บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตามรอยเสด็จ ทุ่งมะขามหย่อง





ภาพประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่งที่คนไทยจะต้องจารึก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  ได้เสด็จไปยังทุ่งมะขามหย่อง  จังหวัดอยุธยา เพื่อติดตามโครงการพระราชดำริ ทอดพระเนตร พื่นที่นี้ซึ่งเคยได้รับอุทกภัยอย่างหนักมาในอดีตเมื่อปี 2539 แต่สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี  บริเวณนี้เป็นโครงการส่วนพระองค์ที่จัดทำเป็นแก้มลิงไว้สำหรับเก็บกักน้ำให้เกษตรกรใช้ในการเกษตรยามแห้งแล้ง และเป็นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
 
 

วันนี้ข้าพเจ้าจึงขอตามรอยเสด็จของพระองค์ท่าน  ไปเที่ยวชมทุ่งมะขามหย่อง  ด้วยเส้นทางด่วนอุดรรัถยา ออกไปทางอำเภอบางปะหัน ด้วยเส้นทางหลวง 347  วิ่งไปจนถึงสี่แยกวรเชษฐ์ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  อยู่บนเส้นทางหลวง 347  เลยแยกวรเชษฐ์ไปเล็กน้อย
 
 
 
บริเวณแยกวรเชษฐ์นี้ในอดีตมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  สมัยแผ่นดินอยุธยา ช่วงที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน  พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดี ได้ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินของอยุธยาและคาดการณ์ว่าแผ่นดินอยุธยาคงระส่ำระสาย จึงยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี  ในครั้งนั้นทัพพม่าส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง  และอีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณทุ่งวรเชษฐ์แห่งนี้  การรบครั้งนั้น นำมาซึ่งการสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อัครมเหสีของพระองค์  แผ่นดินบริเวณนี้น่าจะเกลื่อนไปด้วยศพและเลือดของทหารกล้าทั้งของอยุธยาและหงสาวดีที่รบพุ่งกันอย่างเต็มกำลัง
 
 
 


พระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ถูกสร้างขึ้นที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง  บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 250 ไร่ พอเข้าประตูไป  ก็จะพบพระราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด ประทับนั่งบนหลังพระคชาธาร  พร้อมทหารกล้าทั้ง 4 ด้านที่เรียกกันว่าจาตุรงคบาทตั้งเด่นเป็นสง่า








ด้านซ้ายมือจะเป็นอ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ไพศาล ที่เรียกกันว่าแก้มลิงของชาวอยุธยา มีพลับพลาที่ประทับตั้งอยู่กลางน้ำทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ




ทุ่งมะขามหย่อง ตั้งอยู่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ในอดีตกาลเคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างไทยกับพม่ากันหลายครั้ง  แพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไป ตามความเข้มแข็งและอ่อนแอของกองทัพขณะนั้น  จนถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งพม่าเห็นว่าไทยกำลังอ่อนแอ สบโอกาสยกทัพผ่านด่านเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดินำกองทัพออกรับสู้ กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร แม่ทัพพม่า ในช่วงของการสู้รบที่พระมหาจักรพรรดิกำลังเพลี่ยงพล้ำ  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีที่ปลอมพระองค์ออกรบด้วย และได้ไสช้างเข้าขวาง  จนพระนางถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง   ในครั้งนั้น (พศ.2091) พม่าตีอยุธยาไม่สำเร็จและเมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ชื่อวัดสวนหลวงสบสวรรค์ 



เจดีย์ศรีสุริโยทัย

ปัจจุบันวัดสวนหลวงสบสวรรค์ มีสภาพเป็นวัดร้าง คงมีปรากฏเพียงเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งบรรจุอัฐิของพระองค์ท่าน และกรมศิลปากรได้ใช้พื้นที่บริเวณวัดสวนหลวงสบสวรรค์เป็นสำนักงานศิลปากรแทน


สำนักงานศิลปากร

เหตุการณ์ในครั้งนั้น  ทำให้เราซึ่งเป็นอนุชนรุ่นหลัง  ต้องหวนรำลึกถึงอดีต  โดยเฉพาะวีรสตรีไทยพระองค์นี้  ที่กล้าหาญดุจชายชาติทหารคนหนึ่ง  ปกป้องผืนแผ่นดินไทยทำให้ไทยเป็นไทยอยู่จนทุกวันนี้  ทุกตารางนิ้วบนผืนแผ่นดินไทยที่เราอยู่กินกันอย่างสุขสบาย  เป็นเพราะเรามีผู้กล้าสร้างแผ่นดินให้เราด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น  รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทย จึงได้ร่วมกันสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พศ. 2535 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม  2534 และสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน ไปประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเมื่อ 27 มิถุนายน 2538 




พสกนิกรชาวอยุธยาดีใจเหลือประมาณ ในการที่ทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ.ที่แห่งนี้  จึงพร้อมใจกันจัดการแสดงต่าง ๆ ให้ได้ทอดพระเนตรมากมายหลายอย่าง  หลังจากที่พระองค์ได้ถวายสักการะสมเด็จพระศรีสุริโยทัยแล้ว  จึงเสด็จมาประทับที่ศาลากลางน้ำเพื่อทอดพระเนตรการแสดงที่ประชาชนจัดถวาย



ขับเพลงเห่เรือ

เรือชาวบ้านเข้าร่วมแสดงเพลงเห่เรือ

เป่าขลุ่ยเพลงความฝันอันสูงสุด โดย อาจารย์ธนิส ศรีกลิ่นดี

แสดงยุทธหัตถี

บทประพันธ์จาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


บทประพันธ์จาก จีรนันท์ พิตรปรีชา



บทเพลงจาก แอ๊ด คาราบาว

ในบริเวณทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้  ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่  ใช้ทำเป็นแก้มลิงเสีย  180 ไร่  จุน้ำได้ถึง 2 ล้าน ลบ.เมตร จึงสามารถช่วยชลอน้ำที่จะไหลเข้ากรุงเทพมหานครได้มากทีเดียว   ปริมาณการรับน้ำในปี 2539 และ 2554  ได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำ
 
 




 
ที่ดินส่วนที่เหลือ จัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ข้าพเจ้าเห็นประชาชนมากมายเข้ามาใช้ประโยชน์ดังกล่าว  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณโดยแท้
 
 





 
 
ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์  และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพเพียงนิดเดียว ที่ทุก ๆ ท่าน ไม่ควรพลาดจริง ๆ  ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น