บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความรู้จากการชมพระเมรุมาศ




นับตั้งแต่วันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ณ.พระเมรุ ท้องสนามหลวงเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555  หลังจากนั้นกรมศิลปากรก็ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงดงามของสถาปัตยกรรม และพระประวัติของเจ้าฟ้าเพชรรัตน ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปชมความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมดังกล่าว  ทำให้ได้ความรู้จากการเข้าชมมากมาย


เจ้าฟ้าเพชรรัตน
พระราชประวัติของเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ  ท่านเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียว ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  กับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 ณ.พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนัก ณ.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งอยู่ติดกับพระที่นั่งเทพสถานพิลาส  หลังจากที่ท่านประสูติได้เพียงวันเดียว ก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตในวันรุ่งขึ้น


รัชกาลที่ 6 และพระนางเจ้าสุวัทนา

กว่า 100 ปีที่ล่วงมาแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  บ้านเมืองสยามในยุคนั้นกำลังเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ความสงบสุขมั่นคงภายในราชอาณาจักรจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในพระราชหฤทัยของพระประมุขอยู่ตลอดเวลา  ทรงอาศัยพระราชอ้จฉริยภาพหลายประการที่เป็นพระคุณสมบัติประจำพระองค์ในการดำเนินพระบรมราโชบาย  ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การทหาร ด้านอักษรศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม  นำพาสยามประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมชาติอารยะ  ทรงเป็นจอมปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ กระทั่งในกาลต่อมาทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า"  อย่างไรก็ตามจวบจนปลายรัชสมัย  ยังคงมีพระปริวิตกประการหนึ่งนั่นคือยังไม่มีพระราชโอรสเป็นพระรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ เพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ตราบจน พศ.2467 เจ้าจอมสุวัทนา (นามเดิมว่าเครือแก้ว อภัยวงศ์)  พระสนมเอกได้ตั้งครรภ์ และเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะมีพระประสูติกาล  จึงทรงสถาปนาเจ้าจอมขึ้นเป็น "พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี" เพื่อผดุงพระอิสริยยศพระราชกุมารที่จะประสูตินั้นให้ทรงเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า" นับแต่แรกประสูติ  เพราะหากพระชนนีเป็นเจ้าจอมสามัญชน พระราชกุมารที่ประสูตินั้น จะทรงเป็นเพียง "พระองค์เจ้า"

ในเดือน ตุลาคม 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี  มีพระครรภ์แก่ใกล้ประสูติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งทรงพระโสมนัส  และโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา เสด็จไปประทับ ณ. พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง  เพื่อ "สมเด็จเจ้าฟ้า"  พระองค์แรกจะได้ประสูติในพระมหามณเฑียร ตามโบราณราชประเพณีอีกทั้งพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งอยู่ติดกัน  เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติกาลอย่างจดจ่อ

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น  เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรหนักอย่างกระทันหัน ด้วยโรคพระอันตะ (ลำไส้) มีพระอาการรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน อันเป็นวันฉัตรมงคล ในรัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา

เวลา 12.55 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468  พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก็มีพระประสูติกาล "เจ้าฟ้าหญิง" เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกและพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ 6  เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักมากแล้ว เมื่อทรงทราบพระประสูติกาลว่าเป็นเจ้าฟ้าหญิงมิใช่เจ้าฟ้าชายที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะให้เป็นพระรัชทายาทสืบสนองพระองค์  ก็มีพระราชกระแสเบา ๆ ว่า "ก็ดีเหมือนกัน"

วันรุ่งขึ้นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์น้อย ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 1 วัน มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถซึ่งทรงพระประชวรหนักบนพระแท่นไม่สามารถมีพระราชดำรัสใดๆได้เสียแล้ว คงได้แต่ทอดพระเนตรและสัมผัสพระราชธิดาเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ในคืนนั้นเองพระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อพ้นเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ได้ราว1ชั่วโมง




พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสนองพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7  เป็นผู้พระราชทานพระนามว่า " สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี" ซึ่งมีความหมายว่า"ลูกสาวของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นดั่งดวงแก้ว ถึงพร้อมด้วยพระกำเนิดเป็นศรีอันงามพร้อม" สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน ทรงพระเจริญขึ้นใต้พระบารมีในรัชกาลที่ 7 กับทั้งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยได้ทรงพระอักษร ณ.โรงเรียนราชินี  และทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ณ.พระตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา




เมื่อเดือน มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดีบดินทร   เสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกคำนำหน้าพระนามพระขนิษฐภคินี (ลูกผู้น้อง) ว่า " สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ"  ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  ผู้เป็นพระเชษฐภคินี (ลูกผู้พี่)  ไว้ดังเดิม เนื่องจากภคินี แปลความได้ว่าน้องหญิงหรือพี่หญิงดุจเดียวกัน

เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาและรักษาพระอนามัย ณ.ประเทศอังกฤษ ที่นั่นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอและพระชนนี ประทับ ณ.ตำหนักแฟร์ฮิลล์  เมืองแคมเบอร์เลย์  ทรงวางพระองค์อย่างประหยัดและเรียบง่าย จนกระทั่งต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทรงประสพกับความลำบากอย่างยิ่ง ต้องทรงรับปันส่วนอาหารเช่นพลเมืองอังกฤษทั่วไป ต้องทรงอพยพลี้ภัยไปประทับ ณ.แคว้นเวลล์  ต้องทรงทำงานบ้านเองอย่างสามัญชน  จนเมื่อสงครามยุติ ทรงย้ายไปประทับ ณ.ตำหนักในเมืองไบรตัน  จนกระทั่งพระอนามัยดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศไทยเป็นปกติ  กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว  จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อมพระชนนีเป็นการถาวรเมื่อ พศ.2502 ทรงซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 38  และโปรดให้สร้างวังเป็นที่ประทับแทนสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา ซึ่งทรงขายแก่รัฐบาลไปในช่วงภาวะสงคราม  พระราชทานนามวังแห่งใหม่นี้ว่า "วังรื่นฤดี" และเป็นจุดเริ่มต้นของการทรงงานเพื่อประชาชนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์






ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประชวรด้วยพระโรคหลอดเลือดในสมอง และทรงพระชรา  ครั้นวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2554 ได้เสด็จไปประทับรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับและสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น. ของวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554 รวมพระชนมายุ 85 พรรษา







พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชพระประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ.พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง  และให้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ.พระเมรุ ท้องสนามหลวง ในวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 อีกทั้งมีการจัดงานภาคประชาชน พิธีถวายดอกไม้จันทร์ตามซุ้มรอบมณฑลพระราชพิธี ตลอดจนตามเขต และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ถวายพระเกียรติยศเต็มที่ตามที่ทรงดำรงอยู่ทุกประการ


คนไทยมีคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เปรียบเสมือนสมมติเทพ  เมื่อเสด็จพระราชสมภพถือว่าเป็นเทพอวตาร เมื่อถึงวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ คือการเสด็จกลับสู่เทวพิภพ เรียกว่าสวรรคตคือกลับสู่สรวงสวรรค์ และตามโบราณราชประเพณีจะมีการจัดพระราชทานถวายพระเพลิงพระศพสืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนปัจจุบัน  ประชาชนทั่วประเทศจึงร่วมกันส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ....สู่สวรรคาลัย...........



+++ขอขอบคุณข้อมูลจากคณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น