บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไปชมวังพระนเรศกันเถอะ



วังจันทร์ในอดีต
เหตุจากการดูละครอิงประวัติศาสตร์  ทำให้ข้าพเจ้ามีความคิดอยากจะเข้าไปสัมผัสสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ จึงชวนสหายรักตะลุยอโยธยาซึ่งเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ในครั้งกระโน้น ชมพระราชวังที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  กษัตริย์ผู้กู้ชาติไทย
 




 
นี่คือวังจันทร์ หรือ พระราชวังจันทรเกษม ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี  2120  ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร พระราชโอรส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก เมื่อเสด็จมากรุงศรีอยุธยา  ตอนแรกสร้างนั้นประชาชนทั่วไปเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่าวังใหม่หรือวังหน้า ตามตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งอยู่หน้าพระราชวังหลวง ต่อมาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จลงมาพร้อมกับสมเด็จพระนเรศวร ได้เรียกชื่อพระราชวังแห่งนี้ว่า วังจันทร์ ตามชื่อวังจันทร์อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ที่เมืองพิษณุโลก
 
 

พระราชวังจันทรเกษม  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งในอดีตจะเรียกกันว่า "คูขื่อหน้า" โดยอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอ  ต.หัวรอ  อ.พระนครศรีอยุธยา  ที่แห่งนี้พระนเรศวร เคยใช้เป็นที่บัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ.2129 และเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระมหาอุปราชที่สำคัญของไทยถึง 8 พระองค์ด้วยกันคือ
  1. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  2. สมเด็จพระเอกาทศรถ
  3. เจ้าฟ้าสุทัศน์
  4. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  5. ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)
  6. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
  8. กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)



 
นั่นคือขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่วังนี้พระองค์เป็นมหาอุปราช ต่อเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์  ระหว่าง พ.ศ. 2133 - 2148 ได้สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) เป็นพระมหาอุปราช  ได้ให้ประทับที่วังจันทร์นี้ และเรียกว่า วังจันทร์บวร
 
 

ครั้นต่อมาสมเด็จพระเอกาทศรถ ขึ้นครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 2148 - 2153  ได้สถาปนาเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเกิดกับพระมเหสี  ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชแทน และประทับที่วังหน้าเช่นกัน  แต่เจ้าฟ้าสุทัศน์ ถูกข้อหาขบถต่อพระราชบิดา จึงเสวยยาพิษและสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน   เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์  ซึ่งเป็นโอรสองค์ถัดมา (โอรสที่เกิดกับพระมเหสี)ได้ขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองราชย์ได้เพียงไม่ถึงปี ก็ถูกราชประหาร
 
 

โดยในช่วงแผ่นดินของพระศรีเสาวภาคย์นี้  จหมื่นศรีสรรักษ์ ได้ซ่องสุมกำลังทหาร บุกเข้าวังหลวงนำพระศรีเสาวภาคย์มาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ และอัญเชิญพระอินทรราชา (พระราชโอรสของพระเอกาทศรถ ที่เกิดกับสนม)  ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างผนวช  ลาสิกขาบทมาครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าทรงธรรม  และตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นพระอุปราช  แต่ไม่ได้ประทับที่วังแห่งนี้  ทำให้วังนี้ว่างเว้นจากการเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช นานถึง 46 ปีด้วยกัน
 
 

พระเจ้าทรงธรรม ครองแผ่นดินระหว่างปี พ.ศ. 2154 - 2171  นานถึง 17 ปี  เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชบัลลังค์ระหว่างพระราชโอรสพี่น้อง ในที่สุดพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์โต ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยสำเร็จโทษพระอนุชาเสีย แต่ครองแผ่นดินได้เพียงปีเศษ ก็ถูกออกญาศรีวรวงศ์ (จหมื่นศรีสรรักษ์) สำเร็จโทษ และอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์  ซึ่งเป็น พระอนุชาองค์สุดท้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยวัยเพียง 9 ชันษา โดยมีพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์ ( คือออกญาศรีวรวงศ์หรือจหมื่นศรีสรรักษ์นั่นเอง) เป็นผู้สำเร็จราชการ
 
 
พระอาทิตยวงศ์ครองราชย์ได้เพียง 36 วัน เหล่าขุนนางเห็นว่าพระองค์เอาแต่เล่นซุกซนตามประสาเด็ก เกรงจะเสียหายต่อราชการ จึงอัญเชิญลงจากบัลลังค์ และพระยากลาโหม ก็ได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง และสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์ปราสาททอง  ครองราชย์ต่อมานานถึง 25 ปี ( ตั้งแต่ พ.ศ. 2173 - 2198 )  
 
 

หลังจากพระเจ้าปราสาททอง เสด็จสวรรคต เมื่อปี 2198  พระราชโอรสองค์โต ที่เกิดกับพระมเหสี คือสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ครองราชย์ได้เพียง 9 เดือน ก็ถูกพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระปิตุลา(ลุง) และ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระโอรสพระเจ้าปราสาททองที่เกิดกับราชเทวี) สำเร็จโทษและชิงราชสมบัติ 
 
 

พระศรีสุธรรมราชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยสถาปนา พระนารายณ์ เป็นพระมหาอุปราช และให้ประทับที่วังจันทร์ ขณะนั้นเรียกวังบวรสถานมงคล วังนี้จึงกลับมาเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชอีกครั้งหนึ่งนับแต่นั้น
 
 

แต่พระศรีสุธรรมราชา ครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษ ก็ถูกพระนารายณ์ชิงราชบัลลังค์  เมื่อ พ.ศ. 2199 สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นรองราชย์ต่อมานานถึง 32 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2199 - 2231)  ในระหว่างการครองแผ่นดินของพระองค์ ได้สร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2  และพระองค์ได้ไปสวรรคตที่นั่นเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ปราสาททอง
 
 

ในช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ ได้แต่งตั้งพระเพทราชา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะที่ประทับอยู่ลพบุรี ได้ทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปิย์ โอรสบุญธรรมของพระนารายณ์เสีย (พระนารายณ์ไม่มีโอรสกับพระมเหสี)  ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์ต่อไป
 
 

พระเพทราชา เป็นสามัญชนบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ที่เข้ารับราชการในวังจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย หลังจากขึ้นครองราชย์ ก็ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง และครองราชย์ต่อมาถึง 15 ปี (ระหว่างปี 2232 - 2246) เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2246  โดยขุนหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ โอรสบุญธรรม ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
 
 

พระเจ้าเสือ เป็นโอรสลับของพระนารายณ์ ที่เกิดกับนางสนม  ต่อมาพระนารายณ์ได้พระราชทานนางสนมนี้ให้กับพระเพทราชา พอโตขึ้นพระเจ้าเสือก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระนารายณ์จนเป็นที่โปรดปราณได้รับเลื่อนเป็นขุนหลวงสรศักดิ์  และในสมัยพระเพทราชา ขุนหลวงสรศักดิ์ได้รับสถาปนาให้เป็นมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ประทับที่วังจันทร์ หรือ วังบวรสถานมงคล จนกระทั่งขึ้นครองราชย์  โดยครองราชย์อยู่ 5 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2246 - 2251)
 
 

หลังจากพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคต พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระโอรสองค์โต (เจ้าฟ้าเพชร) ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา และสถาปนาพระอนุชา (เจ้าฟ้าพรหรือพระเจ้าบรมโกศ) เป็นอุปราช ซึ่งขณะนี้เรียกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับที่วังจันทร์ หรือวังบวรสถานมงคล  พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครองราชย์อยู่ 24 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2251 -  2275)  ก็เสด็จสวรรคตในปี 2275
 
 

ในท้ายของรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระ (เจ้าฟ้าพร) กับพระโอรสของพระเจ้าท้ายสระ 2 องค์  ภายหลังพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ประหารชีวิตโอรสทั้ง 2 พระองค์ และได้ขึ้นครองราชย์ต่อมานานถึง 26 ปี (ระหว่างปี  2275 -2301) 
 
 

ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ได้แต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบตร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระโอรส เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช)  ประทับที่วังจันทร์หรือวังบวรสถานมงคล  และเป็นองค์สุดท้ายที่ประทับที่วังจันทร์แห่งนี้  
 
 

ช่วงแผ่นดินของพระเจ้าบรมโกศบ้านเมืองเจริญมาก และมีขุนนางดีเกิดขึ้นหลายคน เช่น พระเจ้ากรุงธนบุรี , พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตลอดจนด้านกวีก็มี เจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์เอง ต่อมาเจ้าฟ้ากุ้งได้ลักลอบเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดา  จึงต้องพระอาญาให้เฆี่ยนตี จนสวรรคต นำพระศพไปฝังที่วัดไชยวัฒนาราม  พระราชวังจันทร์หรือวังบวรสถานมงคล ก็มิได้เป็นที่ประทับของอุปราชพระองค์ใดอีก  และพระเจ้าบรมโกศ ก็มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นมหาอุปราชอีกนานถึง 11 ปี จึงแต่งตั้งกรมขุนพรพินิต หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร พระโอรสอีกองค์หนึ่ง เป็นอุปราช และได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2301  ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร 
 
 

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครองราชย์ได้เพียง 1 เดือนเศษ ก็สละราชสมบัติให้กับพระเชษฐาร่วมพระมารดาคือเจ้าฟ้าเอกทัศน์  แล้วทรงออกผนวช ประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม  จึงเป็นที่มาของการขนานนามพระองค์ว่า ขุนหลวงหาวัด
 
 

ช่วงก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะแต่งตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชาของพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น  เจ้าฟ้าอุทุมพรได้ทรงขอต่อพระราชบิดาให้แต่งตั้งเจ้าฟ้าเอกทัศน์ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมมารดา แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงตรัสว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์นั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ หากจะให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย จึงสั่งให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวชเพื่อมิให้ขัดขวางเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นอุปราช  แต่หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับมาแสดงความประสงค์จะขึ้นครองราชย์  จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ยอมสละราชบัลลังค์ให้กับพระเชษฐา  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  ครองราชย์ได้ 9 ปี (ระหว่างปี 2301 - 2310)  ไทยก็เสียกรุงแก่พม่า  และเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวง






ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310  พระราชวังจันทร์ได้ถูกทิ้งร้าง จนเหลือแต่ซากปรักหักพังจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จึงได้มีการบูรณะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นที่ประทับและเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการขณะเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา


พลับพลาจตุรมุขปัจจุบัน

ภายในพระราชวังจันทรเกษม  จะมีอาคารเรียกว่าพลับพลาจตุรมุข  อยู่ติดกับกำแพงพระราชวัง ไม่พบหลักฐานว่าในอดีตช่วงนั้นใช้เพื่อการใด  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมที่เหลือเพียงซากอิฐถือปูนของฐานพลับพลา  ฉะนั้นภายในอาคารหลังนี้ จึงมีเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4  หลงเหลือให้เราได้มีโอกาสชมหลายอย่าง


ท้องพระโรงสำหรับว่าราชการ


พระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ 4


ของใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4

ของใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4


หม้อกรองน้ำ ของใช้ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 4

ถังอาบน้ำ ของใช้ส่วนพระองค์รัชกาลที่ 4


หลังจากนั้น  ก็มีการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นระยะในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5  ,รัชกาลที่ 6 , รัชกาลที่ 7  ตลอดจนรัชกาลปัจจุบัน




ถัดจากพลับพลาจตุรมุข  จะเป็นพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 4




ด้านหน้าของอาคารจะมีรูปปั้นขนาดเล็กของพระนเรศวรขณะหลั่งน้ำสิโนทก เพื่อให้คนที่เข้าชมวังสักการะ ใกล้ ๆ รูปปั้นพระนเรศวรจะมีรูปปั้นไก่อยู่หลายตัวทีเดียว ตามประวัติบอกว่าท่านชื่นชอบการ ชนไก่เป็นชีวิตจิตใจ






ถัดไปจะเป็นอาคารมหาดไทย  เป็นอาคารชั้นเดียวซึ่งใช้เป็นที่ตั้งแสดง  พระพุทธรูปโบราณ  เครื่องใช้   โบราณ  และวัตถุโบราณต่าง ๆ  มากมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ



ปัจจุบันพระราชวังจันทรเกษมได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากกรมศิลปากร ใช้เป็นอยุธยาพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย 
 





ขอขอบคุณข้อมูลจากวังจันทรเกษม และ http://www.wikipedia.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น