บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

๑๕ ปีที่พระนเรศวรครองราชย์

ภาพวาดพระนเรศวรขณะประกาศอิสสระภาพ


ในช่วง ๑๕  ปี ที่พระนเรศวรครองแผ่นดิน เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น ๑๕  ปีที่พระองค์ทรงเหนื่อยยากตรากตรำกับการศึกมาเกือบโดยตลอด เพราะอาณาจักรของไทยแผ่ไปกว้างใหญ่ไพศาล ท่านไม่เคยแพ้ศึกสงคราม   ตำนานของพระนเรศวรจึงเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องจดจำ  เรื่องราวของพระองค์ถูกจารึกไว้ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์  สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถี
 
 



พระนเรศวร ประสูติเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘  ที่เมืองพิษณุโลก เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์  ซึ่งพระวิสุทธิกษัตริย์นี้เป็นบุตรี ของพระมหาจักรพรรดิ์ และ พระศรีสุริโยทัย  จึงนับเป็นสายเลือดของนักรบมาแต่กำเนิดทีเดียว ขณะที่ประสูติ พระมหาธรรมราชากำลังครองเมืองพิษณุโลก มีพระพี่นางทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี  พระอนุชาทรงพระนามว่าพระเอกาทศรถ
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖  เกิดสงครามช้างเผือกระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง  ฝ่ายพม่า  บุเรงนองมีชัยชนะ  พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกต้องยอมผูกไมตรี โดยมอบสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งขณะนั้นมีชันษา ๙ ปี ให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนำไปอยู่ด้วยที่กรุงหงสาวดี  และประทับอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๑๑๒  เป็นเวลา ๖  ปี  

 
ช่วงเวลาที่ประทับอยู่หงสาวดี  พระนเรศวร มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาพม่า มอญ และรับการฝึกฝนยุทธวิธีทางทหารอย่างเชี่ยวชาญ  ทรงเติบโตคู่กันกับพระมหาอุปราชา  พระนเรศวรทรงโปรดการเล่นชนไก่อย่างมาก   เคยเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา  และเป็นฝ่ายชนะ แต่กลับได้รับการกล่าวคำถากถางว่าทรงเป็นเชลย  จึงเป็นแรงดลใจให้ทรงคิดกอบกู้เอกราชอยู่ในส่วนลึกตลอดมา
 
 
 




เหตุการณ์จารึกไว้ว่า  พระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา มังสามเกียด ไก่พระมหาอุปราชาแพ้  พระมหาอุปราชาตรัสว่า " ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ"  สมเด็จพระนเรศวรตอบว่า "อย่าว่าแต่จะพนันเอาเดิมพันกันเลย  ถึงจะชนเอาบ้านเมืองกันก็ได้"
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒  พระมหินทราธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เกิดวิวาทกับ พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาช่วยพระมหาธรรมราชา  และปราบปรามกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ  พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาและขอพระสุพรรณกัลยาไปเป็นพระชายา  แล้วอนุญาติให้สมเด็จพระนเรศวรกลับมาช่วยราชการพระบิดาที่กรุงศรีอยุธยา
 
 

เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๔  สมเด็จพระมหาธรรมราชา ให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อบัญชาการหัวเมืองเหนือทั้งปวง 





ในช่วงเวลานั้นพระนเรศวรทรงนำทัพพิษณุโลกเข้าร่วมรบในสงครามขยายอาณาเขตของหงสาวดีหลายครั้งในฐานะเมืองประเทศราชของหงสาวดี  ทรงแสดงการรบอย่างโดดเด่น  และคุ้นเคยกับเจ้าเมืองมอญ เจ้าฟ้าไทยใหญ่  และเจ้านายอื่นอีกหลายเมือง  จนเป็นที่หวาดระแวงว่าจะเป็นอันตรายต่อหงสาวดี ในช่วงนั้นพระเจ้าบุเรงนองทิวงคต  พระเจ้านันทบุเรงราชโอรสได้ครองเมืองแทนและเกิดวิวาทกับพระเจ้าอังวะ
 
 
 
พ.ศ. ๒๑๒๗ พระนเรศวร ยกทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงปราบเมืองอังวะ  เมื่อไปถึงเมืองแครงซึ่งเป็นถิ่นของชาวมอญ  ทรงทราบความลับจากชาวมอญว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงคิดวางแผนกำจัดพระองค์  จึงรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกอง นิมนต์พระสงฆ์มอญเป็นสักขีพยาน   ทรงเทน้ำจากน้ำเต้าทองคำ  และประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า................
 
 
 
"นับแต่นี้ไปกรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี" !   กรุงศรีอยุธยาจะมีอิสระภาพ  กรุงศรีอยุธยาจะไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป  หลังจากตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่านานถึง ๑๕ ปี  วันนั้นตรงกับวันพฤหัส  เดือน ๖  แรม ๒ ค่ำ ปีวอก  ตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๑๒๗
 




 
ลังจากประกาศอิสระภาพ ก็ได้ยกทัพเสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาเพื่อตระเตรียมบ้านเมืองสำหรับรับศึกพม่า  พระมหาอุปราชาได้ยกทัพไล่ติดตามมา ทันกันที่แม่น้ำสะโตง  หลังจากที่ทัพพระนเรศวรข้ามไปแล้ว  พระองค์ทรงยิงปืนนกสับ ข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุกรรมา นายทัพหน้าของพม่าตายอยู่บนคอช้าง พระแสงปืนดังกล่าวได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"





 
ต่อมา พ.ศ. ๒๑๓๓  พระมหาธรรมราชาประชวรและสวรรคต  สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๙  ขณะทรงพระชันษา ๓๕ ปี  โดยมีสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชา

 
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงทราบข่าวการสวรรคต เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ คาดเดาว่าพระนเรศวร และพระเอกาทศรถ อาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่  ใน พ.ศ. ๒๑๓๕   จึงให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่ห้าแสนพลมาโจมตี   ทัพจากหงสาวดี เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  อำเภอสังขละ  ผ่านตำบลไทรโยค  ผ่านตำบลตระพังตรุ และ ตำบลโคกเผาข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เริ่มปะทะกับทัพหน้าของไทย
 


สมเด็จพระนเรศวร สั่งการให้รี้พลไปขัดรับหน้าข้าศึกที่ตำบลหนองสาหร่าย และได้เคลื่อนทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา  ผ่านตำบลป่าโมก   บ้านสระแก้ว  ถึงตำบลหนองสาหร่ายก็หยุดกองทัพตั้งค่ายชัยภูมิรบตามพิธีพราหมณ์และไสยศาสตร์
 







 
ในที่สุดก็ปะทะกับข้าศึก  พอช้างของพระนเรศวร และ พระเอกาทศรถ ได้ยินเสียงปืนฆ้องกลอง ก็คึกคะนอง ถลันไปในหมู่ข้าศึก แม่ทัพนายกองตามเสด็จไม่ทัน  ผู้ที่เสด็จด้วยมีแต่ควาญช้าง  พี่น้องสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีกำลังมากมาย จึงไสช้างพระที่นั่งชนข้าศึกจนฝุ่นตลบอบอวล  เมื่อท้องฟ้าสว่าง ก็แลเห็นพระมหาอุปราชาอยู่เบื้องหน้า ใต้ร่มไม้  จึงทรงท้าให้กระทำยุทธหัตถึ เพื่อให้เป็นเกียรติปรากฏ
 
 





พระมหาอุปราชารับคำท้า ไสช้างเข้าต่อสู้ทันทีอย่างทรหด  ช้างของพระมหาอุปราชาชื่อพลายพัทธกอ ส่วนของพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยนุภาพ  การต่อสู้ช่วงหนึ่งพลาดพลั้ง พระมหาอุปราชาเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟัน โดนพระมาลาขาดไปเล็กน้อย ส่วนพระนเรศวรหลบได้ทัน  พระมาลาที่ขาดทรงพระนามต่อมาว่า "พระมาลาเบี่ยง"  หลังจากนั้นช้างพลายพัทธกอเสียทีพลาดท่า  พระองค์จึงเงื้อพระแสงของ้าวชื่อ"แสนพลพ่าย" ฟันลงไปถูกไหล่ขวาและพระอุระของพระมหาอุปราชาขาดเป็นรอยแยก สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง  วันนั้นเป็นวันจันทร์ เดือนยี่  แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง  ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕




สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบริเวณที่พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา  ณ.ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์  เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการสงครามป้องกันประเทศชาติครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และให้แจ้งข่าวการแพ้สงครามและการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา ต่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง แล้วยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
 
 



ตลอดเวลา ๑๕ ปีที่พระองค์ครองราชย์  ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองเขตแดนของไทยที่เคยเสียให้กับพม่าและกัมพูชา กลับมาเป็นของไทยได้ทั้งหมด  ทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว่้างขวาง
 

อาณาจักรไทยสมัยพระนเรศวร


สมเด็จพระนเรศวร เสด็จสวรรคต ณ.เมืองหาง  ขณะที่นำทัพไปตีเมืองอังวะ  เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง  ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๘  พระชันษา  ๕๐ ปี  โดยประชวรเป็นฝีระลอกที่พระพักตร์  หลังจากที่เสด็จสวรรคต   สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงสั่งให้เลิกทัพ และอัญเชิญพระบรมศพจากเมืองหาง กลับสู่กรุงศรีอยุธยา และถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่
 




ส่วนพระสถูปเจดีย์ที่ทรงสร้างไว้  เนื่องจากกาลเวลาล่วงเลยมานับร้อยปี  เจดีย์แห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมลง และถูกพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ขณะที่เหลือเพียงซากฐานสี่เหลี่ยม
 







พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖  เสด็จทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมโภช เมื่อ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖  และเริ่มดำเนินการบูรณะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕  เป็นต้นมา  และทางราชการได้ถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี  ซึ่งตรงกับวันที่กระทำยุทธหัตถี เป็นวันกองทัพไทยมาได้ระยะหนึ่ง  ต่อมานักประวัติศาสตร์ได้คำนวณใหม่พบว่า  วันที่กระทำยุทธหัตถึ น่าจะตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม  ไม่ใช่ ๒๕ มกราคม จึงได้เปลี่ยนเอาวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยแทน






สถานที่แห่งนี้ จึงสมควรที่ประชาชนชาวไทยทั้งหลายต้องไปสักการะ......สักครั้งหนึ่งในชีวิต





ขอขอบคุณข้อมูลจากอนุสรณ์สถานดอนเจดีย์..จ.สุพรรณบุรี

2 ความคิดเห็น: