บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เพชรบุรี..เมืองประวัติศาสตร์

     



สถานที่ในภาพนี้ ไม่ใช่ปราสาทหินพิมาย  ไม่ใช่ปราสาทพนมรุ้ง  ไม่ใช่พระปรางค์สามยอด  แต่เป็นพระปรางค์ในวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรีนี่เอง


ถ้าจะพูดถึงเพชรบุรี คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในหลายด้าน แต่ทราบหรือไม่ว่า จังหวัดเพชรบุรีมีความเก่าแก่มากเกิน  1,000  ปีแล้วมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี  จึงนับว่าเก่ากว่าอาณาจักรอยุธยาเสียอีก


สิ่งที่เป็นหลักฐานพิสูจน์ในคำกล่าวข้างต้น ก็คือศิลปวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างน้อยก็ 2 แห่ง 


แห่งแรกก็คือที่วัดกำแพงแลง   ข้าพเจ้าพบประวัติที่ปรากฏอยู่ในวัดว่า อายุของปราสาทวัดกำแพงแลงแห่งนี้ อยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18  พ.ศ. 1734  อันเป็นปีที่ปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์  ซึ่งปรากฏชื่อเมืองแห่งนี้ว่า"ศรีชัยวัชรปุระ" เป็นศิลปะสมัยบายน   อันเป็นศิลปสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7   โดยทราบได้จากรูปแบบของสถาปัตยกรรมและวัตถุที่ใช้ในการก่อสร้างคือ "ศิลาแลง"


ปราสาทพระขรรค์ ก็คือปราสาทอยู่ที่ประเทศกัมพูชา จารึกที่ปราสาทพระขรรค์กล่าวถึงเมือง“ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) ว่าเป็นหนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลาง ซึ่งได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์ เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน
 

ศาสนสถานแห่งนี้ไม่เคยมีการประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนาพราหมณ์แต่อย่างใด เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  ปราสาทสามหลังสร้างถวายพระพุทธรูปนาคปรกหรือพระชัยพุทธมหานาถ  ปราสาทด้านทิศใต้สร้างถวายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันแสดงถึงความเมตตากรุณา  ปราสาททางด้านทิศเหนือสร้างถวายพระนางปรัชญาปารมิตา แสดงถึงความมีปัญญาเนื่องจากในมือของพระนางถือคัมภีร์
 

ส่วนในสมัยต่อมา ศาสนาพราหมณ์ จะถูกนำขึ้นมานับถือใหม่ ในรัชกาลของหลานของพระองค์ แต่ก็หาได้มีบารมีที่จะแผ่มาถึงดินแดนแถบภาคกลางไม่ ต่างจากพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี  ปรากฏร่องรอยของศาสนาพุทธมหายานอยู่ อันเป็นอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน
 

หลังจากสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นไปแล้ว  ปราสาทวัดกำแพงแลงแห่งนี้ คงจะถูกทิ้งร้างไปราว 600 ปีเศษ   ที่บริเวณนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน  ตราบจนกระทั่งถึงสมัยที่พุทธศาสนาแบบหินยาน (เถรวาท)  เริ่มแพร่หลายในดินแดนแถบนี้ ก็ได้เริ่มสร้างวัดในบริเวณศาสนสถานแห่งนี้ขึ้นในปี  2497  ชื่อวัดกำแพงแลง ซึ่งก็หมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลง วัดนี้จึงมีอายุไม่ถึง 100 ปี แต่โบราณสถานปราสาทศิลาแลงมีมาก่อนยาวนานมาก
 



หากผู้ใดไปเที่ยวชมที่วัดนี้ จะพบกำแพง 2 ชั้น  ชั้นแรกเป็นแนวกำแพงวัด   ส่วนชั้นในจะเป็นแนวกำแพงศาสนสถานเดิมที่ทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน  และมีพระปรางค์หลงเหลืออยู่ 5 องค์


















หลักฐานที่หลงเหลือเหล่านี้ แสดงถึงความเก่าแก่โบราณของเมืองประวัติศาสตร์เพชรบุรีได้ชัดเจน  หลักฐานแห่งที่สองก็คือพระปรางค์วัดมหาธาตุ




พระปรางค์วัดมหาธาตุเป็นพระปรางค์ 5 ยอด  ตามหลักฐานจากหนังสือของวัดมหาธาตุ สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยทวาราวดีเช่นกัน  โดยสันนิษฐานจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ภายในวัด ซึ่งมีการขุดพบทรากอิฐสมัยทวาราวดีอยู่เป็นจำนวนมาก 

สภาพพระปรางค์หักทั้ง 5 ยอดก่อนบูรณะ 

ในอดีตเคยมีปรากฏว่ายอดพระปรางค์หักพังลงมาถึง 3 ครั้งด้วยกัน จึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์กันมาเป็นช่วง ๆ  คือ
  • ในปี 2357   วัดและชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อยอดพระปรางค์ ซึ่งพังลงมาก่อนหน้านี้มาช้านาน  จนแล้วเสร็จ
  • ในปี 2406   ยอดพระปรางค์ที่ซ่อมได้หักลงมาอีกครั้งหลังจากที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จเมื่อ49 ปีที่แล้ว  ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาเพชรพิสัยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กองต่อยอดพระปรางค์จนสำเร็จเรียบร้อย
  • ครั้งล่าสุดเมื่อปี  2471  ยอดพระปรางค์ซึ่งเคยซ่อมไว้เมื่อปี 2406 (ประมาณ 65 ปีที่ผ่านมา) ก็พังลงมาอีกครั้ง จึงมีการบูรณะใหม่เมื่อปี 2471 จนเสร็จสิ้นในปี 2479  และในปี 2535(ประมาณ 56 ปีต่อมา) ก็มีการบูรณะอีกครั้ง ทำให้พระปรางค์ยังอยู่ในสภาพดีจนถึงปัจจุบัน
จึงนับเป็นโชคดีของชาวเมืองเพชร ที่ยังสามารถรักษาพระปรางค์วัดมหาธาตุให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองได้ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองเพชรมาช้านาน
 

นอกเหนือจากหลักฐานสมัยทวาราวดีทั้ง 2 แห่ง ยังมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ ประเภทขวาน หินขัด เครื่องประดับจากหิน และภาชนะดินเผา โครงกระดูก ในบริเวณเขากระปุก  เขากระจิว เขตอำเภอท่ายาง ร่องรอยของหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในยุคที่ขอมเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลมาถึงเพชรบุรี และอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นชุมชนใหญ่ จึงได้มีการสร้างสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นสื่อทางพุทธศาสนาที่นับถือกันในยุคนั้น  จวบจนเมื่อชุมชนโบราณของชาวทวาราวดีที่อาศัยอยู่ในเพชรบุรีสิ้นยุคแล้ว จึงปรากฏชื่อเมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัย  ซึ่งเชื่อกันว่าเมืองเพชรบุรีจะเป็นชุมชนใหญ่ที่มีกษัตริย์ปกครอง
 

เรื่องอาณาจักรเพชรบุรีที่เคยมีกษัตริย์ปกครองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว เมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ อำนาจของเมืองทั้งสองจึงตกแก่กรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามหากจะรวบรวมพระนามกษัตริย์อาณาจักรเพชรบุรีที่ปรากฏมี 6 พระนามด้วยกันคือ
  1. พระพนมทะเลศรีมเหนทราชาธิราช
  2. พระพนมไชยศิริ
  3. พระกฤติสาร
  4. พระอินทราชา
  5. พระเจ้าอู่ทอง
  6. เจ้าสาม

ลุล่วงมาถึงสมัยอยุธยา เพชรบุรีเป็นเมืองที่ข้าศึกจะต้องยกทัพผ่าน เพื่อจะไปตีกรุงศรีอยุธยา เมืองนี้จึงถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ และยังเป็นเมืองที่เรือสินค้าต่าง ๆ จอดแวะพักก่อนจะเข้าไปยังเมืองหลวง หรือปักษ์ใต้ เพราะสภาพของเมืองมีทำเลที่ตั้งติดชายฝั่งทะเล ทำให้เมืองเพชรบุรีมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต  หนังสือหลาย ๆ เล่ม ได้กล่าวถึงนครเพชรแห่งนี้ ว่าเคยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเมืองจีน มีการส่งเครื่องบรรณาการยังเมืองจีน ความข้อนี้เห็นว่าน่าจะมีส่วนจริง เพราะที่อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นบ้านเกิดข้าพเจ้า เป็นเมืองชายขอบที่มีดินแดนอยู่ติดกับชายฝั่งทะเล  ปากอ่าวบ้านแหลม และปากอ่าวบางตะบูน จึงเป็นช่องทางการค้าจากเรือสำเภาซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเมืองจีน บ้านคนรุ่นเก่าของอำเภอบ้านแหลมหลายๆบ้าน มักจะมีถ้วยชามสังคโลก จากเมืองจีนกันแทบทั้งสิ้น และคนท้องถิ่นจะมีเชื้อสายจีนผสมเป็นส่วนใหญ่




จนถึงสมัยธนบุรี    ก็มีประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ว่า ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี 2310 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา  พระยาตากได้พาไพร่พลไทย-จีน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี   ส่วนนางนกเอี้ยงมารดาได้อพยพหลบภัยไปอยู่กับญาติที่อำเภอบ้านแหลม จวบจนเมื่อเสร็จศึก พระองค์ทรงรำลึกถึงน้ำใจไมตรีของชาวบ้านแหลมที่ได้ถวายอารักขาแด่พระมารดาของพระองค์ ตลอดช่วงสงคราม จึงมีรับสั่งให้รื้อพระที่นั่งองค์หนึ่งจากกรุงศรีอยุธยา มาดัดแปลงสร้างเป็นศาลาการเปรียญที่วัดในกลาง อำเภอบ้านแหลม



ศาลาการเปรียญวัดในกลาง

ในยุครัตนโกสินทร์ เมืองเพชรบุรีเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทยถึง 3 พระองค์ด้วยกัน ตามหลักฐานที่ปรากฏที่ พระนครคีรี ,  พระรามราชนิเวศน์ , พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน


พระนครคีรี

พระรามราชนิเวศน์

โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดเสวยน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรี  ทรงเรียกว่า"น้ำเพชร" โดยมีสถานที่ตักน้ำเสวยบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ  และโปรดให้มีท้องตราตักน้ำบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ลำเลียงส่งเข้ากรุงเทพ เพื่อเป็นน้ำสรงและเสวย เดือนละ 2 ครั้ง ๆ ละ 20 ตุ่ม เป็นประจำตลอดจนสิ้นรัชกาล

ศาลาไม้สักท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ

ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เพชรบุรี หลายครั้งด้วยกันและที่อำเภอบ้านแหลมบ้านเกิดข้าพเจ้าเคยมีโอกาสได้รับเสด็จพระองค์ท่านถึง 2 ครั้งคือ
  • เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2429  พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งถึงอ่าวบ้านแหลม ประทับแรมบนเรือพระที่นั่ง และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เสด็จขึ้นบนพลับพลาบ้านใหม่แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งถึงพระนครคีรี
  • เมื่อวันที่  11 กันยายน 2452 พระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้าปากอ่าวบ้านแหลม ล่องไปตามลำน้ำเพชรบุรีถึงหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด  และวันที่ 12 กันยายน เสด็จประพาสตลาดผ่านไปตามถนนแนวกำแพงเมือง ผ่านหน้าวัดกำแพงแลงทอดพระเนตรวัดใหญ่สุวรรณาราม

ประวัติศาสตร์เหล่านี้  สมควรที่อนุชนคนเมืองเพชรทั้งหลาย ต้องจดจำและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง.......ศรีชัยวัชรปุระ  ... เมืองประวัติศาสตร์ของเรา.



 
ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดกำแพงแลง , วัดมหาธาตุ ,  วัดในกลาง  และหนังสือ"ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงรูปภาพจากหนังสือ"โซ่งตักน้ำเข้าวัด" ของคุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์

1 ความคิดเห็น:

  1. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะลื้อพระตำหนักในสมัยกรุงศรีมาดัดแปลงสร้างเป็นศาลาการเปรียญที่วัดในกลาง อำเภอบ้านแหลมได้อยางไรเล่า เพราะถูกเผาไปหมดแล้วไม่ใช่หรือ? ที่วัดกลางสนมนั้น เห็นที่จะเป็นการสร้างใหม่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมารดา น่าจะสับสนกับวัดสุวรรณาราม หรือ วัดใหญ่ (นามปัจจุบัน วัดใหญ่สุวรรณาราม) ที่ลื้อพระตำหนักถวายมา

    ตอบลบ