บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รำลึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ สุโขทัย - ศรีสัชชนาลัย





สุโขทัย เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอายุเกินกว่า 700 ปี เคยเป็นราชธานีไทยในอดีต แต่ก่อนที่จะเป็นราชธานี เมืองนี้มีฐานะเป็นเพียงรัฐ ๆ หนึ่งที่มีชุมชนโบราณอาศัยอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์  เป็นจุดที่เสมือนเป็นศูนย์กลางทางการค้า เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งดี  อยู่ติดแม่น้ำยม และอีกด้านหนึ่งอยู่ติดเทือกเขาประทัก  จึงเป็นจุดกึ่งกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกทึ่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต จากการขุดค้นของนักโบราณคดี ณ.ระดับความลึก 9 เมตร   พบโครงกระดูกและเครื่องถ้วยชามของจีนมากมาย  จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนของการเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าได้เป็นอย่างดี


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้เมื่อเดือน มกราคม 2556  ที่ผ่านมา หลักฐานทางโบราณคดีที่ยังหลงเหลือให้เห็น คือวัดวาอารามต่าง ๆ  กำแพง  เจดีย์ ที่แม้จะเหลือเพียงซากเก่า ๆ  แต่ก็ยังสามารถสะท้อนให้เห็นได้ถึงความรุ่งเรืองในอดีตของชุมชนที่เติบโตคู่กันกับศิลปะวัฒนธรรมและความเชื่อ ความศรัทธาของคนในยุคนั้น



วัดช้างล้อมที่ศรีสัชชนาลัย

วัดช้างล้อมที่ศรีสัชชนาลัย

วัดเจดีย์เจ็ดแถวที่ศรีสัชชนาลัย

วัดนางพญา ที่ศรีสัชชนาลัย

วัดนางพญา ที่ศรีสัชชนาลัย

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชชนาลัย

ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ มิได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนเช่นยุคหลัง ๆ  เรื่องราวต่างๆ  จึงเป็นการตีความและวิเคราะห์ เอาจากหลักฐานที่พบเห็น เช่น ศิลาจารึกในบางหลัก ,  สิ่งที่พบจากหลุมขุดค้น และหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากอาณาจักรใกล้เคียง ที่เข้ามาทำการค้าด้วยในอดีต  ท่าน ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์  นักโบราณคดีได้ลำดับให้ฟังถึงประวัติบริเวณนี้ว่า  มีผู้คนอยู่อาศัยอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัยช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  มีความรุ่งเรืองสูงสุดช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20  และถูกทิ้งร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 


ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  เขมรได้แผ่ขยายอิทธิพลไปรอบด้าน จนถึงลำน้ำเจ้าพระยาโดยมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง  แผ่นดินสุโขทัยขณะนั้นก็ไม่อาจเลี่ยงพ้นจากอิทธิพลของขอมได้  จึงมีการสร้างปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงขึ้นตามแนวทัศนคติของชาวเขมรอย่างรีบเร่งหลายแห่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แผ่มาถึง  เมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยขณะนั้น  จึงมีฐานะเสมือนเมืองขึ้นของเขมร มีพ่อขุนศรีนาวนำถมปกครองเมือง


จวบจนช่วงปลายยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 18  ที่เขมรเริ่มเสื่อมอำนาจลง พ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ลง   ขอมสบาดโขลญลำพงจึงปกครองเมืองสุโขทัยต่อมา  พ่อขุนผาเมืองผู้เป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ซึ่งน่าจะเป็นพระญาติสนิท ได้ร่วมกันยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพง ได้เป็นผลสำเร็จ ขับไล่ขอมออกจากดินแดนแห่งนี้และสถาปนาสุโขทัยเป็นรัฐอิสสระ  มีพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และอภิเษกกับนางเสืองธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถม  เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง มีเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชชนาลัย ซึ่งอยู่ริมน้ำยม ใกล้ ๆ กันเป็นเมืองคู่แฝด  นับเป็นยุคเริ่มต้นของสุโขทัยเป็นต้นมา 


เมื่อบ้านเมืองสงบ  ก็เริ่มมีการก่อสร้างศาสนสถาน ตามความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อไว้สักการะบูชา   ศิลาจารึกหลักที่ 2  ซึ่งพบที่วัดศรีชุม ปรากฏข้อความตอนหนึ่งได้กล่าวถึง ........

"ขุนศรีนาวนำถุมเป็นขุนเป็นพ่อ เสวยราชย์ในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีเสชนาไล ......ประดิษฐานพระศรีมหาธาตุใกล้ฝั่งแม่น้ำ


วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง

พระพุทธรูปหน้าเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตืเชลียง


พระศรีมหาธาตุที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็คือ วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง ซึ่งอยู่ริมน้ำยมนั่นเอง  จึงเท่ากับวัดนี้มีความเก่าแก่ถึง 700  ปีเศษ เมื่อครั้งที่แผ่นดินสุโขทัย มีพ่อขุนศรีนาวนำถมครองเมือง  บริเวณนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าของศรีสัชชนาลัย ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่าวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง  รูปแบบของศิลปกรรมที่พบ ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากขอมก็คือปราสาทเฟื้องที่อยู่เหนือประตูทางเข้า มีรูปปั้นพระพักต์ที่สมมุติเป็นท้าวจตุโลกบาลอยู่ทั้ง 4 ด้าน ถือเสมือนเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของผู้คนทั้ง ๔ ทิศ ตามความเชื่อของขอม


ปราสาทเฟื้อง

ส่วนวัดพระศรีมหาธาตุสุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของสุโขทัย  อยู่กลางเมือง สันนิษฐานว่าเพิ่งสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง   ลักษณะเมืองมีกำแพงเมือง และ คูน้ำล้อมรอบเช่นเดียวกับเมืองศรีสัชชนาลัย   ผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมตามทัศนคติสมัยโบราณ  ท่าน ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ หนึ่งในผู้ซึ่งเคยเข้าไปขุดค้น ณ.บริเวณนี้พบว่า มีชุมชนของชาวเขมรอยู่ โดยเฉพาะหลุมขุดค้นที่เนินปราสาท ซึ่งอยู่ด้านหน้าของวัดมหาธาตุ ชั้นล่างสุดพบเครื่องถ้วยเขมรที่มีอายุราวศตวรรษที่ 17-18 ปรากฏอยู่



เนินปราสาท

ด้านหน้าวัดมหาธาตุ จะมีบริเวณหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นที่ดินที่ถูกถมจนสูงเป็นเนินและสูงกว่าบริเวณอื่นๆในแนวกำแพงเมืองสุโขทัย กว้างยาวด้านละ 200 เมตร  เรียกขานกันว่า "เนินปราสาท" บนเนินดินนี้พบฐานโบราณสถานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐ และมีร่องรอยการฉาบปูนไว้ พบพระแท่นมนังคศิลาบาตร และศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  เป็นหลักศิลาจารึกหลัก 1  ที่บันทึกว่า


"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อเสือง พี่กูชื่อบานเมือง  ตูพี่น้องท้องเดียวกัน 5 คน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้าย ตายจากเผือเตี้ยมแต่ยังเล็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาที่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญะญ่ายพ่ายจะแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู พระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน "



"เนินปราสาท" อยู่ท่ามกลางดงตาลจำนวนนับร้อยต้น จุดนี้มีความสำคัญมากทางประวัติศาสตร์ ที่มีการสันนิษฐานกันว่าบริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุจะเป็นพระราชวัง และเนินปราสาทจะเป็นท้องพระโรงในยุคสมัยสุโขทัย ที่กษัตริย์จะออกว่าราชการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน โดยมีกระดิ่งแขวนไว้ให้เคาะเพื่อร้องทุกข์  การปกครองแบบพ่อปกครองลูก  เริ่มขึ้นจริงจังสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย

ในเขตสุโขทัย จะพบศิลปกรรมที่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรอยู่หลายแห่ง เช่นที่วัดพระพายหลวง มีปราสาททรงเขมร ลักษณะเหมือนที่พบที่วัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี บ้านเกิดข้าพเจ้า และเหมือนกับพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี


วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวง

ในครั้งนี้คณะเราได้มีโอกาสไปชมศิลปกรรมที่วัดศรีชุม ซึ่งวัดนี้มีลักษณะรูปทรงแปลกกว่าที่อื่นๆ  ไม่มีลักษณะของวัฒนธรรมเขมร 


วัดศรีชุม

พระพุทธรูปในวิหาร


สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในช่วงพุทธศควรรษที่ 20 ซึ่งขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากลังกาและพุกาม ซึ่งนิยมสร้างมณฑป ,  วิหาร  แทนการสร้างปราสาทในลักษณะของเขมร 
ศิลปกรรมที่พบเห็นทั้งที่ศรีสัชชนาลัย และที่สุโขทัย บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในยุคนั้น ซึ่งคนในชุมชนได้รับอิทธิพล ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว  ประเทศชาติไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสุโขทัย  จึงเป็นเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ที่คนไทยสมควรภาคกูมิใจเป็นยิ่งนัก....





ขอขอบคุณข้อมูลที่ได้จากการเที่ยวชมร่วมกับ มติชนอคาเดมี........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น