บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หนาวนี้ที่..เชียงคาน

 
 


พอถึงหน้าหนาวทีไร ใจก็ให้คิดแต่อยากจะสัมผัสความหนาวที่ภาคเหนือหรืออิสานทุกครั้งไป  เมื่อปีที่แล้วได้ไปลุยภาคเหนือมา  ในปีนี้จึงเลือกไปภาคอิสาน โดยมีจังหวัดเลยเป็นเป้าหมาย  เพราะจังหวัดเลยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่สัมผัสแล้วมีความสุข  โดยเฉพาะเมืองเก่า ๆ อย่างเชียงคานซึ่งยังมีความโบราณอยู่มาก ทำให้เกิดความรู้สึกเสมือนเดินทางท่องเที่ยวย้อนกาลเวลา  


เราไปถึงเชียงคานประมาณ ๔ โมงเย็น นับว่าเป็นโชคดีที่สามารถขับรถเข้าไปจอดยังที่พักซึ่งอยู่บนถนนชายโขงได้ ถนนชายโขงคือถนนที่เลียบขนานกับแม่น้ำโขง  จะเป็นถนนเส้นดั้งเดิมที่เล็กและแคบ จึงมีการเดินรถทางเดียวและจะปิดถนนประมาณ ๕ โมงเศษ ๆ  เพื่อทำเป็นถนนคนเดิน  คนจะคึกคักทุกวัน และบริเวณนี้คือจุดขายของเชียงคาน
 
 




เรื่องราวของเมืองเชียงคาน มีความเป็นมาที่น่าสนใจ  ประวัติความเป็นมาของเชียงคาน มีปรากฏอยู่ที่วัดศรีคุณเมือง  ซึ่งเป็นวัดประจำเมืองเชียงคาน 
 
 



 


เมืองเชียงคานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศลาว  สร้างโดยขุนคาน  โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง  เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๐๐   ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๕๐  อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็น ๒ อาณาจักร คืออาณาจักรหลวงพระบางซึ่งพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ปกครอง และอาณาจักรเวียงจันทร์ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ปกครอง  โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาจักรหลวงพระบาง  และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาจักรเวียงจันทร์ 
 
 
ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน และทางเวียงจันทร์ได้สร้างเมืองเชียงคานเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน 
 
 
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ เมื่อตีสำเร็จจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกัน และให้เป็นประเทศราชของไทย  พร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เมืองปากเหืองมากขึ้น  แล้วโปรดเกล้าให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย
 
 
ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๓  เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราช จึงยกกำลังจากเวียงจันทร์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่กระทำการไม่สำเร็จ ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงไปอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าให้พระอนุพินาถ(กิ่ง ต้นสกุลเครือทองศรี)  เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองเชียงคาน 
 
  
ครั้นรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕   มีพวกจีนฮ่อยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทร์  เมืองหลวงพระบาง  และได้ปล้นสะดมเมืองเชียงคานที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  ชาวเชียงคานจึงพากันอพยพมาอยู่ที่เมืองปากเหืองเป็นจำนวนมาก  อยู่ๆกันไปก็เห็นว่าชัยภูมิของเมืองนี้ไม่ค่อยดีนัก  ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจัน  ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของเมืองเชียงคานในปัจจุบัน และตั้งชื่อชุมชนใหม่นี้ว่า เมืองใหม่เชียงคาน




และในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ นี้เองไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส  ทำให้เมืองปากเหือง ตกเป็นของฝรั่งเศส  ชาวปากเหืองจึงอพยพมาอยู่กันที่เมืองใหม่เชียงคาน  หรืออำเภอเชียงคานในปัจจุบัน  แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่นี้ว่าเมืองเชียงคาน  ตั้งที่ทำการอยู่วัดมหาธาตุเรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน  ภายหลังได้ย้ายที่ทำการเมืองไปอยู่วัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ยกฐานะเป็นอำเภอเชียงคาน ขึ้นกับจังหวัดเลย  เมืองเชียงคานมีอายุครบ ๑๐๐ ปีเพื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒  และจนถึงปัจจุบันก็ครบ ๑๐๕ ปีแล้ว 
 
 
 


 

มนต์เสน่ห์ของเมืองเชียงคาน คือความเป็นเมืองโบราณนั่นเอง ที่ยังหลงเหลืออยู่ทั้งสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมโบราณ  โดยเฉพาะวัฒนธรรมการตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งถือปฏิบัติเช่นเดียวกับที่หลวงพระบาง  ใครได้ไปเที่ยวก็ต้องไปตักบาตรข้าวเหนียวกันแต่เช้า  ชาวบ้านจะเอาเสื่อมาปูหน้าบ้านเพื่อนั่งรอพระมารับบาตร
 
 
 
 
 
 
 
 
ไกลออกไปจากเชียงคานประมาณ ๘-๙  กม.ก็จะพบกับบรรยากาศของธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง บริเวณนั้นเรียกว่าภูทอก  เป็นเขาเตี้ยๆ ซึ่งเป็นเทือกยาวต่อมาจากภูพาน  ในวันที่หนาวเย็น  ท้องฟ้าโปร่ง  และลมสงบ  จะสามารถพบเห็นทะเลหมอกที่สวยงามมากที่สุดตั้งแต่เคยพบเห็นมาจากหลายๆแห่ง เพราะบริเวณนี้เป็นหุบเขาที่กว้าง และมีแนวเขาสลับซับซ้อน  จึงเป็นบรรยากาศที่แปลกและสวยงามมาก 












 
 
 
นอกเหนืออกจากที่เชียงคานแล้ว  ที่อำเภอภูเรือก็เป็นอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยที่มีความสวยงาม  อากาศที่หนาวเย็นเป็นส่วนใหญ๋ทำให้พื้นที่อำเภอภูเรือเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของไทย โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาส  ดอกคริสต์มาสจะบานไสวไปทั่วเมือง  อำเภอภูเรือจึงจัดลานคริสต์มาสได้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมทุกปี 
 
 











 
และที่อำเภอหนองหิน ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยที่มีมุมเล็กๆอีกมุมหนึ่งที่น่ารักจากการประดับประดาสวนหินซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ บรรจงตกแต่งให้เกิดความสวยงาม   












 
 
การไปทริปอิสานในครั้งนี้นอกจากจะได้สัมผัสไอหนาวอย่างเต็มอิ่มแล้ว ยังได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามของหลายๆสถานที่ในจังหวัดเลยอย่างคุ้มค่าอีกด้วย  และเหนือสิ่งอื่นใดมีโอกาสได้แวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต ที่พระธาตุศรีสองรัก  พระธาตุแห่งสัจจะและไมตรี
 
 
 
 
 
 
พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  เป็นปูชนียสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทยกับลาว  ที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของพระมหากษัตริย์แห่งสองราชอาณาจักร คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา  กับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสตนาคนหุต  แห่งเวียงจันทร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๓-๒๑๐๖  ถือเป็นพระธาตุแห่งสัจจะและไมตรี  โดยยึดถือความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางในการสร้างสัมพันธภาพและไมตรีระหว่างสองพระนครที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา  โดยเชื่อว่าพระพุทธศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายสามารถควบคุมหรือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเวียงจันทร์เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ในยุคนั้นพม่าเรืองอำนาจมากมาย ทั้งกรุงศรีอยุธยาและเวียงจันทร์ต่างก็ถูกพม่ารกุรานบ่อยครั้ง กษัตริย์ทั้งสองแผ่นดินจึงจับมือร่วมกัน  นำพาประชาชนทั้งสองชาติผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวสู้กับข้าศึก  พระธาตุแห่งนี้จึงเป็นสักขีพยานของความรักใคร่ของชนชาติไทยลาวมาแต่โบราณกาล  ปัจจุบันมีอายุไม่น้อยกว่า ๔๕๐ ปีแล้ว 


 
 
 
 
 
ทริปอิสานในหนาวนี้     จึงนับว่าคุ้มค่าและน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง ...........................................
 
 
 
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดศรีคุณเมือง อ.เชียงคาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น