ในความทรงจำข้าพเจ้า ดอยอ่างขางคือสถานีวิจัยที่อยู่ไกลมาก กันดารมาก และอันตรายมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าขึ้นไปอ่างขางครั้งแรกเมื่อปี 2519 สภาพพื้นที่ในขณะนั้นมีแต่แปลงไม้ผล ซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ก็มีความงามตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการปรุงแต่ง ดอยอ่างขางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร สมัยนั้นการขึ้นลงลำบากมากสุด ๆ เพราะยังไม่มีถนนหนทาง การสัญจรใช้การเดินเท้าลัดเลาะตามไหล่เขาเพียงอย่างเดียว เส้นทางการเดินป่าขณะนั้นมีอยู่ 2 เส้นทางด้วยกัน เส้นทางแรก จะเริ่มจากบ้านแม่เพอะ ผ่านม่อนโจะโละ ผ่านบ้านขอบด้ง ผ่านกิ่วลม และเข้าสู่สถานีอ่างขาง ส่วนอีกเส้นหนึ่ง จะเริ่มจากบ้านม่วงชุม ผ่านบ้านนอแล ผ่านกิ่วลม และเข้าสู่สถานีอ่างขาง เส้นทางหลังนี้ดูจะเดินยากหน่อยเพราะสูงชันมาก ชาวเขาเองก็ไม่ค่อยใช้กัน แต่ไม่ว่าเส้นทางไหนก็สาหัสทั้งสิ้น การขึ้นลงจึงไม่อาจทำได้ตามใจชอบ เพราะขึ้นลงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นวัน ทั้งยังมีความเสี่ยงภัยระหว่างการเดินทาง อาหารการกินจึงต้องอาศัยการส่งเสบียงทางอากาศ ซึ่งจะมีเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนแวะมาส่งเสบียงให้เดือนละครั้ง
ในการเดินทางขึ้นดอยอ่างขางครั้งแรกของข้าพเจ้า นับว่าโชคดีมากเพราะตรงกับช่วงเวลาที่มีการส่งเสบียงขึ้นดอย จึงได้ขออาศัยนั่งเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนที่ขึ้นไปส่งเสบียง ดู ดู เหมือนกับโก้ แต่เปล่าเลยขาลงไม่มีเฮลิคอปเตอร์ มาส่งเสบียงอีก จึงต้องเดินลัดเลาะไหล่เขาลงมาเหมือนคนอื่น ๆ มันเป็นการเดินทางที่สาหัสที่สุดในชีวิต แต่ก็ทำให้ได้เห็นถึงความลำบากของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานบนดอย เพราะหากมีเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยฉุกเฉิน คงจะเป็นเรื่องที่ลำบากมากทีเดียว
สถานีแห่งนี้มีที่มาจากการที่ในหลวงและพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเสด็จผ่านดอยอ่างขางได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขาหัวโล้น ชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นกัน เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศ จึงขอซื้อที่ดินจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500.-บาท เพื่อใช้เป็นแหล่งวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา ให้หันมาปลูกทดแทนฝิ่น และพระราชทานนามว่า"สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" สถานีแห่งนี้เป็นแห่งที่ 2 นับจากที่ได้โปรดเกล้าให้ตั้งโครงการหลวงขึ้นมาเมื่อปี 2512 โดยมีท่านหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานมูลนิธิโครงการหลวง ดูแลรับผิดชอบ และมีสถานีวิจัยแห่งแรกอยู่ที่ดอยปุย ซึ่งที่นั่นในหลวงได้ซื้อที่ดินจากชาวเขาด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เองเช่นกัน จำนวน 200,000.- บาท และพระราชทานนามว่า "สวนสองแสน"
พี่วินัย ปั่นศิริ รุ่นพี่เกษตรรุ่น 19 เป็นหัวหน้าสถานีคนแรกของอ่างขาง เมื่อปี 2513 อยากจะเรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกพลิกฟื้นแผ่นดิน เพราะขณะนั้นสภาพโดยทั่วไปของอ่างขางยังเป็นสภาพที่ยังไม่ได้พัฒนาอะไรเลยมีแต่ป่าเขาลำเนาไพรและความเสี่ยงภัยมีอยู่รอบตัวทั้งจากชนกลุ่มน้อยชาวมูเซอร์ดำ , ชาวจีนฮ่อ และ ไทยใหญ่ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือกองคาราวานฝิ่น บุคคลที่ขึ้นไปทำงานบนดอย จึงต้องดำรงชีวิตอย่างระวังภัยอยู่ตลอด 24 ชม. ไม่ต่างกับทหารหรือตำรวจตระเวณชายแดน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพวกเขาต้องช่วยตัวเองเท่านั้น สิ่งเดียวที่เป็นพลังให้พวกเขาอยู่กันได้ ก็คือความศรัทธาและพระบารมีในหลวง ในอันที่จะทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จึงเป็นเสมือนยันตร์กันภัยที่ทำให้พวกเขาแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้
วุฒิ มณีปุระ ได้เข้าไปร่วมงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระหว่างเรียนได้ไปฝึกงานอยู่ที่สถานีวิจัยดอยปุย ทำให้อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา , ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี ได้มองเห็นแววมุ่งมั่นในการทำงาน จึงส่งตัวขึ้นไปช่วยงานพี่วินัย ตั้งแต่ปี 2517 การเดินทางขึ้นดอยในครั้งนั้น อาศัยรถแลนด์โรเวอร์ของสถานีวิจัยดอยปุย ไปส่งจนถึงบ้านหัวนา ซึ่งอยู่เชิงดอยอ่างขางหลังจากนั้นก็มีเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวณชายแดนมารับขึ้นไปส่งบนดอยอีกทีหนึ่ง ภูมิประเทศของดอยอ่างขางจะมีลักษณะเป็นรูปอ่าง มีลานกว้างไว้สำหรับจอด ฮ. ในสถานี รอบๆสถานีจะมีบ้านพักของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 11 หลังด้วยกัน มีโรงครัว 1 หลัง และสโมสรอีก 1 หลัง ลักษณะบ้านเป็นแบบ A Frame คือหลังคาชนกันเป็นรูปตัว A มุงด้วยหญ้าคา ส่วนฝาบ้านใช้ไม่ไผ่ทุบเป็นซีกเล็ก ๆ มัดต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่อยู่กันคนละหลัง เช้าก็ไปเข้าแปลงงาน เย็นก็มาทานข้าวกันที่สโมสร ซึ่งมีถาวร บัวชุ่ม (วอน) เป็นพ่อครัวจัดเตรียมไว้ให้ ชีวิตมีอยู่แค่นั้นเพราะบนนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ มืดลงก็เงียบสงัด แต่ละบ้านจึงต้องมีเทียนไว้จุดให้ความสว่าง ส่วนน้ำใช้ต่อท่อจากลำธารต้นน้ำบนภูเขามาใช้ น้ำที่นั่นจึงเย็นจัดเหมือนกับน้ำในตู้เย็นเลยทีเดียว
ในช่วงปี 2517 รัฐบาลไต้หวันได้ให้งบประมาณแก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพื่อปลูกทดลองไม้ผลเมืองหนาว อันได้แก่ ท้อ , แอปเปิล , สาลี่ เป็นเบื้องต้น รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไต้หวันมาให้คำแนะนำด้วยอีกทางหนึ่ง แปลงทดลองที่ปลูกไม้ผลเมืองหนาวด้วยงบประมาณของรัฐบาลไต้หวันนี้ จึงได้เรียกกันว่า "สวนไต้หวัน" เพื่อให้เกียรติ์แก่เจ้าของทุน
นอกเหนือจากการให้งบประมาณดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลไต้หวันยังให้ทุนเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานที่ฟูจูซานฟาร์ม 1 ปี ฟาร์มนี้อยู่บนดอยสูงของประเทศไต้หวัน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองไทจุงและฮวาเรียน ซึ่งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศคล้ายคลึงกับอ่างขางมาก ท่านศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี ได้ส่งวุฒิ มณีปุระ และเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ ถาวรรัตน์ ยอดศรี (แขก) และ วรพงษ์ เครือเขื่อนเพชร (อ้วน) ไปพร้อมกัน
ในช่วงที่กำลังจะกลับเมืองไทย พายุไต้ฝุ่นได้ถล่มเกาะไต้หวันอย่างหนักอยู่ 2 วันเต็ม ๆ ทำให้ถนนหนทางขาดหลายแห่ง รวมทั้งที่ฟูจูซานฟาร์ม หินภูเขาถล่มลงมาทำให้ถนนขาด ไม่สามารถเดินทางลงมาได้ รอจนหลายวันกว่าจะซ่อมแซมทางเสร็จและเดินทางกลับเมืองไทย
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวันอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนกระทั่ง ปี 2518 ช่วงที่ท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นเป็นรัฐบาล ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน เป็นผลให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไต้หวันต้องหยุดชะงักไปอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อโครงการหลวง จึงมีการสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ อยู่บ้างในบางส่วน อย่างไรก็ตามงานทดลองที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ยังคงเดินหน้าต่อไปเพราะนอกเหนือจากไต้หวันแล้ว ยังได้งบประมาณจากอีกหลายทางเช่น USDA , UN เป็นต้น
การใช้ชีวิตบนดอยที่ห่างไกลความเจริญ เช่นที่อ่างขางในช่วงบุกเบิก แม้จะมีความสุขสงบเป็นพื้นฐาน แต่ความกดดันจากภัยที่มองไม่เห็น มีอยู่รอบด้าน และไม่อาจรู้ว่าจะมาถึงตัวเมื่อใด มันสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกชีวิตในสถานี ซึ่งมองไปรอบด้าน แลเห็นแต่ขุนเขา เมื่อยามฟ้าสางทุกคนก็จะหายใจกันได้สดวก แต่มืดลงเมื่อใด ก็จะต้องเริ่มระแวดระวังภัยและต้องคอยติดตามหาข่าว เพื่อป้องกันตัวเองอยู่เสมอ เพราะห่างไกลเกินกว่าที่กฎหมายจะเข้าไปดูแลใกล้ชิด และเจ้าหน้าที่ก็มีกันอยู่เพียงไม่กี่คน จึงมีความโดดเดี่ยวซึ่งยากที่ใครจะรับรู้ได้หากไม่เข้าไปสัมผัสจริง เหตุนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่วินัย ปั่นศิริ เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ และทำให้วุฒิ มณีปุระ เข้าไปรับช่วงต่อเป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 2 ของอ่างขาง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา
โดยปกติสถานีอ่างขาง จะรับคนงานไทยใหญ่จากพื้นที่ใกล้เคียง คือรัฐฉานประเทศพม่า เข้ามาปฏิบัติงานในสถานีตามแปลงทดลองต่าง ๆ รวมแล้วเกือบ 200 คน คนงานรับเหมาถางป่า ปลูกต้นไม้ ก็จะเป็นมูเซอร์ดำที่อาศัยอยู่รอบ ๆ อ่างขาง คนงานที่มากมายจากหลายกลุ่มเหล่านี้ ย่อมแน่นอนที่จะมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป การควบคุมให้อยู่ในสายตา จึงค่อนข้างยาก และมักจะมีเหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ
ในครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่และคนงานในสถานีรวมประมาณ 7 คน เดินพลัดหลงเข้าไปในเขตตอนเหนือของบ้านนอแล ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยมูเซอร์แดง จึงถูกชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นระดมยิงตายไปรวม 3 คน ที่เหลือก็หนีกระเจิดกระเจิงกลับมาได้ จึงต้องขอความช่วยเหลือจาก ตชด. จนสามารถช่วยกันกู้ศพทั้ง 3 กลับมายังฝั่งไทยได้สำเร็จ สถานการณ์เช่นนั้นกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามงานทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อ
อีกครั้งหนึ่งที่ระทึกใจของชาวดอยอ่างขาง เห็นจะเป็นเรื่องการบุกปล้นสถานี จากข่าวคราวที่เจ้าหน้าที่ในสถานีบอกกันต่อ ๆ ทำให้ทุกคนต้องเพิ่มการระมัดระวังตัว เพราะคนงานที่เป็นชนเผ่าเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่จะยากจน จึงมีการงัดแงะเอาข้าวของในสถานีออกไปโดยไม่สามารถจับมือใครดมได้บ่อยครั้ง และหลังจากนั้นไม่นาน สุรจิตต์ มะลิแก้ว(จาย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ก็ทราบข่าวจากคนงานด้วยกันว่าจะมีการเข้าปล้นสถานีในช่วงกลางคืน คืนนั้นทั้งคืนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นอันนอน เฝ้าระวังกันจนเกือบสองยามจึงได้ตัว ซึ่งก็เป็นคนงานในสถานีนั่นเอง เหตุการณ์นั้นทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเพิ่มการระวังตัวมากยิ่งขึ้น จนในครั้งหนึ่งซึ่งต้องเดินทางลงไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงเทพ สาขาท่าแพ หลายหมื่นเพื่อมาจ่ายเงินเดือนคนงาน และตามปกติเป็นที่รู้กันว่าจะใช้เส้นทางเดินขึ้นทางบ้านเพอะ ก็ต้องสับเปลี่ยนเส้นทางไปทางบ้านม่วงชุมแทน เพื่อป้องกันถูกดักปล้นกลางทาง
เมื่อประมาณปี 2522 เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญที่ชาวดอยอ่างขางไม่อาจลืมได้ ก็คือตอนที่คณะกรรมการธิการเกษตร ได้ไปตรวจราชการชายแดน ด้วยเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ได้มาแวะเยี่ยมที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในช่วงที่เดินทางกลับ หลังจาก ฮ. ลำแรกบินผ่านไปได้แล้ว เกิดสภาพอากาศแปรปรวนกระทันหันบริเวณกิ่วลมเหนือหน่วยป่าไม้มีฝนและเมฆปิดบังทัศนวิสัยเป็นผลให้ ฮ. ลำหลังไม่สามารถบินผ่านไปได้ และเกิดอุบัติเหตุตกลงไปอยู่ในหุบเหว นักบินและคณะผู้โดยสารใน ฮ. ลำหลัง ซึ่งมีท่าน พล.อ.อ บัญชา เมฆวิชัย , พลตำรวจเอกกฤษณ์ สังขะทรัพย์ และคุณคล้าย ณ.พัทลุง ผู้ว่าราชการจังหวัด เสียชีวิตทั้งหมด การกู้ศพขึ้นจากเหวเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีฝนตกอยู่ตลอด และในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่อ่างขางหลายคนได้ร่วมกันอำนวยความสดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวณชายแดน และอาสาสมัครจากอำเภอฝางนับร้อยคนซึ่งเดินปูพรมจากเชิงเขาด้านล่าง ไต่ขึ้นมาจนถึงสันดอย ใช้เวลานานเกือบ 3 วัน จึงสามารถนำศพขึ้นมาได้ และนำไปพิสูจน์เอกลักษณ์ที่บ้านคุ้ม ใกล้ ๆ สถานีอ่างขาง
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสถานีอ่างขาง โดยในช่วงนั้นเริ่มมีถนนหนทางขึ้นดอย ทำให้สดวกสบายขึ้น แต่เป็นเพียงถนนดินลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อเกือบตลอดทาง พอโดนฝนก็จะลื่นเละต้องใช้โซ่พันล้อทั้ง 4 ล้อกันการลื่นไหล การนั่งรถจึงไม่ต่างจากขี่ม้า แต่ก็นับว่ายังดีกว่าการเดินเท้าเป็นไหน ๆ การสร้างถนนขึ้นดอยนี้ก็มีประวัติน่าสนใจ เป็นความพยายามของกรมป่าไม้ที่จะทำถนนขึ้นดอยให้ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงทำได้เพียงตามมีตามเกิด และต้องยกย่องนายผิน ซึ่งเป็นลูกจ้างกรมป่าไม้ ที่มีความอุตสาหะสูง ขับรถตีนตะขาบตัดทางตั้งแต่ปางควายลัดเลาะไหล่เขา ลุยไปเรื่อยพร้อมกับลูกน้องเพียงคนเดียวที่เดินตามคอยช่วยเหลือกัน ค่ำไหนก็กางเต้นท์นอนนั่น ใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะตัดไปถึงอ่างขางได้ แต่ถนนของนายผิน บางช่วงก็ลาดชันและอันตรายเหลือเกิน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งเป็นลูกน้องของพี่ฉัตรไชย รัตโนภาสซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาต้นน้ำบ้านหลวง ขับรถเผลอลงเหวตายไป 3 คน มาภายหลังกรมชลประทานมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบนดอย จึงเริ่มมีการสร้างกันตามหลักวิชาการ เมื่อมีถนนหนทางสะดวกนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีงานทดลองก็สามารถขึ้นไปบนดอยได้บ่อยขึ้น อาจารย์ปวิณ ปุณศรี เองท่านก็ขึ้นมาเกือบทุกเดือนเพื่อติดตามงานวิจัย
ในทุก ๆ ปี ในหลวงและพระราชินี จะทรงเสด็จไปเยี่ยมที่สถานีอ่างขางเพื่อติดตามโครงการตามพระราชดำริ การเสด็จมาของพระองค์เปรียบเสมือนความสว่างที่เกิดขึ้นในใจของทุกคน ไม่เพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่ ๆ ปฏิบัติงานอยู่บนดอยเท่านั้น แต่ชาวเขาทั้งหลายที่อาศัยอยู่รอบ ๆ อ่างขาง ก็มีความปลื้มปิติไม่ต่างกัน
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีการพัฒนาคืบหน้าไปโดยลำดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวหน้าสถานีและเจ้าหน้าที่ ๆ ปฏิบัติงานในสถานีก็มีการเปลี่ยนแปลงกันไปหลายชุด ซึ่งทุกคนล้วนตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติงานสนองพระราชดำริและตอบแทนคุณแผ่นดินกันทั้งสิ้น แม้จะยากลำบากสักเพียงใด แต่คุ้มค่าแก่ชีวิตที่ได้เกิดมาชาติหนึ่ง ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ.....
ชีวิตช่วงหนึ่งบนดอยอ่างขาง........... จึงมีคุณค่าควรแก่การบันทึกไว้ในความทรงจำ....................
ด้วยจิตคารวะเหล่าผู้บุกเบิกสถานีเกษตรดอยอ่างขางทุกท่าน
ตอบลบขอคุณความดีหนุนนำดวงวิญญาณพี่วุฒิสู่ภพภูมิที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปคะ