บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันนี้เมื่อปีก่อน



วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว  ไม่ทันไรก็ถึงเดือน ตุลาคม 2555   ครบรอบปีแห่งการเผชิญวิบากกรรมจากภัยน้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศไทย เมื่อปี 2554

ภัยพิบัติในปี 2554 เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดของไทย ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาซึ่ง เกือบจะเรียกได้ว่าน้ำท่วมประเทศไทย เพราะพื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบมีถึง 65 จังหวัด  เกือบ 90% ของประเทศ  มองไปทางไหนก็เห็นแต่น้ำนองเต็มไปหมด  แม้แต่สนามบินดอนเมือง



เป็นที่วิพากย์กันทั้งประเทศว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เป็นเพราะการบริหารน้ำผิดพลาด หรือเพราะอย่างอื่น และใครสมควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดวิกฤตในสังคมขึ้นในช่วงนั้นอย่างรุนแรง จากการโทษกันไปโทษกันมา ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล

ถ้าคิดอย่างไม่โทษกัน ก็น่าจะเป็นทั้ง 2 อย่าง เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จะต้องมีการเก็บกักน้ำเพื่อให้ชาวไร่ชาวนาใช้ทำนาได้ตลอดปี แต่สิ่งไม่คาดฝันนั่นก็คือ เจ้าพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้  เข้าซัดกระหน่ำไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ตั้งแต่ไหหม่า นกเต็น ไห่ถาง เนสาด  นาลแก ประเทศไทยมักไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากมรสุมโดยตรงเท่าใดนัก  เมื่อได้รับทั้งทีก็จัดหนักกันเลยแบบ 5 ลูกต่อเนื่องกันตั้งแต่เหนือยันใต้  จึงทำให้ปรับแผนการบริหารน้ำไม่ทัน เมื่อจวนตัวเข้า ก็จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเพื่อรักษาเขื่อน ผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นอย่างที่เห็นกัน คือ เดือดร้อนกันทั่วหน้า  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนราษฎร เลือกสวนไร่นา  รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม เสียหายยับเยิน

เมื่อดูความเสียหายของภาคธุรกิจ  เทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นเรา มองแล้วน้อยนิด  แต่ในความรู้สีกของประชาชนคนหนึ่งเห็นว่า มันยิ่งใหญ่ เพราะตลอดชีวิตที่จำความได้ เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ไม่เคยเลยที่น้ำท่วมบ้านจนไม่สามารถใช้เป็นที่พักพิงต่อไปได้  ต้องอพยพหนีไปนอนโรงแรม เหตุการณ์ในครั้งนั้น  จึงสมควรต้องนำมาเป็นบทเรียน  ทั้งแก่ผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศชาติ และ บทเรียนแก่ประชาชน

ข้าพเจ้าเองมีบ้านเรือนตั้งอยู่ในเขตบางพลัด  เขตแรก ๆ  ที่ต้องรับวิบากกรรมจากอุทกภัย ที่น้ำท่วมจนล้นทุ่งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี  บางกรวย และสู่บางพลัดซึ่งอยู่เขตติดกัน  ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องประกาศก้องในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ว่าให้ประชาชนทั้งหมดในเขตบางพลัดอพยพ  !!    จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนก่อนใคร ๆ  

บทเรียนบทแรกที่ได้รับในครั้งนั้นก็คือ "การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ"  ภัยครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสซ้อมใหญ่ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ  สิ่งที่จะต้องเตรียมขั้นพื้นฐานก็คือปัจจัย 4 ประกอบด้วย อาหาร  น้ำดื่ม  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  ซึ่งข้าพเจ้ากระทำได้อย่างไม่ตกหล่น

  1. ซื้ออาหารมาตุนไว้เต็มตู้เย็นเลย  หมู  กุ้ง ปลา ผัก อาหารกระป๋องเพียบ  ไข่ไก่เกือบครึ่งร้อย
  2. กรองน้ำดื่มไว้เต็มพิกัด  โดยประเมินว่าน่าจะพอไว้กินใช้ครึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย  และยาต่างๆ สำหรับโรคพื้นฐาน
  3. ซื้อถุงดำเตรียมไว้เกือบลัง  มีครบทุกขนาด  สำหรับใส่ขยะ และอาจจะต้องใส่ของเสียส่วนตัว ในภาวะที่ไม่สามารถใช้สุขาได้  
  4. เลือกเสื้อผ้าที่จะใช้ไว้เฉพาะที่ซักง่ายไม่ต้องรีด เพื่อให้สดวกต่อการใช้สอย
  5. ยกของขึ้นที่สูงในระดับที่เชื่อว่าพ้นน้ำแน่นอน  ซึ่งประเมินว่าอาจจะเข้าตัวบ้านแต่ไม่น่าจะเกิน 50 ซม. เพราะบ้านข้าพเจ้าอยู่สูงกว่าระดับถนนพอสมควร 
  6. ซื้อเทียน  ถ่านไฟฉายไว้หลายขนาด เตรียมไว้เผื่อกรณีไม่มีไฟฟ้าใช้ 
  7. เตรียมกระสอบทรายไว้พอสมควร  ไว้กั้นไม่ให้น้ำเข้าเฉพาะตัวบ้าน  ยอมให้บริเวณบ้านซึ่งมีเนื้อที่ไม่มากนักเป็นแก้มลิงรับน้ำบ้าง  เป็นการช่วยเหลือส่วนรวม  
  8. เอารถยนตร์ไปจอดที่ธนาคารเพื่อความปลอดภัย   ขณะนั้นข้าพเจ้ายังทำงานอยู่ จึงสามารถขอจอดรถได้ยาวเลย ยอมเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ดีกว่าปล่อยให้น้ำท่วม โชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์จากธนาคาร  ส่วนลูกสาวไปทำงานต่างจังหวัด เอารถไปด้วย จึงหายห่วงในเรื่องนี้
ข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถเตรียมพร้อมได้พอสมควร รอเพียงภัยพิบัติมาถึง ก็จะใช้ชีวิตอย่างมีสติ   การติดตามฟังข่าวสารรอบด้าน เป็นเรื่องที่กระทำกันอย่างเข้มข้น  รวมทั้งติดตามข่าวคราวจากญาติพี่น้องซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน  ในช่วงนั้นปรากฏว่า พี่ชายของข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านภาณุรังษี เขตบางกรวย นนทบุรี เดือดร้อนก่อนใคร ๆ ทั้งหมดเพราะน้ำจากปทุมธานีไหลบ่ามาถึงตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2554   ทุกๆคน คิดเหมือนกันว่าจะรักษาทรัพย์สินของตนอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  แต่ทุกอย่างก็เหลือวิสัย  เมื่อรอบ ๆ ด้านนองไปด้วยน้ำ  กั้นอย่างไรก็เอาไม่อยู่  จนต้องพากันอพยพออกมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2554

คืนวันที่ 26 ตุลาคม 2554  ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศให้อพยพ  ข้าพเจ้าและเพื่อนบ้านคือดร.ชัยยงค์ และอัจจนา  ยังร่วมปรับทุกข์และปรึกษาหารือด้วยกัน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์จริงจากการออกไปสำรวจยามค่ำคืนประมาณเที่ยงคืนเห็นจะได้ที่บริเวณหน้าปากซอย และพบว่าเวลาใกล้เข้ามาแล้วจริง ๆ  จากสิ่งที่พบเห็นคือน้ำในท่อระบายน้ำมีแรงกระเพื่อมแรงมากและเสียงดังอย่างน่าตกใจ จนเพื่อนทั้งสองของข้าพเจ้าตัดสินใจอพยพในคืนนั้น ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง มีสามีเป็นหลักในการจัดการเตรียมรับสถานการณ์ยังใจเย็นอยู่  รอจนกระทั่งวันรุ่งขึ้น ก็เริ่มเห็นน้ำเต็มท่อและล้นออกมานองถนนในซอยหน้าบ้าน  แต่ก็ยังใจเย็นรอประเมินสถานการณ์  ถ้าปริมาณน้ำไม่สูงมากนัก  ก็พอจะอาศัยอยู่ในบ้านได้ จึงไม่กังวลนัก

สภาพน้ำในซอยวันที่ 27 ตุลาคม 2554 เริ่มล้นออกจากท่อระบายน้ำ
แต่ปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จนกระทั่งเช้าวันที่ 28  อยู่ในระดับเกือบ 30 ซม. และเริ่มนองเข้ามาในบริเวณบ้าน

น้ำเต็มซอยในวันที่ 28 ตุลาคม 2554 และเริ่มเข้าบ้าน
ในวันนั้น ได้ยินเสียงเร่งเร้าจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เร่งอพยพเพราะความห่วงใยประชาชนในเรื่องระบบไฟฟ้าที่อาจจะต้องมีการตัดไฟ หากเกิดความจำเป็น อีกทั้งข่าวสารในเรื่องปริมาณน้ำที่จะต้องไหลบ่ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ข้าพเจ้าต้องตัดสินใจในวันนั้น ว่าคงต้องอพยพเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ  โชคดีโดยแท้ที่หลานชายข้าพเจ้า (กรุง สรรพอุดม) อาสามารับออกไป  จึงต้องทิ้งบ้าน กลายสภาพเป็นประชาชนพลัดถิ่น ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา 

มนุษย์ทุกคนย่อมมีความห่วงใยในทรัพย์สินของตนเอง  ข้าพเจ้าเองก็มิได้แตกต่างไปจากคนอื่น จึงหวนกลับไปดูแลทรัพย์สินของตนในวันรุ่งขึ้น (29 ตุลาคม 2554)  เมื่อไปถึง สิ่งที่เห็นมันหนักหนากว่าที่คาดคิดมากมาย   รถยนตร์วิ่งได้เพียงเชิงสพานซังฮี้ฝั่งพระนคร  ต้องเดินข้ามสพานเอา และเมื่อมาถึงฝั่งธนบุรี  ก็พบว่าน้ำท่วมตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งน้ำ และนองถนนทั้งสายแล้ว ไม่น้อยกว่า 30 ซม.



เดินลุยน้ำมาถึง 4 แยกบางพลัด และเลี้ยวขวาไปทางสะพานพระราม 7  ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ  อุโมงค์ลอดทางแยกบางพลัด กลายสภาพเป็นแก้มลิงจำเป็น




อุโมงค์ลอดทางแยกบางพลัด หน้าปากซอย 71 กลายสภาพเป็นแก้มลิงจำเป็น

เดินลุยต่อเข้ามาถึงตัวบ้าน ก็พบว่า บ้านทุกบ้านในซอยนี้ กลายสภาพเป็นบ้านกลางน้ำไปแล้วทุกหลัง นี่เพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้นเอง น้ำสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ซม.






ต้นมะม่วงใหญ่ที่ปลูกไว้ 1 ต้น กลายสภาพเป็นต้นไม้น้ำ  ข้าวของทุกอย่างในบ้านลอยละล่องเต็มไปหมด  และสภาพน้ำเหล่านั้นเป็นน้ำที่ผ่านความสกปรกมาแล้วหลายจังหวัด  ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งจนเกินวิสัยที่จะอาศัยอยู่ได้


ในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 เป็นวันที่น้ำท่วมสูงสุด และทรงอยู่ระยะหนึ่ง จึงค่อย ๆ ลดลง ท่วมอยู่ถึง 12  วันเต็ม ๆ  เมื่อเข้ามาสำรวจบ้านก็พบร่องรอยของความเสียหายเกิดขึ้นทั่วไปหมด

บทเรียนบทที่สอง ที่ได้ในครั้งนี้ก็คือ "การยอมรับสถานการณ์ อย่างมีสติ"  แม้จะเตรียมพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเกินความคาดหมาย ก็จำต้องปรับตัวปรับใจ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีที่มาและที่ไปย่อมสามารถแก้ไขได้ หากมีสติ  ภัยน้ำในครั้งนี้ เมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว ไม่มีผู้ใดเอาอยู่ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาใจประชาชน   ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามทางของมัน  เฉกเช่นเดียวกับน้ำย่อมจะต้องไหลจากที่สูงลงต่ำ น้ำมีคุณอนันต์  ย่อมมักจะมีโทษมหันต์ด้วย  ถ้าเรายอมรับได้ก็ไม่ต้องไปโทษใคร

บทเรียนที่สาม ที่พบหลังน้ำลด ก็คือ " การปรับวิถีชีวิตตามแนวพอเพียง "  ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรต้องปรับวิถีชีวิตใหม่  แต่ละบ้านที่ได้รับความเสียหาย ต่างขนเข้าของที่เสียหายออกมาทิ้งกันไม่น้อยกว่า 1 คันรถกะบะต่อบ้านแต่ละหลัง  ทรัพย์สินมากมายที่มีอยู่  ล้วนเกินความจำเป็นทั้งสิ้น  ทรัพย์สินที่เกินความจำเป็นเหล่านี้หากเราแบ่งปัน บริจาคให้ผู้ด้อยโอกาสไปเสียบ้าง ให้คนที่เขาเดือดร้อนไปใช้ ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะเก็บงำไว้  และในที่สุดก็ต้องเสียหายเช่นนี้  บทเรียนในครั้งนี้ทำให้ต้องตระหนักถึงแนวทางการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้มากขึ้น   เพราะนับแต่นี้เป็นต้น ภัยพิบัติอื่น ๆ อาจเข้ามาใกล้ตัวเราบ่อยขึ้น  โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วิกฤติจากภัยน้ำในครั้งนี้   แม้จะทำให้เราสูญเสีย  ก็เพียงแค่ทรัพย์สินเท่านั้น  แต่สิ่งที่ได้มาคือบทเรียนที่จะทำให้ทุกชึวิตมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมกันมากขึ้น  จึงถือว่าไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว และที่สำคัญคือ หมั่นกระทำความดีให้เป็นนิจ  หากมีทุกข์หนัก   ก็อาจช่วยผ่อนคลายให้เป็นเบาได้........