บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

อาสาฬหบูชาที่วัดสามจีน






วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สำคัญมากที่สุดในพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นครั้งแรก ให้แก่ปัญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ธรรมนั้นคือธัมมจักกัปวัตนสูตรที่กล่าวถึงเรื่องการเดินสายกลาง  ทำให้ท่านโกญทัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทราบซึ้งในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา  วันนี้จึงเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ ทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ 

การได้รำลึกถึงพระพุทธคุณในวาระที่สำคัญเช่นนี้ จึงถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ชาวพุทธทั้งหลาย  ในวันสำคัญนี้จึงเห็นเหล่าพุทธศาสนิกชนพากันทำบุญตักบาตร เข้าวัดเพื่อปฏิบัติบูชา  ในปีนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปปฏิบัติบูชาที่วัดสามจีน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แถวย่านเยาวราช 

 

 
วัดสามจีนเป็นวัดเก่าแก่ เหตุที่ชื่อวัดสามจีนเพราะวัดนี้สร้างโดยชาวจีน ๓ คน ตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๓๗๔  ในช่วงนั้นคนจีนจากโพ้นทะเลหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินในกรุงสยามกันมากและจะอยู่รวมกันเป็นกระจุกบริเวณย่านเยาวราช สำเพ็ง  ทรงวาด  ราชวงศ์ ทำธุรกิจกันหลากหลาย ประสพความสำเร็จกันมาก จึงมีการสร้างวัดนี้เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ    ภายหลังวัดนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  จึงมีการบูรณะปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐  รื้อสิ่งปลูกสร้างเก่าทั้งหมดและสร้างขึ้นใหม่้  แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒  มาจนปัจจุบัน  




พระพุทธรูปทองคำ


การมาปฏิบัติบูชาที่วัดนี้ ทำให้เห็นจุดเด่นของวัดนี้หลายประการ  ประการแรกที่โดดเด่นคือเพระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่น่าจะมีเพียงองค์เดียวในกรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  รัชสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วง หากนับอายุจนปัจจุบันก็เกินกว่า ๗๐๐ ปีแล้ว จึงนับเป็นปูชนียวัตถุที่มีคุณค่ามหาศาล พระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำแท้หนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง  แต่เดิมมีปูนปั้นพอกปิดอำพรางไว้ และประดิษฐานอยู่ที่วัดโชตนาราม(วัดพระยาไกร)  ต่อมาวัดโชตนารามมีสภาพเป็นวัดร้างขาดผู้ดูแล  บริษัทอิสเอเซียติคได้ขอเช่าที่ดินวัดไปทำธุรกิจ เหลือเพียงอุโบสถและพระพุทธรูป วัดสามจีนจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาที่วัดสามจีน





ในช่วงที่อัญเชิญมา ได้นำประดิษฐานไว้ที่เพิ่งสังกะสีข้างองค์พระเจดีย์อยู่ถึง ๒๐ ปีเนื่องจากยังหาที่มั่นคงไม่ได้ ขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ เพราะสภาพภายนอกเป็นพระปูนธรรมดา ๆ องค์หนึ่งเท่านั้นเอง 



จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้เริ่มก่อสร้างวิหารหลังใหม่เพื่อสำหรับเป็นที่ประดิษฐาน ในขณะที่ทำพิธีอัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารนั้น  เชือกที่ใช้สอดยกองค์พระได้ขาดลงเพราะไม่สามารถทานน้ำหนักไหว องค์พระตกลงกระแทกกับพื้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหวและปูนที่พอกปิดไว้เกิดกระเทาะหลุดออกมา ทำให้เห็นทองคำภายในเหลืองอร่ามงดงาม ทางวัดจึงกระเทาะเอาปูนปั้นที่พอกปิดไว้ออกทั้งหมด แล้วจึงอัญเชิญประดิษฐานบนวิหารสำเร็จ 



พระที่มีปูนปั้นพอกปิดไว้


พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีประวัติว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของกรุงสุโขทัย  การนำปูนพอกปิดไว้และลงรักปิดทองจนดูเหมือนเป็นพระพุทธรูปปูนธรรมดา ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากระทำตั้งแต่รัชสมัยใด  มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นการอำพรางโดยชาวกรุงสุโขทัยเองเป็นผู้พอกอำพรางเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจและถูกกรุงศรีอยุธยารุกราน พระพุทธรูปองค์นี้อาจจะอยู่ที่กรุงสุโขทัยจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ หรือข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งเห็นว่า อาจได้รับการอัญเชิญมายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งมีการรวมศูนย์อำนาจของสุโขทัยและอยุธยาเข้าด้วยกัน  จวบจนกระทั่งอยุธยาเสียกรุงเมื่อ พศ. ๒๓๑๐   พระพุทธรูปหลายองค์ถูกพม่าเผาทำลาย ชาวอยุธยาจึงเอาปูนปั้นพอกปิดอำพรางไว้ ทำให้ข้าศึกเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปปูนธรรมดาทำให้พระองค์นี้รอดพ้นจากการถูกเผาก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อกาลลุล่วงถึงรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองรัตนโกสินทร์และฟื้นฟูบ้านเมืองและพระศาสนา  ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปที่ปรักหักพังจากวัดตามหัวเมืองภาคเหนือมาไว้ที่พระนครนับพันองค์  โดยพระองค์นี้ได้รับการอัญเชิญมาไว้ที่วัดโชตนาราม และต่อมานำมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรในเวลาต่อมา 



จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพระคู่ชุมชนแห่งนี้  ไม่เฉพาะชาวจีนเยาวราชเคารพนับถือเท่านั้น  แต่ปวงชนชาวไทยทั้งมวล และชาวจีนจากโพ้นทะเลก็ให้การเคารพนับถือมากด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงสมควรหาโอกาสมาสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต




จุดเด่นประการที่สอง คือการได้ทราบถึงประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าของชุมชนเยาวราชในอดีต  ซึ่งน่าจะมีการรวบรวมไว้ที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว  ในอดีตชาวจีนที่เดินทางมาไกลจากโพ้นทะเลก็มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แถวเยาวราช สำเพ็ง  ราชวงศ์  ทรงวาด ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยากจนจึงหวังจะก่อร่างสร้างตัวในกรุงสยามเพื่อหาเงินส่งไปให้ครอบครัวของตนที่เมืองจีน การเข้ามาอยู่รวมกันของชาวจีนเป็นชุมชนใหญ่จึงทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็ง เพราะคนจีนขยันขันแข็งและมีหัวการค้า  เยาวราชจึงมีธุรกิจหลากหลายประเภทที่ชาวจีนริเริ่มทำเช่น.-




ธุรกิจโพยก๊วน  เนื่องจากชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่เมืองสยามจะส่งเงินกลับบ้านที่เมืองจีนเป็นประจำ  การส่งจดหมายจึงเป็นภารกิจสำคัญ  ธุรกิจโพยก๊วนเกิดขึ้นจำนวนมากหลายร้าน 




ร้านขายขนมจันอับ  ขนมจันอับเป็นขนมหวานซึ่งชาวจีนนิยมทานกับน้ำชา  เป็นขนมที่ชาวจีนนิยมใช้ในทุกโอกาสไม่ว่าจะเป็นการรับรองแขก  การไหว้เจ้า  หรือใช้ในงานแต่งงาน จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตของชาวจีน  ร้านขายจันอับจึงเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน 
 



ร้านทอง เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูมาก คนจีนนิยมสะสมทองเพราะคนจีนในยุคนั้นถือเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ได้ จึงนิยมซื้อทองรูปพรรณเก็บไว้  ร้านทองจึงเกิดขึ้นหลายร้านในย่านนี้จนกระทั่งปัจจุบัน 




โรงเรียนจีน เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น  เมื่อชาวจีนจำนวนมากสามารถก่อร่างสร้างตัวได้แล้ว ก็อยากปักหลักอยู่เมืองไทย  ทำให้มีโรงเรียนจีนเกิดขึ้นเพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กับลูกหลานของตน




หนังสือพิมพ์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญในช่วงนั้น  เนื่องจากที่จีนแผ่นดินใหญ่มีปัญหามากมายหลายอย่าง ชาวจีนเยาวราชจึงมีหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางติดตามข่าวสารต่างๆเพื่อรู้ความเป็นไปของประเทศจีน

 


โรงพยาบาลเพื่อคนยากไร้  เกิดจากชาวจีนที่ทำธุรกิจประสพความสำเร็จมีความมั่งคั่งคิดช่วยเหลือชาวจีนด้วยกัน  ในสมัยนั้น ชาวจีนที่มาอยู่เมืองไทยซึ่งส่วนใหญ่ฐานะยากจน ต้องทำงานใช้แรงงานหนัก  หลายคนมาตัวคนเดียวเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีใครดูแลจนต้องตายเป็นศพไร้ญาติจำนวนมาก   พ่อค้าชาวจีนผู้มั่งคั่งจึงร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลเทียนฮั้วอุยกี่ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ 





าลเจ้า เนื่องจากชาวจีนมีความศรัทธาต่อเทพเจ้าต่างๆ จึงมีการสร้างศาลเจ้าไว้เพื่อสักการะบูชา และยังก่อให้เกิดงานสาธารณกุศลต่างๆตามมาเช่นคณะเก็บศพไร้ญาติ เป็นต้น 




ตลาด เป็นแหล่งที่มีการค้าใหญ่ที่สุด  ชาวจีนเมื่อสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้วก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและนิยมของดีของอร่อย ตลาดเยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่าย และเลื่องชื่อมาจนปัจจุบัน 






ภัตตาคาร  ชาวจีนมักจะใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์  เจรจาติดต่อการค้า ภัตตาคารชั้นนำหลายแห่งเกิดขึ้นในย่านนี้ และยังใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน  งานเลี้ยงฉลองต่างๆอีกด้วย   ห้อยเทียนเหลาหรือหยาดฟ้าภัตตาคารเป็นสถานที่ๆเลิศหรูที่สุดในยุคนั้นของย่านเยาวราช  



ธุรกิจหลากหลายที่เกิดขึ้นที่ย่านเยาวราช ทำให้เยาวราชมั่งคั่งและเข้มแข็งมาจนปัจจุบัน ชาวจีนหลายคนประสพความสำเร็จในชีวิตจนร่ำรวย  แต่คนที่น่าชื่นชมที่สุด เห็นจะเป็นคุณชิน  โสภณพนิช  ซึ่งก่อร่างสร้างตัวจากเสมียนโรงไม้ ไต่เต้าจนสามารถก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารที่มั่นคงและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย  จึงถือได้ว่าท่านเป็นคนที่วางรากฐานทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ให้กับสังคมไทยในยุคนั้นทีเดียว 




วัดสามจีนหรือวัดไตรมิตรวิทยารามจึงถือเป็นวัดสำคัญกลางกรุงวัดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชาวไทยและชาวจีน  ชาวพุทธทั้งหลายจึงควรหาโอกาสมาสักการะให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต......





ขอขอบคุณ..ข้อมูลจากวัดไตรมิตรวิทยาราม