ข้าพเจ้ามีโอกาสได้นึกถึงโรงเรียนเก่าอีกครั้งก็ตอนที่นักเรียนรุ่นน้องคือ รุ่น 109 ได้จัดงานมุทิตาจิต เชิญคุณครูเก่า ๆ หลายท่านมาร่วมงานย้อนรอยอดีตสมัยที่เป็นนักเรียนอรุณประดิษฐ์ และพอได้ทราบว่าการเตรียมงานของพวกเขามีความคืบหน้ามาก สามารถติดตามเชิญครูเก่าๆ มาได้หลาย ๆ ท่าน ก็พลอยดีอกดีใจไปกับเขาด้วย คุณครูหลาย ๆ ท่านซึ่งขณะนี้ก็คงแก่ชรามากแล้ว เชื่อว่าท่านคงปลาบปลื้มเมื่อทราบว่าศิษย์ยังระลึกถึง
นี่คงจะเนื่องเพราะคำสั่งสอนของคุณครูเหล่านั้นนั่นเอง ที่เพียรอบรมให้ลูกศิษย์เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม ...วันนี้จึงเกิดขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าศิษย์ที่ระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเจริญรุ่งเรือง จึงแอบอวยพรเงียบ ๆ ในใจ ให้พวกเขาเหล่านั้นประสพความสำเร็จกันโดยถ้วนทั่ว
ข้าพเจ้าก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วของอรุณประดิษฐ์เมื่อตอนที่เรียนชั้นประถม 6 มีคุณครูประจำชั้นชื่อคุณครูทองเจือ เพียรสถาพร ครูทองเจือยามนั้นยังเป็นสาววัยรุ่น ไว้ผมทรงบ๊อบ ยีผมจนหัวโต มีก้นหอยข้างแก้มเก๋ไก๋มาก และสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วย จึงเป็นเรื่องที่นักเรียนเช่นข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและภูมิใจว่าท่านเป็นครูที่จ๊าบและโก้หรููที่สุดในโรงเรียนเพราะอายุยังน้อยและเก่งมาก สอนอยู่ไม่กี่สัปดาห์โรงเรียนก็ส่งไปอบรมดูงานที่อิสราเอล ยิ่งทำให้รู้สึกทึ่งมากขึ้นไปอีก คิดว่าครูประจำชั้นห้องเราต้องเป็นคนเก่งระดับแถวหน้าของโรงเรียนแน่ เวลาใครถามว่าอยู่ห้องใคร ก็จะบอกด้วยความภาคภูมิใจว่าอยู่ห้องครูทองเจือ
ชั้นประถม 6 ขณะนั้น มีนักเรียนน่าจะประมาณ 30 กว่าคนเห็นจะได้ หลายคนก็มากมายหลายนิสัย และซุกซนกันไปตามประสาเด็ก ข้าพเจ้าจะได้ยินครูทองเจือส่งเสียงดุนักเรียนทุกวัน แต่ครูทองเจือเป็นคนเสียงนิ่ม คำดุจึงไม่ค่อยขลัง เวลาครูออกจากห้อง นักเรียนก็จะไล่แกล้งกันจ้าละหวั่นทุกครั้งไป มีเพื่อนอยู่ 3 คนที่ข้าพเจ้ากลัวเขามากหนักหนาในช่วงเวลานั้น คนแรกชื่อศานิตย์ นามสกุลอะไรก็จำไม่ได้ เพื่อนคนนี้ชอบแกล้งคนอื่นทุกครั้งที่ทำเวรห้องตอนเลิกเรียน โดยถือไม้กวาดไล่แหย่เพื่อน ๆ อยู่ตลอด ข้าพเจ้าเป็นเด็กตัวเล็ก ทำได้อย่างเดียวคือต้องวิ่งหนีทุกครั้งไป เพื่อนคนที่ 2 ชื่อไอ้หมึก ข้าพเจ้าจำไม่ได้ทั้งชื่อจริงและนามสกุลจริง แต่ไอ้หมึกนี่เป็นขาใหญ่ประจำห้อง ชอบส่งเสียงดังและมีนิสัยนักเลง แต่ไอ้หมึกก็ไม่เคยทำร้ายเพื่อนในห้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตรงกันข้าม การมีไอ้หมึกอยู่ห้องเรา ทำให้เพื่อนห้องอื่น ๆ ดูจะเกรงขามห้องเราไปด้วย ไอ้หมีกจึงเป็นคุณต่อเพื่อนไปโดยไม่รู้ตัว เพื่อนคนสุดท้ายที่ข้าพเจ้ากลัวเขาหนักหนา เขาชื่อดนัย มีอิ่ม ความน่ากลัวของดนัยมิได้อยู่ที่การชอบแกล้งเพื่อนเช่นศานิตย์หรือเป็นขาใหญ่ประจำห้องเช่นไอ้หมึก แต่ความน่ากลัวของเขาก็คือความอ้วนของเขานี่แหละ ดนัยเป็นคนที่อ้วนมาก ๆ จนน่ากลัว เวลาเดินไปไหนก็ต้องใช้เนื้อที่เยอะมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าต้องหลบจนตัวลีบ เมื่อเขาเดินผ่าน เพราะเกรงว่าเขาจะล้มทับเอา
ชีวิตในอรุณประดิษฐ์ เป็นช่วงที่มีความสุขสนุกสนานเป็นที่สุด โดยเฉพาะชั่วโมงพละศึกษา ที่มีคุณครูวนิดา ศรียาภัย เป็นผู้สอน เพราะครูวนิดาเป็นคนสนุก และเอาจริงเอาจังในการสอน เราจะทุ่มกันสุดตัวในชั่วโมงนี้เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันให้ได้ในวิชาแชร์บอล อาจารย์บุคเคอร์ และ แหม่มลูอิส บุคเคอร์ เป็นอีก 2 ท่านที่ยังจำได้ว่าสอนภาษาอังกฤษในบางครั้ง นักเรียนจะชื่นชมในความน่ารักที่ท่านพยายามพูดภาษาไทย และพยายามสอนให้พวกเราพูดภาษาอังกฤษกัน
จะมีก็เพียงชั่วโมงมารยาทของคุณครูเพ่ง มหานนท์ ทุกอย่างก็จะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ครูเพ่งจะพูดเสมอว่า "เป็นกุลสตรี ต้องเรียบร้อย จะเข้าหาผู้ใหญ่ต้องรู้จักนอบน้อม ต้องเดินด้วยเข่าเข้าไปหา ต้องนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย ต้องวางมือขวาทับมือซ้าย ต้อง............ต้อง.... " ครูเพ่งเป็นคนที่พูดเสียงเข้ม คำพูดมีน้ำหนัก จึงทำให้ดูว่าเป็นคนดุ ชั่วโมงมารยาทของครูเพ่งทุกคนก็จะสงบเสงี่ยมเจียมตัวไปโดยอัตโนมัติ มารยาทขั้นพื้นฐานที่ครูเพ่งอบรมสั่งสอน แม้ยามนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ แต่เมื่อเติบใหญ่ มีหลายครั้งที่จำเป็นต้องรักษามารยาท ก็จะนึกถึงครูเพ่งและรำลึกในพระคุณของท่านทุกครั้งไป
คุณครูเพ่ง มหานนท์ |
และมิใช่เพียงเฉพาะครูเพ่งเท่านั้น ครูขวัญ ครูชาญ และคุณครูอื่นอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ได้อบรมสั่งสอนทั้งโดยหลักการ และเทศนาตามหลักธรรมในพระคัมภีร์ ซึ่งทุกคนจะได้รับการอบรมทุกสัปดาห์หลังจากที่ได้ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้ากันแล้ว ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงท่าทีของอาจารย์สมเพชร วิชัย ตอนท่านเล่นเปิยโน มือก็กดแป้น ศรีษะก็พยักตามจังหวะ สายตาก็จ้องมาที่เด็กนักเรียน ว่ามีใครไม่อ้าปากร้องบ้าง คิดแล้วยังนึกขันตัวเองที่บางครั้งแกล้งอ้าปากตามครูโดยไม่มีเสียงออกจากลำคอ บาปจริง ๆ
สิ่งหนึ่งที่คุณครูขวัญได้เทศนาในห้องประชุม ที่ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ .................
"จงรักเพื่อนบ้านของท่าน เหมือนรักตัวท่านเอง" ........
"จงเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ เพราะการให้จะทำให้เรามีความสุข"................
สิ่งที่ครูขวัญเทศนาก็คือสัจจธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าเห็นว่า การปูพิ้นฐานจิตใจของเด็กนักเรียนในวิธีการที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ได้กระทำ เป็นสิ่งที่ได้ผล เพราะเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น ก็จะเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ อย่างน้อยก็คนกลุ่มหนึ่งคือพวกนักเรียนเก่าอรุณประดิษฐ์ของเรานี่แหละ ในชีวิตนี้ข้าพเจ้าจึงไม่อาจลืมคุณครูขวัญ สัตย์สงวนได้
คุณครูขวัญ สัตย์สงวน |
โรงเรียนอรุณประดิษฐ์เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่โดดเด่น มาตั้งแต่ปี 2404 จากการที่เริ่มมีคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา ภรรยาของหมอแม็กฟาร์แลนด์ได้ชักชวนเด็กผู้หญิงในเมืองเพชรมาเรียนเย็บปักถักร้อย โดยนำจักร์เย็บผ้ามาเป็นอุปกรณ์ในการสอน และสร้างโรงเรียนหลังแรกเสร็จในปี พ.ศ. 2408 ใช้ชื่อว่า"โรงเรียนการช่างสตรี" เพราะสอนแต่วิชาการช่างและสอนเฉพาะเด็กหญิง การสอนเย็บผ้าน่าจะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองเพชร จึงทำให้เมืองเพชรขณะนั้นได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งจักรเย็บผ้า"
กิจการโรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ พร้อม ๆ กับความสำเร็จในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น "โรงเรียนอรุณสตรี" หลังจากนั้นก็มีการสร้างโรงเรียนชายอีกแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ชื่อ "โรงเรียนประดิษฐ์วิทยา" และมีการพัฒนารวมเป็นโรงเรียนสหศึกษาในเวลาต่อมา ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนอรุณประดิษฐ์" มาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือประวัติที่นักเรียนอรุณประดิษฐ์ทุกคนควรภาคภูมิใจ
ข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่อรุณประดิษฐ์ตั้งแต่ชั้นประถม 6 จนถึงมัธยม 3 ก็ออกมาเรียนต่อที่กรุงเทพ โดยตั้งความหวังว่า จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากันให้ได้ เมื่อคุณครูได้เห็นความตั้งใจของพวกเรา ก็ตั้งหน้าตั้งตาติวให้อย่างเข้มข้น ครูที่ข้าพเจ้าไม่สามารถลืมได้ก็คือคุณครูพิเชษฐ์ ชิโนวรรณ ที่ติวให้พวกเราจนค่ำมืดทุกวัน และครั้นจะปล่อยให้นักเรียนกลับบ้านเอง ก็ห่วงนักเรียน ครูพิเชษฐ์ต้องขี่จักรยานต์คุมพวกเรากลับบ้าน ส่งแต่ละคนจนถึงบ้าน จนครบทุกคน ครูพิเชษฐ์ถึงขี่จักรยานต์กลับบ้าน บุญคุณของครูพิเชษฐ์ จึงยากนักที่จะลืมได้ แต่ในที่สุดข้าพเจ้าก็สอบเข้าเตรียมอุดมไม่ได้ และต้องไปเรียนที่โรงเรียนสมถวิลราชดำริ คงสร้างความผิดหวังให้แก่ครูไม่น้อยทีเดียว
ข้าพเจ้ามีญาติพี่น้องหลายคนที่เรียนอยู่อรุณประดิษฐ์ อาทิเช่น สุนันท์ สรรพอุดม , ณรงค์ สรรพอุดม , สมยศ สรรพอุดม , จารุณี สรรพอุดม , ประพนธ์ สรรพอุดม , กาญจนา วรศิริ , จารีต วรศิริ , ศิรี วรศิริ , พยัคฆ์ วรศิริ , อุไรวรรณ วรศิริ , สุริยัน วรศิริ และหลายคนกลับมาเป็นครูสอนที่อรุณประดิษฐ์
ครูกาญจนา วรศิริ |
ครูกาญจนา วรศิริ พี่สาวคนหนึ่งของข้าพเจ้า เล่าให้ฟังว่า เข้ามาเรียนอรุณประมาณปี พ.ศ. 2489 ช่วงนั้นลำบากลำบนมาก เพราะเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านสงครามโลกมา บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยดีคนจนมีอยู่เยอะ นักเรียนส่วนใหญ่ก็จนกัน มาเรียนที่อรุณสตรี ก็ไม่มีกระโปรงใส่ ต้องนุ่งผ้าถุงมา ช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ประชาชนไว้ทุกข์ให้ทั้งประเทศ บรรดา นักเรียนโรงเรียนอรุณ ต้องนุ่งผ้าถุงดำมาเรียน และต้องใส่หมวกกะโร่อีกด้วย นึกภาพแล้วก็ดูน่าจะเก๋ไก๋ไม่น้อยทีเดียว สังคมไทยช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเริ่มรับเอาวัฒนธรรมของตะวันตกมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ครูกาญจนาเป็นคนสวยและเรียนดี อีกทั้งชอบช่วยเหลือในเรื่องกิจกรรมของโรงเรียน ไม่ว่าคุณครูจะให้ทำอะไรก็ทำหมดทุกอย่าง จนเปรียบเสมือนเป็น"ดาวอรุณ" ก็ไม่ปาน และที่สำคัญเป็นศิษย์รักมากๆของครูขวัญ ในแต่ละวันครูขวัญก็จะให้ออกไปชักธงชาติบ้าง และช่วยเหลืองานอื่นๆ บ้าง วันอาทิตย์ก็ให้ไปจัดดอกไม้ที่โบสถ์ศรีพิมลธรรม มีอยู่ช่วงหนึ่งป่วยหนัก เป็นไข้หวัด ความร้อนขึ้นสูงมาก ครูขวัญให้ไปนอนข้าง ๆ ห้องพักของท่าน และคอยเช็ดตัว ดูแลอาการไข้ให้ พยาบาลเหมือนดั่งเป็นแม่คนหนึ่ง ครูกาญจนาเล่าถึงคุณครูขวัญด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะความที่ครูขวัญรักครูกาญจนามาก จึงได้ตั้งชื่อหลานสาวคนหนึ่งว่า "กาญจนา" สัตย์สงวน
ถึงแม้ครูกาญจนา จะเป็นศิษย์รักของครูขวัญเพียงใด แต่ถ้าทำผิดละก็หนักกว่าคนอื่นหลายเท่า มีอยู่ครั้งหนึ่งชวนเพื่อน ๆ แอบออกไปแอ๊กท่าถ่ายรูปกันที่ตลาดเมืองเพชร ถูกครูขวัญทำโทษสั่งกักบริเวณเป็นเดือน เล่นเอาเข็ดเลย ไม่กล้าทำอะไรโลดโผนอีก คุณครูนิภา เป็นอีกท่านหนึ่งที่รักครูกาญจนามากและเมื่อคราที่จบจากอรุณประดิษฐ์ ต้องไปเรียนต่อที่อื่น ครูนิภา ท่านสนับสนุนให้เรียนครู ขณะที่ครูอีกท่านหนึ่งสนับสนุนให้เรียนหมอที่ศิริราช ด้วยความที่รักครูนิภามาก จึงเชื่อคำแนะนำของครูนิภา ตัดสินใจเรียนครูอย่างแน่วแน่ คุณครูขวัญเห็นว่าเมื่อเจ้าตัวตัดสินใจเช่นนั้น ก็สนับสนุนให้เป็นนักเรียนทุนไปเลย จึงเป็นโชคดีที่ไม่ต้องรบกวนเงินทางบ้าน เมื่อเรียนครูจบ จึงมาเป็นครูที่อรุณประดิษฐ์
ครูสุนันท์ สรรพอุดม , ครูจารีต วรศิริ , ครูสิริ วรศิริ พี่สาวของข้าพเจ้าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนอรุณ และกลับมาเป็นครูที่อรุณ
ครูสุนันท์ สรรพอุดม กับลูกศิษย์ |
ครูจารีต วรศิริ กำลังสอน |
อ.กาย,ครูสิริ,พี่ปิ๊ด,ครูสุนันท์,ครูสาคร,ครูวินัย วันงานโรงเรียน |
ชีวิตในอรุณประดิษฐ์ ช่วงที่สนุกสนานเป็นที่สุด เห็นจะเป็นช่วงคริสต์มาส ที่ทุกคนกระตือรือร้นที่จะเสกสรรค์งานให้หวือหวา ตามความคิดของแต่ละห้องในช่วงนั้น คุณครูก็ใจดีเปิดโอกาสให้เลิกเร็วเพื่อมาจัดเตรียมงาน บางห้องก็จัดเป็นซุ้มแปลก ๆ บ้าง,บางห้องทำเสียโลดโผน เช่นห้อง ม.ศ.3 ก ที่ข้าพเจ้าอยู่เป็นปีสุดท้าย จัดทำเป็นซุ่มคริสต์มาสที่เก๋ไก๋มากคือซานตาคอส โล้ชิงช้า โดดเด่นกว่าห้องใด ๆ วันนั้นสนุกสนานเป็นที่สุดแล้ว เพราะแต่ละคนคิดเหมือนกันว่า เป็นปีสุดท้ายที่จะอยู่ร่วมกันที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์แห่งนี้
เมื่อใกล้วันที่จะอำลากัน ความรู้สึกอาลัยที่แต่ละคนมีต่อกัน แสดงออกชัดเจนขึ้น พอๆ กับการที่ต้องคร่ำเคร่งในการดูหนังสือสอบไล่ ในทุก ๆวันจะต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเขียนคำอำลาอาลัยในสมุด Friendshipให้กันและกัน ข้าพเจ้ายังเก็บสมุด Friendship ไว้อยู่จนปัจจุบัน พอมาอ่านครั้งใด ก็ให้มีความสุขทุกครั้งและไม่เพียงแต่เพื่อนเท่านั้นที่เขียน Friendship ให้กัน แต่คุณครูหลายท่านก็ยังร่วมเขียนอวยพรและให้กำลังใจนักเรียนด้วย
Friendship ที่ครูวิภาวีเขียนให้ข้าพเจ้า |
Friendship ที่ครูอารมณ์เขียนให้ข้าพเจ้า |
เมื่อนึกถึงชีวิตในอดีตที่อรุณประดิษฐ์ครั้งใด ก็จะมีความสุขทุกครั้ง ความทรงจำที่มีที่อรุณประดิษฐ์จึงไม่อาจลืมได้จริง ๆ ......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น