เมื่อเดือน เมษายน 2555 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ไปพักผ่อนกับเพื่อน ๆ ที่สัตหีบ ในกลุ่มที่ไปร่วมกันในครั้งนี้ มีอยู่ 2 คนที่มีความผูกพันกับทหารเรือ คนแรกคือ เพื่อนเห็ด พลเรือตรี เบญจวรรณ สนธิสุข แห่งราชนาวีไทย และคนที่สองคือเพื่อนม้า คุณทิพาพรรณ แตงน้อย ซึ่งเป็นบุตรีของ ท่านพลเรือเอก เทียม มกรานนท์ อดีตท่านผู้บัญชาการทหารเรือ และ อดีตท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนตัวข้าพเจ้า , คุณแวนด้า จงวัฒนา , คุณโสภิต เลิศชนะพรชัย , คุณจิตติมา ดุริยะประพันธ์ และ คุณเบญจมาศ โรจน์วนิช คือคณะผู้ติดตาม
การเดินทางครั้งนี้เราจึงโชคดีที่มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมหน่วยนาวิกโยธินที่สัตหีบ โดยมีนายธงคนหนึ่งคอยให้การต้อนรับและพาคณะของพวกเราเข้าชมตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจของทหารเรือไทย รวมทั้งให้ความรู้แก่พวกเรา ตลอดจนพาไปย้อนอดีตแห่งประวัติศาสตร์ไทย
เหตุการณ์ในอดีตเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน 2310 ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำกำลังทหารเดินทางมาทางเรือ จากเมืองจันทบุรีเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระองค์นำทัพมาขึ้นบก และเข้าโจมตีฝ่ายพม่าที่ค่ายโพสามต้น ซึ่งเป็นค่ายบัญชาการรบของพม่า ทัพพม่าไม่สามารถต้านทานได้ จึงแตกพ่ายไปในที่สุด สืบมาจากวีรกรรมที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพเรือไปโจมตีข้าศึกจากทางทะเลดังกล่าวถือเป็นการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งแรกของกองทัพเรือไทย กองทัพเรือจึงได้ถือเอา วันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้าย วันสถาปนากองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ สืบมา
การยกพลขึ้นบกในปัจจุบันนั้น นายทหารเรือท่านหนึ่งเล่าว่า เรือสะเทินน้ำ สะเทินบก จะถูกปล่อยจากท้ายเรือรบใหญ่ โดยในเรือสะเทินน้ำสะเทินบก แต่ละลำจะบรรทุกทหารพร้อมรบประมาณ 4-6 นาย นั่งเบียดเสียดสลับเป็นฟันปลาอัดแน่นอยู่ในนั้นเพื่อเตรียมขึ้นบก ระหว่างปฏิบัติการจะมีเครื่องบิน บินเหนือน่านฟ้าบริเวณนั้นเพื่อคอยคุ้มกันให้
เรือปฏิบัติการขึ้นฝั่งชุดแรก จะเรียกว่าคลื่นลูกที่ 1 และชุดต่อ ๆ ไปจะเรียกว่าคลื่นลูกที่ 2 , 3 , 4 ตามลำดับ คลื่นลูกที่ 1 จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีของข้าศึกสูงกว่าคลื่นลูกหลัง ๆ และมีโอกาสตายก่อนคนอื่น แต่ทหารเรือทุกนายต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีใครมีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่คลื่นลูกไหน หน้าที่ของคลื่นทุกลูกเหมือนกัน คือปกป้องพิทักษ์ชาติไทย ข้าพเจ้าคิดว่า นี่เองกระมังที่อาจจะเป็นที่มาของเพลง ๆ หนึ่งที่ชื่อว่า "หน้าที่ทหารเรือ" ปลุกใจทหารเรือให้ไม่กลัวตาย มีเนื้อเพลงดังนี้
ทหารเรือเชื้อไทยใจองอาจ ยอมพลีกายหมายมาดป้องชาติไทย
ผยองเกียรติกล้าหาญการวินัย มิยอมให้ใครบุกมาย่ำยี
ทหารเรือเชื้อไทยใจแกล้วกล้า เอานาวาเป็นบ้านต่อต้านไพรี
จะขอเทิดธงไว้ใจภักดี อุทิศชีพยอมพลีเพื่อชาติไทย
เราเกิดมาจะต้องไว้ลายชาติชายทุกคน ยอมสละตนดังวีรชนเลื่องลือยิ่งใหญ่
ไทยจะเป็นไทย ศิวิลัยจงมาไวไวไวไวเร็วซิ
ทหารเรือทุกคนจงพร้อมใจ นำเรือรบแล่นไปป้องปฐพี
จะสมเกียรติทหารการนาวี ถนอมชาติให้ดีมีสุขเอย
ด้วยความไม่กลัวตายของบรรดาทหารทั้งหลายนี้แหละ ที่ทำให้ไทยยังคงเป็นไทยอยู่ทุกวันนี้ ธงชาติไทยจึงยังคงปลิวไสวอยู่บนยอดเสาได้ อนุสาวรีย์ของทหารผู้เสียสละตั้งเด่นเป็นสง่าให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง
ภายในอาคารนั้น นอกจากจะได้ชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับการปฏิบัติการของนาวิกโยธินแล้ว ยังได้เห็นวัตถุจำลองเกี่ยวกับการศึกสงครามไม่ว่าจะเป็นเรือจำลอง อาวุธจำลอง และเครื่องแบบทหารในหน่วยต่าง ๆ
หุ่นจำลองที่เป็นจุดสนใจ นั่นก็คือหุ่นจำลองของท่านพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
ชาวนาวีเรียกท่านว่า "เสด็จในกรม ฯ" ชาวบ้านเรียกท่านว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" เหตุที่มีการเรียกพระนามท่านหลายอย่าง ก็มีที่มาจากอดีตเมื่อครั้งที่ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือประเทศอังกฤษแล้วได้กลับมารับราชการทหารเรือไทย ท่านได้บุกเบิก ริเริ่ม ปรับปรุง และวางรากฐานแนวปฏิบัติมากมายหลาย ๆ อย่างให้กับราชนาวีไทย เพื่อให้เหมือนกับชาติอารยะ ท่านได้ขอพระราชทานที่ดินสร้างโรงเรียนนายเรือ และได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้ใช้ที่ดินบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี มาดัดแปลงเป็นโรงเรียนนายเรือเป็นครั้งแรก และยังได้วางหลักสูตรแก่โรงเรียนนายเรือมากมายหลายอย่างเพื่อให้ทหารเรือไทยมีความแกร่งกล้า และเดินเรือทะเลได้อย่างต่างประเทศ รวมทั้งซ้อมรบบนบกเพื่อให้มีความชำนาญในทางบกอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังได้ปฏิบัติภาระกิจอีกมากมายหลายอย่างที่เป็นคุณูปการแก่แผ่นดินไทย จึงได้รับการพระราชทาน พระอิสริยศักดิ์ เป็น "กรมหลวง" ชาวนาวีทั้งหลายมักจะขานนามท่านว่า "เสด็จในกรมฯ" นอกจากทรงมีพระปรีชาสามารถด้านราชนาวีแล้ว ท่านทรงมีความสามารถในทางดนตรี โดยเฉพาะการแต่งเพลง ทรงนิพนธ์บทเพลงไว้หลายเพลง บทเพลงเหล่านั้น มีสาระสำคัญ ในการปลุกปลอบใจให้เข้มแข็งในยามทุกข์ ส่งเสริมกำลังใจให้รักชาติ รักเกียรติ รักวินัยในยามสงบ และให้เกิดมุมานะกล้าตายไม่เสียดายชีวิตในยามศึกสงคราม
ส่วนพระนามที่เรียกว่า"หมอพร" ก็สืบเนื่องมาจากในช่วงหนึ่งของชีวิตราชการ ท่านถูกปลดจากราชการ สาเหตุก็เพราะว่ามีพวกทหารเรือไปเที่ยว พบกับทหารมหาดเล็ก เกิดเรื่องวิวาทกันขึ้น ความทราบไปถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เข้า ทรงไม่พอพระทัย รับสั่งให้ส่งทหารเรือที่วิวาทกับทหารมหาดเล็กไปให้ ท่านไม่ยอมส่งให้ ได้ให้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า เป็นเรื่องของคนวิวาทกัน จะว่าข้างใดเป็นผู้ผิดก็ไม่ได้ และท่านก็รักทหารเรือของท่านเหมือนลูก ท่านไม่เคยส่งลูกไปให้ใครเขาเฆี่ยนตี ถ้าจะตีก็จะตีเสียเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วรับสั่งว่า ถ้าท่านไม่ส่งไปให้ก็ต้องให้ออก เพราะว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ เสด็จในกรมฯ จึงต้องออกจากราชการในคราวนั้น สำหรับเสด็จในกรมฯ และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เหมือนกัน แต่ต่างมารดากัน เมื่อทรงออกจากราชนาวีแล้ว อยู่ว่างๆ ทรงรำคาญพระทัย จึงลงมือศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรคให้ประชาชนพลเมืองทั่วไป โดยไม่คิดเงิน จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อผู้คนพากันรู้ว่า เจ้าพ่อรักษาโรคได้ฉมังนัก จึงร่ำลือ และแตกตื่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง ท่านไม่ทรงให้ใครเรียกว่าเสด็จในกรมฯ หรือยกย่องเป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร" ส่วนชาวจีนที่รักใคร่เทิดทูนท่านจะเรียกขานพระนามท่านว่า "เสด็จเตี่ย"
ในวันนั้นกว่าจะเยี่ยมชมเสร็จก็เย็นมากแล้ว คณะเราจึงมีโอกาสเห็นบรรยากาศที่สวยงามมากๆ ในยามที่ตะวันตกดิน ที่ฐานทัพเรือแห่งนี้
ตะวันยามที่จะลับขอบฟ้า ช่างสวยงามนัก มองแล้วให้ได้รำลึกถึงสัจจธรรมแห่งชีวิตที่มีขึ้น มีลง, มีสูงส่ง มีตกต่ำ, มีเกิด มีดับเวียนว่ายอยู่ในวงล้อแห่งกรรม หากทุกลมหายใจเข้าออกของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ กระทำแต่ความดี มีคุณค่าต่อสังคม เมื่อยามดับสูญ คงจะมีความสุขดุจการมองตะวันในยามนี้ เรายืนส่งตะวันกันจนลับขอบฟ้า จากนั้นจึงพากันไปทานอาหารเพื่อยังชีพ ที่เรือนสักประดู่ ร้านอาหารในฐานทัพเรือ ที่มีบรรยากาศ น่าประทับใจเช่นกัน
เราจบการเยือนถิ่นนาวี ในวันรุ่งขึ้น ที่หาดทรายแก้ว หาดที่สวยงามมาก ๆ แห่งหนึ่ง ที่มีเม็ดทรายละเอียดและนุ่มดุจใยไหม อยู่ในเขตโรงเรียนชุมพลทหารเรือ
พวกเราหวังว่า ในโอกาสหน้าจะมีโอกาสมาเยือนถิ่นนาวีแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง .............................
ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.facebook.com%20,%20www.navy.mi.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น