บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

รำลึกเรื่องราวสงครามเก้าทัพ



เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองที่หลายคนกล่าวขวัญถึงในด้านของแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน เนื่องจากมีรีสอร์ทที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจอยู่หลายแห่ง  แต่จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากคนไทยจะลืมไปว่า บริเวณท้องที่แห่งหนึ่งของเมืองกาญจนบุรี เคยเป็นแผ่นดินประวัติศาสตร์แห่งการศึกสู้รบ ระหว่างไทย-พม่าครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตกาล นั่นก็คือสงครามเก้าทัพ ที่พม่ายกทัพมาล้อมไทยทุกด้านเพื่อหวังจะขย้ำไทยให้ราบคาบเหมือนเช่นที่เคยล้อมและเผากรุงศรีอยุธยา  การสงครามในครั้งนั้น หากไทยเพลี่ยงพล้ำเป็นฝ่ายแพ้   ไทยอาจไม่เป็นไทยเช่นในทุกวันนี้

ในครั้งนั้นคือปี พ.ศ. 2328    พระเจ้าปดุง หลังจากบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พม่าแล้ว ได้ยกทัพมาล้อมไทยถึง 9 ทัพ รวมไพร่พล 175,000 คน แยกออกเป็น 5 เส้นทางด้วยกันคือ

เส้นทางมะริด  ด้วยกำลังพล  11,000
เส้นทางทวาย  ด้วยกำลังพล  11,000
เส้นทางเชียงใหม่  ด้วยกำลังพล 33,000
เส้นทางระแหง  ด้วยกำลังพล 5,000
เส้นทางไทรโยค ผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์  ด้วยกำลังพล 115,000  โดยมีพระเจ้าปดุงเป็นผู้นำทัพ

เท่ากับทัพพม่ายกมาล้อมทุกด้าน  หวังตีตั้งแต่ทางใต้ขึ้นมา  ทางเหนือลงไป และสมทบกับทัพที่จะเข้ามาจากตะวันตก ทางด่านแม่ละเมา  และด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งดูสภาพแล้ว ไม่มีหนทางที่จะไม่ชนะ  เพราะกำลังพลมากมายมหาศาล  เมื่อเทียบกับไทย ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าตากสินกู้ชาติแล้ว ก็เพิ่งจะเริ่มกอบกู้ประเทศกันมาได้ไม่นาน  พม่าคาดการณ์ว่าไทยยังไม่เป็นปึกแผ่น

และก็เป็นจริงดังที่พม่าคาดการณ์ ฝ่ายไทยรวบรวมกำลังพลได้เพียง 70,000  น้อยนิดนักเมื่อเทียบกับกำลังพลของทัพพม่า  ฝ่ายไทยซึ่งอยู่ในช่วงแผ่นดินของรัชกาลที่ 1  อยู่ระหว่างการฟื้นฟูประเทศ การศึกครั้งนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยสติปัญญาเพียงเท่านั้นถึงจะมีหนทางชนะพม่า  โดยต้องชนะด้วยกลยุทธ

โชคดีที่แผ่นดินไทยมีพระสยามเทวาธิราช ปกป้องคุ้มครอง   จึงทำให้สามารถระดมกำลังพลที่มีฝีมือดีมาได้  กำลังพลของไทย ก็คือทหารเสือของพระเจ้าตากนั่นเอง  ภายใต้การนำทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  พระอนุชาของรัชกาลที่ 1   ทำให้ไทยมีชัยเหนือพม่า

กระบวนยุทธวิธีในการรับศึกครั้งนี้  ไทยไปตั้งรับข้าศึกที่ทุ่งลาดหญ้า  ในเขตเมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งอยู่บริเวณเขาชนไก่  คราวนั้นผิดกับวิธีที่ไทยได้เคยต่อสู้กับพม่ามาแต่ก่อน ซึ่งมักจะใช้ตัวพระนครเป็นจุดตั้งรับศึก  ปล่อยให้พม่าล้อมไทยจนถึงฤดูน้ำหลาก พม่าก็จะขาดเสบียง และถอยทัพกลับไปเอง  ยกเว้นคราวใดที่เห็นว่าพอจะมีกำลังต่อสู้กับข้าศึกที่ยกมาได้  ก็จะยกออกไปดักตีข้าศึกให้แตกในกลางทางเสียก่อนที่จะเข้ามาถึงชานพระนคร ซึ่งโดยมากมักจะรบกันที่สุพรรณบุรีบ้าง อ่างทองบ้าง เฉพาะเมื่อครั้งที่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310  พระเจ้าเอกทัศน์ปล่อยให้พม่ามาล้อมไทยจนถึงฤดูน้ำหลาก  แต่การกลับเป็นว่าพม่ากลับไม่ยอมถอยทัพกลับเหมือนเช่นเคย  กลับล้อมไทยอยู่จนไทยกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบเองเพราะขาดเสบียง  จนเกิดความระส่ำระสายในแผ่นดิน และต้องเสียกรุงไปในที่สุด

การเสียกรุงในครั้งนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ทำให้ไทยต้องปรับวิธี  รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  พระอนุชา  จึงได้วางกลยุทธที่จะนำกำลังไปรับข้าศึกที่ชายแดน โดยไปตั้งรอรับที่ทุ่งลาดหญ้าด้วยเห็นว่าทุ่งลาดหญ้าอยู่ตรงเชิงเขาบันทัด ทางที่พม่าต้องเดินทัพข้ามมา  ถ้าไทยรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้  กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาก็ต้องตั้งอยู่บนภูเขาอันเป็นที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพและจะเดินกระบวนทัพก็ยากลำบาก  เปรียบเหมือนข้าศึกอยู่ในตรอก  ไทยสกัดคอยอยู่ปากตรอก แม้กำลังจะน้อยกว่า ก็พอจะต่อสู้ได้ด้วยอาศัยชัยภูมิเป็นตัวช่วย



การก็เป็นจริงเช่นนั้น  เมื่อกองทัพหน้าของพม่ายกเข้ามาปะทะกองทัพไทยที่ตั้งสกัดอยู่ทุ่งลาดหญ้า ก็ต้องหยุดอยู่เพียงเชิงเขา เมื่อกองหน้าหยุดอยู่เพียงเชิงเขา กองทัพที่ยกตามมาก็ต้องหยุดอยู่บนภูเขาเป็นระยะกันไป เมื่อกองทัพต้องอยู่บนเขา จะหาเสบียงอาหารจากในแดนไทยก็ไม่ได้ ต้องกลับไปหาบเสบียงจากแดนพม่าข้ามเข้ามาส่งกันทุกทัพ  เป็นอุปสรรคต่อกองทัพพม่าเป็นอย่างยิ่ง


พม่าได้ตั้งค่ายที่เชิงเขาบันทัด  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็สั่งให้ตีค่ายพม่า เกิดการสู้รบติดพันกัน  ฝ่ายพม่าได้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ยิงค่ายไทย  กรมพระราชวังบวร ฯ ก็ให้เอาปืนใหญ่ยิงสู้และใช้ปืนปากกว้างบรรจุท่อนไม้แทนกระสุนยิงต่อสู้กันไป จนหอรบพม่าพังทลายลง  พร้อมๆ กับตั้งกองโจรคอยสกัดตีขบวนลำเลียงอาหารที่มาส่งยังกองทัพพม่า  จนพม่าขัดสนเสบียงอาหาร  และใช้อุบายลวงทัพพม่าว่าไทยมีกำลังมาก โดยแบ่งกองทัพให้ลอบออกจากค่ายในเวลากลางคืน   และให้ถือธงทิวเป็นกระบวนทัพกลับเข้ามาตอนรุ่งเช้า  จนพม่าเข้าว่าไทยมีกำลังทัพมาเสริมอยู่เนือง ๆ  จึงเกิดครั่นคร้าม
พระเจ้าปดุงเห็นว่ากองกำลังทัพของไทยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กองกำลังของตนขัดสนเสบียงอาหาร หากปล่อยให้กองทัพเดินหน้าต่อไป  ก็น่าจะเกิดความสูญเสียมากกว่า จึงได้ถอยทัพกลับเมาะตะมะ

การศึกครั้งนั้นไทยจึงมีชัย ด้วยกลยุทธและพระปรีชาสามารถของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโดยแท้ สมควรที่คนไทยทั้งหลายจะพึงสังวรณ์ และตระหนักถึงบุญคุณอันใหญ่หลวง  ที่ท่านได้รักษาแผ่นดินไทยให้พวกเรารุ่นหลังได้อยู่กันอย่างสุขสบาย  มติชนอคาเดมี ได้นำพวกเราไปสักการะพระรูปของท่านที่ทุ่งลาดหญ้า  โดยมีท่านรองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นผู้บรรยายถึงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าดังกล่าวให้พวกเราได้รำลึกถึงกัน




เมืองกาญจนบุรี จึงมีความหมายยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน  จุดที่เป็นสถานที่ซึ่งกระพระราชวังบวร ฯ ให้ตั้งค่ายรบคือบริเวณเมืองกาญจน์เก่า ซึ่งอยู่บริเวณเขาชนไก่ ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังของแนวกำแพงเมืองเท่านั้น  ส่วนทัพหลวงจะอยู่บริเวณปากแพรก


ซากแนวกำแพงเมืองเก่า



ซากแนวกำแพงเมืองเก่า ยาวจรดแม่น้ำแคว

จากการปรับกลยุทธการรับศึก จากการใช้พระนครเป็นจุดรับศึก เปลี่ยนมาเป็นการใช้หัวเมืองเส้นทางเดินทัพเป็นจุดรับศึก ทำให้เมืองกาญจนบุรี ถูกปรับเป็นศูนย์บัญชาการและสมรภูมิรับศึกสำคัญ โดยเฉพาะบริเวณปากแพรก ที่ใช้เป็นจุดตั้งทัพหลวง  จนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 จึงให้ย้ายที่ตั้งของเมืองกาญจน์จากเขาชนไก่มาเป็นที่ปากแพรกเป็นการถาวรสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน





เมืองกาญจนบุรี  มีที่มาที่เล่าขานกันได้อีกยาวนานหลายเรื่องราว  แม้ปัจจุบันสถานที่หลายแห่งจะกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ ที่คนไทยควรรำลึกถึง เพราะนั่นคือความจริงที่เกิดขึ้น ก่อนจะมาเป็นประเทศไทยที่รุ่งเรืองในปัจจุบัน.........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น