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐  รื้อสิ่งปลูกสร้างเก่าทั้งหมดและสร้างขึ้นใหม่้  แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒  มาจนปัจจุบัน  




พระพุทธรูปทองคำ


การมาปฏิบัติบูชาที่วัดนี้ ทำให้เห็นจุดเด่นของวัดนี้หลายประการ  ประการแรกที่โดดเด่นคือเพระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่น่าจะมีเพียงองค์เดียวในกรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  รัชสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วง หากนับอายุจนปัจจุบันก็เกินกว่า ๗๐๐ ปีแล้ว จึงนับเป็นปูชนียวัตถุที่มีคุณค่ามหาศาล พระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำแท้หนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง  แต่เดิมมีปูนปั้นพอกปิดอำพรางไว้ และประดิษฐานอยู่ที่วัดโชตนาราม(วัดพระยาไกร)  ต่อมาวัดโชตนารามมีสภาพเป็นวัดร้างขาดผู้ดูแล  บริษัทอิสเอเซียติคได้ขอเช่าที่ดินวัดไปทำธุรกิจ เหลือเพียงอุโบสถและพระพุทธรูป วัดสามจีนจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาที่วัดสามจีน





ในช่วงที่อัญเชิญมา ได้นำประดิษฐานไว้ที่เพิ่งสังกะสีข้างองค์พระเจดีย์อยู่ถึง ๒๐ ปีเนื่องจากยังหาที่มั่นคงไม่ได้ ขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ เพราะสภาพภายนอกเป็นพระปูนธรรมดา ๆ องค์หนึ่งเท่านั้นเอง 



จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้เริ่มก่อสร้างวิหารหลังใหม่เพื่อสำหรับเป็นที่ประดิษฐาน ในขณะที่ทำพิธีอัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารนั้น  เชือกที่ใช้สอดยกองค์พระได้ขาดลงเพราะไม่สามารถทานน้ำหนักไหว องค์พระตกลงกระแทกกับพื้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหวและปูนที่พอกปิดไว้เกิดกระเทาะหลุดออกมา ทำให้เห็นทองคำภายในเหลืองอร่ามงดงาม ทางวัดจึงกระเทาะเอาปูนปั้นที่พอกปิดไว้ออกทั้งหมด แล้วจึงอัญเชิญประดิษฐานบนวิหารสำเร็จ 



พระที่มีปูนปั้นพอกปิดไว้


พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีประวัติว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของกรุงสุโขทัย  การนำปูนพอกปิดไว้และลงรักปิดทองจนดูเหมือนเป็นพระพุทธรูปปูนธรรมดา ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากระทำตั้งแต่รัชสมัยใด  มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นการอำพรางโดยชาวกรุงสุโขทัยเองเป็นผู้พอกอำพรางเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจและถูกกรุงศรีอยุธยารุกราน พระพุทธรูปองค์นี้อาจจะอยู่ที่กรุงสุโขทัยจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ หรือข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งเห็นว่า อาจได้รับการอัญเชิญมายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งมีการรวมศูนย์อำนาจของสุโขทัยและอยุธยาเข้าด้วยกัน  จวบจนกระทั่งอยุธยาเสียกรุงเมื่อ พศ. ๒๓๑๐   พระพุทธรูปหลายองค์ถูกพม่าเผาทำลาย ชาวอยุธยาจึงเอาปูนปั้นพอกปิดอำพรางไว้ ทำให้ข้าศึกเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปปูนธรรมดาทำให้พระองค์นี้รอดพ้นจากการถูกเผาก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อกาลลุล่วงถึงรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองรัตนโกสินทร์และฟื้นฟูบ้านเมืองและพระศาสนา  ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปที่ปรักหักพังจากวัดตามหัวเมืองภาคเหนือมาไว้ที่พระนครนับพันองค์  โดยพระองค์นี้ได้รับการอัญเชิญมาไว้ที่วัดโชตนาราม และต่อมานำมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรในเวลาต่อมา 



จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพระคู่ชุมชนแห่งนี้  ไม่เฉพาะชาวจีนเยาวราชเคารพนับถือเท่านั้น  แต่ปวงชนชาวไทยทั้งมวล และชาวจีนจากโพ้นทะเลก็ให้การเคารพนับถือมากด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงสมควรหาโอกาสมาสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต




จุดเด่นประการที่สอง คือการได้ทราบถึงประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าของชุมชนเยาวราชในอดีต  ซึ่งน่าจะมีการรวบรวมไว้ที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว  ในอดีตชาวจีนที่เดินทางมาไกลจากโพ้นทะเลก็มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แถวเยาวราช สำเพ็ง  ราชวงศ์  ทรงวาด ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยากจนจึงหวังจะก่อร่างสร้างตัวในกรุงสยามเพื่อหาเงินส่งไปให้ครอบครัวของตนที่เมืองจีน การเข้ามาอยู่รวมกันของชาวจีนเป็นชุมชนใหญ่จึงทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็ง เพราะคนจีนขยันขันแข็งและมีหัวการค้า  เยาวราชจึงมีธุรกิจหลากหลายประเภทที่ชาวจีนริเริ่มทำเช่น.-




ธุรกิจโพยก๊วน  เนื่องจากชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่เมืองสยามจะส่งเงินกลับบ้านที่เมืองจีนเป็นประจำ  การส่งจดหมายจึงเป็นภารกิจสำคัญ  ธุรกิจโพยก๊วนเกิดขึ้นจำนวนมากหลายร้าน 




ร้านขายขนมจันอับ  ขนมจันอับเป็นขนมหวานซึ่งชาวจีนนิยมทานกับน้ำชา  เป็นขนมที่ชาวจีนนิยมใช้ในทุกโอกาสไม่ว่าจะเป็นการรับรองแขก  การไหว้เจ้า  หรือใช้ในงานแต่งงาน จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตของชาวจีน  ร้านขายจันอับจึงเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน 
 



ร้านทอง เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูมาก คนจีนนิยมสะสมทองเพราะคนจีนในยุคนั้นถือเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ได้ จึงนิยมซื้อทองรูปพรรณเก็บไว้  ร้านทองจึงเกิดขึ้นหลายร้านในย่านนี้จนกระทั่งปัจจุบัน 




โรงเรียนจีน เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น  เมื่อชาวจีนจำนวนมากสามารถก่อร่างสร้างตัวได้แล้ว ก็อยากปักหลักอยู่เมืองไทย  ทำให้มีโรงเรียนจีนเกิดขึ้นเพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กับลูกหลานของตน




หนังสือพิมพ์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญในช่วงนั้น  เนื่องจากที่จีนแผ่นดินใหญ่มีปัญหามากมายหลายอย่าง ชาวจีนเยาวราชจึงมีหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางติดตามข่าวสารต่างๆเพื่อรู้ความเป็นไปของประเทศจีน

 


โรงพยาบาลเพื่อคนยากไร้  เกิดจากชาวจีนที่ทำธุรกิจประสพความสำเร็จมีความมั่งคั่งคิดช่วยเหลือชาวจีนด้วยกัน  ในสมัยนั้น ชาวจีนที่มาอยู่เมืองไทยซึ่งส่วนใหญ่ฐานะยากจน ต้องทำงานใช้แรงงานหนัก  หลายคนมาตัวคนเดียวเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีใครดูแลจนต้องตายเป็นศพไร้ญาติจำนวนมาก   พ่อค้าชาวจีนผู้มั่งคั่งจึงร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลเทียนฮั้วอุยกี่ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ 





าลเจ้า เนื่องจากชาวจีนมีความศรัทธาต่อเทพเจ้าต่างๆ จึงมีการสร้างศาลเจ้าไว้เพื่อสักการะบูชา และยังก่อให้เกิดงานสาธารณกุศลต่างๆตามมาเช่นคณะเก็บศพไร้ญาติ เป็นต้น 




ตลาด เป็นแหล่งที่มีการค้าใหญ่ที่สุด  ชาวจีนเมื่อสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้วก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและนิยมของดีของอร่อย ตลาดเยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่าย และเลื่องชื่อมาจนปัจจุบัน 






ภัตตาคาร  ชาวจีนมักจะใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์  เจรจาติดต่อการค้า ภัตตาคารชั้นนำหลายแห่งเกิดขึ้นในย่านนี้ และยังใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน  งานเลี้ยงฉลองต่างๆอีกด้วย   ห้อยเทียนเหลาหรือหยาดฟ้าภัตตาคารเป็นสถานที่ๆเลิศหรูที่สุดในยุคนั้นของย่านเยาวราช  



ธุรกิจหลากหลายที่เกิดขึ้นที่ย่านเยาวราช ทำให้เยาวราชมั่งคั่งและเข้มแข็งมาจนปัจจุบัน ชาวจีนหลายคนประสพความสำเร็จในชีวิตจนร่ำรวย  แต่คนที่น่าชื่นชมที่สุด เห็นจะเป็นคุณชิน  โสภณพนิช  ซึ่งก่อร่างสร้างตัวจากเสมียนโรงไม้ ไต่เต้าจนสามารถก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารที่มั่นคงและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย  จึงถือได้ว่าท่านเป็นคนที่วางรากฐานทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ให้กับสังคมไทยในยุคนั้นทีเดียว 




วัดสามจีนหรือวัดไตรมิตรวิทยารามจึงถือเป็นวัดสำคัญกลางกรุงวัดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชาวไทยและชาวจีน  ชาวพุทธทั้งหลายจึงควรหาโอกาสมาสักการะให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต......





ขอขอบคุณ..ข้อมูลจากวัดไตรมิตรวิทยาราม