บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฟ้าลิขิตให้ชีวิต "สู้" สู้





เขาคือนายพงษ์เดช  รักษาสกุล ที่เพื่อนทุกคนเรียกเขาว่า "สู้"  สู้เป็นชาวนครหลวง จ.อยุธยา ครอบครัวมีอาชีพทำนา หลังจากร่ำเรียนจนจบ ม.ศ.๕ ที่อยุธยา ก็ entrance เข้าคณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สู้เป็นคนที่มีนิสัยเอื้อเฟื้อและจิตใจดี จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงร่วมคณะเดียวกัน และยังชอบทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ในช่วงปิดภาคเรียนแต่ละปี  แทนที่จะเรียน summer เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่สู้เลือกที่จะออกชนบททำประโยชน์ให้กับสังคม สู้จึงมาเป็นสมาชิกค่ายอาสาสมัคร และได้รับการคัดเลือกให้ไปออกค่ายที่บ้านน้ำคิว จ.เลย











ชีวิตในค่ายบ้านน้ำคิว  แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสู้  แต่ชีวิตที่เคยตรากตรำกับงานหนักมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้งานค่าย ไม่ว่าจะหนักหนาปานใด ก็ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับสู้ ทั้งเรื่องขุดดิน ขนหิน ผสมปูน แบกไม้ เพื่อสร้างโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อการปลูกสร้างโรงเรียนบ้านน้ำคิวสำเร็จลง  ณ.ที่แห่งนั้นจึงมีจิตวิญญาณ และหยาดเหงื่อแห่งอุดมการณ์ของสู้ฝังไว้ที่นั่นด้วยความรักและผูกพัน สู้บอกกับเพื่อนๆว่าเขาได้ประสบการณ์มากมายจากค่ายน้ำคิว ทั้งเรื่องการบริหารจัดการงาน การแสดงความคิดเห็น และการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประทับใจมากที่ได้เห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องชาวค่าย ความรู้สึกดีๆเหล่านี้  สู้ยังเก็บไว้ในความทรงจำส่วนลึกเสมอมา






เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สู้จำเป็นต้องอำลาแม่นนทรี ก้าวออกจากทุ่งบางเขนเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตน สู้เลือกที่จะนำความรู้จากรั้วนนทรีไปทำงานที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และเลือกที่จะไปอยู่จังหวัดนราธิวาส  ดินแดนที่ไม่มีใครอยากไป  สู้ไม่เคยกลัวความลำบาก และเลือกที่จะไปทำงานที่นั่นด้วยความมุ่งมั่น เขาเดินทางด้วยรถไฟไปกับเพื่อนๆอีกหลายคน และลงจากรถไฟเป็นชุดสุดท้ายที่สถานีนราธิวาส ช่างเป็นการเดินทางที่ยาวนาน โดยไม่รู้เลยว่า ปัญหาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต กำลังจะเกิดขึ้นที่นั่น



๕ เดือนที่ทำงานที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นเพียงช่วงชีวิตการทำงานที่เริ่มต้นเท่านั้น เขายังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน จึงมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้าง   และแล้วในเย็นวันหนึ่งที่เขากำลังขับจักรยานยนตร์เพื่อกลับบ้านพัก ก็ได้พบกับชายแปลกหน้า  ๒  คน มาพูดกับเขาด้วยภาษายาวีที่สู้ฟังแล้วไม่เข้าใจ จึงได้บอกเขาไปว่าพูดไม่ได้ ชายแปลกหน้า ๒ คนนั้นจึงเปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทยอย่างกระท่อนกระแท่น แต่ก็พอจะจับความได้ว่า มาจากยะลาจะมาพบเพื่อนที่นี่ และไม่มีที่พัก สู้เห็นว่าที่ตรงนี้ก็ไม่มีใคร สู้ยังมีน้ำใจชวนเขาไปพักด้วยกัน พูดยังไม่ทันจบ ชายคนหนึ่งก็ควักปืนออกมายิงเขา  กระสุนนัดแรกเข้าหน้าอกซ้าย ทะลุปอด ผ่านขั้วหัวใจ ไปตัดกระดูกสันหลัง กระสุนนัดที่สองและสามตามมาติดๆ ที่ท้องและมือจนเขาล้มลง นอนจมกองเลือด  แม้จะพอมีสติอยู่บ้าง พยายามที่จะลุกขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้  ขณะนั้นสู้พิการแล้วโดยที่ตนเองยังไม่รู้ตัว  ชายแปลกหน้าทั้ง ๒ คนนั้นขับจักรยานยนต์หลบหนีไป  เป็นการมุ่งทำร้ายเพื่อหวังชิงทรัพย์สินโดยชัดเจน



เวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่อาจรู้ได้  มีชาวบ้านมาพบเห็นเข้า และนำสู้ส่งโรงพยาบาลนราธิวาส แต่อาการที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่โรงพยาบาลท้องถิ่นจะเยียวยา  สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจึงขอให้โรงพยาบาลนราธิวาสส่งตัวสู้ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช



สิ่งที่เกิดขึ้นกับสู้ไม่ได้เกิดจากการทะเลาะวิวาทหรือความประมาทเลินเล่อ  ไม่ได้เกิดจากอะไรทั้งสิ้น   ดูเหมือนจะสรุปได้เพียงอย่างเดียวคือเป็นเคราะห์กรรมที่ถูกฟ้ากำหนดให้ต้องเป็นไป ชีวิตของสู้ในแต่ละช่วงเวลา เสมือนดั่งความฝันที่มีทั้งดีและร้ายสลับกันไป  ในขณะที่เขานอนรวยรินรอความตาย ฟ้ากำหนดให้มีคนมาพบเห็น และนำเขาส่งโรงพยาบาลนราธิวาส และเมื่อโรงพยาบาลนราธิวาสเห็นว่าเกินความสามารถที่จะเยียวยารักษาได้  ก็นำร่างที่บอบช้ำของเขาส่งโรงพยาบาลศิริราชทางเครื่องบินโดยมีแพทย์ที่รักษาเขาที่โรงพยาบาลนราธิวาสอาสาดูแลเขาตลอดการเดินทาง นับเป็นความโชคดีในความโชคร้ายโดยคาดไม่ถึงเช่นกัน



สู้ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชนานถึง ๑ ปี  จนอาการทางกายดีขึ้น  แต่อาการทางใจของสู้ มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่เหลือประมาณ  เมื่อรู้ว่าต้องเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิตและโรงพยาบาลศิริราชขอให้เขาออกจากโรงพยาบาลเพื่อนำเตียงให้ผู้ป่วยรายอื่น  เขาท้อแท้ ห่อเหี่ยวและสิ้นหวังเมื่อนึกถึงสภาพร่างกายของตน ชีวิตโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ไร้ทิศทาง ไร้ความหมาย  ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ในยามค่ำคืนที่ผู้ป่วยรอบข้างหลับสนิท  สู้แอบน้ำตาไหลพรากคนเดียวอยู่บ่อยครั้งเพราะไม่รู้ว่าถ้าวันพรุ่งนี้ยังมีสำหรับเขา  เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในโลกใบนี้   พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่สู้ยังเล็กๆ  ปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงดูเขา และบัดนี้ท่านทั้งหมดได้จากโลกนี้ไปแล้ว สู้คิดแล้วคิดอีกหลายต่อหลายครั้งเห็นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว เขาอยากตาย



ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีใครที่จะพบแต่เรื่องร้ายไปตลอดชีวิต หรือพบแต่เรื่องดีตลอดกาล สู้เองก็เช่นกัน ในความเคราะห์ร้ายนั้น กลับมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน หากไม่เรียกว่า "ฟ้าลิขิต" ก็ยากที่จะหาคำนิยามใดๆมาอธิบายได้



ในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.นราธิวาสนั้น เขามีโอกาสได้รู้จักกับน้องคนหนึ่ง เธอชื่อ "คุณเหมียว" เรียนอยู่คณะนิเทศก์ศาสตร์ ปี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และไปฝึกงานที่สถานีวิทยุทหาร จ.นราธิวาส รู้จักกันและพบหน้ากันเพียงครั้งเดียวก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย เมื่อคุณเหมียวรู้ข่าวการเจ็บป่วยของเขาก็มาเยี่ยมเยียนที่โรงพยาบาลศิริราช คุณเหมียวเธอคงสัมผัสได้ถึงความสิ้นหวังของเขา จึงนำความไปบอกเล่าสู่คุณพ่อ คุณแม่  ทำให้ท่านทั้งสองเมตตามาเยี่ยมเขาในช่วงเวลาต่อมา พร้อมทั้งเสนอตัวรับดูแลสู้  ชวนให้สู้้ไปอยู่กับท่านที่บ้านซอยลาดพร้าว ๓๔



ชีวิตพลิกเหมือนดั่งฝัน แม้จะมีความดีใจอยู่บ้าง  แต่ก็ไม่วายกังวลใจ เพราะสู้ไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน แล้วเขาจะปฏิบัติตนอย่างไร ในเมื่อเขาช่วยตัวเองเกือบจะไม่ได้เลย  ในความคิดที่สับสนนั้น คุณเหมียวและคุณแม่ ก็มารับเขาออกจากโรงพยาบาลศิริราชโดยไม่ฟังคำคัดค้านใดๆของเขาเลย และยังต่อห้องให้เขาอยู่อย่างเป็นสัดส่วน ๑ ห้องพร้อมทั้งจัดหาผู้ดูแลให้  เรื่องนี้มาทราบจากชำนาญ เทียมจันทร์ เพื่อนสนิทของสู้ ซึ่งไปเยี่ยมสู้ที่บ้านซอยลาดพร้าว ๓๔  บ่อยครั้งจนคุ้นเคยกับคุณแม่ ทราบว่าคุณแม่นิมิตว่า สู้เป็นลูกของท่านในอดีตชาติ



คุณพ่อ คุณแม่ มีลูก ๔ คน แต่ละคนมีอายุห่างกันไม่มากนัก เมื่อสู้เข้าไปอยู่ในครอบครัวนี้ ได้รับการดูแลเสมือนเป็นลูกแท้ๆของท่านคนหนึ่ง เมื่อเทียบเคียงอายุกับลูกของท่าน สู้เปรียบเสมือนกับเป็นลูกคนที่ ๒ ความเมตตาของคุณพ่อ คุณแม่ ที่มีต่อสู้ ทำให้สู้คิดว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนเกินของครอบครัวนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามสู้กลับเป็นศูนย์รวมของครอบครัว เกิดสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นจุดพลิกผันของชีวิต  จากที่เคยท้อแท้ไม่อยากมีชิวิตอยู่  แต่ครอบครัวนี้เป็นเหมือนบุคคลอื่นยังอยากให้เขามีชีวิตต่อไป  แล้วไฉนตัวเขาเองจึงท้อแท้  เมื่อความคิดเปลี่ยน จิตใจก็เริ่มเบิกบานและมีความมุ่งมั่นที่จะอยู่ต่อไป  และต้องอยู่แบบช่วยตัวเองให้ได้ด้วย ต้องรบกวนคนอื่นให้น้อยที่สุด นั่นคือความมุ่งมั่นของคนชื่อ"สู้"






คุณพ่อท่านเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ชื่อท่านชุ่ม สุนทรธัย  ท่านจะศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเป็นนิจสู้จึงมีโอกาสได้ศึกษาธรรมไปกับท่านด้วย คำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละคน ล้วนเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย อันเกิดจากกรรม  วิบากกรรมของแต่ละชีวิตเป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่อาจมีใครช่วยปัดเป่าให้ได้  เราต้องทำใจยอมรับมัน  และไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย  ทั้งไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ควรทำปัจจุบันให้ดีที่สุด  สังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยงธรรมะหล่อหลอมจิตใจสู้ให้เข้มแข็งได้อย่างประหลาด และยอมรับได้ว่ากายป่วย ก็รักษากันไป  แต่ใจเขาไม่ป่วยด้วย  ความทุกข์ที่กายพิการก็น้อยลง แต่จิตใจเขาเบิกบาน






คุณพ่อคุณแม่เล่าว่า ท่านมีที่ดินเปล่าอยู่ ๑ แปลงแถวคลอง ๑๖  สู้เห็นว่าเขาน่าจะนำความรู้เกษตรที่เรียนมาทำประโยชน์ได้แทนที่จะปล่อยให้ทิ้งร้าง  จึงขอมาทำประโยชน์ ท่านก็อนุญาต สู้จึงมาบุกเบิกหักร้างถางพงจนเป็น "สวนนันทวัน" ในปัจจุบัน แรกๆก็ปลูกไม้ต้นไม้ทุกชนิดตามความต้องการของตลาด แต่กิจการก็ไม่ค่อยราบรื่น  จึงหันมาผลิตสน ซึ่งเป็นไม้ที่ปลูกยากเพราะต้องดูแลใกล้ชิดแทนเรื่อยมาจนปัจจุบัน สวนนันทวันเป็นแหล่งผลิตต้นสนหลากหลายชนิดที่ทุกคนรู้จักกันดีในย่านคลองรังสิต






ชีวิตเริ่มจะราบรื่นแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคขึ้นอีกจนได้ เมื่อทราบว่าที่ดินแปลงนี้ติดจำนองธนาคาร และเจ้าหนี้ได้นำผู้สนใจมาดูเพื่อที่จะนำออกขายชำระหนี้ คุณแม่ทุกข์ใจมากเพราะรักที่ดินแปลงนี้ แต่ก็สุดปัญญาที่จะไถ่ถอนชำระหนี้ทั้งหมดโดยพลันได้   คุณแม่ได้นำความทุกข์ใจมาปรึกษากับชำนาญ เทียมจันทร์ เพื่อนรักของสู้ ชำนาญเองแม้จะมีความกังวลอยู่บ้างด้วยเป็นยอดหนี้จำนวนสูง แต่ความเกรงใจที่มีต่อคุณแม่เป็นทุนเดิม ประกอบกับความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่คุณแม่ช่วยเลี้ยงดูเพื่อนให้  ทำให้เขาต้องกลับมาคิดหลายตลบ และในที่สุดได้เจรจากับธนาคารขอเข้าเป็นลูกหนี้ร่วม และเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร  ขอแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยและทะยอยไถ่ถอนออกขายชำระหนี้ จนในที่สุด สามารถชำระหนี้ได้ครบเงื่อนไข แก้ไขหนี้ได้สำเร็จลุล่วง โดยยังเหลือที่ดินส่วนที่เป็นสวนนันทวัน เป็นที่อยู่และที่ทำกินต่อไป  นับเป็นโชคดีของสู้ที่มีเพื่อนแท้อย่างชำนาญ เทียมจันทร์



เมื่อถามถึงที่มาของชื่อ"สวนนันทวัน" ก็ทราบจากสู้ว่า "นันทวัน" เป็นชื่อของลูกสาวคนโตของคุณพ่อคุณแม่ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ  อยากให้พี่เขารู้สึกภูมิใจเวลาโทรมาหา แล้วปลายสายรับสายว่า "ที่นี่สวนนันทวันค่ะ" สิ่งเหล่านี้เป็นความละเอียดอ่อนที่มีในใจสู้  จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสู้จึงเป็นศูนย์กลางของความรักของครอบครัวนี้



ชีวิตในวันข้างจะเป็นเช่นไร  สู้ไม่กังวลแล้ว   ธรรมะรักษาจิตใจให้สู้เข้มแข็ง เขามุ่งที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุดในทุกเรื่องที่เขาสามารถทำได้ และอยู่ด้วยสติ เขาตอบแทนบุญคุณคุณพ่อคุณแม่ด้วยการดูแลท่านจนวาระสุดท้ายของชีวิต  เขาดูแลลูกน้องที่มีอยู่ ๑๒ คนเหมือนดั่งญาติ  เมื่อลูกน้องมีครอบครัว มีลูก ก็ส่งเสียให้เรียนเหมือนเป็นลูกหลานแท้ๆของตนเอง  "คุณตาสู้" จึงเป็นเสาหลักของสมาชิกในสวนนันทวัน เฉกเช่นกับที่สู้เป็นศูนย์รวมแห่งความรักในครอบครัว "สุนทรธัย"








ในวันที่พวกเราชาวค่ายไปเยี่ยมสู้ที่สวนนันทวัน จึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่อบอวลไปด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อกัน เรื่องราวชีวิตของสู้ มิได้เป็นเพียงความภูมิใจของพวกเราชาวค่ายและชาวเกษตรเท่านั้น หากแต่เป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายคนที่ท้อแท้ในชีวิตให้ลุกขึ้นมาสู้เหมือนอย่างที่"สู้"ทำ.....



พวกเราภูมิใจในตัวของเขานัก   "สู้".....นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่จากทุ่งบางเขน..........








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น