บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เขาคิชฌกูฏ ในคืนเดือนเพ็ญ





คืนนั้นเป็นคืนเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ตรงกับวันที่  ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุทธยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ขึ้นเขาไปสักการะรอยพระพุทธบาท  โดยแต่ละปีจะเปิดให้คนขึ้นเพียง  ๖๐ วันเท่านั้นและในปี ๒๕๕๗  กำหนดเปิดเขาระหว่าง ๓๐ มกราคม  - ๓๑ มีนาคม  ช่วงนั้นจึงมีผู้คนล้นหลาม รอขึ้นเขากันทั้งวันทั้งคืน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้นที่หวังจะได้ขึ้นไปสักครั้งหนึ่งในชีวิตและตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องไปในปีนี้ให้ได้ 

 




เราใช้บริการทัวร์ซึ่งจัดไปสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏโดยเฉพาะ  ออกเดินทางจากกรุงเทพในช่วงค่ำประมาณ  ๑๙.๐๐ น.  เข้าเขตจันทบุรีก็ประมาณเที่ยงคืน  ถึงวัดพลวงก่อนตีหนึ่ง  แม้จะเป็นยามดึก  แต่ที่วัดพลวงสว่างไสวเหมือนกับเป็นกลางวัน  ผู้คนกวักไกว่แน่นขนัดไปหมด  บริเวณนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นเขาคิชฌกูฏ  คนจากทั่วสารทิศที่มาเพื่อจะขึ้นเขา จะต้องนำรถยนตร์มาจอดไว้ที่วัดพลวงทั้งหมดและขึ้นเขาด้วยรถปิดอัฟเท่านั้น  ทางอุทยานไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นนอกจากที่ได้รับอนุญาติ  ก่อนขึ้นรถปิคอัพทุกคนต้องซื้อบัตรก่อนในราคาประมาณ ๕๐.- บาท/คน  ในบัตรนั้นจะมีเลขที่กำกับไว้  เพื่อให้แต่ละคนได้ขึ้นรถตามคิว  
 





ยอดเขาคิชฌกูฏอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ   ๑,๐๐๐  เมตร ระยะทางจากตีนเขาถึงยอดเขา ประมาณเกือบ ๑๐ กิโลเมตร  ทางขึ้นเป็นถนนดิน   สูงชัน  และคดเคี้ยว หักศอกตลอดทาง  ถ้าไม่มีความชำนาญคงไปเรื่องยากทีเดียวในการขับรถขึ้นเอง  นี่คงเป็นเหตุผลที่กรมอุทยานได้ห้ามไว้นั่นเอง  เพราะมิฉะนั้น คงมีเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุกันบ่อย  เพราะเหตุที่เส้นทางลำบากมากจริงๆ  แม้แต่รถปิ๊กอัพที่นำพวกเราขึ้นก็ยังต้องแบ่งการวิ่งออกเป็น ๒  ช่วง  ๆ ละ ๔ กิโลเมตร  รถจะรับผู้โดยสารจากเชิงเขาขึ้นไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ส่งผู้โดยสารครึ่งทาง เราต้องไปซื้อบัตรอีกครั้งเพื่อต่อรถขึ้นไปอีกครึ่งทางช่วงบน  วิ่งไปอีก  ๔ กิโลเมตร ก็จะส่งผู้โดยสาร เพื่อเดินต่อไปอีก ๑ กิโลเมตรเศษ  ทุกคนต้องเดิน ๆ ๆ  ยกเว้นคนที่ไม่ไหวจริง ๆ  ก็จะมีลูกหาบรับจ้างแบกขึ้น  ตลอดเส้นทางช่วงที่ต้องเดินจะมีพระพุทธรูปให้สักการะตลอดทาง  โดยจัดตั้งไว้เป็นระยะ ๆ  จนถึงจุดสูงสุดซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาท และหินลูกพระบาท ตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งเป็นไฮไลท์ของเขาคิชฌกูฏ

 




เรื่องตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎนี้  ข้าพเจ้าได้อ่านพบจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ของ จ.จันทบุรี ระบุว่าเจ้าอาวาสวัดกระทิง (พระครูธรรมสรคุณ) เป็นผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ   โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗  มีชาวบ้าน กลุ่มหนึ่งชื่อ นายติ่ง และพรรคพวก ได้พากันขึ้นเขาไปหาไม้กฤษณามาขาย ต้องพักอยู่บนเขาหลายวัน  และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่  เพื่อนของนายติ่ง ได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพัก  ก็พบแหวนวงใหญ่มาก ขนาดสวมใส่แม่เท้าได้  เป็นที่แปลกประหลาด จึงช่วยกันตรวจดูเพิ่ม  ก็พบหินแผ่นหนึ่งมีพื้นที่เป็นรูปรอยก้นหอย



หลังจากนายติ่งลงมาจากเขาก็มิได้บอกกล่าวเล่าความแก่ผู้ใด  จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อ.เมือง จ.จันทบุรี  ซึ่งตรงกับที่วัดมีงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง  นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น  และพูดเปรยว่า รอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน  มีพระรูปหนึ่งมาได้ยินเข้าและนำไปบอกเล่าต่อเจ้าวาส นายติ่งจึงถูกเจ้าอาวาสเรียกไปสอบถามและให้นำคณะขึ้นไปพิสูจน์  ก็พบว่าเป็นจริงตามคำบอกเล่าของนายติ่ง  และเมื่อตรวจดูตามบริเวณทั่ว ๆ ก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง
 


รอยพระพุทธบาทนั้น ท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่  บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคน ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาท มีหินกลมก้อนใหญ่มาก เรียกกันว่าหินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกและมหัศจรรย์เป็นอย่างมากที่ไม่น่าจะตั้งอยู่ได้  มองดูคล้าย ๆ ลอยอยู่เฉย ๆ มีคนเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้   และยังมีหินอีกลูกหนึ่งใหญ่มากเหมือนกัน  อยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้   จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้นห่างกันประมาณ ๕ เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินนั้น ตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ อันนี้เรียกรอยเท้าพญามาร  เพียงแหงนหน้าขึ้นไปมองจะเห็นได้ทันที  สูงประมาณ ๑๕ เมตร 




ความมหัศจรรย์นี้ถูกถ่ายทอดเป็นตำนานและเล่าขานสืบเนื่องกันมายาวนานจนปัจจุบัน และความมหัศจรรย์ในความคงอยู่ของก้อนหินยักษ์ที่เรียกว่าหินลูกพระบาท  ที่วางตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ยิ่งสร้างความศรัทธาให้กับพุทธศาสนิกชนที่รับรู้มากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ตลอดระยะทางที่เดินขึ้น  จึงมีผู้คนมากมายเรียกว่าเดินตามกันเป็นทิวแถวก็ว่าได้ กลางคืนจึงไม่ต่างจากกลางวัน ผู่คนเหล่านี้มาจากทั่วสารทิศของเมืองไทย





รอยพระบาทนี้ แต่เดิมเรียกขานกันว่าพระบาทพลวง เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพลวง ต.พลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี แต่เป็นความประสงค์ของพระครูธรรมสรคุณ  ที่อยากจะให้รำลึกถึงสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา ซึงเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในพุทธกาล คือยอดเขาคิชฌกุฏในประเทศอินเดีย  ด้วยว่าลักษณะและสภาพภูมิประเทศของเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรี คล้ายคลึงกับเขาคิชฌกูฏประเทศอินเดียมาก ทั้งแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อนและสิ่งมหัศจรรย์ที่ทรงคุณค่าทางศาสนาที่อยู่บนยอดเขาจึงตั้งชื่อว่าเขาคิชฌกูฏ





เขาคิชฌกูฏจึงเปรียบเสมือนเป็นแดนพุทธประวัติ ผู้ใดได้ขึ้นเขาคิชฌกูฏเพื่อไปสักการะรอยพระพุทธบาทจึงเสมือนหนึ่งกับการได้เดินทางไปยังดินแดนของพระพุทธเจ้า  แม้การเดินทางจะลำบาก และเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากว่าจะถึงแต่หากมีจิตใจมุ่งมั่น ใจก็จะอิ่มเอมไปด้วยบุญ  และหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อไปถึงบริเวณหินลูกพระบาท  จะพบผู้คนแน่นขนัดรอคิวสักการะรอยพระพุทธบาทอยู่ มีเจ้าหน้าที่คอยกำกับให้เป็นระเบียบและทำหน้าที่นำสวด พร้อมทั้งแนะนำพุทธศาสนิกชนให้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ๑ คำขอ



น่าเชื่อได้ว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับพรตามคำขอกับถ้วนหน้า  อย่างน้อยก็ได้พบกับความสุขที่เกิดขึ้นในใจของทุกคนที่มีความตั้งใจขึ้นมาสักการะ   คืนเพ็ญคืนนั้นจึงเป็นคืนอันศักดิ์สิทธิ์  แสงจันทร์ที่สาดส่องมาบนโลก  จึงเป็นดั่งแสงบุญที่อาบร่างนับร้อยนับพันนับหมื่นคนบนนั้นอย่างทั่วถึงได้  คณะของเราเดินทางลงจากเขาในช่วงหกโมงเช้าของวันใหม่ด้วยความอิ่มเอมในอาณิสงฆ์แห่งบุญที่สัมผัสได้กันทั่วหน้า  ความยากลำบากของการเดินทางในครั้งนี้ ย่อมสะท้อนถึงสัจจธรรมได้ชัดเจน  สิ่งดี ๆ ในชีวิต มิได้มาอย่างง่ายดาย  มันจะต้องผ่านความยากลำบากมาก่อนเสมอ หากคนเรามีความเพียร  ย่อมทำทุกสิ่งได้สำเร็จ  สัจจธรรมข้อนี้คงเป็นที่ประจักษ์ต่อพุทธศาสนิกชนที่ขึ้นมาบนเขาคิชฌกูชทุกคน








ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จ.จันทบุรี  และรูปภาพจาก google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น