บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฝากใจ..ไว้ภูฏาน




ข้าพเจ้าไม่เคยวางแผนชีวิตไว้เลยว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้ไปยืนอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัย แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อได้ตกลงรับคำชวนของเพื่อนคนหนึ่งที่จะไปเที่ยวภูฏานเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเนื่องจากช่วงเวลาที่จะเดินทางกระชั้นชิดมาก จึงไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลของประเทศนี้ก่อน  ทราบเพียงสังเขปว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งในเอเซียที่อยู่ระหว่างจีนและอินเดีย และมีภูเขาจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่าไม่น่าจะต่างจากภาคเหนือของไทยนัก

คณะเราเดินทางด้วยสายการบิน Drukair ซึ่งเป็นสายการบินเดียวของภูฏาน เครื่องออกเวลา  04.30 น. ตามเวลาไทย ไปถึงภูฏานประมาณ  7.00 น. ใช้เวลาบิน 3.30 ชม. เวลาของภูฏานช้ากว่าไทย 1 ชม. อรุณเบิกฟ้าก่อนที่จะถึงภูฏานเล็กน้อย  กัปตันได้ชักชวนให้ผู้โดยสารดูเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ลิบ ๆ ทุกคนต่างตื่นเต้นกันภาพที่อยู่เบื้องหน้า  มันช่างสวยงามสุดบรรยาย   เทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ เมื่อต้องกับแสงตะวัน ช่างระยิบระยับสวยจับตาเป็นยิ่งนัก


ไม่นานนักก็ถึงจุดหมายปลายทาง คือสนามบินพาโร  ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็ก ขนาดเท่าสนามบินเมืองสุราษฏร์ของบ้านเราเห็นจะได้ กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่ยุ่งยากเนื่องจากวันหนึ่งมีไม่กี่เที่ยวบิน ใช้เวลาเพียงเดี๋ยวเดียวก็เสร็จสิ้น หลังจากนั้นเราก็ไปแลกเงินของประเทศภูฏานกัน

 
ภูฏานใช้เงินสกุลงุลตรัม มีเคาน์เตอร์ให้นักท่องเที่ยวแลกในสนามบิน  เงินงุลตรัม  มีค่าประมาณ 60%  ของเงินไทยนั่นคือ 100 งุลตรัม เป็นเงินประมาณ 60 บาท   สมาชิกทัวร์ต่างก็แลกเงินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในภูฏาน  ทัวร์กลุ่มนี้มากัน 34 ชีวิต สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภูฏานได้ไม่น้อย คณะของเรามาแวะทานอาหารเช้าที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพาโร โรงแรมนี้ตั้งอยู่ในหุบเขามีแม่น้ำไหลผ่าน สวยงามมากจนทุกคนพากันตื่นเต้นกับทิวทัศน์รอบด้าน แต่เมื่อเดินทางไปยังจุดอื่น ๆ ก็เห็นว่ามันมีสภาพคล้าย ๆ กันหมด โรงแรมที่นี่ประมาณ 3 ดาวเห็นจะได้ ส่วนใหญ่มีเพียง 2 ชั้น แต่บางโรงแรมมีชั้นใต้ดิน  ทุกแห่งไม่มีแอร์ เพราะยามมืดก็จะหนาว




เมื่อมาถึงภูฏานจริงๆ ความคิดของข้าพเจ้าแต่เดิมที่เห็นว่าคล้ายกับภาคเหนือของไทยต้องเปลี่ยนไป ภูฏานเป็นเมืองในหุบเขา  เมืองหนึ่งก็อยู่หุบเขาหนึ่ง จะไปอีกเมืองหนึ่งก็ต้องขับรถข้ามเขาเป็นลูก ๆ ไป ตลอดเวลาของการเดินทาง จึงเป็นการเดินทางบนไหล่เขาแทบทั้งสิ้น  บ้านทุกหลังตั้งอยู่บนเนิน และมีแม่น้ำไหลผ่าน  แม่น้ำนี้ก็คือหิมะที่ละลายนั่นเองไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ประเทศนี้น่าจะเป็นดินแดนที่มีธรรมชาติงดงามที่สุดในเอเซีย ข้าพเจ้าได้ยินบางคนกล่าวว่าประเทศภูฏานเปรียบเหมือนสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเซีย



ภูฏานเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ระหว่างอินเดียและจีน มีเนื้อที่เพียง 38,000 ตร.กม. มีประชากรเพียง 750,000 คน  ไม่มีทางออกสู่ทะเล  คนภูฏานจะกินปลาได้ ต้องเป็นผู้ที่มีฐานะเท่านั้นเพราะต้องนำเข้าจากอินเดีย  อาชีพส่วนใหญ่ จะทำการเกษตรและปศุสัตว์ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนจะเห็นนาข้าวที่สวยงามปลูกทั้งบนที่ราบและไหล่เขา ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ก็จะเก็บไว้กินเอง ชาวภูฏานจะเก็บข้าวไว้บนช่องหลังคาบ้าน


                     

ข้าวของชาวภูฏานเมล็ดอ้วนป้อม ผิดกับข้าวไทยที่เรียวยาว แต่มีความเหนียวคล้ายกับข้าวหอมมะลิของบ้านเรา นอกจากหุงกินแล้ว คนภูฏานยังดัดแปลงเป็นข้าวเม่าบ้าง ข้าวคั่วบ้าง อร่อยพอควร วิถีชีวิตของคนภูฏานเรียบง่ายเหมือนสภาพสังคมไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา เช้าขึ้นก็จัดแจงทำอาหารใส่กล่องให้ลูก เดินถือไปกินที่โรงเรียน แล้วก็ออกไปทำงาน สภาพครอบครัวมีความอบอุ่นและไม่ฟุ้งเฟ้อในตัวเมืองทิมพูซึ่งเป็นเมืองหลวงของภูฏาน ยังไม่พบเห็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแต่จะมีเป็นร้านเล็กๆที่ขายของใช้ที่จำเป็น หรือเครื่องแต่งกายที่ไม่หรูหรานัก



และที่นี่ บริษัท CP  ยังไม่สามารถเข้าไปเปิดร้าน 7 eleven  ได้ แต่บอกพวกเขาก็มีอารมณ์ขันนัก  เปิดเป็นร้าน 8 eleven  แทนร้านนี้ขายของทุกประเภทเลยทีเดียว  มากกว่า  7 eleven  ของบ้านเราเสียอีก



ปัจจุบันเมืองทิมพู กำลังเจริญเติบโต  มีการก่อสร้างอาคารหลาย ๆ แห่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเต็มไปหมด


จึงสามารถคาดเดาได้เลยว่า อีก 5 - 6  ปีหลังจากนี้  เมืองทิมพูต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายแน่นอน ความเป็นเมืองธรรมชาติของทิมพู อาจจะค่อย ๆ หายไป


เด็ก ๆ ชาวภูฏานจะเดินไปโรงเรียนเอง  พร้อมด้วยกระติกข้าวที่พ่อแม่จัดให้เพื่อไปกินที่โรงเรียนในตอน กลางวัน  ระหว่างเดินหากพบนักท่องเที่ยวกำลังถ่ายรูป ก็จะมาร่วมแจมด้วย และแอคชั่นเองโดยไม่ต้องบอก แถมนับ one two three แทนเราด้วย  เด็กภูฏานจะเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก  น่ารักมาก ๆ


พืชไร่ยอดนิยมของชาวภูฏานคือพริก  หลาย ๆ บ้านจะตากพริกไว้บนหลังคาบ้านเพื่อเก็บไว้กินตลอดปีอาหารพื้นเมืองที่นิยมกันนักหนาก็คือพริกสดผัดชีส ซึ่งชาวภูฏานเรียกมันว่า เอมมาดัสซี่  เกือบจะทุกมิ้ออาหารจะต้องมีเอมมาดัสซี่  หลายคนบอกว่าอร่อย  แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันเลี่ยน จึงไม่ค่อยถูกปากนัก


สถานที่ท่องเที่ยวของภูฏาน ส่วนใหญ่จะเป็น ซองค์ต่าง ๆ  คำว่า Dzong แปลว่า ป้อมปราการ ซึ่งจะใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์  ชาวภูฏานจะให้ความสำคัญต่อทุกเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาเหนือสิ่งอื่นใด ภาพนี้คือปูนาคาซองค์ (Punaka Dzong)  ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ กษัตริย์จิกมี่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรส ความสวยงามตระการตา อยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของตัวซองค์กับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เทือกเขาที่สลับซ้อนที่อยู่เบื้องหลัง กับแม่น้ำที่ทอดยาวจากหิมาลัย รวมเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สวยงามเกินจะบรรยายจริงๆ


ภาพนี้คือโดจูล่า (Dochula) เป็นยอดเขาแห่งหนึ่งที่สูงประมาณ 3,150 เมตร เป็นที่ประดิษฐานสถูป 108 องค์ ที่พระราชินีของกษัตริย์องค์ที่ 4 สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติของพระสวามีและบุตรชายที่ชนะศึกสงคราม ไม่ว่าประเทศใด ๆ ก็ล้วนมีศึกสงครามกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมีผู้อ่อนแออยู่ในโลกนี้  ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น จึงจะสามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่างาม เป็นสัจจธรรมทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าใดแม้แต่ประเทศไทยของเรา ที่สามารถเป็นได้เช่นทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ผู้กล้าที่เราท่านทั้งหลายควรต้องรำลึกถึงพระคุณให้จงหนัก




ภาพนี้คือทาซิโซซองค์ ซึ่งเป็นป้อมปราการประจำเมืองทิมพู ที่ภูฏานนี่ทุกเมืองจะมี Dzong  ประจำเมืองที่ Dzong นี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นสถานที่บริหารราชการ  จึงใหญ่โตมาก วันนั้นที่คณะของเราไป ตรงกับงานประเพณีประจำปี งานทิมพูเซจู เป็นการแสดงระบำหน้ากากที่แสดงโดยพระสงฆ์ทั้งหมด ออกมาร่ายรำในท่วงทำนองพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับศาสนา  ซึ่งชาวภูฏานจะให้ความสนใจมาเที่ยวชมกันจำนวนมาก  คนที่เข้ามาในงาน จะต้องแต่งกายชุดพื้นเมืองของชาวภูฏานเต็มยศ  ชุดของผู้ชายจะเรียกกันว่า โกะ (Gho)  ส่วนชุดของผู้หญิงจะเรียกกันว่า คิระ (Kira) 




สถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นจุดขายอีกแห่งหนึ่งของภูฏาน ก็คือ Big Buddha view point  ที่เรียกว่า The Buddha Dordenma  เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มากตั้งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่ง  คล้าย ๆ กับ Big Buddha  ที่วัดนาคเกิด จังหวัดภูเก็ตของไทย แต่ภูเขาที่นี่สูงกว่า วิวจึงสวยกว่า มองไปด้านล่างก็จะเห็นทิวทัศน์เมืองทิมพู


ที่เมืองทิมพู   คณะเรามีโอกาสออกเที่ยวชมยามราตรี  แต่มิใช่สถาน Disco  หรือที่อื่นใด  หากแต่เป็นสถูปแห่งหนึ่งที่อยู่ใจกลางเมือง เปรียบเสมือนเป็นหลักเมืองก็อาจกล่าวได้  สถูปแห่งนี้เรียกว่า Memorial Chorten   สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ์แก่พระเจ้าจีกมี ดอร์จิ วังชุก  กษัตริย์องค์ที่ 3 ของภูฏาน ชาวภูฏานนิยมมาเดินจงกลมที่สถูปแห่งนี้ในยามค่ำคืน  แต่วันนั้นเราอาจจะไปมืดเกิน   ประตูทางเข้าสถูปปิดไปแล้ว  แต่ไกด์ดอร์จี ชาวภูฏานของเราก็เหลือร้าย ปีนรั้วขึ้นไปตามพระสงฆ์ที่เฝ้าอยู่ข้างใน มาช่วยเปิดประตูให้ จึงมีโอกาสเข้าไปสักการะภายในได้



สถานที่ท่องเที่ยวของภูฏาน หนีไม่พ้นวัดและซองค์ต่างๆ เพราะสถานที่เหล่านี้เขาถือเป็นสถานที่สำคัญ วัดหนึ่งที่ไกด์พาคณะเราแวะชม คือ วัดตัมโซ  เป็นวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนเนินเขา  แต่ก่อนจะเข้าวัดต้องเดินผ่านสะพานที่ทำด้วยโซ่เหล็กโบราณอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี ซึ่งถือเป็นจุดขายของวัด เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแรงของโซ่เหล็กโบราณนี้  นักท่องเที่ยวทั้งหลายต่างก็พากันไปโยกเยกบนสะพานกันเป็นที่สนุกสนาน


ไฮไล้ท์อีกแห่งหนึ่งที่คณะเรามีโอกาสได้ไปชม คือ พาโรริงปุงซองค์ (Paro Ringpung Dzong)  เป็นซองค์ประจำเมืองพาโร  ใช้เป็นที่พักสงฆ์ และส่วนหนึ่งเป็นที่บริหารราชการ เช่นเดียวกับซองค์ของเมืองอื่น ๆ ความยิ่งใหญ่ของที่นี่ไม่แพ้ ปูนาคาซองค์  และที่นี่ได้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha


ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวภูฏานในครั้งนี้  ที่เชื่อว่าจะไม่มีผู้ใดลืมได้ก็คือ การขึ้นไปเที่ยวชมวัดทักซัง วัดซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาที่สูงชันถึง 3,100 เมตร เป็นที่แสวงบุญของชาวภูฏานที่เลื่อมใสศรัทธากันมากที่สุด  ทิวทัศน์ของวัดทักซัง งดงามเกินจะบรรยาย


เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนภูเขาสูง และไม่มีทางรถยนตร์ขึ้นได้  จึงต้องเดิน..เดิน..เดิน..เพียงเท่านั้น และต้องเดินตามทางที่อยู่ริมเหว  ตัวช่วยมีอยู่อย่างเดียวคือการขี่ม้าขึ้น  ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่ต้องขอขี่ม้าเป็นตัวช่วย มิฉะนั้นก็ไม่อาจขึ้นวัดทักซังได้ สนนราคาของม้าก็ตัวละ 500 งุลตรัม ประมาณ 300.-บาทไทย  แต่ม้าจะขึ้นไปส่งเพียงครึ่งทาง ประมาณ 2 กม. อีกครึ่งทาง สูงชันมาก ต้องเดินขึ้นเอง เอาก็เอาวะ ไหน ๆ ก็มาแล้ว ครั้งหนึ่งในชีวิต ในที่สุดก็ขึ้นไปอยู่บนหลังม้า ด้วยการช่วยเหลือของเจ้าของม้าทั้งอุ้มทั้งดันทั้งผลักขึ้นไปจนสำเร็จ  เมื่อขึ้นไปขี่แล้ว ก็กลัวม้าผยศอีก จึงต้องทำตัวเบา ๆ และลูบหน้าม้าอยู่บ่อย ๆ เพื่อขอให้ม้าทำตัวดี ๆ   ถ้าเจ้าพยศ ข้าตายแน่  เจ้าม้าก็แสนดี ไม่พยศเลย แต่จะแวะกินหญ้าริมเหวอยู่ร่ำไปตลอดทาง  ช่างแกล้งกันชัด ๆ  ม้าของข้าพเจ้าชื่อ เจ้าตรีม ถูกกำหนดให้อยู่ตัวสุดท้ายของกลุ่มแต่เมื่อออกเดินทางจริง ความที่เป็นม้าวัยรุ่น รำคาญความชักช้าของตัวหน้า ก็เลยถือโอกาสเบียดตัวหน้าที่น้องตุลย์กำลังขี่อยู่  และแซงขึ้นไปเสียเลย แม้จะถูกผู้คุมดุเอา ก็ไม่สนใจ  แต่ก็ยังดีกว่าม้าของคุณพร ที่อยู่ด้านหน้าถัดขึ้นไปอีก 3 ตัว  เจ้านั่นคงเป็นม้าอิทธิพล เดินไปดี ๆ ก็ยกขาหลังถีบม้าตัวข้างๆ เสียอย่างนั้น เล่นเอาคุณพรร้องเสียงหลง  กลัวจะตกจากหลังม้ายามแก่






เมื่อลงจากหลังม้าจึงค่อยหายใจอย่างโล่งอก ที่พ้นความเสี่ยงไปแล้ว  แต่หนทางข้างหน้าอีก 2 กม.ที่จะต้องเดินขึ้นนี่ซี  ดูแล้วมันช่างยากเย็นจริง ๆ  แต่มาแล้วนี่ ยังไงก็ต้องกัดฟันเดินขึ้นไปให้จงได้  ข้าพเจ้าค่อย ๆ เดินเพื่อไม่ให้เหนื่อยง่าย แต่ดูแล้วมันช่างยากลำบากจริง ๆ เดินเพียงไม่กี่ก้าวก็เหนื่อยแล้ว หายใจแฮกๆ  ตลอดทาง น้องทิพย์เพื่อนร่วมทางคนหนึ่ง แนะให้หายใจลึก ๆ ให้เต็มปอดและผ่อนออกช้า ๆ ให้หมด ดูท่าจะได้ผล แต่ก็ชั่วเพียงระยะทางหนึ่งเท่านั้น   ในที่สุดข้าพเจ้าต้องใช้วิธีตั้งสติพิจารณาสัจจธรรมไปด้วยระหว่างเดิน  จนลุถึงวัดทักซังได้สำเร็จ



การเดินทางที่ยากลำบากในครั้งนี้  ทำให้เห็นถึงสัจจธรรมหลายอย่าง " การไปถึงจุดสูงสุด ย่อมจะต้องผ่านความยากลำบากเสมอ "  ........" จะทำสิ่งใดให้สำเร็จ  ต้องมีความตั้งใจจริงและมุมานะอดทน " ...ข้าพเจ้าเดิน ๆ ๆ  ขึ้นไปด้วยความมุมานะอดทน เพราะตั้งใจจะไปให้ถึงวัดทักซังให้จงได้  เดินจนร่างกายเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ    เข้าใจในบัดดลว่า "สภาพคนที่เหนื่อยจนเหงื่อโทรมกาย" นั้นเป็นอย่างไร  และเข้าใจด้วยกับคำว่า " อีกเฮือกหนึ่ง"..นั้นเป็นอย่างไร   การขึ้นวัดทักซังในครั้งนี้ทำให้เข้าใจในสัจจธรรมของชีวิตหลาย ๆ อย่างทีเดียว.....คุณแม่เชื่อง สมาชิกผู้ร่วมทางท่านหนึ่ง ท่านกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า " ใกล้ตายเพียงนิดเดียว"  ...ความเหนื่อยของแต่ละคนคงไม่ต้องบรรยายใด ๆ อีกแล้วกระมัง

เมื่อเมฆหมอกผ่านไป  ท้องฟ้าย่อมใสสว่าง  ทันทีที่เห็นวัดทักซังในเบื้องหน้า ความเหนื่อยก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง  เหลือเพียงความตั้งใจอย่างเดียว ..."อีกเฮือกหนึ่ง ก็ถึงแล้ว"....และในที่สุดเราก็ถึงวัดทักซัง


บนวัดทักซัง มีพระสงฆ์อาศัยอยู่  มีพระพุทธรูปหลายองค์ที่เจ้าของสถานที่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ มีจุดปฏิบัติสมาธิของพระท่านหนึ่งในอดีต อยู่ในช่องหินที่ลึกมาก  ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันว่า ท่านเป็นองค์ปฐมาจารย์ผู้นำศาสนาพุทธที่ไปเผยแพร่ในทิเบตและภูฏาน ประทับบนหลังเสือแล้วเหาะขึ้นมาวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำแห่งนี้เป็นเวลา 3 เดือน จึงเป็นที่มาอีกชื่อหนึ่งของวัดนี้ว่า Tiger's Nest

หลังจากสักการะกันเรียบร้อยแล้ว  ก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องเดินลงเพียงเท่านั้น  แม้จะง่ายกว่าขาขึ้นมากแต่ความเหนื่อยก็มิได้ต่างกันนัก เพราะมิได้ลงเพียงอย่างเดียว มีทั้งขึ้น ๆ ลง ๆ เกือบตลอดทาง และหนทางสูงชันมาก ข้าพเจ้าเคยเดินลงจากดอยอ่างขาง ก็เรียกว่าเหนื่อยที่สุดในชีวิตแล้ว แต่เมื่อมาเจอวัดทักซังเข้า อ่างขางเลยเป็นน้อง ๆ  ไปโดยปริยาย เพราะที่นี่สูงถึง 3,100 ม.ขณะที่อ่างขางเพียง 1,400 ม.เท่านั้น

บ้านบันดาลใจทัวร์ให้ความคุ้มค่ากับสมาชิกผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้อย่างสูงสุด เป็นการเดินทางที่เหนื่อยที่สุด  แต่ประทับใจกับธรรมชาติที่สวยที่สุด  เมื่อนึกถึงภูฏานครั้งใด ก็จะเห็นแต่ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายกับธรรมชาติที่งดงาม  นึกแล้วก็มีความสุข  จึงไม่แปลกใจเลยที่ภูฏานจะกำหนดเป้าหมาย Gross National Happiness. แทน Gross National  Product    ความมีอัธยาศัยของผู้คนในภูฏาน  ทำให้นักท่องเที่ยวยากที่จะลืมเลือน


คุณลุงท่านนี้ นั่งหมุนกระบอกมนต์ทั้งวัน  มือก็หมุนกระบอกมนต์ ปากก็ส่งเสียง คูรูซังโปลา..คูรูซังโปลา


คุณยายท่านนี้  เดินสวนกัน ก็ส่งเสียงมา  คูรูซังโปลา..คูรูซังโปลา  คำว่า คูรูซังโปลา  นี้เป็นภาษาพื้นเมือง ที่ใช้ทักทายกันเหมือนคำว่า "สวัสดี"  นี่ย่อมแสดงถึงความมีอัธยาศัยของชาวภูฏานอย่างดียิ่ง ความประทับใจที่ได้รับในครั้งนี้  จะต้องจดจำกันไปอีกนานทีเดียว....ทั้งภูฏาน และ เพื่อนร่วมการเดินทางกลุ่มนี้.........คูรูซังโปลา........


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น