บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตามหา..จีนจู


ทวดอุดม สรรพอุดม

เมื่อเดือนก่อน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนชาวเพชรบุรีท่านหนึ่ง ที่ชื่อคุณทวีโรจน์  กล่ำกล่อมจิตต์   เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองเพชร  การได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของบ้านเกิดข้าพเจ้า กลับทำให้ข้าพเจ้าได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของบรรพบุรุษตนเองมากขึ้น ทวดของข้าพเจ้าซึ่งทราบเพียงว่าท่านชื่อ อุดม สรรพอุดม นั้น  เดิมท่านมีนามว่า จู  แซ่โง้ว ชาวบ้านเรียกท่านว่า จีนจู และจีนจูคนนี้แหละ  ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งให้กับชาวบ้านแหลม


ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นที่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้  ทำให้ต้องเริ่มติดตามหา "จีนจู" นับแต่วินาทีนั้น !


ข้าพเจ้าคิดว่า  หากท่านได้กระทำคุณงามความดีไว้กับสังคมในอดีต ก็สมควรที่ลูกหลานเหลนโหลน ของท่านควรต้องรับรู้   และช่วยกันสดุดีวีรกรรมของท่าน  ข้าพเจ้าเริ่มเช็คสอบข้อมูลจากหลาย ๆ ทาง แน่นอนที่สุด  ต้องเริ่มต้นจาก social network  และก็ทำให้พอทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่า ทวดอุดมมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดอุตมิงคาวาส  จึงไม่รอช้าที่จะบึ่งไปยังวัดอุตมิงคาวาสในทันที  ในวันนั้นโชคดีมากที่ได้มีโอกาสพบท่านเจ้าอาวาสสมพงษ์  จึงได้ทราบข้อมูลจากท่านมากมาย  และจากการพูดคุยกับญาติพี่น้องรุ่นเก่า ๆ อีกหลาย ๆ คน ในที่สุดก็สามารถต่อจิ๊กซอได้สำเร็จ 


เมืองเพชรในอดีตครั้งกระโน้น  สันนิษฐานว่าเป็นชุนชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ  ที่เราเรียกกันว่ายุคทวาราวดี  เมืองนี้มีชื่อเรียกขานกันว่า "ศรีชัยวัชรปุระ"  จวบจนสิ้นยุคขอม  และเข้าสู่ยุคของอาณาจักรสุโขทัย  ปรากฏหลักฐานจากหนังสือหลายฉบับว่า มีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองจีน  จดหมายเหตุ บางฉบับเขียนชื่อเมืองเพชรบุรีว่า "ปิกชิกปูลี"  หรือ "ปิชะบูลี"  หรือ "ปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ"  ว่าส่งฑูตมาถวายเครื่องบรรณาการยังเมืองจีน


คนจีนแผ่นดินไกลโพ้นทะเล น่าจะมีความสัมพันธ์กับเมืองเพชรมาตั้งแต่ช่วงนั้น โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านแหลมซึ่งเป็นเขตที่อยู่ติดทะเล  มักปรากฏว่าบริเวณปากอ่าวบ้านแหลม  มีเรือสำเภาจีนล่องมาค้าขายกับคนบ้านแหลมอยู่เสมอ ๆ  บ้านคนเก่าแก่ของชาวบ้านแหลมจึงมักจะมีเครื่องถ้วยชามจีนสวย ๆ เป็นมรดกล้ำค่าของบ้านอยู่หลาย ๆ  บ้าน 


ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามีความก้าวหน้าต่อเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์  ชื่อเสียงแห่งความสำเร็จในการล่องเรือสำเภาจีนมาค้าขายที่เมืองเพชรบุรี  น่าจะเป็นที่เลื่องลือเป็นวงกว้างในหมู่คนจีน  จึงพบว่ามีชาวจีนหลายคน  นอกจากจะล่องเรือสำเภามาค้าขายแล้ว  บางส่วนคิดตั้งรกรากที่เมืองเพชร  และหนึ่งในนั้นก็คือ "จีนต้วย"  ผู้มีความวิริยะอุตสาหะ


จีนต้วย  แซ่โง้ว เป็นคนหนึ่งที่น่าจะมากับเรือสำเภาจีนที่บรรทุกสินค้ามาขายที่เมืองเพชร  มีสายตากว้างไกล  แลเห็นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านแหลม  จึงเริ่มมาตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณปากอ่าวบ้านแหลม  ความขยันขันแข็งของจีนต้วย  คงปรากฏชัดในสายตาของอำแดงแจ่ม  สาวชาวบ้านแหลมคนหนึ่ง  ทั้งคู่จึงผูกสมัครรักใคร่ สร้างครอบครัวด้วยกัน  และกำเนิดบุตรชาย ๑ คน ที่ชื่อ"จู  แซ่โง้ว"




อาจู แซ่โง้ว จึงเป็นคนที่มีสัญชาติไทย  เพราะเกิดที่บ้านแหลมนี้เอง  ในวัยเด็ก อาจูน่าจะได้รับการอบรมปลูกฝังที่ดี จากจีนต้วยและอำแดงแจ่ม ผู้เป็นบิดาและมารดา  จวบจนเติบใหญ่ จึงคิดสร้างประโยชน์ช่วยเหลือสังคม  อันเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด




จีนต้วย และ อำแดงแจ่ม สิ้นอายุขัยไปเมื่อใดก็ไม่ปรากฏ  แต่เมื่ออาจูเติบใหญ่ขึ้นมา  ก็ได้อำแดงอึ่งมาเป็นภรรยา ร่วมทุกข์ร่วมสุข  อาจูเป็นชายกำยำ  หน้าตาหล่อเหลา เป็นจีนที่แต่งกายแล้วดูงามมีสง่าราศี  ชาวบ้านแหลมรู้จักท่านในนาม "จีนจู"   จีนจูและอำแดงอึ่ง ก็คือทวดทั้งสองของข้าพเจ้า  ซึ่งตำนานชีวิตของท่านทั้งสอง  ยากนักที่ลูกหลานเหลนโหลนจะล่วงรู้ได้  เพราะกาลเวลาผ่านมาเกือบ ๒๐๐  ปี  ยังพอมีญาติพี่น้องที่เหลือพอจำความได้ก็น้อยเต็มทน  แต่ก็พอจะไล่เรียงได้ว่า  ท่านมีบุตรสืบสกุล ๔ คนด้วยกัน คือ
                     ๑.  ปู่โต
                     ๒.  ปู่อี้
                     ๓.  ปู่แพะ
                     ๔.  ย่าแตงไทย


คุณทวีโรจน์  กล่ำกล่อมจิตต์  ได้เขียนประวัติทวดอุดม  โดยอ้างอิงหลักฐานเอกสารเรื่องราวรับโฉนดที่ดินซึ่งระบุว่า  เมื่อวันที่ ๑  ปีระกา  พ.ศ. ๒๔๕๖  มีอายุ ๘๗  ปี  ฉะนั้น ย่อมแสดงว่า  ทวดอุดม จะต้องเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๖๙  อันตรงกับแผ่นดินของรัชกาลที่ ๓


พี่เล็ก (กฤษชัย  สรรพอุดม)  พี่ชายของข้าพเจ้า  ซึ่งเป็นเหลนคนหนึ่งของทวดอุดม  เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่บวชเรียนอยู่ที่วัดในกลาง เมื่อประมาณเกือบ ๔๐  ปีที่ผ่านมา  ได้มีโอกาสรู้จักกับพระอาวุโสรูปหนึ่ง  ท่านชื่อ "คุณตาหลัว"   คุณตาหลัวเคยออกเรือกับปู่โต  สมัยที่คุณตาหลัวยังไม่ได้บวช  การรอนแรมอยู่ด้วยกันกลางทะเลเป็นเวลานาน  ทำให้คุณตาหลัวมีโอกาสฟังปู่โตเล่าเรื่องราวของชีวิตตนและญาติพี่น้องให้ฟัง


ปู่โต เป็นลูกชายคนโตของทวดอุดม  แต่งงานกับย่าม่วย  มีบุตรสืบสกุล ๕ คน คือ
          ๑.  ป้าทองห่อ
          ๒.  ลุงฮก
          ๓.  ลุงไฮ้
          ๔.  เตี่ยกิ่ม
          ๕.  อาง้วน 


ปู่อี้  น้องชาย แต่งงานกับ ย่าเก็บ  ไม่พบว่ามีบุตรสืบสกุล


ปู่แพะ  น้องชาย แต่งงานกับ ย่าแหว มีบุตรสืบสกุล ๓ คนคือ
            ๑.  อาจุ่น ต่อมาแต่งงานกับอาเล็ก และไปใช้นามสกุลของสามี
            ๒.  อาหนูใหญ่  สรรพอุดม
            ๓.  อาหนูเล็ก  สรรพอุดม


ส่วนย่าแตงไทย ซึ่งเป็นน้องสาวและเป็นลูกสาวคนเดียวของทวดอุดม เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดจากทวดอุดม  ได้แต่งงานกับปู่เชย  วิชัยวัฒนะ  และมีบุตรสืบสกุล ๖ คนด้วยกันคือ

          ๑.  อาเจียน  วิชัยวัฒนะ
          ๒.  อาเจือน  วิชัยวัฒนะ
          ๓.  อาล่งใช้  วิชัยวัฒนะ
          ๔.  อาบุญช่วย  วิชัยวัฒนะ
          ๕.  อากิมเฉี่ยง  วิชัยวัฒนะ
          ๖.  อาจรูญ (หนูเล็ก)  วิชัยวัฒนะ


พี่นิด  เชี่ยวสมุทร  เหลนคนหนึ่งของทวดอุดม ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบเมื่อวันที่ไปวัดอุตมิงคาวาสเล่าให้ฟังว่า  ในอดีตเมื่อครั้งที่ทวดอุดมยังมีชีวิตอยู่  มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่บ้านแหลม นั่นคือมีเรือของราชการซึ่งสมัยนั้นมีลักษณะเป็นเรือกลไฟ  ล่องมาตามลำน้ำเพชรบุรี ขณะที่แล่นผ่านถึงบริเวณหน้าวัดต้นสน  เครื่องเรือเกิดระเบิดขึ้นอย่างแรง  เสียงดังสนั่นหวั่นไหว  เป็นผลให้ลูกเรือหลายคนบาดเจ็บ และบางส่วนล้มตาย  ทวดอุดมได้เกณฑ์สมัครพรรคพวก เพื่อนฝูงและชาวบ้านแหลมจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือ ทั้งคนที่บาดเจ็บ และจัดการศพกับคนที่ล้มตาย  รวมทั้งช่วยกู้เรือที่ได้รับความเสียหาย  จนเหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงด้วยดี  ความเป็นผู้นำและความดีที่ทวดอุดมได้กระทำในครั้งนั้น จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง กันในวงกว้างของชาวบ้านแหลม


ตรงกับข้อมูลของคุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ที่เขียนว่า  กาลในครั้งนั้นมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ดุจเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่แห่งท้องคุ้งอ่าวบ้านแหลม  มีชาวบ้านแหลมนามว่า "จีนจู" ได้เข้าช่วยเหลือคนบาดเจ็บ  เก็บศพจากเหตุเรือกลไฟระเบิดด้วยมนุษยธรรม  ต่อมา "จีนจู" ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็น "ขุนอุดมเดชภักดี"  เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจริง และ "จีนจู" ก็มีตัวตนจริง  โดยคุณทวีโรจน์  พบหลักฐานเอกสารโบราณที่เรียกว่า "สารตรา"  คือหลักฐานยืนยันเรื่องราวในอดีต ซึ่งเป็นเอกสารราชการออกจากศาลาลูกขุนฝ่ายขวา ที่ว่าการกรมพระกลาโหม ให้"จีนจู" มีบรรดาศักดิ์เป็น"ขุนอุดมเดชภักดี"   เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๙  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช พ.ศ. ๒๔๓๐ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสารตรานี้ถูกเก็บงำไว้ที่บ้านเดิมของทวดอุดม  และพี่น้อย  เชี่ยวสมุทร  เหลนคนหนึ่งของทวดอุดมได้รับมรดกตกทอดรับบ้านหลังนี้มา  พบเข้าโดยบังเอิญขณะที่ทำความสอาดบ้านช่วงตรุษจีนปี ๒๕๕๐ และกำลังจะนำไปเผาไฟรวมกับเศษขยะอื่น ๆ 


คุณทวีโรจน์  ได้ตรวจดูเอกสารโบราณที่เรียกว่า "สารตรา"  ต้นฉบับจริงเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ มีจำนวน ๒ แผ่น ลักษณะของกระดาษแห้งกรอบหลุดลุ่ย  ต้องนำไปแช่เย็นให้พอชื้น ๆ แล้วนำมาประติดประต่อประกอบเป็นแผ่น สามารถอ่านข้อความได้ราว ๗๐ - ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หัวกระดาษมีตราสัญญลักษณ์กรมพระกลาโหม  มีรูปช้าง  ใต้รูปช้างมีอักษรตัว   R   C    S   ไขว้กันอยู่  สันนิษฐานว่าเป็นสัญญลักษณ์กรมพระกลาโหม



ความในท้องตราตั้งฉบับนี้ พอสรุปเนื้อความได้  ดังนี้.-

พระยาสุรินฤาไชย  ราชทินนามเจ้าเมืองเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐  ตามสารตราฉบับนี้ คำนวณ พ.ศ. การดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ (จุลศักราช ๑๒๔๙)  พระยาสุรินฤาไชยท่านนี้คือ นายเทศ บุนนาค โดยนายเทศ บุนนาค ได้มีหนังสือเข้าไปยังศาลาลูกขุนในฝ่ายขวาที่ว่าการกรมพระกลาโหม ว่าที่เมืองเพชรบุรีมีโจรสลัดออกปล้นราษฎรในแถบอำเภอบ้านแหลม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ทรงทราบเรื่อง จึงได้โปรดพระราชทานเรือชื่อว่าเรือต่อสู้ไพริน พร้อมกัปตัน ต้นหน คนงาน ทหารปืนใหญ่เล็กพร้อมสรรพ  เพื่อลาดตระเวณจับโจรสลัด  ครั้นพอถึงวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีจอ อัฐศก ๑๙  คำนวณย้อนกลับ ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๙  เรือต่อสู้ไพรินซึ่งเป็นเรือขับเคลื่อนด้วยระบบแรงดันไอน้ำ อันเป็นเรือพระราชทานมาลาดตระเวณจับโจรสลัดและผู้ร้ายปล้นสะดม ได้เกิดอุบัติเหตุ หม้อไอน้ำสตรีมบนเรือได้เกิดระเบิดขึ้น  เป็นผลให้กัปตัน ช่างเครื่อง คนงาน กะลาสีได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก



เหตุเพราะท่อน้ำเรือระเบิด มีคนเจ็บ คนตายในครั้งนั้น ได้มีข้าราชการ อาทิ ขุนศรีวิเศษ  ขุนละคร  ขุนรองจ่าเมือง  และมีราษฎรชาวบ้านแหลมชื่อว่า "จีนจู"  ได้ช่วยกันกู้เรือต่อสู้ไพริน พร้อมทั้งลำเลียงคนบาดเจ็บ  เก็บศพคนตายด้วยความเข้มแข็ง 



ความดีความชอบในการกอบกู้เรือ ช่วยเหลือคนบาดเจ็บล้มตายของจีนจู  ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  พระองค์มีเมตตาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งจีนจูเป็นขุนอุดมเดชภักดี  เป็นนายอำเภอจีนแห่งบ้านแหลม โดยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระยาสุรินทรฤาไชย (เทศ บุนนาค)  เจ้าเมืองเพชรบุรี



ทั้งนี้ยังโปรดเกล้า ฯ  ให้ขุนอุดมเดชภักดี มีอำนาจหน้าที่ระงับ ว่ากล่าวราษฎรไทยจีน มิให้ทะเลาะวิวาท  คอยดูแลมิให้ราษฎรไทยจีนไปเป็นโจรผู้ร้าย ปล้นสะดม ลักขโมย หรือทำลายพระพุทธรูปสถูปเจดีย์โดยสรุปมิให้มีการกระทำผิดด้วยพระราชกำหนดกฏหมายทั้งมวลด้วยประการทั้งปวง 



ความข้างต้นคือข้อมูลที่คุณทวีโรจน์  ได้พบในสารตรา ในบ้านของทวดอุดม ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ ครอบครัวของพี่น้อย เชี่ยวสมุทร อาศัยอยู่  และประวัติของทวดอุดมดังกล่าวข้างต้นถูกบันทึกไว้ที่วัดอุตมิงคาวาส โดยท่านเจ้าอาวาสสมพงษ์ เป็นผู้รวบรวม และคุณทวีโรจน์ เป็นผู้เขียนไว้



ทวดอุดม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีโอกาสจับจองที่ดินไว้ทำกินมากมายหลายแปลง จึงนับเป็นโชคดีของลูกหลานที่ได้รับมรดกตกทอดที่ดินเหล่านั้นไว้ทำกินในปัจจุบัน และทวดอุดมก็ยังได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งของท่านเพื่อสร้างวัดอุตมิงคาวาส 




ท่านเจ้าอาวาสวัดอุตมิงคาวาส ได้บันทึกประวัติของวัดไว้ว่า  วัดนี้สร้างด้วยทุนทรัพย์เพียง ๑๕ ชั่ง ๘ ตำลึง  โดยจีนโป๊และแม่เงิน จำนวน ๑๐ ชั่ง ,  พ่อเขียวแม่เหม จำนวน ๒ ชั่ง , แม่แก้ว จำนวน ๔ ชั่ง , จีนตังแชและแม่แดง จำนวน ๔ ตำลึง  ร่วมด้วยชาวบ้านที่ช่วยกันออกสิ่งของต่าง ๆ คิดเป็นเงิน ๓ ชั่ง การก่อสร้างเริ่มด้วย ขุนอุดมเดชภักดี และ แม่อึ่ง ภรรยา ถวายที่ดินสร้างวัดจำนวน ๒๒ ไร่ ๙๔ ตารางวา เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๓๔   ได้ลงมือสร้างอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ปีมะเส็ง ร.ศ. ๑๑๐)  ด้วยไม้ทั้งหลัง  หลังคามุงด้วยกระเบื้องแผ่นเล็ก ชาวบ้านจะเรียกว่า "วัดปากอ่าว"  เพราะอยูใกล้ปากทะเล




ต่อมาสภาพทรุดโทรม จึงมีการบูรณะใหม่  แต่การสัญจรเข้าวัดค่อนข้างลำบาก เพราะต้องสัญจรทางเรือ  ย่าแตงไทยและอากิมเฉี่ยง จึงได้บริจาคที่ดินให้สร้างถนนเข้าวัด  การสัญจรจึงสดวกสบายขึ้น ชาวบ้านเรียกชื่อถนนนี้ว่า "ถนนแม่แตงไทยอุทิศ"




วัดนี้มีพระอธิการหวัง เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๔๕  เรื่องนี้พี่นิด เชี่ยวสมุทร  เหลนของทวดอุดมเล่าว่า พระอาจารย์หวังเป็นพระจากถิ่นอื่น มาจำวัดที่เพชรบุรีนานมากจนคุ้นเคยชอบพอกับทวดอุดม  เมื่อครั้นท่านจะอำลาไป ทวดอุดมก็เสียดายไม่อยากให้ไป  อยากให้อยู่เป็นศูนย์พุทธของชาวบ้านแหลม นี่เองจึงเป็นที่มาของการถวายที่ดินสร้างวัดอุตมิงคาวาสและพระอาจารย์หวังเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  หลังจากที่พระอาจารย์หวัง มรณภาพ พระอาจารย์เปลี่ยนก็เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา  หลังจากนั้นก็เป็นหลวงพ่อเห่ง (พระครูวชิรกิจโสภณ) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ พระครูโสภิตวัชราทร เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔  และองค์ปัจจุบันคือหลวงพ่อสมพงษ์ ธนวโส เป็นองค์ที่ ๕ และสภาพวัดในปัจจุบันได้รับการบูรณะต่อเนื่องมาอย่างดี  




ส่วนในเรื่องการปกครองคนชาวบ้านแหลมในอดีตครั้งกระโน้น เจ้หวิง สรรพอุดม อายุ ๘๐ ปี พี่สาวต่างมารดาของข้าพเจ้า ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า  ทวดอุดมเป็นผู้ปกครองชาวบ้านแหลม ที่สามารถเอาคนที่กระทำความผิด ขังไว้ที่ใต้ถุนคุก


เมื่อเอ่ยถึงคำว่า"ใต้ถุนคุก"  ข้าพเจ้าก็พอจะจำความได้ว่า บ้านที่ตลาดบ้านแหลม แต่เดิมเป็นบ้านไม้ทรงไทยที่จะใช้อยู่อาศัยเพียงชั้นบน  มีบันไดขึ้นที่หน้าบ้าน และมีกระถางสี่เหลี่ยมอยู่ด้านขวามือของบันได เพื่อใช้สำหรับล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน  ส่วนชั้นล่าง จะมีฝากั้นที่ทำจากไม้ไผ่ซีก ๆ ขัดแตะล้อมไว้โดยรอบ ทำให้ดูทึม ๆ น่ากลัว  ข้าพเจ้าได้ยินแม่เรียกว่า "ใต้ถุนคุก"  ใต้ถุนคุกบ้านโบราณของคนธรรมดา จึงมักใช้เป็นที่เก็บข้าวของ  แต่สำหรับผู้ปกครอง ใต้ถุนคุก น่าจะใช้เป็นที่คุมขังคนผิด 



และเรื่องใต้ถุนคุก  ยังมีเรื่องเล่าจากพี่นิด  เชี่ยวสมุทร เหลนทวดอุดมว่า  ในครั้งหนึ่งปู่แพะ ไปมีเรื่องกับพ่อหมอเสี่ยน   อีตาหมอเสี่ยนนี่เป็นหมอประจำบ้านซึ่งชาวบ้านแหลมนิยมใช้บริการ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็แค่วิ่งไปตาม หมอเสี่ยนก็จะมาทันทีพร้อมกับร่วมยาที่รักษาได้สารพัดโรค  ในครั้งนั้นพ่อหมอเสี่ยนเป็นฝ่ายถูก  ปู่แพะเป็นฝ่ายผิด  แต่ความที่ปู่แพะเป็นลูก ทวดก็สงสาร แต่หากจะไม่เอาผิดก็ไม่ได้เพราะตนเป็นผู้ปกครอง  มีคนแนะนำว่า ให้ผลักปู่แพะเข้าใต้ถุนคุก แล้วก็เปิดประตูให้ออกทันที ก็ได้ชื่อว่าถูกขังแล้ว  แต่ทวดอุดมไม่ยอมเพราะเสียศักดิ์ศรี จึงจับปู่แพะเข้าใต้ถุนคุก และวิ่งเต้นขออภัยโทษในเวลาต่อมา



ชื่อ และ นามสกุล ของทวดอุดมและครอบครัว  น่าจะมีการขออนุญาติใช้ในสมัยของรัชกาลที่ ๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่รัชกาลที่ ๖ ได้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อ  ๒๒  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕  และมีผลบังคับ ให้ใช้ตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  มาได้ระยะหนึ่ง  ที่คาดเดาเช่นนี้เกิดจากการตรวจสอบแล้วว่า การพระราชทานนามสกุลครั้งแรกจำนวน ๖,๔๓๒  นามสกุลในรัชกาลที่ ๖  ไม่พบว่ามีนามสกุลนี้แต่อย่างใด


ลูกหลานของทวดอุดม ได้แตกสาขากันมาหลายรุ่น  แต่ที่เป็นสายใหญ่ ๆ เห็นจะมีเพียง ๒ สายคือ


สายแรกเป็นสายของปู่โต และย่าม่วย ซึ่งมีบุตรสืบสกุล ๕ คน คือ 

    ๑. ป้าทองห่อ สรรพอุดม ซึ่งต่อมาป้าทองห่อได้แต่งงานกับลุงเกา ซื่อเสียง มีบุตร ๓ คน คือ เจ้ส้มเกี่ยง ซื่อเสียง ,  เจ้หนูเก็บ ซื่อเสียง , เฮียมัก  ซื่อเสียง 

    ๒. ลุงฮก สรรพอุดม พบว่า ได้แต่งงานครั้งแรกกับป้าพุ้ย คนบ้านใน มีลูก ๑ คนชื่อประไพ สรรพอุดม และแต่งงานครั้งที่ ๒  กับป้าฮ่งล้วน มีลูก ๒ คนคือ เจ้กิมเลี้ยง สรรพอุดม และ พี่บุญเหลือ สรรพอุดม 

    ๓. ลุงไฮ้  สรรพอุดม   มีครอบครัวและมีบุตรเท่าที่พอทราบก็คือ เจ้เสี่ยน ,  เจ้เหงี่ยม ,   เจ้หงวน และ  ครูสมใจ สรรพอุดม

   ๔. เตี่ยกิ่ม สรรพอุดม ได้แต่งงานครั้งแรก มีบุตร ๕ คน ชื่อ อู้ด ,  เล็ก  ,  เยื้อน ,  หวิง  ,  ชั้น  ต่อมาเมียคนแรก  และบุตร ๓ คนแรกได้ถึงแก่กรรม เหลือเจ้หวิงเล่าว่า  เตี่ยได้นำไปเลี้ยงที่ตลาด โดยจ้างยายน้อยให้เลี้ยงดู  ส่วนเจ้ชั้นนั้น ป้าใหม่ ซึ่งเป็นพี่สาวแม่เจ้หวิง ได้นำเจ้ชั้นไปช่วยเลี้ยงดู  ภายหลังป้าห่อสงสารเจ้หวิง ก็เลยเอามาเลี้ยงดูอย่างถาวร  หลังจากเมียคนแรกถึงแก่กรรม ก็ได้มาแต่งงานกับแม่หวย แหลมสุข และมีบุตร ๗ คนด้วยกัน คือ  สุนันท์  สรรพอุดม (อดุลยชาติ) , ณรงค์ สรรพอุดม , น้อย สรรพอุดม, กฤษชัย สรรพอุดม ,สมยศ สรรพอุดม , จารุณี สรรพอุดม (มณีปุระ) และประพนธ์ สรรพอุดม


   ๕. อาง้วน สรรพอุดม  ได้แต่งงานกับอาเบี่ยง มีบุตร ๗ คนด้วยกันคือ เจ้เหมา สรรพอุดม ,พี่ชุม สรรพอุดม ,  พี่อ้วน สรรพอุดม , พี่อี๊ด สรรพอุดม , พี่ระเบียบ สรรพอุดม , พี่สมบัติ สรรพอุดม , พี่สมบูรณ์ สรรพอุดม


อีกสายหนึ่งเป็นสายของย่าแตงไทย กับปู่เชย วิชัยวัฒนะ ซึ่งมีบุตร ๖ คน คือ

   ๑. อาเจียน วิชัยวัฒนะ ซึ่งสมรสกับคนในตระกูลศุทธยาลัย มีบุตร ๔ คนคือ พี่จรุง ศุทธยาลัย , พี่จรี ศุทธยาลัย , พี่จรินทร์  ศุทธยาลัย , พี่เป้า ศุทธยาลัย

   ๒. อาเจือน วิชัยวัฒนะ สมรสกับอาเส็ง เชี่ยวสมุทร มีบุตร ๑๐ คน คือพี่เซี้ยง เชี่ยวสมุทร , พี่ศักดิ์ เชี่ยวสมุทร ,  พี่ยศ  เชี่ยวสมุทร , พี่น้อย เชี่ยวสมุทร , พี่นิด เชี่ยวสมุทร , พี่จิ้มลิ้ม เชี่ยวสมุทร , พี่อ้วน เชี่ยวสมุทร , พี่เรียม เชี่ยวสมุทร , พี่จรวย เชี่ยวสมุทร ,  พี่แดง  เชี่ยวสมุทร 

   ๓. อาล่งใช้  วิชัยวัฒนะ ถึงแก่กรรม

   ๔. อาบุญช่วย วิชัยวัฒนะ สมรสกับคนในตระกูลประเสริฐพันธ์ มีบุตร ๕ คน คือ  พี่ชุลี ,พี่อ๊อด , พี่อี๊ด , พี่แอ้ด , พี่ฑูรย์

   ๕. อากิมเฉี่ยง วิชัยวัฒนะ โสด

   ๖. อาจรูญ วิชัยวัฒนะ ซึ่งส่วนใหญ่คนบ้านแหลมจะเรียกอาหนูเล็ก เพราะเป็นลูกคนเล็กของย่าแตงไทย  อาหนูเล็กเป็นโสด แต่ก็ได้รับอุปการะเด็กหญิง ๑ คนไว้เป็นบุตรบุญธรรม ชื่อเด็กหญิงปัทมา วิชัยวัฒนะ 


ลูกหลานเหลนโหลนแห่งตระกูลสรรพอุดมทั้งหลาย นี่คือตำนานแห่งตระกูล ซึ่งเรามีบรรพบุรุษที่กระทำคุณงามความดีต่อประเทศชาติ  จึงเป็นสิ่งที่คนในตระกูล "สรรพอุดม" ทั้งหลายควรภาคภูมิใจ และแซ่ซ้องคุณงามความดีของบรรพบุรุษเรา  "ทวดอุดม สรรพอุดม" ซึ่งปัจจุบันอัฐิของท่านเก็บไว้ที่เจดีย์ขาว ณ.วัดอุตมิงคาวาส 



ข้อมูลของตระกูลที่รวบรวมไว้นี้ เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการบอกเล่าของญาติพี่น้องรุ่นเก่า ๆ หลาย ๆ  คน ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง  หากมีญาติพี่น้องคนใดมีข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะทำให้ประวัติเกิดความสมบูรณ์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง จึงขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ.โอกาสนี้


ขอขอบคุณท่านเจ้าอาวาสวัดอุตมิงคาวาส และคุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ที่อนุเคราะห์ให้ข้อมูลมากมาย ไว้ ณ.โอกาสนี้ 

6 ความคิดเห็น:

  1. ผมนามสกุล สรรพอุดมครับ แต่เท่าที่อ่านมาไม่รู้จักเลยคุณย่าชื่อแรม บ้านอยู่ดำเนิน ราชบุรี เท่าที่รู้มาคือมีทวดเป็นชาวจีน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดีใจที่พบญาติพี่น้องตระกูลสรรพอุดม จีนจู(ทวดอุดม) มีลูกชาย ๓ คน แต่ละคนก็แตกลูกหลานออกไปมากมาย สมัยก่อนที่ถนนเป็นทางเกวียน การสัญจรต้องใช้เรือเป็นหลัก ระหว่าง บ้านแหลม กับ ดำเนินสดวก ล่องเรือไม่ถือว่าไกล ญาติพี่น้องก็กระจัดกระจายกันอยู่แถวๆนี้ ลองสืบดูญาติทางปู่ อาจจะโยงถึงกันก็ได้นะ

      ลบ
    2. สวัสดีครับ กลับมาอ่านอีกครั้งในรอบ 9 ปี ขอบคุณมากนะครับที่มาตอบ ผมแนะนำให้คุณ Ja ลองไปเพิ่มข้อมูลในเว็ปไซต์ www.familysearch.org นะครับ จะทำให้ให้การผูกญาติของพวกเรามีความชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น เห็นเส้นทางของลูกหลาน ลองไปสมัครแล้วค้นหา สรรพอุดม เพื่อต่อยอดสำมะโนครัวได้เลยครับ ......... ผมไปสืบค้นเชื่อสายทางปู่ (สนิท สรรพอุดม) และปู่ทวด (ปั่น สรรพอุดม) แต่จากที่ข้อมูลที่คุณ ja เขียนไว้ไม่มีเลยคิดว่า น่าจะแตกสายออกไปไกลมาก ฟังจากเรื่องเล่าของย่า (แรม ผลวิชา) ก็ได้แค่บอกว่า ต้นกำเนิดอยู่ทางเพชรบุรี เป็นชาวจีนแค่นั้น ยินดีมากที่ไม่ได้โดดเดี่ยวมีญาติพี่น้องมากมายขนาดนี้ครับ

      ลบ
  2. ขอบคุณ ข้อมูลคับ วัดบ้านเกิด หาข้อมูลโคตรยากวัดนี้ ขอบคุณคับ

    ตอบลบ
  3. ผมก็เป็นคนในตระกูลสรรพอุดม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ลองไปเพิ่มข้อมูลใน www.familysearch.org เราอาจจะได้ผูกเส้นทางญาติกันที่นั่นครับ

      ลบ