บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

ป้า....รวม...ญาติ




ณ.ครัวทับทิมทอง มีค.2554

เมื่อครั้งเยาว์วัย  บุคคลกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน  ณ.บ้านหลังหนึ่งที่ทุกคนเรียกกันว่า "บ้านป้ารวม"  บ้านหลังนั้นเป็นเสมือนหอพัก  เป็นเสมือนบ้านรวมรัก  เป็นเสมือนแหล่งหล่อหลอมปลูกฝังให้สมาชิกในบ้านเป็นคนดีในสังคม

เวลาผ่านไปหลายสิบปี สมาชิกในบ้านต่างก็แยกทางกันไปมีชิวิตตามทิศทางของตนเอง  แต่ทุกคนล้วนประสพความสำเร็จในชีวิตทั้งสิ้น  และเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม

เมื่อต้นเดือน มีค.2554  ทุกคนได้มาพบกันที่ครัวทับทิมทอง   แหลมเหลว   อ.บ้านแหลม  จ.เพชรบุรี  ตามการนัดหมายของพี่เนี๊ยว (ดร.จารีต องคะสุวรรณ) และ พี่กะหร่อง (พรอนงค์ โฮริคาวา) ซึ่งเป็นหัวแรงสำคัญ  ที่อยากให้มาพบปะกัน  มาเล่าสู่กันฟังว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา  เรื่องราวชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง   ในวันนั้นจึงเป็นวันแห่งความทรงจำอีกวันหนึ่งของพวกเรา

ในวันนั้น เจ้เค่ย , กาญจนา รงคะประยูร  พี่ใหญ่ของพวกเรา ได้เล่าถึงอดีตแต่หนหลังให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ "บ้านป้ารวม" ว่าเกิดจากการที่ ญาติ ๆ และคนรู้จักไว้วางใจป้ารวม  จึงฝากลูกหลานมาอยู่ด้วย  ทำให้บ้านป้ารวมมีสภาพเป็นครอบครัวใหญ่  ไม่ว่าจะย้ายไปไหน ก็จะอพยพกันไปเป็นกลุ่มก้อน  โดยจะมีป้ารวมเป็นหัวเรือใหญ่ของครอบครัว ฝึกฝนสมาชิกในครอบครัวให้เป็นคนดี  อยู่ในระเบียบวินัย  และดำรงชีวิตกันอย่างเรียบง่าย  อยู่กันอย่างข้าวหม้อแกงหม้อ จนปัจจุบันสมาชิกทุกคนของบ้านป้ารวม ได้แตกกิ่งก้านขยายสาขาไปอย่างมีคุณภาพ  ตัวเจ้เค่ยเองหลังจากเกษียณอายุจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏ ฉะเชิงเทรา  ก็ยังคงอยู่ที่ฉะเชิงเทรา  หากเป็นไปได้เจ้เค่ยอยากให้มีการรวมตัวของสมาชิกเช่นนี้ต่อไปและพร้อมจะสนับสนุนทุกเมื่อ

น่าเสียดายที่วันนั้น ขาดพี่เนี๊ยว (ดร.จารีต องคะสุวรรณ) ที่เป็นแม่งานคนหนึ่งในการนัดพบกันไป ด้วยเหตุกระทันหันจากอุบัติเหตุที่ชะอำ ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวแทนที่จะมาพบกัน แต่พี่เนี๊ยวก็ยังฝากความระลึกถึงมายังพวกเราทุกคน ตัวพี่เนี๊ยวเอง หลังจากที่เกษียณจากตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  ก็ได้มาบริหารงานต่อที่สมาคม YWCA  จนปัจจุบัน แม้จะมีภาระการงานหนักอยู่อีกหลังเกษียณ  แต่แรงสนับสนุนจากครอบครัวที่อบอุ่น พี่กำจร องคะสุวรรณ สามีและ บุตรทั้ง 2 จามรี และ รณวี ก็สามารถเป็นพลังให้ทำงานได้ไปอีกนาน  บุตรทั้ง 2 ต่างก็แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว  คนโตของพี่เนี๊ยว หมอจามรี ปัจจุบันเป็นทันตแพทย์ที่ รพ.กรุงเทพคริสเตียน และมีบุตรแล้ว 1 คน

พี่เหน่ง , ศิรี ศิริผันแก้ว  ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนให้ฟังว่าตั้งแต่จบมา  ก็ได้สอนหนังสือที่ รร.อรุณประดิษฐ์ , วัฒนาวิทยาลัย และ ม.บูรพา บางแสน ตามลำดับจนเกษียณ  พี่เหน่งใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย  คุณประมวล ศิริผันแก้ว สามี ทำงานอยู่ที่ สสวท.  มีบุตร 2 คน  คือปุ๋ม ลูกชายคนโต ซึ่งปัจจุบันแต่งงานไปแล้วกับคนไทยที่อยู่อเมริกา  เขาทั้งสองยังอยู่อเมริกากันต่อไป  และผึ้งลูกสาวคนเล็ก ที่ปัจจุบันจบปริญญาเอกแล้ว  ดร.ผึ้ง ขณะนี้สอนหนังสืออยู่ที่มหิดล ศาลายา เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่อง DNA ของช้าง  พี่เหน่งได้รับความสมหวังจากลูกทั้งสองเป็นอย่างมาก  จนปัจจุบันชีวิตไม่มีอะไรต้องห่วงอีกแล้ว

พี่ยัค , พยัคฆ์ วรศิริ  เรื่องราวชีวิตของพี่ยัคบอกว่า ชีวิตของตนเองผูกพันกับความเป็นครูอย่างมาก   ตลอดชีวิตได้ไปสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ   นับตั้งแต่ รร.อรุณประดิษฐ์  เพชรบุรี , รร. พรหมมานุสรณ์ เพชรบุรี และยังย้ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก , ปราจีนบุรี , พิจิตร  และ กทม. หลังจากเกษียณอายุ  ก็ได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับชุลี วรศิริ ภรรยา โดยยึดแนวทางตามพระราชดำริ   ทำนาเกลือ  ปลูกต้นไม้  ไปวัด  พี่ยัคมีบุตร 3 คน แต่งงานไปแล้ว 1 คน 

พี่ปี๊ด , อุไรวรรณ  จันทร์ผ่อง   ผู้มีเรื่องราวชีวิตค่อนข้างจะโลดโผนกว่าคนอื่น  พี่ปี๊ดเล่าว่า  ระหว่างที่เรียนอรุณประดิษฐ์ ได้ทุน AFS  ไปศึกษาที่อเมริกา  1 ปี  หลังจากจบจากอรุณประดิษฐ์  ก็เอนทรานซ์ติดคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบจากจุฬา ฯ  ได้เข้าทำงานที่  USOM  (US government agency in Bangkok)   และ  Pan am   ตามลำดับ  คุณอุดร  จันทร์ผ่อง สามี จบจากคณะวิศว จุฬา  ได้ทุนไปเรียนต่ออเมริกา ในช่วงที่ทำงานอยู่ที่  Pan am  จึงได้หาลู่ทางย้ายไปอยู่อเมริกาได้สำเร็จ และมีชีวิตครอบครัวที่อเมริกาจนปัจจุบัน มีบุตรสาว 2 คน ชาย 1 คน  ขณะนี้ยังทำงานอยู่  แต่จะลาพักร้อนกลับเมืองไทยทุกปี  และช่วงเวลาที่พี่ปี๊ดกลับเมืองไทย จะเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกบ้านป้ารวม จะถือโอกาสนัดพบกันต่อไป

เปี๊ยก , สุริยัน วรศิริ  ได้เล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟังว่า จะโลดโผนก็ไม่ใช่  แต่ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามฟ้าลิขิต  เปี๊ยกเรียนจบกฏหมาย จากคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทำอาชีพทนายความอยู่ช่วงหนึ่ง  แต่รักที่จะมีชีวิตในท้องถิ่นมากกว่า  จึงทิ้งอาชีพทนายความ  หันมาทำนาเกลือ และเลี้ยงหอยแครง จนมีรายได้เป็นก้อนเป็นกำ  ฟ้าลิขิตให้เปี๊ยก มีครอบครัวถึง 3 ครั้ง และมีบุตรกับทุกครอบครัว รวม 4 คนด้วยกัน  บุตร 2 คนเรียนจบและทำงานกันไปแล้ว  เหลือเพียงคนเล็ก 2 คน ยังอยู่ในวัยศึกษา ชีวิตวัย 62 ของเปี๊ยกจึงอยู่ได้อย่างมีความสุขแล้ว

นั่นคือเรื่องชีวิตของลูก ๆ ป้ารวมเพียงส่วนหนึ่ง  ป้ารวมมีลูกทั้งหมดถึง 7 คน  แต่ก็สามารถเลี้ยงดูลูกทุกคนให้เป็นคนดีได้ ตลอดชีวิตของป้ารวมจึงเป็นภาระอันหนักยิ่ง แต่กระนั้นป้ารวมยังเลี้ยงดูหลาน ๆ อีกหลายคน  เรื่องราวชีวิตของแต่ละคน ได้ถูกถ่ายทอดออกมาตามลำดับ

ปี๊ด , สมยศ  สรรพอุดม  เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า  เท่าที่จำความได้  ตอนเล็กๆไปเรียนที่หัวหิน พักอยู่กับอี๊เรณู จนโรงเรียนหยุดกิจการ จึงย้ายมาเรียนชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ โดยพักอยู่กับเจ้เค่ย ต่อมาจึงมารวมกันที่หอพักอี๊รวม  เมื่อจบชั้นมัธยม  6  สอบเข้าเรียนได้ที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา  และเอนทรานส์ติดคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   จบมาก็สอบเข้าทำงานได้ที่ สำนักงาน กพ. และอยู่จนเกษียณราชการ ในช่วงที่อยู่ สำนักงาน กพ. ถูกส่งไปดูแลนักเรียนไทยที่อเมริกา 4 ปี กลับมาแต่งงานกับ ระพีพรรณ สรรพอุดม หลังจากแต่งงาน  ภรรยาได้ไปทำงานที่อเมริกาอีก 4  ปี ปี๊ดจึงต้องกลับไปอเมริกาอีกครั้ง  รวมแล้ว 8 ปี  แดนนี่ ดนุพงษ์ สรรพอุดมลูกชายคนเดียวจึงเกิดที่อเมริกา  ปัจจุบันแดนนี่เรียนจบแล้วจาก คณะวิศวกรรม แผนกเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชีวิตหลังเกษียณของปี๊ดจึงมีความสุขแบบเรียบง่ายตามแนวทางที่อี๊รวมได้อบรมเช่นกัน

แอน , จารุณี  มณีปุระ เล่าถึงความทรงจำในอดีตว่า อาศัยอยู่บ้านอี๊รวมพร้อมกับปี๊ดและพี่อู้ด ในช่วงที่เรียนอยู่อรุณประดิษฐ์ เพราะแม่ห่วงเรื่องการเดินทาง  ไม่อยากให้ลูกต้องลำบาก  มีความสุขกับการได้อยู่กับพี่ ๆ หลายคนในบ้าน  จนกระทั่งพี่อู้ดจบจากจุฬา  และมาสอนอยู่ที่อรุณประดิษฐ์จึงได้ไปอยู่กับพี่อู้ดที่บ้านพักครูหลังโรงเรียน จบจากอรุณประดิษฐ์ก็ไปเรียนต่อที่ โรงเรียนสมถวิลราชดำริ  และเอนทรานส์ได้ที่คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังจากจบมา ก็เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด  จะเกษียณใน ธค.2554  มีบุตร 2 คนกับวุฒิ  มณีปุระ สามีที่เรียนอยู่เกษตรศาสตร์ด้วยกัน  และปัจจุบันบุตรทั้ง 2  ทำงานกันหมดแล้ว  ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายตามวิถีทางของตนที่อี๊รวมได้ปลูกฝังมา

พี่ติ๊ก ,  สุพัตรา สันติเทวกุล (สนิมทอง)  เล่าถึงอดีตให้ฟังว่า อยู่กับป้ารวมมาหลายปี  สนุกจนติดใจ และยังคิดถึงอดีตอยู่  จบจาก รร.อรุณประดิษฐ์ ก็ไปเรียนต่อที่คณะเภสัช มหิดล  ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง ผจก.บริษัทเจนเนอรัลดรักเฮ้าส์  และคงจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว  สามีคือคุณวีระพงศ์  สันติเทวกุล จบวิศวจากเยอรมัน เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่พระนครเหนืออยู่พักหนึ่งก่อนที่จะผันตัวเองมาร่วมงานกับ บ.ชิโนทัย  ทำโครงการหนองงูเห่า มีบุตร 2 คน เป็นวิศวกรทั้งคู่  ชีวิตดีเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2540 พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ stage 2  จึงทำการรักษา โดยผ่าตัดออกและทำเคมีบำบัด  แต่ทำไม่ครบ course ทนไม่ไหวจึงหยุด หันมาพึ่งแพทย์ทางเลือก ดื่มน้ำชีวจิต และทำดีท๊อกซ์ด้วยกาแฟ  ควบคู่ไปกับการทำสมาธิกับหลวงพ่อวิริยัง ที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิทย์ซอย 101  ปัจจุบันสภาพชิวิตกลับมาเป็นเช่นปกติเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว พี่ติ๊กเล่าว่า ธรรมชาติสามารถจรรโลงชีวิตได้จริง ๆ   เรื่องราวชีวิตของพี่ติ๊กน่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางให้กับอีกหลาย ๆ คนที่อาจจะประสพความเจ็บป่วยในลักษณะนี้

ปรีดา , ปรีดา ชินะภูติ   ปรีดา เล่าว่าแต่เดิม นามสกุล สนิมทอง แต่ตัดสินใจเปลี่ยนเป็น ชินะภูติ เพราะเห็นว่าเป็นนามสกุลที่เป็นมงคลกว่า อยู่กับป้ารวมมาตั้งแต่เล็ก ๆ  พร้อม ๆ กับพี่ติ๊ก ชีวิตการทำงานแห่งสุดท้ายอยู่ที่บริษัทภัทรกล(มหาชน)จำกัด แต่ได้ลาออกก่อนเกษียณ  ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับ ดร.อมรา แพเจริญ ภรรยาซึ่งเป็นคนบางขุนไทรด้วยกัน  ปัจจุบันภรรยายังคงทำงานอยู่ที่กรมวิชาการ  กระทรวงเกษตร  มีบุตร 2 คน อายุ 21 และ 19 ปี ตามลำดับ

ตู๋ตี๋ , พรอนงค์  โฮริคาวา (นิยมค้า)  เล่าเรื่องราวของตนว่า มีชื่อเล่น ตู๋ตี๋  แต่เพื่อน ๆ เรียกว่า "กะหร่อง" เพราะว่าผอมเสียจนเป็นเส้นตรง พี่กะหร่องมีพี่น้องร่วมมารดาอีก 4 คน และต่างมารดาอีก 2 คน รวมเป็น 7 คน   อาศัยอยู่กับป้ารวมในช่วงหนึ่ง พร้อมกับน้อง ๆ คือ ตั้นและต่าง  พี่กะหร่องมีเส้นทางชีวิตที่ฟ้าลิขิตมาก หลังจากที่เรียบจบจากอรุณประดิษฐ์ ก็เข้าเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา  เอนทรานส์ติดคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น(มอมบุโช)  ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโทโฮขุ เมืองเซนได และฮิโตษุบาชิ  เมืองโตเกียว     พบรักกับคนญี่ปุ่นด้วยกัน  ปัจจุบันจึงใช้นามสกุล โฮริคาวา มีบุตร 2 คนอายุ 33 และ 31 ปี ตามลำดับ  ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ที่  Duke University, North Carolina อเมริกา ส่วนคนเล็กแต่งงานแล้วกับคนญี่ปุ่น อยู่ที่คาวาซากิ จากความรู้ทางภาษาญี่ปุ่นที่มีทำให้มีโอกาสสร้างผลงานชิ้นโบว์แดง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคนไทย นั่นคืองานแปลเรื่อง "อิกคิวซัง" การ์ตูนเด็กฉลาดเฉลียวของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ และทั่วทุกวัย  และอีกเรื่องที่โด่งดังไม่แพ้กันคือเรื่อง "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"  ซึ่งเป็นผลงานที่ให้แนวคิดแก่คุณแม่มือใหม่  โด่งดังไม่แพ้ "อิกคิวซัง"  นอกจากนี้ยังมีผลงานแปล  ลงในคอลัมน์ "อย่ารอจนสาย" นิตยสารหมอชาวบ้าน วางตลาดรายเดือน   ปัจจุบันแม้จะอายุ 62 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานหนักในตำแหน่งรองอธิการ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น  ซึ่งลงนามก่อตั้งโดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และได้รับทุนการศึกษาจากหอการค้าญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย สถาบันนี้สอนด้านการบริหาร , วิศวกรรม ,  สารสนเทศ ระดับปริญญาตรีและโท    เรื่องราวชีวิตของพี่กะหร่องล้วนมีคุณค่าต่อการจดจำในทุกย่างก้าวทีเดียว  ในวันที่พบกัน  พี่กะหร่องได้นำผลงานชิ้นล่าสุด มาแจกให้ทุกคนอย่างทั่วถึง  คือหนังสือเด็กเรื่อง "แป้งร่ำทำนาเกลือ"

ตั้น , นภดล นิยมค้า  ได้เล่าเรื่องราวชีวิตของตนให้ฟังว่า อยู่บ้านป้ารวมช่วงหนึ่งพร้อม ๆ กับพี่น้อง ในช่วงที่เรียนอยู่อรุณประดิษฐ์  หลังจากนั้นไปเรียนต่อที่เทคนิคราชบุรีจนจบ  กลับมาอยู่บางตะบูน บ้านแหลม ใช้ความรู้ที่เรียนมา สร้างกิจการอู่ต่อเรือ และริเริ่มสร้างใบพัดเรือ  เพื่อให้ชาวประมงได้นำไปใช้ประโยชน์  ปัจจุบันมีกิจการค้าเกลือในนาม safepack อีกด้านหนึ่ง และด้วยความที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่  จึงได้รับเลือกจากชาวบางตะบูน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน  ณ.วันนี้ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักผู้ใหญ่ตั้น แห่งลุ่มแม่น้ำบางตะบูนคนนี้  และยังเป็นเจ้าของครัวทับทิมทอง ที่พวกเราใช้เป็นที่พบปะกันในครั้งนี้อีกด้วย  ตั้นมีครอบครัวที่น่ารัก และมีบุตรแล้ว 3 คน ทุกคนล้วนมีชีวิตที่ดี ทำให้วันนี้ของตั้น สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข

ต่าง , ธราดล  นิยมค้า  เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่บ้านป้ารวมเมื่อยังเด็ก ต่างเล่าว่า เมื่อจบจากอรุณประดิษฐ์ ก็ไปเรียนต่อที่เทคนิคราชบุรี  จบมาก็ทำกิจการส่วนตัวทันที  เป็นเจ้าของคานเรือ ที่บางตะบูนนั่นเอง  ต่างเป็นคนหนุ่มที่แม้จะดูเหมือนเหนียมอาย  แต่ก็มีความเป็นตัวเองสูง จึงได้รับความเห็นชอบจากชาวบางตะบูนให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเพชรบุรี  อยู่ช่วงหนึ่ง  แต่ปัจจุบันอยากจะใช้ชีวิตอย่างสงบกับ ประนอม นิยมค้า ภรรยาคู่ใจ จึงลาออกจากงานการเมืองทั้งหมดแล้ว  ต่างมีบุตร 3 คน มีกิจการงานเป็นของตัวเองแล้วทั้งหมด
   
รัส , จำรัส  พึ่งแพง  เล่าเรื่องราวชีวิตว่าเรียบง่ายยิ่งกว่าใคร ๆ  จำรัส อาศัยอยู่บ้านป้ารวมเมื่อตอนเด็ก ๆ ในช่วงที่อยู่อรุณประดิษฐ์  กับเป๋ น้องชาย และพี่ลัดดา  พี่สาลี่   หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปเรียนต่อที่อื่น  แต่ในที่สุดก็กลับมารับช่วงกิจการประมงที่บ้านต่อ  ปัจจุบันทำอาชีพประมงเต็มตัวกับประภาพงษ์ พึ่งแพง  ภรรยา  มีเรือประมงส่วนตัวชื่อเอกชัย มีบุตรแล้ว 2 คน คนเล็กเป็นหมออยู่ โรงพยาบาลกลาง

จ้อย , จ้อย  คุ้มศิริ ที่ใคร ๆ ก็เรียกว่าไอ้จ้อย  เล่าว่าอาศัยอยู่กับป้ารวม ช่วงที่เรียนอรุณประดิษฐ์ จนถึง ม.3 ก็ลาออกมาทำกิจการประมงซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว  ปัจจุบันมีครอบครัวแล้ว กับ เสน่ห์ คุ้มศิริ  คนบ้านแหลมด้วยกัน มีบุตร 1 คน ทำงานแล้วที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เป็นช่างไฟฟ้า  ชีวิตจ้อยสมบูรณ์แบบตามวิถีคนชนบท 

จะเห็นว่า ชีวิตของแต่ละคน มีความหลากหลาย ตามหนทางที่แตกต่างกัน  แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับการอบรมปลูกฝังจากป้ารวม คือความดีที่เป็นพื้นฐานของชีวิต  จึงทำให้ทุกคนล้วนประสพความสำเร็จกันทั้งสิ้น

ขอบคุณป้ารวม ที่ช่วยดูแลและอบรม สั่งสอนพวกเราทุกคน....................เราจะพบกันอีกครั้งในปี 2555



ณ.ครัวทับทิมทอง มีค.2555
11 มีค.2555  คือวันที่มาพบกันอีกครั้ง ตามการนัดหมาย  ที่ครัวทับทิมทอง ของผู้ใหญ่ตั้นเช่นเดิม แต่วันนี้เรามีสมาชิกบ้านป้ารวมเพิ่มมาอีก 2 คน คือ พี่เนี๊ยว ( ดร.จารีต องคสุวรรณ)  และ เล็ก (ตระการพรรณ ยี่สาร)  วันนั้น ฝนตกอย่างหนัก  แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด  พวกเราทุกคนมาพบกันตามการนัดหมาย  ความยินดีจากการพบกัน จึงเป็นที่ปรากฏแก่ทุกคน  โดยเฉพาะในการพบกันปีนี้  มีสิ่งที่จะต้องจดจำเพิ่มเติมอีกหลายประการ นั่นคือ
  

เล็ก (ตระการพรรณ ยี่สาร)  ที่เคยอยู่ด้วยกันที่บ้านป้ารวมเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา  ได้นำผลงานของตนเอง ซึ่งเป็นหนังสือ "ตระกูลยี่สาร" รวบรวมประวัติ ความเป็นมาของครอบครัวยี่สารไว้  มาแจกพวกเราทุกคน  หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีคุณค่า ที่น่าภาคภูมิใจ และควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของพวกเราด้วย ทุกคนที่ได้รับต่างก็ปลื้มปิติ และชื่นชมในความสามารถของเล็ก  สมาชิกคนหนึ่งของบ้านป้ารวม  ซึ่งในครั้งนั้นมาอยู่กับป้ารวมทั้ง 3 คนพี่น้อง คือ เพิ่มพล - สุมนมาลย์- ตระการพรรณ  ยี่สาร 





ในวันนั้น  พี่กะหร่อง  ได้นำเพื่อนมาด้วย 2 คน ๆ  หนึ่งคือ คุณเบญมาศ  คำบุญมี  ซึ่งเป็นเจ้าของรูปภาพ ในหนังสือเด็กเรื่อง "แป้งร่ำทำนาเกลือ" ที่พี่กะหร่องได้นำมาแจกให้พวกเราเมื่อปี 2554  ในปีนี้ได้นำตัวเป็น ๆ  มาให้เห็น จึงนับเป็นโชคดีของสมาชิกบ้านป้ารวมเป็นอย่างมาก ที่ได้เห็นคนที่มีความสามารถมือฉกรรจ์ในการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพวาดอย่างสมจริง  และอีกคนหนึ่งคือพี่ติ๊ก  เพื่อนร่วมรุ่น ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ มาร่วมเป็นสักขีพยาน  ในภาระกิจเพิ่มเติมที่มีคุณค่ายิ่ง คือ





การมอบทุนการศึกษา  ให้แก่นักเรียน ที่ยากจน ประสพความเดือดร้อนทางการเงิน จำนวน 10,000.- บาท  ในนามของศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬา  ซึ่งนักเรียนดังกล่าว มาพร้อมมารดา  เพื่อรับทุนนี้ ด้วยความปลิ้มปิติยินดี..

นี่คือความภูมิใจของพวกเรา  ความภูมิใจของสมาชิกในบ้าน  ที่เจ้เค่ยบอกว่าได้แตกกิ่งก้านขยายสาขาออกไปนั้น บัดนี้ทุกกิ่งก้านมีความมั่นคง แข็งแรง  แผ่ร่มเงาไปทั่วทุกทิศได้  เพราะเรามีรากแก้วที่แข็งแรง จากการอบรมปลูกฝัง ของป้ารวม มาด้วยกันทั้งสิ้น

จึงต้องขอขอบคุณป้ารวมอีกครั้ง..ด้วยความจริงใจ..จาก สมาชิก บ้านป้ารวม










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น