บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เวียตนาม..งามระคนเศร้า




ฉันได้มีโอกาสได้ไปเวียตนามกลางเมื่อต้นเดือน พค.55 ที่ผ่านมา  การไปในครั้งนี้นับว่าโชคดีเป็นอย่างมากที่ได้ไกด์เวียตนามที่สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดเจนเนื่องจากเธอมาเรียนที่เมืองไทยจนจบปริญญาตรี แถมได้เกียรตินิยมอีกด้วย    จึงสามารถถ่ายทอดความรู้  และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเวียตนามได้อย่างลึกซึ้งและได้อารมณ์  อย่างน้อยก็ทำให้คนที่เคยเกลียดชังคนเวียตนาม  ได้เปลี่ยนความรู้สึกมาเป็นเห็นใจแทน

เวียตนามเป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นเดียวกับไทย  สภาพโดยรวมของเวียตนามเป็นที่ไร่นาเป็นส่วนใหญ่ มองไปทางไหนก็พบแต่ความเขียวขจี  มีเพียงบางแห่งเช่นเมืองดานัง ที่มีสภาพของเมืองอุตสาหกรรมปะปน และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว   แต่สิ่งที่น่าเห็นใจเวียตนามก็คืออดีตที่ขมขื่นจากวิบากกรรมของสงคราม  ที่สร้างความรวดร้าวให้กับคนเวียตนามอย่างฝังลึก  เด็ก ๆ ของเวียตนามทุกคนจึงถูกปลูกฝังให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติรักแผ่นดิน โรงเรียนในเวียตนามจะเข้าเรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้า  ก่อนเข้าเรียนจะมีการอบรมคุณธรรม 5 ข้อของลุงโฮ คือ 1. รักชาติ รักประชาชน 2. เรียนดี ประพฤติดี  3.สามัคคี มีวินัย  4.รักษาอนามัยดี  5.อ่อนน้อม ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ เด็กคนไหนปฏิบัติตามได้ ก็จะได้รางวัลเป็นผ้าพันคอสีแดง  เด็กที่มีผ้าพันคอแดง  ก็จะรู้สึกว่าตัวเองต้องทำความดีต่อๆไป  เป็นวิธีการที่ปลูกฝังเด็กที่ได้ผลดีมากทีเดียว

วิบากกรรมของเวียตนามเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคที่ฝรั่งเศสล่าอาณานิคมและยึดเอาเวียตนามเป็นเมืองขึ้น  ทำให้คนเวียตนามขาดอิสระในการดำรงชีวิต ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส  วัฒนธรรมแปลกๆ ในบางอย่าง จึงมีปรากฏให้เห็นจนปัจจุบัน เช่นการนอนกลางวัน  คนเวียตนามจะต้องนอนพักหลังอาหารกลางวันทุกวัน  ในเวลาเที่ยงหากไปบ้านใคร  เขาจะถือว่าเป็นการเสียมารยาท  เพราะเป็นเวลานอนของเขา  วัฒนธรรมนี้ดูเหมือนจะทำให้เวียตนามเหมือนคนขี้เกียจ  แต่แท้จริงเป็นเพราะเขาถูกฝรั่งเศสบังคับ เพื่อไม่ให้คนออกมาชุมนุมกัน จึงบังคับให้นอนกลางวัน ห้ามไปไหน นานๆไปจึงกลายเป็นความเคยชิน  คนเวียตนามทำงานกันวันละไม่กี่ชั่วโมง คนจึงมีรายได้น้อยมากเฉลี่ยประมาณ 3,000.-/เดือน เท่านั้น  แต่คนเวียตนามก็กินอยู่อย่างประหยัด ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่จะทำนาข้าว , ปลูกผัก กินเอง ส่วนประเภทเนื้อสัตว์แพงมาก มักไม่ค่อยได้ทานกัน ยึดหลักพอเพียงยิ่งกว่าคนไทยเสียอีก
 
จุดแรกแห่งการท่องเที่ยวในครั้งนี้คือถ้ำฟองญา ซึ่งตั้งอยู่เขตอุทยานแห่งชาติฟองญา ในเมืองกว๋างบินห์  ติดชายแดนลาว  ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นถ้ำที่ยาวที่สุดในเอเซียอาคเนย์  ยาวประมาณ 44 กม.  กินเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  800 ตาราง กม.ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก unesco  ให้เป็นมรดกโลกในปี 2003 (พศ.2546)



ปากถ้ำฟองญา
การเดินทางไปถ้ำแห่งนี้  เราไปลงเรือที่ท่าเรือในบริเวณอุทยาน  จะมีเรือหางยาวให้นักท่องเที่ยวเช่าเหมาลำ เรือลำหนึ่งนั่งได้ประมาณ 14-15 คน มีชูชีพพร้อมเพื่อความปลอดภัย




เรือจะล่องไปตามลำน้ำซอน (son river)  ซึ่งกว้างไม่มากนักในช่วงที่อยู่ในชุมชน และจะค่อย ๆ กว้างมากขี้น มากขึ้นจนมีลักษณะเหมือนทะเลสาบ  หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที  ก็ไปถึงปากถ้ำ  ระหว่างที่เรือวิ่ง เราจะเห็นแนวเขาสลับซับซ้อนตลอดสองฝั่งลำน้ำซอน มีหมู่บ้านชาวประมง สลับกับไร่ข้าวโพด เป็นระยะ ๆ  ตามแนวเชิงเขา และมีโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งอยู่กลางชุมชน นับเป็นธรรมชาติที่สวยงามมากแห่งหนึ่งที่เคยได้พบมา













เรือหางยาวล่องมาได้ถึงปากถ้ำ ก็ต้องดับเครื่องและต้องใช้การแจวแทนเพื่อเข้าไปในถ้ำ  ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำที่มีความสูงมากที่สุด  กว้างมากที่สุด  และ ยาวมากที่สุดในเวียตนาม  แต่เราสามารถเข้าไปได้เพียงช่วงต้น ๆ ของถ้ำประมาณ 1.5 กม.เท่านั้น  เพราะลึกไปกว่านั้นซึ่งจะแยกเป็นถ้ำเล็กถ้ำน้อย  ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ จึงยังไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และยังไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าชม   เรือแจวเข้าถ้ำไปประมาณ 1.5 กม. ก็จะพบหาดทรายในถ้ำ  พวกเราขึ้นหาดเพื่อชมความงามในถ้ำ  มีอยู่จุดหนึ่งมี่หินงอกและหินย้อยบรรจบกันจนเป็นเสา  สวยงามมาก  เชื่อว่าต้องใช้เวลาสะสมเป็นนับร้อยนับพันปีทีเดียว กว่าจะเป็นเช่นนี้ได้  เป็นความสวยงามตามธรรมชาติที่หาได้ยากมากจริง ๆ

















ได้เวลาพอสมควรก็ออกจากถ้ำเดินทางกลับ

จุดที่สองของการท่องเที่ยวในครั้งนี้คืออุโมงค์วินห์ม๊อค ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลวินห์ม๊อค เมืองกว๋างตรี ที่ตำบลวินห์ม๊อคแห่งนี้จะมีอุโมงค์ทั้งหมด 144 อุโมงค์  เรียกว่าเกือบทุกบ้านจะมีอุโมงค์ของตนเองในการหลบภัยสงคราม แต่อุโมงค์วินห์ม๊อคนี้จะเป็นแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุด  บรรจุคนภายในได้ถึง 66 ครอบครัว การเข้าชมอุโมงค์แห่งนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่และเห็นใจคนเวียตนามเป็นอย่างมาก ที่เกือบจะตลอดชีวิตของคนบางคน ต้องอยู่อย่างไม่มีความสุข ต้องคอยหลบระเบิด ต้องหนีตาย ต้องแย่งชิงเพื่อความอยู่รอด  ชีวิตของคนเวียตนามเหมือนคนถูกสาบ

สืบเนื่องมาจากอดีตในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศเวียตนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ชาวเวียตนามเองได้พยายามดิ้นรนเพื่อความเป็นเอกราชจากการปกครองของคนผิวขาวมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การดิ้นรนเพื่อความเป็นเอกราชก็ถูกยกระดับเป็นสงคราม โดยกองกำลังกู้ชาติของเวียตนามได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเมื่อปี 1946(พศ.2489)  ผลแห่งการสงครามในช่วงนั้น ปรากฏว่าฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำมาโดยตลอด  จนต้องพยายามหาทางเอาชนะกองกำลังกู้ชาติให้จงได้ในทุกวิถีทาง  โอกาสสุดท้ายของฝรั่งเศสอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ตะวันตกเฉียงเหนือของเวียตนาม ฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนจากอเมริกา  ได้เปิดฉากต่อสู้กับกองกำลังกู้ชาติเวียตนามโดยการสนับสนุนจากจีน เมื่อ มีค.1954 การรบเป็นไปอย่างดุเดือดด้วยอาวุธหนักใช้เวลาถึง 55 วัน ถึงเดือน พค.1954 เดียนเบียนฟูก็แตก ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามเดียนเบียนฟู ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอำนาจทางทหารในเวียตนามไปโดยสิ้นเชิง จนต้องเปิดการเจรจากันที่กรุงเจนีวาระหว่างประเทศคู่สงคราม  แต่ในการเจรจานั้นอเมริกาได้คัดค้านที่จะให้เวียตนามได้รับเอกราชอย่างเป็นหนึ่งเดียว  จึงเป็นที่มาของการแบ่งเวียตนามออกเป็นเหนือและใต้  โดยใช้เส้นขนานที่ 17 เป็นเส้นแบ่ง และมีเงื่อนไขว่า ภายใน 2 ปี จะให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อความเป็นหนึ่งของเวียตนาม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อตกลงที่ชัดเจน แต่เอกราชของเวียตนาม กว่าจะได้มาก็เต็มไปด้วยขวากหนาม อย่างน่าเห็นใจ เพราะอเมริกาซึ่งได้คัดค้านการรวมเวียตนาม ใช้กลยุทธที่จะให้คนเวียตนามเข่นฆ่ากันเอง  โดยให้การหนุนหลังโงดินเดียมห์ให้เป็นประธานาธิบดีของเวียตนามใต้  และกดดันให้กษัตริย์เบ๋าได๋ให้สละบัลลังค์ การปกครองในเวียตนามด้วยระบบกษัตริย์จึงสิ้นสุดลงนับแต่นั้น  และโงดินเดียมห์ก็ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาให้เร่งสร้างกองทัพและสะสมอาวุธอย่างเต็มกำลัง จนประชาชนเวียตนามใต้ไม่พอใจในการกระทำของโงดินเดียมห์  คนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้าน ก็ถูกสังหารอย่างไร้ความปราณี  คนที่เหลือจึงรวมตัวกันตั้งแนวร่วมปลดปล่อย เรียกตัวเองว่า"เวียตกง"เพื่อร่วมกันต่อสู้กับรัฐบาลโงดินเดียมห์ต่อต้านอำนาจรัฐ

ส่วนทางเวียตนามเหนือเองก็ประท้วงการกระทำของเวียตนามใต้ของโงดินเดียมห์เช่นกัน ทำให้อเมริกายิ่งเพิ่มอาวุธเพื่อให้มาเข่นฆ่า  เวียตนามเหนือจำเป็นต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากจีนและรัสเซีย และสงครามระหว่างเวียตนามเหนือและใต้ก็บังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 1960  สนามรบที่รุนแรงที่สุดของสงครามเวียตนาม จะอยู่ที่บริเวณเส้นขนานที่ 17 ซึ่งเป็นแนวตะเข็บชายแดนระหว่างเวียตนามเหนือและใต้ โดยเฉพาะเมืองกว๋างตรี และ กว๋างบินห์  จะถูกถล่มด้วยเครื่องบิน บี 52 อย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อกวาดล้างเวียตกงที่หลบหนีไปอาศัยอยู่ตามป่าเขาและถ้ำ  และอเมริกายังโปรยสารเคมีที่ชาวเวียตนามเรียกว่า"ฝนเหลือง"  เพื่อต้องการทำลายป่าให้โล่งเตียน


ระเบิดที่พบบริเวณใกล้ๆ อุโมงค์
ชาวเวียตนามถูกสังหารนับล้านคน  แต่ละบ้านต้องสร้างหลุมหลบภัยเอง  ในการสร้างหลุมหลบภัยเขาจะใช้ทั้งจอบเสียมและถ้วยชามแตกขุดทีละนิด ละนิด จนสามารถเป็นหลุมหลบภัยได้  เมื่ออเมริกาจับได้ ก็จะปิดทางเข้าออก ทำให้คนที่อยู่ในหลุมขาดใจตายไปก็เยอะ   จึงเกิดประสพการณ์แก่ชาวเวียตนามในการสร้างอุโมงค์ ต้องให้มีทางเข้าออกหลายทาง อุโมงค์วินห์ม๊อคถูกสร้างขึ้นด้วยประสพการณ์นั้น จึงมีทางเข้าออกถึง 9 ทาง  ทางเข้าจะเป็นทางแคบ ๆ  ประมาณ 50 ซม.เดินได้คนเดียว สูงประมาณ 160 ซม.  ผนัง 2 ด้านจะเป็นไม้ตอกไว้กันไม่ให้ดินไหลมากวางทางเดิน  บางช่วงก็เป็นอิฐ   สองข้างทางเป็นห้องสำหรับอยู่อาศัย เท่าที่ดูด้วยสายตาน่าจะกว้างประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร เรียกว่าขนาดพอนอนเท่านั้น ห้องหนึ่งจะอยู่กันประมาณ 3 - 4 คน  อุดอู้กันอยู่ในนั้นจนเด็กบางคนที่เกิดในอุโมงค์กลายเป็นเด็กพิการ












นอกเหนือจากห้องเล็กๆ แคบๆ  สำหรับหลบภัย  ในอุโมงค์วินห์ม๊อคซึ่งมีความลึกประมาณ 28 เมตร ถูกแบ่งเป็น 3 ชั้น มีทั้งคอกเลี้ยงสัตว์  ห้องสุขา  มีบ่อน้ำ ที่ซักล้าง ห้องเก็บสะสมอาวุธ  ห้องประชุม  และห้องพยาบาล  ทั้ง 66 ครอบครัว ที่หลบภัยในอุโมงค์จะต้องช่วยเหลือกัน มีเด็กที่เกิดในอุโมงค์ 17 คน  จะมีแม่เพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่ให้นมเด็กทุกคน เรียกกันว่าดื่มนมสามัคคี  เนื่องจากแม่ส่วนที่เหลือต้องไปช่วยสะสมอาวุธหรือทำงานอื่น  การขุดอุโมงค์จะกระทำในช่วงกลางวัน และนำดินไปทิ้งทะเลในช่วงกลางคืน เพื่อไม่ให้อเมริกาหาร่องรอยพบ 



เหนืออุโมงค์ จะเป็นป่าไผ่ เพื่ออำพรางการตรวจตราของอเมริกา ไม่ให้เห็นปากอุโมงค์ ทำให้คนเวียตนามทั้ง 66 ครอบครัวนี้ สามารถอยู่ในอุโมงค์ได้อย่างปลอดภัยนานถึง 6 ปี


ประตูทางเข้าออกที่ 9  เป็นเส้นทางที่สามารถออกสู่ทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นช่องทางหลบหนีหากถูกปิดจากช่องทางอื่น



คุณยายชาวเวียตนามคนนี้อายุไม่น่าจะต่ำกว่า 80 ปี  นั่งขายใบบัวบกตากแห้งอยู่บริเวณเหนืออุโมงค์วินห์ม๊อค  เชื่อว่าแกต้องผ่านชีวิตในช่วงสงครามมาแน่นอน และน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่เคยอาศัยหลบภัยในอุโมงค์แห่งนี้

เราออกจากอุโมงค์วินห์ม๊อคด้วยความหดหู่ใจ   และดีใจที่ตนเองเกิดมาเป็นคนไทย อยู่ใต้ร่มพระบารมีในหลวง ไม่ต้องมีชีวิตลำเค็ญเหมือนคนเวียตนาม  อยากให้พวกที่ชอบสร้างหมู่บ้านแบ่งสีลองมาอยู่ดูบ้าง  อาจจะเลิกแบ่งแยกและหันกลับมารักสามัคคีกันก็เป็นได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.komkid.com/   และไกด์ชาวเวียตนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น