บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเศร้าที่ค่ายอุบล




ลงจากรถไฟก็ถ่ายรูปกันเลย
ข้าพเจ้าเกือบจะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในค่ายอาสาไปเสียแล้ว  หากไม่มี  e-mail  ฉบับหนึ่งที่เพื่อนร่วมรุ่น forward  มาให้  มันเป็นบทความสั้น ๆ  ที่เขียนเรื่องราวของค่าย จากความทรงจำของท่านผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า ระพี สาคริก  พลันความทรงจำเก่า ๆ ก็เริ่มผุดขึ้นมา



ข้าพเจ้าไปค่ายครั้งแรกที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อตอนมหาวิทยาลัยปิดเทอมปลายปีที่ 1   ในปีนั้นจำได้ว่านิสิตหญิงปี 1  ที่ไปค่ายอุดร  มีอยู่เพียง 4 คน คือตัวข้าพเจ้า , นวล (นวลวรรณ แสนวิเศษ) , เปี๊ยก (สุกัญญา วีระอมรกุล)  และอ๊อด (ดร.สิริลักษณ์ สิริสรรพ)  วัตถุประสงค์ของการไปค่าย  มิได้มีอย่างใดอื่น นอกเหนือจากต้องการใช้เวลาว่างที่มีในช่วงปิดเทอมไปทำประโยชน์ให้กับสังคม อุดมการณ์ที่เปี่ยมล้น จนไม่ได้นึกถึงความลำบากที่อยู่ข้างหน้า  แม้พี่สาวข้าพเจ้าจะทักท้วงห้ามปราม เพราะคงเคยรู้รสความลำบากมาก่อน   แต่ความตั้งใจที่แน่วแน่ แม้จะห้ามปรามสักเพียงใด ก็ทานไว้ไม่อยู่



เช้ามืดวันนั้น ข้าพเจ้าจึงออกจากบ้านอย่างเงียบ ๆ พร้อมกับกระเป๋าเดินทางเพียงใบเดียว ย่องออกจากบ้าน  ขึ้นรถเมล์หน้าปากซอยไปลงสถานีรถไฟหัวลำโพงตามที่รุ่นพี่นัดหมาย ชีวิตค่ายได้เริ่มที่จุดนั้น  



ค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปีนั้น   ไปหลายจังหวัดด้วยกัน  แต่ละจังหวัดก็จะมีรุ่นพี่ปี 3 เป็นผู้อำนวยการค่าย  คอยบริหารจัดการทุกเรื่องเพื่อให้งานราบรื่น เป้าหมายของค่ายเกษตรคือการไปสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ  จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนที่เป็นเพียงนิสิตนักศึกษาอย่างพวกเราเพราะแต่ละคนก็ยังไม่เคยมีประสพการณ์กันมาก่อน เพียงแต่ศึกษาเรียนรู้ก่อนที่จะออกปฏิบัติงานจริง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมิใช่น้อยเลยทีเดียว



อุปกรณ์การก่อสร้างแบบบ้าน ๆ กองอยู่เต็มชานชลา   อาทิเช่น บุ้งกี๋  จอบ เสียม เลื่อย  กบ  กระป๋องน้ำ  เรียกว่าจัดเต็มสำหรับการก่อสร้าง ทุกคนกุลีกุจอขนขึ้นรถไฟ ช่วยกันเต็มที่อย่างคึกคัก สนุกสนาน  ต้นทางอยู่หัวลำโพง  ปลายทางคือสถานีอุดร  พอไปถึงอุดร ก็มีรถจีเอ็มซีของทหารมารับไปส่งที่อำเภอนากลางซึ่งเป็นจุดที่ตั้งค่าย  จุดทดสอบแรกเห็นจะเป็นเรื่องการเดินทางนี่แหละ เพราะทุกคนต้องยืนไปบนกระบะหลังของรถทหารอย่างทุลักทุเล  แค่เดินทางก็เหนื่อยเสียแล้ว  กว่าจะถึงค่ายก็ใช้เวลานานโขอยู่   จุดที่ตั้งค่าย จะอยู่ท้ายหมู่บ้าน พอไปถึงก็พบว่ามีเต้นท์ที่พักกางอยู่แล้ว โดยหน่วยล่วงหน้ามาเป็นผู้ดำเนินการตระเตรียมให้



พี่อุดม ยอดขันธ์  รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการค่ายอุดร  เป็นผู้นำที่ดีคนหนึ่งในสายตาของข้าพเจ้า ที่สามารถบริหารค่ายได้อย่างราบรื่น  ในค่ายของเราเปรียบเสมือนบริษัท ที่มีงานหลายแผนกด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นแผนกโครงงาน  ,  ครัว ,  สวัสดิการ , สันทนาการ  และ อื่น ๆ  ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้งานค่ายคืบหน้าและสำเร็จทั้งสิ้น  ทุกคนมีหน้าที่อย่างไร  ก็ทำไปตามหน้าที่นั้นให้เต็มกำลัง  จนไม่ช้านาน ก็พอจะเห็นเค้าของความสำเร็จ เริ่มมองเห็นโครงอาคารเรียนชัดขึ้น


ขึ้นเสาโครงโรงเรียน
การไปค่ายมิใช่เรื่องสบาย ยิ่งเห็นทุกคนร่วมมือร่วมใจ ก็ยิ่งมีพลัง ทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้จะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขุดหลุม ขนหินดินทราย  ไสไม้  เสริฟน้ำ ทำครัว ฯลฯ


ช่วยกันขนหินเพื่อไปผสมปูนเทพื้น

ช่วยกันขนทราย


นวลวรรณ กำลังไสไม้ผนังห้องเรียน

การทำงานค่ายฝึกให้คนทำงานเป็นทีม  และทำให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสำเร็จได้เพียงลำพัง ต้องช่วยเหลือกันเท่านั้น และที่สำคัญ เรามีกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ จากบุคคลท่านหนึ่ง ที่ชาวค่ายอาสาทุกคนเรียกท่านว่า "คุณพ่อ"  ท่านคือ ศ.ระพี สาคริก บิดาของชาวค่าย ที่คอยให้กำลังใจแก่พวกเราเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในที่กันดารหรือลำบากสักเพียงใด ก็ยังดั้นด้นไป


คุณพ่อร่วมสัมมนาย่อยในค่าย

ในแต่ละวันหลังจากเสร็จงาน  อาบน้ำชำระร่างกายขจัดคราบเหงื่อแล้ว  ก็มาล้อมวงรับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่โรงครัวซึ่งเราสมมุติว่ามันคือภัตตาคาร  เพราะมักจะมีของแปลก ๆ ให้สมาชิกค่ายได้ลิ้มลองอยู่บ่อย ๆ  เช่น ถั่วเขียวต้มเกลือ เป็นต้น นัยว่าคนที่อยู่เวรครัวเห็นเกลือเป็นน้ำตาล



ร่วมวงทานอาหารเย็น

แต่งกายโก้หรูฉลอง dinner

ในที่สุดค่ายอุดร ก็สำเร็จตามเป้าประสงค์ ชาวบ้านอำเภอนากลางได้โรงเรียนใหม่ 1 หลัง เราตั้งชื่อว่า โรงเรียนเกษตรประชานาสมหวัง (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ให้เด็ก ๆ ได้ใช้เป็นที่เรียนหนังสือ บนความภาคภูมิของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคน


ค่ายอุดร

พลังแห่งความภาคภูมิใจในประโยชน์ที่ได้ทำต่อสังคม  ทำให้มีการออกค่ายกันอีกในปีต่อ ๆ ไป และในช่วงปิดเทอมปี 2  ข้าพเจ้ามีโอกาสไปค่ายอีกครั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี   การไปค่ายในครั้งที่ 2 นี้ไม่มีสิ่งใดบอกเหตุเลยว่า พวกเราจะพบกับความสูญเสียที่ไม่อาจลืมได้


ค่ายอุบล
การไปค่ายทุกครั้งก็จะมีนิสิตตั้งแต่ปี ที่ 1-3 คละกันไป และที่ค่ายอุบลในครั้งนี้มีน้องปี 1 ไปกันหลายคนด้วยกัน เท่าที่จำได้ก็มี แฟง (อภิรดี  เพชระบูรณิน) , หน่อย (ยงยุทธ ทวีสิทธิ์) ,  โชติ (วิโชติ วรรโณ) ,หน่อย (จินันท์) ,  แอ๊ด (มานิต)  , เปี๊ยก (สมพร ) , ติ๋ม , เข่ง  , ตู่ และ  ธรรมศักดิ์ อัศวเพียรชอบ ที่พวกเราเรียกชื่อเล่นกันว่าน้องตี๋  โดยมีพี่ประจิต อริยะกุลกาญจน์ เป็นผู้อำนวยการค่าย ตลอดเวลาของการทำงานค่าย  ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นปกติ  น้องตี๋เป็นเด็กน่ารัก มีอัธยาศัย ยิ้มแย้มอยู่เสมอ และช่วยเหลืองานทุกอย่างไม่เคยเกี่ยงงอน งานค่ายสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของน้องพี่เช่นนี้เสมอมา จนในที่สุดเราก็ได้โรงเรียนใหม่เพิ่มอีก 1 หลัง บนหยาดเหงื่อและความร่วมมือร่วมใจของชาวค่าย เราใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านนาสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ด้วยความภาคภูมิยินดีทั้งชาวค่ายเกษตรศาสตร์และชาวบ้าน ตลอดจนข้าราชการในท้องถิ่น



สมาชิกค่ายอุบล

จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายที่พวกเราเตรียมปิดค่าย และจะทำพิธีอำลากันในช่วงค่ำคืน ปรากฏว่าในช่วงบ่ายทุกคนก็ตื่นเต้นกันมากมาย  เมื่อทราบว่าคุณพ่อและคณะ มาเยี่ยม และจะร่วมพิธีกับพวกเรา ตลอดบ่ายวันนั้น จึงเป็นวันที่สนุกสนานและอบอุ่นเป็นที่สุด  ชาวบ้านเองก็ใจหายเมื่อรู้ว่าพวกเราจะกลับแล้ว เหล่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเกือบทั้งหมู่บ้านต่างก็มาอวยพร  ผูกข้อมือให้ศีลให้พรพวกเรา


ชาวบ้านผูกข้อมือ ให้ศืลให้พร

แต่เขาว่ากันว่าความสุขมักอยู่กับใครได้ไม่นาน  ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน เป็นความจริงเช่นนี้เสมอมา  มีความสุขที่มีกันถ้วนหน้าอยู่ช่วงบ่าย พลันในช่วงพลบค่ำของคืนสุดท้าย ได้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น มีพายุพัดแรงมากบริเวณนั้น และปรากฏสัตว์ชนิดหนึ่งมาพร้อมกับพายุ นั่นก็คือลิงลมเข้ามาอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในบริเวณค่าย  เมื่อพายุสงบท้องฟ้าก็เริ่มมีแสงสว่าง  ทำให้มองเห็นพระจันทร์เต็มดวง แต่จันทร์คืนนั้น มิได้เหลืองอร่ามเช่นที่เคยเห็น กลับเป็นสีแดงเหมือนดั่งสีเลือด  ชาวบ้านที่เฝ้าดูพวกเราได้กระซิบให้ฟังว่าเหมือนเป็นลางร้าย พวกเราเองก็ไม่ค่อยจะเชื่อนักแต่เมื่อจิ้งจกทัก ไม่ว่าใครก็ต้องกังวล ความสุขได้แปรเปลี่ยนเป็นความกลัวและกังวลไปในทันที  จนคุณพ่อต้องขอให้พวกเราเกาะกลุ่มรวมกันและสีไวโอลินให้ฟังเป็นการปลอบใจ



แค้มป์ไฟอำลา

แค้มป์ไฟในคืนสุดท้าย จึงเป็นความประทับใจที่แฝงความวังเวงอยู่ไม่น้อย  แต่อย่างไรก็ตามคืนนั้นทั้งคืนก็มิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้นจนถึงรุ่งสาง  พวกเราจึงหายใจได้สดวกขึ้นเพราะความโล่งใจ  ช่วงสายวันนั้นรถทหารก็มารับพวกเรากลับออกไปจากค่าย และมีเจ้าหน้าที่ รพช.ท่านหนึ่งชื่อ พี่วิชัย วิบูลย์กิจธนากร ซึ่งคอยช่วยเหลือพวกเราตลอดที่อยู่ค่าย  เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อย  จึงชักชวนให้พากันไปเล่นน้ำที่เกาะกลางแม่น้ำมูลหวังจะให้เกิดความสนุกไม่รู้ลืม  ก่อนจะอำลากัน

น้ำก็ตื้น ๆ  เล่นน้ำกันจนเหนื่อย เพราะต้องวิ่งในน้ำ  แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า ในบางช่วงมีหลุมลึกใต้น้ำ เพราะบริเวณนี้มีการขุดทรายกัน  ส่วนที่ถูกขุดเป็นหลุมลึกจึงก่อให้เกิดน้ำวนขึ้นบริเวณนั้น และคนที่โชคร้ายไปเล่นน้ำบริเวณนั้นก็คือ.......น้องตี๋..ธรรมศักดิ์ อัศวเพียรชอบ



เรามารู้ว่า น้องตี๋หายไปก็ตอนที่ขึ้นมารดน้ำคุณพ่อระพี สาคริก  เมื่อนับจำนวนคนแล้วจึงรู้ว่าหายไป 1 คน ไม่มีใครคิดว่าว่าน้องตี๋จะจมน้ำ คิดไปว่าคงไปเดินเที่ยวเล่นตามประสาเด็กหนุ่ม  จึงช่วยกันตะโกนจนดังก้องไปทั้งสองฝั่งน้ำ  เป็นเวลานานแสนนาน ก็ไม่มีวี่แวว   จนกระทั่งไปพบเสื้อผ้ากองอยู่ริมฝั่งจึงมั่นใจว่าคงอยู่ในน้ำแน่แล้ว พี่ ๆ เพื่อน ๆ ผู้ชายเริ่มพากันโดดน้ำลงไปงมหา รวมทั้งแป๋ว สมถวิล พาณิชยิ่ง ซึ่งเป็นนักว่ายน้ำก็ลงไปช่วยอีกแรงหนึ่ง  งมแล้วงมเล่า หลายต่อหลายครั้ง ก็ไม่พบสิ่งใด  ชาวบ้านที่มามุงดูเริ่มให้ความเห็นที่สร้างความกังวลไม่น้อยที่ว่า บริเวณนี้มีคนตายบ่อยเพราะน้ำวน !



ความเห็นของชาวบ้าน ทำให้ต้องแอบคิดว่า " หรือตี๋จะเป็นคนต่อไป"  และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อมีใครก็ไม่รู้ตะโกนขึ้นมาว่า "พบแล้ว".......พร้อมทั้งประคองร่างที่ซีดขาวไร้ความรู้สึกขึ้นมาบนฝั่ง



การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นไม่ได้ผล ในที่สุดก็ต้องนำส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์เพื่อหวังว่าจะสามารถช่วยชีวิตให้รอดได้



ตะวันลับฟ้าไปแล้ว  พระจันทร์ทอแสงสีเดียวกับเมื่อวันวาน พวกเรานั่งเกาะกลุ่มกันอยู่บนพิ้นถนนในโรงพยาบาลเพื่อรอฟังข่าวอย่างมีความหวัง  ใต้เงาแสงจันทร์สีเลือดนั้น ทุกคนเงียบกริบจนสามารถได้ยินแม้เพียงเสียงลมหายใจ....นานจนกระทั่งรุ่นพี่มาบอกว่า "ไม่รอดแล้ว" เท่านั้นแหละก็ร้องไห้กันระงม


อนิจจา  น้องตี๋.....เธอช่างโชคร้ายเหลือเกิน  !
เพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคน เสียใจที่ไม่อาจช่วยเหลือเธอได้   เสียใจที่ไม่อาจดึงชีวิตเธอกลับมาได้
ขอภาวนาให้เธอได้ไปอยู่ในที่ ๆ ดีงาม  เพราะสิ่งที่เธอได้ทำก่อนสิ้นลม ก็คือการสร้างคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคม........โรงเรียนบ้านนาสามัคคี (เกษตรศาสตร์อนุสรณ์) ที่เธอได้มีส่วนร่วมสร้างไว้...



และที่สำคัญ...น้องตี๋ ..จะอยู่ในความทรงจำของพี่ ๆ ชาวค่ายทุกคน..ตลอดไป
แม้จะเป็นความทรงจำที่แสนเศร้า............ในการออกค่ายอาสาที่อุบลราชธานี..........
อาลัย..ธรรมศักดิ์  อัศวเพียรชอบ

1 ความคิดเห็น:

  1. หนูเป็นเด็กค่ายรุ่น 69 ค่ะ ถ้าหนูอยากได้บางส่วนของบทความนี้ไปตีพิมพ์ในหนังสือประเมินผล จะได้ไหมค่ะ

    ตอบลบ