บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำทรงเสวย..ลำน้ำเพชร



ลำน้ำเพชร บริเวณหน้าวัดท่าไชยศิริ

เมื่อได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าหลวง โปรดเสวยน้ำจากเพชรบุรี  ซึ่งเรียกว่า "น้ำเพชร" และน้ำนั้นตักจากท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ข้าพเจ้าก็ใคร่จะเห็นว่าปัจจุบันสภาพของท่าน้ำนั้นเป็นอย่างไร  จึงชักชวนกันไปเที่ยวชม วัดท่าไชยศิริ และ ท่าน้ำประวัติศาสตร์แห่งนั้น เมื่อไม่นานมานี้.......

วัดนี้ ตั้งอยู่ที่ ต.สมอพรือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี  ติดกับถนนเพชรเกษม  สร้างมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๙๑๐  เป็นวัดที่กว้างขวางเพราะมีเนื้อที่ถึง ๒๑ ไร่เศษ ตามประวัติที่ปรากฏกล่าวว่าแต่เดิมวัดนี้เรียกว่า "วัดใต้"  เพราะอยู่ทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำเพชร เหนือน้ำขึ้นไปจะเป็นวัดกลางและวัดเหนือ  ทั้ง ๓ วัดมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ปัจจุบันวัดเหนือและวัดกลางเป็นวัดร้างไปนานแล้ว  คงเหลือเพียงวัดใต้แห่งนี้เพียงวัดเดียว

ส่วนที่เป็นท่าน้ำของวัด ดูจะไม่โดดเด่น เพราะแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนผู้คนที่ปลูกอาศัยอยู่ติด ๆ ทำให้บดบังทัศนียภาพไปมากทีเดียว แต่ก็มีศาลาไม้สักทั้งหลังพอให้เห็นเป็นที่สะดุดตา และประวัติของสถานที่ซึ่งวัดพยายามทำให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้พบเห็น



ศาลาท่าน้ำ


ป้ายประวัติติดไว้บริเวณท่าน้ำ


ท่าน้ำวัดท่าไชย


ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็คือ..ที่ท่าน้ำนี้แหละที่เป็นที่ตักน้ำเพื่อนำไปสรง  เสวยและ ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตลอดจนพระราชพิธีอื่น ๆ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนาเสมอๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ อันเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา  การใช้น้ำที่ลำน้ำเพชรแห่งนี้เป็นน้ำสรงและทรงเสวย มิใช่เพียงแค่รัชกาลที่ ๕  เท่านั้น แต่มีถึง ๓ รัชกาลด้วยกัน คือตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ,  ๕  และ  ๖ 

โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  นอกจากจะทรงโปรดน้ำเพชรแล้ว ยังทรงโปรดเมืองเพชรมาก เสด็จมาเมืองเพชรหลายครั้งระหว่างผนวช โดยทรงมาบำเพ็ญสมณธรรม ณ.ถ้ำเขาย้อย  บางครั้งมาประทับแรม ณ.วัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี   และเสด็จมาทอดพระเนตรการสร้างพระนครคีรีหลายครั้ง

พระนครคีรี


ในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีหลักฐานปรากฏจากพระราชหัตเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีในปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๕  ได้ทรงเล่าว่า "  เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน   เวลาสายแล้ว  ได้ลงเรือยนต์เล็ก ๒ ลำ  มีของแห้งไป ขึ้นเที่ยวเหนือน้ำ แวะที่ท่าเสน....และแล่นต่อไป จนถึงศาลา....แต่ขาล่องเร็วเหลือเกิน....ทางที่ขึ้นไปนี้เกินท่าไชยซึ่งเป็นที่ตักน้ำเสวยเป็นอันมาก  มีข้อหนึ่งที่ลี้ลับอยู่ คือน้ำมุรธาราชาภิเษกนั้น  ไม่ใช่ใช้แต่น้ำ ๔ สระ ใช้แม่น้ำทั้ง ๕  แห่งกรุงสยาม   คือแม่น้ำบางปะกง , แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (ป่าสัก)  , แม่น้ำท่าจีน ,  แม่น้ำแม่กลอง และ แม่น้ำเพชรบุรี มีชื่อที่ตักทุกเมือง  แต่ที่ีเพชรบุรีนี้  ที่วัดท่าไชย เป็นที่ตักน้ำเสวย"


เรื่องที่รัชกาลที่ ๕  โปรดเสวยน้ำเพชรนี้  ปรากฏหลักฐานว่าได้ส่งน้ำที่ตักจากท่าน้ำวัดท่าไชยศิริเพื่อเป็นน้ำสรงและน้ำเสวย ถึงเดือนละ ๒ ครั้ง ๆ ละ ๒๐ ตุ่ม

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวไว้ในพระราชหัตเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕  ความตอนหนึ่งว่า "....เรื่องน้ำเพชรบุรีนี้เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕  รับคำสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เคยเสวยน้ำเพชรเสียจนเคยชินแล้ว  เสวยน้ำอื่น ๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเมืองเพชรบุรี  .......

แม่น้ำเพชรบุรีแห่งนี้ มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี  ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับชายแดนพม่า ไหลผ่านแก่งกระจาน ผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด  อำเภอเมือง  และไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอบ้านแหลม ในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นน้ำที่มีคุณภาพ  ใสสะอาด  รสชาติดี  แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา  บ้านเรือนผู้คนเพิ่มหนาแน่นขึ้น โดยที่การควบคุมยังไม่เป็นระเบียบ  ทำให้ลำน้ำนี้มากไปด้วยสิ่งปฏิกูล  จึงมีการงดใช้น้ำที่ลำน้ำนี้ในช่วงปลายของรัชกาลที่ ๖  เป็นต้นมา ความสำคัญของลำน้ำเพชรจึงสิ้นสุดลง






ที่วัดนี้ในประวัติเล่ากันว่า  ในยุคกรุงศรีอยุธยาที่ไทย-พม่ายังรบพุ่งกัน  มีการปะทะกันบริเวณด่านสิงขร  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ครั้งนั้นทหารไทยเสียเปรียบ  จึงแตกทัพถอยร่นลงมาจนถึงบริเวณวัดนี้  พบว่ามีแม่น้ำไหลผ่าน  พากันหยุดพักแวะลงอาบน้ำ  พอขึ้นจากน้ำ ก็พบกับทหารฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมา  เกิดการต่อสู่้ ตะลุมบอนกันในบริเวณวัดนี้  รวมถึงภายในอุโบสถ  จึงมีร่องรอยคราบเลือดติดอยู่ที่ผนังและเพดานอุโบสถ  การต่อสู้ในบริเวณวัดนี้ทหารไทยได้ชัยชนะ  ตีพม่าจนแตกพ่ายไป  จึงเปลี่ยนชื่อวัดใต้เป็นวัดท่าไชย  และต่อมาก็เติม "ศิริ" เข้าไปเพื่อความเป็นมงคล  และใช้เรียกขานมาจนปัจจุบัน   ส่วนทหารไทยเหล่านั้นก็ถือโอกาสลงหลักปักฐานอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดจนปัจุบันกลายเป็นชุมชนใหญ่  เรียกกันว่า "หมู่บ้านสิงขร"  เพื่อสื่อให้เห็นว่า คนเหล่านี้มาจากสิงขรนั่นเอง



เรื่องของเมืองเพชร และลำน้ำเพชร  ถือเป็นเกียรติประวัติของคนเมืองเพชรเป็นอย่างมาก  ที่ครั้งหนึ่งในอดีต มีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ รัชกาลด้วยกัน   และที่วัดท่าไชยศิริแห่งนี้ก็ยังมีเรื่องแปลกที่มีพระประธานไม่เหมือนวัดอื่นโดยทั่วไป  นั่นก็คือเป็นพระพุทธรูปยืน  แต่ที่วัดอื่น ๆ จะพบเห็นเป็นพระพุทธรูปนั่ง ท่านเจ้าอาวาสแจ้งว่าในประเทศไทยมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนเพียง ๓ วัดเท่านั้น คือที่วัดท่าไชยศิริแห่งนี้  และที่วัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี , วัดเครือวัลย์ ถนนอรุณอัมรินทร์ กทม. สถานที่แห่งนี้จึงเป็นแห่งหนึ่งในเพชรบุรีที่ควรมาเยี่ยมชมนะคะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดท่าไชยศิริ ต.สมอพรือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จ.เพชรบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น