บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สวนไต้หวันบนดอยอ่างขาง




อ่างขางในอดีต (ปี ค.ศ.1977)

นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเสด็จผ่านเหนือดอยอ่างขาง  ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่เขาหัวโล้นเป็นบริเวณกว้างขวาง  พบว่าชาวเขาที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นกันเป็นส่วนใหญ่   จึงมีพระราชดำริที่จะให้การช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้ทำการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ส่งเสริมให้มีรายได้มากกว่าการปลูกฝิ่น  อันเป็นการช่วยประเทศชาติอีกทางหนึ่งให้รอดพ้นภัยจากยาเสพติด


การนับหนึ่งจึงได้เริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้น  โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลากรจำนวนหนึ่งให้ขึ้นไปทำการบุกเบิกพื้นที่บนดอยอ่างขาง   ลงมือทำเพื่อให้ชาวเขาเห็นจริง และเอาเป็นแบบอย่างได้  การทำงานในช่วงแรก จึงถือได้ว่าเป็นงานที่หนักยิ่งกว่าหินหลายเท่า เพราะไม่เพียงเฉพาะงานบุกเบิกเท่านั้น แต่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับชาวเขามิให้หวาดระแวง และต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศอันเป็นหลักสำคัญที่จะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป นั่นคืองานของโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา


ประเทศไต้หวัน มิตรประเทศของไทย ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกและครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินสนับสนุน   ส่งบุคคลากรมาช่วยฝึกฝน  รวมทั้งให้ทุนแก่เจ้าหน้าที่ไทยไปฝึกงานที่ประเทศไต้หวัน  สวนไต้หวันบนดอยอ่างขาง  จึงเปรียบเสมือนสัญญลักษณ์แห่งความร่วมมือและมิตรภาพที่แนบแน่น ที่ประเทศไต้หวันมีให้แก่โครงการหลวงและประเทศไทย


วุฒิ มณีปุระ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผิดชอบโครงการไต้หวันในช่วงแรก ๆ  หลังจากที่ได้มีโอกาสไปเป็นนิสิตฝึกงาน ที่สถานีวิจัยดอยปุยเมื่อปี พ.ศ.2515  ในช่วงนั้นได้มีโอกาสไปทำการเสียบกิ่งติดตาท้อที่บ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์   ทำให้อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถานี ฯ  มองเห็นแวว  จึงชักชวนให้เข้ามาทำงานที่โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา หลังจากที่จบการศึกษา และถูกส่งตัวให้ขึ้นไปทำงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  รับผิดชอบงานในโครงการไต้หวัน


ในชีวิตการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะมีทั้งความสุขและประสพการณ์เท่ากับช่วงเวลาที่ฝึกงาน  ในปีนั้นนิสิตเกษตรไปฝึกงานบนดอยปุยรวม 30 คนด้วยกันเห็นจะได้ และเป็นชายล้วน ๆ จึงมีความสุขสนุกสนานกันเต็มที่ตามสถานะของหนุ่มคะนองวัย  นิสิตทั้งหมดพักรวมกันที่สวนสองแสน  ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านแม้ว  ดอยปุยประมาณ 1 กม.  เช้าขึ้นมาก็เข้าแปลงงาน ลงมือฝึกจริงกันทุกอย่าง  นับตั้งแต่การส่องกล้องเพื่อทำแนวระดับสำหรับการปลูกไม้ผลในพื้นที่ลาดชัน  ขุดหลุมปลูก บำรุงรักษา  ตัดแต่งกิ่ง  เสียบกิ่ง  ติดตา  ฯลฯ  ไม้ผลโดยส่วนใหญ่จะเป็นลิ้นจี่   ท้อ   ส่วนไม้ดอกจะเป็นพวก Gladiolus  ,   Edible Day Lily   ฝึกกันอยู่นานถึง 30 วัน  ก่อนจบการฝึกงาน นิสิตฝึกงานจำนวน 3 คน  ได้รับการคัดเลือกให้ไปเสียบกิ่ง ติดตาท้อที่บ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์  วุฒิ มณีปุระเป็นหนึ่งในนั้นด้วย  การเดินทางไปบ้านขุนกลางขณะนั้น ยังมีความลำบากมากเพราะยังไม่มีถนนหนทาง  ท่าน มจ.ภีศเดช รัชนี , อ.สืบศักดิ์ นวจินดา  จึงนำคณะนิสิตจำนวน 3 คนนี้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่บ้านขุนกลาง  ให้พักค้าง 1 คืนเพื่อทำงานให้เสร็จ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้เดินลงจากเขาเอง  ต้องเดินเท้าลงมาจนถึงน้ำตกแม่กลาง   จึงมีรถมารอรับกลับไปสวนสองแสน  นับเป็นการฝึกงานที่มีทั้งความลำบากและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง   และเมื่อจบการศึกษาแล้ว  ได้มีโอกาสไปทำงานในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โดยท่าน ศ.ปวิณ ปุณศรี  ผอ.โครงการเกษตรที่สูงในขณะนั้นเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและส่งไปเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการไต้หวัน  ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง


บริเวณทิศเหนือของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  จะเป็นแปลงทดลองไม้ผล ที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไต้หวันตามโครงการนี้   เจ้าหน้าที่บนดอยอ่างขางมักจะเรียกกันติดปากว่า "แปลงไต้หวัน" ไม้ผลในแปลงนี้  จะมีหลากหลายเช่น แอปเปิล  ท้อ  สาลี่  บ๊วย  ทั้งหมดล้วนเป็นพันธ์ดีของประเทศไต้หวันทั้งสิ้น  ซึ่งหากสามารถนำมาปลูกทดแทนพันธ์พื้นเมืองที่ชาวเขาปลูกกัน  ก็จะเป็นหนทางสร้างรายได้มหาศาลในระยะยาวได้  และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด  จะเป็นทางเลือกแก่ชาวเขาในการปลูกทดแทนฝิ่น 


โครงการไต้หวันได้เริ่มเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังไม่มีถนนหนทาง เจ้าหน้าที่ ๆ ทำงานบนดอยในช่วงนั้น ต้องใช้เท้าเป็นพาหนะในการสัญจร  ความช่วยเหลือจากไต้หวันจึงถือได้ว่าเป็นมิตรแท้ที่กอดคอกันบุกเบิกมาตั้งแต่เริ่มแรก  เมื่อการทดลองในแปลงไต้หวันบนดอยอ่างขางได้ผลดี  ก็จัดให้มีการอบรมถ่ายทอดส่งเสริมองค์ความรู้แก่กลุ่มงานส่งเสริมตามดอยต่าง ๆ   เพื่อให้นำไปขยายความรู้ตามดอยอื่น ๆ   เพื่อให้เกิดความสำเร็จในวงกว้างต่อไป


นอกเหนือจากการช่วยเหลือดังกล่าว  เมื่อต้นปี  2518   ไต้หวันยังได้ให้ทุนเจ้าหน้าที่ไปฝึกงานที่ประเทศไต้หวัน  ในครั้งนั้นมีโอกาสไปด้วยกัน 3 คนคือ วุฒิ มณีปุระ ,  วรพงษ์ เครือเขื่อนเพชร  และถาวรรัตน์ ยอดศรี  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยดอยปุย   เป้าหมายฝึกงานคือที่  Fu Shou Shan Farm  ที่ Lishan  ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศคล้ายคลึงกับดอยอ่างขางที่เป็นภูเขาสูงบ้างต่ำบ้างสลับกันไป และหนาวเย็นตลอดปี   แร่ธาตุในดินและอากาศที่ชุ่มชื้น  ส่งผลดีต่อผลผลิตไม้ผลเมืองหนาวเกือบทุกประเภท  ประสพการณ์ที่  Fu Shou Shan Farm  นำมาใช้ได้กับที่ดอยอ่างขางเป็นอย่างดี  แต่ก่อนจะถึง  Fu Shou Shan Farm  เราได้มีโอกาสไปดูฟาร์มไม้ดอกที่  Tai Chung  ซึ่งเป็นฟาร์มที่ประเทศไต้หวันจัดให้พวกทหารผ่านศึกมาดำเนินการ  เป็นวิธีการดูแลทหารผ่านศึกให้มีงานและรายได้อย่างยั่งยืน ที่น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง
 



เข้าคารวะเจ้าหน้าที่องค์การทหารผ่านศึก VACRS ของไต้หวัน (ปี ค.ศ.1975)



เจ้าหน้าที่ VACRS  พาดูงานไม้ดอก (ปี ค.ศ. 1975)



ที่สำนักงาน Fu Shou Shan Farm (ปี ค.ศ.1975)

เข้าพักที่บ้านรับรองของ Fu Shou Shan Farm ( ปี ค.ศ. 1975  )

เจ้าหน้าที่ของ Fu Shou Shan Farm เตรียมสาธิตการ Pruning  แอปเปิล ( ปี ค.ศ. 1975)

ฝีกการเสียบกิ่งท้อ (ปี ค.ศ. 1975)

อากาศที่  Fu Shou Shan Farm   ในช่วงนั้นหนาวเย็นมาก ในช่วงเช้าจะมีน้ำค้างแข็ง  บนยอดเขาสูงยังมีหิมะปกคลุมอยู่ทั่วไป  บรรดาไม้ผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นท้อ  แอปเปิล สาลี่  อยู่ระหว่างการพักตัว  จึงมีโอกาสฝึกการ  pruning   และการเสียบกิ่ง  ฝึกกันได้ระยะหนึ่งก็เดินทางไปฝึกต่อที่  Wu Ring Farm  ซึ่งมีไม้ผลลักษณะเดียวกันและฝึกในลักษณะเดียวกันจนครบวงจร  ประมาณเดือน เมษายน ไม้ผลต่าง ๆ  ก็เริ่มผลิตาดอก  ติดผล  บางต้นติดผลหนาแน่นจำเป็นต้องปลิดผลทิ้งบางส่วนเพื่อไม่ให้แย่งอาหารกันและป้องกันโรคไปด้วยอีกทางหนึ่ง  เมื่อผลที่เหลือเจริญเติบโตเต็มที่จนแก่ได้ขนาด ประมาณเดือน สิงหาคม - กันยายน ก็เริ่มทะยอยเก็บเกี่ยวผลได้ เริ่มจากพันธ์เบาไปหาพันธ์หนัก  และประมาณเดือนตุลาคม ไม้ผลเหล่านี้ก็จะเริ่มทะยอยทิ้งใบ  จนถึงฤดูหนาวก็จะเริ่มฟื้นตัวต่อไปตามวงจรของมัน  เมื่อครบวงจรก็ถือว่าการดูงานฝึกงานสิ้นสุดลงจึงเดินทางกลับเมืองไทย


บนยอดเขาสูงกลางเกาะ มีหิมะปกคลุมทั่วไป ( ปี ค.ศ. 1975)


เดินทางไป Wu Ring Farm เพื่อดูงานและฝึก Pruning (ปี ค.ศ. 1975)

ฝึก Pruning แอปเปิลที่ Wu Ring Farm (ปี ค.ศ. 1975)

เมื่อกลับมาเมืองไทย ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าสถานี และ หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในเวลาต่อมาตามลำดับ  ประสพการณ์และเทคนิคต่าง ๆ  ที่ได้รับจากการฝึกงานที่ไต้หวันสามารถนำมาใช้จริงที่ดอยอ่างขางได้อย่างเต็มที่ ขอบเขตพื้นที่ทดลองของโครงการไต้หวัน ได้ถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวางในพื้นที่ภูเขาเป็นลูก ๆ   ปลูกทั้งแอปเปิล  ท้อ สาลี่ บ๊วย และพลับ  ทุกชนิดเป็นพันธุ์ดีทั้งหมด  ไม้ผลเหล่านี้เจริญเติบโตอย่างน่าพอใจ   โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไต้หวัน ยังติดตามให้ความช่วยเหลือมาให้คำแนะนำที่ดอยอ่างขางอย่างต่อเนื่อง


เสียบกิ่งท้อพันธ์ดีจากไต้หวัน บนดอยอ่างขาง ( ปี ค.ศ.1976)

ปาป้า Sung  พร้อมคณะชมงานสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (ปี ค.ศ. 1979)


ปาป้า Sung , ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี และเจ้าหน้าที่อ่างขาง (ปี ค.ศ. 1979)


ในทุก ๆ ปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมงานและความคืบหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  จากงานที่เริ่มบุกเบิก จนถึงผลผลิตที่เกิดความสำเร็จจริงเป็นรูปธรรม สามารถนำมาวางจำหน่าย  สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ  สามารถทำให้ชาวเขาเลิกการปลูกฝิ่น และหันมาปลูกไม้ผลเหล่านี้แทน


ในหลวงทอดพระเนตรการโน้มกิ่งสาลี่ (ปี ค.ศ. 1979)

ปาป้า Sung ตามเสด็จในหลวงเพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับโครงการไต้หวัน (ปี ค.ศ.1977)

ผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันถวายรายงาน (ปี ค.ศ.1979)

มจ.ภีศเดช  รัชนี ดูการเก็บเกี่ยวและบรรจุท้อรุ่นแรก (ปี ค.ศ. 1979)

โครงการไต้หวันได้พัฒนาการสนับสนุนการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตลอดมาโดยเฉพาะงานที่จะสามารถส่งเสริมให้ชาวเขาได้ทำเป็นอาชีพ   นั่นคือการเปลี่ยนยอดท้อจากพันธ์พื้นเมืองที่มีมากมายตามดอยต่าง ๆ ให้เป็นพันธ์ดีของไต้หวัน    จนปัจจุบันชาวเขาเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในแต่ละปีและยึดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้  จึงสามารถกล่าวได้ว่าความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากพระราชดำริที่ทรงห่วงใยชาวเขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และความช่วยเหลือเกื้อกูลจากประเทศไต้หวันผู้เป็นกัลยาณมิตรแห่งผู้ปฏิบัติธรรมโดยแท้...................... 


พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ประเทศไต้หวันมอบให้แก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง