บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

The old town of phuket



มิใช่เป็นเพียงเมืองทะเลที่มีหาดทรายงดงาม ที่ทำให้ภูเก็ตได้ชื่อว่า "ไข่มุกแห่งอันดามัน" สร้างจุดขายให้กับเมืองภูเก็ต จนมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากมาย  หาดบางแห่งเช่นป่าตอง กลายสภาพเป็นเมืองของคนต่างชาติที่ชุลมุนวุ่นวายกันทั้งกลางวันและกลางคืน  แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงด้านหนึ่งของภูเก็ตเท่านั้น ที่สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

แต่อีกด้านหนึ่งของภูเก็ต  ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเสน่ห์ คือความเก่าแก่แห่งย่านเมืองเก่าของภูเก็ตซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เป็นตึกรามบ้านช่อง ที่มีแบบของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและยุโรปที่สวยงามและหาได้ยากยิ่ง ไม่พบว่ามีที่ใดนอกจากภูเก็ต และชาวภูเก็ตก็ร่วมมือร่วมใจกันรักษาความเก่าแก่นี้ให้คงอยู่ได้จนปัจจุบัน

การเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในระยะหลัง ข้าพเจ้าจึงเน้นที่จะไปชมความงดงามของตึกเก่า ๆ เหล่านี้มากกว่าสิ่งอื่น  เพราะดูกี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ  ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

ไปเที่ยวครั้งนี้ จึงเลือกพักที่โรงแรม sino house  โรงแรมสไตล์ชิโน บนถนนมนตรีย่านใจกลางเมือง ตามคำแนะนำของเพื่อนข้าพเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร"ระย้า" ร้านอาหารดังของภูเก็ตที่อยู่ใกล้ ๆ โรงแรม

เสาหน้าโรงแรมมีลายสลักสวยงามสไตล์ยุโรป

ทางเข้าโรงแรมออกสไตล์จีน

เครืื่องประดับลวดลายจีน

ภายในโรงแรมสไตล์จีน

ตู้โชว์จีน

สภาพในห้องนอน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต อยู่ห่างจากโรงแรมนี้เพียงนิดเดียว  เพียงเดินออกจากโรงแรมไปทางซ้ายมือจะพบสี่แยกไฟแดง ข้ามถนนไปเลี้ยวขวาก็จะเป็นถิ่นเมืองเก่าแล้ว   มีตึกทรงเก่าให้เห็นตลอดแนวของถนนดีบุกและถนนถลาง ที่สวยงามมาก ๆ


















ร้านอาหารระย้าของเพื่อนข้าพเจ้า

สภาพภายในร้านระย้าออกแนวเก่า ๆ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกิส เกิดขึ้นในอดีตช่วงที่เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองจากการค้าขายดีบุก  ภูเก็ตเป็นเมืองเกาะ การติดต่อกับต่างชาติโดยทางเรือจึงมีความสดวกมาช้านาน  ชนชาติอินเดีย จะเป็นพวกแรก ๆ ที่เข้ามาค้าขายและหาดีบุกบริเวณตะกั่วป่า และรู้จักภูเก็ต ในชื่อเมืองถลาง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตะกั่วป่า หลังจากนั้นก็มีพวกจีนและฝรั่งชาติต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ภูเก็ต  ชาติแรกที่เข้ามาคือโปรตุเกส  ต่อมาเป็นชาวฮอลันดา  ฝรั่งเศส เข้ามาในช่วงแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยา และอังกฤษ เข้ามาในช่วงกรุงธนบุรี  ด้วยเหตุผลที่เกาะถลางอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือจากอินเดียมายังคาบสมุทรมลายู เกาะถลางจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือยุคต้น ๆ  ซึ่งบางครั้งเรียกเมืองนี้ว่า "จังซีลอน"
การที่ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ย่อมต้องนำเอาวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วยแน่นอนสถาปัตยกรรมที่พบเห็นหลงเหลืออยู่ในขณะนี้จึงมีผลมาจากครั้งอดีตนั้น  คนที่มีฐานะร่ำรวยจากการค้า ก็จะก่อสร้างบ้านเรือนโดยใช้ช่างฝีมือจากเมืองปีนัง  เพราะขณะนั้นการติดต่อระหว่างภูเก็ต กับ กรุงเทพซึ่งเป็นเมืองหลวงเป็นไปอย่างไม่สดวก จะต้องขี่ช้างหรือนั่งเรือจากภูเก็ตไปตะกั่วป่าแล้วเลยไปยังเขาพนมคีรีรัฐ  ล่องไปตามลำน้ำพนมคีรีออกสู่พุนพิน บ้านดอน สุราษฎร์  ผ่านชุมพร ประจวบ หัวหิน ชะอำ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และปากน้ำเจ้าพระยาแล้วจึงเข้ากรุงเทพมหานคร  เดินทางครั้งหนึ่งต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์   แตกต่างกับการเดินทางระหว่างภเก็ต - ปีนัง โดยนั่งเรือกลไฟออกจากภูเก็ตเลียบฝั่งทะเลตะวันตกไปถึงเกาะปีนัง ใช้เวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น   บรรดานักธุรกิจ  นายเหมือง และนักท่องเที่ยวชาวภูเก็ต จึงสมัครใจเดินทางไปปีนังมากกว่ากรุงเทพ  และคนมีฐานะก็มักจะส่งลูกไปเรียนที่ปีนัง
ปีนังในยุคนั้น มีความเจริญหลายอย่างเทียบเท่ากรุงเทพ และยังเหนือกว่าตรงที่ปีนังได้รับการพัฒนาแผนจากอังกฤษ มีเรือกลไฟทั้งใหญ่น้อยเข้ามาจอดค้าขายได้โดยปลอดภาษี สถาปัตยกรรมของเมืองปีนัง มีรูปแบบผสมผสานของยุโรปผสมจีน  ซึ่งใหม่แปลกตา เป็นที่สนใจของชาวภูเก็ตที่ได้ไปพบเห็นฉะนั้นการถ่ายทอดแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากการนำแบบแปลนก่อสร้างและช่างผู้ทำการก่อสร้างมาจากปีนังกันจำนวนมาก บรรดาสถาปนิกเหล่านี้ให้ชื่อรูปแบบนี้ว่า "ชิโน-โปรตุกิสสไตล์"  
ตึกที่เห็นเหล่านี้  เมื่อเทียบอายุจากช่วงเวลานั้น  ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า  ๒๐๐ - ๓๐๐  ปี  จึงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูเก็ตที่ยังรักษาไว้ได้อยู่จนปัจจุบันนี้

The old town of  phuket  จึงเป็นจุดที่ไม่ควรพลาด เมื่อท่านไปเยือนภูเก็ต  นอกเหนือจากการไปชมความงามของธรรมชาติ  ตามหาดทรายต่าง ๆ  ที่ใคร ๆ ก็หลงไหล











และก็ไหน ๆ ก็ไปแล้ว  ไม่ควรพลาดไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองภูเก็ตด้วยอย่างน้อยก็ ๓ แห่ง


หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองภูเก็ต


โบสถ์วัดฉลอง
Big buddha วัดนาคเกิด

พระผุดที่วัดพระทอง

เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าสำหรับการเดินทางแล้ว.............สวัสดีภูเก็ต...........




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น