บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชีวิต..เลือกได้




ถ้าเปรียบระหว่างความสุขและความทุกข์  คงไม่มีใครที่จะเลือกความทุกข์  ทุกคนอยากได้ความสุขมาอยู่กับตัวเอง  แต่ชีวิตจริงของคนเรา ไม่มีชีวิตใดที่จะสุขตลอด  และไม่มีชีวิตใดที่จะทุกข์จนชั่วนิรันดร์ 

เพราะความสุขและความทุกข์เป็นของคู่กัน  ทุกชีวิตจึงมีทั้งสุขและทุกข์เหมือนตะวันขึ้นและลับขอบฟ้า วนเวียนเช่นนี้ตามวัฏจักร์ชีวิตและหนทางที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง  ถ้าเราเข้าใจชีวิตเราก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข  โดยเฉพาะความสุขจากการเลือกหนทางชีวิตเอง

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตของสามีภรรยาคู่หนึ่ง เมื่อครั้งไปพักผ่อนบ้านเพื่อนที่ชะอำ และใช้ชีวิตติดดิน ด้วยการสัมผัสชีวิตจริงของผู้คนที่หลากหลายในตลาดชะอำ 

ตลาดชะอำในเช้าวันนั้นคึกคักไปด้วยผู้ซื้อและผู้ขาย   เสน่ห์ของตลาดแห่งนี้เห็นจะเป็นเรื่องอัธยาศัยของคนท้องถิ่น  ที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ร้านค้าหลาย ๆ ร้านจึงแน่นไปด้วยผู้คนที่มา ซื้อบ้าง ชิมบ้าง ไม่มีการว่ากันเหมือนแม่ค้าในกรุงเทพ   หลาย ๆ ร้าน ทำอาหารรสชาดอร่อย  จึงทำให้พวกเราเพลิดเพลินไปกับการชิม  การซื้อ  หลาย ๆ เจ้า จนกระทั่งมาสะดุดตาอยู่ที่ร้านขายอาหารร้านหนึ่งที่ดูสะอาดสะอ้าน  มีอาหารหลายอย่าง ขายในราคาเพียงถุงละ 20.- บาท แม่ค้าหน้าตาดี  แต่งกายเรียบร้อย  เมื่อเริ่มพูดคุย ก็รับรู้ได้ถึงอัธยาศัย เราจึงติดใจชวนกันพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ  เกี่ยวกับเรื่องอาหาร


ร้านของเธอติดทีวี ให้ลูกค้าดูด้วย และเธอเลือกเปิดช่อง Nation  ด้วยเหตุผลส่วนตัวของเธอ  เธอเล่าว่า เคยเป็นครูมาก่อน ความที่มีอาชีพครู ทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด เพื่อจะไปสอนคนอื่น เมื่อครั้งตัดสินใจมาขายอาหาร ทำไม่เป็นแม้กระทั่งการมัดถุง ซึ่งเป็นสิ่งที่มองแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ   แต่ก็ทำไม่ถนัดจนต้องฝึกหัดจริงจัง  เพื่อหวังจะสอนคนอื่นด้วยตามวิสัยครู หาวิธีการของตัวเองจนสามารถทำได้คล่องแคล่วด้วยแบบฉบับเฉพาะตัว


พ่อแม่เป็นเกษตรกร ทำงานในโครงการพระราชดำริหุบกระพง  ความที่เป็นเด็กเรียนดี  จึงได้รับพระราชทานโอกาสจากในหลวง ให้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนจิตรลดาจนจบ  หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย  ก็มีโอกาสเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกชนดอนบอสโก และพบรักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ในสถาบันเดียวกัน  ทั้งสองจึงตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง จึงลาออกจากงานและมาประกอบกิจการเล็ก ๆ ส่วนตัว ทำอาหารขาย ตามประสพการณ์และเงินทุนที่มีอยู่


เธอเป็นแม่ค้าที่มีระดับทีเดียว  ลูกค้าทั้งหลายที่มาอุดหนุนซื้ออาหารของเธอ ไม่ทราบเลยว่าเธอมีความรู้ภาษาอังกฤษระดับเทพ  วันหนึ่งมีฝรั่งตาน้ำข้าว มาซื้ออาหารร้านเธอ  และวิจารณ์ในหลวงของเราอย่างผิด ๆ  เธอส่งภาษาตอบโต้กลับในทันทีโดยไม่สนใจว่าเขาจะซื้อหรือไม่  เพราะเธอเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักในหลวงดีเท่ากับคนไทย  เธอจะไม่ยอมให้ใครกล่าวถึงในหลวงในทางที่ผิด ๆ


ข้าพเจ้าประทับใจในตัวเธอนัก  และเห็นว่าการกระทำของเธอถูกต้องเหมาะสม  เธอมีความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์   เพราะมิใช่เพียงแต่ประกอบอาชีพด้วยความสุจริตเท่านั้น เธอ ยังรัก หวงแหน และปกป้องสิ่งที่คนไทยทั้งชาติรักและเทิดทูน  เพียงการพูดคุย ก็รับรู้ได้ถึงแนวคิดรักชาติ  รักแผ่นดิน  และแนวการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง


ข้าพเจ้าคิดไปเองว่า  เธอเป็นคนที่มีการศึกษาสูงมากคนหนึ่งเมื่อเทียบกับคนในระดับท้องถิ่น อาชีพครูน่าจะมีความเหมาะสมกับเธอแล้ว  แต่เธอมีปัญหาอันใดหนอ ถึงได้ตัดใจละทิ้งอาชีพอันทรงเกียรติและหันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเช่นนี้

แต่ที่ได้เห็นด้วยสายตาก็คือ  ความสุขในทุกอิริยาบทของการกระทำ สิ่งที่เห็นทำให้ข้าพเจ้าได้ข้อคิดว่า ความสุขมันมีอยู่ทุกแห่งหนจริง ๆ  มิใช่เรื่องที่จะหาได้ยากเลยแม้แต่น้อย  เพราะความสุขมันเกิดจากใจที่ยอมรับในสิ่งที่เป็น  และพอใจในสิ่งที่เลือก

เธออาจจะเคยได้รับความทุกข์มาบ้างในชีวิต  แต่ทุกข์และสุขเป็นของคู่กัน ไม่มีใครเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้  เมื่อเราพอใจในความเรียบง่าย และเลือกที่จะเดินในเส้นทางที่เรียบง่ายโดยยึดความพอเพียงเป็นที่ตั้ง  เราก็สามารถมีความสุขได้ในหนทางที่เลือกนั้น

เพราะชีวิตเรา..เลือกได้ 

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันแต่งงาน..ความทรงจำหนึ่งในชีวิต




การแต่งงานคือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตคนเรา ที่หญิงชายคู่หนึ่งที่มีความรักต่อกัน ได้ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ สร้างครอบครัวใหม่  การที่คู่รักทุกคู่ให้ความสำคัญในการทำพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี  ถือเป็นเรื่องที่ดีงามเพราะนอกจากจะแสดงถึงการให้เกียรติ์ของฝ่ายชายต่อฝ่ายหญิงแล้ว  พิธีแต่งงานของหลาย ๆ คู่ ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติตามพิธีไทย จีน คริสต์  อิสลาม ล้วนมีเรื่องราวที่เป็นความทรงจำที่ดี ๆ  สำหรับคนทั้งสองเมื่อได้ตัดสินใจเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่

ข้าพเจ้ามีหลาน ๆ หลายคนที่แต่งงานกันแล้ว  และเลือกปฏิบัติพิธีตามธรรมเนียมไทย ๆ  แก่นแท้ของธรรมเนียมประเพณีไทย มีเคล็ดลับของวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของพิธีการ สื่อความหมายในเรื่องของ "มงคล"  เป็นหลัก ประเพณีไทยถือว่า  หากทุกสิ่งเริ่มด้วยมงคลแล้ว  ก็จะเป็นมงคลไปตลอดชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ "ชีวิตครอบครัว"   ที่ทุกคนต้องการให้ยืนยาว ไม่มีใครต้องการบ้านแตกสาแหรกขาดหรือหย่าร้าง  การตัดสินใจเลือกคู่ครอง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก ที่แต่ละคนที่จะต้องดูให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้  ก่อนตัดสินใจ เพราะคนที่เราตัดสินใจเลือก จะต้องอยู่กับเราไปจนชั่วชีวิต   การเลือกคู่ชีวิตได้ถูกต้อง ถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตตนเองไปส่วนหนึ่งแล้ว


เมื่อได้ตัดสินใจแล้ว  พิธีแต่งงานก็จะเริ่มขึ้น  คงจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ที่จะต้องร่วมกันจัดทำพิธี  ความเหนื่อยยากในช่วงเวลาเตรียมงาน คงไม่ต้องพูดถึงว่าพ่อแม่เหนือยยากแค่ไหน แต่ผลที่สุดเพียงความสุขของลูก พ่อแม่ก็คงพอใจแล้ว  ไม่ว่าบ้านไหน ๆ ก็คงเหมือนกัน  สิ่งเหล่านี้ ผู้เป็นลูกผู้สุขสมหวัง จึงไม่ควรมองข้าม   กตัญญูรู้คุณบิดามารดา จึงเป็นเรื่องที่ควรจดจำให้ขึ้นใจ




การเจรจาสู่ขอ ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการแต่งงาน  การสู่ขอเป็นพันธะสัญญาแรกของคนสองฝ่าย  คือชายฝ่ายหนึ่งกับหญิงอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ได้มาร่วมโต๊ะเจรจากันในเรื่องสำคัญของครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น  เรื่องของสินสอด  เรื่องของเงิน  เรื่องของงานพิธี  เรื่องของการใช้ชีวิต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความห่วงใยของผู้เป็นบิดามารดา   เมื่อการเจรจาสู่ขอสำเร็จลง  ถือได้ว่าเทียนเล่มหนึ่งที่มีความใหญ่และหนักแน่น บรรจุไปด้วยความรักและหวังดีของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ได้ถูกจุดให้สว่างไสวขึ้นแล้วสำหรับชีวิตคู่  หน้าที่ต่อไป จึงเป็นเรื่องของคนทั้งสองที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องช่วยกันสานต่อให้แสงเทียนสว่างไสวรุ่งโรจน์ต่อไปให้นานที่สุด






ครั้นเมื่อวันแต่งงานมาถึง   พิธีแรกของวันแต่ง  ก็จะเป็นเรื่องพิธีทางสงฆ์  ที่พระสงฆ์จะมาสวดเจริญพระพุทธมนต์  และให้คู่บ่าวสาวได้ทำบุญตักบาตรร่วมกัน ให้เป็นมงคลแรกแห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่   ความเชื่อโบราณที่ว่า "ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน"   ยังคงสามารถยึดถือได้อยู่  ประเพณีไทยมีความดีงามที่ตรงนี้เอง  คือการทำในสิ่งที่เป็นมงคล



การแห่ขันหมาก ถือเป็นช่วงหนึ่งของพิธีการที่สร้างความครึกครื้นให้กับงานแต่งงานอย่างมาก  ฝ่ายชายจะยกขบวนกันมาเพื่อประกาศแก่ชาวโลกว่า พิธีแต่งงานกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว  ญาติพี่น้องที่มาร่วมแสดงความยินดี ก็จะเข้าร่วมในขบวนขันหมากด้วย  ขบวนนี้จะประกอบไปด้วย ชุดขันหมากเอก และ ชุดขันหมากโท  เพื่อนำไปให้ฝ่ายหญิง




ชุดขันหมากเอก จะประกอบไปด้วยพานบรรจุหมาก พลู พืชมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบรัก ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม  และพานสินสอดของหมั้น , พานแหวนหมั้น , พานธูปเทียนแพ  การแต่งงานถือเป็นการสร้างครอบครัวใหม่ ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ถือเป็นทุนเรือนต้น สำหรับครอบครัวใหม่ ที่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายหวังจะให้มีความงอกเงยเพิ่มพูน  จึงใช้พืชมงคล โรยเป็นฤกษ์ชัย บนกองทรัพย์สินเหล่านี้  







ส่วนชุดขันหมากโท  ประกอบไปด้วยพานใส่ขนมไทย ๆ , ผลไม้ไทย ๆ  ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ทองหยิบ  ทองหยอด  ขนมชั้น ขนมทองเอก  รวมถึงต้นอ้อยและต้นกล้วย   การใช้ต้นอ้อย ต้นกล้วยในขบวนขันหมาก ก็มีความหมายในทางมงคลแฝงอยู่ ต้นกล้วยเป็นไม้ที่แตกหน่อเจริญเติบโตง่าย  แทนความหมายเรื่องความเจริญรุ่งเรืองงอกงาม   ส่วนอ้อยเป็นไม้ที่มีความหวาน จึงแทนความหมายในเรื่องของความรักความหวานชื่น สิ่งของเหล่านี้ ตามโบราณถือเป็นของมงคลทั้งสิ้น




เมื่อขบวนขันหมากมาถึง  ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงซึ่งรอต้อนรับอยู่แล้ว ก็ออกมาเชิ้อเชิญ การเชื้อเชิญเป็นการแสดงไมตรีจิตในฐานะที่จะมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน   มักจะให้เด็กหญิง หรือ สาวหน้าตาดี ยกพานไปเชิญขันหมาก  การนำพานไปเชิญขันหมากถือเป็นการให้เกียรติ์  ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายมักจะตอบแทนน้ำใจด้วยการให้ของกำนัล ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ซองใส่เงินเป็นสินน้ำใจ



เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง  ก็ใช่ว่าจะเข้าได้ถึงก้นครัวได้ทันที  พิธีไทย มักจะถือเคล็ดว่าจะต้องผ่านด่านเล็ก ด่านน้อย หลาย ๆ ด่านก่อน  ก็ไหน ๆ จะยกลูกสาวให้ทั้งที ก็ต้องมีพิธีรีตรองกันหน่อยจึงมักจะนำสายสร้อยเงินบ้าง ทองบ้าง  บางคนก็ใช้เข็มขัด  มากั้นไว้เสมือนดั่งเป็นประตู  ฝ่ายชายก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแต่ละประตูไป จึงจะผ่านได้  พิธีการนี้ช่วยสร้างความครื้นเครงได้มากทีเดียว โดยเฉพาะงานแต่งงานของหลานสาวข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555  อาจารย์เปรมจิตร  สรรพอุดม  ผู้มีศักดิ์เป็นน้าสะใภ้ของเจ้าสาว  ได้จัดการกั้นถึง 4 ประตู คือประตูเงิน  ประตูทอง  ประตูนาคและประตูแก้วเพิ่มอีก 1 ประตู  แถมยังบรรจงแต่งกลอนทำนองเสนาะ  กำกับแต่ละประตู ทั้งเป็นผู้อ่านกลอนทำนองเสนาะนั้นด้วยตัวเองอีก   สร้างความปลาบปลื้มแก่พ่อแม่ฝ่ายชาย และเพิ่มสีสันขบวนขันหมาก ให้มีความน่ารักมากทีเดียว


เมื่อผ่านประตูทั้ง 4 มาแล้ว ขบวนขันหมากก็เข้าไปถึงฝ่ายในที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงรอรับอยู่  ทำการส่งมอบขันหมากที่นำมาจนครบถ้วน  ฝ่ายหญิงก็ตอบแทนน้ำใจ โดยมอบซองเงินเป็นของกำนัลเป็นสินน้ำใจแก่ผู้ถือขันหมาก   ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย จะทำการเจรจากันถึงความเป็นมาที่เคยเจรจาสู่ขอกันไว้และสินสอดทองหมั้นที่ได้นำมา  เพื่อให้ฝ่ายหญิงตรวจสอบว่า เป็นไปตามที่ตกลงกันหรือไม่  เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว   จึงเชิญเจ้าสาวมา  เพื่อจัดทำพิธีหมั้นและ แต่งงานต่อไป  ส่วนเงินสินสอดทองหมั้น  ถือว่าเป็นทรัพยมงคล ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย  จะช่วยกันโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ถั่ว งาให้ศีลให้พรให้เกิดผลงอกเงยเป็นศิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวแล้วจึงมอบให้แม่ของฝ่ายหญิง











ส่วนแหวนหมั้น จะถูกกันไว้เพื่อให้เจ้าบ่าวสวมนิ้วนางเจ้าสาว  ปัจจุบันมีประเพณีเปลี่ยนไป นิยมนำเอาประเพณีฝรั่งเข้ามาผสมผสานด้วย เจ้าสาวก็จะเตรียมแหวนมาสวมให้เจ้าบ่าวด้วยเป็นการตอนแทน  พิธีไทยแต่เดิมเรื่องนี้ไม่เคยมี  แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย การให้ซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีงาม




เมื่อหมั้นหมายกันเรียบร้อยแล้ว ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย ก็จะให้คู่บ่าวสาวทำพิธีไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  การไหว้นี้ถือเป็นการขอขมาในสิ่งใด ๆ ที่เคยได้ล่วงเกินมาในอดีต  จึงนิยมใช้พานธูป เทียนแพ และ ผ้า ในการขอขมา  เมื่อผู้ใหญ่รับการขอขมาแล้ว  ก็จะให้ศีลให้พรและให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว







ปัจจุบันพิธีการไหว้ด้วยผ้าแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งของอย่างอื่น  ความรู้สึกว่าเป็นการขอขมา จึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นการให้ของกำนัลต่อญาติผู้ใหญ่ไปแทน  ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  เมื่อทำพิธีไหว้ผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของพิธีการ คือพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์







ที่เรียกว่าหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ก็คือการนำน้ำพระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีช่วงเช้า มาหลั่งที่มือให้คู่บ่าวสาวได้มีความสุข ความเจริญ  โดยพ่อแม่พี่น้อง รวมถึงญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายได้กล่าวอวยพรผ่านสายน้ำ พิธีการในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตและยิ่งผ่านการสวดเจริญพระพุทธมนต์  ย่อมถือได้ว่าคู่บ่าวสาวได้รับพรศักดิ์สิทธิ์จากญาติพี่น้องโดยตรง


เมื่อเสร็จจากขั้นตอนพิธีการ  ก็ถึงเวลาที่คู่บ่าวสาวจะร่วมฉลองสมรสกันให้สนุกสนานคริ้นเครง เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง ที่มาร่วมแสดงความยินดีกันมากมาย ก็จะร่วมกันเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่  เรียกว่าอิ่มกันสุด ๆ จึงค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน  เป็นเสร็จพิธีของการแต่งงาน




การแต่งงาน เป็นเพียงการเริ่มต้นในการเดินทางของชีวิตคู่เท่านั้น  แต่หนทางเดินข้างหน้า มันยังมีอีกยาวไกล  ชีวิตมิได้อยู่ที่ความรักเพียงอย่างเดียว  หากแต่ความเข้าใจกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน  จะเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต  หากรู้  เข้าใจ  และปฏิบัติได้  ชีวิตคู่ที่ยืนยาวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด   ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า ชีวิตคู่ของหลานรักทุก ๆ  คู่จะเป็นเช่นนั้น......ตลอดไป