ประวัติศาสตรช่วงหนึ่งที่คนไทยทั้งหลายไม่ควรลืม นั่นคือการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะนับตั้งแต่ชาติไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ บ้านเมืองย่อยยับเสียหายมากมาย ทรัพย์สินของชาติถูกพม่าเผาทำลายจนเกือบหมด หากไม่ได้พระเจ้าตากมากอบกู้เราคงไม่มีโอกาสได้อยู่เป็นสุขเหมือนเช่นทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินในช่วงนั้นจึงมีความสำคัญต่อคนไทยทั้งหลาย วันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่เราควรต้องไปสักการะ นึกถึงบุญคุณของพระองค์ท่านที่ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อรักษาผืนแผ่นดินให้เราผู้เป็นลูกหลาน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสักการะพระองค์ท่านที่วัดอินทาราม และได้พบประวัติของพระองค์ที่วัดนั้น จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีนามเดิมว่า"สิน" บิดาเป็นชาวจีนชื่อไหฮอง เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ มารดาชื่อแม่นกเอี้ยง ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงหน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี ตำแหน่งสมุหนายกในครั้งนั้น
เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาจักรีได้ขอเอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชอบรูปลักษณะ จึงให้ชื่อว่านายสินอย่างไทยๆ เมื่อคลอดออกมานอนอยู่ในกระด้ง มีงูใหญ่มาพันวงกลมอยู่ที่ขอบกระด้ง ตอนที่อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส
ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำเข้าถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในระหว่างนี้นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ เรียนหนังสือจีน ญวน และแขกจนสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว ครั้นนายสินอายุได้ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ. วัดโกษาวาส อุปสมบทอยู่ครบ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขาบทกลับมารับราชการตามเดิม ได้รับตำแหน่งเป็นมหาดเล็กรายงาน
ใน พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระที่นั่งสุริยาศอัมรินทร์(พระเจ้าเอกทัศน์) เสด็จเสวยราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีความดีความชอบจึงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตากอยู่นี้ ได้มีนายทองดีเข้ารับราชการเป็นทหารคู่ใจ(ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิชัยดาบหัก) ต่อมาผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรมลง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งให้พระยาตากเป็นพระยาวชิรปราการผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร (แต่คนทั่วไปยังเรียกพระยาตาก) และมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้เข้ามาช่วยรับราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตากได้ทำการสู้รบด้วยความเข้มแข็งและสามารถชนะพม่าเป็นหลายครั้ง แต่ก็มีสาเหตุทำให้เกิดท้อแท้ใจอันเกิดจากความอ่อนแอของผู้บัญชาการ และขาดการประสานงานที่ดีระหว่างแม่ทัพนายกองต่างๆ ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็เท่ากับว่าปล่อยให้เป็นเหยื่อคมดาบเท่านั้นเอง พระยาตากจึงตัดสินใจหนีไปตั้งหลัก แล้วกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาในเมื่อมีโอกาส พร้อมด้วยพระเชียงเงิน พระพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี กับทหารร่วมใจประมาณ ๕๐๐ คน ยกกำลังออกจากวัดพิชัย ตีหักวงล้อมของพม่าไปทางทิศตะวันออก ณ.วันเสาว์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ เวลาค่ำ
พระยาตากนำทหารมุ่งหน้าไปทางระยอง ได้มีทหารพม่าติดตามรังควานอยู่ตลอดระยะทาง แต่ก็สามารถตีแตกกระจายไปทุกครั้ง จนพม่าเข็ดขยาดไม่กล้าติดตามต่อไปอีก พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่รู้กิตติศัพท์การรบชนะพวกทหารพม่าของพระยาตาก ต่างก็พากันเข้ามาเป็นพวกจำนวนมาก ซึ่งมีเมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก เมืองชลบุรี
เมื่อถึงเมืองระยอง พระยาตากไปตั้งค่ายอยู่วัดลุ่ม พวกกรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นช่องและพวกคิดจะปล้นค่าย แต่พระยาตากรู้ตัวก่อน จึงยกพวกเข้าตีเมืองระยองจนมีชัยชนะ ขุนรามหมื่นช่องหนีรอดไปได้ พระยาตากเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่มีความสมบูรณ์ ควรรวมกันเป็นกำลังกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยาต่อไป จึงส่งคนไปเกลี้ยกล่อม แต่เจ้าพระยาจันทบุรีทราบว่ากรุงศรีอยุธยาแตกแล้วจึงไม่ยอมตกลง ก็พอดีขุนรามหมื่นช่องเข้ามาอาศัยพระยาจันทบุรี จึงช่วยกันคิดอุบายล่อพระยาตากให้เข้าเมืองเพื่อกำจัดเสีย แต่พระยาตากรู้กลอุบายนี้เสียก่อนจึงสั่งทหารให้ตั้งค่ายห่างจากประตูเมืองจันทบุรี ๕ เส้น สั่งนายทัพกองหน้าว่า " เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกันเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เขาทิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวด้วยกันในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว" ครั้นได้ฤกษ์เวลา ๓ นาฬิกา พระยาตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว โดยพระยาตากขี่ช้างพังศรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้สำเร็จ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญหนีไป ส่วนเจ้าพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ
เมื่อพระยาตากจัดการเมืองจันทบุรีเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างอ่อนน้อมโดยดี พระยาตากจึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรีเพื่อตระเตรียมกำลังคน เสบียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ ๑๐๐ ลำ รวบรวมกำลังทหารไทยและทหารจีนได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมอีกหลายคนเช่น หลวงศักดิ์ นา มหาดเล็ก นายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก (ภายหลังเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)
พอถึงเดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังสิ้นมรสุมแล้ว พระยาตากก็ยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช ได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก มีคนไทยชื่อนายทองอิน ที่พม่าตั้งให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินรู้ข่าวว่าพระยาตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบไปบอกข่าวแก่สุกี้นายกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ครั้นกองทัพเรือพระยาตากเดินทางมาถึง ไพร่พลที่รักษาเมืองธนบุรีกลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกัน กองทัพเรือของพระยาตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรีได้ พระยาตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสีย แล้วเร่งกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา
สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวว่าพระยาตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทย ยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือพระยาตากอยู่ที่เพนียด ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่าต่างคิดหลบหนี มองญ่าจึงรีบยกกองทัพกลับค่ายโพธิ์สามต้น ในคืนนั้นพระยาตากจึงรีบยกกองทัพขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นรวม ๒ ค่ายพร้อมกันในเวลาเช้า สู้รบกันจนเที่ยงกองทัพพระยาตากจึงเข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ พระยาตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง ๗ เดือน
เมื่อพระยาตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ได้พักกองทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อจัดการบ้านเมือง แล้วปลดปล่อยผู้คนที่พม่าคุมขังไว้เป็นอิสระ พร้อมทั้งแจกจ่ายทรัพย์สินสิ่งของเครื่องใช้โดยทั่วหน้ากัน แล้วให้ขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มาถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ แล้วคิดปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ แต่เห็นว่ากรุงศรีอยุธยายากที่จะบูรณะให้เหมือนเดิมได้ และกำลังทหารของพระยาตาก ไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้ จึงได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี และประชาชนทั้งหลายทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ ขณะเมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรีนั้น เรียกราชธานีนี้ว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" แล้วพระองค์ทรงยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองที่ไม่ยอมขึ้นกับพระองค์ถึง ๔ หัวเมือง ตลอดจนทำสงครามกับพม่าถึง ๙ ครั้ง และยกกองทัพไปขยายอาณาเขตถึง ๔ ครั้ง พระองค์ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การปกครองและเศรษฐกิจ การค้าขายกับต่างประเทศ การศาสนา วัฒนธรรม ศิลปกรรม ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต ณ.ป้อมวิชัยประสิทธิ์ เมื่อวันเสาว์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา รวมสิริราชสมบัติ ๑๕ ปี แล้วนำพระบรมศพไปฝังไว้ที่วัดบางยี่เรือใต้ ครั้นสิ้นแผ่นดินกรุงธน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงโปรดเกล้าให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักไปถามว่า จะยอมอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่ ถ้ายอมจะเลี้ยงเพราะความผิดมิได้ พระยาพิชัยดาบหักมีความเศร้าโศกอาลัยในสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอันมาก จึงทูลว่า "จะขอตายตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอฝากแต่บุตรชายให้ทำราชการต่อไป" จึงโปรดเกล้าให้ประหารชีวิตเสีย อายุ ๔๑ ปี
ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๙ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทดำรัสให้ขุดหีบพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุ วัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมโหรสพและพระราชทานสงฆ์บังสุกุลทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงพระบรมศพทั้ง ๒ พระองค์ บรรดาเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวังหลวง วังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้โศกาอาดูรเป็นที่สะเทือนใจ บรรดาพสกนิกรต่างโกนหัวนุ่งขาวเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้นำพระอังคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บรรจุอยู่ในพระพุทธรูปองค์หน้า อยู่ภายในพระอุโบสถที่พระองค์มาปฏิสังขรณ์ไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (ปัจจุบันใช้เป็นวิหาร)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์ทรงกอบกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จแล้ว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยให้เสนาบดีไปสืบหาพระเถรานุเถระผู้รู้อรรถรู้ธรรมมาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่ แล้วทรงถวายพระราชโอวาทว่า "ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงตั้งใจปฏิบัติสำรวมรักษาในจตุปาริสุทธิศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าได้เศร้าหมอง แม้พระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น เป็นธุระของโยมจะรับอุปัฏฐากพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง แม้ถึงจะปรารถนามังษะและรุธิระของโยม โยมก็อาจสามารถเชือดเนื้อและโลหิตออกถวายเป็นอัชฌติกทานได้" แล้วทรงโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมืองต่างๆมาคัดลอกไว้ในกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ ทรงโปรดให้ช่างเขียน ๔ คน ไปเขียนสมุดภาพไตรภูมิที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ทรงให้สมเด็จพระสังฆราชกำกับการเขียนภาพให้ถูกต้อง ทรงตามพระบาลีโดยเคร่งครัดทุกประการ แล้วคัดพระบาลีกำกับภาพไว้ให้เป็นที่เข้าใจโดยชัดแจ้ง ยาว ๓๔๗๒ เมตร พระราชประสงค์ในการจัดทำสมุดภาพไตรภูมินั้นเพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์ได้ถูกต้องตามพระบาลีแล้วจะได้ตั้งหน้าประกอบความดีละความชั่ว ต้องด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสืบไป พระอารามที่ได้โปรดให้สถาปนาขึ้นในราชการของพระองค์คือ วัดบางยี่เรือเหนือ วัดราชคฤห์ ที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้นได้แก่ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) วัดบางยี่เรือใต้(วัดอินทาราม) วัดหงส์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม) วัดแจ้ง (วัดอมรินทาราม) เป็นต้น
วัดที่สำคัญยิ่งในสมัยกรุงธนบุรีนี้คือ วัดบางยี่เรือ (วัดอินทาราม) ซึ่งได้ทรงเอาพระทัยใส่บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรและพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ให้บริบูรณ์ทั้งพระอาราม ให้เกณฑ์ข้าราชการมาร่วมปลูกกุฏิ ๑๒๐ หลัง แล้วให้ขุดคูรอบพระอุโบสถให้กว้างออกไปกว่าเก่า ให้ปลูกบัวหลวงตลอดทั้งคู ทรงโปรดให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ให้เป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระ ดังในพงศาวดารกล่าวว่า
"ครั้นถึง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปทรงเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้ แล้วทรงถวายเรือไขมดปิดทองทึบ คนพาย ๑๐ คน และทรงถวายหีบปิดทอง ๑ ตู้สำหรับใส่พระไตรปิฏก และวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน ทรงพระกรรมฐานและทรงตั้งพระอัตยาธิษฐานว่า "เดชะผลทานบูชานี้ขอจงยังพระลักขณาปิติทั้ง ๕ ให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน และทรงพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้นนั้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาวนา ยิ่งขึ้นไป อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเสกสมโพธิ์ในอนาคตกาลข้างหน้า" แล้วให้เชิญหีบพระไตรปิฏกลงตั้งในเรือ ให้เกณฑ์เรือฝ่ายทหาร พลเรือนและราษฎรแห่เรือหีบพระไตรปิฎกขึ้นไปตามแม่น้ำ ถึงบางยี่ขันแล้วแห่กลับคืนเข้าไป ณ วัดบางยี่เรือใต้ เชิญหีบพระไตรปิฏกขึ้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แล้วให้พระราชาคณะ และเสนาบดีเอาเงินตรา ๑๕ ไปเที่ยวแจกคนใช้ทั่วทั้งในกรุง นอกกรุงธนบุรีทั้งสิ้น
ครั้นถึง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ พ.ศ. ๒๓๑๙ ทรงพระกรุณาให้เชิญโกษฐ์พระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ลงเรือบัลลังค์ มีเรือแห่เป็นขบวนไป แต่พระตำหนักแพแห่ไป วัดบางยี่เรือใต้ แล้วเชิญพระโกษฐ์ขึ้นสู่พระเมรุ นิมนต์พระสงฆ์สดัปปกรณ์ ๑,๐๐๐ รูป ทรงถวายไทยทานเป็นอันมากครบ ๓ วัน แล้วเชิญพระโกษฐ์ลงเรือแห่กลับพระราชวัง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานอุโบสถศีล แล้วทรงเจริญกรรมฐานภาวนา เสด็จประทับแรมอยู่ ณ พระตำหนัก วัดบางยี่เรือใต้ ๕ เวร
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้า ให้วัดบางยี่เรือใต้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพเสมอ ดังเช่น...
.....วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๑๓๗ อัญเชิญพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ถึงวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ถวายเพลิงศพ ฝนได้ตกหนักมาแต่วันจันทร์ จึงเป็นเหตุให้ดอกไม้เพลิงจุดไม่ติด ๓ วัน
.....วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ งานพระราชทานเพลิงศพกรมขุนอินทร์พิทักษ์ ทำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน
ในช่วงแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ๒ ครั้ง ก่อให้เกิดเสียงเอะอะตกใจทั่วกรุงธนบุรี ครั้งแรกเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๑๑ และครั้งที่ ๒ เมื่อวันเสาว์เดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๑๒
ชาวไทยระสำ่ระสายมากครั้งกรุงแตก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชได้ ก็มุ่งสร้างความสงบร่มเย็นให้แก่แผ่นดิน ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นหลักยึดของคนไทย ดังทีได้มีพระราชดำรัสที่เมืองพุทไธมาส เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ตรงกับวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๑๔ ความว่า......
....เป็นความสัตย์แห่งข้า ข้าทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหรมณ์ สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติเพื่อที่จะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นปรารถนาศรีษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะให้แก่ผู้นั้น.......
๑๕ ปีแห่งการครองราชย์ของพระองค์ นับเป็น ๑๕ ปีแห่งความเหน็ดเหนื่อยในการสร้างชาติ หากเราคนไทยทั้งหลายได้ตะหนักถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนี้ ไม่แตกแยกขาดความสามัคคี ประเทศชาติก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปอีกชั่วกาลนาน พระคุณอันมากล้นของพระองค์ท่านจึงเป็นสิ่งที่จะต้องจดจำไปชั่วชีวิต.หากท่านได้ไปสักการะพระเจ้าตากที่วัดอินทารามก็จะได้พบประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำนี้.
๑๕ ปีแห่งการครองราชย์ของพระองค์ นับเป็น ๑๕ ปีแห่งความเหน็ดเหนื่อยในการสร้างชาติ หากเราคนไทยทั้งหลายได้ตะหนักถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนี้ ไม่แตกแยกขาดความสามัคคี ประเทศชาติก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปอีกชั่วกาลนาน พระคุณอันมากล้นของพระองค์ท่านจึงเป็นสิ่งที่จะต้องจดจำไปชั่วชีวิต.หากท่านได้ไปสักการะพระเจ้าตากที่วัดอินทารามก็จะได้พบประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น