น้ำคิวเป็นหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดเลย และนาสมหวังเป็นหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู หมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้เมื่อ 44 ปีก่อนเป็นดินแดนที่เกือบจะไม่มีใครกล้าเหยียบเพราะเป็นถิ่นที่ผู้ก่อการร้ายเกือบเต็มพื้นที่ แต่นิสิตเกษตรกลุ่มหนึ่งแบกอุดมการณ์อย่างเต็มเปี่ยมใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนเข้าไปพัฒนา สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ทั้งสองแห่งโดยไม่เกรงกลัวอันตรายใดๆ เมื่อ 44 ปีที่แล้ว จึงได้เกิดโรงเรียน 2 หลังขึ้นในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่งนี้ คือ
- โรงเรียนบ้านน้ำคิว ที่จังหวัดเลย เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ แห่งที่ 6
- โรงเรียนเกษตรประชานาสมหวัง ที่จังหวัดอุดร หรือจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบันเป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ แห่งที่ 7
ในวันนี้แม้เวลาจะผ่านไปถึง 44 ปี แต่ความทรงจำของคนกลุ่มนี้มิได้ลบเลือนหายไป หลังจากแต่ละคนเกษียณจากหน้าที่การงานแล้วจึงเกิดการรวมตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งด้วยความสมัครใจ ที่จะหวนกล้บไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนที่พวกเราเคยไปใช้ชีวิตอยู่ โครงการนี้พวกเราเรียกกันว่าโครงการชาวค่ายคืนถิ่น
แต่ก่อนจะเล่าต่อไป อยากจะย้อนให้เห็นถึงที่มาของโครงการชาวค่ายคืนถิ่นเสียก่อน...โครงการนี้เกิดจากกลุ่มอดีตนิสิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลุ่มหนึ่งเกิดแนวคิดที่จะกลับไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอีกครั้งหลังจากทุกคนเกษียณจากหน้าที่การงานแล้ว โดยหวนกลับไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนที่เคยสร้างไว้สมัยเป็นนิสิต พร้อมกับนำโครงการที่เป็นประโยชน์ไปพัฒนาต่อยอดสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับโรงเรียนและชุมชน โดยใช้ความรู้ที่มี กำลังทรัพย์ที่หาได้ และเครือข่ายที่จะสามารถดึงมาร่วมกันให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น กลุ่มอดีตนิสิตอาสาสมัครกลุ่มนี้ได้ทดลองดำเนินการตามแนวคิดนี้เป็นแห่งแรก ที่โรงเรียนประชาเกษตรพัฒนา (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 5) ที่ตำบลโนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 โดยครั้งนั้น ดำเนินการหลักใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย
- จัดอบรมเด็กนักเรียนของโรงเรียนประชาเกษตรพัฒนา ตามโครงการ คนเก่ง คนดี ศรีสังคม โดยคุณวีรอร วัดขนาด สมาชิกกลุ่มอดีตนิสิตอาสาสมัครเป็นผู้ดำเนินการ
- จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้าง (fix it center) ทำการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหายให้แก่ชุมชน โดยนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เป็นผู้มาให้บริการ ตามการประสานงานของคุณจงรัก วณิชาชีวะ สมาชิกกลุ่มอดิตนิสิตอาสาสมัคร
- จัดบรรยายและสาธิตเรื่อง "ชีววิถีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้กับชุมชน โดยคุณศกุนตลา ณหนองคายและคณะจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ตามการประสานงานของคุณจงรัก วณิชาชีวะ สมาชิกกลุ่มอดิตนิสิตอาสาสมัคร
- มอบหนังสือ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์กีฬา และบริษัทดัชมิลล์ได้บริจาคเงินจำนวน 20,000.- บาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาให้กับโรงเรียนประชาเกษตรพัฒนา
โครงการนำร่องในครั้งนั้นประสพความสำเร็จอย่างดียิ่ง กลุ่มอดีตนิสิตอาสาสมัครกลุ่มนี้จึงมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรจะมีการรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นเพื่อสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมให้ต่อเนื่อง จึงมีการก่อตั้ง "ชมรมชาวค่ายอาสาพัฒนา" ขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 กำหนดเป้าหมายว่าจะกลับไปพัฒนาโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ ที่เคยสร้างไว้ในอดีตให้เจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งของชุมชนได้มากขึ้น กำหนดชื่อโครงการว่า "โครงการชาวค่ายคืนถิ่น" ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 4 ครั้ง ประกอบด้วย
- โครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงเรียนเกษตรประชาตาทวด (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 4) ตำบลรุง อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และโรงเรียนบ้านนาสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 10) ตำบลโซ่ง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
- โครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่โรงเรียนบ้านแดง (บุญเสริมอุทิศ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 16) ตำบลคอนสาย อำเภอตระการพืชผล และโรงเรียนบ้านสารภี สาขาหนองผักแว่น (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 63) ตำบลสารภี อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
- โครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2559 ที่โรงเรียนบ้านหนองแต้พัฒนา (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 8) ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
- โครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงเรียนบ้านคับพวง (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 1) ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม , โรงเรียนบ้านวังโพธิ์ (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 2) ตำบลวังโพธิ์ อำเภอปลาปาก และโรงเรียนบ้านโคกกลาง (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 3) ตำบลโคกกลาง อำเภอปลาปาก ทั้ง 3 แห่งอยู่ในจังหวัดนครพนม
- โครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 5 คือในครั้งนี้เมื่อวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โรงเรียนบ้านน้ำคิว (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 6) ตำบลเสี้ยว อำเภอเมือง จังหวัดเลย และโรงเรียนเกษตรประชานาสมหวัง ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 7) ตำบลนาเหล่า อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู
วัตถุประสงค์ของโครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ คุณจงรัก วณิชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการค่ายบ้านน้ำคิวในอดีต และ พ.ต.อ.กฤติดม ยอดขันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการค่ายบ้านนาสมหวังในอดีต ต้องการรวบรวมสมาชิกชาวค่ายที่เคยไปออกค่ายทั้ง 2 แห่งนี้และชาวค่ายอื่นๆ ให้ร่วมกันพัฒนาต่อยอดให้กับโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ที่อยู่ในจังหวัดเลย อันได้แก่โรงเรียนบ้านน้ำคิว(เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 6) และโรงเรียนบ้านหนองเขียด (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 12) กับโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ที่อยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู คือโรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 7) โดยมุ่งเน้นเป็น 3 ด้านหลักประกอบด้วย
- พัฒนาบุคคลากร
- พัฒนาการศึกษา
- พัฒนาคุณภาพชีวิต
และได้วางแผนดำเนินการและกรอบเวลาในการปฎิบัติงานไว้โดยสังเขป
เมื่อกำหนดแผนและกรอบเวลาแล้ว ก็ได้เริ่มออกสำรวจ.............................
ในการสำรวจ:::คุณจงรัก วณิชาชีวะ และ พ.ต.อ.กฤติดม ยอดขันธ์ ได้วางแผนเข้าไปสำรวจโรงเรียนทั้ง 3 แห่งโดยนัดหมายกับผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่งไว้ล่วงหน้า จึงทำให้ได้ทราบว่า โรงเรียนบ้านหนองเขียดจะต้องถูกยุบไปตามนโยบายรัฐบาลเพราะมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ จึงตัดสินใจยกเลิกการไปคืนถิ่นโรงเรียนนี้ และเดินทางไปสำรวจอีก 2 โรงเรียนที่เหลือเมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2559 โดยเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มที่ชมรมชาวค่ายอาสาพัฒนากำหนดให้ใช้เป็นบรรทัดฐาน ผลการสำรวจปรากฏว่า.-
- ที่โรงเรียนบ้านน้ำคิว สภาพโรงเรียนหลังเดิมที่ชาวค่ายเกษตรไปสร้างไว้เมื่อปี 2513 ไม่เหลืออยู่แล้ว เพราะถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เผาจนหมดสิ้นหลังจากที่ชาวค่ายไปร่วมกันสร้างได้ 3 ปี รัฐบาลให้งบประมาณมาสร้างโรงเรียนหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2523 คณะครูที่โรงเรียนนี้มีแต่ผู้ที่มาอยู่ใหม่ ไม่มีใครเคยรู้อดีตเลยสักคนเดียว มีแต่ประวัติของโรงเรียนที่บันทึกไว้ว่า โรงเรียนนี้เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาล ตำบลเสี้ยว เปิดทำการสอนครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 โดยนายขุนใจ สรสิทธิ์ นายอำเภอเมืองเลย และนายดวงจันทร์ ศรีทัดจันทา สารวัตรศึกษา มาทำพิธีเปิดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2482 มีนักเรียนเพียง 40 คน นายมานพ สิงห์มณีเป็นครูใหญ่คนแรกเพียงเท่านั้น ไม่พบประวัติเกี่ยวกับที่ชาวค่ายไปก่อสร้างแต่อย่างใด ปัจจุบันนายมานพ น้อยบัวทองเป็นผู้อำนวยการ มีนักเรียนทั้งสิ้น 108 คน ณ.วันสำรวจ โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมต้น มีครูสอน 15 คน จากการสำรวจความต้องการของโรงเรียนนี้ ต้องการให้เข้าไปช่วยในเรื่องการซ่อมแซมแก้ไขคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาบ่อยเพราะกระแสไฟฟ้าเดินไม่สม่ำเสมอ ทำให้ข้อมูลสูญหาย และต้องการให้เข้าไปช่วยปรับปรุงห้องสมุด สนามเด็กเล่น จัดทำศาลากิจกรรมต่างๆและที่สำคัญอยากให้ช่วยเสริมความรู้ด้านการเกษตร พัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพเกษตรเนื่องจากโรงเรียนอยู่ในชุมชนเกษตรที่ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา
- ที่โรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี ...สภาพอาคารหลังเดิมที่ชาวค่ายไปสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2513 ไม่เหลืออยู่แล้วเช่นกัน แต่เป็นเพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนไม่อยู๋ในสภาพที่จะใช้การได้ต่อไป จึงต้องรื้อและสร้างใหม่ โรงเรียนแห่งนี้มีประวัติบันทึกไว้ว่า ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 บนที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ เป็นสาขาของโรงเรียนโคกนาเหล่า มีนายโสภณ ตณะสอน รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ จนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2510 ได้ยกฐานะเป็นเอกเทศถาวร ทางราชการได้แต่งตั้งครูคำไพร รัตนมาลี ซึ่งขณะนั้นเป็นครูโรงเรียนบ้านโคกนาเหล่า มารักษาการแทนนายโสภณ ตณะสอนซึ่งถึงแก่กรรม มีครูเพียงคนเดียว นักเรียน 91 คน จนกระทั่งปี พ.ศ.2513 คณะนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 4 ห้องเรียน 1 หลัง ได้รับความร่วมมือจากชาวนาสมหวังเป็นอย่างดี สิ้นงบประมาณรวม 80,000.-บาท และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากบ้านนาสมหวัง เป็นโรงเรียนเกษตรประชานาสมหวัง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนได้ใช้อาคารเรียนนี้เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 อาคารเรียนก็เริ่มเสื่อมสภาพและทรุดลง ได้รับงบประมาณจากภาครัฐมาสร้างอาคารหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2551 ทับบนที่ตั้งเดิมและใช้ประโยชน์เรื่อยมา ปัจจุบันมีนายธีรพงศ์ สอนสาระเป็นผู้อำนวยการ มีนักเรียนทั้งสิ้น 120 คน สอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงประถมปลาย ในโรงเรียนมีการทำโครงการชีววิถีไว้หลายอย่าง ตั้งแต่การปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด และเพาะเห็ด จากการสำรวจความต้องการของโรงเรียนนี้ ต้องการความช่วยเหลือในการซ่อมแซมห้องสมุดซึ่งปัจจุบันเล็กและแคบ ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และต้องการให้ซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ที่ชำรุดเสียหายหลายเครื่อง รวมทั้งต้องการเรื่องพัฒนาเพิ่มพูนความรู้แก่บุคคลากร
เมื่อสำรวจเสร็จก็ถึงขั้นเตรียมงาน ทีมงานเบื้องต้นมีอยู่เพียง 4 คนคือคุณจงรัก วณิชาชีวะ พ.ต.อ.กฤติดม ยอดขันธ์ คุณภคอร วีระอมรกุลและข้าพเจ้า ได้ร่วมวางแผนโครงการในภาพรวม โดยยึดเอาความต้องการของโรงเรียน ความเหมาะสมในการช่วยเหลือ และความสามารถในการหาทุนดำเนินงาน มาพิจารณาประกอบกัน โดยสามารถกำหนดกรอบโครงการได้ ดังนี้
- ในด้านทุนดำเนินงาน คาดการณ์ว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 600,000.-บาท จากการสนับสนุนของชาวเกษตรรุ่นต่างๆ
- ในด้านกิจกรรม จะยึดหลักดำเนินการทั้ง 3 ด้าน คือพัฒนาบุคคลากร พัฒนาการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปพร้อมกัน โดย
2.1 การพัฒนาบุคคลากร จะจัดเป็นการอบรมเชิงวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับคณะครู โดย
เน้นแนวคิดให้สอดคล้องกับนโยบาย thailand 4.0 ของรัฐบาล ใช้บุคคลากรชาวค่ายที่มี
ความสามารถโดดเด่น เช่น รศ.ดร. จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส รศ.ดร.ชัชรี นฤทุม ศ.ดร.อร
อนงค์ นัยวิกุล รศ.ดร.ขจีจรัส ภิรมย์ธรรมศิริ ฯลฯ
2.2 การพัฒนาการศึกษา จะสนับสนุนการขยายห้องสมุดของโรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี
และกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนด้านการศึกษา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด รวม
ทั้งการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงสนามเด็กเล่น ฯลฯ
ทั้งการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงสนามเด็กเล่น ฯลฯ
2.3 การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสนับสนุนแนวทางที่จะนำไปสู่ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรของ
โรงเรียนบ้านน้ำคิว ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ปลูกยางพารา และใช้ปุ๋ยเคมี จะสนับสนุนให้มีเครื่อง
จักร์ผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ และอบรมให้ความรู้ทางการเกษตรแก่ครู นักเรียน และชาวบ้านที่
สนใจ เพื่อโน้มน้าวให้ชุมชนบ้านน้ำคิวผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ใช้เองแทนการซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้
การปฏิบัติงาน :::
การปฏิบัติงาน :::
- เขียนแผนโครงการตามกรอบที่กำหนดข้างต้น เพื่อนำเสนอต่อกรรมการชมรมฯ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ซึ่งที่ประชุมชมรม ฯ ได้ให้ความเห็นชอบตามเสนอทุกประการ
- ประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่ นิสิตเก่า KU 27 KU29 และสมาชิกที่เคยไปออกค่ายบ้านนาสมหวังและบ้านน้ำคิว ตามลำดับ รวมทั้งชาวเกษตรรุ่นต่างๆ ทั้งที่เป็นชาวค่ายและไม่ได้เป็นชาวค่ายเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน
- เปิดบัญชีเฉพาะเพื่อใช้ในกิจกรรมของโครงการชาวค่ายคืนถิ่น 5 เพื่อรองรับการสนับสนุน
- กำหนดวันอบรม ติดต่อวิทยากร ประสานงานกับ สพฐ. เพื่อขออนุญาติให้คณะครูเข้ารับการอบรม ติดต่อสถานที่ ติดต่อเรื่องอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการอบรม ติดต่อเรื่องอาหารบริการผู้เข้ารับการอบรม ติดต่อเรื่องที่พักของผู้เข้ารับการอบรม ฯลฯ โดยกำหนดจัดอบรมเป็น 2 ครั้ง มีคณะครูจาก 4 โรงเรียนเข้ารับการอบรม
4.1 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 24-25 ธันวาคม 2559 เรื่องการจัดทำวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และแผน
ตามนโยบาย thailand 4.0 โดย รศ.ดร. จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส รศ.ดร.ชัชรี นฤทุม รศ.ดร.ขจีจรัส ภิรมย์ธรรมศิริ
4.2 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 21-22 มกราคม 2560 เรื่องการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตาม
แนวทางสะเต็มศึกษา และการใช้สื่อและแอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนการสอนโดยคณะ
วิทยากรจากสถาบันราชภัฎเลย
5.ประสานงานกับโรงเรียนทั้ง 2 แห่งในเรื่องแบบแปลนการขยายห้องสมุด เตรียมการจัดซื้อจัดหา
เครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ย เครื่องสำรองไฟ (UPS) เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเด็ก
หนังสือที่มีคุณค่า อุปกรณ์กีฬา ของบริจาคต่างๆ เช่นผ้าใบรองพื้นบ่อปลา จักรเย็บผ้า หน่อกล้วย เมล็ดพันธ์ผัก ก้อนเห็ด ผ้าห่ม ตลอดจนประสานงานกับวิทยาลัยเทคนิคเลยและวิทยาลัยเทคนิค
หนองบัวลำภูเพื่อมาตั้งศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆให้กับชุมชนทั้ง 2 แห่ง ฯลฯ
หนองบัวลำภูเพื่อมาตั้งศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆให้กับชุมชนทั้ง 2 แห่ง ฯลฯ
6.จัดสันทนาการ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันเพื่อสานสามัคคีกับผู้ปกครอง นักเรียน และชาว
บ้านทั้ง 2 แห่ง
จากแผนดำเนินการทั้งหมดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยกันดำเนินการในแต่ละด้านไป ดังนี้.-
โดยกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในกิจกรรมตลอดโครงการ ดังนี้.-
ผลการระดมทุน ตั้งแต่ กันยายน 2559 - กุมภาพันธ์ 2560 ปรากฏผลว่าสามารถระดมทุนได้ถึง 0.7 ลบ.
กิจกรรมทั้งหมดของโครงการค่ายคืนถิ่น 5 ได้กำหนดงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 580,000.- บาท ระดมทุนได้ทั้งสิ้น 707,928.17 ใช้เงินทำกิจกรรมไปทั้งสิ้น 696,199.60 เกินไป 20% จากแผนที่กำหนดไว้ และคิดเป็น 98% ของเงินที่ได้รับการสนับสนุน
มีผู้สมัครใจร่วมเดินทางไปคืนถิ่น ทั้งสิ้น 81 คน
สรุปภาพรวมของโครงการ::: ทุกกิจกรรมสามารถเดินหน้าไปได้ตามแผนที่กำหนด ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวเกษตรจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวค่ายและมิใช่ชาวค่าย ทำให้การระดมเงินช่วยเหลือได้จำนวนสูงเกินความคาดหมาย ผลจากการช่วยเหลือของชาวเกษตรในกิจกรรมต่างๆครั้งนี้เป็นที่ประทับใจของโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง
อุปสรรคจากการดำเนินงาน :: แทบจะไม่พบว่ามีอุปสรรคใดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการ จะมีบ้างก็เพียงปัญหาเล็กๆน้อยๆ ในเรื่องช่วงเวลาเตรียมงานของโครงการไปตรงกับช่วงเตรียมสอบบ้าง ตรงกับ ช่วงการแข่งขันกีฬาโรงเรียนบ้าง ทำให้คณะครูต้องมีภาระงานหลายด้านพร้อมๆกัน
อุปสรรคจากการดำเนินงาน :: แทบจะไม่พบว่ามีอุปสรรคใดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการ จะมีบ้างก็เพียงปัญหาเล็กๆน้อยๆ ในเรื่องช่วงเวลาเตรียมงานของโครงการไปตรงกับช่วงเตรียมสอบบ้าง ตรงกับ ช่วงการแข่งขันกีฬาโรงเรียนบ้าง ทำให้คณะครูต้องมีภาระงานหลายด้านพร้อมๆกัน
การประเมินผล::
- ในด้านการพัฒนาบุคคลากร โดยใช้การอบรมเชิงวิชาการเป็นตัวนำ ได้รับความพึงพอใจจากคณะครูผู้เข้ารับการอบรมอย่างชัดเจน โดยมีตัววัดจากการตอบรับที่จะให้มีการต่อยอดความรู้ที่ได้รับการอบรมมาใช้ในเชิงปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
- ในด้านการพัฒนาการศึกษา โดยให้ขยายห้องสมุดและจัดหาหนังสือดีมีประโยชน์ให้เด็กนักเรียนได้อ่านเสริมความรู้และทักษะ ได้รับความพึงพอใจจากคณะครูและนักเรียนอย่างมาก โดยมีตัววัดจากการรายงานของคณะครูที่ให้เด็กเข้าไปใช้ห้องสมุดอย่างจริงจัง และเตรียมการจัดประกวดยอดนักอ่าน ยอดนักเล่า รวมถึงบทเรียงความของนักเรียน ตลอดจนการเตรียมเด็กให้อ่านสารานุกรมเพื่อเข้าประกวดความรู้
- ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการใช้โครงการชีววิถีเป็นตัวนำร่อง ได้รับประโยชน์สูงสุดโดยมีตัวชีวัดจากการที่โรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคีสามารถนำเห็ด และผักมาทำเป็นอาหารกลางวันเด็กและขายได้อีกบางส่วน รวมถึงการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ของโรงเรียนบ้่านน้ำคิวสามารถจำหน่ายผลผลิตได้จำนวนหนึ่ง และสามารถขยายผลความรู้ไปถึงผู้ปกครองเด็กและชาวบ้านในชุมชน มีแนวโน้มที่โรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนในอนาคต
ความมุ่งหวังต่อไป::: สร้างโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนในลักษณะพี่เลี้ยงต่อไป เพื่อให้โรงเรียนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และเป็นที่พึ่งชุมชน ติดตามความคืบหน้าในการเจริญเติบโตของโรงเรียนและให้การช่วยเหลือตามกำลังความสามารถอย่างต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งหลังจากการคืนถิ่นได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ดังนี้.-
- คุณจงรัก วณิชาชีวะ ได้มอบหมายให้ทีมวิชาการ นำโดย รศ.ดร.ชัชรี นฤทุม จัดโครงการประกวดผลงานจากสะเต็มศึกษา ภายใต้ทุนดำเนินการ 15,000.- บาท โดยมีโรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคีเสนอเข้าร่วมโครงการเป็นแห่งแรก
- รศ.ดร.จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส ได้รวบรวมเงินจากชาวค่ายผู้มีจิตศรัทธาได้จำนวน 47,000.- มอบให้โรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคีไปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อสร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปบริเวณหน้าโรงเรียน ใช้เป็นกลไกในการเสริมสร้างทัศนคติเด็กตามแนววิถีพุทธ
- พ.ต.อ.กฤติดม ยอดขันธ์ ได้นำทีมนักวิชาการ KU27 ไปอบรมให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยจุลินทรีย์แก่คณะครู นักเรียน และชาวบ้าน ที่โรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560
- คุณภคอร วีระอมรกุล ได้จัดซื้อหนังสือสารานุกรมเล่มที่ 40 ส่งให้โรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคีเมื่อ 17 มีนาคม 2560 เพื่อให้เด็กใช้ประกอบการเตรียมตัวเข้าแข่งขันการประกวดความรู้จากสารานุกรม ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560
- ข้าพเจ้าเองตกลงรับที่จะสนับสนุนรางวัลให้เด็กสำหรับการประกวดแข่งขันภายใน ช่วงต้นปีการศึกษาประมาณเดือนพฤษภาคม 2560 เพื่อสนับสนุนให้เด็กใช้ห้องสมุดอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
ความสำเร็จของโครงการชาวค่ายคืนถิ่นครั้งนี้ มิเพียงสร้างความสุขทางใจแก่ชาวเกษตร ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการน้อมนำศาสตร์ของพระราชาที่สอนให้ใช้ความพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตถ่ายทอดให้โรงเรียนทั้ง 2 แห่งอีกด้วย จึงเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนได้ของลูกนนทรีคนหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังจากแม่นนทรี ตามคำกลอนที่พี่ศิวัช(สุจินต์) ชววิสุทธิกุล ได้ประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2516
แม่นนทรีเคย อาทร สอนไว้ว่า
ทุกเวลา ลูกไป ไกลจากนี่
หากลูกมี เลือดข้น เลือดนนทรี
จงทำแต่ ความดี ทั้งชีวิต
ปริญญาค่ามาก จากพระหัตถ์
คือธวัช แห่งขวัญ อันศักดิ์สิทธิ์
จงเป็นคน สมปริญญา ค่าความคิด
และจงเป็น บัณฑิต ด้วยจิตใจ....................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น