บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามชุก..ตลาดร้อยปีที่ยังมีชีวิต



ข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดร้อยปีสามชุกบ่อยครั้งมาก แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยแม้เพียงครั้งเดียวเพราะทุกครั้งที่ได้ไปพบเห็นสภาพชุมชนและบรรยากาศของร้านค้าที่นั่นแล้ว  เสมือนเข้าไปเดินอยู่ในอดีตและทำให้นึกถึงวิถีชีวิตและวิถีการค้าของผู้คนไทยในกาลก่อน

ตลาดสามชุกเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในอดีตที่นี่เคยเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นจุดที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า และเป็นจุดพักเรือสินค้าที่จะขึ้นล่องสู่บางกอก  บริเวณท่าน้ำตลาดสามชุก จะหนาแน่นไปด้วยเรือเมล์  เรือขนส่งสินค้า เรือข้าว เรือถ่าน เรือผัก เรือผลไม้  และสินค้าอื่น นานาชนิด และด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนหลายเชื้อชาติที่ล่องเรือมาค้าขายคิดอยากจะตั้งรกรากทำมาหากินที่นี่  ทั้งกะเหรี่ยง  มอญ  ละว้าโดยเฉพาะคนจีน มีการก่อตั้งศาสนสถานขึ้นเช่น ศาลเจ้า  วัด  โรงมหรสพ  ร้านกาแฟ โรงแรม  ร้านค้าทองคำ ร้านถ่ายรูป ร้านขายยาโบราณ ร้านเสริมสวย ฯลฯ  ซึ่งล้วนเสริมสร้างให้สามชุก เป็นแหล่งค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

สภาพตลาดการค้าที่นี่ จะมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นอยู่เรียงกันไป มีถนนซอยกั้นกลางรวม 5 ซอยแต่ละซอยจะค้าขายสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  ของที่ระลึก ฯลฯ







เนื่องจากการนำสินค้ามาค้าขาย แต่ละวันจะมีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าจำนวนมาก บางครั้งต้องการค้างพักแรม จึงมีชาวจีนคิดดัดแปลงห้องแถวไม้เปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมขึ้นที่นี่ ชื่อโรงแรมอุดมโชค ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีผู้ใดมาพักแล้ว แต่เจ้าของยังรักษาสภาพเดิม ๆ ไว้ให้เราได้เห็น

 

















การค้าขายที่ตลาดสามชุก เริ่มเงียบเหงาซบเซา  หลังจากราชการตัดถนนผ่านชุมชนต่าง ๆ ทำให้การคมนาคมทางบกมีความสดวกสบายกว่าทางน้ำ  การซื้อขายทางเรือเช่นแต่ก่อนจึงเริ่มลดน้อยถอยลง และเปลี่ยนเป็นทางบกไปในที่สุด ตลาดสามชุกเริ่มมีสภาพร้างคนไปในช่วงเวลาหนึ่ง  จนกระทั่งคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าของตลาดแห่งนี้  รวมตัวกันพัฒนาเชิงอนุรักษ์ขึ้น เกิดเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกขึ้นมาช่วยกันฟื้นฟูรักษาศิลปะ วิถีชีวิต และ สถาปัตยกรรมเดิม ๆ ให้ยังคงอยู่ และใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีของสังคมในอดีต ตลาดสามชุกจึงหวนกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง



คนที่ไปเที่ยวตลาดสามชุก ไม่ควรพลาดชมสถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณตลาดนี้ นั่นคือ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์  ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่บอกเล่าความเป็นมาในอดีตให้เราได้ทราบ  ขุนจำนงจีนารักษ์ ท่านมีนามเดิมว่า นายหุย แซ่เฮงเป็นคนจีนที่เกิดในแผ่นดินไทย สมัยที่มีชีวิตอยู่ ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น กิจการค้าของท่านเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ตัวท่านเองเป็นคนมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำชุมชน  และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนจำนงจีนารักษ์  นายอากรสุรา  ต่อมาภายหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น  ท่านจึงหันไปทำสวนทำไร่  และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 83 ปี  บุตรหลานของท่านได้อนุญาติให้ใช้บ้านของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์และเก็บของใช้โบราณ สำหรับผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ จึงนับว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างมากต่อสังคม โดยเฉพาะบ้านของท่านซึ่งมีศิลปะลวดลายฉลุที่สวยงามบริเวณช่องลม หาดูได้ยากในปัจจุบัน


ที่บริเวณหน้าตลาดสามชุก จะมีตู้ไปรษณีย์โบราณตั้งอยู่ 1 ตู้  ตู้ไปรษณีย์โบราณนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2454  ทำขึ้นในประเทศอังกฤษ ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ยุคแรก ๆ ของไทย ที่หน้าตู้จะระบุเวลาไขวันละ 3 ช่วงเวลา แสดงเวลาลักษณะของฝรั่ง  นั่นคือ

                                        6  ก.ท.   คือ    6 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ   6 A.M.
                                       10 ก.ท.   คือ  10 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ 10 A.M.
                                        2  ล.ท.   คือ   2 โมง หลังเที่ยง  หรือ   2 P.M.  นั่นเอง

ปัจจุบัน ตลาดสามชุกได้กลับมาคึกคักเช่นเดิม แม้วันเวลาจะเปลี่ยนไปนับร้อยปี  เพราะชุมชนนี้เข้มแข็ง จึงสามารถอนุรักษ์ให้คงอยู่ได้  มีผู้คนไปเที่ยวชมทั้งวันธรรมดา และวันหยุดราชการ ตลาดนี้จึงเปิดขายตามปกติโดยไม่มีวันหยุด และจะไม่มีวันร้าง  มีข้าวของมากมาย ที่น่าสนใจซื้อหา







ไม่ว่าใครได้ไปเที่ยวชม ก็จะได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านทุกคน ตลาดสามชุกในวันนี้  จึงนับว่ายังมีลมหายใจ และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง   แม้ว่าแม่น้ำท่าจีนจะเงียบสงบ ไม่คึกคักพลุกพล่านเหมือนเช่นก่อนแล้ว แต่แม่น้ำสายนี้ ได้โอบล้อมสามชุกให้ร่มเย็น และหายใจต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืนอีกยาวนาน............



 วิถีชีวิตที่สงบและเรียบง่ายของคนในชุมชนนี้  จึงยังคงมีให้เห็นที่ตลาดสามชุก  จังหวัดสุพรรณบุรี.....


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น