บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ท่องไปในอ่างทอง




อ่างทองเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่น่าสนใจ  แต่ในข้อเท็จจริง อ่างทองเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่เมืองหนึ่งที่น่าศึกษามากทีเดียว และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็สามารถเที่ยวชมแหล่งประวัติศาสตร์ได้หลายแห่ง  อ่างทองเป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่ติดกับจังหวัดอยุธยา ประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่องราวจึงมาอยู่ที่อ่างทอง  หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.อ่างทอง เขียนไว้ว่า ในครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช  พระองค์ได้เสด็จมาชุมนุมพลที่ป่าโมก  จ.อ่างทอง และถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมก  รวมทั้งทำพิธีตัดไม้ข่มนาม เอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกรบ ในครั้งนั้นประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขณะที่ประทับแรมที่นี่พระองค์ทรงสุบินนิมิตว่าได้ทรงต่อสู้กับจระเข้และทรงฆ่าจระเข้ตาย ครั้นเมื่อกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทรงมีชัยฆ่าพระมหาอุปราชาจนทิวงคต


วัดป่าโมก

วัดป่าโมกวรวิหารแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่ง  ที่มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท  22 เมตรเศษ  สันนิษฐานว่า สร้างมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยโดยเล่าขานกันว่า องค์พระได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด  ราษฎรจึงบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดเดิม  ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2269  น้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้กัดเซาะตลิ่งหน้าวัดป่าโมก เข้ามาจนใกล้พระวิหาร  เจ้าอธิการวัดจึงนำความเข้าหารือกับเจ้าพระยาราชสงคราม จนความทราบไปถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำแล้วนำมาประดิษฐาน ณ.วัดใต้ คือวัดป่าโมกปัจจุบัน ซึ่งห่างจากวัดเดิม 10 เส้น ในครั้งนั้นพระองค์เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังด้วยพระองค์เอง  ทั้งยังทรงโปรด ฯ  ให้สร้างวิหาร  การเปรียญ  โรงอุโบสถ  พระเจดีย์ กุฏิ ศาลา ฯลฯ   ใช้เวลาถึง 5 ปี จึงแล้วเสร็จแต่ยังมิทันได้ฉลอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เสด็จประชวร และสวรรคตไปเสียก่อน  ปัจจุบันวัดนี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนอยู่ในสภาพดี


พระนอนวัดป่าโมก

วิธีการชะลอลากพระ


ผู้ที่เป็นแม่กองงานในครั้งนั้นคือพระยาราชสงคราม ท่านมีนามเดิมว่า ปาน เป็นผู้ขันอาสาชะลอพระพุทธไสยาสน์มาสถิต ณ.วัดป่าโมกปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2270-2271 เพื่อให้พ้นจากอุทกอันตราย ใช้เวลาดำเนินการถึง 5 เดือนโดยตั้งมั่นว่าหากพระพุทธไสยาสน์เกิดความเสียหายจะยอมถวายชีวิตและท่านก็สามารถทำได้สำเร็จ วัดป่าโมกจึงสร้างรูปหล่อของท่าน และพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ไว้เป็นที่ระลึก ประดิษฐานอยู่ที่หน้าวิหารแห่งนี้


พระยาราชสงคราม

พระเจ้าท้ายสระ


เหนืออำเภอเมืองขึ้นไปจะเป็นอำเภอไชโยซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์อยู่ ชื่อของอำเภอไชโยนี้สันนิษฐานว่าอาจตั้งขึ้นในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้กรีฑาทัพ ณ.จุดนี้ขึ้นไปรบชนะทัพพระเจ้าเชียงใหม่ราวปี พ.ศ. 2128 จึงเรียกขานหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านไชโยเรื่อยมา  วัดสำคัญที่นี่คือ วัดไชโยวรวิหาร วัดนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่มาช้านาน ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาธวัดระฆังโฆษิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง  ใช้เวลาในการสร้างถึง 2 ครั้ง ๆ แรกสร้างเสร็จไม่นาน ก็หักพังทลายลงมา ครั้งที่ 2 จึงสร้างใหม่ให้ขนาดเล็กลงกว่าเดิม  รวมเวลาในการสร้างเกือบ 3 ปี จึงแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ถวายเป็นวัดหลวง รับพระราชทานนามว่า วัดเกษไชโย   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ใน พ.ศ. 2430  แรงสั่นสะเทือนในขณะบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำให้พระพุทธรูปพังทลายลงมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระขึ้นใหม่ ใช้เวลานานถึง 8 ปีจึงแล้วเสร็จ  และพระราชทานนามว่า พระมหาพุทธพิมพ์


พระมหาพุทธพิมพ์

พระมหาพุทธพิมพ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีขนาดสูงใหญ่สง่างามมาก  พระพักต์ของท่านสงบเยือกเย็น  ก่อให้เกิดความสงบในจิตใจของผู้ที่มีโอกาสเข้ามาเคารพสักการะ  ภายในวิหาร มีภาพถ่ายและรูปปั้นของหลวงปู่โต ประดิษฐานให้ประชาชนได้เคารพสักการะ










การที่หลวงปู่โตได้มาสร้างพระที่วัดไชโย บางตำราเล่าว่า  เพื่อเป็นที่ระลึกให้มารดาซึ่งเคยมาพำนักอยู่ถิ่นนี้ในอดีต  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านชีวประวัติของหลวงปู่โต จากหนังสือที่ได้รับแจกมา ในงานเผาศพ ของ ดร.มนตรี รัศมี  เพื่อนร่วมรุ่น ทราบว่าหลวงปู่โตท่านถือกำเนิดในรัชกาลของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 หลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี  ณ.บ้านไก่จัน ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331  เวลาใกล้รุ่งตอนพระออกบิณฑบาต  โยมมารดาของท่านชื่อนางงุด โยมตาชื่อนายผล โยมยายชื่อนางลา  ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏนาม ทราบแต่ว่าเป็นชาวเมืองอื่น  ชีวิตในเยาว์วัยของหลวงปู่โตนั้น  เมื่อโยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านของโยมยายที่อำเภอไชโย จ.อ่างทอง มาอยู่ที่ ต.บางขุนพรหม  ได้มอบท่านให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพ ฯ  เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัย  จนเมื่ออายุได้ 12 ปีบริบูรณ์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ.วัดอินทรวิหาร โดยพระบวรวิริยเถระ เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์  ครั้นอายุครบบวช 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2351  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดเกล้า ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ.พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  โดยมีสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) วัดมหาธาตุ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  ให้ฉายาว่า "พรหมรังสี"
 
 

ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูงที่สุดเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  ท่านมรณภาพ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5  เมื่อวันเสาว์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ 2415 เวลาประมาณ 24.00 น.เศษ บนศาลาใหญ่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม สิริมายุได้ 84 ปี พรรษาที่ 64 
 
 

อภินิหารของท่าน เป็นที่ปรากฏในหลาย ๆ เรื่อง และหลาย ๆ สถานที่  ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี  เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 4 ไปสร้างพระราชวังที่ประทับบนยอดเขามไหสวรรย์  หรือที่เรียกกันว่า พระนครคีรี ครั้งนั้นเมื่อสร้างเสร็จก็มีการฉลองติดต่อกันหลายวัน และได้อาราธนาหลวงปู่โตไปในงานพระราชพิธีทางศาสนาด้วย  หลวงปู่ท่านเดินทางโดยทางเรือ ไปออกทะเลเข้าสู่อ่าวบ้านแหลม มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี  ในขณะที่อยู่กลางทะเลนั้น บังเกิดพายุกระหน่ำหนัก  เพราะเป็นระยะหน้ามรสุม พายุโหมรุนแรงอย่างยิ่ง จนเรือโคลงเคลงจะล่มแหล่มิล่มแหล่  คนแจวเรือทั้ง 4 คน พยายามหันเรือสู้คลื่นลมที่พัดอู้ ๆ มามืดฟ้ามัวฝนอย่างหนัก  แต่ว่าไม่สามารถประคองเรือให้ตั้งตรงอยู่ได้ จนกระทั่งหมดปัญญาต้องนั่งลงจับเจ่ากอดเสาเรือไว้แน่น ปล่อยให้คลื่นลมพาเรือไปตามยถากรรม  หลวงปู่เห็นเช่นนั้น ท่านก็ออกมาที่หัวเรือ ยืนนิ่งบริกรรมคาถาอยู่พักหนึ่ง ทั้งๆที่พายุรุนแรงและเรือโคลงอย่างนั้นท่านก็ยืนได้อย่างแปลกประหลาด เมื่อบริกรรมคาถาเสร็จเพียงชั่วครู่เดียว พายุฝนที่คะนองหนักก็สงบนิ่งจนเป็นปกติ หลวงปู่โตจึงสามารถไปร่วมพิธีที่พระราชวังเมืองเพชรได้ตามหมายกำหนดการ
 


นั่นคือเรื่องราวส่วนหนึ่งของหลวงปู่โต ที่ทำให้มีผู้คนไปเคารพสักการะกันอย่างเนืองแน่นเสมอ ๆ ทั้งที่วัดระฆังโฆษิตาราม  วัดอินทรวิหาร  และวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง 
 
 

ติดกับอำเภอไชโย จะเป็นอำเภอโพธิ์ทอง  ซึ่งมีวัดที่น่าสนใจอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดขุนอินทประมูล  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวที่สุดและเก่าแก่มากองค์หนึ่ง ตามหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.อ่างทอง กล่าวว่า สมัยที่กรุงสุโขทัยยังไม่เสื่อมอำนาจ ในยุคพระยาเลอไท ซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้เป็นราชบิดา ครั้งนั้นพระยาเลอไท เสด็จพระราชดำเนินจาก กรุงสุโขทัยมานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ.เขาสมอคอนในเขตกรุงละโว้  การเสด็จครั้งนั้น มาทางลำน้ำยม เข้าสู่ลำน้ำปิง และ แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแยกเข้าแม่น้ำมหาสอน เข้ามาถึงเขาสมอคอน อันเป็นที่พำนักของพระฤาษีสุกกะทันตะ ผู้เป็นทั้งพระอาจารย์ของพระองค์เองกับพระอาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้เป็นราชบิดา เมื่อทรงนมัสการพระฤาษีแล้วก็ประทับแรม อยู่ ณ.เขาสมอคอน และโคกบ้านบางพลับ ขณะประทับแรม ณ.โคกบ้านบางพลับ เวลายามสามเกิดศุภนิมิตทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นมาเหนือยอดไม้แล้วหายไปในอากาศทางทิศตะวันออก พระองค์ทรงปิติโสมนัสและทรงพระราชดำริ สร้างพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 40 เมตร สูง 5 เมตรขึ้นเป็นพุทธบูชา ใช้เวลา 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ  เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงขนานนามว่า พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต และทรงมอบหมายให้นายบ้านเป็นผู้ดูแล  หลังจากนั้นปรากฏหลักฐานว่ามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ  ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีได้พบร่องรอยการขยายองค์พระให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและยาวถึง 50 เมตร


พระนอนอยู่ระหว่างการบูรณะ



พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จึงถือว่าเป็นองค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย  เดิมมีวิหารสร้างคลุมอยู่  แต่เกิดไฟไหม้เสียหาย แม้จะได้มีการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ก็ถูกไฟไหม้อีก  จนปัจจุบันมิได้มีการสร้างวิหารคลุมไว้แต่อย่างใด คงเหลือแต่คานกับเสาของวิหารเพียงบางส่วนเท่านั้น  และข้าง ๆ องค์พระนอน มีสถูปร้าง 1 องค์ อยู่ระหว่างการบูรณะเช่นกัน



สถานที่ประวัติศาสตร์ในเมืองอ่างทอง ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตไปด้วย   การเดินทางเพียงนิดเดียว ได้ทราบถึงอดีตมากมาย  นับว่าคุ้มค่าแก่การท่องเที่ยวจริง ๆ ...............

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น