วังนารายณ์ |
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวงานแผ่นดินพระนารายณ์ ซึ่งจัดขึ้นที่วังนารายณ์ จ.ลพบุรี เมื่อปีที่ผ่านมา งานนี้ชาวลพบุรีได้จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติ์ของพระนารายณ์มหาราชซึ่งทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินไว้มากมายจนได้รับสมญานามว่าเป็นมหาราชองค์หนึ่งของแผ่นดินไทย การได้เข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ทำให้มีโอกาสได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ไทยช่วงหนึ่งในอดีต
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ ๒๗ ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททองที่ประสูติแด่พระราชเทวี เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๗๕ ขณะประสูติพระญาติต่างมองเห็นว่ามีสี่กร จึงถวายพระนามว่านารายณ์ราชกุมาร พระราชประวัติของพระองค์ในช่วงเยาว์วัย มักจะมีเรื่องเกี่ยวกับปาฏิหารย์อยู่เสมอๆ เคยถูกอสุนีบาตถึง ๒ ครั้งในวัยเด็ก แต่ก็รอดพ้นจากภยันตรายได้ทั้ง ๒ ครั้ง เป็นที่แปลกประหลาดต่อผู้พบเห็น
สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ปราสาททอง ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ครองแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา จากทั้งหมดที่มีอยู่ 5 ราชวงศ์ด้วยกันคือ
- ราชวงศ์อู่ทอง
- ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
- ราชวงศ์สุโขทัย
- ราชวงศ์ปราสาททอง
- ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์ปราสาททอง ครองแผ่นดินอยุธยาต่อจากราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งมีพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร เป็นต้นราชวงศ์ และสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2133 - 2148 ได้สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) เป็นพระมหาอุปราช ครั้นต่อมาสมเด็จพระเอกาทศรถ ขึ้นครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 2148 - 2153 ได้สถาปนาเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเกิดกับพระมเหสี ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชแทน แต่เจ้าฟ้าสุทัศน์ ถูกข้อหาขบถต่อพระราชบิดา จึงเสวยยาพิษและสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ซึ่งเป็นโอรสองค์ถัดมา ได้ขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองราชย์ได้เพียงไม่ถึงปี ก็ถูกราชประหาร ในช่วงแผ่นดินของพระศรีเสาวภาคย์นี้ จหมื่นศรีสรรักษ์ ได้ซ่องสุมกำลังทหาร บุกเข้าวังหลวงนำพระศรีเสาวภาคย์มาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์และอัญเชิญพระอินทรราชา (พระราชโอรสของพระเอกาทศรถ ที่เกิดกับสนม) ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างผนวช ลาสิกขาบทมาครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าทรงธรรม และตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นพระอุปราช พระเจ้าทรงธรรม ครองแผ่นดินระหว่างปี พ.ศ. 2154 - 2171 นานถึง 17 ปี เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชบัลลังค์ระหว่างพระราชโอรสพี่น้อง ในที่สุดพระเชษฐาธิราชพระราชโอรสองค์โต ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยสำเร็จโทษพระอนุชาเสีย แต่ครองแผ่นดินได้เพียงปีเศษ ก็ถูกออกญาศรีวรวงศ์ (จหมื่นศรีสรรักษ์) สำเร็จโทษและอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็น พระอนุชาองค์สุดท้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยวัยเพียง 9 ชันษา โดยมีพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์ ( คือออกญาศรีวรวงศ์หรือจหมื่นศรีสรรักษ์นั่นเอง) เป็นผู้สำเร็จราชการ พระอาทิตยวงศ์ครองราชย์ได้เพียง 36 วัน เหล่าขุนนางเห็นว่าพระองค์เอาแต่เล่นซุกซนตามประสาเด็ก เกรงจะเสียหายต่อราชการ จึงอัญเชิญลงจากบัลลังค์ และพระยากลาโหม ก็ได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ใหม่ขึ้น คือ "ราชวงศ์ปราสาททอง"
พระเจ้าปราสาททองครองราชย์ต่อมานานถึง 25 ปี ( ตั้งแต่ พ.ศ. 2173 - 2198 ) และเสด็จสวรรคต เมื่อปี 2198 สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสองค์โต ที่เกิดกับพระมเหสี คือได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ครองราชย์ได้เพียง 9 เดือน ก็ถูกพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระปิตุลา(ลุง) และ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระโอรสพระเจ้าปราสาททองที่เกิดกับราชเทวี) สำเร็จโทษและชิงราชสมบัติ พระศรีสุธรรมราชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยสถาปนาพระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราช แต่พระศรีสุธรรมราชาครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษก็ถูกพระนารายณ์ชิงราชบัลลังค์ เมื่อ พ.ศ. 2199 สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมานานถึง 32 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2199 - 2231)
สมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ ในขณะที่พระชันษาเพียง 25 ปีและพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ปราสาททอง เสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2231 ด้วยพระชันษา 56 ปี ณ.พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี และถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ปราสาททอง
พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน |
ช่วงแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นช่วงที่แผ่นดินไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมากทางเศรษฐกิจ เพราะมีการติดต่อกับโลกตะวันตก มีการเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีหลาย ๆ อย่างแบบซีกโลกตะวันตก
มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเข้าเฝ้าจากการหมอบคลาน เป็นให้ยืนหรือนั่งเก้าอี้หน้าพระที่นั่งและสวมรองเท้าได้ ดังที่ปรากฏการเข้าเฝ้าของเชอวาเลีย เดอ โชมอง ราชฑูตจากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ตค. 2228 ซึ่งได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น
มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสรวม 3 ครั้งด้วยกัน เกี่ยวกับการยอมให้อภิสิทธิ์แก่ต่างชาติในการทำการค้าในสยาม , การเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยาม และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่คนในบังคับของฝรั่งเศสในสยาม
พระองค์ทรงโปรดให้ส่งคณะฑูต เดินทางไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 คณะ ที่พระราชวังแวร์ซายส์และศึกษาดูงานความก้าวหน้าของบ้านเมืองและวิทยาการชองฝรั่งเศส เพื่อนำกลับมาพัฒนาสยามประเทศ
มีการค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวางในช่วงแผ่นดินของพระองค์ สินค้าของไทยที่ต่างชาตินิยม มีจำพวก ข้าว ดีบุก หนังกวาง นอแรด ช้าง ส่วนสยามก็จะซื้อเข้ามาจากต่างชาติจำพวก อาวุธปืนจากยุโรป , ทองแดง และเครื่องถ้วยชามจากจีนและญี่ปุ่น , ผ้าจากอิหร่านและอินเดีย , พระนารายณ์ทรงมีกองเรือหลวงประกอบด้วยเรือสำเภาจีน และเรือกำปั่นแบบยุโรป เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าเช่นกัน
ในแผ่นดินของพระองค์มีชาวญี่ปุ่นอพยพมาตั้งรกรากที่กรุงศรีอยุธยาจำนวนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นพวกนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งถูกกีดกันจากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยพระนเรศวร เริ่มจากชุมชนเล็กๆ และมากขึ้นในสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงอนุญาติให้ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ในอดีต ชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มีบทบาทในราชสำนักสยามด้วยการเป็นทหารอาสา
ในยุคของพระองค์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ โดยลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกสะท้อนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของชาวสยามในรัชกาลของพระนารายณ์ว่า คนสยามเป็นกันมากคือโรคป่วง โรคบิด ไข้จับสั่น ไอหวัด ไอหอบ โรคบวม โรคไขข้ออักเสบ ลมบ้าหมู วัณโรคปอด มะเร็ง กามโรค ฝีดาษ หมอสยามไม่รู้จักวิธีศัลยกรรม แต่รักษา ด้วยการใช้ยาตามตำราที่บรรพบุรุษสั่งสอนกันมา ในรัชสมัยของพระองค์เริ่มมีการเปิดกว้างทางความคิด มีการรับเอาวิทยาการจากแพทย์ตะวันตกมากขึ้น และใช้แพทย์แผนไทยผสมผสานกับแพทย์แผนตะวันตก ทำให้การรักษาโรคภัยไข้เจ็บกว้างขวางขึ้น มีตำรับยาใหม่เกิดขึ้นหลายชนิด
มีชาวต่างชาติอีกคนที่เป็นที่รู้จักในรัชสมัยของพระองค์คือ คอนแสตนติน ฟอลคอน ซึ่งเป็นชาวกรีกที่มาเข้าเฝ้ารายงานเรื่องวิทยาการและความเจริญของโลกตะวันตก จนได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นผู้แทนฝ่ายสยามในการเจรจาความเมืองกับฝรั่งเศส และได้รับพระราชทินนามว่า ออกญาวิไชเยนต์ แต่ภายหลังกลับปรากฏว่าออกญาผู้นี้คิดคดทรยศต่อแผ่นดินสยาม วางแผนให้ฝรั่งเศสยึดครองสยาม จนพระเพทราชาจับได้ จึงนำตัวไปประหารชีวิตที่วัดซาก ข้างทะเลสาบชุบศร ในช่วงที่พระนารายณ์ทรงประชวรหนัก
ในยุคของพระนารายณ์ ถือเป็นยุคทองของวรรณกรรม มีกวีเกิดขึ้นหลายคนเช่นพระโหราธิบดี และ ศรีปราชญ์ บุตรชาย รวมทั้งพระองค์เองก็ทรงกวีนิพนธ์วรรณกรรมไว้เช่นกัน
เรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้นมากมายในแผ่นดินของพระองค์ น่าจะถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการเริ่มเปลี่ยนแปลงของสยามประเทศก็ว่าได้ และในระหว่างการครองแผ่นดินของพระองค์ ได้สร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2209 และสร้างพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นที่ประทับ
ในช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ ได้แต่งตั้งพระเพทราชา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่ประทับอยู่ลพบุรี ได้ทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปิย์ โอรสบุญธรรมของพระนารายณ์เสีย (พระนารายณ์ไม่มีโอรสกับพระมเหสี) ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์ต่อไป และเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่คือ บ้านพลูหลวง และสิ้นสุดราชวงศ์ปราสาททอง
การจัดงานแผ่นดินนารายณ์ของ จ.ลพบุรี ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนยุคปัจจุบันได้มีโอกาสรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังอย่างมากมาย งานนี้จึงมีคุณค่าต่อการเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลต่าง ๆ จากวังนารายณ์ จ.ลพบุรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น