บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชีวิต..เลือกได้




ถ้าเปรียบระหว่างความสุขและความทุกข์  คงไม่มีใครที่จะเลือกความทุกข์  ทุกคนอยากได้ความสุขมาอยู่กับตัวเอง  แต่ชีวิตจริงของคนเรา ไม่มีชีวิตใดที่จะสุขตลอด  และไม่มีชีวิตใดที่จะทุกข์จนชั่วนิรันดร์ 

เพราะความสุขและความทุกข์เป็นของคู่กัน  ทุกชีวิตจึงมีทั้งสุขและทุกข์เหมือนตะวันขึ้นและลับขอบฟ้า วนเวียนเช่นนี้ตามวัฏจักร์ชีวิตและหนทางที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง  ถ้าเราเข้าใจชีวิตเราก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข  โดยเฉพาะความสุขจากการเลือกหนทางชีวิตเอง

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตของสามีภรรยาคู่หนึ่ง เมื่อครั้งไปพักผ่อนบ้านเพื่อนที่ชะอำ และใช้ชีวิตติดดิน ด้วยการสัมผัสชีวิตจริงของผู้คนที่หลากหลายในตลาดชะอำ 

ตลาดชะอำในเช้าวันนั้นคึกคักไปด้วยผู้ซื้อและผู้ขาย   เสน่ห์ของตลาดแห่งนี้เห็นจะเป็นเรื่องอัธยาศัยของคนท้องถิ่น  ที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ร้านค้าหลาย ๆ ร้านจึงแน่นไปด้วยผู้คนที่มา ซื้อบ้าง ชิมบ้าง ไม่มีการว่ากันเหมือนแม่ค้าในกรุงเทพ   หลาย ๆ ร้าน ทำอาหารรสชาดอร่อย  จึงทำให้พวกเราเพลิดเพลินไปกับการชิม  การซื้อ  หลาย ๆ เจ้า จนกระทั่งมาสะดุดตาอยู่ที่ร้านขายอาหารร้านหนึ่งที่ดูสะอาดสะอ้าน  มีอาหารหลายอย่าง ขายในราคาเพียงถุงละ 20.- บาท แม่ค้าหน้าตาดี  แต่งกายเรียบร้อย  เมื่อเริ่มพูดคุย ก็รับรู้ได้ถึงอัธยาศัย เราจึงติดใจชวนกันพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ  เกี่ยวกับเรื่องอาหาร


ร้านของเธอติดทีวี ให้ลูกค้าดูด้วย และเธอเลือกเปิดช่อง Nation  ด้วยเหตุผลส่วนตัวของเธอ  เธอเล่าว่า เคยเป็นครูมาก่อน ความที่มีอาชีพครู ทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด เพื่อจะไปสอนคนอื่น เมื่อครั้งตัดสินใจมาขายอาหาร ทำไม่เป็นแม้กระทั่งการมัดถุง ซึ่งเป็นสิ่งที่มองแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ   แต่ก็ทำไม่ถนัดจนต้องฝึกหัดจริงจัง  เพื่อหวังจะสอนคนอื่นด้วยตามวิสัยครู หาวิธีการของตัวเองจนสามารถทำได้คล่องแคล่วด้วยแบบฉบับเฉพาะตัว


พ่อแม่เป็นเกษตรกร ทำงานในโครงการพระราชดำริหุบกระพง  ความที่เป็นเด็กเรียนดี  จึงได้รับพระราชทานโอกาสจากในหลวง ให้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนจิตรลดาจนจบ  หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย  ก็มีโอกาสเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกชนดอนบอสโก และพบรักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ในสถาบันเดียวกัน  ทั้งสองจึงตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง จึงลาออกจากงานและมาประกอบกิจการเล็ก ๆ ส่วนตัว ทำอาหารขาย ตามประสพการณ์และเงินทุนที่มีอยู่


เธอเป็นแม่ค้าที่มีระดับทีเดียว  ลูกค้าทั้งหลายที่มาอุดหนุนซื้ออาหารของเธอ ไม่ทราบเลยว่าเธอมีความรู้ภาษาอังกฤษระดับเทพ  วันหนึ่งมีฝรั่งตาน้ำข้าว มาซื้ออาหารร้านเธอ  และวิจารณ์ในหลวงของเราอย่างผิด ๆ  เธอส่งภาษาตอบโต้กลับในทันทีโดยไม่สนใจว่าเขาจะซื้อหรือไม่  เพราะเธอเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักในหลวงดีเท่ากับคนไทย  เธอจะไม่ยอมให้ใครกล่าวถึงในหลวงในทางที่ผิด ๆ


ข้าพเจ้าประทับใจในตัวเธอนัก  และเห็นว่าการกระทำของเธอถูกต้องเหมาะสม  เธอมีความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์   เพราะมิใช่เพียงแต่ประกอบอาชีพด้วยความสุจริตเท่านั้น เธอ ยังรัก หวงแหน และปกป้องสิ่งที่คนไทยทั้งชาติรักและเทิดทูน  เพียงการพูดคุย ก็รับรู้ได้ถึงแนวคิดรักชาติ  รักแผ่นดิน  และแนวการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง


ข้าพเจ้าคิดไปเองว่า  เธอเป็นคนที่มีการศึกษาสูงมากคนหนึ่งเมื่อเทียบกับคนในระดับท้องถิ่น อาชีพครูน่าจะมีความเหมาะสมกับเธอแล้ว  แต่เธอมีปัญหาอันใดหนอ ถึงได้ตัดใจละทิ้งอาชีพอันทรงเกียรติและหันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเช่นนี้

แต่ที่ได้เห็นด้วยสายตาก็คือ  ความสุขในทุกอิริยาบทของการกระทำ สิ่งที่เห็นทำให้ข้าพเจ้าได้ข้อคิดว่า ความสุขมันมีอยู่ทุกแห่งหนจริง ๆ  มิใช่เรื่องที่จะหาได้ยากเลยแม้แต่น้อย  เพราะความสุขมันเกิดจากใจที่ยอมรับในสิ่งที่เป็น  และพอใจในสิ่งที่เลือก

เธออาจจะเคยได้รับความทุกข์มาบ้างในชีวิต  แต่ทุกข์และสุขเป็นของคู่กัน ไม่มีใครเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้  เมื่อเราพอใจในความเรียบง่าย และเลือกที่จะเดินในเส้นทางที่เรียบง่ายโดยยึดความพอเพียงเป็นที่ตั้ง  เราก็สามารถมีความสุขได้ในหนทางที่เลือกนั้น

เพราะชีวิตเรา..เลือกได้ 

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันแต่งงาน..ความทรงจำหนึ่งในชีวิต




การแต่งงานคือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตคนเรา ที่หญิงชายคู่หนึ่งที่มีความรักต่อกัน ได้ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ สร้างครอบครัวใหม่  การที่คู่รักทุกคู่ให้ความสำคัญในการทำพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี  ถือเป็นเรื่องที่ดีงามเพราะนอกจากจะแสดงถึงการให้เกียรติ์ของฝ่ายชายต่อฝ่ายหญิงแล้ว  พิธีแต่งงานของหลาย ๆ คู่ ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติตามพิธีไทย จีน คริสต์  อิสลาม ล้วนมีเรื่องราวที่เป็นความทรงจำที่ดี ๆ  สำหรับคนทั้งสองเมื่อได้ตัดสินใจเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่

ข้าพเจ้ามีหลาน ๆ หลายคนที่แต่งงานกันแล้ว  และเลือกปฏิบัติพิธีตามธรรมเนียมไทย ๆ  แก่นแท้ของธรรมเนียมประเพณีไทย มีเคล็ดลับของวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของพิธีการ สื่อความหมายในเรื่องของ "มงคล"  เป็นหลัก ประเพณีไทยถือว่า  หากทุกสิ่งเริ่มด้วยมงคลแล้ว  ก็จะเป็นมงคลไปตลอดชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ "ชีวิตครอบครัว"   ที่ทุกคนต้องการให้ยืนยาว ไม่มีใครต้องการบ้านแตกสาแหรกขาดหรือหย่าร้าง  การตัดสินใจเลือกคู่ครอง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก ที่แต่ละคนที่จะต้องดูให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้  ก่อนตัดสินใจ เพราะคนที่เราตัดสินใจเลือก จะต้องอยู่กับเราไปจนชั่วชีวิต   การเลือกคู่ชีวิตได้ถูกต้อง ถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตตนเองไปส่วนหนึ่งแล้ว


เมื่อได้ตัดสินใจแล้ว  พิธีแต่งงานก็จะเริ่มขึ้น  คงจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ที่จะต้องร่วมกันจัดทำพิธี  ความเหนื่อยยากในช่วงเวลาเตรียมงาน คงไม่ต้องพูดถึงว่าพ่อแม่เหนือยยากแค่ไหน แต่ผลที่สุดเพียงความสุขของลูก พ่อแม่ก็คงพอใจแล้ว  ไม่ว่าบ้านไหน ๆ ก็คงเหมือนกัน  สิ่งเหล่านี้ ผู้เป็นลูกผู้สุขสมหวัง จึงไม่ควรมองข้าม   กตัญญูรู้คุณบิดามารดา จึงเป็นเรื่องที่ควรจดจำให้ขึ้นใจ




การเจรจาสู่ขอ ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการแต่งงาน  การสู่ขอเป็นพันธะสัญญาแรกของคนสองฝ่าย  คือชายฝ่ายหนึ่งกับหญิงอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ได้มาร่วมโต๊ะเจรจากันในเรื่องสำคัญของครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น  เรื่องของสินสอด  เรื่องของเงิน  เรื่องของงานพิธี  เรื่องของการใช้ชีวิต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความห่วงใยของผู้เป็นบิดามารดา   เมื่อการเจรจาสู่ขอสำเร็จลง  ถือได้ว่าเทียนเล่มหนึ่งที่มีความใหญ่และหนักแน่น บรรจุไปด้วยความรักและหวังดีของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ได้ถูกจุดให้สว่างไสวขึ้นแล้วสำหรับชีวิตคู่  หน้าที่ต่อไป จึงเป็นเรื่องของคนทั้งสองที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องช่วยกันสานต่อให้แสงเทียนสว่างไสวรุ่งโรจน์ต่อไปให้นานที่สุด






ครั้นเมื่อวันแต่งงานมาถึง   พิธีแรกของวันแต่ง  ก็จะเป็นเรื่องพิธีทางสงฆ์  ที่พระสงฆ์จะมาสวดเจริญพระพุทธมนต์  และให้คู่บ่าวสาวได้ทำบุญตักบาตรร่วมกัน ให้เป็นมงคลแรกแห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่   ความเชื่อโบราณที่ว่า "ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน"   ยังคงสามารถยึดถือได้อยู่  ประเพณีไทยมีความดีงามที่ตรงนี้เอง  คือการทำในสิ่งที่เป็นมงคล



การแห่ขันหมาก ถือเป็นช่วงหนึ่งของพิธีการที่สร้างความครึกครื้นให้กับงานแต่งงานอย่างมาก  ฝ่ายชายจะยกขบวนกันมาเพื่อประกาศแก่ชาวโลกว่า พิธีแต่งงานกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว  ญาติพี่น้องที่มาร่วมแสดงความยินดี ก็จะเข้าร่วมในขบวนขันหมากด้วย  ขบวนนี้จะประกอบไปด้วย ชุดขันหมากเอก และ ชุดขันหมากโท  เพื่อนำไปให้ฝ่ายหญิง




ชุดขันหมากเอก จะประกอบไปด้วยพานบรรจุหมาก พลู พืชมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบรัก ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม  และพานสินสอดของหมั้น , พานแหวนหมั้น , พานธูปเทียนแพ  การแต่งงานถือเป็นการสร้างครอบครัวใหม่ ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ถือเป็นทุนเรือนต้น สำหรับครอบครัวใหม่ ที่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายหวังจะให้มีความงอกเงยเพิ่มพูน  จึงใช้พืชมงคล โรยเป็นฤกษ์ชัย บนกองทรัพย์สินเหล่านี้  







ส่วนชุดขันหมากโท  ประกอบไปด้วยพานใส่ขนมไทย ๆ , ผลไม้ไทย ๆ  ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ทองหยิบ  ทองหยอด  ขนมชั้น ขนมทองเอก  รวมถึงต้นอ้อยและต้นกล้วย   การใช้ต้นอ้อย ต้นกล้วยในขบวนขันหมาก ก็มีความหมายในทางมงคลแฝงอยู่ ต้นกล้วยเป็นไม้ที่แตกหน่อเจริญเติบโตง่าย  แทนความหมายเรื่องความเจริญรุ่งเรืองงอกงาม   ส่วนอ้อยเป็นไม้ที่มีความหวาน จึงแทนความหมายในเรื่องของความรักความหวานชื่น สิ่งของเหล่านี้ ตามโบราณถือเป็นของมงคลทั้งสิ้น




เมื่อขบวนขันหมากมาถึง  ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงซึ่งรอต้อนรับอยู่แล้ว ก็ออกมาเชิ้อเชิญ การเชื้อเชิญเป็นการแสดงไมตรีจิตในฐานะที่จะมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน   มักจะให้เด็กหญิง หรือ สาวหน้าตาดี ยกพานไปเชิญขันหมาก  การนำพานไปเชิญขันหมากถือเป็นการให้เกียรติ์  ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายมักจะตอบแทนน้ำใจด้วยการให้ของกำนัล ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ซองใส่เงินเป็นสินน้ำใจ



เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง  ก็ใช่ว่าจะเข้าได้ถึงก้นครัวได้ทันที  พิธีไทย มักจะถือเคล็ดว่าจะต้องผ่านด่านเล็ก ด่านน้อย หลาย ๆ ด่านก่อน  ก็ไหน ๆ จะยกลูกสาวให้ทั้งที ก็ต้องมีพิธีรีตรองกันหน่อยจึงมักจะนำสายสร้อยเงินบ้าง ทองบ้าง  บางคนก็ใช้เข็มขัด  มากั้นไว้เสมือนดั่งเป็นประตู  ฝ่ายชายก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแต่ละประตูไป จึงจะผ่านได้  พิธีการนี้ช่วยสร้างความครื้นเครงได้มากทีเดียว โดยเฉพาะงานแต่งงานของหลานสาวข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555  อาจารย์เปรมจิตร  สรรพอุดม  ผู้มีศักดิ์เป็นน้าสะใภ้ของเจ้าสาว  ได้จัดการกั้นถึง 4 ประตู คือประตูเงิน  ประตูทอง  ประตูนาคและประตูแก้วเพิ่มอีก 1 ประตู  แถมยังบรรจงแต่งกลอนทำนองเสนาะ  กำกับแต่ละประตู ทั้งเป็นผู้อ่านกลอนทำนองเสนาะนั้นด้วยตัวเองอีก   สร้างความปลาบปลื้มแก่พ่อแม่ฝ่ายชาย และเพิ่มสีสันขบวนขันหมาก ให้มีความน่ารักมากทีเดียว


เมื่อผ่านประตูทั้ง 4 มาแล้ว ขบวนขันหมากก็เข้าไปถึงฝ่ายในที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงรอรับอยู่  ทำการส่งมอบขันหมากที่นำมาจนครบถ้วน  ฝ่ายหญิงก็ตอบแทนน้ำใจ โดยมอบซองเงินเป็นของกำนัลเป็นสินน้ำใจแก่ผู้ถือขันหมาก   ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย จะทำการเจรจากันถึงความเป็นมาที่เคยเจรจาสู่ขอกันไว้และสินสอดทองหมั้นที่ได้นำมา  เพื่อให้ฝ่ายหญิงตรวจสอบว่า เป็นไปตามที่ตกลงกันหรือไม่  เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว   จึงเชิญเจ้าสาวมา  เพื่อจัดทำพิธีหมั้นและ แต่งงานต่อไป  ส่วนเงินสินสอดทองหมั้น  ถือว่าเป็นทรัพยมงคล ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย  จะช่วยกันโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ถั่ว งาให้ศีลให้พรให้เกิดผลงอกเงยเป็นศิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวแล้วจึงมอบให้แม่ของฝ่ายหญิง











ส่วนแหวนหมั้น จะถูกกันไว้เพื่อให้เจ้าบ่าวสวมนิ้วนางเจ้าสาว  ปัจจุบันมีประเพณีเปลี่ยนไป นิยมนำเอาประเพณีฝรั่งเข้ามาผสมผสานด้วย เจ้าสาวก็จะเตรียมแหวนมาสวมให้เจ้าบ่าวด้วยเป็นการตอนแทน  พิธีไทยแต่เดิมเรื่องนี้ไม่เคยมี  แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย การให้ซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีงาม




เมื่อหมั้นหมายกันเรียบร้อยแล้ว ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย ก็จะให้คู่บ่าวสาวทำพิธีไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  การไหว้นี้ถือเป็นการขอขมาในสิ่งใด ๆ ที่เคยได้ล่วงเกินมาในอดีต  จึงนิยมใช้พานธูป เทียนแพ และ ผ้า ในการขอขมา  เมื่อผู้ใหญ่รับการขอขมาแล้ว  ก็จะให้ศีลให้พรและให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว







ปัจจุบันพิธีการไหว้ด้วยผ้าแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งของอย่างอื่น  ความรู้สึกว่าเป็นการขอขมา จึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นการให้ของกำนัลต่อญาติผู้ใหญ่ไปแทน  ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  เมื่อทำพิธีไหว้ผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของพิธีการ คือพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์







ที่เรียกว่าหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ก็คือการนำน้ำพระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีช่วงเช้า มาหลั่งที่มือให้คู่บ่าวสาวได้มีความสุข ความเจริญ  โดยพ่อแม่พี่น้อง รวมถึงญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายได้กล่าวอวยพรผ่านสายน้ำ พิธีการในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตและยิ่งผ่านการสวดเจริญพระพุทธมนต์  ย่อมถือได้ว่าคู่บ่าวสาวได้รับพรศักดิ์สิทธิ์จากญาติพี่น้องโดยตรง


เมื่อเสร็จจากขั้นตอนพิธีการ  ก็ถึงเวลาที่คู่บ่าวสาวจะร่วมฉลองสมรสกันให้สนุกสนานคริ้นเครง เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง ที่มาร่วมแสดงความยินดีกันมากมาย ก็จะร่วมกันเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่  เรียกว่าอิ่มกันสุด ๆ จึงค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน  เป็นเสร็จพิธีของการแต่งงาน




การแต่งงาน เป็นเพียงการเริ่มต้นในการเดินทางของชีวิตคู่เท่านั้น  แต่หนทางเดินข้างหน้า มันยังมีอีกยาวไกล  ชีวิตมิได้อยู่ที่ความรักเพียงอย่างเดียว  หากแต่ความเข้าใจกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน  จะเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต  หากรู้  เข้าใจ  และปฏิบัติได้  ชีวิตคู่ที่ยืนยาวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด   ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า ชีวิตคู่ของหลานรักทุก ๆ  คู่จะเป็นเช่นนั้น......ตลอดไป













วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันนี้เมื่อปีก่อน



วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว  ไม่ทันไรก็ถึงเดือน ตุลาคม 2555   ครบรอบปีแห่งการเผชิญวิบากกรรมจากภัยน้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศไทย เมื่อปี 2554

ภัยพิบัติในปี 2554 เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดของไทย ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาซึ่ง เกือบจะเรียกได้ว่าน้ำท่วมประเทศไทย เพราะพื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบมีถึง 65 จังหวัด  เกือบ 90% ของประเทศ  มองไปทางไหนก็เห็นแต่น้ำนองเต็มไปหมด  แม้แต่สนามบินดอนเมือง



เป็นที่วิพากย์กันทั้งประเทศว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เป็นเพราะการบริหารน้ำผิดพลาด หรือเพราะอย่างอื่น และใครสมควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดวิกฤตในสังคมขึ้นในช่วงนั้นอย่างรุนแรง จากการโทษกันไปโทษกันมา ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล

ถ้าคิดอย่างไม่โทษกัน ก็น่าจะเป็นทั้ง 2 อย่าง เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จะต้องมีการเก็บกักน้ำเพื่อให้ชาวไร่ชาวนาใช้ทำนาได้ตลอดปี แต่สิ่งไม่คาดฝันนั่นก็คือ เจ้าพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้  เข้าซัดกระหน่ำไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ตั้งแต่ไหหม่า นกเต็น ไห่ถาง เนสาด  นาลแก ประเทศไทยมักไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากมรสุมโดยตรงเท่าใดนัก  เมื่อได้รับทั้งทีก็จัดหนักกันเลยแบบ 5 ลูกต่อเนื่องกันตั้งแต่เหนือยันใต้  จึงทำให้ปรับแผนการบริหารน้ำไม่ทัน เมื่อจวนตัวเข้า ก็จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเพื่อรักษาเขื่อน ผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นอย่างที่เห็นกัน คือ เดือดร้อนกันทั่วหน้า  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนราษฎร เลือกสวนไร่นา  รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม เสียหายยับเยิน

เมื่อดูความเสียหายของภาคธุรกิจ  เทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นเรา มองแล้วน้อยนิด  แต่ในความรู้สีกของประชาชนคนหนึ่งเห็นว่า มันยิ่งใหญ่ เพราะตลอดชีวิตที่จำความได้ เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ไม่เคยเลยที่น้ำท่วมบ้านจนไม่สามารถใช้เป็นที่พักพิงต่อไปได้  ต้องอพยพหนีไปนอนโรงแรม เหตุการณ์ในครั้งนั้น  จึงสมควรต้องนำมาเป็นบทเรียน  ทั้งแก่ผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศชาติ และ บทเรียนแก่ประชาชน

ข้าพเจ้าเองมีบ้านเรือนตั้งอยู่ในเขตบางพลัด  เขตแรก ๆ  ที่ต้องรับวิบากกรรมจากอุทกภัย ที่น้ำท่วมจนล้นทุ่งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี  บางกรวย และสู่บางพลัดซึ่งอยู่เขตติดกัน  ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องประกาศก้องในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ว่าให้ประชาชนทั้งหมดในเขตบางพลัดอพยพ  !!    จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนก่อนใคร ๆ  

บทเรียนบทแรกที่ได้รับในครั้งนั้นก็คือ "การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ"  ภัยครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสซ้อมใหญ่ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ  สิ่งที่จะต้องเตรียมขั้นพื้นฐานก็คือปัจจัย 4 ประกอบด้วย อาหาร  น้ำดื่ม  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  ซึ่งข้าพเจ้ากระทำได้อย่างไม่ตกหล่น

  1. ซื้ออาหารมาตุนไว้เต็มตู้เย็นเลย  หมู  กุ้ง ปลา ผัก อาหารกระป๋องเพียบ  ไข่ไก่เกือบครึ่งร้อย
  2. กรองน้ำดื่มไว้เต็มพิกัด  โดยประเมินว่าน่าจะพอไว้กินใช้ครึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย  และยาต่างๆ สำหรับโรคพื้นฐาน
  3. ซื้อถุงดำเตรียมไว้เกือบลัง  มีครบทุกขนาด  สำหรับใส่ขยะ และอาจจะต้องใส่ของเสียส่วนตัว ในภาวะที่ไม่สามารถใช้สุขาได้  
  4. เลือกเสื้อผ้าที่จะใช้ไว้เฉพาะที่ซักง่ายไม่ต้องรีด เพื่อให้สดวกต่อการใช้สอย
  5. ยกของขึ้นที่สูงในระดับที่เชื่อว่าพ้นน้ำแน่นอน  ซึ่งประเมินว่าอาจจะเข้าตัวบ้านแต่ไม่น่าจะเกิน 50 ซม. เพราะบ้านข้าพเจ้าอยู่สูงกว่าระดับถนนพอสมควร 
  6. ซื้อเทียน  ถ่านไฟฉายไว้หลายขนาด เตรียมไว้เผื่อกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ 
  7. เตรียมกระสอบทรายไว้พอสมควร  ไว้กั้นไม่ให้น้ำเข้าเฉพาะตัวบ้าน  ยอมให้บริเวณบ้านซึ่งมีเนื้อที่ไม่มากนักเป็นแก้มลิงรับน้ำบ้าง  เป็นการช่วยเหลือส่วนรวม  
  8. เอารถยนตร์ไปจอดที่ธนาคารเพื่อความปลอดภัย   ขณะนั้นข้าพเจ้ายังทำงานอยู่ จึงสามารถขอจอดรถได้ยาวเลย ยอมเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ดีกว่าปล่อยให้น้ำท่วม โชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์จากธนาคาร  ส่วนลูกสาวไปทำงานต่างจังหวัด เอารถไปด้วย จึงหายห่วงในเรื่องนี้
ข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถเตรียมพร้อมได้พอสมควร รอเพียงภัยพิบัติมาถึง ก็จะใช้ชีวิตอย่างมีสติ   การติดตามฟังข่าวสารรอบด้าน เป็นเรื่องที่กระทำกันอย่างเข้มข้น  รวมทั้งติดตามข่าวคราวจากญาติพี่น้องซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน  ในช่วงนั้นปรากฏว่า พี่ชายของข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านภาณุรังษี เขตบางกรวย นนทบุรี เดือดร้อนก่อนใคร ๆ ทั้งหมดเพราะน้ำจากปทุมธานีไหลบ่ามาถึงตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2554   ทุกๆคน คิดเหมือนกันว่าจะรักษาทรัพย์สินของตนอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  แต่ทุกอย่างก็เหลือวิสัย  เมื่อรอบ ๆ ด้านนองไปด้วยน้ำ  กั้นอย่างไรก็เอาไม่อยู่  จนต้องพากันอพยพออกมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2554

คืนวันที่ 26 ตุลาคม 2554  ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศให้อพยพ  ข้าพเจ้าและเพื่อนบ้านคือดร.ชัยยงค์ และอัจจนา  ยังร่วมปรับทุกข์และปรึกษาหารือด้วยกัน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์จริงจากการออกไปสำรวจยามค่ำคืนประมาณเที่ยงคืนเห็นจะได้ที่บริเวณหน้าปากซอย และพบว่าเวลาใกล้เข้ามาแล้วจริง ๆ  จากสิ่งที่พบเห็นคือน้ำในท่อระบายน้ำมีแรงกระเพื่อมแรงมากและเสียงดังอย่างน่าตกใจ จนเพื่อนทั้งสองของข้าพเจ้าตัดสินใจอพยพในคืนนั้น ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง มีสามีเป็นหลักในการจัดการเตรียมรับสถานการณ์ยังใจเย็นอยู่  รอจนกระทั่งวันรุ่งขึ้น ก็เริ่มเห็นน้ำเต็มท่อและล้นออกมานองถนนในซอยหน้าบ้าน  แต่ก็ยังใจเย็นรอประเมินสถานการณ์  ถ้าปริมาณน้ำไม่สูงมากนัก  ก็พอจะอาศัยอยู่ในบ้านได้ จึงไม่กังวลนัก

สภาพน้ำในซอยวันที่ 27 ตุลาคม 2554 เริ่มล้นออกจากท่อระบายน้ำ
แต่ปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จนกระทั่งเช้าวันที่ 28  อยู่ในระดับเกือบ 30 ซม. และเริ่มนองเข้ามาในบริเวณบ้าน

น้ำเต็มซอยในวันที่ 28 ตุลาคม 2554 และเริ่มเข้าบ้าน
ในวันนั้น ได้ยินเสียงเร่งเร้าจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เร่งอพยพเพราะความห่วงใยประชาชนในเรื่องระบบไฟฟ้าที่อาจจะต้องมีการตัดไฟ หากเกิดความจำเป็น อีกทั้งข่าวสารในเรื่องปริมาณน้ำที่จะต้องไหลบ่ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ข้าพเจ้าต้องตัดสินใจในวันนั้น ว่าคงต้องอพยพเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ  โชคดีโดยแท้ที่หลานชายข้าพเจ้า (กรุง สรรพอุดม) อาสามารับออกไป  จึงต้องทิ้งบ้าน กลายสภาพเป็นประชาชนพลัดถิ่น ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา 

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความห่วงใยในทรัพย์สินของตนเอง  ข้าพเจ้าเองก็มิได้แตกต่างไปจากคนอื่น จึงหวนกลับไปดูแลทรัพย์สินของตนในวันรุ่งขึ้น (29 ตุลาคม 2554)  เมื่อไปถึง สิ่งที่เห็นมันหนักหนากว่าที่คาดคิดมากมาย   รถยนตร์วิ่งได้เพียงเชิงสพานซังฮี้ฝั่งพระนคร  ต้องเดินข้ามสพานเอา และเมื่อมาถึงฝั่งธนบุรี  ก็พบว่าน้ำท่วมตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งน้ำ และนองถนนทั้งสายแล้ว ไม่น้อยกว่า 30 ซม.



เดินลุยน้ำมาถึง 4 แยกบางพลัด และเลี้ยวขวาไปทางสะพานพระราม 7  ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ  อุโมงค์ลอดทางแยกบางพลัด กลายสภาพเป็นแก้มลิงจำเป็น




อุโมงค์ลอดทางแยกบางพลัด หน้าปากซอย 71 กลายสภาพเป็นแก้มลิงจำเป็น

เดินลุยต่อเข้ามาถึงตัวบ้าน ก็พบว่า บ้านทุกบ้านในซอยนี้ กลายสภาพเป็นบ้านกลางน้ำไปแล้วทุกหลัง นี่เพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้นเอง น้ำสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ซม.






ต้นมะม่วงใหญ่ที่ปลูกไว้ 1 ต้น กลายสภาพเป็นต้นไม้น้ำ  ข้าวของทุกอย่างในบ้านลอยละล่องเต็มไปหมด  และสภาพน้ำเหล่านั้นเป็นน้ำที่ผ่านความสกปรกมาแล้วหลายจังหวัด  ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งจนเกินวิสัยที่จะอาศัยอยู่ได้


ในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 เป็นวันที่น้ำท่วมสูงสุด และทรงอยู่ระยะหนึ่ง จึงค่อย ๆ ลดลง ท่วมอยู่ถึง 12  วันเต็ม ๆ  เมื่อเข้ามาสำรวจบ้านก็พบร่องรอยของความเสียหายเกิดขึ้นทั่วไปหมด

บทเรียนบทที่สอง ที่ได้ในครั้งนี้ก็คือ "การยอมรับสถานการณ์ อย่างมีสติ"  แม้จะเตรียมพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเกินความคาดหมาย ก็จำต้องปรับตัวปรับใจ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีที่มาและที่ไปย่อมสามารถแก้ไขได้ หากมีสติ  ภัยน้ำในครั้งนี้ เมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว ไม่มีผู้ใดเอาอยู่ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาใจประชาชน   ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามทางของมัน  เฉกเช่นเดียวกับน้ำย่อมจะต้องไหลจากที่สูงลงต่ำ น้ำมีคุณอนันต์  ย่อมมักจะมีโทษมหันต์ด้วย  ถ้าเรายอมรับได้ก็ไม่ต้องไปโทษใคร

บทเรียนที่สาม ที่พบหลังน้ำลด ก็คือ " การปรับวิถีชีวิตตามแนวพอเพียง "  ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรต้องปรับวิถีชีวิตใหม่  แต่ละบ้านที่ได้รับความเสียหาย ต่างขนเข้าของที่เสียหายออกมาทิ้งกันไม่น้อยกว่า 1 คันรถกะบะต่อบ้านแต่ละหลัง  ทรัพย์สินมากมายที่มีอยู่  ล้วนเกินความจำเป็นทั้งสิ้น  ทรัพย์สินที่เกินความจำเป็นเหล่านี้หากเราแบ่งปัน บริจาคให้ผู้ด้อยโอกาสไปเสียบ้าง ให้คนที่เขาเดือดร้อนไปใช้ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะเก็บงำไว้  และในที่สุดก็ต้องเสียหายเช่นนี้  บทเรียนในครั้งนี้ทำให้ต้องตระหนักถึงแนวทางการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้มากขึ้น   เพราะนับแต่นี้เป็นต้น ภัยพิบัติอื่น ๆ อาจเข้ามาใกล้ตัวเราบ่อยขึ้น  โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วิกฤติจากภัยน้ำในครั้งนี้   แม้จะทำให้เราสูญเสีย  ก็เพียงแค่ทรัพย์สินเท่านั้น  แต่สิ่งที่ได้มาคือบทเรียนที่จะทำให้ทุกชึวิตมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมกันมากขึ้น  จึงถือว่าไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว และที่สำคัญคือ หมั่นกระทำความดีให้เป็นนิจ  หากมีทุกข์หนัก   ก็อาจช่วยผ่อนคลายให้เป็นเบาได้........

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามชุก..ตลาดร้อยปีที่ยังมีชีวิต



ข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดร้อยปีสามชุกบ่อยครั้งมาก แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยแม้เพียงครั้งเดียวเพราะทุกครั้งที่ได้ไปพบเห็นสภาพชุมชนและบรรยากาศของร้านค้าที่นั่นแล้ว  เสมือนเข้าไปเดินอยู่ในอดีตและทำให้นึกถึงวิถีชีวิตและวิถีการค้าของผู้คนไทยในกาลก่อน

ตลาดสามชุกเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในอดีตที่นี่เคยเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นจุดที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า และเป็นจุดพักเรือสินค้าที่จะขึ้นล่องสู่บางกอก  บริเวณท่าน้ำตลาดสามชุก จะหนาแน่นไปด้วยเรือเมล์  เรือขนส่งสินค้า เรือข้าว เรือถ่าน เรือผัก เรือผลไม้  และสินค้าอื่น นานาชนิด และด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนหลายเชื้อชาติที่ล่องเรือมาค้าขายคิดอยากจะตั้งรกรากทำมาหากินที่นี่  ทั้งกะเหรี่ยง  มอญ  ละว้าโดยเฉพาะคนจีน มีการก่อตั้งศาสนสถานขึ้นเช่น ศาลเจ้า  วัด  โรงมหรสพ  ร้านกาแฟ โรงแรม  ร้านค้าทองคำ ร้านถ่ายรูป ร้านขายยาโบราณ ร้านเสริมสวย ฯลฯ  ซึ่งล้วนเสริมสร้างให้สามชุก เป็นแหล่งค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

สภาพตลาดการค้าที่นี่ จะมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นอยู่เรียงกันไป มีถนนซอยกั้นกลางรวม 5 ซอยแต่ละซอยจะค้าขายสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  ของที่ระลึก ฯลฯ







เนื่องจากการนำสินค้ามาค้าขาย แต่ละวันจะมีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าจำนวนมาก บางครั้งต้องการค้างพักแรม จึงมีชาวจีนคิดดัดแปลงห้องแถวไม้เปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมขึ้นที่นี่ ชื่อโรงแรมอุดมโชค ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีผู้ใดมาพักแล้ว แต่เจ้าของยังรักษาสภาพเดิม ๆ ไว้ให้เราได้เห็น

 

















การค้าขายที่ตลาดสามชุก เริ่มเงียบเหงาซบเซา  หลังจากราชการตัดถนนผ่านชุมชนต่าง ๆ ทำให้การคมนาคมทางบกมีความสดวกสบายกว่าทางน้ำ  การซื้อขายทางเรือเช่นแต่ก่อนจึงเริ่มลดน้อยถอยลง และเปลี่ยนเป็นทางบกไปในที่สุด ตลาดสามชุกเริ่มมีสภาพร้างคนไปในช่วงเวลาหนึ่ง  จนกระทั่งคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าของตลาดแห่งนี้  รวมตัวกันพัฒนาเชิงอนุรักษ์ขึ้น เกิดเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกขึ้นมาช่วยกันฟื้นฟูรักษาศิลปะ วิถีชีวิต และ สถาปัตยกรรมเดิม ๆ ให้ยังคงอยู่ และใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีของสังคมในอดีต ตลาดสามชุกจึงหวนกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง



คนที่ไปเที่ยวตลาดสามชุก ไม่ควรพลาดชมสถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณตลาดนี้ นั่นคือ บ้านขุนจำนงจีนารักษ์  ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่บอกเล่าความเป็นมาในอดีตให้เราได้ทราบ  ขุนจำนงจีนารักษ์ ท่านมีนามเดิมว่า นายหุย แซ่เฮงเป็นคนจีนที่เกิดในแผ่นดินไทย สมัยที่มีชีวิตอยู่ ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้าและโรงยาฝิ่น กิจการค้าของท่านเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ตัวท่านเองเป็นคนมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำชุมชน  และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนจำนงจีนารักษ์  นายอากรสุรา  ต่อมาภายหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น  ท่านจึงหันไปทำสวนทำไร่  และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 83 ปี  บุตรหลานของท่านได้อนุญาติให้ใช้บ้านของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์และเก็บของใช้โบราณ สำหรับผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ จึงนับว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างมากต่อสังคม โดยเฉพาะบ้านของท่านซึ่งมีศิลปะลวดลายฉลุที่สวยงามบริเวณช่องลม หาดูได้ยากในปัจจุบัน


ที่บริเวณหน้าตลาดสามชุก จะมีตู้ไปรษณีย์โบราณตั้งอยู่ 1 ตู้  ตู้ไปรษณีย์โบราณนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2454  ทำขึ้นในประเทศอังกฤษ ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ยุคแรก ๆ ของไทย ที่หน้าตู้จะระบุเวลาไขวันละ 3 ช่วงเวลา แสดงเวลาลักษณะของฝรั่ง  นั่นคือ

                                        6  ก.ท.   คือ    6 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ   6 A.M.
                                       10 ก.ท.   คือ  10 โมง ก่อนเที่ยง  หรือ 10 A.M.
                                        2  ล.ท.   คือ   2 โมง หลังเที่ยง  หรือ   2 P.M.  นั่นเอง

ปัจจุบัน ตลาดสามชุกได้กลับมาคึกคักเช่นเดิม แม้วันเวลาจะเปลี่ยนไปนับร้อยปี  เพราะชุมชนนี้เข้มแข็ง จึงสามารถอนุรักษ์ให้คงอยู่ได้  มีผู้คนไปเที่ยวชมทั้งวันธรรมดา และวันหยุดราชการ ตลาดนี้จึงเปิดขายตามปกติโดยไม่มีวันหยุด และจะไม่มีวันร้าง  มีข้าวของมากมาย ที่น่าสนใจซื้อหา







ไม่ว่าใครได้ไปเที่ยวชม ก็จะได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านทุกคน ตลาดสามชุกในวันนี้  จึงนับว่ายังมีลมหายใจ และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง   แม้ว่าแม่น้ำท่าจีนจะเงียบสงบ ไม่คึกคักพลุกพล่านเหมือนเช่นก่อนแล้ว แต่แม่น้ำสายนี้ ได้โอบล้อมสามชุกให้ร่มเย็น และหายใจต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืนอีกยาวนาน............



 วิถีชีวิตที่สงบและเรียบง่ายของคนในชุมชนนี้  จึงยังคงมีให้เห็นที่ตลาดสามชุก  จังหวัดสุพรรณบุรี.....