บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฟ้าลิขิตให้ชีวิต "สู้" สู้





เขาคือนายพงษ์เดช  รักษาสกุล ที่เพื่อนทุกคนเรียกเขาว่า "สู้"  สู้เป็นชาวนครหลวง จ.อยุธยา ครอบครัวมีอาชีพทำนา หลังจากร่ำเรียนจนจบ ม.ศ.๕ ที่อยุธยา ก็ entrance เข้าคณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สู้เป็นคนที่มีนิสัยเอื้อเฟื้อและจิตใจดี จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงร่วมคณะเดียวกัน และยังชอบทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ในช่วงปิดภาคเรียนแต่ละปี  แทนที่จะเรียน summer เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่สู้เลือกที่จะออกชนบททำประโยชน์ให้กับสังคม สู้จึงมาเป็นสมาชิกค่ายอาสาสมัคร และได้รับการคัดเลือกให้ไปออกค่ายที่บ้านน้ำคิว จ.เลย











ชีวิตในค่ายบ้านน้ำคิว  แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสู้  แต่ชีวิตที่เคยตรากตรำกับงานหนักมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้งานค่าย ไม่ว่าจะหนักหนาปานใด ก็ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับสู้ ทั้งเรื่องขุดดิน ขนหิน ผสมปูน แบกไม้ เพื่อสร้างโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อการปลูกสร้างโรงเรียนบ้านน้ำคิวสำเร็จลง  ณ.ที่แห่งนั้นจึงมีจิตวิญญาณ และหยาดเหงื่อแห่งอุดมการณ์ของสู้ฝังไว้ที่นั่นด้วยความรักและผูกพัน สู้บอกกับเพื่อนๆว่าเขาได้ประสบการณ์มากมายจากค่ายน้ำคิว ทั้งเรื่องการบริหารจัดการงาน การแสดงความคิดเห็น และการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประทับใจมากที่ได้เห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องชาวค่าย ความรู้สึกดีๆเหล่านี้  สู้ยังเก็บไว้ในความทรงจำส่วนลึกเสมอมา






เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สู้จำเป็นต้องอำลาแม่นนทรี ก้าวออกจากทุ่งบางเขนเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตน สู้เลือกที่จะนำความรู้จากรั้วนนทรีไปทำงานที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และเลือกที่จะไปอยู่จังหวัดนราธิวาส  ดินแดนที่ไม่มีใครอยากไป  สู้ไม่เคยกลัวความลำบาก และเลือกที่จะไปทำงานที่นั่นด้วยความมุ่งมั่น เขาเดินทางด้วยรถไฟไปกับเพื่อนๆอีกหลายคน และลงจากรถไฟเป็นชุดสุดท้ายที่สถานีนราธิวาส ช่างเป็นการเดินทางที่ยาวนาน โดยไม่รู้เลยว่า ปัญหาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต กำลังจะเกิดขึ้นที่นั่น



๕ เดือนที่ทำงานที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นเพียงช่วงชีวิตการทำงานที่เริ่มต้นเท่านั้น เขายังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน จึงมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้าง   และแล้วในเย็นวันหนึ่งที่เขากำลังขับจักรยานยนตร์เพื่อกลับบ้านพัก ก็ได้พบกับชายแปลกหน้า  ๒  คน มาพูดกับเขาด้วยภาษายาวีที่สู้ฟังแล้วไม่เข้าใจ จึงได้บอกเขาไปว่าพูดไม่ได้ ชายแปลกหน้า ๒ คนนั้นจึงเปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทยอย่างกระท่อนกระแท่น แต่ก็พอจะจับความได้ว่า มาจากยะลาจะมาพบเพื่อนที่นี่ และไม่มีที่พัก สู้เห็นว่าที่ตรงนี้ก็ไม่มีใคร สู้ยังมีน้ำใจชวนเขาไปพักด้วยกัน พูดยังไม่ทันจบ ชายคนหนึ่งก็ควักปืนออกมายิงเขา  กระสุนนัดแรกเข้าหน้าอกซ้าย ทะลุปอด ผ่านขั้วหัวใจ ไปตัดกระดูกสันหลัง กระสุนนัดที่สองและสามตามมาติดๆ ที่ท้องและมือจนเขาล้มลง นอนจมกองเลือด  แม้จะพอมีสติอยู่บ้าง พยายามที่จะลุกขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้  ขณะนั้นสู้พิการแล้วโดยที่ตนเองยังไม่รู้ตัว  ชายแปลกหน้าทั้ง ๒ คนนั้นขับจักรยานยนต์หลบหนีไป  เป็นการมุ่งทำร้ายเพื่อหวังชิงทรัพย์สินโดยชัดเจน



เวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่อาจรู้ได้  มีชาวบ้านมาพบเห็นเข้า และนำสู้ส่งโรงพยาบาลนราธิวาส แต่อาการที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่โรงพยาบาลท้องถิ่นจะเยียวยา  สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจึงขอให้โรงพยาบาลนราธิวาสส่งตัวสู้ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช



สิ่งที่เกิดขึ้นกับสู้ไม่ได้เกิดจากการทะเลาะวิวาทหรือความประมาทเลินเล่อ  ไม่ได้เกิดจากอะไรทั้งสิ้น   ดูเหมือนจะสรุปได้เพียงอย่างเดียวคือเป็นเคราะห์กรรมที่ถูกฟ้ากำหนดให้ต้องเป็นไป ชีวิตของสู้ในแต่ละช่วงเวลา เสมือนดั่งความฝันที่มีทั้งดีและร้ายสลับกันไป  ในขณะที่เขานอนรวยรินรอความตาย ฟ้ากำหนดให้มีคนมาพบเห็น และนำเขาส่งโรงพยาบาลนราธิวาส และเมื่อโรงพยาบาลนราธิวาสเห็นว่าเกินความสามารถที่จะเยียวยารักษาได้  ก็นำร่างที่บอบช้ำของเขาส่งโรงพยาบาลศิริราชทางเครื่องบินโดยมีแพทย์ที่รักษาเขาที่โรงพยาบาลนราธิวาสอาสาดูแลเขาตลอดการเดินทาง นับเป็นความโชคดีในความโชคร้ายโดยคาดไม่ถึงเช่นกัน



สู้ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชนานถึง ๑ ปี  จนอาการทางกายดีขึ้น  แต่อาการทางใจของสู้ มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่เหลือประมาณ  เมื่อรู้ว่าต้องเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิตและโรงพยาบาลศิริราชขอให้เขาออกจากโรงพยาบาลเพื่อนำเตียงให้ผู้ป่วยรายอื่น  เขาท้อแท้ ห่อเหี่ยวและสิ้นหวังเมื่อนึกถึงสภาพร่างกายของตน ชีวิตโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ไร้ทิศทาง ไร้ความหมาย  ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ในยามค่ำคืนที่ผู้ป่วยรอบข้างหลับสนิท  สู้แอบน้ำตาไหลพรากคนเดียวอยู่บ่อยครั้งเพราะไม่รู้ว่าถ้าวันพรุ่งนี้ยังมีสำหรับเขา  เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในโลกใบนี้   พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่สู้ยังเล็กๆ  ปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงดูเขา และบัดนี้ท่านทั้งหมดได้จากโลกนี้ไปแล้ว สู้คิดแล้วคิดอีกหลายต่อหลายครั้งเห็นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว เขาอยากตาย



ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีใครที่จะพบแต่เรื่องร้ายไปตลอดชีวิต หรือพบแต่เรื่องดีตลอดกาล สู้เองก็เช่นกัน ในความเคราะห์ร้ายนั้น กลับมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน หากไม่เรียกว่า "ฟ้าลิขิต" ก็ยากที่จะหาคำนิยามใดๆมาอธิบายได้



ในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.นราธิวาสนั้น เขามีโอกาสได้รู้จักกับน้องคนหนึ่ง เธอชื่อ "คุณเหมียว" เรียนอยู่คณะนิเทศก์ศาสตร์ ปี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และไปฝึกงานที่สถานีวิทยุทหาร จ.นราธิวาส รู้จักกันและพบหน้ากันเพียงครั้งเดียวก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย เมื่อคุณเหมียวรู้ข่าวการเจ็บป่วยของเขาก็มาเยี่ยมเยียนที่โรงพยาบาลศิริราช คุณเหมียวเธอคงสัมผัสได้ถึงความสิ้นหวังของเขา จึงนำความไปบอกเล่าสู่คุณพ่อ คุณแม่  ทำให้ท่านทั้งสองเมตตามาเยี่ยมเขาในช่วงเวลาต่อมา พร้อมทั้งเสนอตัวรับดูแลสู้  ชวนให้สู้้ไปอยู่กับท่านที่บ้านซอยลาดพร้าว ๓๔



ชีวิตพลิกเหมือนดั่งฝัน แม้จะมีความดีใจอยู่บ้าง  แต่ก็ไม่วายกังวลใจ เพราะสู้ไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน แล้วเขาจะปฏิบัติตนอย่างไร ในเมื่อเขาช่วยตัวเองเกือบจะไม่ได้เลย  ในความคิดที่สับสนนั้น คุณเหมียวและคุณแม่ ก็มารับเขาออกจากโรงพยาบาลศิริราชโดยไม่ฟังคำคัดค้านใดๆของเขาเลย และยังต่อห้องให้เขาอยู่อย่างเป็นสัดส่วน ๑ ห้องพร้อมทั้งจัดหาผู้ดูแลให้  เรื่องนี้มาทราบจากชำนาญ เทียมจันทร์ เพื่อนสนิทของสู้ ซึ่งไปเยี่ยมสู้ที่บ้านซอยลาดพร้าว ๓๔  บ่อยครั้งจนคุ้นเคยกับคุณแม่ ทราบว่าคุณแม่นิมิตว่า สู้เป็นลูกของท่านในอดีตชาติ



คุณพ่อ คุณแม่ มีลูก ๔ คน แต่ละคนมีอายุห่างกันไม่มากนัก เมื่อสู้เข้าไปอยู่ในครอบครัวนี้ ได้รับการดูแลเสมือนเป็นลูกแท้ๆของท่านคนหนึ่ง เมื่อเทียบเคียงอายุกับลูกของท่าน สู้เปรียบเสมือนกับเป็นลูกคนที่ ๒ ความเมตตาของคุณพ่อ คุณแม่ ที่มีต่อสู้ ทำให้สู้คิดว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนเกินของครอบครัวนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามสู้กลับเป็นศูนย์รวมของครอบครัว เกิดสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นจุดพลิกผันของชีวิต  จากที่เคยท้อแท้ไม่อยากมีชิวิตอยู่  แต่ครอบครัวนี้เป็นเหมือนบุคคลอื่นยังอยากให้เขามีชีวิตต่อไป  แล้วไฉนตัวเขาเองจึงท้อแท้  เมื่อความคิดเปลี่ยน จิตใจก็เริ่มเบิกบานและมีความมุ่งมั่นที่จะอยู่ต่อไป  และต้องอยู่แบบช่วยตัวเองให้ได้ด้วย ต้องรบกวนคนอื่นให้น้อยที่สุด นั่นคือความมุ่งมั่นของคนชื่อ"สู้"






คุณพ่อท่านเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ชื่อท่านชุ่ม สุนทรธัย  ท่านจะศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเป็นนิจสู้จึงมีโอกาสได้ศึกษาธรรมไปกับท่านด้วย คำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละคน ล้วนเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย อันเกิดจากกรรม  วิบากกรรมของแต่ละชีวิตเป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่อาจมีใครช่วยปัดเป่าให้ได้  เราต้องทำใจยอมรับมัน  และไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย  ทั้งไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ควรทำปัจจุบันให้ดีที่สุด  สังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยงธรรมะหล่อหลอมจิตใจสู้ให้เข้มแข็งได้อย่างประหลาด และยอมรับได้ว่ากายป่วย ก็รักษากันไป  แต่ใจเขาไม่ป่วยด้วย  ความทุกข์ที่กายพิการก็น้อยลง แต่จิตใจเขาเบิกบาน






คุณพ่อคุณแม่เล่าว่า ท่านมีที่ดินเปล่าอยู่ ๑ แปลงแถวคลอง ๑๖  สู้เห็นว่าเขาน่าจะนำความรู้เกษตรที่เรียนมาทำประโยชน์ได้แทนที่จะปล่อยให้ทิ้งร้าง  จึงขอมาทำประโยชน์ ท่านก็อนุญาต สู้จึงมาบุกเบิกหักร้างถางพงจนเป็น "สวนนันทวัน" ในปัจจุบัน แรกๆก็ปลูกไม้ต้นไม้ทุกชนิดตามความต้องการของตลาด แต่กิจการก็ไม่ค่อยราบรื่น  จึงหันมาผลิตสน ซึ่งเป็นไม้ที่ปลูกยากเพราะต้องดูแลใกล้ชิดแทนเรื่อยมาจนปัจจุบัน สวนนันทวันเป็นแหล่งผลิตต้นสนหลากหลายชนิดที่ทุกคนรู้จักกันดีในย่านคลองรังสิต






ชีวิตเริ่มจะราบรื่นแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคขึ้นอีกจนได้ เมื่อทราบว่าที่ดินแปลงนี้ติดจำนองธนาคาร และเจ้าหนี้ได้นำผู้สนใจมาดูเพื่อที่จะนำออกขายชำระหนี้ คุณแม่ทุกข์ใจมากเพราะรักที่ดินแปลงนี้ แต่ก็สุดปัญญาที่จะไถ่ถอนชำระหนี้ทั้งหมดโดยพลันได้   คุณแม่ได้นำความทุกข์ใจมาปรึกษากับชำนาญ เทียมจันทร์ เพื่อนรักของสู้ ชำนาญเองแม้จะมีความกังวลอยู่บ้างด้วยเป็นยอดหนี้จำนวนสูง แต่ความเกรงใจที่มีต่อคุณแม่เป็นทุนเดิม ประกอบกับความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่คุณแม่ช่วยเลี้ยงดูเพื่อนให้  ทำให้เขาต้องกลับมาคิดหลายตลบ และในที่สุดได้เจรจากับธนาคารขอเข้าเป็นลูกหนี้ร่วม และเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร  ขอแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยและทะยอยไถ่ถอนออกขายชำระหนี้ จนในที่สุด สามารถชำระหนี้ได้ครบเงื่อนไข แก้ไขหนี้ได้สำเร็จลุล่วง โดยยังเหลือที่ดินส่วนที่เป็นสวนนันทวัน เป็นที่อยู่และที่ทำกินต่อไป  นับเป็นโชคดีของสู้ที่มีเพื่อนแท้อย่างชำนาญ เทียมจันทร์



เมื่อถามถึงที่มาของชื่อ"สวนนันทวัน" ก็ทราบจากสู้ว่า "นันทวัน" เป็นชื่อของลูกสาวคนโตของคุณพ่อคุณแม่ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ  อยากให้พี่เขารู้สึกภูมิใจเวลาโทรมาหา แล้วปลายสายรับสายว่า "ที่นี่สวนนันทวันค่ะ" สิ่งเหล่านี้เป็นความละเอียดอ่อนที่มีในใจสู้  จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสู้จึงเป็นศูนย์กลางของความรักของครอบครัวนี้



ชีวิตในวันข้างจะเป็นเช่นไร  สู้ไม่กังวลแล้ว   ธรรมะรักษาจิตใจให้สู้เข้มแข็ง เขามุ่งที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุดในทุกเรื่องที่เขาสามารถทำได้ และอยู่ด้วยสติ เขาตอบแทนบุญคุณคุณพ่อคุณแม่ด้วยการดูแลท่านจนวาระสุดท้ายของชีวิต  เขาดูแลลูกน้องที่มีอยู่ ๑๒ คนเหมือนดั่งญาติ  เมื่อลูกน้องมีครอบครัว มีลูก ก็ส่งเสียให้เรียนเหมือนเป็นลูกหลานแท้ๆของตนเอง  "คุณตาสู้" จึงเป็นเสาหลักของสมาชิกในสวนนันทวัน เฉกเช่นกับที่สู้เป็นศูนย์รวมแห่งความรักในครอบครัว "สุนทรธัย"








ในวันที่พวกเราชาวค่ายไปเยี่ยมสู้ที่สวนนันทวัน จึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่อบอวลไปด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อกัน เรื่องราวชีวิตของสู้ มิได้เป็นเพียงความภูมิใจของพวกเราชาวค่ายและชาวเกษตรเท่านั้น หากแต่เป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายคนที่ท้อแท้ในชีวิตให้ลุกขึ้นมาสู้เหมือนอย่างที่"สู้"ทำ.....



พวกเราภูมิใจในตัวของเขานัก   "สู้".....นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่จากทุ่งบางเขน..........








วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รำลึกถึงพระเจ้าตาก






ประวัติศาสตรช่วงหนึ่งที่คนไทยทั้งหลายไม่ควรลืม นั่นคือการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   เพราะนับตั้งแต่ชาติไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ บ้านเมืองย่อยยับเสียหายมากมาย ทรัพย์สินของชาติถูกพม่าเผาทำลายจนเกือบหมด หากไม่ได้พระเจ้าตากมากอบกู้เราคงไม่มีโอกาสได้อยู่เป็นสุขเหมือนเช่นทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินในช่วงนั้นจึงมีความสำคัญต่อคนไทยทั้งหลาย  วันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่เราควรต้องไปสักการะ นึกถึงบุญคุณของพระองค์ท่านที่ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อรักษาผืนแผ่นดินให้เราผู้เป็นลูกหลาน  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสักการะพระองค์ท่านที่วัดอินทาราม และได้พบประวัติของพระองค์ที่วัดนั้น  จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง






สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์  เดือน ๕  ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗  เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  มีนามเดิมว่า"สิน"   บิดาเป็นชาวจีนชื่อไหฮอง เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์  มารดาชื่อแม่นกเอี้ยง ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงหน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี ตำแหน่งสมุหนายกในครั้งนั้น 





เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาจักรีได้ขอเอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชอบรูปลักษณะ จึงให้ชื่อว่านายสินอย่างไทยๆ  เมื่อคลอดออกมานอนอยู่ในกระด้ง มีงูใหญ่มาพันวงกลมอยู่ที่ขอบกระด้ง  ตอนที่อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส 







ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำเข้าถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในระหว่างนี้นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้  เรียนหนังสือจีน ญวน และแขกจนสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว  ครั้นนายสินอายุได้ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ  ในสำนักอาจารย์ทองดี  ณ. วัดโกษาวาส  อุปสมบทอยู่ครบ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขาบทกลับมารับราชการตามเดิม ได้รับตำแหน่งเป็นมหาดเล็กรายงาน 


ใน พ.ศ. ๒๓๐๑  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระที่นั่งสุริยาศอัมรินทร์(พระเจ้าเอกทัศน์) เสด็จเสวยราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ   มีความดีความชอบจึงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก 


ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตากอยู่นี้ ได้มีนายทองดีเข้ารับราชการเป็นทหารคู่ใจ(ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิชัยดาบหัก) ต่อมาผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรมลง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งให้พระยาตากเป็นพระยาวชิรปราการผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร (แต่คนทั่วไปยังเรียกพระยาตาก) และมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้ามาช่วยรับราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา  พระยาตากได้ทำการสู้รบด้วยความเข้มแข็งและสามารถชนะพม่าเป็นหลายครั้ง แต่ก็มีสาเหตุทำให้เกิดท้อแท้ใจอันเกิดจากความอ่อนแอของผู้บัญชาการ และขาดการประสานงานที่ดีระหว่างแม่ทัพนายกองต่างๆ ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็เท่ากับว่าปล่อยให้เป็นเหยื่อคมดาบเท่านั้นเอง  พระยาตากจึงตัดสินใจหนีไปตั้งหลัก แล้วกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาในเมื่อมีโอกาส พร้อมด้วยพระเชียงเงิน  พระพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี กับทหารร่วมใจประมาณ ๕๐๐ คน  ยกกำลังออกจากวัดพิชัย  ตีหักวงล้อมของพม่าไปทางทิศตะวันออก ณ.วันเสาว์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ  เวลาค่ำ  



พระยาตากนำทหารมุ่งหน้าไปทางระยอง ได้มีทหารพม่าติดตามรังควานอยู่ตลอดระยะทาง แต่ก็สามารถตีแตกกระจายไปทุกครั้ง จนพม่าเข็ดขยาดไม่กล้าติดตามต่อไปอีก  พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่รู้กิตติศัพท์การรบชนะพวกทหารพม่าของพระยาตาก ต่างก็พากันเข้ามาเป็นพวกจำนวนมาก ซึ่งมีเมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก เมืองชลบุรี 



เมื่อถึงเมืองระยอง  พระยาตากไปตั้งค่ายอยู่วัดลุ่ม พวกกรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นช่องและพวกคิดจะปล้นค่าย แต่พระยาตากรู้ตัวก่อน จึงยกพวกเข้าตีเมืองระยองจนมีชัยชนะ ขุนรามหมื่นช่องหนีรอดไปได้ พระยาตากเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่มีความสมบูรณ์ ควรรวมกันเป็นกำลังกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยาต่อไป  จึงส่งคนไปเกลี้ยกล่อม แต่เจ้าพระยาจันทบุรีทราบว่ากรุงศรีอยุธยาแตกแล้วจึงไม่ยอมตกลง ก็พอดีขุนรามหมื่นช่องเข้ามาอาศัยพระยาจันทบุรี  จึงช่วยกันคิดอุบายล่อพระยาตากให้เข้าเมืองเพื่อกำจัดเสีย แต่พระยาตากรู้กลอุบายนี้เสียก่อนจึงสั่งทหารให้ตั้งค่ายห่างจากประตูเมืองจันทบุรี ๕ เส้น สั่งนายทัพกองหน้าว่า " เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกันเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เขาทิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวด้วยกันในเมืองเอาพรุ่งนี้  ถ้าตีเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"  ครั้นได้ฤกษ์เวลา ๓ นาฬิกา พระยาตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว  โดยพระยาตากขี่ช้างพังศรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้สำเร็จ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญหนีไป ส่วนเจ้าพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ



เมื่อพระยาตากจัดการเมืองจันทบุรีเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างอ่อนน้อมโดยดี พระยาตากจึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรีเพื่อตระเตรียมกำลังคน เสบียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ ๑๐๐ ลำ รวบรวมกำลังทหารไทยและทหารจีนได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมอีกหลายคนเช่น หลวงศักดิ์ นา มหาดเล็ก นายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก (ภายหลังเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)  



พอถึงเดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังสิ้นมรสุมแล้ว พระยาตากก็ยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช  ได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก  มีคนไทยชื่อนายทองอิน ที่พม่าตั้งให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินรู้ข่าวว่าพระยาตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบไปบอกข่าวแก่สุกี้นายกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ครั้นกองทัพเรือพระยาตากเดินทางมาถึง ไพร่พลที่รักษาเมืองธนบุรีกลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกัน  กองทัพเรือของพระยาตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรีได้ พระยาตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสีย แล้วเร่งกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา  


สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวว่าพระยาตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทย ยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือพระยาตากอยู่ที่เพนียด  ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่าต่างคิดหลบหนี  มองญ่าจึงรีบยกกองทัพกลับค่ายโพธิ์สามต้น ในคืนนั้นพระยาตากจึงรีบยกกองทัพขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นรวม ๒ ค่ายพร้อมกันในเวลาเช้า  สู้รบกันจนเที่ยงกองทัพพระยาตากจึงเข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ พระยาตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง ๗ เดือน



เมื่อพระยาตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ได้พักกองทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อจัดการบ้านเมือง แล้วปลดปล่อยผู้คนที่พม่าคุมขังไว้เป็นอิสระ พร้อมทั้งแจกจ่ายทรัพย์สินสิ่งของเครื่องใช้โดยทั่วหน้ากัน แล้วให้ขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มาถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ แล้วคิดปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่  แต่เห็นว่ากรุงศรีอยุธยายากที่จะบูรณะให้เหมือนเดิมได้ และกำลังทหารของพระยาตาก ไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้  จึงได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี และประชาชนทั้งหลายทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก  ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑  ขณะเมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔  แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  



เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรีนั้น เรียกราชธานีนี้ว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร"  แล้วพระองค์ทรงยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองที่ไม่ยอมขึ้นกับพระองค์ถึง ๔ หัวเมือง ตลอดจนทำสงครามกับพม่าถึง ๙ ครั้ง และยกกองทัพไปขยายอาณาเขตถึง ๔ ครั้ง  พระองค์ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การปกครองและเศรษฐกิจ  การค้าขายกับต่างประเทศ  การศาสนา วัฒนธรรม ศิลปกรรม  ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต ณ.ป้อมวิชัยประสิทธิ์  เมื่อวันเสาว์  เดือน ๕  แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔  ปีขาลตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา รวมสิริราชสมบัติ ๑๕ ปี  แล้วนำพระบรมศพไปฝังไว้ที่วัดบางยี่เรือใต้  ครั้นสิ้นแผ่นดินกรุงธน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงโปรดเกล้าให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักไปถามว่า จะยอมอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่ ถ้ายอมจะเลี้ยงเพราะความผิดมิได้ พระยาพิชัยดาบหักมีความเศร้าโศกอาลัยในสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอันมาก จึงทูลว่า "จะขอตายตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอฝากแต่บุตรชายให้ทำราชการต่อไป"  จึงโปรดเกล้าให้ประหารชีวิตเสีย อายุ ๔๑ ปี



ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๙ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทดำรัสให้ขุดหีบพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุ วัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมโหรสพและพระราชทานสงฆ์บังสุกุลทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงพระบรมศพทั้ง ๒ พระองค์ บรรดาเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวังหลวง  วังหน้า  ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้โศกาอาดูรเป็นที่สะเทือนใจ  บรรดาพสกนิกรต่างโกนหัวนุ่งขาวเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้นำพระอังคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บรรจุอยู่ในพระพุทธรูปองค์หน้า อยู่ภายในพระอุโบสถที่พระองค์มาปฏิสังขรณ์ไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (ปัจจุบันใช้เป็นวิหาร)





สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพระพุทธศาสนา  เมื่อพระองค์ทรงกอบกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จแล้ว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยให้เสนาบดีไปสืบหาพระเถรานุเถระผู้รู้อรรถรู้ธรรมมาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่ แล้วทรงถวายพระราชโอวาทว่า  "ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงตั้งใจปฏิบัติสำรวมรักษาในจตุปาริสุทธิศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าได้เศร้าหมอง แม้พระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น เป็นธุระของโยมจะรับอุปัฏฐากพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง แม้ถึงจะปรารถนามังษะและรุธิระของโยม โยมก็อาจสามารถเชือดเนื้อและโลหิตออกถวายเป็นอัชฌติกทานได้"   แล้วทรงโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมืองต่างๆมาคัดลอกไว้ในกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ ทรงโปรดให้ช่างเขียน ๔ คน ไปเขียนสมุดภาพไตรภูมิที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ทรงให้สมเด็จพระสังฆราชกำกับการเขียนภาพให้ถูกต้อง ทรงตามพระบาลีโดยเคร่งครัดทุกประการ แล้วคัดพระบาลีกำกับภาพไว้ให้เป็นที่เข้าใจโดยชัดแจ้ง ยาว ๓๔๗๒ เมตร พระราชประสงค์ในการจัดทำสมุดภาพไตรภูมินั้นเพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์ได้ถูกต้องตามพระบาลีแล้วจะได้ตั้งหน้าประกอบความดีละความชั่ว ต้องด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสืบไป  พระอารามที่ได้โปรดให้สถาปนาขึ้นในราชการของพระองค์คือ วัดบางยี่เรือเหนือ วัดราชคฤห์  ที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้นได้แก่ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)   วัดบางยี่เรือใต้(วัดอินทาราม)  วัดหงส์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม)  วัดแจ้ง (วัดอมรินทาราม) เป็นต้น





วัดที่สำคัญยิ่งในสมัยกรุงธนบุรีนี้คือ วัดบางยี่เรือ (วัดอินทาราม) ซึ่งได้ทรงเอาพระทัยใส่บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรและพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ให้บริบูรณ์ทั้งพระอาราม ให้เกณฑ์ข้าราชการมาร่วมปลูกกุฏิ ๑๒๐ หลัง แล้วให้ขุดคูรอบพระอุโบสถให้กว้างออกไปกว่าเก่า ให้ปลูกบัวหลวงตลอดทั้งคู ทรงโปรดให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก  ให้เป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระ  ดังในพงศาวดารกล่าวว่า

"ครั้นถึง ณ วันจันทร์  ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๑๙  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปทรงเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้ แล้วทรงถวายเรือไขมดปิดทองทึบ คนพาย ๑๐ คน และทรงถวายหีบปิดทอง ๑ ตู้สำหรับใส่พระไตรปิฏก และวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน ทรงพระกรรมฐานและทรงตั้งพระอัตยาธิษฐานว่า "เดชะผลทานบูชานี้ขอจงยังพระลักขณาปิติทั้ง ๕ ให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน และทรงพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้นนั้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาวนา ยิ่งขึ้นไป อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเสกสมโพธิ์ในอนาคตกาลข้างหน้า"  แล้วให้เชิญหีบพระไตรปิฏกลงตั้งในเรือ ให้เกณฑ์เรือฝ่ายทหาร พลเรือนและราษฎรแห่เรือหีบพระไตรปิฎกขึ้นไปตามแม่น้ำ ถึงบางยี่ขันแล้วแห่กลับคืนเข้าไป ณ วัดบางยี่เรือใต้  เชิญหีบพระไตรปิฏกขึ้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แล้วให้พระราชาคณะ และเสนาบดีเอาเงินตรา ๑๕ ไปเที่ยวแจกคนใช้ทั่วทั้งในกรุง นอกกรุงธนบุรีทั้งสิ้น



ครั้นถึง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ พ.ศ. ๒๓๑๙ ทรงพระกรุณาให้เชิญโกษฐ์พระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ลงเรือบัลลังค์ มีเรือแห่เป็นขบวนไป แต่พระตำหนักแพแห่ไป วัดบางยี่เรือใต้ แล้วเชิญพระโกษฐ์ขึ้นสู่พระเมรุ  นิมนต์พระสงฆ์สดัปปกรณ์ ๑,๐๐๐ รูป ทรงถวายไทยทานเป็นอันมากครบ ๓ วัน แล้วเชิญพระโกษฐ์ลงเรือแห่กลับพระราชวัง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานอุโบสถศีล แล้วทรงเจริญกรรมฐานภาวนา  เสด็จประทับแรมอยู่ ณ พระตำหนัก วัดบางยี่เรือใต้ ๕ เวร




สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้า ให้วัดบางยี่เรือใต้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพเสมอ ดังเช่น...

.....วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๑๓๗ อัญเชิญพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์  ถึงวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖  ถวายเพลิงศพ ฝนได้ตกหนักมาแต่วันจันทร์  จึงเป็นเหตุให้ดอกไม้เพลิงจุดไม่ติด ๓ วัน

.....วันจันทร์ ขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ งานพระราชทานเพลิงศพกรมขุนอินทร์พิทักษ์ ทำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน




ในช่วงแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ๒ ครั้ง  ก่อให้เกิดเสียงเอะอะตกใจทั่วกรุงธนบุรี  ครั้งแรกเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๑๑  และครั้งที่ ๒ เมื่อวันเสาว์เดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๑๒



ชาวไทยระสำ่ระสายมากครั้งกรุงแตก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชได้ ก็มุ่งสร้างความสงบร่มเย็นให้แก่แผ่นดิน ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นหลักยึดของคนไทย  ดังทีได้มีพระราชดำรัสที่เมืองพุทไธมาส เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ตรงกับวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๑๔  ความว่า......

....เป็นความสัตย์แห่งข้า ข้าทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้  ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหรมณ์ สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติเพื่อที่จะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นปรารถนาศรีษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะให้แก่ผู้นั้น....... 



๑๕ ปีแห่งการครองราชย์ของพระองค์ นับเป็น ๑๕ ปีแห่งความเหน็ดเหนื่อยในการสร้างชาติ  หากเราคนไทยทั้งหลายได้ตะหนักถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนี้ ไม่แตกแยกขาดความสามัคคี ประเทศชาติก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปอีกชั่วกาลนาน  พระคุณอันมากล้นของพระองค์ท่านจึงเป็นสิ่งที่จะต้องจดจำไปชั่วชีวิต.หากท่านได้ไปสักการะพระเจ้าตากที่วัดอินทารามก็จะได้พบประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำนี้.

วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ใบไม้เปลี่ยนสี ..ที่เกาหลีใต้






ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวเกาหลีใต้ด้วยการชักชวนจากเพื่อนปุ๊ สายสุนีย์ คงสว่าง ซึ่งตั้งใจไปทริปนี้อย่างมากแต่ไม่มีเพื่อนนอน เลยชักชวนให้ไปเป็นเพื่อนนอนด้วยกัน  พอถึงวันไปจริงเพื่อนปุ๊กลับป่วยหนักจนไม่สามารถเดินทางได้เสียนี่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก  แต่เพื่อนๆคนอื่นที่ไปส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน จึงเป็นทริปที่มีความสนุกสนานกันพอสมควร






เกาหลีเป็นประเทศที่ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ในสงครามมายาวนานในอดีต ทั้งจากการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ในการปกครอง และการแสวงหาประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ เกาหลีเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นมาช่วงหนึ่ง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  ญี่ปุ่นแพ้สงคราม  มหาอำนาจก็เข้ามามีบทบาทเหนือคาบสมุทรเกาหลี  มีการแบ่งเกาหลีออกเป็นเหนือและใต้ โดยใช้เส้นขนานที่  38 เป็นจุดแบ่ง  ในส่วนของเกาหลีใต้ มีเนื้อที่เพียง 99,500 ตารางกิโลเมตร  และ 70 % ของพื้นที่เป็นเขตภูเขา จึงทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีธรรมชาติงดงามมากประเทศหนึ่ง









เรามีโอกาสได้นั่งเรีอไปเที่ยวที่เกาะนามิ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งทีอยูกลางแม่น้ำฮัน เกาะนี้มีรูปร่างเหมือนใบไม้ลอยน้ำ เป็นที่นิยมชมชอบมากทั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเกาหลีใต้เองเนื่องจากมีธรรมชาติที่งดงาม ชื่อเกาะนามินี้ ชาวเกาหลีใต้ตั้งให้เพื่อเป็นเกียรติ์แก่นายพลนามิ ผู้นำชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากการนำกำลังปราบกบฏจนสำเร็จในวัยเพียง 26 ปี และสุสานของเขาก็ตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้ พื้นที่เกาะทั้งหมดเป็นที่ราบ ต้นไม้ขึ้นเต็มพื้นที่ ช่วงที่เราไปเป็นช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วง  จึงพอเห็นใบไม้เปลี่ยนสีที่มีความสวยงามให้เห็นอยู่


























จุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ที่เรามีโอกาสได้ไป คืออุทยานแห่งชาติโซรัคซานที่มีธรรมชาติสวยงาม เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ยอดนิยมมากทั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเกาหลีใต้ ต้นไม้ที่หนาแน่นบนอุทยานผลัดใบเป็นสีแดงและเหลืองเข้ม ตัดกับสีเขียวขจีของแนวเขาที่ลดหลั่นทอดแนวรอบอุทยาน ดูแล้วช่างงดงามยิ่งนัก

















มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติโซรัคซานชื่อวัดชินฮันซามีพระพุทธสัมฤทธิ์ปางสมาธิขนาดใหญ่ ประดิษฐานเป็นสัญญลักษณ์ของอุทยานให้นักท่องเที่ยวสักการะ  เป็นธรรมเนียมของเราชาวพุทธที่ไปไหนมาไหนก็ต้องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต














ประเทศเกาหลีใต้มี 4 ฤดูกาล แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นช่วงเวลาที่หนาวเย็นจะมีมากกว่าช่วงร้อน   ผลผลิตจากอาชีพของคนเกาหลีที่มาจากด้านการเกษตร เช่นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ จะมีน้อยกว่าด้านอุตสาหกรรม พวกเรามีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนไม้ผลเมืองหนาวแห่งหนึ่งซึ่งปลูกแอปเปิล สาลี่ได้ผลใหญ่มาก  มีรสชาติหวานและกรอบอร่อยกว่าที่อื่นๆ บางคนบอกว่าแอปเปิลเกาหลีอร่อยที่สุด








วิถึชีวิตของคนเกาหลีในด้านอาหารการกิน จะนิยมกินผักดองเป็นอาหารประจำ ทุกมื้อจะต้องมีกิมจิเป็นประจำในการชูรสอาหาร   ชาวเกาหลีจะทำกิมจิไว้กินในช่วงหน้าหนาวและตลอดปี ในช่วงสงครามเกาหลี พลเรือนก็ส่งกำลังใจให้ทหารด้วยการทำกิมจิส่งให้ทหารไว้กินในสมรภูมิ กิมจิเหมือนเป็นสิ่งที่พวกเขาขาดไม่ได้เลย การท่องเที่ยวครั้งนี้จึงมีโปรแกรมสอนให้พวกเราทำกิมจิด้วย








สิ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับการไปเที่ยวเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีใต้ชอบที่จะให้นักท่องเที่ยวแต่งชุดประจำชาติของเขา พวกเขาจะชอบใจมากๆเมื่อเห็นพวกเราแต่งชุดฮันบก



























เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เล็กมาก สถานที่ท่องเที่ยวจึงมีไม่มากนัก จุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งจึงหนีไม่พ้นสวนสนุกเอเวอร์แลนด์ที่เป็นเสมือนดิสนี่แลนด์ของเกาหลีใต้ เป็นสวนสนุกกลางแจ้งที่ใหญ่มากของนักธุรกิจรายใหญ่ของเกาหลีใต้คือบริษัทซัมซุงนั่นเอง ที่แห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมความสนุกของคนทุกเพศทุกวัย











พระราชวังเคียงบ็อคเป็นอีกแห่งหนึ่งพวกเรามีโอกาสได้เข้าชม พระราชวังเคียงบ็อคเป็นพระราชวังไม้โบราณที่เก่าแก่ที่สุดสร้างมามากกว่า 600 ปี อดีตเคยเป็นที่ว่าราชการของกษัตริย์และบรรดาเชื้อพระวงศ์ แต่ได้รับความเสียหายในช่วงที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน  พระราชวังแห่งนี้จึงเป็นเหมือนสิ่งที่คอยเตือนชาวเกาหลีใต้ให้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ในอดีตเป็นอย่างดี















เกาหลีใต้มีที่เที่ยวน้อยแห่ง แต่เขาก็พยายามสร้างจุดท่องเที่ยวขึ้นมาดึงดูดชาวต่างชาติ ทุกประเทศจะเป็นเหมือนกันหมด เมื่อพิสูจน์กันจนเป็นที่ประจักษ์ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวมีจำนวนมหาศาลมากกว่าด้านอื่น ๆ  ที่เกาหลีใต้ก็เช่นกัน  เขาใช้พื้นที่ไม่มากนักสร้าง  Alive Meseum ให้คนเข้าชมสร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว   Alive Meseum  คือพิพิธภัณฑ์ภาพวาดสามมิติ ที่จะพาเราเข้าไปอยู่ในภาพนั้นได้






































สิ่งหนึ่งที่น่าเบื่อมากในการไปเที่ยวเกาหลีใต้ นั่นคือการถูกบังคับให้ไปชมสินค้าโอทอปของประเทศเขา ไกด์ทุกคนจะถูกบังคับให้พานักท่องเที่ยวไปตามแหล่งต่าง ๆ เช่นแหล่งขายสมุนไพรโสมเกาหลี ขายพลอยอเมทิส  ขายเหล้า ใบชา เครื่องสำอางค์  ฯลฯ  แม้จะไม่บังคับว่าจะต้องซื้อสินค้า แต่ทุกแห่งที่ไปก็จะต้องมีคนซื้อทุกครั้งไม่มากก็น้อยทุกแห่ง เขาบังคับให้ไกด์ต้องพานักท่องเที่ยวไป แต่การขายเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เขาซึ่งทุกแห่งจะจ้างคนไทยไปบรรยาย ทำให้การขายแทบจะไม่มีอุปสรรคอะไรเลย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ถ้าจะมองในแง่ของเงินที่จะเข้าประเทศแล้ว นับว่าไม่น้อยเช่นกัน และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยน่าจะเอาเป็นแบบอย่าง


เกาหลีใต้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในกรุงโซลซึ่งเป็นเมืองหลวงจึงมีความเจริญไม่น้อยกว่าเมืองหลวงของประเทศอื่น  แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือการแบ่งแยกของเกาหลีเหนือและใต้  หากเกาหลีจะมีคนอย่างโฮจิมินทร์ที่เป็นผู้นำในการรวมเวียตนามเหนือกลางใต้เข้าเป็นเวียตนามเดียว เกาหลีคงจะเป็นประเทศที่น่าสนใจที่จะไปเที่ยวอีกไม่น้อยทีเดียว