บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เดินตามรอยธรรม ๑




นับเป็นโชคดีอย่างมากที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสท่องเที่ยวเชิงศาสนาร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยใช้เวลา ๔ วันของเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗  ในการท่องเที่ยวอิสาน  ดินแดนที่มากไปด้วยบรมเกจิอาจารย์ที่ประชาชนเคารพนับถือ  วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวของทัวร์คณะนี้  เน้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมไปด้วยตามแนวทางครูบาอาจารย์  บนพื้นฐานการเรียนรู้วัฒนธรรม  ประเพณี  วิถีชีวิตท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ในลักษณะบุญจาริก  เพื่อเรียนรู้รอยธรรมสำคัญรายทาง  แล้วอยู่ปฏิบัติบูชา, ภาวนากับครูบาอาจารย์และคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย  โอกาสดี ๆ  เช่นนี้นับว่าหาได้ไม่ง่ายนัก 
 
 
 
การเดินตามรอยธรรมครั้งแรกของข้าพเจ้าเริ่มขึ้นในเย็นวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗  คณะผู้เดินทางมีทั้งหมดรวม  ๓ คันรถบัสประมาณ ๑๐๐  กว่าชีวิตด้วยกัน พร้อมกันที่สวนโมกข์ กรุงเทพ  หลังจากลงทะเบียนเช็คจำนวนพลแล้ว  ก็เริ่มออกเดินทางประมาณ ๒ ทุ่มเศษๆ  เกือบจะตลอดระยะเวลาของการเดินทาง นพ.บัญชา พงษ์พานิช ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากร ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  ให้ความรู้แก่คณะผู้เดินทางอย่างมากมาย อย่างน่าทึ่ง   ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามากคนหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียวและทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้เปี่ยมด้วยคุณค่า 



เราเจอฝนเมื่อเข้าสู่แดนอิสาน  จึงเป็นผลให้การเดินทางไปถึงวัดไตรสิกขาทลามลตารามซึ่งเป็นเป้าหมายแรกต้องล่าช้าออกไปเล็กน้อย จากกำหนดการเดิมที่จะต้องไปถึงวัดไตรสิกขาทลามลตารามประมาณ ๐๔.๓๐  น.  กลายเป็น ๐๖.๓๐ น. เลยเวลาปฏิบัติธรรมช่วงเช้ามืดไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อไปถึงก็เพียงแต่จัดการขนสัมภาระเข้าที่พัก ชำระล้างหน้าตา ร่างกายตามสมควร แล้วก็ออกไปรับประทานอาหารเช้าที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้กันเลย 



ที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่วัดไตรสิกขาทลามลตารามนี่จัดว่าดีพอใช้  เป็นอาคารค่อนข้างใหม่  แบ่งเป็นห้องๆแต่ละห้องนอนได้ประมาณ ๘-๑๐ คน นอนเรียงกันฝั่งละ ๕ คน ทางวัดได้เตรียมปูเสื่อและมีหมอนให้  มีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆกัน เดินไปเพียงไม่กี่ก้าว แต่ห้องน้ำไม่ค่อยดีนัก  การเดินทางมาครั้งนี้ คุณหมอบัญชา ได้เกริ่นให้ทราบเป็นการล่วงหน้าแล้วว่าพวกเรามาปฏิบัติธรรม  ย่อมพบกับความไม่สดวกสบายบ้างเป็นธรรมดา  ทุกคนจึงรับสภาพได้ มิได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด  เราไปทานอาหารเช้ากันที่โรงครัวของวัดซึ่งมีชาวบ้านมาช่วยกันจัดทำอาหารไว้บริการพวกเรา เป็นอาหารพื้นบ้านที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาตั้งใจกันทำอย่างสุดฝีมือ    แต่ก็แอบเจียวไข่ให้พวกเราเสียถาดใหญ่ ๆ ถึง ๒-๓ รอบ เพราะเกรงว่าคงมีบางคนทานอะไรไม่ได้เลยและในที่สุดไข่เจียวก็หมดแล้วหมดอีก ราบเรียบกว่าอาหารชนิดอื่น จานชามเขาก็เตรียมไว้ให้เรียบร้อย ไม่ต้องใช้ของส่วนตัวที่ตระเตรียมไป พอทานเสร็จต่างคนก็ต่างล้างจานชามของตน  ไม่ต้องให้เป็นภาระต่อผู้อื่น 



 



หลังจากทานอาหารเสร็จ  คุณหมอบัญชา ก็พาพวกเราไปบริเวณหน้ากุฏิกลางน้ำของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ หมายจะพาพวกเราไปกราบนมัสการท่าน  แต่เนื่องจากท่านยังอาพาธอยู่  สภาพร่างกายไม่ค่อยมีความพร้อมสักเท่าใดนัก  พระอาจารย์ราวี  ศิษย์ของท่านจึงมาเทศนาธรรมให้เราฟังในเบื้องต้น ก่อนที่จะเข้าไปขออนุญาติพระอาจารย์สมภพและได้รับความเมตตาให้พวกเราเข้าไปกราบนมัสการท่านตามความประสงค์ได้ ข้าพเจ้าประทับใจในวัตรกิริยาของพระอาจารย์ราวีเป็นอย่างมาก  ท่านเป็นพระที่มีความสำรวมในกิริยา  และดูสงบ  ครองสติอยู่ตลอดเวลา  ท่านเล่าเรื่องราวความประทับใจและเลื่อมใสในคำเทศนาของพระอาจารย์สมภพ จนมาฝากตัวเป็นศิษย์ในเวลาต่อมา และจนกระทั่งพระอาจารย์สมภพอาพาธเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก มีอาการอัมพาตไปครึ่งซีกทั้งตัว ช่วยตัวเองเกือบไม่ได้  ต้องนั่งรถเข็นและมีศิษย์คอยดูแล




"ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง  ไม่มีใครหนีพ้นกรรมได้"  นี่คือสัจจธรรมข้อแรกที่ได้พบในการท่องเที่ยวครั้งนี้  ชีวิตในเพศสมณะของพระอาจารย์สมภพ  ท่านได้อุทิศตนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมาย แต่ท่านก็ยังประสพเหตุการณ์เช่นนี้  แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ท่านพยายามพบปะญาติธรรมอยู่เสมอมิได้ขาด โดยไม่ได้คำนึงถึงความเจ็บป่วยของตนเลยแม้แต่น้อย เสมือนหนึ่งจะเอาอาการเจ็บป่วยของตนเป็นเครื่องบอกธรรม ประวัติของพระอาจารย์สมภพน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง พระมหาสุริยัน จนทนาโมได้เขียนไว้ใน website ธรรมะไทย   ดังนี้.-



พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ เป็นพระนักปฏิบัติ  พระนักเทศน์  ถือเป็นนักปราชญ์แห่งภาคอิสานรูปหนึ่งที่เสียสละอุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังมาเนิ่นนาน  ท่านมีนามเดิมก่อนบวชว่า สมภพ ยอดหอ เกิดเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒  ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖  คือวันวิสาขะบูชา ณ.บ้านแพด  บิดาชื่อจูม มารดาชื่อสอน  มีพี่น้องร่วมสายโลหิตรวม ๑๒ คนด้วยกัน  ท่านเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน  แต่เดิมครอบครัวของท่านมีต้นกำเนิดที่บ้านนาผาง  อ.ตระการพืชผล  จ.อุบล  เมื่อครอบครัวประสพความขัดสนจึงย้ายถิ่นทำกินมาที่บ้านวังชมพู  ต.บ้านแพด  อ.คำตากล้า จ.สกลนคร  เลี้ยงดูลูกๆจนเติบโตสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง นายจูมผู้เป็นบิดา ซึ่งมีใจฝักใฝ่ธรรม ปฏิบัติตนและยึดมั่นในพระพุทธศาสนามาช้านาน ก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  ได้รับฉายาว่า "สุจิตโต" ซึ่งแปลว่าผู้มีจิตดี  มีความคิดดี  ท่านเป็นคนพูดน้อย  รักสันโดษ  ตั้งใจบำเพ็ญกรรมฐานอย่างมุ่งมั่น จนมรณะภาพในปี ๒๕๓๙ ที่วัดนิเพธพลาราม  โดยทิ้งข้อคิดทางธรรมไว้เตือนสติว่า



"ที่สิ้นสุดของกาย คือสิ้นลมหายใจ  ที่สิ้นสุดของจิต คือตัวเราไม่มี  ของเราไม่มี"
"เมื่อใดพรหมวิหารของเรายังไม่ครบสี่  เมื่อนั้นเรายังวุ่นวายอยู่  เพราะยังวางมันไม่ลง  ปลงมันไม่ได้" 
"คนเราเป็นทุกข์อยู่กับธาตุสี่เพราะยังไม่เห็นธาตุรู้  รู้อย่างเดียวไม่สุข  ไม่ทุกข์"
"จิตนั้นเหมือนน้ำ  มันชอบไหลลงทางต่ำ  ถ้าคนฉลาด กั้นมันไว้  มันก็จะไหลขึ้นที่สูงได้"



พระอาจารย์สมภพเมื่อครั้งเยาว์วัย เป็นเด็กที่ระลึกชาติได้  เล่ากันว่า ตอน ๔ ขวบ ได้เคยรบเร้ามารดาให้พากลับไปยังบ้านเกิดเดิมที่อุบลราชธานี  เมื่อไปถึงท่านก็ทักทายคนแก่เหมือนเป็นคนรุ่นเดียวกัน ใช้คำพูดว่า กูมึง  ทำให้เป็นที่แปลกใจของผู้พบเห็น  และท่านยังได้ถามถึงเหล็กขอที่เคยใช้ในอดีต แต่ไม่มีผู้ใดเคยพบเห็นจนท่านไปค้นหาเองที่หิ้งพระที่เคยเก็บไว้เดิม  จึงเชื่อกันว่าในชาติก่อนท่านเคยเป็นคนเลี้ยงช้าง  ชีวิตท่านเรียนจบการศึกษาเพียงชั้นป.๔  เมื่อจบแล้วก็ได้ช่วยงานบิดามารดา   ท่านน่าจะเป็นคนที่หนักเอาเบาสู้  จึงเคยเป็นนักมวยมาก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณรด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง   เมื่อท่านบรรพชาเป็นสามเณรได้ประมาณ ๓ ปี ก็ลาสิกขาบท เพื่อไปประกอบอาชีพ โดยได้ไปทำงานยังต่างประเทศแถบอัฟริกา ยุโรป แถบตะวันออกกลาง ถึง ๑๓ ประเทศ รับผิดชอบเป็นหัวหน้างานรับเหมาก่อสร้างถนน สนามบิน  ท่านเคยให้ความสนใจในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา  จนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบาทหลวง แต่เกิดอุปสรรคในการทำพิธีล้างบาป  น้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีได้เหือดแห้งถึงสามครั้ง   ทำให้ท่านหันกลับมาพิจารณาว่าคงไม่ใช่หนทางที่เหมาะกับตนเอง     จึงเริ่มหันกลับเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาอีกครั้ง และศึกษาพระไตรปิฎกควบคู่กับการทำงานไปด้วยโดยใช้เวลานานถึง ๑๑ ปี จนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง หลังจากนั้นท่านก็กลับเมืองไทย มีเงินก้อนหนึ่งที่รวบรวมได้จากค่าจ้างการทำงานมาชื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดบนเนื้อที่ ๕๐ ไร่ คือวัดนิเพธพลาราม แล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษา แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ท่านต้องการ ท่านเลยตัดสินใจบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาเสียเอง เพื่อทำหน้าที่ศาสนทายาทดังปรากฏในปัจจุบัน    โดยท่านอุปสมบทเมื่ออายุ ๓๖ ปี ที่วัดเนินพระเนาว์ จ.หนองคาย ในปี  ๒๕๒๘  ได้นามฉายาว่า "โชติปญฺโญ" ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญาอันโชติช่วงประดุจดวงประทีป  หลังจากอุปสมบทก็ได้เข้าปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา ๑ ปี โดยไม่พูดคุยกับใคร นั่งสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐานตลอดเวลา  พอครบปี หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ก็ขอให้ไปช่วยแปลธรรมะภาคภาษาอังกฤษเป็นเล่มเพื่อเทศน์ให้ชาวต่างชาติฟัง ขณะนั้นเป็นช่วงที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจปฏิบัติธรรมมาก หลังจากนั้นท่านก็ได้เริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ ท่านเริ่มประกาศตนเองในการเป็นผู้นำปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ในปี ๒๕๒๙ ดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้ายอมทิ้งความสุข ความสบาย อย่างไม่อาลัย  หันหลังให้กับทางโลก เพื่อค้นหาสัจจธรรมท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร 





วันนั้นช่วงบ่ายมีกำหนดการทำพิธีสามีจิกรรม พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ  พิธีสามีจิกรรม คือพิธีทางสงฆ์ที่พระภิกษุ สามเณร พึงทำความชอบต่อกันเพื่อความสามัคคี ความสงบสุข  ด้วยการแสดงความนอบน้อม คารวะ ขอขมาโทษกัน ให้อภัยกัน  ในวันนี้จึงได้พบเห็นพระภิกษุต่างวัดจำนวนมากมาย น่าจะนับร้อยองค์ ที่มาเข้าทำพิธีสามีจิกรรมพระอาจารย์สมภพ  รวมทั้งชาวบ้านที่นับถือพระอาจารย์อีกแน่นศาลา มาจากต่างจังหวัดก็มีมากมาย นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสที่เขาเหล่านั้นมีต่อพระอาจารย์สมภพและพระพุทธศาสนา  หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พระอาจารย์สมภพ ได้นำพุทธศาสนิกชนเดินจงกลมขึ้นเขา  เขานี้ชื่อเขาตุงคะวารี  ซึ่งอยู่ห่างจากศาลาปฏิบัติธรรมประมาณ ๑-๒  กม.เป็นภูเขาเทียมที่ท่านดำริให้สร้างขึ้น  โดยหวังให้วัดไตรสิกขาเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้  สายน้ำ  และขุนเขา  เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน  และอีกประการหนึ่งเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่คณะสงฆ์วัดไตรสิกขาได้รับมาจากมหาเถระที่ไปจำพรรษาอยู่ที่อินเดีย เมืองกุสินาราสถานที่พุทธปรินิพพาน   











กลับจากเขาตุงคะวารี  ต่างคนก็กลับที่พัก ชำระล้างร่างกาย เพือเตรียมตัวฟังพระธรรมเทศนาในเวลา ๑๙.๐๐ น.โดยวันนี้ทุกคนจะไม่ทานอาหารเย็น  ข้าพเจ้าเองก็แปลกใจกับตัวเองที่ทำไมถึงลืมความหิวไปเสียสนิทได้เหมือนกัน คืนนั้นพระอาจารย์จรัญ  ศิษย์ของพระอาจารย์สมภพมาเทศนาธรรม  ชาวบ้านชอบอกชอบใจ ท่านเลยเทศน์ไปจนถึง ๔ ทุ่ม  กลับถึงที่พักก็หลับสนิทในทันที   วันรุ่งขึ้นกำหนดสัญญานระฆัง เวลา ๐๑.๔๕  น.เพื่อไปปฏิบัติภาวนาตอนตี ๒  และทำวัตรเช้า  ครั้นพอถึงเวลา  ฝนตกหนักมาห่าใหญ่ สัญญานระฆังจึงไม่มี  เป็นอันว่าทุกคนนอนหลับปุ๋ยกันไปจนถึง ๖ โมงเช้า  ตื่นขึ้นอาบน้ำชำระร่างกายเสร็จ  ก็มาทานอาหารและเดินทางต่อไป 






เราไปถึงวัดภูทอก จ.บึงกาฬ  ประมาณ ๑๐.๐๐ น. วัดนี้มีชื่อเต็มว่าวัดเจติยาคีรี  พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ เป็นผู้นำการสร้าง  วัดอยู่บนเขา  มีทางเดินรอบๆเขาขั้นไปถึง ๗ ชั้นด้วยกัน มีทั้งถ้ำ ทั้งหน้าผา  เป็นที่มหัศจรรย์นักที่พระอาจารย์จวน สามารถสร้างได้จนสำเร็จ  เพราะทางเดินเป็นไม้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับหน้าผาน่าหวาดเสียวพอๆกับน่ามหัศจรรย์  เมื่อเดินทางขึ้นไปถึงชั้น ๖  จะสามารถมองลงมาเห็นภูมิทัศน์ของจังหวัดบึงกาฬได้เกือบทั้งหมด  สวยงามมาก ๆ  พระอาจารย์จวนเป็นพระนักปฏิบัติอีกท่านหนึ่งที่มีประวัติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  











พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐมีชาติกำเนิดในสกุล นรมาส เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฏาคม ๒๔๖๓  ที่ ต.ดงมะยาง อ.อำนาจเจริญ  จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อนายสา มารดาชื่อนางแหวะ  บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทร์  ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กเรียนดี สอบได้ที่ ๑ มาโดยตลอด จนครูไว้วางใจมอบหมายให้ช่วยสอนเพื่อน   เมื่อท่านอายุ ๑๔-๑๕ ปี  ได้พบพระธุดงค์มาปักกลดใกล้บ้าน  บังเกิดความเลื่อมใส ตั้งปณิธานว่าจะต้องบวชอย่างพระภิกษุองค์นั้นบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือไตรสรณาคมณ์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม  วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธาจึงลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น  เริ่มสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิบริกรรม"พุทโธ" ปรากฏว่าจิตรวมจิตกับกายแยกกัน  ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต  กายอยู่เฉพาะกาย  เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย  เมื่อท่านอายุ ๑๘ ปี ได้เข้ารับราชการกรมทางหลวงอยู่เป็นเวลา ๔  ปี ระหว่างทำงานท่านได้รับหนังสือ"จตุราลักษณ์" ของท่านพระอาจารย์เสาว์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มเติมสติปัญญา  ท่านบังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง เห็นว่าคนเราที่เกิดมาถ้าไม่ประกอบคุณความดีก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตตนและไม่มีโอกาสที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก ท่านยิ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เมื่ออายุ ๒๐ ถึงกับสละทรัพย์ที่เก็บหอมรอมริบมาเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินคนเดียว  สร้างพระประธาน  สร้างห้องสุขาในวัดจนหมดเงิน เมื่อท่านอายุ ๒๑ ปีจึงลาออกเพื่ออุปสมบทที่วัดเจริญจิต  บ้านโคกกลาง ต.ดงมะยาง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบล ได้ฉายาว่า "กัลยาณธัมโม" และสอบได้เป็นนักธรรมตรีในพรรษานั้น  ท่านมีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ  ประทับใจในวัตรกิริยา จึงถวายตัวเป็นศิษย์ จากนั้นก็ได้ธุดงค์ไปตามเทือกเขา ตามดอย หลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่  ก่อนที่จะมาบำเพ็ญเพียรภาวนาในเขตภาคอิสานอีกหลายแห่ง สุดท้ายก็คือภูทอก  โดยเริ่มแรกท่านมาบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูวัว  อ.เซกา จ.หนองคาย  คืนหนึ่งท่านนิมิตรเห็นปราสาท ๒ หลังลักษณะสวยงามมากอยู่ทางด้านภูทอกน้อย   ท่านจึงเดินทาง ออกธุดงค์ไปพิสูจน์ตามที่เห็นในนิมิตร และพบลักษณะภูมิประเทศที่สวยงามร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้ปักกลดบนภูทอก พร้อมออกสำรวจบริเวณรอบๆ ต่อมาชาวบ้านเห็นท่านจึงพร้อมใจกันอาราธนาให้สร้างวัดขึ้นที่ภูทอก และจำพรรษาอยู่ที่วัดภูทอกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ท่านได้ชักชวนชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างบันไดขึ้นภูทอกจนถึงชั้น ๕-๖ และได้ปลูกสร้างเสนาสนะสำหรับสงฆ์อยู่ถึง ๒ เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ  ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓-๑๔ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านสร้างทำนบกั้นน้ำขึ้น ๒ แห่งเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้  ต่อมาประชาชนและหน่วยงานราชการต่างๆล่วงรู้เข้า จึงช่วยกันสมทบทุนสร้างเครื่องไฟฟ้า สร้างพระพุทธรูป โรงฉัน ศาลา และสะพานรอบๆชั้น ๕-๖ รวมถึงสร้างสถานที่บำเพ็ญภาวนา  ท่านมรณะภาพเมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่คลองหลวง ปทุมธานี จากการเดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจที่กรุงเทพ  รวมอายุได้ ๕๙ ปีเศษ  ๓๘ พรรษา  บนภูทอกนี้มีแต่ความเงียบสงบ  พวกเราได้เดินขึ้นไปถึงชั้น ๖ ด้วยความพยายามอย่างยิ่ง มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ขั้นได้ถึงชั้น ๗ เพราะหนทางเป็นป่ารก ลำบากมาก  หลังจากลงมาจากภูทอก  ก็มาทานอาหารกลางวันกันที่ศาลาการเปรียญ เสร็จแล้วก็เดินทางต่อไป จ.หนองคาย เพื่อนมัสการหลวงพ่อพระใส  ที่วัดโพธิ์ชัย 





เราถึงวัดโพธิ์ชัยก็บ่ายแก่ ๆ แล้ว มีท่านรองเจ้าอาวาสรอให้การต้อนรับคณะเราอยู่  ท่านได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของวัดนี้ให้ฟังว่า วัดนี้มีมาช้านาน สร้างตั้งแต่เมื่อใดไม่กรากฏชัดเจน  แต่เดิมชื่อวัดผีผิว  เพราะใช้เป็นที่เผาศพและลือกันว่าผีดุ  หลวงพ่อพระใสที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถนั้นมีประวัติว่าเป็นพระที่สร้างในสมัยล้านช้าง โดยพระราชธิดา ๓ พระองค์แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นเจ้าของศรัทธาสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ คือพระสุก พระใส พระเสริม ประชาชนทั่วไปเลื่อมใสศรัทธามาก ในยามที่บ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข ชาวเมืองก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๓ ไปซ่อนที่ภูเขาควาย เมื่อเหตุการณ์สงบจึงค่อยอัญเชิญออกมา  ในช่วงแผ่นดินรัตนโกสินทร์  ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จึงส่งแม่ทัพไปปราบกบฏ เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อย  ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์บนแพไม้ไผ่ล่องเรือผ่านลำน้ำงึมมาสยามประเทศ ระหว่างเดินทางเกิดพายุหนัก แท่นของพระสุกแหกแพจมน้ำไป บริเวณแห่งนั้นจึงได้รับการเรียกขานว่าเวินแท่น  แพยังล่องต่อมาจนถึงปากแม่น้ำงึม ก็ได้เกิดพายุหนักอีกครั้ง และองค์พระสุกได้แหกแพจมน้ำไป  บริเวณนั้นจึงได้รับการเรียกขานว่าเวินสุก โดยมีองค์พระสุกจมน้ำอยู่เช่นนั้นจนปัจจุบัน  เหลือพระเสริมและพระใส ได้นำมาขึ้นที่เมืองหนองคาย ไปประดิษฐานที่วัดหอก่อง  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ได้คิดอัญเชิญมาอยู่ที่ กทม.ทั้ง ๒ พระองค์โดยอัญเชิญขึ้นบนเกวียน  แต่เกิดเกวียนหักบริเวณหน้าวัดโพธิ์ชัย ไม่สามารถนำพระใสเคลื่อนต่อไปได้  จึงอัญเชิญท่านประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยเรื่อยมาจนปัจจุบัน   ส่วนพระเสริมปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม กทม.  ชาวจังหวัดหนองคายมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระใสมาก ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่ปกป้องชาวเมืองหนองคายให้ร่มเย็นเป็นสุข  ชาวบ้านจะเรียกนามท่านอีกนามหนึ่งว่า หลวงพ่อเกวียนหัก  มีเหตุการณ์มหัศจารย์ที่เกิดขึ้นเมื่อคราวที่เครื่องบินตกที่ทุ่งรังสิตเมื่อ พศ. ๒๕๒๓ ในครั้งนั้นมีผู้โดยสารที่รอดชีวิตเพียง ๒ คน ๑ ใน ๒  คือนายศักดา อัครเมธาทิพย์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำหนองคาย ที่นำพระใสขึ้นเครื่องมาด้วย และปลอดภัยทั้งคนและพระพุทธรูปเป็นที่น่าอัศจรรย์ในยิ่งนัก  








คณะของพวกเราโชคดีอย่างมากที่มีโอกาสได้สวดมนต์บูชาพระพุทธคุณร่วมกันในอุโบสถวัดโพธิ์ชัย ต่อหน้าพระพักตร์ของพระใส ถือเป็นบุญที่ติดตัวไปทุกผู้ทุกคน  และอานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระใสจะปกป้องคุ้มครองพวกเราทุกคนเช่นกัน   ออกจากวัดพระใส  ก็เย็นพอดี   จึงเดินทางไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านแดงแหนมเนือง  ก่อนจะเข้าที่พักวัดหินหมากเป้ง  อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 





เราถึงวัดถึงหินหมากเป้งก็ค่ำคืนมากแล้วประมาณ ๓ ทุ่มเศษ  แต่พระอาจารย์บุญทวี  สีตจิตโต ท่านเจ้าอาวาสก็ยังมีเมตตาอยู่รอรับคณะของพวกเรา  เทศนาธรรมให้ฟังอีกประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ จึงกลับที่พัก  ที่วัดหินหมากเป้งนี่เป็นสถานที่พำนักปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  เกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่ง ประวัติของท่านน่าสนใจเช่นกัน





หลวงปู่เทสก์ท่านมีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาว์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕  ที่บ้านนาสีดา อ.บ้านผือ จ.อุดร บิดาชื่ออุสาห์  มารดาชื่อครั่ง มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๑๐ คน  ท่านเป็นคนที่ ๙ เมื่ออายุ ๙ ขวบได้เรียนภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระ  เมื่ออายุประมาณ ๑๓-๑๔  เกิดนิมิตรว่าถูกพระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้ ท่านวิ่งหนีเอาตัวรอด ร้องให้บิดามารดาช่วยแต่ท่านกลับนิ่งเฉย จึงนึกในใจว่าสักวันจะขอบวชเป็นพระบ้าง จนเมื่ออายุ ๑๘ ปีได้บวชเป็นสามเณรจนถึงอายุ ๒๒ ปีจึงอุปสมบท และออกธุดงค์ไปจนพบพระอาจารย์มั่นที่ดอยแม่ปั๋ง  เชียงใหม่ ท่านเคยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูนิโรธรังสี  ภายหลังท่านขอลาออกจากคณะจังหวัดและงดใช้สมณศักดิ์ มาเป็นพระเทสก์ เทสรังสี ตามเดิม  ช่วงที่ออกธุดงค์ทางอิสาน พบสถานที่ที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญเพียร คือที่วัดหินหมากเป้งแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่าดง มีลิง เก้ง สัตว์ร้ายมากมาย เมื่อชาวบ้านทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาก็สร้างกุฏิไม้ถวาย  ท่านจึงจำวัดที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘  และพัฒนาวัดเรื่อยมา  ท่านมรณะภาพเมื่อ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๗  รวมสิริอายุได้ ๙๓ ปีเศษ  ปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่เขียวชอุ่ม และมีความเงียบสงบ ด้านหลังอยู่ติดริมแม่น้ำโขง   







คืนนั้นทุกคนหลับสนิทด้วยความอ่อนเพลีย  มีสัณญาณระฆังปลุกเวลา ๐๔.๐๐  น.เพื่อทำวัตรเช้า และภาวนารับอรุณ  ทุกคนตรงต่อเวลามาก  ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่  ธรรมะฝึกฝนคนได้เช่นนี้เอง  พระอาจารย์บุญทวีได้นำปฏิบัติธรรมจนถึงรุ่งสาง  ก่อนที่ท่านจะออกเดินบิณฑบาตร   พวกเราก็ออกไปเดินเล่นริมโขงกันอย่างสนุกสนาน สูดอากาศที่บริสุทธิ์  สดชื่น  ในยามเช้า ช่วยทำให้ปอดสดชื่นได้เยอะทีเดียว   ทั้งสดชื่น  ทั้งสงบ  หินหมากเป้งที่เป็นชื่อของวัดนี้ก็คือชื่อของหิน ๓ ก้อนซึ่งตั้งเรียงกันอยู่  มีลักษณะคล้ายตุ้มเครื่องชั่งทองสมัยเก่า อยู่บนวัดเราจะมองไม่เห็นเพราะหินรองรับระเบียงวัดอยู่  เราออกไปยืนริมโขงบนระเบียงก็เท่ากับเรายืนบนก้อนหินนั่นเอง  ใครอยากจะเห็นก้อนหิน  คุณหมอบัญชาบอกว่าให้ว่ายน้ำไปฝั่งโน้น  หลังจากพวกเราชื่นชมธรรมชาติยามเช้ากันเต็มอิ่มแล้วก็พากันไปทานอาหารที่คณะแม่ชีของวัดจัดเตรียมให้  โรงอาหารของวัดหินหมากเป้ง สะอาดสะอ้านอย่างมากอย่างเหลือเชื่อทีเดียว ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นโรงอาหารของวัดไหนที่สะอาดและเป็นระเบียบเช่นที่นี่มาก่อนเลย ทานอาหารเสร็จ เราก็เดินทางต่อเป้าหมายต่อไปคือพระธาตุบังพวน 
 
 

 

ต้องยอมรับว่าไม่เคยได้ยินชื่อพระธาตุบังพวนมาก่อนเลยในชีวิต   แต่เมื่อไปถึงก็พบว่า พระธาตุบังพวนมีลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุอื่นๆที่เคยไปมา  ข้าพเจ้าได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่จังหวัดหนองคายจัดทำขึ้นในสมัยที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พูดถึงเมือง ๆ หนึ่งในอดีต ชื่อเมือง "เวียงคุก"  เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในอาณาจักร์ล้านช้าง  เป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่มาตั้งแต่ก่อนพุทธศักราชที่ ๑๘-๑๙   เมืองเวียงคุกนี้เป็นเมืองคู่แฝดของเวียงจันทร์  ในช่วงที่ขอมเรืองอำนาจ แผ่อิทธิพลทั่วสุวรรณภูมิ มีการสร้างพระพุทธรูปหิน ศิลาจารึกและปราสาทขอมโบราณมากมายกระจายอยู่ทั่วเวียงคุก  จนกระทั่งขอมสิ้นอำนาจไปในพุทธศักราชที ๑๙-๒๐ โบราณสถานต่างๆจึงขาดการบูรณะ ทรุดโทรม ปรักหักพัง เสียหายมาก จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเริ่มปฏิสังขรณ์  โดยเฉพาะพระธาตุบังพวนซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของเวียงคุก  เมืองเวียงคุกต้องสูญเสียเอกราชให้กับสยาม ในสมัยที่พระเจ้าตากสินยกทัพไปตีเวียงจันทร์ 



พระธาตุบังพวนเป็นพระธาตุเจดีย์สำคัญในภาคอิสาน ภายในวัดยังพบกลุ่มพระธาตุต่างๆอีกหลายองค์  เจดีย์ประธานคือพระธาตุบังพวน ซึ่งมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกว่า" พระธาตุบังพวนพระเจดีย์ศรีสัตตมหาสถาน" สร้างโดยผู้ครองนครเวียงจันทร์  ตามความเชื่อว่าประดิษฐานพระหัวเหน่าของพระพุทธเจ้า แต่บางตำนานก็เชื่อว่าบรรจุพระบังคนหนักของพระพุทธองค์  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชบูรณะต่อโดยก่อพระเจดีย์ใหญ่ ครอบองค์พระธาตุเดิมไว้  
 








 
คำว่า สัตตมหาสถาน ก็คือสถานที่ ๆ เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ๗ แห่ง เมื่อครั้งตรัสรู้  ดังนี้.- 
 
  1. โพธิบัลบังค์ -  สถานที่ๆพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๗ วันจึงเสด็จจากวัชรอาสน์
  2. อนิมิสเจดีย์ - สถานที่ๆพระพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วทอดพระเนตรโพธิบัลลังค์ ๗ วันโดยไม่กระพริบพระเนตร
  3. รัตนจงกลมเจดีย์-สถานที่ๆพระพุทธเจ้าเดินจงกลมพิจารณาหมู่สัตว์โลกอยู่ ๗ วัน
  4. รัตนฆรเจดีย์-สถานที่ๆพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาธรรมต่างๆ อยู่ ๗ วัน
  5. อชปาลนิโครธเจดีย์-สถานที่ๆพระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรม และทรงมีพุทธฏีกาต่อนางมารว่า พระองค์ทรงละกิเลสหมดสิ้นแล้ว
  6. มุจลินทร์เจดีย์-สถานที่ๆพระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรม อยู่ใกล้สระน้ำ มีพญานาค ๙ เศียรแผ่พังพานคอยป้องฝนให้
  7. ราชายตนะเจดีย์-สถานที่ๆพระพุทธเจ้าประทับพิจารณาธรรมอยู่ใต้ต้นเกด มีพระอินทร์มาถวายผลสมอทิพย์และมีพ่อค้า ๒ คนมาเห็นแล้วเลื่อมใสจึงถวายข้าวสะตู และพระองค์รับเป็นอุบาสกคู่แรก พระพุทธเจ้าทรงแบพระหัตถ์รับและตัดสินพระทัยใต้ต้นเกดที่จะโปรดเวไนยสัตว์ หลังจากพระองค์ทรงพิจารณาธรรมแล้วจึงทรงแสดงธรรมต่อท้าวมหาพรหม และทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรในวันอาสาฬหปรุณ วันเพ็ญเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบสามองค์



สัตตมหาสถานในพระพุทธศาสนานอกจากจะมีต้นแบบที่พุทธคยา อินเดียแล้ว ในโลกนี้มีสัตตมหาสถานที่สร้างขึ้นหลังพระพุทธกาลเพียง ๓ แห่งคือ  ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า , ที่วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่    และที่พระธาตุบังพวน  จ.หนองคาย ซึ่งนับว่าที่นี่มีความสมบูรณ์มากที่สุด   เราออกจากพระธาตุบังพวนด้วยความอิ่มเอมใจ ที่มีโอกาสได้เห็นสิ่งที่มีค่าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  และมีพลังใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้มากยิ่งขึ้น 
 
 
 
ออกจากพระธาตุบังพวน พวกเราเดินทางต่อไปยังโปรแกรมสุดท้ายคือวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งพระอาจารย์จูม พันธุโล เป็นผู้พัฒนาจนเกิดความเจริญรุ่งเรือง และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ปัจจุบันท่านมรณะภาพไปแล้วตั้งแต่  ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๐๕ ด้วยสิริอายุ ๗๔ ปี  

 




ออกจากวัดโพธิสมภรณ์  เราก็เดินทางกลับกรุงเทพทันทีแม้จะเหน็ดเหนื่อยและลำบากบ้างในบางแห่ง   แต่ทุกแห่งเปี่ยมไปด้วยธรรม  หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มีคุณค่าเหนือกาลเวลาและสิ่งอื่นใด  ไม่ว่าจะยุคใด  สมัยใด แม้จะล่วงเลยพระพุทธกาลมาแล้วถึง ๒๕๕๗ ปี   แต่ธรรมะก็ยังคุ้มครองโลก  คุ้มครองผู้รักษาศีล  คุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม  หลวงปู่เทสก์ท่านพูดว่า " พวกเราจะเข้าถึงพระพุทธภูมิ คือภูมิของพระพุทธเจ้า  ก็ด้วยการที่เราสงบ  เราตั้งสติ กำหนดจิตให้สงบ  เท่านี้แหละ"  การเดินทางท่องเที่ยวในครั้งนี้  จึงนับว่ามีค่าเป็นยิ่งนัก.......................















ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก  -วัดไตรสิกขา , วัดภูทอก , วัดโพธิชัย , วัดหินหมากเป้ง ,  วัดโพธิสมภรณ์
                       -เวบธรรมะไทย , กลุ่มวิทยากรสวนโมกข์ กรุงเทพ
                       -หนังสือวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ .จ.หนองคาย


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น