บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สังขละบุรี...ดินแดนแห่งวัฒนธรรม ๒ แผ่นดิน



บริเวณที่แม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกันเรียกว่า สามประสบ


เคยได้ยินชีวประวัติและคุณความดีของท่านหลวงพ่ออุตตมะมานานมากแล้วและเคยตั้งใจว่าจะต้องไปกราบสักการะท่านสักครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสสักทีจนกระทั่งเกษียณจากงานประจำ ในครั้งนี้จึงมีความตั้งใจจริงจัง และได้เดินทางไปสังขละบุรีแล้วเมื่อช่วงที่ผ่านมา

 
ระยะทางจากกรุงเทพถึงสังขละบุรี ว่าไปแล้วก็มิได้ไกลหนักหนา เพียงแค่ ๓๕๐ กม.เศษเท่านั้น ถนนหนทางก็สดวกสบาย จะหนักหนาอยู่เพียงช่วงเดียว ระหว่างอำเภอทองผาภูมิไปอำเภอสังขละบุรี ที่เป็นเส้นทางภูเขา แต่ก็มีทัศนียภาพให้ได้ชมเป็นระยะเนื่องจากถนนบางช่วงตัดเลียบเขื่อนเขาแหลม

เราออกเดินทางแต่เช้า ไปถึงสังขละบุรีประมาณบ่าย ๒ โมง สังขละบุรีเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนพม่าจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีชนหลายเผ่าอาศัยอยู่ ที่เห็นอยู่เป็นกลุ่มก้อนก็มีกลุ่มชนกะเหรี่ยง และกลุ่มชนชาวมอญ บุคคลเหล่านี้หนีภัยจากแผ่นดินพม่ามาพึ่งพระบรมโภธิสมภารในแผ่นดินไทย

ภาพวาดหลวงพ่ออุตตมะ

ท่านหลวงพ่ออุตตมะน่าจะถือได้ว่าท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชนชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงบนผืนแผ่นดินไทย ชาวมอญนับถือท่านเป็นเทพเจ้าของชาวมอญ  ประวัติของท่านน่าสนใจยิ่งนัก ท่านเกิดที่จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า บิดามารดามีอาชีพทำนา ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๒ คน  น้องๆหลายคนของท่านเสียชีวิตไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ยกเว้นตัวท่านที่รอดมาจนกระทั่งอายุ ๙ ขวบ บิดามารดาจึงให้ไปอยู่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียนอันเป็นวิถีประเพณีเช่นเดียวกับคนไทยในอดีตที่มักจะส่งลูกชายไปอยู่วัด เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้ประสาทวิชา  ท่านอยู่วัดจนถึงอายุ ๑๒ ปีบิดามารดาจึงไปรับมาเล่าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐบาลอีก ๕ ปี จนจบการศึกษาในระดับประถมและออกมาช่วยบิดามารดาทำนาอีก ๒ ปี  ขณะนั้นนายเอหม่อง ซึ่งเป็นชื่อของท่าน มีอายุได้ ๑๙ ปี บิดามารดาจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวรามัญที่ปฏิบัติสืบกันมา  ระหว่างที่เป็นสามเณรท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความอุตสาหะ  จนกระทั่งเมื่อท่านอุปสมบทในช่วงต่อมา ได้รับฉายาว่า"อุตตมะรัมโภ" ซึ่งแปลว่าผู้ที่มีความพากเพียรสูงสุด  ท่านสอบได้เปรียญธรรมสูงสุดของพม่าในปี  ๒๔๗๕

ท่านได้ธุดงค์ไปตามที่ต่างๆทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทย เข้าเมืองไทยครั้งแรกที่เชียงใหม่ เมื่อปี ๒๔๘๖ และธุดงค์ไปเรื่อยๆทั้ง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน  น่าน  ตาก  และกาญจนบุรีก่อนกลับพม่า และเข้ามาอีกครั้งทางสังขละบุรี ในปี ๒๔๙๒ ท่านเคยจำพรรษาที่วัดท่าขนุน ทองผาภูมิ, วัดเกาะ โพธาราม  ราชบุรี  ซึ่งมีชาวมอญอาศัยอยู่ ในระหว่างการจำพรรษาที่วัดเกาะ โพธาราม ท่านได้รับข้อมูลจากชาวมอญว่า มีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่านจำนวนมากหนีภัยจากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ที่สังขละบุรี ท่านจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียนชาวมอญเหล่านั้น 
 

นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของชุมชนมอญที่สังขละบุรี  หลังจากที่ท่านไปเยี่ยมชาวมอญซึ่งอพยพหนีภัยมาดังกล่าว  ท่านได้พาชาวมอญไปอาศัยอยู่ที่ตำบลวังกะล่าง และจัดระเบียบชาวมอญเพื่อมิให้เป็นปัญหาต่อแผ่นดินไทย ในจำนวนนี้มีชาวกะเหรี่ยงรวมอยู่ด้วย  แต่ท่านก็ควบคุมให้ทั้งกะเหรี่ยงและมอญอยู่กันด้วยความสงบสันติ
 
 
ในปี ๒๔๙๙ ชาวบ้านเหล่านี้ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" คือจุดที่แม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน แม่น้ำ ๓ สายนั้นคือแม่น้ำซองกาเรีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี  ชาวบ้านเรียกสำนักสงฆ์นี้ว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" หลังจากนั้นก็ได้สร้างอุโบสถ เจดีย์ เพิ่มขึ้นมา และได้รับอนุญาติจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อวัดว่า "วัดวังก์วิเวการาม" โดยมีชุมชนมอญอาศัยอยู่บริเวณรอบๆ วัด 




อุโบสถวัดวังก์วิเวการามเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ


 

หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมเสร็จในปี ๒๕๒๗ ทำให้น้ำท่วมบริเวณที่ชุมชนมอญอาศัยอยู่ รวมถึงวัดวังก์วิเวการาม ท่านหลวงพ่ออุตตมะจึงให้ย้ายวัดขึ้นมาอยู่บนเนินเขาตรงที่อยู่ปัจจุบันและเริ่มพัฒนาวัดเรื่อยมา  ส่วนวัดเก่าซึ่งอยู่ใต้น้ำ จึงเป็นวัดร้างและเห็นได้เฉพาะช่วงที่น้ำลดเท่านั้น  จุดนี้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย และเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในใจของชาวมอญทุกคน



อุโบสถหลังใหม่


 
 
 
เจดีย์พุทธคยาจำลอง


หลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างเจดีย์พุทธคยาจำลองตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ โดยจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ใช้แรงงานฝีมือที่เป็นชาวมอญ หญิง-ชาย ประมาณ ๔๐๐ คน ร่วมมือกัน
 



ปัจจุบันแม้ท่านจะได้มรณะภาพไปแล้วตั้งแต่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙  ด้วยอายุ ๙๗ ปีแต่คุณความดีของท่านยังคงอยู่ในใจของชนชาวมอญทุกคน  ข้าพเจ้าได้คุยกับชาวมอญคนหนึ่งซึ่งค้าขายอยู่บริเวณสะพานไม้เก่า ๆ  ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่าสะพานมอญ เพราะสะพานนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชนชาวมอญที่ร่วมกันสร้างเพื่อให้สดวกต่อการสัญจร ชาวมอญคนนี้บอกว่า ท่านคือองค์เทพเจ้าจริงๆ หากไม่มีท่านก็ไม่มีวันนี้ของชาวมอญที่ได้อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบายบนแผ่นดินไทย และมีโอกาสได้รับสัญชาติไทยทั้งหมดรวมประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าครัวเรือน  เป็นจำนวนประชากรเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน


เมื่อคนมอญอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก จึงมีการนำเอาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติกัน ประเพณีของชาวมอญนั้น โดยทั่วไปจะจัดตามจันทรคติคือนับวัน เดือน ปี ของการโคจรของดวงจันทร์ ข้างขึ้น ข้างแรม
 


ประเพณีตำข้าวเม่าในเดือนอ้าย เมื่อข้าวออกรวง เพื่อนำไปถวายพระ
 

ประเพณีออกพรรษา

 
ประเพณีทอดกฐิน

ส่วนชุมุชนชาวกะเหรี่ยง ก็แยกมารวมกลุ่มชนในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโดยอาศัยอยู่รอบๆ"วัดศรีสุวรรณ" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัดของชาวกะเหรี่ยงวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงก็ไม่แตกต่างกันนักในวันที่ข้าพเจ้าไปเที่ยวมีโอกาสได้ชมขบวนแห่นาคของชาวกะเหรี่ยงที่วัดศรีสุวรรณ ที่จัดให้มีอุปสมบทหมู่  มีขบวนนาคน่าจะเป็น ๑๐๐ คนเห็นจะได้
 


อุปสมบทหมู่วัดศรีสุวรรณ


ชาวกะเหรี่ยงร่วมเฉลิมฉลองงานบวช


วัฒนธรรมเหล่านี้ ก็คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  วัฒนธรรมของชนชาวไทยและชนชาวมอญ  จึงเป็นดั่งบ้านพี่เมืองน้องบน ๒ แผ่นดินเดียวกัน ภายใต้ร่มเงาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
 



สะพานเดิมด้านขวา ได้ขาดกลางด้วยกระแสน้ำเชี่ยว ด้านซ้ายคือสะพานลูกบวบ


สะพานมอญที่เป็นสัญญลักษณ์หนึ่งของชุมชนนี้ ได้สร้างขึ้นนานแล้วจากความร่วมมือร่วมใจของชนชาวมอญ บัดนี้ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จนเมื่อวันหนึ่งที่น้ำไหลเชี่ยวกราก  สะพานไม้นี้ไม่สามารถต้านแรงเชี่ยวของน้ำได้  จึงพังลงเป็นดังที่เห็น  แต่ชาวมอญ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะมุมานะสูงมาก  ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้งหนึ่ง  สร้างสะพานลูกบวบ ที่เป็นคล้ายแพขึ้นมาใช้สัญจรแทนสะพานที่พังลง





ในทุก ๆ เช้าจะมีพระสงฆ์ทั้งจากวัดมอญคือวัดวังก์วิเวการาม และวัดกะเหรี่ยงคือวัดศรีสุวรรณ  ออกบิณฑบาตรมาจนถึงบริเวณสะพานมอญนี้ นักท่องเที่ยวสามารถใส่บาตรได้  มีชาวบ้านทำอาหารมาจำหน่ายบริเวณสะพาน
 
 
 
 


การเข้ามาอาศัยที่สังขละบุรีของคนมอญพลัดถิ่น ทำให้สังขละบุรีเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว  ทั้งด้านวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์  ตลอดจนธรรมชาติที่สวยงาม  มีเรื่องที่น่าค้นหาอีกมากมายที่สังขละบุรีแห่งนี้  ที่รอคอยท่านอยู่
 
 


สะพานมอญ  สะพานประวัติศาสตร์ของชาวมอญ
วิถีชีวิต ของคนท้องถิ่น
ด่านเจดีย์สามองค์  สุดเขตแดนไทย

ยามเช้าที่บริเวณสามประสบ สวยงามมาก

 
ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ไปพม่าผ่านด่านเจดีย์สามองค์






ขอขอบคุณข้อมูลจากวัดวังก์วิเวการาม


 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น